23. อัต-ตีญานียฺเห็นชอบกับคำกล่าวของสัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์แต่รับไม่ได้กับคำกล่าวของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.)

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงคำอธิบายของสัยยิด อัศ-ศอดร์ในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยค “…..ดังนั้น บรรดาผู้ที่อยู่ร่วมและอุมัรฺก็อยู่ท่ามกลางพวกเขาต่างก็เข้าใจว่า แท้จริงท่านรสูลลุลลอฮฺต้องการที่จะเน้นย้ำถึงสิ่งที่ท่านได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในเหตุการณ์เฆาะดีรฺ คุม โดยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือการยึดมั่นต่อคัมภีร์ ของอัลลอฮฺและอิตเราะฮฺของท่าน และผู้เป็นนายของ อิตเราะฮฺคืออะลี จึงเหมือนกับว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องการจะกล่าวว่า “พวกท่านจงยึดอัล-กุรอานและอะลี และแน่แท้ท่านเคยกล่าวเหมือนกับสิ่งนั้นในวาระโอกาสอื่นๆ ดังที่บรรดานักหะดีษได้ระบุไว้..” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ (ฉบับภาษาอาหรับ) หน้า 99)

 

และอัต-ตีญานียฺยังเขียนอีกว่า “และตัวข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าได้โยนความนิยมคลั่งไคล้ที่มืดบอดทิ้งไปตลอดจนความรู้สึกที่ดื้นด้าน และข้าพเจ้าได้ใช้ปัญญาอันเป็นปกติเป็นสิ่งตัดสินตลอดจนความคิดที่อิสระ ข้าพเจ้าย่อมโน้มเอียงไปยังการวิจัยนี้ และนั่นย่อมเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการกล่าวหาอุมัรฺว่า เขาคือบุคคลแรกที่ปฏิเสธสุนนะฮฺของท่านนบีด้วยคำพูดของเขาที่ว่า “เพียงพอแล้วสำหรับเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” และเมื่อปรากฏว่าผู้ปกครองบางคนได้เคยปฏิเสธสุนนะฮฺของท่านนบีด้วยข้ออ้างที่ว่า แท้จริงสุนนะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง แท้จริงผู้ปกครองบางคนนั้นได้ปฏิบัติตามในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในชีวิตของชาวมุสลิมในเรื่องนั้น…” (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน) 

 

อัต-ตีญานียฺพยายามเขียนถึงคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ในเชิงลบตามมโนภาพของตนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อโน้มน้าวผู้อ่านให้คล้อยตามคำกล่าวหาที่ว่า ท่านอุมัร (ร.ฎ.) คือบุคคลแรกที่เป็นต้นแบบในการปฏิเสธสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพียงเพราะคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ที่ว่า “อัล-กุรอานเพียงพอสำหรับเราแล้ว” โดยละทิ้งที่จะไม่กล่าวถึงสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรืออิตเราะฮฺของท่านตามคำอธิบายของสัยยิด อัศ-ศอดร์ มิหนำซ้ำคำอธิบายของสัยยิด อัศ-ศอดร์ยังบ่งชี้อีกด้วยว่า สัยยิดผู้ชาญฉลาดสามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในใจของท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) และเหล่าเศาะหาบะฮฺที่อยู่ร่วมกันในเหตุการณ์อีกด้วยว่า ทั้งหมดคิดอย่างไร? และเข้าใจอย่างไร? ต่อคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

คำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) กลายเป็นสิ่งที่อัต-ตีญานียฺวิจารณ์และยอมรับไม่ได้ แต่เหตุไฉน? อัต-ติญานียฺจึงไม่วิจาณณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของอัส-สัยยิด อัศ-ศอดร์ที่ว่า “พวกท่านจงยึดอัล-กุรอานและอะลี” ซึ่งเป็นการตีความการมุ่งหมายของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นตามมโนภาพของอัส-สัยยิด เพราะคำกล่าวของอัส-สัยยิดก็ไม่ไดระบุถึงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เช่นกัน แต่จำกัดอยู่เฉพาะอัล-กุรอานและท่านอะลี (ร.ฎ.)

 

สุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปอยู่เสียที่ไหน? และท่านอะลี (ร.ฎ.) มีความประเสริฐกว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กระนั้นหรือ? หากคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) มีเป้าหมายในการปฏิเสธสุนนะฮฺตามคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺแล้วคำกล่าวของอัส-สัยยิด อัศ-ศอดร์เล่าจะว่าอย่างไร? อัต-ตีญานียฺอาจจะอ้างหะดีษที่ระบุถึงอิมามอะลี (ร.ฎ.) ว่า เพราะอิมามอะลี (ร.ฎ.) คือ ประตูของนครแห่งความรู้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพื่อสนับสนุนคำกล่าวของสัยยิดแล้วก็เหมารวมเอาว่า สุนนะฮฺทั้งหมดของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผ่านประตูบานนี้เท่านั้น อิมามอะลี (ร.ฎ.) ก็คือสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้จะได้กล่าวถึงรายละเอียดต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 

อัต-ตีญานียฺอ้างว่าตนโยนความนิยมคลั่งไคล้อันมืดบอดและความรู้สึกที่ดื้อด้านไปแล้ว และใช้สติปัญญาอันบริสุทธิ์ตลอดจนความคิดที่เป็นอิสระตัดสินในเรื่องนี้ คำอ้างของอัต-ตีญานียฺดังกล่าวเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด? เรื่องจริงก็คือ อัต-ตีญานียฺคล้อยตามคำอธิบายของอัส-สัยยิด และเห็นด้วยนับแต่แรกแล้ว และเรื่องจริงก็คือ อัต-ตีญานียฺไม่เคยสลัดทิ้งความนิยมอันมืดบอดดังกล่าวนั้นเลยแม้แต่น้อย

 

และความนิยมอันมืดบอดที่ว่านั้นก็คือการมองข้ามนัยของคำอธิบายที่อัส-สัยยิดได้แสดงเอาไว้โดยมองไม่เห็นว่าข้อกล่าวหาที่พุ่งเป้าไปยังท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็คือข้อกล่าวหาเดียวกันสำหรับคำอธิบายของอัส-สัยยิด! มิหนำซ้ำความชัดเจนในการปฏิเสธสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปรากฏเด่นชัดในคำอธิบายของอัส-สัยยิดมากกว่าคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ด้วยซ้ำไป เพราะคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ที่ว่า “อัล-กุรอานเพียงพอสำหรับเราแล้ว” นั้นไปจำเป็นว่าจะต้องปฏฺเสธสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปด้วย เพราะในอัล-กุรอานมีคำสั่งให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติและเชื่อฟังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) การเชื่อฟังและปฏิบัติตามดังกล่าวก็คือการยึดมั่นใน สุนนะฮฺของท่านนั่นเอง ไม่มีผู้ศรัทธาคนใดที่ไม่เข้าใจว่า เมื่อยึดอัล-กุรอานแล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือเมื่อเชื่อฟังอัลลอฮฺแล้วไม่ต้องเชื่อฟังนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ความเข้าใจในทำนองนี้อัต-ตีญานียฺก็ยอมรับเองว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่กินกับปัญญา (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 99)

 

แต่คำอธิบายของอัส-สัยยิดนั่นต่างหากที่บ่งชี้ว่า ให้ยึดอัล-กุรอานและท่านอะลี คือให้เชื่อฟังอัลลอฮฺและท่านอะลี (ร.ฎ.) แทนที่จะเป็น ให้ยึดอัล- กุรอานและท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่กลายเป็นท่านอะลี (ร.ฎ.) ไปเสียอย่างนั้น หากบุคคลได้โยนความฝังหัวที่มืดบอดและความรู้สึกที่ดื้อด้านทิ้งไป และใช้ปัญญาที่เป็นปกติ ไม่วิกลจริต และมีความคิดเป็นอิสระแล้ว บุคคลย่อมประจักษ์ว่า คำพูดของผู้ใดระหว่างท่านอุมัร (ร.ฎ.) กับสัยยิด บากิร อัศ-ศอดร์ที่น่าจะเป็นการปฏิเสธสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มากกว่ากัน! 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนในหน้าเดียวกันอีกว่า “แท้จริงคำกล่าวนี้ (หมายถึงคำกล่าวของสัยยิด มุฮัมมัด บากิรฺ อัศ-ศอดร์ที่อ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มุ่งหมายบันทึกเรื่องการยึดมั่นในคัมภีร์อัล-กุรอานและอิตเราะฮฺของท่าน) มาเพื่อโต้ตอบอย่างสอดคล้องโดยสมบูรณ์ต่อเป้าหมายของอัล-หะดีษ ดังนั้น คำกล่าวที่ “พวกท่านมีอัล-กุรอาน เพียงพอสำหรับเราซึ่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับนัยและเนื้อหาของอัล-หะดีษซึ่งใช้ให้พวกเขายึดมั่นคัมภีร์ของอัลลอฮฺและอัลอิตเราะฮฺพร้อมกัน จึงดูเหมือนว่าเป้าหมายของคำกล่าว คือ คัมภีร์ของอัลลอฮฺเพียงพอสำหรับเรา อัล-กุรอานย่อมเพียงพอสำหรับเรา และเราก็ไม่มีความต้องการยึดมั่นต่ออัล-อิตเราะฮฺ” (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

