แด่คุณครูที่รักและเคารพ

الحمدلله الذى علّم الا نسان مالم يعلم
وأفضل الصلاةوأتم التسليم على سيدنا محمد المبعوث معلما
ومُتَمِّمًا مكارم الأخلاق وعلى آله الطا هرين وصحابته
والتابعين لهم بايمان وإحسان من العلماءالعاملين ورثة الأنبيأ
والمرسلين أمابعد فالسلام عليكم ورحمةالله وبركاته

“ครู” คือผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ส่วน “ศิษย์” ก็คือผู้ศึกษาเล่าเรียนหรือผู้เยาว์วัยซึ่งอยู่ในความดูแลคุ้มครองของอาจารย์ และคำว่า “อาจารย์” ก็หมายถึง ผู้สั่งสอนวิชาความรู้หรือเป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง ครูกับอาจารย์จึงมีความหมายที่เหมือนกันในฐานะผู้สั่งสอนและประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์หรือนักเรียน บรมครู ก็คือ ครูผู้สั่งสอนซึ่งมีความรู้และความเป็นครูอย่างยิ่ง หรือเป็นสุดยอดของครู

 

ส่วนปรมาจารย์ ก็คือ อาจารย์ผู้เป็นเอกหรือยอดเยี่ยมในทางวิชาใดวิชาหนึ่ง และคำว่า “ศิษย์มีครู” ก็หมายถึง คนเก่งทีมีครูเก่งประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ ถึงแม้ว่า “ครู” กับ “อาจารย์” จะมีสถานภาพและภาระกิจเหมือนกัน แต่ครูตามรากศัพท์ที่มาจากคำว่า ครุ (อ่านว่า คะรุ) แปลว่า หนัก , ใหญ่ และสูง นั่นย่อมมีนัยบ่งชี้ว่า คนเป็นครูมีภาระหนัก มีความรับผิดชอบใหญ่หลวง และมีความสูงส่ง เราทุกคนที่ร่ำเรียนและมีวิชาติดตัวล้วนแล้วแต่ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียน เป็นศิษย์กันมาทุกคน

 

แต่ใช่ว่าเราทุกคนจะเป็นครู เพราะผู้เป็นครู ผู้สั่งสอนศิษย์มีความพิเศษที่ใช่ว่าใครๆ ก็เป็นได้ ยิ่งครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูด้วยแล้ว ก็ยากที่จะเป็น เพราะความเป็นครูโดยอาชีพก็อย่างหนึ่ง การมีอาชีพเป็นครูก็อย่างหนึ่ง และความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณก็อีกอย่างหนึ่ง ครูจึงมิใช่เพียงผู้ได้รับความสำเร็จในการศึกษาวิชาครุศาสตร์จากวิทยาลัยครู มิใช่เพียงผู้มีใบประกอบวิชาชีพครู และมิใช่เป็นเพียงผู้มีใบปริญญาครุศาสตร์มหาบัตฑิตหรือจบหลักสูตรบริหารการศึกษา

 

แต่ครูโดยแท้ คือ ผู้อุทิศชีวิตให้แก่ศิษย์ รักศิษย์ของตนดั่งลูกของตน เหตุนั้นจึงเรียกครูโดยแท้ว่า “พ่อครู” “แม่ครู” และเรียกศิษย์ว่า “ลูกศิษย์” เพราะครูคือ พ่อแม่คนที่สองที่มีหน้าที่อบรม สั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ยังประโยชน์ให้แก่ลูกศิษย์ มากกว่าที่จะมุ่งหวังในคำตอบแทนหรือเงินเดือนที่ได้จากการประกอบอาชีพครู เพราะความรู้ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เป็นทรัพย์อันวิเศษที่ประเมินค่าเป็นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนไม่ได้ ความรู้ที่ได้จากครู

 

โดยเฉพาะการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณตัวเลข เป็นความรู้ที่ติดตัวลูกศิษย์ตราบจนวันตาย เป็นความรู้ที่ต้องใช้ในชีวิตจริง ที่อ่านหนังสือออกเพราะครูสอน ที่เขียนได้เพราะครูสอน ที่จ่ายสตางค์และรับเงินทอนได้ถูกต้องเพราะครูสอนให้ลูกศิษย์คิดคำนวณตัวเลขเป็น ที่อ่านอัล-กุรอานได้อย่างถูกต้องเพราะเล่าเรียนมากับปากของครู ที่อาบน้ำละหมาดเป็นและปฏิบัติละหมาดได้อย่างถูกต้อง ล้วนแต่เกิดจากการสอนสั่งของครูทั้งสิ้น ครูจึงเป็นผู้มีบุญคุณใหญ่หลวง ความรู้ที่ครูถ่ายทอดให้จึงมีคุณเอนกอนันต์ ต่อให้ลูกศิษย์ร่ำเรียนสูง มีใบปริญญาทางการศึกษามากกี่ใบก็ตาม ลูกศิษย์ก็ย่อมได้ชื่อว่าใช้วิชาความรู้ที่ครูสั่งสอนไว้ให้เป็นพื้นฐานอยู่ร่ำไป

 

บุคคลที่คงแก่เรียน คือผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ผ่านครูมามาก บัณฑิตคือผู้ทรงความรู้ หรือผู้มีปัญญาหรือนักปราชญ์ก็ล้วนแต่มีครูและใช้วิชาความรู้ของครูที่ถ่ายทอดให้ในเบื้องต้นเป็นองค์ความรู้ของครูที่ถ่ายทอดให้ในเบื้องต้นเป็นองค์ความรู้หลักในการถ่ายทอดทางการศึกษา ใช่ว่าความเป็นบัณฑิตและความเป็นผู้คงแก่เรียนจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญก็หาไม่ แต่ความเป็นปราชญ์ของบุคคลเริ่มต้นจากการศึกษาเล่าเรียนสรรพวิทยาที่ครูเป็นผู้สอนสั่งและชี้แนะ ครูจึงเป็นผู้วางศิลาก้อนแรกสำหรับความเป็นปราชญ์ ความรู้ของครูที่ถ่ายทอดให้จึงเป็นดั่งศิลารากฐานที่มั่นคงและรองรับการต่อยอดของลูกศิษย์ในภายหน้า

