วิภาษบทความเฉพาะกิจ “ออกอีดิลอัฎฮาที่ไม่ต้องรอคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี” ของ อ.มุรีด ทิมะเสน

        อ.มุรีด ทิมะเสน  ได้เขียนบทความเฉพาะกิจนี้  ณ  ที่บ้าน  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  28  ธันวาคม  2549  โดยเริ่มต้น  ”อรัมภบท”  ว่า  :
        “เนื่องด้วยปีนี้  (พ.ศ.2549)  เมืองไทยออกอีดิลอัฎฮา  2  วัน  นั่นคือวันเสาร์ที่   30  ธ.ค.49  และวันอาทิตย์ที่  31  ธ.ค.49  จึงสร้างความสับสนให้แก่พี่น้องมุสลิมในเมืองไทยเป็นอย่างยิ่งโดยพวกเขาตัดสินใจไม่ได้ว่าตนเองจะออกอีดอีดิลอัฎฮาวันไหนกันแน่?  บางคนกล่าวว่า  ฉันจะออกตามคำประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบีย  เพราะวันวุกุฟ  (وقوف)  หรือวันอะเราะฟะฮฺ  (عرفة)  มีที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  ส่วนอีกใจหนึ่งก็ยังกังวลกับคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีว่าด้วยความเชื่อเดิมที่ว่าต้องปฏิบัติตามผู้นำ  สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นเป็นความกังวลที่ทวีเพิ่มมากขึ้นในการออกอีดอีดิลอัฎฮาปีนี้  (2549)  เป็นอย่างยิ่ง”

       วิภาษ  ความสับสนอันเกิดจากการออกอีดทั้งสอง  (อีดิลฟิฏริ-อีดิลอัฎฮา)  ในแต่ละปีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง  มิใช่เพิ่งมาเกิดในปี  2549  และมิใช่เฉพาะวันอีดิลอัฎฮาเท่านั้น  อาจกล่าวได้ว่าในแต่ละปีจะมีความสับสนในเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอยู่  3  ครั้ง  คือ  วันที่  1  เดือนร่อมาฎอน  (หนึ่ง)  วันที่  1  เดือนเซาว๊าล  (สอง)  อันเป็นวันอีดอิดิลฟิฏริ  และวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺ  (สาม)  ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดวันอีดอีดิลอัฎฮาตามมา  ในส่วนของการกำหนดวันที่  1  ร่อมาฎอน  และวันที่  1  เซาว๊าลนั้นก็จะมีประเด็นเกี่ยวกับการดูผลจันทร์เสี้ยวเป็นหลักโดยจะมีความเห็นแบ่งออกเป็น  2  ฝ่าย

 

       ฝ่ายที่หนึ่งเชื่อตามคำประกาศผลการดูจันทร์เสี้ยวของสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งให้น้ำหนักแก่การดูจันทร์เสี้ยวภายในประเทศเป็นหลัก  ฝ่ายที่สองถือตามทัศนะของนักวิชาการที่ให้น้ำหนักกับผลการดูจันทร์เสี้ยวทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ  ในกรณีที่ไม่มีผลการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศ  ผู้ที่ถือตามฝ่ายที่สองนี้ก็จะติดตามข่าวสารผลการดูจันทร์เสี้ยวในต่างประเทศและเมื่อมีข่าวสารการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศอื่น  ผู้ที่ถือตามฝ่ายนี้ก็จะกำหนดวันตามนั้น  เรียกง่าย ๆ ว่า  ตามผลจันทร์เสี้ยวนอกประเทศ  โดยไม่พิจารณาคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด  เมื่อเป็นเช่นนี้  ความสับสนและการประกอบศาสนกิจในวันที่ต่างกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างที่รู้กัน

 

       ส่วนการกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺและวันอีดิลอัฎฮานั้นก็ยังคงมีการถือปฏิบัติที่ไม่ตรงกัน  กล่าวคือ  ฝ่ายหนึ่งถือตามการประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งอาศัยการดูจันทร์เสี้ยวเป็นตัวกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺ  และวันอีดอีดิลอัฎฮา  อีกฝ่ายหนึ่งจะถือตามการประกาศของซาอุดิอาระเบียโดยให้เหตุผลว่า  วันวุกุฟหรือวันอะเราะฟะฮฺมีที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย  เพียงแห่งเดียวเท่านั้น  (ดังที่ อ.มุรีดระบุข้างต้น)  เมื่อมีมาตรฐานหรือหลักการในการกำหนดวันอีดอีดิลอัฎฮาต่างกัน  การออกอีดอีดิลอัฎฮาของชาวมุสลิมในประเทศไทยจึงแตกต่างกัน กล่าวคือ ออกอีด  กันคนละวัน  เป็นผลทำให้ขาดเอกภาพในการประกอบศาสนกิจ  มิหนำซ้ำ  ยังมีการกล่าวพาดพิงและโจมตีฝ่ายที่ออกอีดไม่ตรงกันกับตนผ่านทางสื่อวิทยุที่เป็นกระบอกเสียงของแต่ละฝ่าย  (โดยเฉพาะรายการวิทยุที่อ้างว่าเป็นพวกซุนนะฮฺจะมีวิทยากรบางคนกล่าววิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน)  มีการกล่าวตักบีรและประชาสัมพันธ์กลุ่มองค์กรและมัสญิดในเครือข่ายว่าจะจัดการละหมาดอีดในเวลาใด 

 

       เมื่อเป็นเช่นนี้ความสับสนแบบอีหลักอีเหลื่อก็ย่อมต้องเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อยู่ร่ำไป  จึงมีคำถามน่าคิดเกิดขึ้นว่า  เมื่อหลักการของศาสนาอิสลามเป็นหลักการที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ  อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการสร้างความสงบสุขและความเรียบร้อยในสังคมมนุษย์  กล่าวโดยสรุป  หลักนิติธรรมอิสลามาคือสิ่งที่จะขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์  มิใช่สร้างปัญหา!  ดังนั้นหลักนิติศาสตร์อิสลามมีกลไกในการขจัดปัญหาอย่างไร?  สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมขณะนี้โดยเฉพาะประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาเป็นผลมาจากการใช้หลักนิติธรรมอิสลามที่คลาดเคลื่อนหรือไม่?  คือเป็นเรื่องของความเข้าใจคลาดเคลื่อนของบุคคลที่มีต่อตัวบทและหลักการของศาสนาใช่หรือไม่?  เพราะถ้าหากบังคับใช้หลักนิติศาสตร์อย่างถูกต้องแล้วก็คงไม่เกิดปัญหาคาราคาซังอย่างที่รู้กัน 

 

       ดังกรณีการกำหนดวันที่  1  ของแต่ละเดือนนั้น  เป็นที่ทราบกันว่านักวิชาการมีทัศนะแบ่งออกเป็น  2  ฝ่ายแต่ละฝ่ายต่างก็อาศัยตัวบทหลักฐานมาสนับสนุนทัศนะความเห็นของตน  จนดูเหมือนว่าจะเอาชนะกันอย่างเด็ดขาดมิได้  ถึงแม้ว่าฝ่ายที่ถือผลของจันทร์เสี้ยวสากลจะดูมีภาษีมากกว่า  แต่ก็เป็นการให้น้ำหนัก  (الترجيح)  จากนักวิชาการที่เห็นด้วยอีกเช่นกัน  หาใช่เป็นสิ่งที่เด็ดขาดจากตัวบทของศาสนาไม่  ปัญหาจึงอยู่ในขั้นตอนของการบังคับใช้ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบว่าจะให้น้ำหนักแก่ทัศนะใด  จะถือจันทร์เสี้ยวสากลหรือจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นในการประกาศกำหนดวันสำคัญทางศาสนาจะเอาอย่างไหนดี?  นักปราชญ์ในศาสนาอิสลามได้มีมติเห็นพ้อง  (اتفاق)  ในเรื่องนี้ว่า   ให้ถือตามคำตัดสินชี้ขาดของผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามในแต่ละดินแดนเป็นข้อยุติ  ดังกฎนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า

ومن المتفق عليه أن حكم الحاكم أوقرارولي الأمريرفع الخلاف فى الأمور   المختلف فيها  “และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่มีมติเห็นพ้องนั้นคือ  แท้จริงการชี้ขาดของผู้ปกครองหรือการแถลงการณ์รับรองของผู้นำ  (วะลียุลอัมริ)  จะขจัดข้อขัดแย้งในบรรดาเรื่องราวที่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องเหล่านั้น

 

        ดังนั้น  หากผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามได้ให้น้ำหนักกับผลการดูจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นเป็นหลัก  ก็ให้ถือตามนั้น  ในทำนองเดียวกัน  ถ้าหากผู้นำหรือองค์กรสูงสุดฯได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะที่ถือผลการดูจันทร์เสี้ยวสากลเป็นหลัก  ก็ให้ถือตามนั้นเช่นกัน  หากผู้มีปัญหาและมีความเป็นกลางได้ทำความเข้าใจกับประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วนและปลอดจากมิจฉาทิฐิและก็จะเห็นว่า  การนำเอามติเห็นพ้องของเหล่านักปราชญ์ข้างต้นมาบังคับใช้แล้ว  ก็จะไม่เกิดปัญหาและความสับสนอย่างที่เป็นอยู่อีกทั้งมติเห็นพ้องดังกล่าวก็ถือเป็นกลไกของหลักนิติธรรมอิสลามในการขจัดปัญหาและสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมของประชาคมมุสลิมอีกด้วย 

 

        ทั้งนี้การถกเถียงในหมู่นักวิชาการถึงเรื่องของจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นและจันทร์เสี้ยวสากลนั้นเป็นการวนอยู่ในอ่าง  เพราะเอาชนะกันโดยเด็ดขาดมิได้เนื่องจากเป็นประเด็นของการวิเคราะห์  (الاجتهاد)  จึงจำต้องอาศัยกลไกในการให้น้ำหนัก  (التر جيح)  ของผู้ปกครองหรือผู้นำที่รับผิดชอบเป็นข้อยุติ  ซึ่งถือเป็นหลักการในบัญญัติของศาสนาอีกข้อหนึ่งต่างหาก  คือ  หลักการที่ว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำ  (ولى الأمر)  นั่นเอง  ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ  ยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับหลักการว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำนั่นเอง  มิหนำซ้ำคนบางกลุ่มที่ว่านี้ยังได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามผู้นำว่า  “เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเดิม ๆ “  ซึ่งมิได้มุ่งหมายใช้สำนวนในทำนองของการเห็นด้วย  (إقرارى)  แต่มีนัยบ่งว่าไม่เห็นด้วย  (إنكارى)  กับความเชื่อเดิมนั้น  ทั้ง ๆ ที่ความเชื่อเดิมที่ว่านี้เป็นหลักการสำคัญของนิติธรรมอิสลามที่มิอาจปฏิเสธได้นอกเหนือจากนั้นยังถือเป็นหลักความเชื่อ  (عقيدة)  ของฝ่ายอะหฺลิซซุนนะฮฺ  วัลญะมาอะฮฺ  อีกด้วย  (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในหนังสือ “อัลอะกีดะฮฺ  อัฏฎ่อฮาวียะฮฺ  อรรถาธิบายโดย  อัลลามะฮฺ  อิบนุ  อบิลอิซฺ  อัลฮะนะฟีย์  ตรวจทานโดยกลุ่มนักวิชาการและตรวจสอบสถานภาพหะดีษโดยมุฮำหมัด  นาซิรุดดีน  อัลอัลบานีย์  สำนักพิมพ์อัลมักตับ  อัลอิสลามีย์  พิมพ์ครั้งที่  9  (ฮ.ศ.1408-คศ.1988)  หน้า  379,  380,  381)

