เศรษฐกิจพอเพียงกับหลักการอิสลาม

ความหมาย

คำว่า เศรษฐกิจ เป็นคำที่เกิดจากการนำเอาคำ 2 คำมาสนธิกัน คือ คำว่า เศรษฐ- (เสดถะ) ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ดีเลิศ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ กับคำว่า กิจ (กิด) หมายถึง ธุระ, งาน ดังนั้นคำว่า “เศรษฐกิจ” จึงหมายถึง งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 786)

ซึ่งหากพิจารณาความหมายตามรากศัพท์เดิมก็จะได้ความหมายแบบง่าย ๆ ว่า : งานที่ยอดเยี่ยม หรืองานที่ดีเลิศ ซึ่งมีความหมายและนัยกว้างโดยครอบคลุมถึงการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม

ส่วนคำว่า “พอเพียง” หรือ “เพียงพอ” เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ หมายถึง ได้เท่าที่ต้องการ หรือได้เท่าที่กะไว้ หรือ เหมาะควรในระดับปานกลาง ดังนั้นความหมายโดยรวมของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงมีนัยบ่งชี้ที่อยู่ในกรอบหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งยึดทางสายกลางเป็นหลัก ดังมีหลักคำสอนระบุว่า :

خَيْرُ الأُمُوْرِ أَوْسَطُهَا  “ที่ดีที่สุดของกิจการทั้งหลายคือ ตรงกลางของมัน”

(รายงานโดยอิบนุ อัสสัมอานีย์-ฎ่ออีฟ)


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เอาไว้แก่พสกนิกรของพระองค์ ดังนี้

1. ยึดถือความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้านลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต

2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต

3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง

4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ

5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

(ที่มา : มูลนิธิชัยพัฒนา)


จะเห็นได้ว่า แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางเอาไว้ทั้ง 5 ประการนั้นมีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีปรากฏอย่างชัดเจนในคัมภีร์อัลกุรฺอานและอัล-หะดีษ ดังมีรายละเอียด ตามลำดับดังนี้

1. ประหยัด คือ ใช้จ่ายแต่พอควรแก่ฐานะ ไม่สุรุ่สุร่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงดำรัสว่า :

وَكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ

“และพวกสูเจ้าจงกินและจงดื่ม และพวกสูเจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย
แท้จริงพระองค์มิทรงรักบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่าย”

(สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 31)


การรู้จักตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นตลอดจนการลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต ถือเป็นคุณธรรมสำหรับบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา (عِبَادُ الرَّحْمنِ) ดังปรากฏในพระดำรัสที่ว่า

وَالَّذِينَ إِذَا أَنفَقُوا لَمْ يُسْرِفُوا وَلَمْ يَقْتُرُوا وَكَانَ بَيْنَ ذَلِكَ قَوَامًا

“และ(คือ)บรรดาผู้ซึ่งเมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย  และพวกเขาก็ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว

และปรากฏว่าระหว่างสิ่งดังกล่าวคือความเป็นกลาง  (ระหว่างการสุรุ่ยสุร่ายและความตระหนี่)”

(สูเราะฮฺอัล-ฟุรกอน อายะฮฺที่ 67)

ในพระดำรัสนี้บ่งชี้ถึงความพอดีในการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต โดยยึดหลักของความประหยัด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย อิสลามถือว่าความฟุ่มเฟือยและความสุรุ่ยสุร่ายเป็นลักษณะของกลุ่มชนที่สังกัดตามแนวทางของมารร้าย ดังมีพระดำรัสระบุว่า :

إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُواْ إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ وَكَانَ الشَّيْطَانُ لِرَبِّهِ كَفُورًا

“แท้จริงบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายนั้น

พวกเขาเป็นพี่น้องกับเหล่ามารร้าย และมารร้ายนั้นมันเนรคุณต่อพระผู้อภิบาลของมัน”

(สูเราะฮฺอัลอิสรออฺ อายะฮฺที่ 27)


นักอรรถาธิบายอัลกุรฺอานกล่าวว่า ความฟุ่มเฟือยและความสุรุ่ยสุร่ายที่อัลกุรฺอานประนามก็คือการใช้จ่ายไปในสิ่งที่มิได้เป็นไปเพื่อการภักดีต่ออัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ตลอดจนการใช้จ่ายไปในสิ่งที่ศาสนาอนุมัติให้แต่เกินความจำเป็นและไร้ประโยชน์