 

อัต-ตีญานียฺอ้างว่า ไม่มีคำอธิบายอื่นที่จะกินกับปัญญานอกจากคำอธิบายนี้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันพฤหัสฯ มหาวิปโยคประเด็นอยู่ที่ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวถึงอัล-กุรอานและอัล-อิตเราะฮฺหรือท่านอะลี (ร.ฎ.) หรือไม่ในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยค คำตอบก็คือ ในตัวบทของอัล-หะดีษไม่ได้ระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวถึงเรื่องนี้ ท่านเพียงแต่กล่าวว่า ท่านจะสั่งให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อมิให้เกิดความหลงผิดเกิดขึ้น ท่านไม่ได้บอกว่าจะบันทึกสิ่งใด

 

การนำเอาหะดีษอัษ-ษะเกาะลัยนฺหรือเหตุการณ์ในวันเฆาะดีรฺคุมมาอธิบายว่านั่นคือสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ต้องการให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสมมุติฐานที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺผูกเรื่องขึ้นมาเอง เป็นคำอธิบายของชะเราะฟุดดีน อัส-มูสาวียฺในอัล-มุรอญิอาต (ดู อัล-มุรอญิอาต (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 527)

 

และเป็นคำอธิบายของสัยยิด อัศ-ศอดร์ที่อัต-ตีญานียฺคล้อยตามและรับรองว่ากินกับปัญญา! อัต-ตีญานียฺกล่าวหาว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺสมรู้ร่วมคิดกันทัดทานท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และขัดขวางมิให้ท่านบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยค เพราะอัต-ตีญานียฺมโนภาพว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะบันทึกให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นผู้สืบทอด ซึ่งนั่นจะกลายเป็นผลร้ายต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺและทำให้แผนการณ์ที่สมรู้ร่วมคิดกันในการสลัดท่านอะลี (ร.ฎ.) และกีดกันท่านออกจากสิทธิอันชอบธรรมไม่ประสบผลสำเร็จ จึงกล่าวหาว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่าเพ้อและขาดสติพร้อมกับสร้างเรื่องให้วุ่นวายด้วยการถกเถียงและส่งเสียงดัง จนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ละทิ้งการบันทึกลายลักษณ์อักษรนั้นพร้อมกับไล่บรรดาเศาะหาบะฮฺออกจากบ้านของท่าน

 

คำกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺกับพวกที่มีต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺในทำนองนี้ถูกอธิบายบนพื้นฐานของการกล่าวหาว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺคือผู้กลับกลอกและไม่เคยศรัทธาจริงๆ ต่ออิสลามตลอดจนเหล่าเศาะหาบะฮฺคือหนอนบ่อนไส้ที่เสแสร้งเข้ารับอิสลามเพื่อหวังทำลายอิสลามและดับรัศมีของอิสลาม เหตุนี้อัต-ตีญานียฺจึงเขียนว่า “และพวกกุรอยชฺส่วนใหญ่นั้นพวกเขาไม่พอใจท่านอะลี เพราะท่านอะลีเป็นผู้ด้อยอาวุโสของกลุ่มชน และเป็นเพราะว่าท่านอะลีได้เคยทำลายความยิ่งใหญ่และความยะโสโอหังของพวกกุรอยชฺ ทำให้จมูกของพวกเขาต้องดั้งหัก และสังหารบรรดาวีรบุรุษของกุรอยชฺ…” (ษุมมะฮฺตะดับตุ้ หน้า 99) 

 

ใครคือ “พวกกุรอยชฺ” ที่อัต-ตีญานียฺมุ่งหมายถึงในข้อเขียนนี้ พวกเขาคือบรรดามุชริกีนแห่งนครมักกะฮฺหรือหมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หากอัต-ตีญานียฺหมายถึงพวกกุรอยชฺที่เป็นพวกมุชริกและปฏิเสธอิสลาม ก็ถามว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) คือบุคคลเพียงผู้เดียวที่ทำลายความอหังการ์ของพวกกุรอยชฺและสังหารบรรดาผู้กล้าของกุรอยชฺกระนั้นหรือ? ท่านอะลี (ร.ฎ.) คนเดียวเท่านั้นหรือที่ต่อสู้ในสมรภูมิบัดรฺ อุหุด และสมรภูมิต่างๆ ? บรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมดมิใช่หรือที่มีส่วนร่วมในการสู้รบสังหารพวกกุรอยชฺที่ปฏิเสธและทำลายความอหังการของพวกกุรอยชฺ?

 

หากตอบว่า ไม่ใช่ท่านอะลี (ร.ฎ.) เพียงคนเดียวแต่หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ร่วมในการญิฮาดทุกครั้งนั้นด้วย ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺก็คือการกล่าวอ้างที่ไร้สาระอย่างไม่ต้องสงสัย! แต่ถ้าหากอัต-ตีญานียฺมุ่งหมายคำว่า “พวกกุรอยชฺ” คือเหล่าเศาะหาบะฮฺ ซึ่งสำนวนของข้อเขียนบ่งว่าอัต-ตีญานียฺมุ่งหมายถึงเศาะหาบะฮฺไม่ได้หมายถึงบรรรดาพวกมุชริกแห่งนครมักกะฮฺ ก็ไม่ต้องสงสัยแต่อย่างใดว่าท่านอบูบักรฺ, อุมัร, อุษมาน และอะลี (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) และบรรดามุฮาญิรีนส่วนใหญ่มาจากตระกูลกุรอยชฺ 

 

และไม่ต้องสงสัยอีกเช่นกันว่า บรรดากุรอยชฺได้เข้ารับอิสลามภายหลังการพิชิตนครมักกะฮฺในปี ฮ.ศ. ที่ 8 หากพวกกุรอยชฺที่เข้ารับอิสลามทั้งก่อนและหลังปี ฮ.ศ. ที่ 8 คือบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อัต-ตีญานียฺมุ่งหมาย ก็ถามว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้ทำลายความหยิ่งยะโสของเหล่าเศาะหาบะฮฺและสังหารบรรดาผู้กล้าของพวกเขาด้วยหรือไม่? เพราะพวกเขาเข้ารับอิสลามแบบกลับกลอกและแอบแฝง ไม่ได้ศรัทธาจริงๆ ตามที่อัต-ตีญานียฺกับพวกกล่าวหา ท่านอะลี (ร.ฎ.) ดำเนินการอย่างไร? กับเหล่าเศาะหาบะฮฺที่เป็นผู้กลับกลอกและประสงค์ร้ายต่ออิสลาม!

 

และจะเชื่อได้อย่างไร? ว่าพวกกุรอยชฺที่เข้ารับอิสลามมีศรัทธาจริงๆ ต่ออิสลาม ในเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็เคยกล่าวไว้ในคุฏบะฮฺของท่าน..ชะรีฟ อัร-เราะฎีย์ รายงานไว้ในตำรานะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺว่า “แท้จริงบรรดาอิมามนั้นมาจากกุรอยชฺ” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ หน้า 305) และท่านอิมาม อะลี (ร.ฎ.) ก็เป็นผู้สืบเชื้อสายจากกุรอยชฺเช่นกัน อัล-หะดีษที่ระบุว่าจะมีอิมามหรือเคาะลีฟะฮฺจำนวน 12 คนก็ระบุว่า ทั้งหมดมาจากกุรอยชฺ อีกทั้งเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันพฤหัสฯ มหาวิปโยคก็น่าจะมีบรรดาเศาะหาบะฮฺจากชาวอันศอรฺรวมอยู่ด้วย ซึ่งพวกเขามิใช่ชาวกุรอยชฺ และท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่ได้ทำลายเกียรติภูมิของชาวอันศอรฺ ไม่ได้สังหารบรรดาผู้กล้าของชาวอันศอรฺ

 