 

ปราชญ์และบัณฑิตทุกคนจึงมีครูเป็นผู้ประสิทธิประสาทความรู้ในเบื้องปฐม หากไม่มีครูเป็นผู้สั่งสอนแล้วไซร้ ผู้นั้นก็ย่อมมิใช่ปราชญ์หรือบัณฑิตโดยแท้ จะเป็นได้ก็เพียงการอุปโลกน์ที่ยกกันขึ้นเป็นเท่านั้น ปราชญ์ศูฟียฺท่านหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ใดมิเคยมีครู ผู้นั้นมีชัยฺฏอนเป็นครู” ครูคือผู้ชี้ทางสว่างแห่งปัญญาให้แก่ศิษย์ ผู้ใดไม่เคยศึกษาเล่าเรียนวิชาจากครู ผู้นั้นก็ย่อมตกเป็นศิษย์ของชัยฺฏอนซึ่งชักนำให้ผู้นั้นหลงตามอารมณ์กิเลสและการประพฤติผิด และความรู้อันเป็นแสงสว่างทางปัญญาย่อมไม่ชี้นำแก่ผู้ประพฤติผิด

 

เมื่อบุคคลหลงตามอารมณ์กิเลสจนสุดกู่ อารมณ์กิเลสนั้นย่อมนำมาซึ่งความมืดบอดทางปัญญาและเบียดบังแสงสว่างทางปัญญานั้นให้อับแสง ในที่สุดชัยฺฏอนก็ครอบงำจิตใจและเข้าควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น เมื่อไม่มีครู ไม่มีผู้ชี้แนะและขัดเกลาสภาวะที่มีชัยฺฏอนเป็นผู้บงการ ผู้นั้นก็จะกลายเป็นศิษย์ที่มีชัยฺฏอนเป็นครู ชัยฺฏอนเป็นครูเลวมันไม่เคยรักศิษย์ ไม่มีความรู้อันใดที่มีสั่งสอนให้แก่ศิษย์ มีแต่การหลอกลวงและการทำลายความเป็นมนุษย์ของศิษย์เท่านั้น แต่ครูที่สั่งสอนผู้คนให้มีความรู้ที่ยังประโยชน์จะเป็นผู้ชี้ทางให้แก่ศิษย์ในการควบคุมอารมณ์กิเลสมิให้กำเริบเสิบสานโดยอาศัยแสงสว่างแห่งปัญญาเป็นอาวุธในการกำหราบอารมณ์กิเลสที่มักพยศเป็นเนืองนิจ

 

เมื่ออารมณ์กิเลสเชื่องลงแล้ว ชัยฺฏอนก็มิอาจอาศัยอารมณ์กิเลศนั้นเป็นพาหนะในการชักจูงให้ผู้มีปัญญาเป็นอาวุธหลงติดตามมันได้อีกโดยง่าย การมีครูเป็นสั่งสอน ดูแลเอาใจใส่และควบคุมพฤติกรรมของลูกศิษย์ ขัดเกลาและฝึกฝนให้ลูกศิษย์มีความรู้ที่แตกฉาน มีการปฏิบัติตนที่อยู่ในครรลองอันเที่ยงตรง ไม่มีความเบี่ยงเบนและการออกนอกกรอบจากระเบียบวินัยที่ครูวางไว้ให้แก่ศิษย์ นั่นถือเป็นการเอื้ออำนวยและเกื้อหนุนจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงประทานให้แก่ผู้เป็นศิษย์นั้น

 

ความไม่รู้ คือความมืดบอด เรียกความไม่รู้แจ้งว่า อวิชชา อวิญญูชนก็คือคนโง่ที่ไม่มีความรู้ส่องทาง แต่วิญญูชนคือผู้รู้แจ้ง เป็นบุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติโดยมีวิชาคือความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝนจากการสั่งสอนและถ่ายทอดของครูบาอาจารย์ คนที่ไม่ศึกษาเล่าเรียนจากครูจึงมีแต่อวิชชาครอบงำ เมื่อความรู้แจ้งทางปัญญาเกิดได้ด้วยวิชาความรู้ที่ต้องศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝน การศึกษาเล่าเรียนจึงเป็นการให้แสงสว่าง (ตันวีรฺ) แก่ปัญญาของผู้ศึกษาเล่าเรียน วิชาความรู้ที่ครูมอบให้แก่ศิษย์จึงเป็นแสงสว่าง (นู๊ร) ครูจึงได้ชื่อว่าผู้มอบแสงสว่างทางปัญญา (มุเน๊าวิรฺ) เพราะปัญญาคือความฉลาด

 

ความรู้ทั่วอันเกิดแต่เรียนและคิด หากไม่เรียนและไม่รู้จักคิด ปัญญาคือความฉลาดย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้ เพราะแต่เดิมปัญญานั้นยังไม่เกิดและไม่มีแสงสว่างในตัวของมันเอง ต่อเมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนจนมีวิชาความรู้แล้วปัญญาจึงจะเกิดขึ้นตามมา วิชาความรู้จึงเป็นดั่งเชื้อไฟที่ครูได้จุดประกายให้ลุกขึ้นในห้วงความคิดของศิษย์ และส่องสว่างครานั้นแลปัญญาจึงเกิด เหตุนั้นเราจึงเรียกปัญญาว่าความรู้แจ้ง เพราะรู้ก็คือแจ้ง เข้าใจ หรือทราบเรื่องราวนั้นๆ เป็นอย่างดี

