21. ตำราของชีอะฮฺเองระบุว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) มิได้ถูกกำหนดด้วยตัวบท (นัศ) ว่าท่านคือเคาะลีฟะฮฺโดยตรงหลังการเสียชีวิตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

อัล-กุลัยนียฺถ่ายทอดรายงานหนึ่งจากอิมาม มุฮัมมัด อัล-บากิร (อ.ล.) ว่า : “แท้จริง อิมามอะลี (อ.ล.) ไม่เคยเรียกร้องไปยังตัวของท่าน และแท้จริงท่านได้รับรองกลุ่มชนตามสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ และท่านได้ปกปิดเรื่องราวของท่านเอาไว้” (เราวฺเฎาะฮฺ อัล-กาฟียฺ ; อัล-กุลัยนียฺ หน้า 246) ตามที่รายงานนี้ระบุ จะเห็นว่าชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺได้ปฏิบัติตามท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) ในการรับรองของท่านที่มีต่อการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) อุมัร (ร.ฎ.) และอุษมาน (ร.ฎ.) ด้วยการให้สัตยาบันแก่บุคคลทั้งสาม และละหมาดตามหลังบุคคลทั้งสามนั้น

 

ส่วนที่รายงานระบุว่าท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) กระทำการรับรองและปกปิดเรื่องของท่านเอาไว้ เป็นเพราะท่านถือเรื่องอัต-ตะกียะฮฺ (คือการอำพรางตน) ตามที่ฝ่ายชีอะฮฺกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องของชีอะฮฺที่ต้องอธิบายเอาเองว่านั่นเป็นสิ่งสมควรกับสถานะของท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) หรือไม่? เพราะถ้าเชื่อถึงความกล้าหาญและการมีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคงของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการยืนหยัดในความถูกต้อง ก็ย่อมแสดงว่าท่านยอมรับ และให้การรับรองความชอบธรรมของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 จริง โดยไม่มีการอำพราง แต่ถ้ายืนยันว่านั่นคือการ อำพราง (อัต-ตะกียะฮฺ) คุณสมบัติที่ว่ามาของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่จริงเสียแล้ว และกลายเป็นว่าท่านขี้ขลาดและกลัวผู้คนมากกว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ที่ทรงกำหนดเป็นตัวบทอย่างชัดเจนในคัมภีร์อัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าท่านคือ อิมามหรือเคาะลีฟะฮฺที่แท้จริง ฝ่ายชีอะฮฺต้องคิดเอาเองว่า การระบุเช่นนั้นเป็นการตำหนิท่านอะลี (ร.ฎ.) หรือเป็นการชื่นชมต่อท่านกันแน่!

 

เมื่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ถูกลอบสังหาร บรรดามุฮาญิรีนและอันศ็อรได้มาหาท่าน อิมามอะลี (ร.ฎ.) โดยร้องขอให้ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) บอกปัดพวกเขาและกล่าวกับพวกเขาว่า “พวกท่านจงปล่อยฉันเถิด และพวกท่านจงแสวงหาผู้อื่นนอกจากฉัน พวกท่านจงรู้เถิดว่า แท้จริงฉันนั้น หากฉันตอบรับพวกท่านแล้ว ฉันก็ย่อมขี่ไปพร้อมกับพวกท่านตามสิ่งที่ฉันรู้ และหากพวกท่านละทิ้งฉันไว้ ฉันก็เป็นเหมือนคนหนึ่งของพวกท่าน และฉันหวังว่า ฉันจะเป็นผู้เชื่อฟังและภักดีที่สุดของพวกท่านต่อบุคคลที่พวกท่านได้มอบให้ผู้นั้นรับผิดชอบภารกิจของพวกท่าน และฉันอยู่ในฐานะผู้สนับสนุน (วะซีรฺ) สำหรับพวกท่านย่อมดีกว่าสำหรับพวกท่านในการที่ฉันอยู่ในฐานะผู้นำ (อะมีร)” (นะฮฺญุล-บะลาเฆาะฮฺว่าด้วยบรรดาสุนทรพจน์ของอิมามอะลี 1/182-183)

 

นี่คือ ถ้อยคำของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ตามที่ตำรา นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺระบุไว้ ซึ่งอัต-ตีญานียฺชื่นชมว่าเป็น “คลังแห่งธรรมบทอันล้ำค่า ไม่มีสิ่งใดล้ำหน้าไปได้นอกจากอัล-กุรอานเท่านั้น” และตำราเล่มนี้อัต-ตีญานียฺได้คัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ของตนที่เสนอแก่มหาวิทยาลัยซอร์บอนจนได้รับปริญญาเอก (ดู จงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 41-42) หากข้อความในตำรานะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ เป็นความจริงว่าท่าน อิมามอะลี (ร.ฎ.) ได้พูดข้อความนั้นโดยไม่มีการอำพราง (อัต-ตะกียะฮฺ) และหากว่าตำแหน่งอิมามะฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็นและถูกกำหนดมาจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างที่ฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺมีความเชื่อ เหตุใดเล่า? ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) จึงแสดงท่าทีปฏิเสธข้อเสนอของเหล่า เศาะหาบะฮฺด้วยกัน และใช้ให้พวกเขาไปเสาะหาผู้อื่นนอกจากท่าน กอปรกับคำกล่าวที่ว่า ท่านเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือในฐานะวะซีรฺ ย่อมดีกว่าการเป็นผู้นำ (อะมีรฺ) จะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างไร? หากว่าท่านเป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นผู้นำมานับตั้งแต่เหตุการณ์เฆาะดีรฺคุม เมื่อครั้งที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ การใช้คำพูดเช่นนั้นจะไม่เป็นการดูแคลนต่อพันธสัญญาที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กระทำไว้กับท่านอะลี (ร.ฎ.) กระนั้นหรือ?

 

ในเมื่อฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺเชื่อว่าท่าน อะลี (ร.ฎ.) เป็นอิมามหรือผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งและมีตัวบทกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในตำราของสะลีม อิบนุ ก็อยส์ อัล-ฮิลาลียฺระบุรายงานจากอิมามอะลี (ร.ฎ.) ว่า : สิ่งที่จำเป็นในข้อชี้ขาดของอัลลอฮฺ และข้อชี้ขาดของอิสลามเหนือบรรดามุสลิมภายหลังการเสียชีวิตของผู้นำของพวกเขาหรือภายหลังการถูกสังหารของผู้นำของพวกเขาคือการที่พวกเขาต้องดำเนินการกระทำอย่างหนึ่ง และไม่กระทำสิ่งที่เป็นอุตริกรรม ไม่ยื่นมือและเท้า และไม่เริ่มสิ่งใดก่อนหน้าการที่พวกเขาจะได้เลือกให้แก่ตัวของพวกเขาซึ่งผู้นำที่มีความยับยั้งชั่งใจมีความรู้ มีความสำรวมตนจากบาป เป็นผู้ที่รู้เรื่องการตัดสินและสุนนะฮฺ” (กิตาบ สะลีม อิบนุ ก็อยส์ อัล-ฮิลาลียฺ หน้า 182 , บิหารุลอันว็ารฺ ; อัล-มัจญ์ลิสียฺ เล่มที่ 8 หน้า 555 สำนักพิมพ์อัล-หะญะรียะฮฺ)

 

ข้อความนี้ย่อมบ่งชี้ว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ยอมรับและถือเป็นความจำเป็นในการเลือกผู้นำของประชาคมมุสลิมบนพื้นฐานของการปรึกษาหารือ (ชูรอ) ตลอดจนประชาคมมุสลิมมีสิทธิอันชอบธรรมในการเลือกผู้นำของพวกเขาซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺเองที่ระบุว่าตำแหน่งอิมามะฮฺเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งและกำหนดโดยพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิใช่ตำแหน่งที่มนุษย์มีสิทธิในการเลือกหรือปรึกษาหารือกันเอง

 

ในตำรา “นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ” ระบุคำกล่าวของอิมามอะลี (ร.ฎ.) อีกว่า : “แท้จริงกลุ่มชนที่พวกเขาเคยสัตยาบันแก่อบูบักรฺและอุมัรฺตลอดจนอุษมานได้ให้สัตยาบันแก่ฉันตามสิ่งที่กลุ่มชนนั้นเคยสัตยาบันแก่พวกเขา (เคาะลีฟะฮฺทั้งสาม) บนสิ่งนั้น ฉะนั้นย่อมไม่ปรากฏว่าสำหรับผู้ที่ร่วมอยู่เป็นสักขีพยานจะมีสิทธิเลือก และไม่ปรากฏว่าสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมจะมีสิทธิในการไม่ยอมรับ และอันที่จริงการปรึกษาหารือ(อัช-ชูรอ) เป็นสิทธิของบรรดามุฮาญิรีนและอันศ็อรฺ ดังนั้น หากพวกเขารวมกันบนผู้หนึ่งและขนานนามผู้นั้นว่า “อิมาม” (ผู้นำ) สิ่งดังกล่าวย่อมเป็นความพึงพอพระทัยสำหรับพระองค์อัลลอฮฺแล้ว

