อัลบุคอรีย์ (اَلْبُخَارِيُّ) – มุสลิม (مُسْلِمٌ) – อัตติรมิซีย์ (اَلتِّرْمِذِيُّ) – อันนะซาอีย์ (اَلنَّسَاﺋِﻲّ ) – อิบนุ มาญะฮฺ (ابنُ مَاجَه)

อัลบุคอรีย์ (اَلْبُخَارِيُّ) (มุฮำหมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อิบรอฮีม อิบนิ อัลมุฆีเราะฮฺ  อัลบุคอรีย์) (ฮ.ศ.194-256/คศ.810-870)

ที่กำเนิด : เมืองบุคอรอ 
ที่ตั้งในปัจจุบัน  : อุซเบกิสถาน
ที่เสียชีวิต : เมืองคอรฺตังก์ (ตำบลหนึ่งในนครสะมัรฺกอนด์)

ปราชญ์ผู้ทรงภูมิแห่งอิสลาม, ผู้จดจำวจนะของท่านศาสดามุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม), เจ้าของตำรา “อัลญามิอฺ อัซซ่อเฮียะฮฺ” หรือตำรา “ซ่อฮีฮุลบุคอรีย์”, ตำรา  “อัตตารีค” และตำรา “อัฎฎุอะฟาอฺ” ว่าด้วยบรรดา  นักรายงานอัลหะดีษ

ในปีฮ.ศ.210 อัลบุคอรีย์ได้เริ่มเดินทางอันยาวไกลเพื่อเสาะแสวงหาวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยเยือนแคว้นคุรอซาน, อิรัก, อิยิปต์ และแคว้นชาม (ซีเรีย) และได้รับฟังวจนะจากเหล่าคณาจารย์ราว 1,000 คน และรวบรวมวจนะของท่านศาสดา (อัลหะดีษ) ราว 600,000 บท โดยเลือกสรรวจนะที่มีผู้รายงานเชื่อถือได้เอาไว้ในตำรา “ซ่อฮีฮฺ” 7,562 บทหรือราว 4,000 บทโดยไม่มีการกล่าวซ้ำ (อัลอะอฺลาม 6/34)

มุสลิม (مُسْلِمٌ) (มุสลิม อิบนุ อัลฮัจฺญ๊าจ อิบนิ มุสลิม อัลกุชัยฺรีย์ อันฺนัยฺซะบูรีย์) (ฮ.ศ.204 – 261 / คศ.820 – 875)

ถิ่นกำเนิด : นัยซะบูรฺ
ที่ตั้งในปัจจุบัน : อิหร่าน
ที่เสียชีวิต : ชานเมืองนัยซะบูรฺ

มุสลิมได้ออกเดินทางสู่แคว้นอัลฮิญาซฺ , อิยิปต์, ชาม (ซีเรีย) และอิรัก, ตำราที่โด่งดังที่สุดของท่าน
คือตำรา “ซ่อฮีฮฺมุสลิม” และส่วนหนึ่งจากตำราที่ท่านได้ประพันธ์เอาไว้ คือ “อัลมุสนัด อัลกะบีร” เกี่ยวกับบรรดานักรายงานอัลหะดีษ, ตำรา “อัลญามิอฺ” เรียบเรียงเป็นบทต่างๆ, ตำรา “อัลกุนา วัล อัสมาอฺ”, ตำรา “อัลอัฟร๊อด วัลวะฮฺดานฺ”, ตำรา “นามชื่อบรรดา คณาจารย์ของมาลิก, ซุฟยาน และชุอฺบะฮฺ”, ตำรา “อัลมุค็อฎร่อมีน” และตำรา “บรรดาบุตรหลานของเหล่าสาวก” เป็นต้น จำนวนวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ถูกรวบรวมไว้ในตำรา “ซ่อฮีฮฺ” ของท่าน – โดยไม่นับรวมวจนะที่ถูกกล่าวซ้ำ – มีจำนวน 3,033 บท (อัลอะอฺลาม : 7/221)

อบู ดาวูด (أَبُوْدَاوُد) (สุลัยมาน อิบนุ อัล-อัชฺอัซฺ อิบนิ อิสหากฺ อิบนิ บะชีรฺ อัลอัซฺดี้ย์ อัซซี่ญิสตานีย์) (ฮ.ศ.202-275 / คศ.817-889)

ถิ่นกำเนิด : ซี่ญิสตาน
ที่ตั้งในปัจจุบัน : อัฟกานิสถาน
สถานที่เสียชีวิต : นครอัลบัซเราะฮฺ

อิหม่ามของนักวิชาการอัลหะดีษในยุคของท่าน, เดิมมาจากเมืองซี่ญิสตาน และออกเดินทางสู่ดินแดนต่างๆ เพื่อแสวงหาความรู้ และเสียชีวิตในนครอัลบัซเราะฮฺ, เป็นเจ้าของตำรา “อัซสุนัน”  ซึ่งเป็นหนึ่งจากตำราสำคัญ 6 เล่ม โดยรวบรวมวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เอาไว้จำนวน 5,232 บทจากวจนะทั้งหมด 5 แสนบท และยังได้ประพันธ์ตำรา “อัซฺซุฮฺด์”, สาส์น “อัลบะอฺซ์”  และ “ตัซมียะตุ้ลอิควะฮฺ” เป็นต้น (อัลอะอฺลาม 3/122)