        อ.มุรีด  ได้อ้างตัวบทหลักฐานเพื่อเป็นข้อสรุปในการตัดสินใจว่าในปีนี้  (2549)  จะออกอีดอีดิลอัฎฮาวันไหนกันแน่?  ในบทความเฉพาะกิจของท่านว่า  “ประการแรก  ท่านรสูลุลลอฮฺสั่งใช้พวกเรา  หมายถึง  มุสลิมทั้งหมดออกอีดิลฟิฏริ  (عيدالفطر)  และอีดิลอัฎฮา  (عيدالأضحى)  โดยพร้อมเพรียงกัน  ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า “صومكم يوم تصومون وفطركم يوم تفطرون وأضحاكم يوم تضحون“ ความว่า  “การถือศีลอดของพวกท่าน  คือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศีลอด  และวันอีดิลฟิฏริของพวกท่าน  คือ  วันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลฟิฏริกัน  และวันอีดิลอัฎฮา  (หรือวันเชือด)  ของพวกท่าน  คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา (หรือเชือดสัตว์พลี)  กัน” (บันทึกโดยอบูดาวูด  หะดีษที่  2324,  บัยหะกีย์  หะดีษที่ 8300   และอัดดารุกุฏนีย์  หะดีษที่  34  อีกหลักฐานหนึ่ง  ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า  :  الفطر يوم يفطر الناس والأضحى يوم يضحى الناس  ความว่า  “วันอีดิลฟิฏริ  คือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลฟิฏริกันและวันอีดิลอัฎฮา  คือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮากัน”  (บันทึกโดยอัดดารุกุฏนีย์  หะดีษที่  31  และท่านอับดุรเราะซาก  หะดีษที่  7304)

        หลักฐานทั้งสองข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน  กล่าวคือ  ท่านรสูลุลลอฮฺระบุว่าวันอีดิลอัฎฮาของพวกท่าน  ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา  ประโยคที่ระบุว่า”พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา”  หมายถึง  ประชาชาติของมุสลิมทั้งหมด  ไม่พิจารณาว่ามุสลิมผู้นั้นจะอยู่ในประเทศใด  ดินแดนใด  หรือเชื้อชาติใดก็ตาม  อีกทั้งท่านหญิงอาอิชะฮฺ  ยังกล่าวไว้ว่า  “วันอีดิลอัฎฮาคือวันที่ผู้คนทั้งหลายเขาออกอีดิลอัฎฮากัน”  คำว่าผู้คนทั้งหลายก็หมายถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมดนั่นเอง  เฉกเช่นท่านนบีเคยกล่าวว่า  “صلواكمارأيتمونى أصلى”  ความว่า  “พวกท่านทั้งหลายจงนมาซเสมือนเห็นฉันนมาซ”  (บันทึกโดยบุคอรีย์)  หะดีษข้างต้นท่านนบีพูดกับบรรดาเศาะหาบะฮฺ  แต่มิได้หมายความว่า  เฉพาะบรรดาเศาะหาบะฮฺเท่านั้นที่นมาซเหมือนการนมาซของท่านนบีเท่านั้น  แต่นั่นหมายรวมว่า  มุสลิมทุกคนไม่ว่ามุสลิมผู้นั้นจะอยู่ประเทศไหน  ,  ดินแดนไหน  หรือเชื้อชาติไหนวาญิบจะต้องนมาซเสมือนการนมาซของท่านนบีมุหัมหมัดทุกคนนั่นเอง”
         วิภาษ การอธิบายหลักฐานจากหะดีษทั้ง  2  บทของอ.มุรีดดูจะเป็นการอธิบายที่เกิดจากความเข้าใจของอ.มุรีดเอง  สังเกตได้ว่า  อ.มุรีด  มิได้อ้างถึงคำอธิบายของนักวิชาการที่สันทัดกรณีท่านใดนำมาประกอบเลย  การอ้างหลักฐานชั้นต้นนั้นเป็นเรื่องง่าย  แต่การอธิบายและวิเคราะห์หลักการออกมาจากตัวบทหลักฐาน  (الاستنباط)  นั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยผู้รู้หรือนักปราชญ์ที่มีความเจนจัดและสันทัดกรณีเข้ามาประกอบด้วย 

 

         เพราะบุคคลธรรมดาอย่างตัวผู้เขียน  หรือ อ.มุรีดเองคงไม่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขเพียงพอ  เรียกว่ายังไม่ถึงขึ้น!  ถึงแม้ว่าจะเรียนจบสายหะดีษมาก็ตามที  (ตัวผู้เขียนได้รับ  الإجازةالعالية  จากคณะอุซูลุดดีน  สาขาอัลหะดีษ  มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร  อัชชะรีฟ  ส่วนอ.มุรีด  นั้นจบจากสถาบัน  ندوةالعلماء ของอินเดีย)  อ.มุรีด  อธิบายประโยคที่ระบุว่า  “พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา  ว่า  หมายถึง  ประชาชาติมุสลิมทั้งหมด”  และอธิบายหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (รฎ.)  ที่ว่า  “วันอีดิลอัฎฮาคือวันที่ผู้คนทั้งหลายเขาออกอีดิลอัฎฮากัน”  คำว่าผู้คนทั้งหลายก็หมายถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมดนั่นเอง”  ข้อนี้ผู้เขียนไม่เถียงด้วย  เพราะนัยโต้ตอบ  (خطاب)  จากตัวบทของหะดีษทั้ง  2  บทนี้เป็น  خطاب عام  (หมายถึงเป็นการโต้ตอบอย่างครอบคลุม,  กว้าง ๆ ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด)  จึงน่าจะหมายรวมถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยก    แต่โปรดอย่าลืมว่า  การโต้ตอบอย่างครอบคลุมนั้น  นักอุซูลุลฟิกฮฺ  (ผู้เชี่ยวชาญหลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม)  ได้แบ่งลักษณะของการโต้ตอบอย่างครอบคลุมออกเป็น  2  ส่วนคือ

         1. การโต้ตอบอย่างครอบคลุมที่ตีความได้ว่ามีนัยครอบคลุม  (العام المحمول على العموم)

         2. การโต้ตอบอย่างครอบคลุมที่ตีความได้ว่าเฉพาะเจาะจง  (العام المحمول على الخصوص)

         ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากในเรื่องนี้ (ดูรายละเอียดใน อัลมูญัซฺ ฟี อุซูลิลฟิกฮฺ ; ชัยค์ มุฮำหมัด  อุบัยดิลลาฮฺ  อัลอัสอะดีย์,  สำนักพิมพ์  ดารุสสลาม  พิมพ์ครั้งที่  1  ฮ.ศ.1410-คศ.1990  หน้า  111-114  /  อุซูลุลฟิกฮฺ  อัลอิสลามีย์  ; ดร.วะฮฺบะฮฺ  อัซซุฮัยลีย์  สำนักพิมพ์  ดารุลฟิกริ  (1986)  เล่มที่ 1  หน้า 243-282) 

 

         เหตุที่นำเรื่องนี้มากล่าว  ณ  ที่นี้ก็เพราะว่า  การอาศัยความเข้าใจของนักวิชาการที่สันทัดกรณีเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการวิเคราะห์ตัวบทหลักฐาน  อ.มุรีด  อาจจะแก้ต่างว่าตนอ้างหลักฐานและตัวบทจากซุนนะฮฺยังไม่เพียงพออีกหรือ  ทำไมต้องเอาทัศนะของคนนั้นคนนี้มาว่าด้วย  ก็เพราะว่าสิ่งที่อ.มุรีดกำลังอธิบายอยู่นั้นก็เป็นทัศนะนั่นเอง  ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ไม่ได้ระบุเสียหน่อยว่าเป็น  خطاب عام  ที่หมายถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมด  หากแต่เป็นความเข้าใจที่ได้จากตัวบทต่างหาก  และเมื่ออ้างว่า  ความหมายของประโยคในตัวบทหลักฐานหมายถึงอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่พ้นจากการเข้าใจของบุคคลอีกนั่นแหล่ะ 

 

         ฉะนั้นเมื่อเป็นความเข้าใจของบุคคลก็จำต้องอาศัยหลักมูลฐานทางวิชาการเข้ามาประกอบด้วย  ถึงจะเป็นความเข้าใจที่มีน้ำหนักและมีหลักวิชารับรอง  ทีนี้เราลองมาพิจารณาดูว่านักวิชาการผู้สันทัดกรณีได้นำเอาหะดีษที่อ.มุรีดนำมาอ้างเป็นหลักฐานว่าน่าจะหมายถึงประชาชาติทั้งหมดหรือเฉพาะกลุ่มชนนั้น ๆ  โดยขอนำคำฟัตวาของท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุ  ตัยมียะฮฺ  (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ)  มาพิจารณาประกอบดังนี้

         “ท่านชัยคุลอิสลาม  -ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงชำระวิญญาณของท่านให้บริสุทธิ์-  ได้ถูกถามถึงบุคคลผู้หนึ่งที่เขาเห็นจันทร์เสี้ยวเพียงลำพัง  และการเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นก็เป็นเรื่องจริง  (ถามว่า) บุคคลผู้นี้มีสิทธิที่จะถือศีลอดเนื่องด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวของเขาเองหรือออกอีด (ฟิฏริ)  เนื่องด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวของเขาเอง  หรือว่าให้พร้อมกับมหาชน  (جمهورالناس)?

 

         ท่านชัยคุลอิสลามตอบว่า  :  อัลฮัมดุลิลลาฮฺ  เมื่อเขาเห็นจันทร์เสี้ยวของการถือศีลอดเพียงคนเดียวหรือเห็นจันทร์เสี้ยวออกอีด  (ฟิฏริ)  เพียงคนเดียว  ฉะนั้นเขาจะต้องถือศีลอดเนื่องด้วยการเห็นของเขาเอง  หรือออกอีด  (ฟิฏริ)  เนื่องด้วยการเห็นของเขาเอง  หรือว่าเขาจะไม่ถือศีลอดหรือไม่ออกอีด  (ฟิฏริ)  นอกจากพร้อมกับผู้คน  (إلامع الناس)  ?  มี  3  คำกล่าว  (ทัศนะ)  คือ  3  รายงานจากอิหม่ามอะฮฺหมัด  (กล่าวคือ)

         1) เขาจะต้องถือศีลอด  และจะออกอีด  (ฟิฏริ)  โดยลับ ๆ คือมัซฮับอิหม่ามอัชชาฟิอีย์
         2) ถือศีลอดและไม่ออกอีด  (ฟิฏริ)  นอกจากพร้อมกับผู้คน  (مع الناس)  และเป็นความเห็นมัชฮู๊รจากมัซฮับของอิหม่ามอะฮฺหมัด  ,  มาลิก  และอบูฮะนีฟะฮฺ
         3) ให้เขาถือศีลอดพร้อมกับผู้คน  และออกอีด  (ฟิฏริ)  พร้อมกับผู้คน  (مع الناس)  ข้อนี้เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนที่สุด  (أظهرالأقوال)  เนื่องจากมีคำกล่าวของท่านนะบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ว่า  :  “صومكم يوم تصومون وفطركم يوم تفطرون وأضحا كم يوم تضحون”
         จากอบูฮุรอยเราะฮฺ  แท้จริงท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้กล่าวว่า   الصوم يوم تصومون والفطريوم تفطرون والأضحى يوم تضحون…
         อัตติรมีซีย์กล่าวว่า  :  และนักวิชาการบางท่านได้อรรถาธิบายหะดีษโดยกล่าวว่า  :  إنما معنى هذاالصوم والفطرمع الجماعة وعظم الناس…