เหตุใดเหล่าเศาะหาบะฮฺที่เป็นชาวอันศอรฺจะต้องจงเกลียดจงชังท่านอะลี (ร.ฎ.) ไปด้วย หรือว่าชาวอันศอรฺก็คือพวกกลับกลอกอีกกลุ่มหนึ่งที่สมรู้ร่วมคิดกับชาวมุฮาญิรีนที่เป็นกุรอยชฺในการทำลายล้างอิสลาม แน่นอนข้อกล่าวหาในทำนองนี้เป็นสิ่งที่อัต-ตีญานียฺคงระบุว่าเป็นเรื่องทีกินกับปัญญา และสมเหตุสมผลเพราะสถานภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺในความคิดและบทสรุปของอัต-ตีญานียฺที่ว่าด้วยความยุติธรรมของเหล่าเศาะหาบะฮฺนอกเหนือจากความศรัทธาเป็นเพียงตำนานหนึ่งที่น่าขบขัน ซึ่งอุปโลกน์กันขึ้นมาโดยอะฮฺลิสสุนนะฮฺ เพื่อเป็นการปกปิดบรรดาพฤติกรรมของเหล่าเจ้านายและพวกแม่เหล็กในหมู่เศาะหาบะฮฺของพวกเขาเท่านั้น ผู้ซึ่งได้กระทำอุตริขึ้นในศาสนาของพระเจ้าและละเมิดกฏเกณฑ์ต่างๆ ของมันโดยอาศัยเรื่องนอกรีตต่างๆ ที่ปลอมแปลงขึ้นมาของพวกเขา…” (ดู ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 403)

  

ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัต-ตีญานียฺจะกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺแบบเหมารวม เพราะอัต-ตีญานียฺไม่สามารถแยกแยะคนดีที่เป็นเศาะหาบะฮฺจริงๆ กับคนชั่วที่เป็นพวกกลับกลอก อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “ความจริงก็คือว่า เศาะหาบะฮฺนั้นประกอบด้วยผู้คนทุกชนิด ผู้ซึ่งมีทั้งผู้ศรัทธาที่มีความเชื่อที่สมบูรณ์ เป็นผู้ทรงคุณธรรมลล้ำลึก พวกใจเร็วด่วนได้ที่ยังหาความดีของเขาอะไรไม่ได้ ผู้มีความยุติธรรมที่มีใจคอกว้างขวาง ผู้กดขี่ที่น่ารังเกียจ ผู้ศรัทธาที่ซื้อสัตย์? พวกเสเพลที่ไร้ความยุติธรรม นักปราชญ์ที่ขยันขันแข็ง พวกโง่เขลาที่กระทำอุตริ ผู้มีความจริงใจ พวกหน้าไหว้หลังหลอก พวกละเมิดต่อหลักการ พวกทรยศและพวกตกศาสนา!” (ดู ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 395)

 

ดูเหมือนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺจะประกอบด้วยคนชั่วมากกว่าคนดีตามที่อัต-ตีญานียฺเขียน สาวกของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก และประชาคมของท่านคือประชาคมที่ดีที่สุด เหตุไฉนจึงเต็มไปด้วยคนเลวที่ปนเปอยู่กับคนดีซึ่งน่าจะมีไม่เกิน 10 คน แล้วความยิ่งใหญ่ของอิสลามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงส่งศาสนทูตท่านสุดท้ายมาเพื่อทำให้ศาสนาของพระองค์สูงเด่นเหนือศาสนาทั้งปวงจะเป็นจริงได้อย่างไร? ในเมื่อชนรุ่นสาวกยังมีสภาพที่แย่ถึงเพียงนั้น อัต-ตีญานียฺโอดครวญว่าชาวสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺรายงานหะดีษที่เปิดช่องให้คนนอกศาสนาโจมตีอิสลาม แต่ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺไม่เพียงแต่เปิดช่องเท่านั้นแต่อัต-ตีญานียฺคือผู้มีส่วนร่วมในการทำลายอิสลามและประชาคมมุสลิมด้วยปากกาของเขา โดยที่พวกนักบูรพาคดีไม่ต้องออกแรงเลยแม้แต่น้อย! เพราะถ้าเหล่าเศาะหาบะฮฺยังมีสภาพที่ย่ำแย่ถึงเพียงนั้น ชาวมุสลิมในยุคหลังก็คงไม่เหลือคุณงามความดีอันใดอีกเลย! 

 

เมื่ออัต-ตีญานียฺเขียนถึงเหล่าเศาะหบะฮฺในหนังสือ “จงถามผู้รู้” ทัศนคติของอัต-ตีญานียฺก็ยังคงเป็นไปในทำนองตอกย้ำถึงการมีลักษณะที่ต่ำทรามของเหล่าเศาะหาบะฮฺอยู่เช่นเดิม เขาเขียนว่า

 

“ต่อจากนั้นอัล-กุรอานอันทรงเกียรติ เมื่อได้กล่าวถึงเศาะหาบะฮฺก็มักจะกล่าวถึงเขาเหล่านั้นโดยคุณลักษณะ และเครื่องหมายที่ชัดเจนหลายประการ และเมื่อเราได้ยกเว้นส่วนหนึ่งจากพวกเขา อันได้แก่ เศาะหาบะฮฺผู้บริสุทธิ์ใจ ผู้มีการขอบพระคุณแล้ว ส่วนที่เหลือจากนั้น ส่วนหนึ่งของคัมภีร์แห่งคำตักเตือนที่มีวิทยญานได้ให้ลักษณะของพวกเขาไว้ว่า : พวกละเมิดฝ่าฝืน, พวกฉ้อฉล, พวกหลอกลวง, พวกละเมิดสัญญา, พวกหันกลับ, พวกตั้งข้อสงสัยในอัลลอฮฺ และศาสนทูตของพระองค์, พวกที่หนีจากทัพ, พวกดื้อดึงต่อสัจธรรม, พวกละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์, พวกที่ขัดขวางมิให้คนอื่นต่อสู้, พวกที่ผละไปหาการละเล่นและการค้าแล้วทิ้งการนมาซ, พวกที่พูดแล้วไม่กระทำ เรียกร้องประโยชน์จากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺในการเข้ารับอิสลาม, พวกหัวใจกระด้างไม่นอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และต่อสัจธรรมที่ถูกประทานมา, พวกที่ขึ้นเสียงของตนเหนือเสียงท่านนบี หรือพวกที่สร้างความลำบากใจแก่ท่านศาสนทูต หรือพวกที่รับฟังเพื่อพวกกลับกลอก เพียงจำนวนเล็กน้อยแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะยังมีอีกหลายโองการที่เรามิได้กล่าวถึง เนื่องจากต้องการพอเป็นสังเขปเท่านั้น…” (ดู จงถามผู้รู้ฉบับแปลโดยอัยยูบ ยอมใหญ่ (2543) สำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่น หน้า 169-170)

 

ดูเอาเถิด! อัต-ตีญานียฺผู้ที่ได้รับทางนำเขียนเรื่องนี้ราวกับว่าอัล-กุรอานได้ประทานลงมาเพื่อประณามเหล่าเศาะหาบะฮฺ และเผยถึงลักษณะของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่แม้กระทั่งมุสลิมธรรมดาๆ อย่างเรายังนำเอาตัวออกห่างจากลักษณะเหล่านั้น เศาะหาบะฮฺส่วนหนึ่งที่อัต-ตีญานียฺยกเว้นเอาไว้มีกี่คน! คำตอบก็คือไม่เกิน 10 คนส่วนที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่มีลักษณะของชน 2 กลุ่มเท่านั้น คือพวกกลับกลอกกับพวกปฏิเสธศรัทธา ดังนั้น สิ่งที่อัล-กุรอานระบุถึงจึงเป็นคำประณามต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเท่านั้นตามความคิดของอัต-ตีญานียฺ 

 

อัต-ตีญานียฺวิจารณ์ที่อิมามอัล-เฆาะซาลียฺ (ร.ฮ.) ได้อ้างอิงหลักฐานจากอัล-กุรอานถึง ภูมิธรรมของเหล่าเศาะหาบะฮฺว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกฉงนต่ออัล-เฆาะซาลียฺ โดยเฉพาะและต่ออะฮฺลิส สุนนะฮฺโดยทั่วไป ถึงการใช้เหตุผลของพวกเขากับอัล-กุรอานเพื่อการพิสูจน์ความยุติธรรมของเศาะหาบะฮฺ ในขณะที่มันไม่เคยมีปรากฏให้เห็นแม้สักเพียงอายะฮฺเดียวที่บ่งชี้ถึงเรื่องนี้ แต่ในทางตรงกันข้าม มีโองการอยู่เป็นจำนวนมากที่ปฏิเสธความยุติธรรมของพวกเขา เปิดเผยให้เห็นความจริงต่างๆ และเผยโฉมถึงความกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกของพวกเขา” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 398)

 