ในขณะเดียวกัน การประหยัดก็จะต้องไม่นำไปสู่ความเห็นแก่ตัวและความตระหนี่ถี่เหนียว อันหมายถึง การปฏิเสธจากการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในสิ่งที่เป็นภารกิจจำเป็น เช่น การจ่ายค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาและครอบครัว การจ่ายซะกาต เป็นต้น พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงดำรัสว่า

الَّذِينَ يَبْخَلُونَ وَيَأْمُرُونَ النَّاسَ بِالْبُخْلِ وَيَكْتُمُونَ مَا آتَاهُمُ اللهُ مِن فَضْلِهِ وَأَعْتَدْنَا لِلْكَافِرِينَ عَذَابًا مُّهِينًا

“และ(คือ)บรรดาผู้ซึ่งตระหนี่ถี่เหนียว  และใช้ผู้คนให้มีความตระหนี่ถี่เหนียว

ตลอดจนพวกเขาจะปิดบังสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงนำมาให้แก่พวกเขาจากความโปรดปรานของพระองค์

และเราได้เตรียมการลงทัณฑ์อันอัปยศไว้แล้วแก่บรรดาผู้เนรคุณทั้งหลาย”

(สูเราะฮฺอันนิสาอฺ อายะฮฺที่ 37)


ความตระหนี่ถี่เหนียวมีรากเหง้ามาจากการหลงรักในทรัพย์สินและถือว่าทรัพย์สินคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งผลร้ายของความตระหนี่ถี่เหนียวนั้นจะทำให้ศรัทธาของบุคคลอ่อนแอและได้รับความวิบัติในบั้นปลาย ดังปรากฏในอัลหะดีษว่า :

خَصْلَتَانِ لاَتَجْتَمِعَانِ لِمُؤمِنٍ ، الْبُخْلُ ، وَسُوءُ الْخُلُقِ

“2 ประการจะไม่ร่วมอยู่ด้วยกันสำหรับผู้ศรัทธา  คือ ความตระหนี่และการมีมารยาทที่เลวทราม”

(รายงานโดยติรมีซี)


และอัลหะดีษที่ระบุว่า

وَاتَّقُواالشُّحَّ فإنَّه أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ … الحديث

“และพวกท่านจงป้องกัน (ตัวของพวกท่านให้ห่างไกล) ความตระหนี่

เพราะแท้จริงความตระหนี่ได้ทำให้ผู้คนในยุคก่อนหน้าพวกท่านวิบัติมาแล้ว”

(รายงานโดยมุสลิม -2538-)


ดังนั้นการยับยั้ง (ไม่ยอมจ่าย) ทรัพย์สินจากด้านที่จำเป็นต้องจ่าย ถือว่าเป็นความตระหนี่ และการจ่ายทรัพย์สินไปในด้านที่จำเป็นต้องยับยั้ง (ห้ามจ่าย) ถือเป็นความสุรุ่ยสุร่าย และระหว่างกรณีทั้งสองนั้นคือทางสายกลาง ไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่ถี่เหนียว

นักวิชาการมุสลิมได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายที่เป็นทางสายกลางเอาไว้ 4 ประการดังนี้

1. พยายามแสวงหาทรัพย์สินที่หะล้าล

2. ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่พอประมาณ พอเพียงต่อความต้องการเท่านั้น

3. พยายามในการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในกรณีที่จำเป็นต้องใช้จ่าย และระงับยับยั้งจากการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย ทั้งนี้เพื่อหลีกห่างจากการตกไปในภาวะของความตระหนี่และความสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย

4. พยายามรักษาความบริสุทธิ์ใจในเจตนาให้เป็นไปเพื่อพระองค์อัลลอฮฺ ในการปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น (ยาซีน,รุชดีย์;อัลมะฮฺซูรอต. หน้า 88-89)