         “อันที่จริงความหมายของ (หะดีษ)  นี้ก็คือ  การถือศีลอดและการออกอีด  (ฟิฏริ)  พร้อมกับหมู่คณะและผู้คนโดยส่วนใหญ่”  (อัตติรมีซีย์ในอัซซิยาม  (697)-)”  (ดูมัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวาของชัยคุลอิสลาม  อิบนุ  ตัยมียะฮฺ  เล่มที่  25/67  ดารุ้ลวะฟาอฺ  พิมพ์ครั้งแรก  ฮ.ศ.1418-คศ.1997)  ในหน้าที่  68  จากหนังสือมัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวา  เล่มที่  25  ท่านชัยคุลอิสลามระบุว่า  “และด้วยเหตุนี้  อิหม่ามอะฮฺหมัดจึงได้กล่าวไว้ในการรายงานของท่านว่า  :  يصوم مع الإمام وجماعة المسلمين فى الصحووالغيم  “เขาจะถือศีลอดพร้อมกับผู้นำและหมู่คณะชาวมุสลิมทั้งในยามท้องฟ้าโปร่งและมีเมฆครึ้ม”

 

         ถ้าหากตัวบทหะดีษข้างต้นที่อ.มุรีดยกมาอ้าง  หมายถึงประชาชาติมุสลิมทั้งหมด (คือทั้งโลก)  แล้ว  ไฉนเลย  ท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุ  ตัยมียะฮฺจึงตอบคำถามเช่นนั้น  ทั้ง ๆ ที่ชายผู้นั้นเห็นจันทร์เสี้ยวและมีจันทร์เสี้ยวจริง  แต่เป็นการเห็นเพียงลำพัง  ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นและเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เห็น  ก็ให้ชายผู้นั้นถือตามคนส่วนใหญ่ทั้งในการถือศีลอดและการออกอีด  (ฟิฏริ)  ฉะนั้นคำว่า  ผู้คนทั้งหลาย  (الناس)  ตามที่มีระบุในตัวบทหะดีษจึงหมายถึง  กลุ่มชนนั้น ๆ (الجماعة)  และผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนนั้น ๆ ซึ่งมีผู้นำเป็นของตนเอง  ดังปรากฏในรายงานของอิหม่ามอะฮฺหมัดที่ว่า  ให้ถือศีลอดพร้อมกับผู้นำและกลุ่มชนมุสลิมในทุกกรณีไม่ว่าท้องฟ้าโปร่งหรือมีเมฆครึ้ม

 

         ในส่วนของหลักฐานที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (รฎ.)  รายงานว่า  (الفطريوم يفطرالناس والأضحى يوم يضحى الناس)  “อัลฟิฏริคือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลฟิฏริ  และอัลอัฎฮาคือวันที่ผู้คนทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮากัน”  นั้น  ท่านอิหม่ามอัซซอนอานีย์  ได้ระบุว่า  فيه دليل على أنه يعتبرفى ثبوت العيدالموافقةللناس وأن المنفرد بمعرفة يوم العيد بالرؤية يجب عليه موافقة غيره ويلزمه حكمهم فى ا لصلاة والإفطاروالأضحية  “ในหะดีษบทนี้มีหลักฐานบ่งชี้ว่า  แท้จริงการพ้องกันกับผู้คนทั้งหลายจะถูกพิจารณาในการยืนยันวันอีด  และแท้จริงบุคคลเพียงลำพังที่รู้ถึงวันอีด  ด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นจำเป็นที่เขาจะต้อง  (ออกอีด)  ตรงกับบุคคลอื่นและจำเป็นที่เขาต้องถือฮุก่มของพวกเขา  (คือผู้คนทั้งหลาย)  ในการละหมาดการออกอีดฟิฏริและอุฎฮียะฮฺ  (การออกอีดอัฎฮาหรือเชือดสัตว์พลี)”  คำว่า พ้องกันหรือตรงกันกับผู้คนทั้งหลาย  (الموا فقةللناس)  ก็คือพ้องกันหรือตรงกันกับผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนนั้นซึ่งไม่เห็นจันทร์เสี้ยว  (ดูซุบุลุสสลาม  ชัรฮฺ  บุลูฆิลม่ารอม,  ของอิหม่ามอัซซอนอานีย์  2/489  สำนักพิมพ์ดารุ้ลหะดีษ)

 

         ท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  ได้ถูกถามถึงชาวเมือง ๆ หนึ่ง มีบางคนของพวกเขาได้เห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนซุลฮิจญะฮฺ  แต่ไม่มีการยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยว  ณ  ผู้ปกครองเมืองนั้น  ถามว่าพวกเขา  (คือผู้คนบางส่วน)  จะมีสิทธิที่จะทำการถือศีลอดในวันซึ่งตามที่ปรากฏคือวันที่  9  ถึงแม้ว่าตามที่ไม่ปรากฏคือวันที่  10  หรือไม่?  (หมายถึง  วันที่  9  นั้นเป็นไปตามที่ผู้ปกครองกำหนด  ซึ่งนับเป็นวันที่  10  สำหรับผู้ที่เห็นจันทร์เสี้ยว)  ท่านชัยคุลอิสลามได้ตอบว่า  :
         ใช่!  พวกเขา  (หมายถึง  ผู้คนบางส่วน)  จะถือศีลอดในวันที่  9  ตามที่ปรากฏและรู้กัน  ณ  กลุ่มชน  (คือชาวเมืองส่วนใหญ่ที่ถือตามผู้ปกครองที่ไม่ยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยว)  ถึงแม้จะปรากฏว่าในเรื่องเดียวกันนั้นจะเป็นวันที่  10  (ตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของผู้คนบางส่วน)  …แล้วท่านชัยคุลอิสลามก็นำหลักฐานที่ อ.มุรีด  อ้างนำมาประกอบคำฟัตวาของท่านคือ  หะดีษ  (صومكم يوم تصومون)   ตลอดจนหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (รฎ.) คือ  (الفطريوم يفطرالناس)  (ดูมัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวา  25/110)  นั่นย่อมหมายความว่า  ให้ถือตามชนส่วนใหญ่ในเมืองและตามผู้นำ  (ผู้ปกครองเมือง) ซึ่งไม่เห็นจันทร์เสี้ยว 

 

         ฉะนั้นคำว่า  (الناس)   ที่หมายถึง  “ผู้คนทั้งหลาย”  ย่อมไม่ได้หมายถึง  ประชาชาติมุสลิมทั้งหมดดังที่  อ.มุรีดเข้าใจ  แต่หมายถึงผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนนั้นๆ  ดังที่ท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุตัยมียะฮฺได้ฟัตวาเอาไว้  ส่วนการนำหะดีษที่ว่า  (صلواكمارأيتمونى أصلى)  “พวกท่านจงนมาซเสมือนเห็นฉันนมาซ”  มาประกอบเป็นตัวอย่างนั้น  ถึงแม้ว่าจะเป็นคำสั่งที่ครอบคลุมประชาชาติมุสลิมทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยก 

 

         กล่าวคือ  เป็นคำสั่งที่  عام  (มีนัยกว้าง ๆ ครอบคลุม)  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า  ประชาชาติมุสลิมจำต้องนมาซ  (ละหมาด)  พร้อมเพรียงกันในเวลาเดียวกันหรือตรงกันทั้งโลก  เพราะการประกอบศาสนกิจไม่ว่าจะเป็นการละหมาด  การจ่ายซะกาต  การถือศีลอด  ฯลฯ  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคำสั่งให้ประชาชาติมุสลิมทั้งหมดได้ปฏิบัติโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นมุสลิมในประเทศไหน  ดินแดนไหน  หรือเชื้อชาติไหน  ต่างก็วาญิบที่มุสลิมซึ่งมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขจำต้องปฏิบัติ  แต่ถามว่า  ต้องทำพร้อมกันทั้งหมดในวันเวลาเดียวกัน  สถานที่เดียวกันอย่างที่อ.มุรีดพยายามจะสื่อนั้นหรือไม่?  เพราะอ.มุรีดได้นำหะดีษบทนี้มาประกอบในเรื่องที่ว่าต้องประกอบศาสนกิจ  (คือ  ออกอีด)  โดยพร้อมเพรียงกัน  ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคนละเรื่อง  กล่าวง่าย ๆ ก็คือ  มุสลิมทุกคนต้องละหมาด  แต่ไม่ได้หมายความว่า  ต้องละหมาดอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งโลก  ซึ่งเป็นไปไม่ได้!

 

         อ.มุรีด  ระบุในบทความเฉพาะกิจต่อมาว่า  :  “ประการที่สอง  วันอีดิลอัฎฮาต้องเป็นวันเดียวกัน  เนื่องจากมีหะดีษระบุชัดเจนว่า  วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก  ดังหลักฐานต่อไปนี้
         ท่านอุกบะฮฺ  บุตรของอามิรฺเล่าว่า  ท่านรสูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า  يوم عرفة ويوم النحروأيام التشريق عيدنااهل الاسلام وهى أيا م أكل و شرب  ความว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ  และวันนะหฺริและวันตัชรีก  คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม  คือวันแห่งการกินและการดื่ม”  (ตัครีจ  หะดีษ)

        หะดีษข้างต้นท่านรสูลุลลอฮฺพูดไม่คลุมเครือ  ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ”  ซึ่งท่านรสูล  มิได้กล่าวว่าวันที่  9  ซุลหิจญะฮฺ  หากท่านรสูลกล่าวว่าวันที่ 9  ซุลหิจญะฮฺ  เราอาจจะอ้างได้ว่า  9  ซุลหิจญะฮฺของประเทศใครประเทศมัน  แต่นี้ท่านรสูลกล่าวชัดเจนว่า  วันอะเราะฟะฮฺ  ซึ่งวันอะเราะฟะฮฺ  บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะไปรวมตัวกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ  …  เมื่อท่านนบีบอกว่าวันอะเราะฟะฮฺ  คำถามต่อมาคือ  วันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟหรอกนะครับ  มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น  ฉะนั้นเมื่อวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวจึงไม่ต้องแปลกใจ  เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องฟังการประกาศวันวุกุฟที่ประเทศซาอุฯเท่านั้น  …”
        วิภาษ  เห็นด้วยที่ อ.มุรีด ระบุว่า  วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก  แต่ไม่เห็นด้วยที่ระบุว่า  วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันเดียวกันทั้งโลก  เพราะค้านกับหลักของความเป็นจริง  (خلاف الواقعية)  กล่าวคือ  วันอีดิลอัฎฮานั้นจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺเสียก่อนและการกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺนั้นก็จำต้องอาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก  เมื่ออาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักก็จะมีความแตกต่างกันในการกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺ  ตลอดจนผูกพันอยู่กับทัศนะหลักของนักวิชาการที่มีความเห็นต่างกันในเรื่องการพิจารณาการดูจันทร์เสี้ยวสากลและท้องถิ่นอีกด้วย 

 