 

แสดงว่าก่อนจะรู้นั้นมีความไม่รู้มาก่อน ก่อนจะแจ้งหรือสว่างชัด มีความมืดหรือความไม่กระจ่างชัดมาก่อน เฉกเช่นเวลากลางคืนที่มืดมัวมาก่อนเวลากลางวันที่ส่องสว่างฉันนั้นวิชาความรู้จึงเป็นแสงสว่างที่แตกออกจากความมืดของอวิชชาและทำให้ปัญญานั้นเรืองรองและมีแสงสว่างออกมา เรียกสภาวะเช่นนี้ว่า ความรู้แจ้งคือปัญญานั่นเอง เมื่อศึกษาเล่าเรียนมามากก็รู้ทั่ว เมื่อฝึกฝนมากขึ้นก็เกิดความแตกฉานและชำนิชำนาญในวิชาความรู้นั้นๆ เรียกบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ว่า “ปัญญาชน” เมื่อเป็นปัญญาชนแล้วก็ใฝ่รู้เสาะแสวงหาความรู้นั้นต่อไป จนกระทั่งมีความเป็นผู้คงแก่เรียนแล้วก็กลายเป็นปราชญ์

 

ครั้นเมื่อเป็นปราชญ์แล้วก็สั่งสมองค์ความรู้ต่อไปด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์ เมื่อกระทำมากๆ เข้าก็เกิดสภาวะที่เรียกว่า วิจารณญาณ คือการมีปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้อง ไม่มีความสงสัย สับสน เคลือบแคลงหรือลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งเรียกว่า “วิจิกิจฉา” มาเจือปนในความรู้ที่เกิดจากการใช้ปัญญานั้น ในภาควิชาตะเศาวฺวุฟเรียกบุคคลในระดับนี้ว่า “อะฮฺลุลบะศออิรฺ” คือผู้รู้แจ้งเห็นจริงถูกต้องและแม่นยำเหมือนจับวาง ความรู้ของอะฮฺลุลบะศออิรฺจึงมิใช่ความรู้ในระดับปรกติ แต่เป็นวิทยปัญญาที่เรียกว่า “อัล-หิกมะฮฺ” ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ใช่ว่าจะได้กับทุกคนไป

 

คุณลักษณะของอะฮฺลุ้ลบะศออิรฺที่มีความสูงส่งทางปัญญานั้นเป็นผลมาจากการศึกษาเล่าเรียนมาก ผ่านครูมามากคน และมีความแตกฉาน มีปฏิภานไหวพริบและความแม่นยำสูง วิเคราะห์และจำแนกแยกแยะได้อย่างลุ่มลึก ละเอียด และรัดกุม รอบรู้โดยถ้วนทั่วและเคร่งครัดในอาจริยวัตร คือกิจที่ควรประพฤติต่อครูบาอาจารย์ตามหลัก “อัล-อัคล๊าก” ที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้ซึ่งประมวลจากหลักธรรมคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอาน และจริยวัตรของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเป็นบรมครูผู้มีเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นศิษย์เอก

 

ตลอดจนวิถีปฏิบัติของเหล่าเศาะหาบะฮฺและเหล่านักปราชญ์ในยุคอัส-สะลัฟ อัศ-ศอลิหฺ ความเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้และอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาในศาสนาอิสลามถือเป็นสถานสูงส่งและประเสริฐยิ่ง เพราะเป็นสถานภาพหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่มีภาระกิจในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นการวะหิย์มาจากพระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งที่ผ่านท่านญิบรีล (อ.ล) หรือไม่ผ่านก็ตาม

 

ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการประกาศศาสนาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ท่านได้ทำหน้าที่ของ “บรมครู” อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีวะหิยฺมายังท่านได้ถูกประกาศและถ่ายทอดแก่เหล่าเศาะหาบะฮฺผู้เป็นศิษย์เอกของท่านอย่างหมดจดและบริบูรณ์

 

ความเป็นบรมครูของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงถือเป็นต้นแบบสำหรับศรัทธาชนทุกคน และเหล่าเศาะหาบะฮฺก็คือบุคคลากรผู้มีความเพรียบพร้อมที่เป็นผลสัมฤทธิ์ในการอบรมสั่งสอนและขัดเกลาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และกลายเป็นอริยบุคคลที่ดีเลิศที่สุดในประชาชาติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งได้รับการรับรองเอาไว้ทั้งในคัมภีร์อัล-กุรอาน และสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

 

เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จากโลกนี้ไปแล้ว เหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านก็สืบสานถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่อมา ที่ใดมีเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ลงพำนักอยู่ที่นั่นก็กลายเป็นจุดมุ่งหมายในการแสวงหาความรู้ของชาวสะลัฟ ศอลิหฺในรุ่นถัดมาซึ่งเรียกว่า อัต-ตาบิอูนฺ

 

เศาะหาบะฮฺหลายท่านเป็นบรมครูที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายจากทั่วทุศานุทิศ เช่น ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นต้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺก็ผ่านพ้นโลกดุนยานี้ไป บรรดาสะลัฟ ศอลิหฺในรุ่นอัตตาบิอูนก็กลายเป็นบรมครูในชั้นต่อมา มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นชาวสะลัฟศอลิหฺในรุ่นที่เรียกว่า ตาบิอุต-ตาบิอีน ซึ่งเป็นยุคที่ความรู้และสรรพวิทยาของศาสนาอิสลามเฟื่องฟูสุดขีด เป็นยุคทองของวิทยาการหลากหลายแขนงและยังคงได้รับการสืบสานสืบทอดมาโดยมิขาดสายจวบจนปัจจุบันซึ่งศาสนาอิสลามแผ่ขยายออกไปทั่วทุกมุมโลก

 

ทั้งหมดเป็นผลมาจากการถ่ายทอดวิชาความรู้ของครูบาอาจารย์ในแต่ละรุ่นแก่สานุศิษย์ที่อยู่ในแต่ละรุ่นเช่นกัน คนที่เคยเป็นศิษย์ในรุ่นหนึ่งก็กลายเป็นครูของผู้คนในรุ่นถัดมาสืบเนื่องเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ หากเราไล่ย้อนเวลากลับไปในอดีตครูของเราก็เป็นศิษย์ของครูในรุ่นก่อนเรียงลำดับเป็นรุ่นๆ ไป อาจจะยาวหลายชั่วอายุคนแต่ที่ปลายของการไล่เรียงนั้นก็ย่อมบรรจบกับผู้ทรงความรู้ไม่ท่านหนึ่งก็ท่านใดที่อยู่ในยุคของชาวสะลัฟศอลิหฺนั่นเอง ศาสนศาสตร์หลายแขนงเช่น การถ่ายทอดอัล-หะดีษ การอ่านตำราวิชาการจากปากครู ยังคงมีการลำดับสายรายงานที่เรียกว่า “สะนัด” ที่ย้อนกลับไปถึงบรรดานักปราชญ์ในยุคอดีต

 

หรือแม่แต่การ “อิญาซะฮฺ” (อนุญาต) จากครูในการถ่ายทอดตำราก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน การอ้างถึงคำพูดของครูบาอาจารย์ที่เป็นเกร็ดความรู้หรือคำอธิบายเนื้อหาของตำราตลอดจนการตอบปัญหาทางศาสนาก็ยังคงคำนึงถึงสายรายงานการถ่ายทอด (สิลฺสิละฮฺ) เช่นกัน ซึ่งมีหลักวิชาในการพิจารณาและวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้รายงานถ่ายทอดว่าเป็นบุคคลร่วมสมัยกับครูบาอาจารย์ที่เป็นต้นเรื่องของคำพูดที่ถูกอ้างนั้นหรือไม่ บุคคลผู้นั้นเป็นศิษย์อาจารย์ระหว่างกันโดยตรงหรือว่ารายงานถ่ายทอดผ่านจากครูของครูอีกชั้นหนึ่ง เป็นต้น

 

สำหรับผู้แสวงหาความรู้ทางศาสนาแล้ว การให้เกียรติยกย่องและการมีสัมมาคารวะต่อครูบาอาจารย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะความรู้ที่ครูมอบให้แก่ศิษย์เป็นสิ่งล้ำค่า วิชาความรู้ทางศาสนาก็ถือเป็นของสูงที่ครูและศิษย์ล้วนเป็นผู้รับมรดกด้วยกันทั้งสองฝ่าย และมรดกทางวิชาการนี้หากครูสงวนเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ยอมถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มรดกทางวิชาการนี้ก็จะขาดตอนและสูญไปพร้อมกับตัวครูเมื่อสิ้นชีวิตลง และนั่นถือเป็นความบกพร่องอย่างใหญ่หลวงสำหรับครูผู้นั้น

 

ในทำนองเดียวกัน หากครูไม่มีศิษย์ที่จะรับสืบทอดมรดกทางวิชาการนั้น ก็ย่อมเกิดความสูญเสียพอๆ กัน เพราะเมื่อขาดผู้สืบทอดเสียแล้ว ความรู้นั้นก็ย่อมสิ้นสุดลงและสูญหายไปในเวลาอันใกล้ การสืบสานและต่อยอดองค์ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมจึงเป็นภาระกิจร่วมกันระหว่างครูบาอาจารย์และศิษยานุศิษย์ เมื่อไม่มีครูที่รู้จริงและชำนาญในการถ่ายทอดความรู้ในศาสตร์แขนงหนึ่งแขนงใดเสียแล้ว องค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนั้นก็ย่อมตายลง และเมื่อไม่มีศิษย์ที่ใฝ่รู้และมีความพร้อมในการรับรู้สืบทอดให้ครูได้สั่งสอน ศาสตร์ที่ครูมีก็ย่อมตายลงเช่นกัน ศิษย์กับครูจึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ เฉกเช่นน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ฉันนั้น

 

ครูที่ดีคือครูที่ไม่หวงวิชา เพราะครูรู้อยู่ว่า การหวงแหนวิชาความรู้ที่ถูกต้องก็คือการที่ครูจะไม่ยอมให้วิชาความรู้นั้นตายไปกับตัว เมื่อหวงวิชาก็จำต้องสั่งสอนถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ที่ครูมองเห็นว่าศิษย์ผู้นั้นมีความพร้อมและมีความเป็นผู้สืบทอดเพื่อมิให้วิชาความรู้ที่ตนหวงแหนนั้นต้องสิ้นสุดลงในรุ่นของตน การหวงวิชาโดยไม่ยอมถ่ายทอดสั่งสอนให้แก่ผู้อื่น ถือเป็นการทรยศและเนรคุณต่อบรรดาบูรพาจารย์ในอดีต เพราะความรู้มิใช่กรรมสิทธิ์เฉพาะตนหรือเป็นทรัพย์ทางปัญญาส่วนบุคคล หากแต่ความรู้เป็นเสมือนของฝากที่บูรพาจารย์มอบให้เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 

ผู้มีความรู้จึงไม่อาจอ้างได้ว่าความรู้นั้นเป็นสิทธิเฉพาะของตนโดยเด็ดขาด เพราะมรดกทางวิชาการมีไว้เพื่อสืบทอดและส่งต่อ มิได้มีไว้เพื่อเป็นสมบัติส่วนตัวแต่อย่างใด ความรู้เปรียบเสมือนแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่ผู้กระหายน้ำย่อมมีสิทธิในการดื่มกินน้ำจากแหล่งนั้นเพื่อดับกระหายและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ใดที่มาทีหลังและเข้าถึงแหล่งน้ำนั้นย่อมไม่มีสิทธิในการอ้างความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำนั้นเอาไว้เฉพาะตนแล้วหวงห้ามผู้อื่นมิให้เอาประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้น เพราะนั่นคือการอธรรมต่อผู้อื่นโดยแท้

 

เมื่อความรู้เปรียบเสมือนแหล่งน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ถูกใช้ร่วมกัน ผู้มีความรู้จึงไม่มีสิทธิในการกีดกั้นหรือปิดกั้นการเอาประโยชน์จากอานิสงส์ของแหล่งความรู้นั้น ความรู้จึงเป็นของกลางที่ต้องแบ่งปันและเผื่อแผ่ รับมาแล้วก็ให้ไป เป็นเช่นนี้ในวัฏจักรของมัน การปกปิดความรู้ที่จำเป็นต้องถ่ายทอดและเผยแผ่สำหรับครูหรือผู้รู้ทางศาสนาถือเป็นมหันต์โทษ เพราะครูหรือผู้รู้ทางศาสนามีภาระกิจต้องเผยแผ่ความรู้แก่ลูกศิษย์และศาสนิกชนทั่วไป

 

การปกปิดความรู้ที่จำเป็นต้องเผยแผ่จึงเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อภาระกิจที่ครูหรือผู้รู้ทางศาสนาได้รับการมอบหมายมาจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ผู้ใดปกปิดความรู้ที่ต้องเผยแผ่ ผู้นั้นย่อมถูกลงทัณฑ์ด้วยการถูกสนตะพายจากไฟนรก (วัล-อิยาซุบิลลาฮฺ) ดังที่ปรากฏในอัล-หะดีษ

 

เมื่อการปกปิดความรู้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักการของศาสนา การแอบอ้างว่ามีความรู้และอุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นผู้รู้ก็ถือเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน และดูเหมือนว่าผลร้ายของกรณีแอบอ้างและอุปโลกน์ในเรื่องนี้จะรุนแรงและเสียหายมากกว่ากรณีของการปกปิดความรู้ด้วยซ้ำไป เพราะนอกจากผู้แอบอ้างและอุปโลกน์จะสำคัญตนผิดแล้ว ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลายเป็นผู้รับเอาสิ่งที่ผิดพลาดและมิใช่ความรู้ที่แท้จริงนำไปปฏิบัติอีกด้วย ผู้ไม่มีความรู้ย่อมมิอาจมอบสิ่งใดแก่ผู้อื่นได้นอกจากความไม่รู้เท่านั้น และความไม่รู้ก็เป็นคนละเรื่องกับความรู้

 

เหตุนี้จรรยาบรรณของผู้รู้ประการหนึ่งก็คือการถ่ายทอดบอกกล่าวเฉพาะสิ่งที่ตนรู้เท่านั้น สิ่งใดที่ผู้รู้ไม่มีความรู้ในสิ่งนั้นผู้รู้ก็จะบอกกล่าวว่าตนไม่รู้ และการยอมรับว่าตนไม่รู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ถือเป็นความกล้าหาญทางศีลธรรมสำหรับผู้รู้จริง ส่วนการกล่าวอ้างว่าตนรู้ในสิ่งนั้นๆ ทั้งๆ ที่ตนไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น นั่นเป็นการมุสาและเป็นการหลอกลวง ทั้งหลอกตัวเองและหลอกผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน และบุคคลที่ไม่มีความรู้แล้วอุปโลกน์ตัวเองว่ามีความรู้นั้นก็คือผู้ที่มีชัยฺฏอนเป็นครูนั่นเอง หรืออาจะกล่าวได้ว่าบุคคลในทำนองนี้คือชัยฺฏอนในคราบของผู้รู้นั่นเอง

 

สำหรับผู้เป็นศิษย์มีครูนั้น ความรู้และวิชาการที่ครูของตนได้สั่งสอนและถ่ายทอดไว้ให้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เป็นศิษย์จำต้องยกย่องและให้เกียรติทั้งในส่วนของตัวครูและวิชาของครูที่มอบให้ หากศิษย์คนใดศึกษาเรียนรู้วิชาจากครูแล้วกำเริบเสิบสานคิดล้างครู วิชาความรู้ที่ศิษย์ผู้นั้นมีก็จะกลายเป็น “อัปมงคล” คือขาดบะเราะกะฮฺอันเป็นความจำเริญงอกงามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ผู้มีความรู้

 

ศิษย์คนใดอกตัญญูและเนรคุณต่อครู ความรู้ที่ตนได้รับจากครูจะกลายเป็นเพียงภาพมายาที่ศิษย์นั้นหลงระเริงและเหลิงอย่างย่ามใจ แต่เมื่อผ่านไปไม่นานนักความรู้ที่ตนมีอยู่ก็จะกลายเป็นไฟแห่งความทุกข์ที่เผาผลาญปัญญาของผู้นั้นจนมอดไหม้ในที่สุด คนอกตัญญูและเนรคุณอาจจะได้ดิบได้ดีก็เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่บั้นปลายชีวิตก็จะต้องได้รับผลอันทุกข์ระทมอยู่ดี

 

เมื่อความรู้ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เป็นสิ่งมีค่าถึงแม้ว่าจะมีน้อยนิด แต่ค่าของความรู้ก็มหาศาลเกินกว่าที่ศิษย์จะทดแทนบุญคุณครูได้อย่างหมดสิ้น การดูแคลนสิ่งมีค่าเฉกเช่นความรู้ที่ครูมอบให้ก็คือการดูแคลนเกียรติของครูผู้มีพระคุณ ศิษย์ที่กระทำพฤติกรรมเช่นนั้นก็คือผู้อกตัญญูและเนรคุณ ผู้ใดเนรคุณครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ผู้นั้นย่อมขาดแคลนความจำเริญ และแพ้ภัยตัวเองในที่สุด

 

เมื่อวิชาความรู้เป็นของกลาง เป็นสาธารณประโยชน์ การปิดกั้นหรือตีกรอบความรู้เอาไว้เฉพาะครูของตน โดยถือว่าครูของตนเป็นเลิศในความรู้แต่เพียงผู้เดียว ความรู้ที่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ครูของตนมีอยู่ไม่มีค่าในการแสวงหาและเป็นที่ยอมรับ การมีทัศนคติและมุมมองเช่นนี้ย่อมถือเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะความรู้มิใช่กรรมสิทธิเฉพาะบุคคล และบุคคลเพียงคนเดียวก็ใช่ว่าจะรู้ไปเสียทุกอย่าง การผูกขาดและมีความเชื่อว่าครูของตนรู้ทุกสรรพศาสตร์ทุกแขนงเป็นการสำคัญผิด ซ้ำร้ายยังเป็นการดูแคลนความรู้ที่เป็นสาธารณประโยชน์นั้นอีกด้วย เพราะความรู้เป็นมรดกที่ถูกแบ่งสรรและกระจายไปในหมู่ผู้รู้ที่มีมากกว่าหนึ่งคน

 

ครูบางคนอาจจะชำนาญและช่ำชองในศาสตร์แขนงหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งแขนง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นพหูสูตรไปเสียทุกวิชา เหตุนี้ผู้จะเป็นปราชญ์จึงเป็นผู้มีครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้มากมายนับสิบนับร้อยคน ศาสตร์แขนงเดียวอาจจะต้องผ่านครูจำนวนมากคนในการสั่งสอนและสั่งสมจนกระทั่งเกิดภาวะของความแตกฉานและตกผลึกในศาสตร์แขนงนั้น นักปราชญ์ในยุคสะลัฟศอลิหฺที่เป็นผู้ทรงภูมิความรู้อย่างเอกอุและมีวุฒิภาวะขั้นสูงในการวิเคราะห์ตัวบททางศาสนาที่เราเรียกว่า “อิมาม มุจญ์ตะฮิด”

 

พวกท่านเหล่านั้นต่างร่ำเรียนและผ่านการเป็นศิษย์ของบรรดาครูบาอาจารย์นับร้อยนับพันคน น้อยคนนักที่จะมีครูเพียงคนเดียว หากจะกล่าวว่าไม่มีอิมาม มุจญ์ตะฮิดคนใดเลยที่ผ่านครูเพียงคนเดียวก็คงไม่ผิด การมีครูบาอาจารย์มากจึงถือเป็นคุณลักษณะอันประเสริฐ และเป็นคุณสมบัติอันวิเศษของผู้เป็นปราชญ์หรือนักวิชาการโดยแท้ และการมีครูบาอาจารย์มากคนยังถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นในการแตกสาแหรกของสังคมอุดมปัญญาที่สามารถนับญาติทางวิชาการเฉกเช่นการนับสายสกุลและความเป็นญาติกาทางสายโลหิตอีกด้วย

 

หากในความเกี่ยวพันทางเครือญาติและการสืบสายโลหิตมีการนับลำดับสายตระกูลในระหว่างกัน การนับเนื่องในสายสัมพันธ์ของการเป็นศิษย์และความเป็นครูก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน เมื่อครูของศิษย์เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้มาจากครูบาอาจารย์ในรุ่นก่อน ศิษย์ของครูผู้นั้นก็ย่อมถือเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์เหล่านั้นด้วยโดยปริยาย

 

ยกตัวอย่างเช่นครูของกระผมคือ อาจารย์ทวี เด็ดดวง เคยเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์อิสมาแอล โพธิ์กระเจน (ครูเขียวหวาน) เราะหิมะฮุลลอฮฺ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้กระผมต้องเคารพยกย่องและนับถือท่านอาจารย์อิสมาแอล โพธิ์กระเจน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ไปด้วย เพราะท่านเป็นครูของอาจารย์ทวี เด็ดดวง ซึ่งเป็นครูของกระผม

 

ครูของกระผมอีกท่านหนึ่งคือ คุณครูกอเซ็ม นาคนาวา เราะหิมะฮุลลอฮฺ ท่านเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์อาบิดีน วิทยานนท์ (หลอแหล) เราะหิมะฮุลลอฮฺ ผมก็จำต้องให้ความเคารพยกย่องในคุณูปการของท่านอาจารย์อาบิดีน เราะหิมะฮุลลลอฮฺ เป็นธรรมดา เพราะครูของผมเป็นลูกศิษย์ของท่านอีกทีหนึ่ง

 

ตัวผมเคยเป็นศิษย์อิสลามศรีอยุธยา มูลนิธิ ตำบลคลองตะเคียน จ.อยุธยา ครูบาอาจารย์ของผมที่อาวุโสส่วนใหญ่เคยเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มูซา ฮานาฟี เราะหิมะฮุลลอฮฺ (ครูมูซอ) ผมก็ต้องรำลึกถึงความดีและให้การเคารพ ยกย่องท่านอาจารย์มูซา ฮานาฟี เราะหิมะฮุลลอฮฺ โดยดุษฎีเช่นกัน ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงของท่านก็ตาม

 

ต่อมาเมื่อผมเป็นศิษย์ของอิสลามบูรณศาสน์ คลอง10 ที่เขตหนองจอก และร่ำเรียนกับท่านอาจารย์อบูนาอีม กาเซ็ม เราะหิมะฮุลลอฮฺ และบรรดาคณาจารย์อีกหลายท่านที่สถาบันแห่งนั้น ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความเป็นศิษย์และครู ผู้ที่เป็นศิษย์ของผมที่โรงเรียนมัจลิซุดดินีก็จำต้องให้ความเคารพยกย่องต่อท่านเหล่านั้นที่เป็นครูของผมเช่นกัน ถึงแม้ว่าศิษย์ของมัจลิซุดดินีจะไม่ได้เป็นศิษย์ของอิสลามบูรณศาสน์ คลองสิบ โดยตรงก็ตาม

 

แต่ด้วยสายสัมพันธ์แห่งวิชาความรู้ที่มีการถ่ายทอดผ่านมาทางครู ศิษย์ก็จำต้องยอมรับและให้เกียรติยกย่องบุคคลผู้เป็นครูในสาแหรกของวิชาความรู้นั้นด้วย เพราะหากว่าศิษย์ยึดมั่นถือมั่นในตัวครูของตนเพียงผู้เดียวแล้วดูแคลน จาบจ้วงผู้เป็นครูของครูตนในสาแหรกแห่งการถ่ายทอดวิชาความรู้ ก็ย่อมเท่ากับว่าศิษย์ผู้นั้นดูแคลนและจาบจ้วงครูของตนนั่นเอง

 

นี่ยังไม่นับรวมสายสัมพันธ์ของการเป็นศิษย์รุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์ร่วมสถาบัน และเหล่าผู้เป็นมิตรสหายของครูบาอาจารย์ของเราที่อยู่ต่างสถาบันหรือสอนลูกศิษย์ในต่างสำนักซึ่งถือเป็นสายสัมพันธ์ที่จำต้องให้เกียรติและเคารพยกย่องกัน เฉกเช่นที่ผู้เป็นมิตรสหายของบุพการีของเราที่จำต้องให้เกียรติและเคารพยกย่อง และปฏิบัติกับท่านเหล่านั้นโดยดีเช่นกัน ลองคิดดูเอาเถิด! หากเราผู้เป็นศิษย์มีครูต่างก็ยอมรับและให้ความสำคัญต่อสายสัมพันธ์ที่ว่านี้ประหนึ่งการนับญาติและไล่สาแหรกของวิชาความรู้ตามลำดับความสัมพันธ์โดยถือความเป็นพี่น้องร่วมวิชาการเป็นหลักคิดและอุดมคติระหว่างกัน

 

แวดวงของนักวิชาการและสถาบันสอนศาสนาในบ้านเราจะแผ่ขยายแวดวงออกไปมากเพียงใด และความสัมพันธ์อันดีจะเป็นไปอย่างสวยงามขนาดไหน ครูต่างสำนักต่างสถาบันเป็นมิตรสหายเป็นศิษย์ร่วมครู ศิษย์ต่างสำนักต่างสถาบันก็เป็นพี่น้องกันเพราะคณาจารย์ของตนเป็นศิษย์ร่วมครูกับคณาจารย์ของอีกสถาบันหนึ่ง หรือเป็นมิตรสหายที่มีสัมพันธ์อันดีกันมาก่อน ศิษย์ก็ย่อมต้องให้ความเคารพต่อมิตรสหายที่ครูของตนคบหาสมาคมด้วยอย่างน้อยก็โดยมารยาทที่จะต้องแสดงออกระหว่างกัน การสังกัดสถาบันจึงมิใช่ปราการที่จะมาขวางกั้นสายสัมพันธ์ที่จำต้องญาติดีกับศิษย์หรือครูต่างสถาบัน เพราะทุกคนถูกนับได้ว่าเป็นแขนงของสาแหรกที่สืบสานวิชาความรู้ร่วมกันทั้งสิ้น

 

แต่ อนิจจา! ปรากฏการณ์ในสังคมมุสลิมบ้านเราในปัจจุบันกำลังสวนทางกับอุดมคติและหลักคิดที่ว่านี้ บ่อยครั้งที่เราจะพบว่ามีนักวิชาการบางคนพยายามปลุกระดมกลุ่มชนที่เคยเป็นศิษย์เก่าร่วมสถาบันของตนให้เกิดความนิยมฝังหัวต่อครูของตน และจาบจ้วงดูแคลนผู้อื่นซึ่งมิใช่ศิษย์ร่วมสถาบัน หรือแม้กระทั่งศิษย์ร่วมสถาบันที่อาจจะเป็นรุ่นพี่ที่ร่ำเรียนกับครูของตนมาก่อนแต่รุ่นพี่เหล่านั้นมีทัศนคติในบางเรื่องที่ต่างไปจากครูของตนแล้ว ก็กล่าวหาว่าศิษย์รุ่นพี่เป็น “ลูกสัตว์” มิใช่ “ลูกศิษย์” ที่แท้จริงเหมือนตน

 

ทั้งๆ ที่ครูของตนก็ไม่เคยเรียกขานลูกสิษย์ของท่านว่าเป็น “ลูกสัตว์” เพราะท่านถือว่าทุกคนที่ร่ำเรียนความรู้จากท่านคือลูกศิษย์ลูกหา เป็นผู้สืบทอดวิชาความรู้จากท่าน มิหนำซ้ำ ศิษย์รุ่นพี่บางคนที่ถูกเรียกขานจากศิษย์รุ่นน้อง ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กับครูของตนด้วยซ้ำ ซึ่งศิษย์รุ่นพี่ที่ว่านั้นย่อมมีสายสัมพันธ์และสถานสูงกว่าศิษย์รุ่นน้องที่หาใช่เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กับครูของตนไม่ การดูแคลนและจาบจ้วงของศิษย์รุ่นน้องที่กระทำกับศิษย์รุ่นพี่ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการปรามาสครูของตนโดยไม่รู้ตัว

 