2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องซื่อสัตย์สุจริต

อิสลามถือว่าการประกอบอาชีพเป็นสิ่งมีเกียรติและความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่ถูกประณาม โดยเฉพาะการละทิ้งการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพของบุคคลที่มีความสามารถนั้นถือเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และไม่อนุญาตให้มุสลิมเกียจคร้านจากการแสวงหาปัจจัยยังชีพ ด้วยข้ออ้างว่าจะปฏิบัติศาสนกิจเพียงอย่างเดียวหรือมอบหมายต่ออัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) โดยไม่ยึดหลักของการกระทำปัจจัยเหตุและผลของเหตุแห่งการกระทำนั้น ทั้งนี้มีหลักคำสอนระบุเอาไว้ว่า :

لاَيَقْعُدَنَّ أَحَدُكُمْ عَنْ طَلَبِ الرِّ زْقِ

“คนหนึ่งในหมู่พวกท่านอย่าได้นั่ง (งอมืองอเท้า) จากการแสวงหาปัจจัยยังชีพ”

ดังนั้นมุสลิมสามารถที่จะแสวงหาปัจจัยยังชีพด้วยการประกอบอาชีพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรกรรม การค้าขาย หรือการประดิษฐ์หัตถกรรม หรืออุตสาหกรรม หรือมีตำแหน่งในบริษัท องค์กร หรือเป็นข้าราชการ ตราบใดที่การประกอบอาชีพนั้น ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม หรือมีส่วนเกื้อหนุนต่อสิ่งต้องห้าม กล่าวคือ ต้องเป็นอาชีพหรืองานที่ศาสนาอนุมัติให้กระทำได้ ถูกต้องตามศาสนาบัญญัติและกฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งในกรณีหลังนี้ต้องเป็นกฎหมายที่ไม่ขัดต่อศาสนบัญญัติ

ฉะนั้น การขายลอตเตอรี่ การขายสุรา การเลี้ยงสุกร การเปิดบ่อนที่มีใบอนุญาต และการทำธุรกิจสถานบริการเริงรมย์ ตลอดจนการทำธุรกรรมที่มีดอกเบี้ย มุสลิมไม่สามารถกระทำได้ถึงแม้จะถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม

นักวิชาการมุสลิมมีความเห็นต่างกันว่า การประกอบอาชีพใดมีความประเสริฐที่สุดตามคำสอนในศาสนาอิสลาม ฝ่ายหนึ่งระบุว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ถือว่าอาชีพหัตถกรรมและการทำงานที่ใช้มือเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งถือว่าการค้าขาย เป็นอาชีพที่ประเสริฐที่สุด

อย่างไรก็ตามนักวิชาการที่สันทัดกรณี ระบุว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ที่แตกต่างกันไป ในยามที่มีความต้องการอาหารหลักมากที่สุด การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในยามนั้นย่อมถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และในยามที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด การทำอาชีพค้าขายก็ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และในยามที่ผู้คนต้องการสินค้าจำพวกหัตถกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าดังกล่าวก็ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ซึ่งการให้รายละเอียดเช่นนี้นับว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักวิชาการเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน

เนื่องจากประเทศไทยของเรา เป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ครั้งโบราณ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพหลักของคนไทย ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันจะมีแนวโน้มในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมส่วนหนึ่งก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมซึ่งนำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูป อาทิเช่น อุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง,อาหารกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากพืชเกษตร ตลอดจนการปลูกพืชทดแทนพลังงานน้ำมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงอยู่หลายประการ อาทิเช่น ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรความเสี่ยงในราคาและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศ,ความเสี่ยงด้านน้ำที่ใช้มนการเกษตร,ปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาด ตลอดจนความเสี่ยงด้านแบบแผนการผลิต เป็นต้น

เหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริว่าด้วย “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีองค์ประกอบหลักดังนี้

  1. ที่ดิน

  2. พืชเกษตร

  3. น้ำ

การบริหารการจัดการองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ประการตามหลัก “ทฤษฎีใหม่” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นมีความสอดคล้องกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลามดังนี้

1) การฟื้นฟูที่ดินรกร้าง คือการที่มุสลิมมุ่งไปยังที่ดินรกร้างซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของผู้หนึ่งผู้ใดแล้วมุสลิมผู้นั้นก็พัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ด้วยการปลูกไม้ยืนต้น หรือสร้างอาคารหรือขุดบ่อน้ำเอาไว้ใช้สอย ที่ดินผืนนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้นั้น ทั้งนี้มีหลักฐานจากอัล-หะดีษระบุว่า :