        ทำไมต้องอาศัยผลการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลัก?  เพราะพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงดำรัสว่า :  (يسـٔلونك عن الأهلة قل هى مواقيت للناس والحج   البقرة  ١٨٩)  “พวกเขาจะถามท่าน  (มุฮำหมัด)  ถึงจันทร์เสี้ยว  จงกล่าวเถิด  จันทร์เสี้ยวนั้นคือกำหนดเวลาต่าง ๆ สำหรับผู้คนทั้งหลายและการประกอบพิธีฮัจญ์”  (อัลบะกอเราะฮฺ  อายะฮฺ  189)

        ท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  ได้ระบุว่า  :  พระองค์อัลลอฮฺทรงบอกให้รู้ว่า  จันทร์เสี้ยวนั้นเป็นกำหนดเวลาสำหรับมนุษย์  และสิ่งนี้ก็ครอบคลุมในกิจการงานของพวกเขาทั้งหมดและพระองค์ทรงระบุถึงการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นกรณีพิเศษเพื่อจำแนกการประกอบพิธีฮัจญ์นั้นให้โดดเด่น ทั้งนี้เพราะฮัจญ์จะมีบรรดามะลาอิกะฮฺและผู้อื่นเข้าร่วมในพิธีฮัจญ์…  และตามนี้การถือศีลอด ,  การประกอบพิธีฮัจญ์ ,  ระยะเวลาของการอีลาอฺ,  การครองตนของสตรี  (อิดดะฮฺ)  และการถือศีลอดกัฟฟาเราะฮฺจะเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้  (คือการดูจันทร์เสี้ยว)  (ดูมัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวา  25/76) 

 

        ดังนั้นการกำหนดวันเวลาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และศาสนกิจที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ,  การออกอีดอีดิลอัฎฮา  และการเชือดอุฎฮียะฮฺ  เป็นต้น  ก็ยังคงต้องใช้การดูจันทร์เสี้ยวเป็นตัวกำหนด  ท่านชัยคุลอิสลามยังได้ระบุอีกว่า  :  เมื่อนั้น  จึงมีเงื่อนไขว่าการมีจันทร์เสี้ยวและเดือนนั้นต้องเป็นที่รู้กันในระหว่างผู้คน  และการส่งเสียงดังของผู้คนต่อจันทร์เสี้ยว  (เมื่อมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว)  กระทั่งว่าหากมีผู้เห็นจันทร์เสี้ยว 10  คน  แต่การเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นไม่เป็นที่ทราบและรู้กัน  ณ  ชาวเมืองทั่วไป  จะเนื่องด้วยการเป็นพยานของพวกเขาถูกปฏิเสธ  หรือพวกเขามิได้ยืนยันเป็นพยานว่าเห็นจันทร์เสี้ยว  ก็ให้ถือว่า  ฮุก่มของพวกเขาเหมือนกับฮุก่มของชาวมุสลิมทั่วไป  (ที่ไม่ได้รับทราบว่ามีการเห็นจันทร์เสี้ยว)  ดังนั้นเฉกเช่นที่พวกเขาจะไม่วุกุฟ  ไม่เชือดสัตว์พลี  และไม่ละหมาดอีดนอกจากพร้อมกับบรรดามุสลิม  ทำนองเดียวกัน  พวกเขาก็จะไม่ถือศีลอดนอกจากพร้อมกับบรรดามุสลิม  (ที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยว)  นั้นแล 

 

        และนี่คือความหมายของหะดีษที่ว่า  “การถือศีลอดของพวกท่าน  ก็คือวันที่พวกท่านถือศีลอดและฟิฏริของพวกท่านก็คือวันที่พวกท่านออกอีดฟิฏริ  และอัฎฮาของพวกท่านก็คือวันที่พวกท่านออกอีดอัฎฮากัน  (มัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวา  25/68)  ท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  ยังได้สรุปอย่างชัดเจนอีกว่า  :  หลักมูลฐานของประเด็นปัญหานี้ก็คือ  พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงผูกพันบรรดาหลักการทางศาสนบัญญัติ  (الأحكام الشرعية)  กับสิ่งที่ถูกเรียกว่า  จันทร์เสี้ยว  (الهلال)  และเดือน  (الشهر)  เช่นการถือศีลอด  การออกอีดฟิฏริ  และการเชือด  …”  (เล่มเดียวกัน  25/68)  …  และการมีทัศนะที่ขัดแย้งกันนี้  ย่อมบ่งชี้ว่าทัศนะที่ถูกต้องก็คือเหมือนกับกรณีดังกล่าวในเดือนซุลฮิจญะฮฺ  (25/68)  กล่าวคือ  การกำหนดเดือนซุลฮิจญะฮฺและวันที่เกี่ยวเนื่องก็ให้ใช้หลักในการดูจันทร์เสี้ยวเช่นกัน

        เมื่อเป็นเช่นนี้  การระบุว่าวันอีดิลอัฎฮาต้องเป็นวันเดียวกัน  จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่ามุ่งหมายถึงอะไร?  หากมุ่งหมายว่า  ทั่วโลกมีวันอีดิลอัฎฮาเพียงวันเดียว  และต้องตรงกันทั้งโลก  ก็ถือว่าค้านกับหลักของความเป็นจริงเพราะไม่เคยปรากฏว่าตลอดระยะเวลา  1400  กว่าปีที่ผ่านมา  มีการออกอีดพร้อมกันทั้งโลกในวันเดียวกัน  ถ้าหากอ.มุรีดมีหลักฐานยืนยันว่าทั้งโลกเคยออกอีดพร้อมกัน  ก็ขอความกรุณาช่วยนำเสนอด้วยจะขอบคุณเป็นอย่างมาก

 

        และสิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ  ตลอดเวลาในอดีตที่ผ่านมานั้นได้มีนักวิชาการระดับมุจฺตะฮิดท่านใด  หรือตำรับตำราที่เป็นมรดกทางวิชาการเล่มใดบ้างที่ระบุว่าประชาชาติมุสลิมจะต้องกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺ , วันอะเราะฟะฮฺ  และวันอีดอีดิลอัฎฮาตามนครมักกะฮฺ  (ซึ่งในอดีตยังไม่มีประเทศซาอุดิอาระเบีย)  โดยไม่ต้องมีการดูจันทร์เสี้ยวในส่วนอื่นหรือดินแดนอื่นของโลก  หรือว่านักวิชาการรุ่นหลังเพิ่งมาค้นพบสัจธรรมในเรื่องนี้จากตัวบทของหะดีษที่ อ.มุรีด อ้างมา ทั้ง  ๆ  ที่หะดีษบทนี้มีมาตั้งแต่ครั้งที่ท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ยังมีชีวิตอยู่และผ่านการจดบันทึกและการวิเคราะห์ของบรรดานักปราชญ์ในรุ่นก่อนนับแต่ยุคสะลัฟ  ซอลิฮฺเป็นต้นมา  พวกท่านเหล่านั้นมิได้ฉุกคิดเลยกระนั้นหรือ  และเป็นไปได้อย่างไร?  ที่หลักการของหะดีษบทนี้ซึ่งเพิ่งค้นพบหลังจากผ่านมานมนานเป็นเวลานับพันปีพลาดจากสายตาและการวิเคราะห์ของนักปราชญ์รุ่นก่อน  โปรดอย่าลืมว่า  หะดีษของอุกบะฮฺ  อิบนุ  อามิรเป็นหะดีษที่มีการจดบันทึกในตำรับตำราทางหะดีษและฟิกฮฺเป็นจำนวนมาก  แต่ทำไมหนอ?  จึงไม่มีนักวิชาการท่านใดเลยในอดีตนึกถึงเรื่องนี้!

 

        ผู้เขียนเห็นด้วยที่ว่า  ท่านร่อซู้ลพูดไม่คลุมเครืออย่างที่ อ.มุรีด ระบุแต่ปัญหาอยู่ที่ความคลุมเครือของ อ.มุรีด เอง  จริงอยู่ท่านร่อซู้ลกล่าวว่า ”วันอะเราะฟะฮฺ”  (يوم عرفة)  และท่านไม่ได้กล่าวว่าวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺ!  แต่ถามว่า  แล้ววันอะเราะฟะฮฺคือวันที่เท่าไหร่ของเดือนซุลฮิจญะฮฺเล่า?  ช่วยตอบทีเถอะ!   หากตอบว่า  วันอะเราะฟะฮฺก็คือวันที่  9  ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ  แล้วจะเถียงเอาอะไร?  แต่ถ้าเลี่ยงตอบเป็นอย่างอื่นซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร?  ก็ต้องถือว่าเล่นลิ้นและเฉไฉ  เพราะ อ.มุรีด เองก็ระบุว่า  “ประการต่อมา  ท่านรสูลุลลอฮฺพูดต่อว่า ”วันนะหฺริ”  คือวันเชือด  วันเชือดคือวันอีดิลอัฎฮา  หรือวันที่  10  ซุลหิจญะฮฺนั่นเอง”  ก็ไหนล่ะ!  ท่านรสูลุลลอฮฺท่านพูดว่า  “วันนะหฺริ”  ท่านไม่ได้พูดว่าวันที่  10  ซุลหิจญะฮฺเสียหน่อย  คนที่พูดว่าวันที่  10  ซุลหิจญะฮฺนั่นเองก็คือ  อ.มุรีดเอง 

 

        พอมาถึง  วันตัชรีก  อ.มุรีดก็ระบุอีกว่า  “คือวันที่  11,12  และ  13 ซุลหิจญะฮฺ  ซึ่งเป็นวันที่ศาสนายังอนุญาตให้เชือดเนื้อกุรบ่านได้”  ท่านรสูลุลลอฮฺ  ท่านพูดว่า  บรรดาวันตัชรีก  (ايام التشريق)  ในหะดีษท่านไม่ได้พูดเสียหน่อยว่าวันที่  11,  12  และ  13     ซุลหิจญะฮฺ  ทำไม?  อ.มุรีด จึงสับสนในความเข้าใจของตนเองเช่นนี้  ในเมื่อท่านระบุว่า  ในหะดีษใช้คำว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ”  ไม่ใช้วันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺซึ่งถ้าวันอีดอัลอัฎฮา  คือวันที่  10 ซุลฮิจญะฮฺ  และบรรดาวันตัชรีก  คือวันที่  11,  12  และ  13  แล้ว  (ตามที่ อ.มุรีด ระบุ)  แล้ววันอะเราะฟะฮฺ  คือวันที่เท่าไหร่เล่า?  ช่วยตอบที!

 

        ส่วนที่ท่านรสูลุลลอฮฺ  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ใช้สำนวนว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ”  นั้นก็ไม่แปลกและไม่คลุมเครือ  เพราะท่านมิได้ใช้สำนวนในหะดีษนั้นว่า  วันวุกุฟ  (يوم الوقوف)  แต่ใช้ว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ”  ซึ่งมีนัยครอบคลุมมิได้เจาะจงเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์  โดยเฉพาะการวุกุฟเพียงอย่างเดียว  กล่าวคือ  วันอะเราะฟะฮฺมี  2  ส่วน  ส่วนที่หนึ่งเป็นวันอะเราะฟะฮฺในสิทธิของบรรดาฮุจญ๊าจที่ประกอบพิธีฮัจญ์  (يوم عرفة فى حق الحجاج)  ซึ่งมีซุนนะฮฺให้บรรดาฮุจญ๊าจกล่าวตัลบียะฮฺมาๆ และมีซุนนะฮฺ  (ตามทัศนะที่มีน้ำหนัก)  ให้บรรดาฮุจญ๊าจงดถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ 

 

        ส่วนที่  2  คือวันอะเราะฟะฮฺในสิทธิของผู้อื่นที่มิได้ประกอบพิธีฮัจญ์  (يوم عرفة فى حق غيرالحجاج)  ซึ่งมีซุนนะฮฺให้กล่าวตักบีรตั้งแต่หลังซุบฮิของวันอะเราะฟะฮฺ  ไม่มีซุนนะฮฺให้กล่าวตัลบียะฮฺแต่อย่างใด  และยังมีซุนนะฮฺให้ผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ทำการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺอีกด้วย  ดังนั้นวันอะเราะฟะฮฺที่หมายถึงวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺย่อมไม่จำเป็นว่าต้องตรงกับการวุกุฟของบรรดาฮุจญ๊าจเสมอไป 

 

        หากเรายึดหลักการวุกุฟในวันอะเราะฟะฮฺเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ใช้ต่างกันระหว่างผู้ประกอบพิธีฮัจญ์กับผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์  เรื่องมันก็จะสับสน  อีกทั้งการวุกุฟเป็นกิจสำคัญของบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่จะขาดไม่ได้  แต่วันอะเราะฟะฮฺมีศาสนกิจให้กระทำมากกว่าการวุกุฟ  เพราะครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ด้วยเราคงไม่เถียงหรอกว่า  การวุกุฟมีที่เดียวที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย 

 

        แต่การระบุของ อ.มุรีด   ที่ว่า  “วันอะเราะฟะฮฺ  หรือวันวุกุฟนั้นมีที่ไหนบ้าง?   คำตอบคือ  เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟหรอกนะครับ  มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น  …”  ออกจะ เป็นการด่วนสรุปมากไปเสียหน่อย  เพราะจำต้องแยกกันระหว่างการวุกุฟ  ซึ่งเป็นขั้นตอนของการประกอบพิธีฮัจญ์และเป็นเรื่องเฉพาะของบรรดาฮุจญ๊าจที่โน่น  กับเรื่องของวันเวลาคือวันอะเราะฟะฮฺที่มีศาสนกิจให้กระทำสำหรับประชาชาติมุสลิมทั่วโลก 

 

        กล่าวคือ  ต้องแยกระหว่างการวุกุฟซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้น  ณ  สถานที่แห่งเดียว  (فعلى – مكانى)  และวันเวลา  (زمانى)  เพราะวันเวลาที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำเฉพาะที่อาจจะไม่ตรงกันก็ได้  การระบุว่า  !  เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟเป็นการระบุที่ผิดพลาด  เพราะเมืองไทยหรือเมืองไหน ๆ ในโลกที่มีมุสลิมก็ต้องมีวันอะเราะฟะฮฺเช่นกัน  ถ้าหากเมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺแล้วจะถือศีลอดซุนนะฮฺกันอย่างไร?  และหากมีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียว  มุสลิมในเมืองไทยก็คงไม่ต้องถือศีลอดซุนนะฮฺกัน  หากใครต้องการถือศีลอดซุนนะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺก็จะต้องเดินทางไปซาอุดิอาระเบียกระนั้นหรือ?  เพราะวันอะเราะฟะฮฺมีวันเดียวที่ประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างที่ อ.มุรีด   ระบุ 

 

        ความจริงวันอะเราะฟะฮฺมีมานานแล้วนับแต่ยุคอดีตถามว่า  ในครั้งอดีตที่ยังไม่มีประเทศซาอุดิอาระเบียถูกสถาปนาขึ้นโดยราชวงศ์อาลสุอูด  คนทั่วโลกที่เป็นมุสลิมเขาถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺกันหรือไม่?  หากตอบว่า  เขาถือกัน  ก็ถามว่า  เขาถือกันอย่างไร?  ในเมื่อยุคอดีตนั้นต้องเดินทางโดยสารเรือสมุทรไปประกอบพิธีฮัจญ์  คนที่ไปทำฮัจญ์ย่อมรู้ว่าวันไหนเป็นวันอะเราะฟะฮฺเพราะเขาอยู่ที่มักกะฮฺ  แล้วคนที่อยู่ทางบ้านในยุคสยามประเทศเล่าเขาจะรู้ไหมว่าชะรีฟมักกะฮฺประกาศวันอะเราะฟะฮฺหรือวันวุกุฟวันไหน?  แน่นอนคนที่อยู่ทางนี้ซึ่งก็เป็นบรรพชนของ อ.มุรีด ด้วยต้องอาศัยการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักตามศาสนบัญญัติในการกำหนดวันที่  1  ซุลฮิจญะฮฺและวันอะเราะฟะฮฺ  ตลอดจนวันอีดอีดิลอัฎฮาและบรรดาวันตัชรีก  หากรอการประกาศของชะรีฟมักกะฮฺก็คงไม่ได้ประกอบศาสนกิจกันแล้วแหล่ะ 

 

        อ.มุรีด  อาจจะค้านว่า  นั่นเป็นเรื่องของอดีตในยุคที่ยังไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ซึ่งสามารถโทรศัพท์  หรือกดอินเตอร์เน็ตหรือเปิดดาวเทียมได้เพื่อรับรู้ข่าวสารการประกาศของประเทศซาอุดิอาระเบียก็ต้องขอบอกว่า  ความเจริญของเทคโนโลยีตามยุคสมัยนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการของศาสนาที่บัญญัติเอาไว้ได้  เพราะหลักการดูจันทร์เสี้ยวเป็นหลักการที่มาจากกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ  อีกทั้งยังเป็นหลักการที่ยังคงใช้ได้กับชนทุกหมู่เหล่า  ในขณะที่อินเตอร์เน็ตนั้นยังคงเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากเข้าไม่ถึงและ ใช้ไม่เป็น  หากยืนกรานว่าสามารถใช้เทคโนโลยีและไอทีในเรื่องนี้ได้  แล้วไฉนเลยนักวิชาการกลุ่มซุนนะฮฺซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับ อ.มุรีด จึงปฏิเสธการใช้การคำนวณทางดาราศาสตร์ซึ่งทุกวันนี้มีความเจริญก้าวหน้าและแม่นยำยิ่งนัก  ถ้าหากปฏิเสธการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ทันสมัยแล้ว  ทำไมจึงยึดเอาคำประกาศของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและไอทีเช่นกัน  หรือว่าพวกท่านถือ  2  มาตรฐาน  (ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด)

 

        ฉะนั้นเมืองไทยย่อมมีวันอะเราะฟะฮฺเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีวันอะเราะฟะฮฺ  ทั้งๆ ที่ไม่มีการวุกุฟที่เมืองไทยและประเทศอื่นๆ นั่นแหล่ะ  เพราะมุสลิมในเมืองไทยและประเทศอื่น ๆ ไม่ได้ไปทำฮัจญ์ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีเฉพาะที่คือนครมักกะฮฺและเขตปริมณฑล  การประกอบพิธีฮัจญ์เป็นเรื่องเฉพาะของฮุจญ๊าจไม่ว่าจะเป็นการครองเอียะฮฺรอม  การกล่าวตัลบียะฮฺ,  การวุกุฟ  การค้างแรมที่มุซดะลิฟะฮฺ,  การขว้างเสาหินที่มินา,  การตอว๊าฟอิฟาเฎาะฮฺ  การสะแอระหว่างซ่อฟา  และมัรวะฮฺ  และการตะฮัลลุล  ล้วนแล้วแต่มีที่นครมักกะฮฺเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  ไม่มีที่อื่นในโลก  แต่วันอะเราะฟะฮฺเป็นเรื่องของวันเวลาที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีฮัจญ์ในส่วนของประชาชาติมุสลิมที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย  จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกับการประกาศของซาอุดิอาระเบียก็ได้  เพราะเป็นเรื่องของวันเวลาที่อาจจะต่างกันก็ได้ อันเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวในการกำหนดวัน 

 

        ดังนั้นวันอะเราะฟะฮฺซึ่งตรงกับวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺในประเทศไทยจึงเรียกว่า  วันอะเราะฟะฮฺสำหรับพวกเรา  (يوم عرفة فى حقنا  –  และวันอะเราะฟะฮฺที่มีการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺจึงเรียกว่า  วันอะเราะฟะฮฺสำหรับบรรดาฮุจญ๊าจ  (يوم عرفة فى حق الحجاج)  ซึ่งถือเป็นวันอีดสำหรับฮุจญ๊าจเนื่องจากพวกเขาได้มารวมตัวกัน  ณ  สถานที่วุกุฟ (لأنه يوم عيدلأهل الموقف لاجتماعهم فيه)  -ดูฟัตฮุลบารีย์  ชัรฮฺ  ซ่อเฮียะฮฺ  อัลบุคอรีย์  4/193-)  ในขณะที่วันเชือด  (يوم النحر)  หรือวันอีดิลอัฎฮา  ถือเป็นวันอีดของประชาชาติมุสลิมโดยรวม  เหตุนี้ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวว่า  (يوم عرفة و يوم النحروأيام منى عيدناأهل الاسلام)  “วันอะเราะฟะฮฺ,  วันเชือด และบรรดาวันของมินา  คือ  วันอีดของเราชาวอิสลาม”  (รายงานโดยอุกบะฮฺ  อิบนุ  อามิร) 

 

        กล่าวคือ  วันอะเราะฟะฮฺคือวันอีดสำหรับฮุจญ๊าจที่ร่วมชุมนุมกันอยู่  ณ  เมากิฟ  (ที่วุกุฟ)  ส่วนวันเชือด  (อีดิลอัฎฮา)  และบรรดาวันตัชรีก  ซึ่งถูกเรียกว่า  บรรดาวันแห่งมินา  ถือเป็นวันอีดของประชาชาติโดยรวม  หากเราเจาะจงว่าวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวในโลก  เพราะการวุกุฟมีที่เดียวในโลกคือที่ซาอุดิอาระเบีย  แล้ววันเชือดเล่า  มีการเชือดสัตว์อุฎฮียะฮฺที่เดียวในโลกเฉพาะที่ซาอุดิอาระเบียกระนั้นหรือ?  หรือว่ามีการเชือดอุฎฮียะฮฺในที่อื่น ๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน  บรรดาวันแห่งมินา  (أيام منى)  นั้นแน่นอน  เป็นวันเฉพาะสำหรับบรรดาฮุจญ๊าจซึ่งยังคงประกอบพิธีฮัจญ์ในขั้นตอนสุดท้ายคือการขว้างเสาหิน  3  ต้นที่ ต.มินา 

 

        ส่วนบรรดาวันตัชรีก  (أيام التشريق)  นั้นเป็นวันอีดต่อเนื่องสำหรับประชาชาติโดยรวมทั้งหมดนับแต่วันอะเราะฟะฮฺ  ,  วันเชือดและอีก  3  วันหลังล้วนแต่เป็นวันอีด  คือวันรื่นเริงสำหรับชาวอิสลามโดยรวม  กล่าวโดยสรุปก็คือ  วันอีดสำหรับประชาชาติมุสลิมนั้นมีถึง  5  วันด้วยกันคือ  วันอะเราะฟะฮฺ  ,  วันอีดิลอัฎฮา  และวันตัชรีกอีก  3  วัน  มิใช่วันหนึ่งวันใดเป็นการเฉพาะ  เพราะคำขยาย  (خبر)  ของประโยคในหะดีษข้างต้นหมายรวมเอาวันทั้ง  5  นั้นเข้ามาอยู่ในฮู่ก่มเดียวกัน  คือ ถือเป็นวันอีดของเราชาวอิสลาม

 