นั่นหมายความว่า ในความคิดและความเข้าใจของอัต-ตีญานียฺไม่มีอายะฮฺอัล-กุรอานอายะฮฺใดเลยที่ระบุถึงความมีภูมิธรรมของเหล่าเศาะหาบะฮฺ แม้กระทั่งอายะฮฺที่น่าจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺคือผู้มีภูมิธรรมอันสูงส่ง และเป็นบุคคลที่อัล-กุรอานแสดงความชื่นชม อัต-ตีญานียฺก็อ้างว่าตนได้ค้นพบสัจธรรมประการหนึ่งในระหว่างการค้นคว้าของตน กล่าวคือ แม้กระทั่งบรรดาอายะฮฺอัล-กุรอานที่แสดงความชื่นชมต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเองก็ยังมีนัยที่เป็นการวิจารณ์สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของอายะฮฺหรือมีสิ่งที่หักล้างการชื่นชมนั่นซ่อนอยู่ (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 112) ถึงแม้ว่าอัต-ตีญานียฺจะแบ่งประเภทของเหล่าเศาะหาบะฮฺออกเป็น 3 ประเภท (ษุมมะตะดัยตุ้ หน้า 90-91) และระบุว่าเศาะหาบะฮฺประเภทที่สามคือ เหล่าชนผู้กลับกลอก (อ้างแล้วหน้า 91) พร้อมกับย้ำว่าการวิเคราะห์ของตนไม่เกี่ยวข้องกับประเภทที่สามนี้ (อ้างแล้ว หน้า 111) แต่ผอเอาเข้าจริง เศาะหาบะฮฺกลุ่มที่สองตามการแบ่งของอัต-ตีญานียฺก็คือ เศาะหาบะฮฺกลุ่มที่สามซึ่งหมายถึงกลุ่มพวกหน้าไหว้หลังหลอกและกลับกลอก

 

ประเภทของเศาะหาบะฮฺตามทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺจึงมีเพียง 2 ประเภท ประเภทที่หนึ่งก็คือเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยที่มีจำนวนไม่เกิน 10 คน ประเภทที่สองก็คือบรรดาเศาะหาบะฮฺเกือบทั้งหมดซึ่งไม่อาจแยกพวกกลับกลอกกออกจาก เศาะหาบะฮฺประเภทที่สองนี้ได้ตามที่อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “อุละมาอฺ สุนนียฺบางท่านพยายามที่จะทำให้เราเชื่อว่า บรรดาพวกหน้าไหว้หลังหลอกก็เป็นที่รู้จักชื่อเสียงกันอยู่แล้ว และเราไม่ควรนำพวกเขาไปปะปนกับบรรดาเศาะหาบะฮฺ แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพวกหน้าไหว้หลังหลอกอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ ผู้ซึ่งความคิดที่แฝงเร้นอยู่ภายในของพวกเขา เป็นที่รู้ได้เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็ทำการนมาซ ถือ ศีลอด เคารพภักดีต่อพระเจ้าและแสวงหาความใกล้ชิดกับพระเจ้า ในทุกวิถีทางเช่นกันนี้คือหลักฐานยืนยัน” (ประโยคสุดท้ายนี้เป็นสำนวนการแปลของอัลดุลลอฮฺ บินกอเซ็ม ซึ่งไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร?) (ดู ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง หน้า 400)

 

แล้วอัต-ตีญานียฺก็ย้ำว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเกินจริง หากจะกล่าวว่า เศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากการเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ดังที่ได้ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายโองการด้วยกัน และได้เป็นที่เปิดเผยโดยผ่านทางวจนะต่างๆ อย่างมากมาย…” (อ้างแล้ว หน้า 401) 

 

เมื่ออัต-ตีญานียฺยืนกรานว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ไม่ได้มีสภาพที่ห่างไกลจากการเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกและเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกพวกกลับกลอกออกจากเหล่าเศาะหาบะฮฺ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัต-ตีญานียฺจะนำอายะฮฺอัล-กุรอานที่กล่าวถึงลักษณะและพฤติกรรมของพวกกลับกลอกและพวกปฏิเสธมาอ้างว่านั่นคืออัล-กุรอานที่ประณามบรรดาเศาะหาบะฮฺ ความสับสนปนเปจนแยกไม่ออกในห้วงความคิดของอัต-ตีญานียฺว่าใครคือผู้ศรัทธา ใครคือผู้ปฏิเสธ และใครคือพวกกลับกลอกที่ตีสองหน้าระหว่างชนสองกลุ่ม จะว่าเป็นความสับสนก็ไม่เชิง และดูเหมือนว่าจะจงใจเสียมากกว่า

 

แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่าพวกกลับกลอกอำพรางตนอยู่ในหมู่เศาะหาบะฮฺ เพราะนั่นคือเป้าหมายของพวกเขาในการแทรกซึมและบ่อนทำลายอิสลาม อัล-กุรอานหลายอายะฮฺก็ระบุไว้ถึงพฤติกรรมของพวกกลับกลอกว่าพวกเขาตีสองหน้าและแสร้งทำทีว่าเป็นผู้ศรัทธา แต่จริงๆ แล้วหัวใจของพวกเขาไม่เคยมีศรัทธา หากแต่เต็มไปด้วยความชิงชังและการบ่อนทำลายอิสลาม กระนั้นพวกกลับกลอกก็ไม่ใช่พวกปฏิเสธศรัทธาที่แสดงพฤติกรรมออกมาอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงถึงแม้ว่าพวกเขาจะปะปนอยู่ในหมู่ผู้ศรัทธาก็ตาม เหตุนั้นจึงเรียกพวกเขาว่า พวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก และอัล-กุรอานก็เปิดโปงและเผยธาตุแท้ของพวกเขาเอาไว้ในบรรดาอายะฮฺต่างๆ

 

ดังนั้นเมื่อเราอ่านอัลกุรอานสูเราะฮฺอัล-มุนาฟิกูน เราก็ย่อมรู้และมั่นใจว่าพวกมุนาฟิกูนเป็นพวกกลับกลอกที่มีลักษณะและพฤติกรรมเป็นเอกเทศ และไม่มีผู้ศรัทธาคนใดที่อ่านสูเราะฮฺอัล-มุนาฟิกูนแล้วก็เชื่อว่า มุนาฟิกูนคือเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกเว้นอัต-ตีญานียฺเท่านั้นที่แยกเรื่องนี้ไม่ออก และเข้าใจว่า สูเราะฮฺอัล-มุนาฟิกูนกล่าวถึงพฤติกรรมและลักษณะของเศาะหาบะฮฺที่เป็นผู้ศรัทธา หรือไม่ก็จงใจที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเช่นนั้น และถึงแม้ว่าอัต-ตีญานียฺจะอ่านอายะฮฺที่ระบุถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธาและการชื่นชมพฤติกรรมของผู้ศรัทธา อัต-ตีญานียฺก็เชื่อว่านั่นไม่ใช่ผู้ศรัทธา แต่เป็นพวกกลับกลอกหรืออย่างน้อยในอายะฮฺที่ชื่นชมถึงพฤติกรรมของผู้ศรัทธาก็มีคำประณามซ่อนอยู่ด้วยตามที่อัต-ตีญานียฺได้อ้างว่าตนค้นพบความเร้นลับในเรื่องนี้ (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 112)

 

เมื่อแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร หรือแยกออกและรู้อยู่แก่ใจแต่ว่าทำไขสือ! อัต-ตีญานียฺก็เลยเหมารวมว่าเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ก็คือ พวกกลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอก เพราะเศาะหาบะฮฺคือผู้ที่มีความโกรธเกลียดต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ความสับสนของอัต-ตีญานียฺได้นำพาให้เขาเขียนพลาดอีกครั้งในข้อเขียนที่ว่า “..พวกเขาได้สู้รบกับท่านอะลี สังหารท่าน สาปแช่งท่าน ทั้งในขณะมีชีวิตและเมื่อตายไปแล้ว ทั้งตัวท่านเอง ทั้งครอบครัว และคนรักของท่าน และคนเหล่านั้นทั้งหมดในทัศนะของพวกท่าน (หมายถึงชาวสุนนะฮฺ) ล้วนเป็นเศาะหาบะฮฺผู้ประเสริฐเลอเลิศไปด้วยกันทั้งหมดแล้ว…” (จงถามผู้รู้ หน้า 169) 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่าตนอ่านตำราประวัติศาสตร์หลายเล่ม (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 156) แต่เหตุไฉนจึงเขียนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) ทั้งๆ ที่ตำราประวัติศาสตร์ทุกเล่มระบุว่า ผู้ที่ลงมือลอบสังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) คือ อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ มุลญัม อัล-มุรอดียฺ บุคคลผู้นี้เป็นพวกเคาะวาริจญ์ซึ่งไม่ใช่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺอย่างแน่นอน เมื่ออัต-ตีญานียฺกล่าวหาว่า เศาะหาบะฮฺคือผู้สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) ในหนังสือ “จงถามผู้รู้” ของเขา เราก็ขอถามผู้รู้ฝ่ายชีอะฮฺว่า ใครคือผู้สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) ผู้รู้ชีอะฮฺนามว่า สัยยิด มุฮัมมัด อะลี อัล-หะสะนียฺก็ตอบไว้ในหนังสือดิรอสาติ ฟี อะกออิด อัช-ชีอะฮฺ อัล-อิมามียะฮฺ หน้า 108 ว่า “ท่านอะมีรุลมุอฺมินีน (อ.ล.) ได้รับชะฮีดในวันที่ 21 เดือนเราะมะฎอนอันมีสิริมงคล หลังจากอับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ มุลญัม อัล-มุรอดียฺได้ฟันท่านในมิหฺร็อบของมัสยิดแห่งนครอัล-กูฟะฮฺขณะละหมาดฟัจรฺญ์เช้าของวันที่ 19 เดือนเราะมะฎอน ปี ฮ.ศ. ที่ 40 และศพของท่านถูกฝังอยู่ที่อัน-นะญัฟ อัล-อัชร็อฟ…” 

 

การยัดเยียดข้อกล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺคือผู้สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) ของอัต-ตีญานียฺซึ่งค้านกับสิ่งที่รู้กันในประวัติศาสตร์จึงถือเป็นความผิดพลาดที่ปากกาพาไปเนื่องจากเพลิดเพลินกับการตั้งข้อหาต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺจนไม่ต้องใส่ใจกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือความน่าจะเป็น อัต-ตีญานียฺคงไม่สำเหนียกในความผิดพลาดตรงประเด็นนี้ เพราะเรื่องที่รุนแรงกว่าประเด็นนี้อัต-ตีญานียฺก็ยังคงเขียนถึงอย่างไม่รู้จักเหนื่อยล้าในตำราเกือบทุกเล่มของตน จนกระทั่งบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่เหลือคุณงามความดีอะไรอีกแล้ว หากจะโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) อีกสักหนึ่งกระทงก็คงไม่แปลกอะไร? 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : ดังนั้น ผู้มีสติปัญญาจึงไม่อาจเชื่อได้ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะไม่ได้สนใจใยดีกับเรื่องเหล่านี้ (เรื่องการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺ) และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านคือผู้ปฏิบัติตามหน้าที่การงานของท่าน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรดาหะดีษต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ถูกสะกัดกั้นไว้โดยการลงมือของบรรดาเคาะลีฟะฮฺที่ได้แอบอ้างทฤษฎีว่าด้วยการปรึกษาหารือขึ้นมา ตลอดจนบรรดาผู้ซึ่งใช้ความพยายามทุกอย่างที่มี เพื่อขัดขวางประกาศิตแห่งบทบัญญัติที่ระบุบอกและบ่งชี้ตัว เคาะลีฟะฮฺ…” (จงถามผู้รู้ หน้า 334) 

 

แน่นอนเราผู้เป็นชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺเชื่ออย่างหมดใจว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ปฏิบัติภาระกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ท่านได้เตือนและชี้แนะแก่ประชาคมของท่านแล้ว และท่านก็ได้ประกาศและเผยแผ่สาส์นของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยหมดสิ้นและสมบูรณ์โดยไม่มีการปิดบังอำพรางสิ่งใดที่จำเป็นตามคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ใช้ให้ท่านได้เปิดเผยและประกาศแก่ประชาคมของท่าน แต่ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺเป็นการเจือสมและชวนให้ผู้อ่านเข้าใจว่าท่านได้แต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็น เคาะลีฟะฮฺต่อจากท่าน กรณีนี้แหล่ะที่เป็นปัญหาและเป็นต้นตอสำคัญที่นำพาไปสู่การกล่าวหาว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺได้ปฏิเสธสิ่งที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ประกาศและตกศาสนาในที่สุดตามข้อกล่าวหาของฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ

 

เรื่องนี้อาจจะดูสมจริงถ้าผู้อ่านไม่ได้ฉุกคิดถึงสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียน ผู้อ่านอาจจะคล้อยตามและเห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺที่ว่า บรรดาเคาะลีฟะฮฺ (ทั้ง 3 ท่าน) และเหล่าเศาะหาบะฮฺสมรู้ร่วมคิดกันแอบอ้างทฤษฎีว่าการการปรึกษาหารือขึ้นมาเพื่อรับรองการเป็นเคาะลีฟะฮฺที่ชอบธรรมของบุคคลทั้งสาม และหักล้างความเชื่อที่ว่าการเป็น เคาะลีฟะฮฺคือการแต่งตั้งที่มีตัวบทกำหนดผู้เป็นเคาะลีฟะฮฺเอาไว้แล้ว! จริงหรือ? ที่ทฤษฎีการปรึกษาหารือเป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺแอบอ้างขึ้นมาในเรื่องการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺในเมื่ออัล-กุรอานได้ระบุถึงคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาว่า 

(وأَمرُهُمْ شُوْرى بَيْنَهُمْ) และการกิจของพวกเขาคือการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา (อัช-ชูรอ : 38)

 

และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงมีคำสั่งให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปรึกษาหารือกับเหล่าเศาะหาบะฮฺในอายะฮฺที่ว่า 

الآية فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ 

“ดังนั้น ท่านจงอภัยแก่พวกเขา จงขอลุแก่โทษแก่พวกเขา และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในการกิจนั้นเถิด..” 

(อาลิ อิมรอน : 159) 

 

เมื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสั่งใช้ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อภัยแก่บรรดาเศาะหาบะฮฺและขอลุแก่โทษต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้แก่เหล่าเศาะหาบะฮฺ แต่ อัต-ตีญานียฺกับพวกชีอะฮฺอิมามียะฮฺกลับกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าประพฤติชั่วและตกศาสนา เมื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงใช้ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปรึกษากับเหล่าเศาะหาบะฮฺในการกิจที่สำคัญ แล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ปฏิบัติตามคำสั่งในอายะฮฺนี้ด้วยการปรึกษาหารือระหว่างกันในเรื่องที่สำคัญอย่างกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ อัต-ตีญานียฺก็กล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺและเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่านสมรู้ร่วมคิดกันแอบอ้างทฤษฎีการปรึกษาหารือ ทั้งๆ ที่มีคำสั่งระบุไว้ในอัล-กุรอานอย่างชัดเจน ตกลง 2 อายะฮฺที่เป็นหลักฐานว่าด้วยการปรึกษาหารือเป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺอุปโลกน์และเพิ่มเติมเข้าไปในอัล-กุรอานแล้วอ้างวาเป็นดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) กระนั้นหรือ?

 

มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ ขอถามอัต-ตีญานียฺว่า ระหว่างตัวบทในอัล- กุรอานที่ระบุเรื่องการปรึกษาหารือในการกิจสำคัญ กับตัวบทที่ระบุว่ามีการแต่งตั้งและกำหนดตัวเคาะลีฟะฮฺ กรณีใดน่าจะเป็นทฤษฎีแอบอ้างและสมคบคิดมากกว่ากัน และคำกล่าวของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ที่กล่าวถึงการเลือกผู้นำผ่านการปรึกษาหารือเล่า เป็นทฤษฎีแอบอ้างด้วยหรือไม่? (ดู กิตาบสะกีฟ อิบนุ ก็อยส์ อัล-ฮิลาลียฺ หน้า 182, บิหารุลอันว๊ารฺ ; อัล-มัจญ์ลิสียฺ 8/555)

 

และสิ่งที่ อิมามอัล-หะสัน (ร.ฎ.) กำหนดเป็นข้อตกลงกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ในการสละตำแหน่งว่าหลังการสิ้นชีวิตของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ให้เรื่องสำคัญนี้เป็นการปรึกษาหารือระหว่างชาวมุสลิมด้วยกัน เป็นทฤษฎีแอบอ้างกระนั้นหรือ? (ดู บิหารุลอันว๊ารฺ 44/65) เราควรจะเชื่ออัล-กุรอานที่ระบุเรื่องการปรึกษาหารือและทัศนะของอิมามอะลี (ร.ฎ.) และอิมามอัล-หะสัน (ร.ฎ.) เกี่ยวกับการปรึกษาหารือดี หรือว่าเราจะเห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺที่เขียนว่าการปรึกษาหารือเป็นทฤษฎีแอบอ้างที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นโดยเหล่าเศาะหาบะฮฺ เราจะเชื่อกรณีไหนจาก 2 กรณีนี้! 

 

อัต-ตีญานียฺยังกล่าวหาบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 ท่านและเหล่าเศาะหาบะฮฺอีกด้วยว่าเป็นผู้สกัดกั้นและใช้ความพยายามในการปิดบังบรรดาตัวบทที่เป็นประกาศิต ระบุตัวของผู้เป็น เคาะลีฟะฮฺต่อจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เป็นเรื่องอีหรอบเดิมสำหรับข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่โยนความผิดสารพันให้แก่เหล่าเศาะหาบะฮฺ หากเป็นความจริงดังว่าก็ย่อมแสดงว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺได้ตัดทอนอัล-กุรอานซึ่งเป็นตัวบทระบุการเป็นเคาะลีฟะฮฺของอิมามอะลี (ร.ฎ.) ออกไปกระนั้นหรือ? แน่นอนย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ในเรื่องนี้ เพราะในอัล-กุรอานเองก็มีหลายอายะฮฺที่ฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺนำมาอ้างเป็นหลักฐานการมีสิทธิชอบธรรมของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการเป็นเคาะลีฟะฮฺมิใช่หรือ?