مَنْ أَحْيَاأَرْضًا مَيِّتَةً فَهَىَ لَه

“ผู้ใดทำให้ผืนแผ่นดินที่ตายไปแล้วมีชีวิต  (คือการพัฒนามัน) ผืนแผ่นดินนั้นย่อมเป็นสิทธิของเขา”

(รายงานโดย อะฮฺหมัด และติรมีซี)


และอัลหะดีษที่ระบุว่า :

مَنْ أَعْمَرَ أَرْضًا لَيْسَتْ لأَحَدٍ فَهُوَ أَحَقُّ بِهَا

“ผู้ใดพัฒนาผืนดินหนึ่งซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ใดให้มีความเจริญ  เขาผู้นั้นย่อมมีสิทธิต่อที่ดินผืนนั้น”

(รายงานโดย บุคอรี)

เมื่อการพัฒนาที่ดินที่รกร้างและไม่มีผู้ใดครอบครองกรรมสิทธิ์เป็นสิ่งที่อนุมัติตามหลักคำสอนของศาสนา การพัฒนาที่ดินซึ่งอยู่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้เป็นเจ้าของที่ดินก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ที่ดินที่ครอบครองอยู่นั้นเกิดประโยชน์สูงสุด

2) การเพาะปลูกพืชเกษตร ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช จำพวก ข้าว หรือไม้ผลหรือไม้ล้มลุกตลอดจนพืชสมุนไพรเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริม เพราะนอกเหนือจากประโยชน์ในการบริโภค การใช้สอย และการจำหน่ายเป็นสินค้าแล้ว ยังถือว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งผลานิสงค์อันมากมายอีกด้วย ดังปรากฏในอัลหะดีษที่ระบุว่า :

مَا مِنْ مُسْلِمٍ يَغْرِسُ غَرْسًا أويَزْ رَ عُ زَرْعًا ، فَيَأكُلُ مِنْهُ طَيْرٌأو إنسَانٌ إلاَّ كَانَ له به صدقَةٌ

“ไม่ว่ามุสลิมคนใดได้ปลูกต้นไม้หรือทำการเพาะปลูกแล้วมีนกมากิน หรือแม้ว่ามนุษย์ก็ตามนอกเสียจากย่อมปรากฏเป็นการทำทานสำหรับเขาผู้นั้นแล้ว”

(รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)


และมีอัล-หะดีษระบุว่า :

اِلْتَمِسُواالرِّزْقَ فى خَبَايَاالأرْضِ

“พวกท่านจงแสวงหาปัจจัยยังชีพในสิ่งที่ถูก ปกปิดไว้ของผืนดิน”

(รายงานโดย บุคอรี)


3) การจัดแบ่งที่ดินตามทฤษฎีใหม่นั้นจะมีการแบ่งที่ดินออกเป็นหลายส่วน คือ ส่วนแรก ขุดสระน้ำ ส่วนที่สองทำนาข้าว ส่วนที่สามปลูกพืชไร่ พืชสวน และสมุนไพร และส่วนสุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆโดยมีอัตราส่วนแตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดิน ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ในคัมภีร์อัลกุรฺอานได้ระบุเอาไว้ถึงหลักการข้อนี้ว่า

وَآيَةٌ لَّهُمُ الْأَرْضُ الْمَيْتَةُ أَحْيَيْنَاهَا وَأَخْرَجْنَا مِنْهَا حَبًّا فَمِنْهُ يَأْكُلُونَ  وَجَعَلْنَا فِيهَا جَنَّاتٍ مِن نَّخِيلٍ وَأَعْنَابٍ وَفَجَّرْنَا فِيهَا مِنْ الْعُيُونِ  لِيَأْكُلُوا مِن ثَمَرِهِ وَمَا عَمِلَتْهُ أَيْدِيهِمْ أَفَلَا يَشْكُرُونَ

“และสัญญาณหนึ่งสำหรับพวกเขานั้นคือ ผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งเราได้ให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งและเราได้นำเมล็ดพืชออกมาจากมัน แล้วพวกเขาก็บริโภคส่วนหนึ่งจากมัน และเราได้ทำให้มีเรือกสวนจากอินทผาลัมและองุ่นในที่ดินนั้นและเราได้ทำให้มีตาน้ำพุ่งออกมาในผืนดินนั้น เพื่อที่พวกเขาจะได้กินผลไม้ของมันตลอดจนสิ่งที่มือของพวกเขาได้กระทำมัน แล้วพวกเขาจะไม่ขอบคุณกระนั้นหรือ?”