        การที่ อ.มุรีด ระบุว่า  :  ท่านนบีมุฮำหมัดระบุว่าให้พี่น้องมุสลิมทั้งหมดที่เป็นประชาชาติของท่านนบีมุฮำหมัดให้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันต่าง ๆ ข้างต้น  ไม่ว่ามุสลิมในประเทศใด,  ทวีปใด,  ดินแดนใด  หากเป็นมุสลิม  (อะฮฺลุลอิสลาม)  จำเป็นจะต้องออกอีดิลอัฎฮาด้วยความพร้อมเพรียงกันทั้งหมด  เมื่อเป็นเช่นนั้น  มุสลิมคนใดหรือองค์กรมุสลิมใดที่มีวันอะเราะฟะฮฺไม่ตรงกัน  และออกอีดิลอัฎฮาไม่ตรงกันนั้น  ต้องชี้แจงแล้วละครับว่าเป็นเพราะสาเหตุใดจึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีมุฮำหมัด  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)” 
        เป็นการสรุปตามความเข้าใจของ อ.มุรีด เอง  เพราะคำว่า “หากเป็นมุสลิม  (อะหฺลุลอิสลาม)  จำเป็นต้องออกอีดิลอัฎฮาด้วยความพร้อมเพรียงกันทั้งหมด”  แสดงว่าถ้าออกอีดิลอัฎฮาไม่ตรงกัน  ไม่พร้อมเพรียงกันทั้งหมดก็ไม่ใช่มุสลิมกระนั้นหรือ?   ซุบฮานัลลอฮฺ!  ช่างเป็นการฟันธงที่กล้าหาญยิ่งนัก  ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีมุสลิมคนใดที่ปฏิเสธซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ในเรื่องนี้ทุกคนยอมรับและทุ่มเทในการปฏิบัติตามอย่างสุดความสามารถ  การออกอีดทั้ง  2  และการเริ่มถือศีลอดโดยพร้อมเพรียงกันเป็นความหวังของมุสลิมทุกคน  แต่เมื่อยังไม่สามารถบรรลุสู่ความหวังนั้นได้  อย่างน้อยก็จำเป็นที่เราจะต้องเพียรพยายามต่อการสร้างเอกภาพในภาคส่วนจำเพาะระหว่างชาวมุสลิมในดินแดนเดียวกัน  (ฟิกฮุซซิยาม,ดร.ยูซุฟ  กอรฎอวีย์  หน้า  32) 

        เป็นเรื่องแปลก  ที่มีกลุ่มคนบางส่วนเรียกร้องให้ชาวมุสลิมมีเอกภาพและมีความพร้อมเพรียงกับชาวมุสลิมทั่วโลกในเรื่องการเริ่มถือศีลอดพร้อมกัน  อีกอีดพร้อมกัน  แต่กลับไม่สนใจใยดีต่อเอกภาพและความพร้อมเพรียงกับผู้คนในประเทศเดียวกัน  มิหนำซ้ำยังเที่ยวกล่าวหาผู้คนส่วนใหญ่ที่เริ่มถือศีลอดและออกอีดไม่ตรงกับพวกตนว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการอิจฺติฮาด  (اجتهاد)  เป็นเรื่องของการวิเคราะห์นัยและหลักคำสอนจากตัวบท  ไม่ใช่เรื่องหลักมูลฐาน  (الأصول)  ของศาสนาที่จะนำมาฮุก่มชี้ขาดกันอย่างฟันธงและเด็ดขาดแต่อย่างใด

 

        อ.มุรีด ได้อ้างถึงหะดีษที่ท่านอบูสะอีด  อัลคุดรีย์  รายงานจากท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  และระบุว่า”หะดีษข้างต้นชัดเจนครับว่า  ท่านรสูลห้ามถือศีลอดในวันอีดิลฟิฏริ  และอีดิลอัฎฮา  เมื่อเป็นเช่นนั้นปีนี้ก็จะต้องสับสนแล้วล่ะครับ  กล่าวคือ  วันอะเราะฟะฮฺตรงกับวันศุกร์  29  ธันวาคม  2549  และวันอีดิลอัฎฮาตรงกับวันเสาร์ที่  30  ธันวาคม  2549  แต่มุสลิมบางกลุ่มในประเทศไทยออกอีดิลอัฎฮาในวันอาทิตย์ที่ 31  ธันวาคม  2549  ฉะนั้นหากมุสลิมที่ออกอีดในวันอาทิตย์มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอดในวันเสาร์  แต่ไปตรงกับวันอีดิลอัฎฮาของมุสลิมที่ออกตามประเทศซาอุฯได้ประกาศ  ก็เท่ากับว่าบุคคลผู้นั้นฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบีที่ถือศีลอดในวันอีดิลอัฎฮา  ซึ่งเป็นวันที่ท่านรสูลห้ามถือศีลอดนั่นเอง  (อีกทั้งผู้ที่จะถือศีลอดในวันเสาร์จะเนียตวันถือศีลอดสุนนะฮฺวัน  อะเราะฟะฮฺก็ไม่ได้  เพราะถือศีลอดไม่ตรงกับวันอะเราะฟะฮฺที่ประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นวันศุกร์)”
        ข้อนี้ต้องสับสนแน่ล่ะ  ถ้าหากถือตามที่ อ.มุรีด กล่าว  เพราะ อ.มุรีด พูดเองเออเองในประเด็นข้อปัญหานี้  ในส่วนของตัวบทหะดีษนั้นชัดเจน  ไม่มีใครปฏิเสธ  แต่การวินิจฉัยปัญหาอันเนื่องจากถือวันไม่ตรงกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  และประเด็นเฉกเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต  จึงต้องกลับไปดูว่านักวิชาการผู้สันทัดกรณีให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร?  เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนผู้เขียนขอตั้งเรื่องอย่างนี้ก่อนว่า  มุสลิมส่วนใหญ่  (มิใช่บางกลุ่มอย่างที่ระบุ)  ในประเทศไทย  ออกอีดอัฎฮาในวันอาทิตย์  ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี  แต่ทว่าในวันเสาร์นั้น  ทางซาอุดิอาระเบียออกอีดแล้ว  ดังนั้นการถือศีลอดซุนนะฮฺในวันเสาร์ของชาวมุสลิมไทยจึงไปตรงกับวันอีดของซาอุดิอาระเบีย  ถามว่า  การถือศีลอดซุนนะฮฺของมุสลิมไทยในวันเสาร์เป็นที่อนุญาตหรือไม่?  เพราะไปตรงกับวันอีดของซาอุดิอาระเบียนั่นเอง 

 

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  ได้ตอบว่า  :  وصوم اليوم الذى يشك فيه     هل هوتاسع ذى الحجة  أوعاشرذىالحجة  جا ـٔز بلانزاع بين العلماء  لأن الأصل عدم العاشر  “และการถือศีลอดของวันซึ่งสงสัยว่าวันนั้นเป็นวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺหรือวันที่  10  ซุลฮิจญะฮฺ?  เป็นที่อนุญาตโดยไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างบรรดานักปราชญ์  เพราะเดิมนั้นไม่มีวันที่  10”  (มัจมูอะฮฺ  อัลฟะตาวา  25/111) 

        หมายความว่าชาวมุสลิมไทยที่ถือศีลอดในวันเสาร์  ซึ่งนับเป็นวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺตามคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีแต่ไปตรงกับวันที่  10  ซุลฮิจญะฮฺ  (คือวันอีดอัฎฮา)  ของซาอุดีย์นั้นย่อมเป็นที่อนุญาตโดยไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างนักปราชญ์และไม่เข้าข่ายในข้อห้ามของหะดีษข้างต้น  เพราะคนที่ถือศีลอดในวันเสาร์ถือศีลอดบนพื้นฐานที่ว่า  วันเสาร์คือวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺ  ไม่มีผู้ใดถือศีลอดในวันที่  10  ซุลฮิจญะฮฺซึ่งเป็นวันอีดอัลอัฎฮา  อันจะเป็นเหตุนำมาอ้างว่าฝ่าฝืนคำสั่งของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  ที่ห้ามถือศีลอดในวันอีดได้  ทั้งนี้เพราะเขาถือศีลอดในวันที่  9  ซุลฮิจญะฮฺไม่ได้ถือในวันที่  10  ซุลฮิจญะฮฺ  ซึ่งเป็นอีดอัฎฮาแต่อย่างใด  นี่คือคำตอบของท่านชัยคุลอิสลาม  อิบนุตัยมียะฮฺ  (ร.ฮ.)  นักวิชาการผู้เลื่องลือในการฟื้นฟูซุนนะฮฺและแนวทางของสะลัฟ  ซอลิฮฺ  ท่านผู้อ่านก็เลือกเอาว่าจะเชื่อตาม อ.มุรีด หรือตามคำฟัตวาของนักปราชญ์สละฟีย์ผู้นี้

 

         ประเด็นเรื่องการตามผู้นำที่ อ.มุรีด ได้อ้างเหตุผลที่จะไม่ปฏิบัติตามท่านจุฬาราชมนตรีนั้นค่อนข้างจะยืดยาวและหลงประเด็นอยู่หลายข้อจึงขอวิภาษโดยสรุปดังนี้  
        1.  อ.มุรีด   ตั้งคำถามว่า ”ผู้นำประเทศมุสลิมนั้น ๆ ที่เราจะต้องปฏิบัติตามเขานั้น  เป็นผู้นำประเภทไหน?  หากเป็นผู้นำอย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย  นั่นแน่นอนครับที่เราต้องตาม  เพราะผู้นำของเขามีอำนาจสั่งการต่าง ๆ …  แต่ผู้นำมุสลิมในเมืองไทยเป็นผู้นำที่ทางรัฐบาลกำหนดให้มีตำแหน่งผู้นำมุสลิมโดยให้ชื่อว่า  ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำที่ไม่สามารถออกกฎหมายหรือลงโทษผู้หนึ่งผู้ใด  หากใครทำผิดหลักการของศาสนา  ผู้นำประเภทนี้ไม่วาญิบต้องตามนะครับ”  นั่นคือเหตุผลของ อ.มุรีด   แต่เราลองมาพิจารณาความเห็นของนักวิชาการกันบ้าง  ท่านอิบนุ  อบิลอิซฺ  อัลฮะนะฟีย์  ผู้อรรถกถา  หนังสือ  อัลอะกีดะฮฺ  อัฏฏ่อฮาวียะฮฺได้ระบุว่า  :
“وقددلت نصوص الكتاب والسنة واجماع سلف الأمة أن ولى الأمروامام الصلاة  والحاكم ۡ  وأميرالحرب ۡ  وعامل الصدقة : يطاع فى مواضع الاجتهاد وليس عليه أن  يطيع اتباعه فى مواردالاجتهاد ۡ  بل عليهم طاعته فى ذ لك  ۡ  وترك رأيهم لرأيه  ۡ  فإن مصلحة الجماعة والإ ـٔتلاف  ۡ  ومفسدةالفرقة والاختلاف  ۡ  أعظم من أمر المسا ـٔل الجزـٔية…”  “และแท้จริงบรรดาตัวบทของคัมภีร์อัลกุรอ่าน,  ซุนนะฮฺ  และมติเห็นพ้องของบรรพชนสลัฟของประชาชาติได้บ่งว่าวะลียุลอัมรฺ  (ผู้นำ),  อิหม่ามนำละหมาด,  ผู้ปกครอง,  แม่ทัพนายกองและเจ้าหน้าที่เก็บซะกาตจะถูกเชื่อฟัง  (ปฏิบัติตาม)  ในบรรดาตำแหน่ง  (ประเด็นต่าง ๆ )  ของการวิเคราะห์  (อิจฺติฮาด)  และย่อมมิใช่หน้าที่ของผู้นำในการเชื่อฟังบรรดาผู้ตามตนในเรื่องที่มีการวิเคราะห์  (อิจฺติฮาด)  หากแต่จำเป็นที่บรรดาผู้ตามต้องเชื่อฟังในเรื่องดังกล่าว  และจำเป็นต้องละทิ้งความเห็นของพวกตนยังความเห็นของผู้นำ  เพราะแท้จริงประโยชน์ของหมู่คณะและความเป็นน้ำหนึ่ง  ตลอดจนผลร้ายของการแตกแยกและการขัดแย้ง  ย่อมสำคัญกว่าเรื่องของประเด็นปัญหาปลีกย่อยทั้งหลาย”  (ชัรฮุ  อัลอะกีดะฮฺ  อัฏฏ่อฮาวียะฮฺ  ของอัลลามะฮฺ  อิบนุ  อบิลอิซฺ  อัลฮะนะฟีย์  หน้า  376)

 

        หมายความว่า  การเห็นพ้องตรงกันและความเป็นน้ำหนึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึง  และจำเป็นต้องละทิ้งการขัดแย้งที่นำพาไปสู่ความเสียหาย  (เล่มเดียวกัน  หน้า  377)  โปรดสังเกตคำว่า  อิหม่ามนำละหมาด  และเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต  ซึ่งไม่มีพระเดชคืออำนาจในการลงโทษหรือออกกฎหมายอย่างที่ อ.มุรีด อธิบาย  แต่ก็วาญิบต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามดังระบุข้างต้น

 

ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  ได้ระบุว่า  :״  فإذاأصدرت السلطة الشرعية المسـٔولة عن اثبات الهلال فى بلد ا سلامى – المحكمة العليا  ۡ  أودارالإفتاء  ۧ  أورـٔاسة الشـٔون الدينية  ۧ  اوغيرها-  قرارهابالصوم أوبالإفطار  ۡ  فعلى مسلمى ذلك البلد الطاعة والإلتزام  ۧ  لأنهاطاعة فى المعروف  ۡ  وإن كان ذلك مخالفالماثبت فى بلدآخر  فإن حكم الحاكم هنارجح الرأى الذى يقول  :  إن لكل بلدرؤيته  ״    
“ดังนั้นเมื่อองค์กรที่มีอำนาจตามศาสนบัญญัติที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการยืนยันจันทร์เสี้ยวในประเทศมุสลิม-  (อาทิเช่น)  ศาลสูงสำนักวินิจฉัย  หรือองค์กรผู้นำกิจการทางศาสนาหรืออื่น ๆ –  ได้ออกแถลงการณ์ของตนให้ถือศีลอดหรือออกอีดฟิฏริแล้ว  ก็จำเป็นที่ชาวมุสลิมของดินแดนนั้นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดเพราะเป็นการเชื่อฟังในสิ่งที่ดีตามหลักการของศาสนา  ถึงแม้ว่าสิ่งดังกล่าวค้านกับสิ่งที่ได้รับการยืนยันในดินแดนอื่น  เพราะแท้จริงการชี้ขาดของผู้มีอำนาจ  ณ  ที่นี้ได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะซึ่งกล่าวว่า  :  แท้จริงแต่ละดินแดนนั้นคือการเห็นจันทร์เสี้ยวของตน”  (ฟิกฮุซซิยาม  ;  ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  ดารุ้ลวะฟาอฺ  หน้า  32) 
         โปรดสังเกตคำว่า  “สำนักวินิจฉัย”  หรือ  ดารุ้ลอิฟตาอฺ  ซึ่งเป็นสำนักงานของมุฟตีย์  อันหมายถึง  ผู้วินิจฉัยปัญหา ข้อศาสนาซึ่งไม่มีอำนาจในการลงโทษหรือบังคับใช้กฎหมาย  ตลอดจน  คำว่า  “องค์กรผู้นำกิจการทางศาสนา”  ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจในด้านการบริหารและการปกครองทางรัฐศาสตร์  แต่เป็นองค์กรทางศาสนาที่รับผิดชอบกิจการของมุสลิมในประเทศนั้น ๆ คล้ายกับสำนักจุฬาราชมนตรีของไทย  ถึงแม้ว่าองค์กรทั้ง  2  จะไม่มีอำนาจอย่างที่ อ.มุรีด ระบุแต่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามเช่นกันตามข้อเขียนของดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์ข้างต้น  อ.มุรีด  อาจจะค้านว่า  นั่นเป็นองค์กรในประเทศมุสลิม  ส่วนสำนักจุฬาราชมนตรี  เป็นองค์กรศาสนาในประเทศที่มิใช่ประเทศมุสลิม  ก็ขอให้ติดตามต่อไปว่า  นักวิชาการให้คำตอบอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

         ท่านอิซฺซุดดีน  อิบนุ  อับดิสสลาม  (ร.ฮ.)  ได้ตอบไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ  :  ก้อวาอิดุลฺอะฮฺกาม  ฟี  มะซอลิฮิลอะนาม”  ว่า  “และหากว่าบรรดากุฟฟ๊ารได้มีอำนาจยึดครองเหนือเขตแคว้นขนาดใหญ่แล้วพวกเขาได้แต่งตั้งตำแหน่งผู้ชี้ขาด  (กอฎีย์)  แก่บุคคลที่นำมาซึ่งผลประโยชน์โดยรวมของชาวมุสลิม  สิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ  ถือว่าการชี้ขาดทั้งหมดดังกล่าวเป็นที่ลุล่วง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำมาซึ่งสิทธิประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อเป็นการปัดป้องความเสียหายที่ครอบคลุม” 

 

         หากยังติดข้องหมองใจ  ก็ลองพิจารณาเพิ่มเติมจากคำวินิจฉัยของ  ”คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการตอบปัญหาศาสนา”  (اللجنة الداـٔمة للبحوث العلمية والإفتاء)  ของประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งมี ชัยคฺ อับดุลอะซีซ  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อิบนุ  บ๊าซฺ  (ร.ฮ.)  หรือ  เชค  บินบ๊าซฺ  เป็นประธาน  คำฟัตวา  เลขที่  2149   (คำถาม)  อนุญาตให้ชาวมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศอิสลามในการก่อตั้งคณะกรรมการจากชาวมุสลิมเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการยืนยันจันทร์เสี้ยวของร่อมาฎอน  ,  เซาว๊าล  และซุลฮิจญะฮฺ”  (ฟะตาวา  อัลลัจญนะฮฺ  อัดดาอิมะอฺ  ฯ  เล่มที่  10/112  ดารุ้ลอาซิมะฮฺ  พิมพ์ครั้งแรก  ปีฮ.ศ.1416-คศ.1996)

 

         อ.มุรีด   ระบุถึงการออกตราหะลาล  (حلال)  ให้แก่ยาดองเหล้ายี่ห้อหนึ่ง  โดยสมมติ  (ซึ่งจริง ๆ แล้วมิใช่สมมติเพราะเคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อนแล้ว)  แล้วก็สรุปว่า  “ถ้าหากเราบอกว่าเราตามผู้นำ  หรือสำนักจุฬาราชมนตรีเราก็ต้องซื้อมาดื่มนะซิครับ” 
         นี่เป็นการสรุปที่ผิดประเด็น  เพราะมีตัวบทกำหนดชัดเจนว่า  ไม่ต้องตามผู้นำในเรื่องที่ฝ่าฝืนต่อหลักการของศาสนา  (لاطاعة لمخلوق فى معصية الخالق)  “ไม่มีการเชื่อฟังต่อมัคลูกในกรณีฝ่าฝืนพระผู้ทรงสร้าง”  ส่วนเรื่องการปฏิบัติตามผู้นำในเรื่องที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนานั้นเป็นสิ่งจำเป็น  (انماالطاعة فى المعروف)  “อันที่จริงการเชื่อฟังนั้นเฉพาะสิ่งที่เป็นความดีเท่านั้น” 

        ทั้งนี้เพราะการเชื่อฟังผู้นำนั้น  นักวิชาการเรียกว่า  إطاعة مقيدة (การเชื่อฟังที่มีเงื่อนไข)  กล่าวคือต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาหรืออยู่ในประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อยที่มีการวิเคราะห์และให้น้ำหนัก  (المسا ـٔل الجزـٔية الاجتهادية)  ส่วนการปฏิบัติตามและเชื่อฟังอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  และ  ร่อซู้ลนั้นเรียกว่า  (إطاعة مطلقة)  หมายถึงการเชื่อฟังปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิงไม่มีข้อแม้  ดังนั้นการตามผู้นำซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนมีผิดมีถูก  จึงมีข้อยกเว้นในกรณีที่ขัดต่อหลักการของศาสนาก็ไม่ต้องถือตาม 

        ดังมีหะดีษซอเฮียะฮฺ  ระบุว่า على المرءالمسلم الس۫مع والطاعة فيماأحب وكره  ۡ  إلاأن يؤمربمعصية  (متفق عليه من حديث ابن عمر) فلاسمع ولاطاعة  (فإن أمربمعصية)   “จำเป็นเหนือบุคคลที่เป็นมุสลิมต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามทั้งในสิ่งที่เขาชอบและรังเกียจ  นอกจากการที่เขาถูกใช้ให้กระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนา  (ดังนั้นถ้าหากเขาถูกใช้ให้กระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนา)  ก็ย่อมไม่มีการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามแต่อย่างใด”  (รายงานพ้องกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม  จากหะดีษของอิบนุ  อุมัร) 

 

        ฉะนั้นการที่สำนักจุฬาฯสั่งใช้ให้เราในฐานะผู้ตามกระทำสิ่งที่ผิดหลักการของศาสนา  ก็ไม่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามแต่อย่างใด  มิหนำซ้ำยังห้ามตามด้วยซ้ำไป  แต่เรื่องที่เรากำลังถกกันอยู่นี้คือเรื่องการตามข้อวินิจฉัย  (الاجتهاد)  ของผู้นำหรือสำนักจุฬาราชมนตรี  ซึ่งเป็นเรื่องดี  (المعروف)  กล่าวคือ  ใช้ให้เข้าบวช, ออกบวช, ใช้ให้ละหมาดอีดวันนั้นวันนี้  ไม่ได้ใช้ให้ไปซื้อยาดองเหล้า!  หรือใช้ให้เราบิดเบือนหลักอะกีดะฮฺ  (หลักความเชื่อ) 

 

        การอ้างของ อ.มุรีด   โดยยกกรณีของเรื่องยาดองเหล้าที่มีการออกตราฮะล้าล  หรือการเขียนเรื่องราวของอิหม่ามอะหฺหมัด  อิบนุ  ฮัมบัล  (ร.ฮ.)  ที่ต่อสู้กับกลุ่มอะหฺลุลบิดอะฮฺ  วัฎฎอลาละฮฺ เพื่อปกป้องหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง  และเขียนเสียยืดยาวนั้นเป็นการหลงประเด็นไปแบบสุดกู่  และเป็นการบ่งว่า  ตัวอาจารย์เองแยกแยะเรื่องนี้ไม่ออก  จึงไม่แปลกใจเลยที่มีพี่น้องมุสลิมบางส่วนเกิดความสับสนในเรื่องการตามผู้นำ  เพราะ อ.มุรีด ระบุว่า  “หวังว่าตัวอย่างของท่านอิหม่าม    อะหฺมัด  บุตรของฮัมบัลจะทำให้มุสลิมในเมืองไทยแยกแยะออกนะครับว่า  ระหว่างคำสั่งของผู้นำ  กับความถูกต้องของหลักการศาสนาเราจะเลือกสิ่งไหน? 