 

อายะฮฺอัล-วิลายะฮฺ (อัล-มาอิดะฮฺ : 55) อายะฮฺอัล-มุบาฮะละฮฺ (อาลิ อิมรอน : 61) อายะฮฺอัต-ตัฏฮีรฺ (อัล-อะหฺซาบ : 33) อายะฮฺอัล-มะวัดดะฮฺ (อัช-ชูรอ : 23) และอายะฮฺอัล-อีมาน (อัสสะญะดะฮฺ : 18) ทั้งหมดยังคงอยู่ในอัล-กุรอานที่เราอ่านกันทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ได้ถูกสกัดกั้นและถูกลบออกไปจากอัล-กุรอานเสียหน่อย บรรดาหะดีษที่ระบุว่าเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงสิทธิอันชอบธรรมของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการเป็นเคาะลีฟะฮฺตามที่ฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺนำมากล่าวอ้างก็ยังคงมีปรากฏอยู่มิใช่หรือ? หะดีษอัล-มันซิละฮฺที่ระบุสถานะของนบีฮารูน (อ.ล.) กับนบีมูซา (อ.ล.) หะดีษอัล-เฆาะดีรฺ, หะดีษอัษ-ษะเกาะลัยนฺ และอีกมากมายก็ยังคงปรากฏมีอยู่ในตำราของฝ่ายสุนนะฮฺและชีอะฮฺอย่างที่ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺกล่าวอ้างในอัล-มุรอญิอาตมิใช่หรือ?

 

หากมีการสกัดกั้นและพยายามปกปิดหะดีษเหล่านี้ด้วยน้ำมือของเหล่าเศาะหาบะฮฺที่สมรู้ร่วมคิดกับบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสามท่านจริง แล้วเหตุไฉนหะดีษเห่ลานั้นจึงยังคงถูกบันทึก ถูกรายงานและถูกตรวจสอบสายรายงานในหมู่นักวิชาการของทั้งสองฝ่ายจวบจนทุกวันนี้เล่า! มิหนำซ้ำอัต-ตีญานียฺก็เขียนถึงบรรดาหะดีษเศาะหิหฺที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าการปฏิบัติตามอะฮฺลุลบัยตฺเป็นเรื่องจำเป็นในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 179-196 ซึ่งบรรดาหะดีษที่นำมาอ้างเป็นหลักฐานที่เกี่ยวพันกับเรื่องเรื่องการเป็นเคาะลีฟะฮฺโดยชอบธรรมของท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัยตามทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺ หากมีการพยายามลบล้างและสกัดกั้นนับแต่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺจริงตามข้อกล่าวหา ไฉนเลยบรรดาหะดีษเหล่านั้นจึงยังคงดำรงอยู่และกลายเป็นข้อมูลที่อัต-ตีญานียฺนำมาเขียนอธิบายได้อย่างพิสดารเล่า! 

 

ความจริงของเรื่องการปกปิดบรรดาหลักฐานที่ระบุถึงตำแหน่งอิมามะฮฺหาใช่เป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺและเคาะลีฟะฮฺได้ใช้ความพยายามในเรื่องนี้ไม่! หากแต่ในตำราของกลุ่มชีอะฮฺต่างหากที่มีตัวบทระบุห้ามมิให้แพร่งพรายในเรื่องนี้ ตำราอุศูลุลกาฟียฺของชีอะฮฺระบุว่า “พวกท่านอย่าได้แพร่งพรายความลับของเรา อย่าได้ป่าวประกาศการกิจของเรา” (อุศูลลุลกาฟียฺ ; อัล-กุลัยนียฺ 2/222) ผู้อรรถาธิบายอัล-กาฟียฺกล่าวว่า : คือเรื่องของอิมามะฮฺและคิลาฟะฮฺ (ชัรฺห์ ญามิอฺ ; อัล-มาซันดะรอนียฺ 9/119)

 

ในอีกตัวบทหนึ่งอ้างถึงอิมามญะอฺฟัรฺ (อ.ล.) ว่า : ผู้ป่าวประกาศหะดีษของเราย่อมเหมือนกับผู้ปฏิเสธหะดีษของเรา (อุศูลลุลกาฟียฺ 2/224) ผู้อรรถาธิบายกล่าวว่า : จงรู้เถิดว่า แท้จริงท่านอิมามอะลัยฮิสสลามมีความหวั่นกลัวบรรดาศัตรูของศาสนาที่จะทำร้ายต่อชีวิตอันบริสุทธิ์ของท่านและเหล่าชีอะฮฺของท่าน และท่านอยู่ในภาวะของการตะกียะฮฺที่เข้มงวดจากบรรดาศัตรูเหล่านั้น เหตุนั้นท่านจึงห้ามมิให้แพร่งพรายข่าวคราวใดๆ ที่บ่งถึงการเป็นอิมามของท่านหรือการเป็นอิมามของบรรพชนของท่าน (ชัรหฺ ญามิอฺ ; อัล-มาซันดะรอนียฺ 10/26) 

 

และมีรายงานจากอิมามอะลี อัร-ริฎอ (อ.ล.) ว่า : ตำแหน่งวิลายะฮฺของอัลลอฮฺนั้น พระองค์ทรงบอกเป็นความลับแก่ญิบรีล และญิบรีลบอกเป็นความลับแก่มุฮัมมัด และมุฮัมมัดบอกเป็นความลับแก่อะลี และอะลีบอกเป็นความลับแก่ผู้ที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ ต่อมาพวกท่านก็นำเอาสิ่งดังกล่าวไปแพร่งพรายให้รู้กัน ผู้ใดเล่าที่ระงับอักษรหนึ่งที่เขาได้ยินมัน? หมายถึงไม่มีผู้ใดที่ระงับคำพูดที่ตนได้ยินได้ฟังมา (ชัรฺห์ ญามิอฺ ; อัล-มาซันดะรอนียฺ 9/123)

 

อิมามอะบูญะอฺฟัร (อ.ล.) กล่าวว่า : สมควรสำหรับมุสลิมในการที่เขาจะควบคุมตัวของเขา มุ่งหน้าต่อธุระของตน รู้ถึงคนที่อยู่ร่วมสมัยกับตน ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และพวกท่านอย่าได้แพร่งพรายหะดีษของเรา (อุศูลกาฟียฺ 2/224) และในตำราของชีอะฮฺอิมามียะฮฺยังระบุถึงพันธสัญญา (อัล-มีษาก) ที่กำหนดให้เหล่าชีอะฮฺจำต้องปกปิดเรื่องสถานะของผู้เป็นอิมามอีกด้วยว่า : แท้จริงการกิจจองเราเป็นสิ่งที่ถูกปิดซ่อนเอาไว้ ถูกคลุมด้วยพันธสัญญา ผู้ใดล่วงเกินต่อเรา อัลลอฮฺย่อมให้ผู้นั้นอัปยศอดสู (อุศูลลุลกาฟียฺ 2/227) ผู้ตรวจทานอัล-กาฟียฺ อธิบายว่า : หมายถึงพันธสัญญาที่อัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ทรงกระทำพันธสัญญานั้นกับบรรดาอิมาม (อ.ล.) ในการที่พวกเขาจะต้องปกปิดพันธสัญญาจากบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง (อุศูลกาฟียฺ 2/227 ฮามิชฺ เลขที่ 1) 

 

ในเมื่อฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺมีพันธสัญญาในเรื่องการปกปิดสถานะและตัวของผู้ดำรงตำแหน่งอิมาม ตลอดจนมีคำสั่งจากบรรดาอิมามของพวกเขามิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงต้องกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าพวกเขาได้พยายามปกปิดและมิให้หลักฐานที่ว่าด้วยเรื่องอิมามะฮฺแพร่งพรายออกไป ในเมื่อบรรดาอิมามก็สั่งมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้ หากบรรดาเศาะหาบะฮฺพยายามปกปิดเรื่องนี้จริงตามคำกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺ นั่นก็เป็นการรักษาพันธสัญญามิให้เป็นที่เปิดเผยมิใช่หรือ? ทว่าในความจริง บรรดาเศาหาบะฮฺไม่ได้สกัดกั้นและพยายามปกปิดหลักฐานในเรื่องนี้แต่อย่างใด พวกชีอะฮฺอิมามียะฮฺต่างหากที่ปกปิดเรื่องนี้โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของบรรดาอิมามของพวกเขา 

 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺเกลียดชังท่านอะลี (ร.ฎ.) และอุฮิลุลบัยตฺจึงพยายามปกปิดและสกัดกั้นบรรดาหะดีษที่ระบุถึงความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺก็ถามว่าใครเป็นผู้รายงานหะดีษอัล-มันซีละฮฺ ท่านสะอฺด์ อิบนุ อบีวักกอศ (ร.ฎ.) อีกเช่นกันมิใช่หรือ? ใครเป็นผู้กล่าวว่า “ผู้ที่อ่านอัล-กุรอาน (ท่องจำแม่นยำ) มากที่สุดของเราคือ อุบัยฺ และผู้ที่ตัดสินความได้ดีที่สุดของเราคือ อะลี” ท่านอุมัร (ร.ฎ.) เป็นผู้กล่าวมิใช่หรือ? ผู้ที่รายงานความประเสริฐของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) ว่าเป็นนายหญิงของเหล่าสตรีในสวนสวรรค์นั้นคือผู้ใดเล่า? คือท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) มิใช่หรือ? ผู้ที่รายงานถึงความประเสริฐของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ว่าคือสองกลิ่นอันจรุงจิตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) มิใช่หรือ? และผู้ที่รายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า : ผู้ใดรักทั้งสอง แน่แท้ผู้นั้นรักฉัน และผู้โกรธทั้งสอง แน่แท้ผู้นั่นโกรธเคืองฉัน หมายถึงท่านอัล-หะสันและอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ผู้รายงานหะดีษนี้คืออบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ อัต-ตีญานียฺกล่าวหาว่าเป็นนักกุหะดีษที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์มิใช่หรือ? 

 

หากจะกล่าวว่า บรรดาหะดีษที่ระบุถึงความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) และอะฮฺลุลบัยตฺ (ร.ฎ.) ที่มีปรากฏอยู่ในตำราของชาวอะฮิลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺทั้งหมดถูกรายงานโดยบรรดาเศาะหาบะฮฺก็คงไม่ผิด ส่วนหะดีษที่ระบุตัวบุคคลที่จะเป็นอิมามตลอดจนออกชื่ออิมามตามลำดับนั้นก็ถูกรายงานโดยเศาะหาบะฮฺเช่นกันตามที่ชีอะฮฺอ้าง ส่วนว่าจะเป็นหะดีษที่จริงหรือเท็จนั้น ก็เป็นเรื่องที่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺต้องไปตอบกับชีอะฮฺกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับในสถานะของหะดีษนั้น หาใช่เป็นการปกปิดของเศาะหาบะฮฺไม่ 

 

อัต-ตีญานียฺอ้างถึงบรรดาอายะฮฺอัล-กุรอานที่กล่าวถึงพวกชนกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกและอ้างอายะฮฺเหล่านั้นว่ามุ่งหมายถึงเหล่าเศาะหาะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เช่น อายะฮฺในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ อัต-ตีญานียฺอ้าง อายะฮฺที่ 38, 39 ในหนังสือษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 115 อายะฮฺที่ 75, 76 ในหน้า 183, อายะฮฺที่ 74, 101 ใน “จงถามผู้รู้” ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 165 อายะฮฺที่ 77, 97 หน้า 166, อายะฮฺที่ 24, 45, 47 81 ในหน้า 173 และอายะฮฺ 58, 61 ในหน้า 174 และอายะฮฺที่ 101 ใน “ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง” (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 401 และอายะฮฺที่ 99 หน้า 402 ทั้งหมดเป็นอายะฮฺอัล-กุรอานในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺที่เปิดโปงพฤติกรรมของพวกหน้าไหว้หลังหลอกซึ่งอัต-ตีญานียฺนำมาอ้างเป็นลักษณะของเหล่าเศาะหาบะฮฺตามทฤษฎีของเขาที่ถือว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่คือพวกกลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอก แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่อัต-ตีญานียฺละที่จะกล่าวถึง อายะฮฺที่ 107-108 จากสูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ ทั้งๆ ที่อายะฮฺทั้ง 2 นี้ก็เป็นอายะฮฺที่เปิดโปงพฤติกรรมของพวกมุนาฟิกูนที่กลับกลอกเช่นกัน

 

ทั้งสองอายะฮฺมีเนื้อหาที่ระบุถึงการที่พวกกลับกลอกได้สร้างมัสญิดฎิร็อรฺ เพื่อเป็นที่มั่นให้แก่ อบูอามิรฺ อัร-รอฮิบเพื่อบ่อนทำลายอิสลาม โดยพวกมุนาฟิกูนต้องการให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทำการละหมาดในมัสญิดแห่งนี้ แล้วท่านญิบรีล (อ.ล.) ก็บอกให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทราบถึงแผนการร้ายของพวกมุนาฟิก ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงให้เศาะหาบะฮฺบางท่านทำลายมัสญิดฎิร็อรฺนี้ลงเสีย และอายะฮฺที่ 108 ก็ระบุห้ามมิให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ละหมาดในมัสญิดฎิร็อรฺ แต่ใช้ให้ท่านละหมาดใน มัสญิดแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการตักวา

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกที่สร้างมัสญิดฎิร็อรฺเป็นคนละพวกกับเศาะหาบะฮฺ แต่ในทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺนั้นบรดาเศาะหาบะฮฺเป็นพวกกลับกลอกโดยส่วนใหญ่ และสิ่งที่เข้าใจได้ก็คือ มัสญิดที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ละหมาดคือมัสญิดของเหล่าเศาะหาบะฮฺ ส่วนมัสญิดที่ท่านถูกห้ามมิให้ละหมาดและใช้ให้เหล่าเศาะหาบะฮฺทำลายก็คือ มัสญิดฎิร็อรฺของพวกมุนาฟิก แต่ถ้าถือตามทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺก็จะกลายเป็นว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถูกใช้ให้ละหมาดในมัสญิดของพวกมุนาฟิกที่หมายถึงเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ และถูกทำลายตามคำสั่งของท่านเพื่อที่ท่านจะได้ละหมาดในมัสยิดของพวกมุนาฟิก (คือเหล่าเศาะหาบะฮฺ) กระนั้นหรือ?

 

ทำไมเรื่องมันจึงได้กลับตาลปัตรเช่นนั้น! ทั้งๆ ที่มัสญิดแรกถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของตักวาและบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อยู่ ณ มัสญิดนั้นเป็นผู้ที่รักในการทำความสะอาดและอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ทรงรักบรรดาผู้ที่รักษาการทำความสะอาด แต่กลายเป็นว่ามัสญิดแห่งแรก (มัสญิดกุบาอฺ – มัสญิดนะบะวียฺ) ถูกสร้างบนพื้นฐานของการนิฟ๊าก กลับกลอก และบรรดาผู้ที่รักในการทำความสะอาดซึ่งเป็นที่รักสำหรับ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) กลับกลายเป็นพวกมุนาฟิกกระนั้นหรือ? ตามทฤษฎีกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺ

 

จะเห็นได้ว่าอายะฮฺอื่นๆ ในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺและสูเราะฮฺอื่นๆ อัต-ตีญานียฺอาจจะโมเมนำมาอ้างเพื่อกล่าวหาเหล่าเศาะหาบะฮฺว่าเป็นพวกกลับกลอกได้ตามมโนภาพของตน แต่ 2 อายะฮฺนี้ (107, 108) ในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺเป็นหลักฐานที่แบ่งแยกเด็ดขาดว่า พวกมุนาฟิกเป็นคนละพวกกับเศาะหาบะฮฺ และไม่อาจนำมาปะปนกันได้ เพราะหากนำมาปะปนกันก็จะเกิดความสับสนและกลับตาลปัตรอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุนี้อัต-ตีญานียฺจึงเลี่ยงที่จะไม่นำ 2 อายะฮฺนี้มากล่าวอ้างในหนังสือของตน เพราะจะทำให้ทฤษฎีอุปโลกน์ของเขากลายเป็นเรื่องไร้เหตุผลและไม่กินกับปัญญาไปในทันใด? นอกจากนี้ อายะฮฺที่ 100 และ 117 ในสูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺที่ระบุถึงชนรุ่นแรกจนชาวมุอาญิรีนและอันศอรฺตลอดจนผู้ที่ดำเนินตามพวกเขาโดยดีซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพึงพอพระทัยต่อพวกเขาและเตรียมสวนสวรรค์เอาไว้แล้วแก่พวกเขา

 

อีกทั้งอายะฮฺที่ 117 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรับการเตาบะฮฺของเหล่าเศาะหาบะฮฺทั้งมุฮาญิรีนและอันศ็อรฺ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนในการแบ่งแยกเหล่าเศาะหาบะฮฺออกจากพวกมุนาฟิก 2 อายะฮฺนี้อัต-ตีญานียฺก็ละที่จะกล่าวถึงอีกเช่นกัน เพราะถ้าหากบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เป็นมุฮาญิรีนและอันศ็อรฺส่วนใหญ่คือ มุนาฟิกูนตามที่อัต-ตีญานียฺกล่าวหา เหล่าเศาะหาบะฮฺย่อมถูกสาปแช่งและอยู่ในนรกชั้นล่างสุดแทนที่จะได้รับความพึงพระทัยจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตลอดจนได้รับคำสัญญาเกี่ยวกับสวนสวรรค์และการรับการเตาบะฮฺจากพระองค์ และนั่นก็จะทำให้ทฤษฎีการกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺเกิดความขัดแย้งในตัวของมันเองอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนจะกลายเป็นการปฏิเสธนัยและสิ่งที่ 2 อายะฮฺนั้นได้ระบุไว้ 

 

เป็นเรื่องที่น่าฉงนยิ่ง เมื่อเราได้อ่านข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่เขียนถึงเหล่าเศาะหาบะฮฺในตำราเกือบทุกเล่มที่เขาเขียนโดยยัดเยียดข้อกล่าวหาการเป็นผู้กลับกลอกของเหล่าเศาะหาบะฮฺและการตกศาสนาให้เหล่าเศาะหาบะฮฺเกือบทั้งหมด อัต-ตีญานียฺก็ยืนกรานแบบข้างๆ คูๆ ว่า “เมื่อเราพูดถึงเศาะหาบะฮฺในบทนี้ นั่นหมายความว่าเป็นเพียงบางคนในหมู่พวกเขาเท่านั้น มิใช่ เศาะหาบะฮฺทั้งหมด ส่วนกรณีที่ว่าบางคนในที่นี้จะเป็นส่วนมากหรือส่วนน้อยนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะได้รู้กันจากการวิเคราะห์ อินชาอัลลอฮฺ เพราะคนพาลส่วนมากมักจะเข้าใจผิดๆ ว่าเราต่อต้านเศาะหาบะฮฺ และว่าเราหมิ่นประมาทเศาะหาบะฮฺ ด่าประณามพวกเขา เพื่อสร้างความแค้นเคืองให้แก่ผู้ฟัง และพวกเขาจะอาศัยวิธีนี้ตัดหนทางสำหรับผู้ศึกษาวิเคราะห์ ในขณะเดียวกับที่เราปลอดพ้นโดยสิ้นเชิงจากการด่าประณามเศาะหาบะฮฺและหมิ่นประมาทพวกเขา แต่เรามีความพึงพอใจกับบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้มีความบริสุทธิ์ใจ ตามที่อัล-กุรอานให้สมญานามแก่พวกเขาว่า อัช-ชากิรีน (ผู้ขอบคุณ)

 

แต่เราก็ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากบรรดาผู้ตระบัดสัตย์แล้วกลับสู่สภาพเดิม ซึ่งพวกเขาได้หันหลังกลับไปอยู่ในสภาพเดิมตามที่เคยเป็นอยู่ในอดีตหลังจากสมัยนบีและเป็นต้นเหตุของความหลงผิดของบรรดามุสลิมส่วนใหญ่ แม้กระทั่งจะเป็นคนเหล่านั้นก็ตาม เราก็จะไม่ประณามและไม่หมิ่นประมาทพวกเขา เพียงแต่หน้าที่ทั้งหมดของเราคือ เปิดเผยพฤติกรรมของพวกเขา ตามที่นักประวัติศาสตร์และนักหะดีษได้กล่าวถึงไว้เพื่อนำสัจธรรมมาสู่บรรดานักวิเคราะห์ และนี่คือสิ่งที่พี่น้องของเรา อะฮฺลิสสุนนะฮฺไม่พึงพอใจด้วยเลย และพวกเขาถือว่านี่คือการด่าประณาม และการหมิ่นประมาทอยู่นั่นแหล่ะ (จงถามผู้รู้ หน้า 160-161)

 

เราในฐานะชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺขอถามอัต-ตีญานียฺว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺที่อัต-ตีญานียฺและชีอะฮฺ อิมามียะฮฺหมายถึงบรรดาอัช-ชากีรีนนั่นคือผู้ใดเล่า? แน่นอนมีรายชื่อเพียงไม่กี่คนจากเหล่าเศาะหาบะฮฺกลุ่มนี้ คือ อัมมารฺ อิบนุ ยาสิรฺ, สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ, อบูซัรฺริน อัล-ฆิฟารียฺ, อัล-มิกดาด อิบนุ อัล-อัสวัด, คุซัยมะฮฺ อิบนุ ษาบิต ซู อัช-ชะฮาดะตัยนฺ, อุบัยฺ อิบนุ กะอฺบิน และคนอื่นๆ ซึ่งไม่ทราบรายชื่อแน่ชัดว่าเป็นใคร? (ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 158-159) เศาะหาบะฮฺที่เหลือซึ่งอัต-ตีญานียฺทำไขสือว่าเป็นเศาะหาบะฮฺบางส่วนเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วการวิเคราะห์ของ อัต-ตีญานียฺก็ได้บทสรุปว่าเป็นเศาะหาบะฮฺส่วนมาก มิใช่ส่วนน้อยอย่างแน่นอน! เพราะอัต-ตีญานียฺสรุปว่า บรรดาผู้ขอบพระคุณคือเศาะหาบะฮฺส่วนน้อยนั่นเองที่ไม่ยอมหันกลับ (ตามที่อายะฮฺ 144 จากสูเราะฮฺอาลิ-อิมรอนระบุ) พวกเขายืนหยัดบนพันธสัญญาที่พวกเขาเคยมีไว้ต่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงด้วยประการใดๆ ก็ตาม (จงถามผู้รู้ หน้า 177)

 

และอัต-ตีญานียฺก็ตั้งประเด็นโต้แย้งกับอะฮฺลิสสุนนะฮฺว่า อายะฮฺที่ 144 สูเราะฮฺอาลิอิมรอนถึงแม้จะกล่าวถึงเศาะหาบะฮฺผู้บริสุทธิ์ใจ โดยพวกเขาไม่เป็นพวกกลับกลอกในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีชีวิตอยู่ หากแต่พวกเขาได้หันกลับไปสู่สภาพเดิมของพวกเขา (ตกศาสนา) ภายหลังการสิ้นชีวิตในทันทีทันใด (จงถามผู้รู้ หน้า 177) เพราะอะไรเล่า? ก็เพราะเหล่า เศาะหาบะฮฺตระบัดสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้กับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และย้อนกลับสู่สภาพเดิม (ตกศาสนา) ซึ่งมีสาเหตุจากเรื่องเคาะลีฟะฮฺตามที่อัต-ตีญานียฺตั้งประเด็นเอาไว้นั่นเอง (จงถามผู้รู้ หน้า 176) การอ้างแบบข้างๆ คูๆ ของอัต-ตีญานียฺว่าตนมิได้ประณามและหมิ่นประมาทเศาะหาบะฮฺพร้อมกับเขียนว่าใครที่เข้าใจเช่นนั้นเป็นคนพาล

 

ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริงอีกเช่นกัน เพราะถ้าการกล่าวว่าเศาะหาบะฮฺส่วนมากเป็นผู้กลับกลอกและตระบัดสัตย์ต่อพันธสัญญาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ถือเป็นคำประณามและการหมิ่นประมาทแล้ว เราจะเรียกว่าอะรไ? และมีคำประณามใดที่รุนแรงยิ่งไปกว่าการกล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺส่วนมากหันหลังกลับ (มุรตัด วัลอิยาซุบิลลาฮฺ) อีกเล่า?

 

หากเรากล่าวว่าในหมู่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺมีพวกหน้าไหว้หลังหลอกกลับกลอก ปฏิเสธแนวทางของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอะฮฺลุลบัยตฺที่ชื่นชมและยกย่องบรรดาเศาะหาบะฮฺ มีนักวิชาการชีอะฮฺบางคนตีความอัล-กุรอานที่ผิดเพี้ยนและกุหะดีษมาเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตน ถามว่าชีอะฮฺอิมามียะฮฺจะถือหรือไม่ว่าสิ่งที่กล่าวเป็นการประณามและหมิ่นประมาทต่อชาวชีอะฮฺ! หรือว่านี่คือคำชื่นชมหรือเป็นการวิเคราะห์เพื่อเปิดเผยธาตแท้ของกลุ่มชีอะฮฺอิมามียะฮฺโดยไม่มีเจตนาประณามและหมิ่นประมาท ถ้าเราชาว สุนนะฮฺกล่าวอย่างนี้บ้าง ชาวชีอะฮฺจะยอมรับได้หรือไม่? และถ้าเรายืนกรานว่าเราไม่ได้ประณามและหมิ่นประมาทแต่เราเปิดเผยตามที่มีหลักฐานระบุอยู่ในตำราของชีอะฮฺเองว่าพวกเขามีพฤติกรรมและความเชื่ออย่างไร? อัต-ตีญานียฺยอมรับได้หรือไม่?