อบุลมันซูรอัลมุวัฟฟัก (أبومنصورالموفق)

อบูมันซูร อัลมุวัฟฟัก อิบนุ อะลี อัลฮิรอวีย์ อัลฟาริซี่ย์ เราไม่ทราบเวลาที่แน่นอนว่าบุคคลผู้นี้เกิดและเสียชีวิตเมื่อใด แต่มีหลักฐานยืนยันว่า อบูมันซูร อยู่ร่วมสมัยกับ อะมีร อิบนุ นุวฮฺ อัซซามานีย์ ซึ่งมีอำนาจอยู่ในราวปี ฮ.ศ.350-365 อบูมันซูรมีชื่อเสียงโด่งดังในภาควิชาเคมี ตำราเล่มหนึ่งที่เขาได้เขียนไว้มีชื่อว่า “อัลอับนิยะฮฺ ฟี ฮะกออิกิล อัดวียะฮฺ” ถือเป็นตำราอ้างอิงในภาควิชาเภสัชกรรมและการปรุงยาตลอดระยะเวลาอันยาวนานทั่วโลก

 

อบูมันซูร ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การคิดค้นสารเคมีที่ใช้ในการประสานกระดูกหรือสารเคมีที่ใช้ในการย้อมผม เป็นต้น

 

ในส่วนของสารเคมีที่ใช้ในการประสานกระดูกนั้น อบูมันซูรได้ทำการทดลองอย่างง่ายๆ ด้วยการนำเอายิปซั่ม (Gypsum) จำนวนหนึ่งและใช้ความร้อนกับยิปซั่มจนกลายสภาพเป็นปูนขาว (lime) หรือหินปูนแล้วเติมไข่ขาว หรือธาตุไข่ขาวที่มีอยู่ในพืชและสัตว์ (albumin) เข้าไปยังปูนขาว ก็จะได้สารเกาะยึดที่มีความเหนียวและแข็งแรงซึ่งมีประโยชน์ในการประสานกระดูกที่แตก

 

ส่วนการย้อมผมนั้น อบูมันซูร ได้เอาทองแดง (copper) เพียงเล็กน้อยผึ่งลม เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีและได้ออกไซด์ของทองแดง ซึ่งมีสีเขียว ต่อมาก็ใช้ความร้อนสูงกับออกไซด์ของทองแดง มันก็จะแปรสภาพเป็นสารสีดำซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการย้อมผมให้มีความดำขลับและเงางาม อบูมันซูร อัลมุวัฟฟัก ยังได้ศึกษาอย่างจริงจังถึงส่วนประกอบของทองแดงและตะกั่ว และเขาก็พบว่าทั้งทองแดงและตะกั่วนั้นมีสภาพเป็นพิษ เหตุที่เขาให้ความสนใจในการศึกษาส่วนประกอบของธาตุทั้งสองนี้เป็นเพราะ เป็นธาตุหรือสารที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสะสมปริมาณของสารพิษในร่างกายและจะเป็นอันตรายในที่สุด

 

อบูมันซูร อัลมุวัฟฟัก ได้ศึกษาค้นคว้าถึงความใกล้เคียงของคุณสมบัติเฉพาะของสารปรอท เพราะมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง และเขายังมุ่งในการคิดค้นการปรุงยาด้วยการกลั่นและการระเหิด อีกทั้งยังได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่ครบถ้วนในการกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดอีกด้วย

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ข้อเขียนของอบูมันซูร ได้จุดประกายวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการคิดค้นตัวยาที่ถูกใช้กันในสมัยนั้น และเขายังมีความดีความชอบในการพัฒนาแนวทางการทดลองทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเคมีอีกด้วย

 

เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดว่า อบูมันซูรได้มุ่งความสนใจเป็นกรณีพิเศษในด้านอุตสาหกรรมเคมี เหตุนี้จึงถือได้ว่า อบูมันซูร คือ ผู้วางรากฐานของวิชาเคมีในเชิงอุตสาหกรรมหรือเคมีภัณฑ์ (Chemicals) ซึ่งในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในแวดวงการศึกษาแผนใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก

 

อบูมันซูร อัลมุวัฟฟัก เป็นผู้หนึ่งที่หลงใหลและชื่นชมต่อผู้วางรากฐานวิชาเคมีคือ ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน ซึ่งอาศัยการค้นคว้าทางเคมีด้วยการทดลอง การจดบันทึกสถิติ และการหาผลลัพธ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิสูจน์ได้จริง เหตุนี้เราจึงพบอบูมันซูรนิยมหลักการทดลองมากกว่าหลักวิชาในเชิงทฤษฎี

 

อบูมันซูรได้สร้างความฉงนแก่นักวิชาการสมัยใหม่เกี่ยวกับความคิดพื้นฐานในวิชาเคมีของเขาซึ่งไม่เคยมีผู้ใดคิดถึงมาก่อน อาทิเช่น เขาคือบุคคแรกที่แยกแยะระหว่างคาร์บอนของโซเดียมและคาร์บอนของโปตัสเซียม เป็นต้น

 

ในส่วนตำรา “อัลอับนิยะฮฺ ฟี ฮะกออิกิล อะดะวียะฮฺ” ของอบูมันซูรได้รวบรวมตัวยาเอาไว้มากถึง 585 ชนิด แบ่งออกเป็น 466 ตัวยาที่สกัดได้จากสมุนไพร , 75 ตัวยาจากแร่ธาตุ และ 44 ตัวยาจากสัตว์ ตำราเล่มนี้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาเภสัชศาสตร์และเคมีที่สำคัญ เพราะมิเพียงแต่รวบรวมตัวยาเป็นจำนวนมากเอาไว้แต่ยังได้มีการระบุถึงวิธีการในการสกัดตัวยาและคุณสมบัติหรือสรรพคุณทางการแพทย์เอาไว้อีกด้วย