(สูเราะฮฺ ยาซีน อายะฮฺที่ 33-35)

จะเห็นได้ว่าในบรรดาอายะฮฺข้างต้นได้ระบุถึงการพัฒนาที่ดินให้มีผลประโยชน์เกิดขึ้นตามกระบวนการทางธรรมชาติที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดเอาไว้ โดยระบุถึงแหล่งน้ำในการเกษตร 2 ประการ คือ น้ำฝนและตาน้ำอันเป็นต้นกำเนิดของลำธารและแม่น้ำลำคลอง, การเพาะปลูกโดยใช้การหว่านเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อใช้เป็นอาหารหลักในการบริโภคและการปลูกไม้ผลแบบสวนผสม (อินทผาลัม-องุ่น) ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรฺอานได้กล่าวถึงพันธุ์พืชชนิดต่างๆเอาไว้อย่างมากมาย ซึ่งมุสลิมสามารถนำมาเพาะปลูกได้ในที่ดินของตนตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ตามหลักการของทฤษฎีใหม่ยังได้ระบุถึงการเลี้ยงสัตว์ในที่ดินที่ถูกจัดแบ่งอีกด้วย โดยให้ที่ดินส่วนแรก ซึ่งถูกขุดเป็นสระน้ำนั้น สามารถเลี้ยงปลาพันธุ์ต่างๆได้ ส่วนพื้นที่บนสระอาจสร้างเล้าไก่และบนขอบสระอาจปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ใช้น้ำมากโดยรอบได้ในที่ดินส่วนสุดท้าย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆนั้น สามารถสร้างโรงเพาะเห็ด ปลูกพืชสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ และทำคอกสัตว์ได้ ซึ่งสัตว์เลี้ยงที่ว่านี้ก็คือ แพะนม, แกะ, วัวนม เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมูลของมันมาเป็นอาหารปลาในสระน้ำและทำปุ๋ยหมักก็ได้

ส่วนน้ำนมของสัตว์ก็สามารถใช้บริโภคในครอบครัวหรือจำหน่ายได้กรณีมีมากเกินความต้องการ อีกทั้งเนื้อของสัตว์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งโปรตีนอีกด้วย ทั้งนี้การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้สอยงาน เช่นวัว ควาย หรือเพื่อใช้ในการบริโภคเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ และส่งเสริมให้มุสลิมได้กระทำอีกด้วย ดังปรากฏในคัมภีร์ อัลกุรฺอาน ระบุว่า :

وَالأَنْعَامَ خَلَقَهَا لَكُمْ فِيهَا دِفْءٌ وَمَنَافِعُ وَمِنْهَا تَأْكُلُونَ  وَلَكُمْ فِيهَا جَمَالٌ حِينَ تُرِيحُونَ وَحِينَ تَسْرَحُونَ  وَتَحْمِلُ أَثْقَالَكُمْ إِلَى بَلَدٍ لَّمْ تَكُونُواْ بَالِغِيهِ إِلاَّ بِشِقِّ الأَنفُسِ  إِنَّ رَبَّكُمْ لَرَؤُوفٌ رَّحِيمٌ

“และปศุสัตว์ พระองค์ทรงสร้างมันสำหรับพวกท่านในปศุสัตว์นั้นมีความอบอุ่น (คือหนังและขนที่นำมาทำเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่น) และประโยชน์หลากหลายและส่วนหนึ่งจากมันนั้นพวกท่านได้บริโภค และสำหรับพวกท่านในฝูงปศุสัตว์นั้นคือความสวยงาม ขณะที่มันกลับจากทุ่งหญ้าและขณะที่มันออกสู่ทุ่งหญ้า และมัน (ปศุสัตว์) ได้แบกสัมภาระของพวกท่านไปยังเมืองที่ไม่ปรากฏว่าพวกท่านไปถึงเมืองนั้นเว้นแต่ด้วยความเหนื่อยยากลำบากใจ แท้จริงพระผู้อภิบาลของพวกท่านทรงเอ็นดูยิ่ง อีกทั้งทรงเมตตาเสมอ”