 

ฉะนั้น หากมีผู้หนึ่งออกจากการกิจของพวกเขาด้วยการตำหนิหรืออุตริกรรม พวกเขาย่อมนำเอาผู้นั้นกลับไปยังสิ่งที่ผู้นั้นออกมาจากสิ่งนั้น หากผู้นั้นดื้อแพ่ง พวกเขาก็สู้รบกับผู้นั้นเนื่องด้วยการที่ผู้นั้นถือตามอื่นจากวิถีทางของเหล่าผู้ศรัทธา” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ 3/7 , อัช-ชีอะฮฺ วัต-ตัศหิหฺ ; มูซา อัล-มูสาวียฺ หน้า 20) นี่คือตัวบทที่ถูกรายงานจากอิมามอะลี (ร.ฎ.) ผู้เป็นอิมามมะอฺศูมสำหรับฝ่ายชีอะฮฺ และถูกระบุไว้ในตำราสำคัญของพวกเขา ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) กล่าวอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ให้สัตยาบันแก่ท่านก็คือกลุ่มชนเดียวกันที่พวกเขาเคยให้สัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺทั้งสามมาก่อนหน้าท่าน หากกลุ่มชนนั้นตกศาสนาหรือเป็นพวกกลับกลอกอย่างที่ฝ่ายชีอะฮฺกล่าวหา การให้สัตยาบันของพวกเขาแก่อิมามอะลี (ร.ฎ.) จะเป็นผลบังคับแก่คนที่อยู่ร่วมและไม่ได้อยู่ร่วมในการสัตยาบันนั้นได้อย่างไร

 

และในขณะที่อิมามอะลี (ร.ฎ.) ระบุว่า การปรึกษาหารือในเรื่องการสัตยาบันแก่บุคคลที่จะเป็นอิมามคือ สิทธิอันชอบธรรมของเหล่ามุฮาญิรีนและอันศ็อรฺ เมื่อพวกเขาร่วมกันสัตยาบันและเรียกขานผู้นั้นว่าเป็นอิมามหรือเคาะลีฟะฮฺแล้ว นั่นคือความพอพระทัยของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เหตุไฉนฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺจึงกล่าวหาว่าการสัตยาบันของเหล่ามุฮาญิรีนและอันศ็อรฺแก่บรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสามคือการละเมิดพันธะสัญญาของอัลลอฮฺและรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งเป็นเหตุแห่งการถูกสาปแช่งและการตกศาสนา เราจะเชื่อข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺกับพวกหรือว่าเราจะเชื่อคำกล่าวของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ผู้เป็นมะอฺศูมกันแน่ หรือว่าคำกล่าวของอิมามมะอฺศูมคือการอำพรางที่หลอกลวง ไม่อาจเชื่อถือได้ ส่วนคำกล่าวของอัต-ตีญานียฺกับพวกคือสัจธรรมเพราะพวกเขาไม่ได้อำพรางตนเหมือนอย่างที่อิมาม อะลี (ร.ฎ.) ได้ทำการอำพรางตามที่ฝ่ายชีอะฮฺกล่าวอ้าง

 

และในขณะที่อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ มุลญัม ได้ลอบทำร้ายท่านอะลี (ร.ฎ.) บรรดามุสลิมได้เข้าไปหาท่านอะลี (ร.ฎ.) และร้องขอให้ท่านตั้งท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) บุตรชายของท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺ ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า “ไม่” แท้จริง พวกเราเคยเข้าไปหาท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วพวกเราก็กล่าวว่า : ท่านจงตั้งผู้สืบทอด (เคาะลีฟะฮฺ) เถิด ! ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า “ไม่” ฉันเกรงว่าพวกท่านจะแยกตัวออกจากผู้นั้น เหมือนอย่างที่บะนูอิสรออีลเคยแยกตัวออกจากฮารูน แต่ทว่า หากพระองค์อัลลอฮฺทรงรู้ถึงความดีในหัวใจของพวกท่าน พระองค์จะทรงเลือกให้แก่พวกท่านเอง” บรรดามุสลิมได้ขอให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) บ่งชี้ถึงคนๆ หนึ่งแก่พวกเขา ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่ทำ พวกเขาจึงกล่าวกับท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า : หากพวกเราสูญเสียท่านไป พวกเราก็จะไม่สูญเสียในการที่พวกเราจะให้สัตยาบันแก่อัล-หะสัน (ร.ฎ.)” ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า : ฉันจะไม่ใช้พวกท่าน และฉันจะไม่ห้ามพวกท่าน พวกท่านเห็นชัดแจ้งที่สุด” (อัช-ชาฟิอียฺ ; อัล-มุรฺตะฎอ เล่มที่ 3 หน้า 295 , ตัษบีต ดะลาอิล อัน-นุบูวะฮฺ ; อัล-มุรตะฎอ เล่มที่ 1 หน้า 212)

 

ไหนเล่า? คำสั่งเสียของอิมามคนก่อนที่แต่งตั้งอิมามคนถัดมา ไหนเล่า? ตำแหน่ง อิมามะฮฺที่ฝ่ายชีอะฮฺกล่าวอ้างว่ามีตัวบทของพระเจ้ากำหนดไว้อย่างชัดเจน เหตุใดท่าน อิมามอะลี (ร.ฎ.) จึงไม่อ้างถึงตัวบทและคำสั่งเสียนั้นให้แก่ตัวท่านและบุตรชายของท่านเล่า! ท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่ได้ใช้ให้บรรดามุสลิมที่ร้องขอต่อท่านทำการสัตยาบันแก่ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และมอบตำแหน่งวะศียฺ หรืออิมามให้แก่ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) สิ่งที่ปรากฏในคำพูดของท่านซึ่งถูกระบุไว้ในตำราของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺเองก็คือการเน้นย้ำถึงการปรึกษาหารือ (อัช-ชูรอ) ในการเลือกอิมาม ท่านมิได้อ้างคำสั่งเสียอันเป็นตัวบทจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ออกชื่อบรรดาอิมามหลังจากท่านจนครบ 12 ท่าน อย่างที่ชีอะฮฺกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

มิหนำซ้ำในครั้งที่ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) สละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺให้แก่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ได้กำหนดเป็นข้อตกลงในการะประนีประนอมนั้นว่า “…บนเงื่อนไขที่ว่า มุอาวียะฮฺไม่มีสิทธิในการมอบตำแหน่งให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดภายหลังตน และให้เรื่องนั้นเป็นการปรึกษาหารือระหว่างมวลมุสลิม” (อัล-มัจญ์ลิสียฺ ; บิหารุลอันว๊ารฺ เล่มที่ 44 หน้า 65 บทที่ว่าด้วยวิธีการทำข้อตกลงประนีประนอม จากตารีค อิมาม อัล-หะสัน อัล-มุจญ์ตะบา)

 

และในหนังสือ “อัล-อะอิมมะฮฺ อัล-อิษนาอะชัรฺ” ของ อาดิ้ล อัล-อะดีบ หน้า 100 ได้อ้างถึงหนังสือ “ศุลหุ อัล-หะสัน” ของชัยคฺ รอฎียฺ อาลยาสีน หน้า 259-261 ระบุมาตราในสนธิสัญญาจำนวน 5 มาตรา โดยมาตราที่ 1 ระบุว่า : “ส่งมอบการกิจยังมุอาวียะฮฺ บนเงื่อนไขที่ว่าเขาต้องปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺ และสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และตามแนวทางของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ประพฤติดี” คำว่า “บรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ประพฤติดี” คงไม่ได้หมายถึงท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เพียงท่านเดียวอย่างแน่นอน! เพราะสำนวนเป็นพหูพจน์ เมื่อสำนวนเป็นพหูพจน์ก็ย่อมหมายถึงผู้ใดไปไม่ได้นอกจากบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่านก่อนหน้าท่านอะลี (ร.ฎ.)

 

ส่วนมาตราที่ 2 ระบุว่า “การกิจนั้นจะต้องเป็นสิทธิของอัล-หะสันภายหลังจากมุอาวียะฮฺ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นกับอัล-หะสัน ก็เป็นสิทธิของอัล-หุสัยนฺผู้เป็นน้องชายของอัล- หะสัน และมุอาวียะฮฺไม่มีสิทธิในการมอบการกิจนั้นยังผู้หนึ่งผู้ใด” เหตุใดสำนวนของมาตราที่สองตามที่ชัยคฺ รอฎียฺ อาลยาสีนระบุจึงไม่มีคำว่า “และให้การกิจนั่นเป็นการปรึกษาหารือระหว่างมวลมุสลิม” ซึ่งต่างจากสำนวนที่อัล-มุรฺตะฎอ รายงานไว้ในตำราของเขา และนี่เป็นเรื่องที่ฝ่ายชีอะฮฺต้องอธิบายเอง

 

