มุฮัยยุดดีน อัลมัฆริบีย์ محيي الدين المغربي

มุฮัยยุดดีน อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ อบี อัชชุกรี่ อัลมัฆริบี่ย์ อัลอันดะลูซี่ย์ ในตำรา “อัลอะอฺลาม” ของอัซซัรกะลี่ย์ ระบุว่า : เขาคือยะฮฺยา อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ อบี อัชชุกรี่ อบุลฟัตฮฺ มีฉายานามว่า “อัลฮะกีม อัลมัฆริบี่ย์” เราไม่ทราบว่าเขาถือกำเนิดเมื่อใด แต่ที่แน่ชัดก็คือ เขาเป็นพลเมืองของนครโคโดบาฮฺ (กุรฏุบะฮฺ) และเคยร่วมงานทางวิชาการกับนะซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ (ฮ.ศ. 597-672) ณ หอดูดาวของเมือง “มะรอเฆาะฮฺ” และน่าจะเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.680

 

มุฮัยยุดดีน อัลมัฆริบี่ย์ ได้ศึกษาตำรา “ชักลุ้ลกิฏออฺ” ของนะซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ และแต่งตำราเพื่ออรรถาธิบายรูปทรงทางเรขาคณิตเอาไว้โดยละเอียด เขายังได้แต่งตำราคัดย่อข้อมูลจากตำรา “อัลมาญิสฏี่ย์” ของปโตเลมีย์ และมอบฉบับคัดลอกเป็นของกำนัลแก่นะซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ ซึ่งบรรจุตำราเล่มนี้ในห้องสมุดของหอดูดาวแห่งเมือง “มะรอเฆาะฮฺ” เพื่อเป็นตำราอ้างอิงสำหรับผู้ค้นคว้าในภาควิชาดาราศาสตร์

 

ในส่วนของตำรา “ตาญุ้ล อัซฺย๊าจฺญ์ ว่า ฆ่อนียะตุ้ล มุฮฺต๊าจฺญ์” นั้น มุฮัยยุดดีน อัลมัฆริบีย์ ได้รวบรวมข้อมูลทางดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์เอาไว้อย่างเอกอุ

  

จอร์จ ซาร์ตัน ได้ระบุว่า อิบนุ อบี อัชชุกรี่ อัลมัฆริบี่ย์ เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่หลงใหลในภาควิชาเรขาคณิต เขาได้แปลตำราทางวิชาการของชาวกรีกที่ทรงคุณค่าบางเล่ม ซึ่งเป็นตำราอ้างอิงสำหรับผู้ค้นคว้าในภาควิชาวิทยาศาสตร์ทดลอง เช่น ตำราเรขาคณิตของอิกลิดุส , ตำรารูปทรงปริซึมของอพอลโลนิอุส , ตำรารูปทรงกลม ของธิออดอร์ซิอุส และตำรา มินาลาวุส ว่าด้วยรูปโลก เป็นต้น

 

มุฮัยยุดดีน อัลมัฆริบี่ย์มีความละเอียดในการคิดค้นผลงานทางวิชาการของตน เหตุนี้เขาจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการตรวจทานทฤษฎีต่างๆ ทางดาราศาสตร์ที่รับเอามาจากนักปราชญ์ชาวกรีก , อินเดียและชาวอาหรับ เขายังได้พัฒนาอุปกรณ์แอสโทรแล็บให้มีความทันสมัยมากขึ้นและแต่งตำราคู่มือเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ในด้านดาราศาสตร์อีกด้วย