(สูเราะฮฺอัน-นะหฺลุ อายะฮฺที่ 5-7-)

และพระดำรัสที่ว่า :

وَإِنَّ لَكُمْ فِي الأَنْعَامِ لَعِبْرَةً نُّسْقِيكُم مِمَّا فِي بُطُونِهِ مِن بَيْنِ فَرْثٍ  وَدَمٍ لَّبَنًا خَالِصًا سَآئِغًا لِلشَّارِبِينَ

“และแท้จริงในปศุสัตว์นั้นย่อมมีข้อคิดที่น่าใคร่ครวญสำหรับพวกท่าน เราได้ให้พวกท่านดื่มจากสิ่งที่อยู่ในท้องของมันจากระหว่างมูลและเลือดเป็นน้ำนมบริสุทธิ์ เป็นโอชาแก่ผู้ดื่มทั้งหลาย”

(สูเราะฮฺอัน-นะหฺลุ อายะฮฺที่ 66)

กล่าวโดยสรุป การประกอบอาชีพด้วยความถูกต้องซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติและส่งเสริมให้กระทำ อีกทั้งการประกอบอาชีพเกษตรแบบพอเพียงตามทฤษฎีใหม่ ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างการเพาะปลูกอาหารหลัก การปลูกไม้ผล การทำเกษตรสวนผสมตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในกรอบที่ศาสนากำหนดวางเอาไว้

ท่านนบี มุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ก็เคยเลี้ยงแพะแกะให้แก่ชาวนครมักกะฮฺ ท่านนบี มูซา (อ.ล) ก็เคยเลี้ยงปศุสัตว์ให้แก่พ่อตาของท่าน ท่านนบี ดาวูด (อ.ล) ก็มีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก ประดิษฐ์เกราะและโล่ ท่านนบี อาดัม (อ.ล) เป็นผู้มีอาชีพเพาะปลูกและทำนาไถหว่าน,ท่านนบีนัวะฮฺ (อ.ล) เป็นช่างไม้ และท่านนบีอิดรีส (อ.ล) เป็นช่างเย็บผ้า (รายงานโดย อัล-หากิม) การประกอบอาชีพจึงเป็นแบบฉบับของบรรดาศาสดาทั้งหลายที่มุสลิมควรถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง

แนวพระราชดำริของในหลวงข้อนี้สอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่มีระบุเอาไว้ในคัมภีร์อัลกุรฺอานและอัล-หะดีษ ดังนี้

พระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ  مِنكُمْ وَلاَ تَقْتُلُواْ أَنفُسَكُمْ إِنَّ اللّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا  وَمَن يَفْعَلْ ذَلِكَ عُدْوَانًا وَظُلْمًا فَسَوْفَ نُصْلِيهِ نَارًا

“โอ้บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้กินทรัพย์สินของพวกท่าน ระหว่างพวกท่านโดยมิชอบ ยกเว้นที่เป็นการค้าขายอันเกิดจากความพึงพอใจจากพวกท่าน และพวกท่านอย่าได้ฆ่าตัวของพวกท่านทั้งหลาย แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงเมตตาต่อพวกท่านเสมอ และผู้ใดกระทำสิ่งดังกล่าวโดยละเมิดและอธรรม เราจะนำเขาผู้นั้นเขาสู่นรกอเวจี”

(สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 29-30)


อายะฮฺนี้ได้กำหนดเงื่อนไขในบัญญัติว่าด้วยการค้าขายเอาไว้ 2 ประการคือ

  1. การค้าขายนี้ต้องเกิดจากความพึงพอใจระหว่างสองฝ่ายที่ตกลงค้าขายกัน

  2. การได้รับประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ตั้งอยู่บนความเสียหายหรือขาดทุนของอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้น ศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้ศาสนิกชนทำการแสวงหาทรัพย์สินหรือผลกำไรในการค้าโดยไม่คำนึงถึงวิธีการและแนวทางที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น หากแต่อิสลามได้จำแนกแยกแยะเอาไว้ว่า แนวทางใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ และวิธีการใดไม่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ

โดยตั้งอยู่บนหลักมูลฐานที่ว่า แนวทางและวิธีการในการแสวงหาทรัพย์สินใดๆ ก็ตามที่บุคคลได้รับประโยชน์บนความสูญเสียหรือขาดทุนของผู้อื่น สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) และแนวทางหรือวิธีการใดที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์โดยมีความพึงพอใจระหว่างกันและเป็นธรรม สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะกล่าวถึงต่อไปในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการค้าขายและการแลกเปลี่ยน

กล่าวโดยสรุปก็คือ การค้าขายใดๆก็ตามที่มีการเอารัดเอาเปรียบ,อธรรม,หลอกลวง การฉวยโอกาส และการทำให้สิ่งต้องห้ามตามหลักการของศาสนาแพร่หลายย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม ในขณะเดียวกันผู้ใดทำการค้าขายในสิ่งที่อนุมัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ผู้นั้นย่อมได้รับฐานันดรอันสูงส่ง ดังปรากฏในอัล-หะดีษระบุว่ะ :

التَّاجِرُ الأَمِيْنُ الصَّدُوْقُ مَعَ الشُّهَدَاءِ يَوْمَ القِيَامَةِ

“ผู้ค้าขายที่มีความสุจริต ซื่อสัตย์ ย่อมได้อยู่พร้อมกับบรรดาผู้พลีชีพเพื่อปกป้องศาสนาในวันกิยามะฮฺ”

(รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ และอัลหากิม)


การค้าขายและการทำธุรกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการหากำไรและกอบโกยทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจและโอกาสโดยขาดคุณธรรมและหลักจริยธรรมเป็นสิ่งที่อิสลามประณาม เพราะเป็นความอธรรม (อัซ-ซุลฺม์) ซึ่งอัลกุรฺอานได้คาดโทษเอาไว้อย่างรุนแรงว่า:

وَمَن يَظْلِم مِنكُمْ نُذِقْهُ عَذَابًا كَبِيرًا

“และผู้ใดก็ตามจากพวกท่านได้อยุติธรรม เราจะให้เขาผู้นั้นได้ลิ้มรสการลงทัณฑ์อันใหญ่หลวง”

(สูเราะฮฺอัล-ฟุรกอน อายะฮฺที่ 19)

และมีปรากฏในอัลหะดีษระบุว่า

اتقُو االظُّلم فإنَّ الظُّلمَ ظُلُمَا تٌ يَوْمَ القِيَامة

“พวกท่านจงเกรงกลัวความอธรรม เพราะแท้จริงความอธรรมนั้นคือบรรดาความมืดมนในวันกิยามะฮฺ”

(รายงานโดยอะฮฺหมัดและอัล-หากิม)


4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ

พระราชดำริข้อนี้สอดคล้องกับหลักคำสอนของอิสลามที่มุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาทุ่มเทในการทำงานตามสาขาอาชีพของตน ดังที่มีพระดำรัสในอัลกุรฺอานระบุว่า

وَقُلِ اعْمَلُواْ فَسَيَرَى اللهُ عَمَلَكُمْ وَرَسُولُهُ وَالْمُؤْمِنُونَ الآية

“และจงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงทำงานเถิด แล้วต่อไปพระองค์อัลลอฮฺ ตลอดจนศาสนทูตของพระองค์ และมวลผู้ศรัทธาจักได้ประจักษ์ถึงงานของพวกท่าน”

(สูเราะฮฺอัต-เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 105)

และการทำงานที่ประณีตละเอียดลออเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงโปรดปรานดังปรากฏในอัลหะดีษที่ระบุว่า

إنَّ اللهُ يَحِبُّ إذاعَمِلَ أَحَدُكُمْ عَمَلاً أَنْ يُتْقِنَه

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดปรานเมื่อคนหนึ่งในหมู่พวกท่านได้กระทำงานหนึ่งในการที่เขามีความประณีต”

(รายงานโดยอบูยะอฺลา)