ศิษย์รุ่นน้องต่อให้สำคัญตนว่าเก่งกาจในสรรพวิชาที่ร่ำเรียนจากบรมครูมากเพียงใด ก็ย่อมไม่มีสิทธิในการตัดสินสถานภาพของศิษย์รุ่นพี่ว่าเป็นลูกสัตว์ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะศิษย์รุ่นน้องไม่ใช่ครูของศิษย์รุ่นพี่ และการมีทัศนคติหรือความเห็นของศิษย์รุ่นพี่ที่ต่างไปจากสิ่งที่ครูเคยสอนก็ย่อมไม่เพียงพอในการนำมาใช้ตัดสินว่า ศิษย์รุ่นพี่นั้นไม่เคารพครูของตน การเคารพยกย่องครูเป็นเรื่องหนึ่ง และการมีความเห็นเฉพาะบุคคลที่ต่างออกไปจากครูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ศิษย์ที่เห็นต่างจากครูเป็นเรื่องที่ปกติและมีแบบอย่างให้เห็นดาษดื่นในยุคสะลัฟ ศอลิหฺ ดังกรณีของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กับครูบาอาจารย์ของท่าน เป็นต้น แต่ความเห็นต่างระหว่างครูกับศิษย์ก็ย่อมมิใช่เหตุที่ว่า ศิษย์ผู้เห็นต่างจะต้องกลายเป็นศิษย์อกตัญญู หรือนำมาอ้างว่าศิษย์ที่เห็นต่างนั้นหมดความเป็นศิษย์ และขาดจากครูแล้ว เพราะครูมิใช่มะอฺศูมเช่นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่จะขัดมิได้

 

ที่สำคัญก็คือครูมิได้เคยกล่าวอ้างว่าทุกสิ่งที่ครูสอนเป็นวะหิยฺและห้ามมิให้ศิษย์คิดต่างออกไป คำตัดสินของศิษย์รุ่นน้องที่มีต่อศิษย์รุ่นพี่จึงเป็นการกล่าวตู่ต่อครูของตนโดยความเข้าใจในมุมกลับ ซึ่งร้ายแรงและเป็นการทำลายสิริมงคล (บะเราะกะฮฺ) ในวิชาความรู้ที่ตนรับมาจากครูโดยไม่รู้ตัวจากความเข้าใจที่ว่า การกล่าวหาศิษย์รุ่นพี่ที่มีความเห็นต่างจากครูว่าเป็นลูกสัตว์ คือการปกป้องครูของตนก็กลับกลายเป็นการกล่าวหาและทำลายเกียรติของครูไป อย่างน่าอนาถใจ! (لاحول ولا قوة إلا با لله)

 

ครูเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้และแสงสว่างทางปัญญาให้แก่ลูกศิษย์ ผู้ที่เป็นศิษย์มีครูย่อมให้เกียรติต่อบุคคลที่เป็นศิษย์มีครูเช่นกัน การลบหลู่และดูแคลนผู้ที่เป็นศิษย์มีครูถึงแม้ว่าจะเป็นคนละสถาบันหรือต่างสำนักกันย่อมมิใช่วิสัยของผู้รู้หรือปัญญาชน สำหาอะไรกับการลบหลู่ดูแคลนผู้ที่เป็นศิษย์ครูเดียวกันไม่ว่าจะเป็นศิษย์รุ่นน้องหรือรุ่นพี่ก็ตาม

 

เมื่อบุคคลที่ร่ำเรียนวิชาความรู้ทางศาสนาจนกลายเป็นผู้รู้และเป็นนักวิชาการที่สังคมมุสลิมให้การยอมรับแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องเป็นต้นแบบในการสร้างบรรยากาศที่อุดมด้วยปัญญาและความสมานฉันท์บนพื้นฐานของจริยธรรมอันสูงส่ง มิใช่กระทำตนเป็นบ่างช่างยุและสร้างความแตกแยกในสังคมมุสลิม ความรู้มีไว้สำหรับการแผยแผ่และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่ศรัทธาชน การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือการให้หลักคิดและกฏเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการแยกแยะระหว่างความถูกและความผิดในส่วนของความเชื่อและพฤติกรรม

 

ความรู้จึงมิใช่สิ่งที่จะถูกนำมาสร้างความแตกแยกและเติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งให้ลุกลามและบานปลาย หากแต่ความรู้เป็นเสมือนโอสถที่มีสรรพคุณในการบรรเทาความสุดโต่งทางความคิด และปรับสภาวะของความแตกแยกให้บรรเทาเบาบางลง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นบ่อเกิดของการสร้างความผิดเพี้ยนและความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คนที่ไม่รู้มักตั้งแง่กับสิ่งที่ตนไม่รู้ และเลยเถิดไปสู่การปฏิเสธสิ่งที่ตนไม่รู้มาก่อน หรืออาจจะเคยรู้มาก่อนในสิ่งนั้นแต่เพียงด้านเดียวหรือรู้โดยไม่ถ้วนทั่วแล้วก็ยึดติดเฉพาะในสิ่งที่ตนรู้เท่านั้น จึงไม่เปิดใจรับสิ่งที่เป็นความรู้ที่มีรายละเอียดและเนื้อหาที่มากไปกว่าสิ่งที่ตนเคยรู้

 

เมื่อปิดใจและพันธนาการปัญญาของตนด้วยการยึดตมั่นเฉพาะในสิ่งที่ตนรู้ โลกทัศน์และมุมมองจึงถูกครอบเอาไว้เป็นเหมือนกบในกะลา เมื่อมีผู้อื่นมาบอกกล่าวแก่ตนว่าโลกนั้นกว้างใหญ่กว่ากะลาที่ครอบอยู่ก็ไม่อาจทำใจยอมรับต่อข้อเท็จจริงนั้นได้ นานวันเข้าแสงสว่างที่มีอยู่น้อยนิดภายใต้กะลาที่ครอบอยู่ก็อับแสง ความมืดมนแห่งอวิชชาก็เข้ามาแทนที่จนกลืนกินความรู้ที่เคยส่องสว่างแม้เพียงเล็กน้อยนั้นในที่สุด