 

        ข้อความที่ อ.มุรีด อ้างส่อให้เห็นว่า อ.มุรีด ไม่รู้จักแยกแยะระหว่างเรื่องหลักศรัทธาซึ่งเป็นหลักมูลฐานของศาสนา  (الأصول)  อันเป็นเรื่องเด็ดขาด, ชัดเจนและไม่อนุญาตให้เห็นต่าง  เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้หลุดออกจากกรอบของอะหฺลิซฺซุนนะฮฺ  วัลญ่ามาอะฮฺได้  หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม  ส่วนเรื่องปัญหาการกำหนดวันสำคัญของผู้นำอันเกิดจากการวิเคราะห์ตัวบท  (الاستبناط)  หรือทุ่มเทวินิจฉัยประเด็นข้อปัญหาศาสนา  (الاجتهاد)  นั้นอยู่ในหมวดของข้อปลีกย่อยที่เรียกว่า  (الفروع) 

 

         มิหนำซ้ำการอ้างตัวอย่างเทียบเคียง  (القياس)    ของ อ.มุรีด ในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นการเทียบเคียงที่ใช้ไม่ได้  เพราะมีตัวเทียบหรือเหตุผล  (علة)  ในการเทียบเคียงที่แตกต่างกัน  นักอุซูลุลฟิกฮ  เขาเรียกการเทียบเคียงเช่นนี้ว่า  (القياس مع الفارق)  ถือว่าเป็นการเทียบเคียงที่โมฆะใช้ไม่ได้  (قياس باطل)  อ.มุรีด อาจจะค้านว่าตนไม่เห็นด้วยกับหลักการกิย๊าส  -การเทียบเคียง-  แต่การยกตัวอย่างนำมาประกอบ  (التمثيل)  ของอาจารย์ก็เข้าข่ายเป็นการเทียบเคียงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง  “ฉะนั้นการอ้างอิงผิดที่จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดอย่างไม่ต้องสงสัยนะครับ”  นี่คือข้อความที่ อ.มุรีด ระบุในบทความเฉพาะกิจของท่าน  ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้ว อ.มุรีด เองก็อ้างอิงผิดที่เสียเอง  เพราะการปฎิบัติตามผู้นำในประเด็นที่เรากำลังวิภาษอยู่นี้ก็เป็นเรื่องของข้อปลีกย่อย  (الأحكام الفرعية)  ไม่ใช่เรื่องของหลักมูลฐานทางศาสนา  (الأحكام الأصولية)  ซึ่งมิอาจคัดค้านหรือใช้สติปัญญาเข้าไปวิเคราะห์เพียงลำพัง  หากผู้นำชี้ขาดหรือมีคำฟัตวา  (คำวินิจฉัย)  ที่ค้านกับตัวบทของอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺแล้ว  ก็มิต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด!

        อ.มุรีด   เน้นย้ำอยู่หลายตอนในบทความของท่าน  ว่าเราจะต้องฟังคำประกาศของซาอุดิอาระเบียในเรื่องการกำหนดวันอีดอีดิลอัฎฮาตลอดจนวันอะเราะฟะฮฺ  เพราะอะเราะฟะฮฺมีอยู่ที่เดียวในโลกคือที่  ซาอุดิอาระเบีย  นครมักกะฮฺ  แต่เป็นเรื่องแปลกที่องค์กรของซาอุดิอาระเบียเองกลับมีแถลงการณ์ว่า  ให้ตามคำประกาศของนครมักกะฮฺเฉพาะในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์  (อัลม่านาซิก)  เท่านั้นโดยมุ่งหมายเฉพาะบรรดาฮุจญ๊าจที่อยู่ที่โน่น  ส่วนการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาในเดือนซุลฮิจญะฮฺหรือปฏิทินให้ถือตามคำยืนยันของผู้รับผิดชอบในแต่ละประเทศ  ดังปรากฏในคำวินิจฉัยของดร.ฮานี  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อัลญุบัยร์  กอฎีย์ประจำศาลของนครมักกะฮฺ  ลงวันที่  22/6/ฮ.ศ.1424 

 

        โดยมีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่างของมัฏละอฺในเดือนซุลฮิจญะฮฺและกรณีการกำหนดวันอีดและการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺว่าเกี่ยวข้องผูกพันกับสถานที่อันหมายถึงการวุกุ๊ฟของบรรดาฮุจญ๊าจในทุ่งอะเราะฟะฮฺหรือไม่  ท่านกอฎีย์ตอบว่า : เมื่อปรากฏว่ามุสลิมอยู่ในประเทศที่ใช้การเห็นจันทร์เสี้ยวตามหลักศาสนบัญญัติ  และยึดการเห็นจันทร์เสี้ยวเป็นแนวทางในการกำหนดวันเดือนปีตามปฏิทิน  ให้มุสลิมผู้นั้นปฏิบัติตามข้อชี้ขาดผู้ที่สันทัดกรณี  ณ  ประเทศนั้นยืนยัน  และให้ถือศีลอดอะเราะฟะฮฺในวันที่  9  ถึงแม้ว่าในนครมักกะฮฺจะไปตรงกับวันที่  8  หรือวันที่  10  ก็ตาม  ส่วนในการประกอบพิธีฮัจญ์นั้นให้ปฏิบัติตามการเห็นจันทร์เสี้ยวที่มีการยืนยันในนครมักกะฮฺ  …” 

 

        นี่คือคำตอบของกอฎีย์ประจำศาลของนครมักกะฮฺซึ่งเป็นผู้มีตำแหน่งในองค์กรสำคัญของซาอุดิอาระเบียเอง  อีกทั้งยังมีคำตอบของคณะกรรมการเพื่อการวิจัยวิชาการและการวินิจฉัยปัญหาศาสนา  (อัลลัจญ์นะฮฺ  อัดดาอิมะฮฺฯ)  ของซาอุดิอาระเบีย  ระบุเกี่ยวกับการละหมาดอีดทั้งสองวันให้เป็นไปพร้อมกับบรรดามุสลิมในประเทศของพวกเขา  คำฟัตวา  เลขที่  10973  (เล่มที่  10/94-95)  ให้ปฏิบัติตามวะลียุลอัมร์  (ผู้นำ)  ในแต่ละประเทศ  คำฟัตวาเลขที่  313  (เล่มที่  10/96-98)  และคำฟัตวา  เลขที่  319  (เล่มที่  10/98-100),  คำฟัตวา  เลขที่  388  (เล่มที่  10/100-102)  คำฟัตวา  เลขที่  3686  (เล่มที่  10/102-103)  ซึ่งระบุว่า  ตลอดเวลา  14  ศตวรรษที่ผ่านมาไม่เคยรับทราบว่าประชาชาติอิสลามมีเอกภาพหนึ่งเดียวบนการเห็นจันทร์เสี้ยวและแต่ละประเทศมีสิทธิในการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

 

        ทั้งหมดเป็นคำตอบของบรรดานักวิชาการในประเทศซาอุดิอาระเบียเอง  ซึ่งมีทัศนะความเห็นเป็นคนละเรื่องกับที่  อ.มุรีด พยายามนำเสนอและเน้นย้ำในบทความของท่าน  ในขณะที่มีการเรียกร้องให้ตามซาอุดีย์  แต่นักวิชาการของซาอุดีย์เองกลับไม่คิดเช่นนั้น  หรือว่า อ.มุรีด จะรู้กว่าบรรดานักวิชาการเหล่านั้น  ข้อนี้ผู้เขียนก็มิอาจทราบได้  ขอให้ผู้อ่านใช้ดุลยพินิจเอาเองเถิด

 

        นอกจากนี้ ดร.ซอลิฮฺ  อิบนุ  ซาบิน  อัลมัรซูกีย์  อัลบักมีย์  เลขาธิการของสภาองค์กรนิติศาสตร์อิสลาม  (อัลมัจฺมะอฺ  อัลฟิกฮีย์  อัลอิสลามีย์)  ได้ยืนยันว่า  สิ่งที่บรรดาผู้กล่าวอ้างว่าจำเป็นจะต้องเข้าบวชและออกบวกตรงกันอย่างมีเอกภาพนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการของศาสนาและสติปัญญา  คณะกรรมการของสภาองค์กรนิติศาสตร์อิสลามได้มีมติว่า  ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีเอกภาพในการดูจันทร์เสี้ยวและวันอีดในโลกอิสลาม  เพราะการมีเอกภาพในเรื่องนี้ไม่ได้ประกันถึงเอกภาพหนึ่งเดียวของประชาคมอิสลามเหมือนอย่างที่มีผู้เสนอเป็นจำนวนมากให้สร้างเอกภาพในการดูจันทร์เสี้ยวและวันอีดหลงเข้าใจและให้ปล่อยวางกรณีการยืนยันจันทร์เสี้ยวเป็นหน้าที่ของสำนักวินิจฉัย  (ดารุ้ลอิฟตาอฺ)  และศาลในกลุ่มประเทศอิสลาม  โดยสรุปจากหนังสือพิมพ์อัลอาลัม  อัลอิสลามีย์  อันดับที่  2010  วันที่  5  มุฮัรรอม  ฮ.ศ.1429/14  มกราคม  คศ.2008  (วันจันทร์)  ออกโดย  องค์การรอบิเฏาะฮฺ  อัลอาลัม  อัลอิสลามีย์  ประเทศซาอุดิอาระเบีย) 

 

        ความเห็นของ ดร.อัลมัรซูกีย์ ถือเป็นตัวแทนของปวงปราชญ์ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุ และผู้เขียนก็ได้พยายามอธิบายและแจกแจงในเชิงวิภาษเกี่ยวกับบทความของ  อ.มุรีด แล้วเท่าที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงฮิดายะฮฺ  เตาฟีกให้แก่ผู้เขียน  ส่วนผู้อ่านจะเห็นด้วยกับการวิภาษของผู้เขียนหรือไม่?  ก็เป็นสิทธิของแต่ละท่านที่อยู่นอกเหนือหน้าที่และภารกิจของผู้เขียน 

 

        โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนก็เคยรู้จักกับ อ.มุรีด เพราะเคยร่วมบรรยายกับท่านอยู่สองสามครั้งแต่ความรู้สึกร่วมกันในอุดมการณ์ของการเผยแผ่หลักคำสอนที่ถูกต้องแก่พี่น้องมุสลิมนั้นก็มิอาจทำให้ผู้เขียนต้องนิ่งเฉยและละทิ้งอามานะฮฺทางวิชาการไปได้  อย่างน้อยก็บนพื้นฐานของการะซีฮะฮฺระหว่างกันการสร้างความแตกแยกหรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายด้วยการเอาประเด็นความเห็นต่างในข้อปลีกย่อยของศาสนาเป็นที่ตั้งจนปฏิเสธหรือฟันธงอีกฝ่ายว่าผิดพลาดหรือไม่ตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺมิใช่วิสัยของผู้เขียนอยู่แล้ว  หากผู้เขียนไม่วิภาษ  ผู้เขียนก็สามารถกระทำได้  และไม่เปลืองตัวอีกด้วยแต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า  ผู้ไม่พูดความจริงหรือนิ่งเงียบอมพะนำจากการพูดความจริงก็เปรียบเสมือนชัยฏอนใบ้นั่นเอง

 

والله ولي التوفيق
والسلام عليكم و رحمةالله وبركاته
อาลี  เสือสมิง