4. อัตติรมิซีย์ (اَلتِّرْمِذِيُّ)
(มุฮำมัด อิบนุ อีซา อิบนิ ซูเราะฮฺ อิบนิ มูซา อัสสะละมีย์ อัลบูฆีย์ อัตฺติรฺมิซีย์) (ฮ.ศ.209-279 / คศ.824-892)

ถิ่นกำเนิด : เมืองติรฺมิซฺ
สถานที่ตั้งในปัจจุบัน : อุซเบกิสถาน
สถานที่เสียชีวิต : ติรฺมิซฺ

เป็นหนึ่งจากบรรดาอิหม่ามของบรรดานักวิชาการอัลหะดีษ และนักท่องจำ, เคยเป็นศิษย์ของท่านอัลบุคอรีย์และเคยร่ำเรียนกับอาจารย์บางท่านของอัลบุคอรีย์, ออกเดินทางสู่แคว้นคุรอซาน, อิรัก และอัลฮิญาซฺ, ตาบอดในช่วงบั้นปลายของชีวิต, เป็นที่ร่ำลือกันในด้านความจดจำเป็นเยี่ยม, ส่วนหนึ่งจากตำราที่ท่านประพันธ์เอาไว้คือ “อัลญามิอฺ อัลกะบีร” หรือที่รู้จักกันในนาม “ซ่อฮีฮฺ อัตฺติรมิซีย์”  ซึ่งรวบรวมวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เอาไว้, ตำรา “อัชชะมาอิล อันนะบะวียะฮฺ”, ตำรา “อัตตารีค” และ “ตำราอัลอิลัล” เป็นต้น, ในตำราสุนันของท่านนั้นรวบรวมอัลหะดีษไว้เป็นจำนวน 3,956 บท (อัลอะอฺลาม 6/322)

อันนะซาอีย์ (اَلنَّسَاﺋِﻲُّ )
(อะฮฺมัด อิบนุ อะลี อิบนิ ชุอัยฺบ์ อิบนิ อะลี อิบนิ ซินานฺ อิบนิ บะฮฺร์ อิบนิ ดีน๊าร) (ฮ.ศ.215-303 / คศ.830-915)

ถิ่นกำเนิด : เมืองน่าซา
สถานที่ตั้งในปัจจุบัน
: เติร์กเมนิสตาน
สถานที่เสียชีวิต : บัยฺตุ้ลฺมักดิสฺ

เจ้าของตำรา “อัซสุนัน” , ออกเดินทางท่องดินแดนต่าง ๆ และตั้งหลักแหล่งในอิยิปต์, บรรดานักปราชญ์ในอิยิปต์  เกิดความอิจฉาต่ออันนะซาอีย์ เขาจึงออกเดินทางไปยังเมืองอัรรอมฺละฮฺ (ปาเลสไตน์), ศพของเขาถูกฝังที่  นครบัยตุ้ลมักดิส, บ้างก็กล่าวว่าเขาออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และเสียชีวิตที่นครมักกะฮฺ, ส่วนหนึ่งจากตำราของเขาคือ “อัซสุนัน อัลกุบรอ” ในวิชาอัลหะดีษ, ตำรา “อัลมุจญ์ตะบา” หรือ “อัซสุนัน อัซซุฆรอ”, ตำรา “อัฎฎุอะฟาอฺ วัล-มัตรูกูน” ว่าด้วยนักรายงานอัลหะดีษ, ตำรา “ค่อซออิซฺ อะลี” และ “มุสนัดอะลี” และ “มุสนัดมาลิก” เป็นต้น ในตำรา “อัซสุนัน” มีอัลหะดีษจำนวน 5,769 บท (อัลอะอฺลาม 6/322)

อิบนุ มาญะฮฺ (ابنُ مَاجَه)
มุฮำมัด อิบนุ ยะซีด อัรฺร็อบอี่ย์ อัลก็อซฺวัยนีย์ (ฮ.ศ.209-273 / คศ.824-887)

ถิ่นกำเนิด : เมืองก็อซฺวัยน์
สถานที่ตั้งในปัจจุบัน : อิหร่าน
สถานที่เสียชีวิต : ก็อซฺวัยน์

อิหม่ามท่านหนึ่งในสาขาวิชาอัลหะดีษ, เป็นชาวเมืองก็อซฺวัยน์ (ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเตหะราน), ออกเดินทางสู่นครอัลบัซเราะฮฺ, แบกแดด, แคว้นชาม, อิยิปต์, อัลฮิญาซฺ และเมืองอัรฺร็อยย์เพื่อเสาะแสวงหาอัลหะดีษ และประพันธ์ตำรา “สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตำรา 6 เล่มมาตรฐาน และตำรา “ตัฟซีรฺ อัลกุรอาน” และ “ตารีค ก็อซฺวัยน์” ในตำรา “สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ” รวบรวมอัลหะดีษเอาไว้จำนวน 4,341 บท (อัลอะอฺลาม 7/144)

   
หมวดสารานุกรมวิชาการ (ความรู้ทั่วไป)

นักวิชาการนามอุโฆษ

โดย…อาลี เสือสมิง