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หากตำแหน่งอิมามะฮฺหรือเคาะลีฟะฮฺเป็นตำแหน่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดไว้แล้ว ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จะยอมสละตำแหน่งนี้ส่งมอบให้กับบุคคลอย่างมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้อย่างไรกัน ในเมื่อท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นคนชั่วในความเชื่อของพวกเขา! มิหนำซ้ำพวกเขายังอ้างอีกด้วยว่า อิมามอะลี (อ.ล.) เคยกล่าวว่า “แท้จริง มุอาวียะฮฺมิได้เป็นแบบอย่างของเส้นขีดใดจากบรรดาเส้นขีดของอิสลามและสาส์นอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม อันที่จริงมุอาวียะฮฺเป็นเพียงแบบอย่างแห่งความเป็นญาฮิลียะฮฺของบิดาของเขา (อบูสุฟยาน) และแท้จริงมุอาวียะฮฺต้องการที่จะทำลายโครงสร้างแห่งอิสลามให้สิ้นซาก และเปลี่ยนแปลงสังคมอิสลามไปสู่สังคมอื่นที่ไม่ได้ศรัทธาต่ออิสลามและอัล-กุรอาน มุอาวียะฮฺปรารถนาให้ระบอบคิลาฟะฮฺถูกใส่กรอบแบบกรอบของ ซีซาร์โรมันและคุสโรว์ (กิสรอ) แห่งเปอร์เซีย นี่เป็นคำกล่าวหาของอิมามอะลี (อ.ล.) ในตัวมุอาวียะฮฺ…” (อัล-อะอิมมะฮฺ อัล-อิษนา อะชัรฺ , อาดิล อัล-อะดีบ , สำนักพิมพ์มุอัสสะสะฮฺ อัล-อะอฺลา หน้า 80)

 

หากคำกล่าวหาของท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) เป็นจริงอย่างที่นักเขียนชีอะฮฺว่า เหตุไฉนท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จึงยอมสละตำแหน่งการเป็นเคาะลีฟะฮฺให้แก่มุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านอะลี (ร.ฎ.) ผู้เป็นบิดาของท่านเคยกล่าวหาเอาไว้ว่าผู้นี้มีเป้าหมายทำลายและบิดเบือนอิสลามตลอดจนเปลี่ยนสังคมอิสลามให้กลายเป็นสังคมที่ไม่ได้ศรัทธาต่ออิสลามและคัมภีร์อัล-กุรอาน การสละตำแหน่งของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จะไม่เป็นการเปิดโอกาสให้มุอาวียะฮฺใช้ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺในการทำลายอิสลามกระนั้นหรือ? แน่นอน ฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมอะฮฺ ไม่เชื่อว่าท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จะกระทำสิ่งที่เป็นภัยต่ออิสลามและวิถีของชาวมุสลิมด้วยการสละตำแหน่งให้แก่คนที่มุ่งหมายทำลายอิสลาม ฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺคือผู้ที่อธิบายและพยายามทำให้เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่พุ่งเป้าไปยังการโจมตีท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)

 

หากแต่ว่าผลที่เกิดขึ้นจากคำอธิบายและความพยายามนั้นกลับย้อนกลับมาเป็นความด่างพร้อยของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) เสียเองในกรณีการยอมสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านให้แก่ผู้ที่หมายทำลายอิสลาม ตามคำกล่าวหาของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งฝ่ายชีอะฮฺอ้างว่าเป็นคำพูดของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการกล่าวหาท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ก็คือเหตุการณ์สละตำแหน่งอิมามะฮฺของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ให้แก่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ. ที่ 41 เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงและเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย

 

หากตำแหน่งอิมามะฮฺเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยตัวบท (นัศฺ) จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อย่างที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺกล่าวอ้างเหตุไฉนท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) จึงยอมสละตำแหน่งไปให้กับผู้อื่นที่ไม่ได้มีตัวบท (นัศฺ) กำหนดไว้ซึ่งการสละตำแหน่งให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิและให้สัตยาบันแก่ผู้นั้นถือเป็นความผิดอันใหญ่หลวงตามความเชื่อของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺ ดังที่อัล-กุมมียฺกล่าวว่า : “ดังนั้น ผู้ใดกล่าวอ้างการเป็นอิมามทั้งๆ ที่ผู้นั้นไม่ใช่ อิมาม ผู้นั้นคือผู้อธรรมที่ถูกสาปแช่ง และผู้ใดวางตำแหน่งอิมามในที่ซึ่งมิใช่ อะฮฺลุลอิมามะฮฺผู้นั้นคือผู้อธรรมที่ถูกสาปแช่ง” (อิอฺติกอดาต ; อิบนุ บาบะวัยฮฺ อัล-กุมมียฺ หน้า 111-114 , อัล- บิหารฺ ; อัล-มัจญ์ลิสียฺ เล่มที่ 27 หน้า 62)