มูซาอิบนุชากิรฺและลูกๆ (موسىبن شاكر وبنوه)

มูซา อิบนุ ชากิรฺ มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน แห่งราชวงศ์ อับบาซียะฮฺ (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ในมหานครแบกแดด เขาให้ความสนใจต่อเรื่องราวทางดาราศาสตร์ในราชสำนักของ อัลมะอฺมูน ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.814-833 และกลายเป็นโหราจารย์คนสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับอัลมะอฺมูน

 มูซา อิบนุ ชากิรฺ ได้พยายามทุ่มเทในการศึกษาดาราศาสตร์จนมีความชำนาญ และแต่งปฏิทินดวงดาวเป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงของเขาเป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้คนร่วมสมัยในศาสตร์แขนงนี้

 

 ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน ได้ส่ง มูซา อิบนุ ชากิรฺ พร้อมด้วยคณะไปยังทะเลทราย ซินญารฺ ของอิรัก เพื่อวัดระยะทาง ซึ่งตรงกับเส้นแวง (Longitude) ซึ่งเพียงพอสำหรับการวัดรูปร่างและเนื้อที่ของโลกตามวิชา geodesy เมื่อถูกคำนวณด้วยจำนวน 360  หลังจากทำการการคำนวณอย่างยาวนานและละเอียดลออ คณะของ มูซา อิบนุ ชากิร ก็ได้ผลการคำนวณระยะทางเท่ากับ 2/663 ไมล์อาหรับ (1ไมล์อาหรับ=1973.2 เมตร) ผลการคำนวณนี้ เท่ากับ 47,356 กิโลเมตร สำหรับเส้นทรอปิค (tropic) คือ เส้นขวางห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลก 23 องศา 27 ลิปดา – ซึ่งผลการคำนวณนี้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่ว่า เส้นทรอปิคของโลกจริงเท่ากับ 40,000 กิโลเมตรโดยประมาณ

 

มูซา อิบนุ ชากิรฺ ได้เสียชีวิตเมื่ออายุยังไม่มาก และลูกชายทั้ง 3 คน คือ มุฮำมัด, อะฮฺมัด และฮะซัน ยังคงเป็นเด็กที่เยาว์วัย ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน จึงได้ทรงอุปถัมภ์เลี้ยงดูพวกเขาเป็นอย่างดี และให้การศึกษาแก่ทั้ง 3 คน จนกระทั่งลูกชายคนโต คือ มุฮำมัด กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง และแทนที่บิดาของตนในการถวายงานแก่ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน จริงๆ แล้ว มุฮำมัด อิบนุ มูซา อิบนิ ชากิร มิใช่นักการปกครองเพียงเท่านั้น หากแต่ว่าเขายังเป็นนักคณิตศาสตร์ระดับแนวหน้าและให้ความสนใจในด้านอุตุนิยมวิทยาและการประดิษฐ์ทางกลศาสตร์อีกด้วย

 

ในตอนเริ่มแรก ลูกๆ ของ มูซา อิบนุ ชากิร ได้ให้ความสนใจในการแปลตำราทางด้านดาราศาสตร์, กลศาสตร์ และคณิตศาสตร์ จากภาษาต่างๆ เป็นภาษาอาหรับ จนกระทั่ง ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน ได้แต่งตั้งให้พวกเขาดูแลรับผิดชอบกองแปลตำราของราชบัณฑิตยสถาน (บัยตุ้ลฮิกมะฮฺ) ลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ได้คัดเลือกนักแปลและสาขาวิชาที่จำเป็นต้องแปล ส่วนหนึ่งจากนักแปลผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกคัดเลือก ฮะบีบ อิบนุ อิสฮาก และ ซาบิต อิบนุ กุรเราะฮฺ เป็นต้น

 

พวกเขายังได้ทุ่มเทในการเสาะหาเอกสารข้อเขียนทางวิชาการเพื่อทำการแปล ด้วยเหตุนี้ มุฮำมัด อิบนุ มูซา จึงได้เดินทางไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเสาะหาและรวบรวมเอกสารข้อเขียนในทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะตำราในภาควิชากลศาสตร์, ดาราศาสตร์, ปรัชญา, การแพทย์, และเภสัชศาสตร์

 

ลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ได้สร้างหอดูดาวขึ้นในบ้านของพวกเขา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขต อัรร่อซอฟะฮฺ ในมหานครแบกแดด หอดูดาวแห่งนี้มีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ขนาดใหญ่มหึมาที่หมุนได้ด้วยพลังแรงดันน้ำ พวกเขาได้บรรลุผลลัพธ์อย่างน่าทึ่งจนกลายเป็นข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญในภาควิชาดาราศาสตร์ พวกเขายังให้ความสนใจต่อวิชากลศาสตร์ (Mechanics) และค้นคว้าในเรื่องกลไกและการประกอบเครื่องจักร พร้อมกับแต่งตำรากลศาสตร์ ซึ่งรวบรวมแบบของเครื่องจักรมากกว่าร้อยชนิด ถือกันว่าตำราเล่มนี้เป็นตำราเล่มแรกที่ค้นคว้าวิจัยในเรื่องการประกอบเครื่องจักรกล

 

ลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ถือว่า ธาราศาสตร์ (Hydraulics) เป็นส่วนหนึ่งของภาควิชากลศาสตร์ (Mechanics) ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงพบว่าพวกเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยในการส่งน้ำขึ้นสู่ที่สูง เช่น หออะซาน, หอประภาคาร, ป้อมปราการ และดาดฟ้าของบ้านพักอาศัย เป็นต้น ในส่วนของอะฮฺมัด อิบนุ ชากิร ได้ประดิษฐ์เครื่องมือทางการเกษตรที่จะส่งเสียงดังออกมาแบบออโตเมติกเมื่อน้ำที่ถูกส่งเข้าสระกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรถึงระดับที่กำหนดเอาไว้ การเกษตรกรรมในยุคนั้น จึงเจริญรุดหน้าเป็นอันมาก พวกเขายังได้ศึกษาเรื่องจุดรวมน้ำหนักหรือศูนย์ถ่วง (center of gravity) วิชานี้จะเกี่ยวกับวิธีการหาผลลัพธ์ของน้ำหนักของวัตถุที่ถูกแบกและพวกเขายังได้เขียนงานวิจัยเป็นอันมากในเรื่องนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกเขามีความชำนาญการอย่างยาวนานในภาควิชานี้

 

ลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ได้ค้นพบวิธีการใหม่สำหรับการวาดรูปทรงวงรี (รูปไข่) Elliptical โดยฝังเข็ม 2 อัน ในจุด 2 จุด และเอาเส้นด้ายที่ยาวกว่าระยะจุด 2 จุด เป็น 2 เท่า แล้วผูกปลายเส้นด้ายทั้งสองเป็นปม แล้ววางเส้นด้ายรอบเข็ม 2 อันนั้น และสอดดินสอเข้าไปในเส้นด้าย ขณะที่หมุนดินสอเป็นวงก็จะเกิดเป็นรูปทรงวงรี (รูปไข่) ออกมา เรียกจุด 2 จุดนี้ว่า “จุดรวมทั้งสองหรือโฟกัส (focus, focal point) 2 จุดของรูปวงรี”

 

จริงๆ แล้ว มูซา อิบนุ ชากิร ได้ทำให้บ้านของตนเป็นมหาวิทยาลัย และลูกๆ ของเขาก็คือ นักศึกษาผู้ปราชญ์เปรื่อง เราจึงพบว่า มุฮำมัด ลูกชายคนโต ได้รับชื่อเสียงเป็นอันมากในสาขาการเมืองการปกครอง, วิชาดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, ปรัชญาและการแพทย์ รวมถึงการมีส่วนร่วมของเขาในภาควิชากลศาสตร์ เขาเป็นที่รู้จักกันในนาม “ฮะกีม (ปราชญ์) แห่งตระกูลมูซา” ในขณะที่ อะฮฺมัด ซึ่งเป็นลูกชายคนกลางให้ความสนใจในการสร้างผลงานเชิงวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเครื่องไม้เครื่องมือจักรกลส่วนอัลฮะซัน เขากลายเป็นผู้นำแห่งยุค ในภาควิชาเรขาคณิต และสามารถไขปัญหาที่ซับซ้อนให้กับผู้คนร่วมสมัย จนกระทั่งเป็นที่โปรดปรานของค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน

 

กล่าวโดยสรุป ลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ได้ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิเช่น ทฤษฎีการสร้างน้ำพุ,นาฬิกาทองเหลือง และเครื่องมือจักรกล ซึ่งถูกใช้ในวิชาดาราศาสตร์, เครื่องเล่นของเด็กและอุปกรณ์ภายในบ้าน การประดิษฐ์คิดค้นของลูกๆ ของมูซา อิบนุ ชากิร ได้มอบความคิดใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆ ที่ว่า นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้เผยแพร่ความคิดที่หลอกลวงและเป็นเท็จ นั่นคือ การอ้างว่าชาวอาหรับ-มุสลิม ให้ความสนใจเป็นการเฉพาะกับภาควิชามนุษยศาสตร์ (humanities) โดยละเลยภาควิชาเกี่ยวกับทฤษฎี (theoretically) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied science) ผลงานของตระกูลมูซา อิบนุ ชากิร ที่ได้นำเสนอเอาไว้นั้น ได้หักล้างคำกล่าวอ้างนั้นโดยสิ้นเชิง