งานที่ประณีตก็คือการทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ การวางแผนอย่างมีหลักมีเกณฑ์ โดยมีเป้าหมายในการผลิตผลงานที่ยังประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและยกระดับการครองชีพให้พอเพียงต่อความต้องการในการดำรงชีพ การประกอบอาชีพทุกอย่าง จำต้องอาศัยความรู้และทักษะที่เกิดจากการฝึกฝนและการสั่งสมประสบการณ์ ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า

مَنْ أَرَادَالدُّنْيَا فَعَلَيْهِ بِالْعِلْمِ وَمَنْ أَرَادَالآخِرَةَ فعلَيْهِ بالعِلْمِ

“ผู้ใดปรารถนาโลกนี้ ผู้นั้นต้องเรียนรู้วิชา  และผู้ใดปรารถนาโลกหน้า ผู้นั้นก็ต้องเรียนรู้วิชา”

(กิตาบอัล-มัจญฺมูอฺ เล่มที่ 1 –คำนำ-)


ดังนั้นมุสลิมต้องเป็นผู้ใฝ่รู้และรู้จักเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเรียนรู้เพื่อเพิ่มรายได้และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับฐานะของตน ความยากจนที่เกิดขึ้นกับผู้คนในการยกระดับฐานะของตน ความยากจนที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมนั้นถึงแม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ผู้ศรัทธายอมจำนนต่อความยากจนนั้น โดยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือคิดที่จะสร้างฐานะที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ การที่บุคคลมีอันจะกินและสำนึกในบุญคุณของพระองค์อัลลอฮฺย่อมเป็นสิ่งประเสริฐและมีผลานิสงค์เท่าเทียมกับผู้ถือศีลอดที่มีความอดทน และบุคคลจะมีสถานภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นก็ต้องมีความเพียร และมุ่งมานะในการทำงาน และงานที่ดีและมีคุณภาพก็ต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจและความชำนาญการ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันในเรื่องค่าครองชีพสูง ความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการประกอบอาชีพและการบริหารการจัดการต้นทุนของปัจเจกบุคคลให้สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้

5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงข้อนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะหากขาดข้อนี้เพียงข้อเดียว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็จะล้มเหลวและเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งนี้ บุคคลจะมีความประหยัดและลดละความฟุ่มเฟือยได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อแนวทางและพยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปตามแนวทางนั้น ซึ่งหลักคำสอนของศาสนาที่สอนให้ประพฤติดี และหลีกห่างความชั่วย่อมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูงสุดในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล มีปรากฏในอัลหะดีษระบุว่า

قَدْأَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ ورُزِقَ كَفَافًا ، وقنَّعَهُ الله بِمَاآتَاهُ

“แน่แท้ผู้ที่ยอมจำนนตามวิถีอิสลามย่อมได้รับความสำเร็จ  อีกทั้งเขาได้รับปัจจัยยังชีพที่พอเพียง  และอัลลอฮฺได้ให้เขาผู้นั้นมีความพึงพอใจต่อสิ่งที่พระองค์ทรงนำมาให้แก่เขา”

(รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

ในอัลหะดีษบทนี้มีหลักคำสอนอยู่ 3 ประการคือ

1. การประพฤติตนในฐานะอิสลามิกชนด้วยการละเลิกสิ่งที่ฝ่าฝืนและขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาและมุ่งปฏิบัติคุณงามความดีที่ศาสนามีคำสอนสั่งใช้

2. การมีปัจจัยยังชีพที่พอเพียงต่อความต้องการ

3. การมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่มักมาก ไม่โลภ หรือแสวงหาสิ่งที่เกินความจำเป็น

ทั้ง 3 ประการเป็นเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลได้รับความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

การที่บุคคลยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาด้วยการประพฤติดีและละเว้นความชั่ว ย่อมเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ผู้ที่มีศาสนาประจำใจและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาจะไม่ฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่าย แต่จะรู้จักความพอดีและความเหมาะสมในการใช้จ่าย รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่เกียจคร้าน และรู้จักบาปคุณโทษ ไม่ประกอบอาชีพที่ผิดต่อหลักศาสนบัญญัติ ไม่ฉ้อโกง หรือเอาเปรียบผู้อื่น แต่จะมีความสุจริตและซื่อสัตย์ รักในการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดวางเอาไว้เป็นหลัก 5 ประการนั้นมีความสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามโดยรวม