บทบาททางอารยธรรมความเจริญของอาณาจักรอิสลามในแอฟริกาตะวันตกเขตร้อน (ทรอปิกใต้)

ภาพวาดเมืองในแคว้นฟูตาโตโร (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Futa_Tooro)

ก่อนที่เราจะปิดฉากเรื่องราวของอาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่แห่งซูดานตะวันตกนั้น ถือเป็นความจำเป็นจากการบ่งชี้ถึงการสร้างความเจริญทางอารยธรรมขนานใหญ่ ซึ่งอาณาจักรเหล่านั้นได้สรรสร้างเอาไว้ อาณาจักรทุกอาณาจักรต่างก็ทุ่มเทความพยายามในการแผ่ขยายขอบเขตของศาสนาอิสลามในแอฟริกาเขตร้อนและศูนย์สูตรทางตะวันตก และได้กำหนดให้อิสลามเป็นศาสนาสำคัญของตนจากเส้นพรมแดนของทะเลทรายซะฮาร่าจรดดินแดนคองโก

 

 

อาณาจักรเหล่านี้ได้รับเอารากฐานของอารยธรรมอาหรับเคียงคู่ไปกับศาสนาอิสลามและเจริญก้าวหน้าด้วยรากฐานของอารยธรรมอาหรับหลังจากที่ปรับเปลี่ยนมันให้เข้าให้กับสภาพของการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมของแอฟริกา และได้ก่อร่างสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยจัดระเบียบแบบแผนของอาณาจักรบนพื้นฐานแห่งอิสลาม สร้างเมืองต่างๆ และจัดเตรียมกองทัพที่ดีตลอดจนนำเอาอักษรในภาษาอาหรับมาใช้เขียนภาษาพวกเขา ชาวเมืองในอาณาจักรเหล่านี้ขวนขวายในการเรียนรู้ภาษาอาหรับและศึกษาอัลกุรอ่าน และคัดลอกวิทยาการอิสลามแขนงต่างๆ  ความเจริญทางวัฒนธรรมก็เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก มีการจัดตั้งวงศึกษาการเรียนการสอนในมัสยิดต่างๆ ในหัวเมืองและหมู่บ้าน

 

 

หลักนิติศาสตร์อิสลามในดินแดนดังกล่าวมีผลและอิทธพลอย่างมาก และนับเป็นครั้งแรกที่พลเมืองซูดานตะวันตกได้รู้จักหลักนิติศาสตร์ที่มีความละเอียดอ่อนครอบคลุมและกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง ชาวแอฟริกันตะวันตกได้บ่ายหน้าเข้าศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม มีลูกหลานของพลเมืองเหล่านี้จำนวนหลายร้อยคนได้เดินทางไปยังนครมัรรอกิช, ฟาส, กอยเราะวานและกรุงไคโร เพื่อศึกษาเล่าเรียนหลักนิติศาสตร์อิสลามในนครเหล่านี้

 

 

จำนวนของนักศึกษาเหล่านี้โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรมีเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีการตั้งระเบียงเล่าเรียนสำหรับพวกเขาเป็นการเฉพาะเรียกว่า “ระเบียงแห่งฆอนะห์” (กาน่า) ผู้คนได้อุทิศทรัพย์เพื่อสนับสนุนเป็นอันมาก บรรดากษัตริย์แห่งกาน่า, มาลี และซอนฆอที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ต่างก็ซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอาคารบ้านเรือนในกรุงไคโรเพื่ออุทิศแก่ระเบียงแห่งฆอนะห์ คณาจารย์แห่งอัลอัซฮัรก็ได้เลือกอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบระเบียงศึกษาของชนแอฟริกัน โดยพยายามเลือกอาจารย์ที่เป็นชาวกาน่า เพราะมีนักศึกษาชาวกาน่าเป็นจำนวนมากได้อาศัยอยู่ในอียิปต์และกลายเป็นพลเมืองที่นั่น ส่วนบรรดานักศึกษาที่เดินทางกลับสู่มาตุภูมิของพวกเขาต่างก็ได้รับการยกย่องอย่างสูงในหมู่ของพลเมือง พวกเขาเหล่านี้ดำรงตำแหน่งตุลาการและมุฟตี (ผู้วินิจฉัยและตอบปัญหาศาสนา) เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและหลักการของศาสนาและสั่งสอนให้ผู้คนได้รู้และเข้าใจอัลกุรอ่านและพระจริยวัตรของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โรงเรียนสอนอัลกุรอ่านจึงเกิดขึ้นในทุกสถานที่ของซูดานตะวันตก

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดานักวิชาการศาสนาเหล่านี้ต่างก็เป็นผู้นำศาสนาอิสลามและมีส่วนช่วยในการทำให้ชนเผ่าใหญ่ๆ ได้เข้ารับอิสลาม เพราะเหล่าหัวหน้าเผ่าที่เป็นชนนอกศาสนาต่างก็เรียกร้องเชิญชวนบรรดานักวิชาการศาสนาไปยังดินแดนของพวกเขาเพื่อทำหน้าที่ตัดสินระหว่างชนเผ่าด้วยหลักการของศาสนา ถึงแม้ว่าชนเผ่าเหล่านี้จะมิใช่ชาวมุสลิมก็ตาม หลักการของศาสนาอันผ่อนปรนนี้ได้ทำให้จิตใจของชนเผ่าเหล่านี้เกิดความพิศวงถึงความยุติธรรมและความสูงส่งของหลักการดังกล่าว และการคำนึงถึงหลักจริยธรรม ในขณะที่บรรดานักวิชาการศาสนาได้พำนักอยู่ในดินแดนดังกล่าว พวกเขาก็ได้รับการให้เกียรติยกย่องและเกื้อหนุนในปัจจัยยังชีพอย่างกว้างขวาง สิ่งดังกล่าวได้กระตุ้นให้ชนพื้นเมืองลอกเลียนเอาอย่างมารยาทและจริยธรรมอันประเสริฐของอิสลาม และเข้ารวมเป็นพี่น้องร่วมศาสนาในที่สุด จำนวนของมุสลิมก็เพิ่มมากขึ้นในดินแดนดังกล่าว

 

 

หลักนิติศาสตร์ของอิสลามและหลักคำสอนของพื้นฐานในอิสลามได้ทำหน้าที่ดึงดูดผู้คนพลเมืองสู่อิสลามดินแดนอันกว้างใหญ่ที่เป็นหลักแหล่งของพวกเผ่าอัลมูซ่าก็ได้เข้ารับอิสลาม ซึ่งเผ่าอัลโมซ่าหรืออัลมูซ่านั้นแต่ก่อนก็คือเผ่าที่เป็นปรปักษ์ต่ออิสลามอันเนื่องจากมีสาเหตุมาจากปัญหาระหว่างเผ่าเป็นข้อสำคัญ นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันก็คือบรรดาหัวหน้าเผ่าบัมบาร่า , โจโกน , บูรญู่ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในเขตของป่าดงดิบ อันเป็นดินแดนที่รู้จักกันในเวลาต่อมา ดาโฮเม่ , ไอเวอรี่ โคสต์ (ซาฮิลุ้ล อ๊าจ) คาเมรูน และกาบอง ต่างก็เรียกร้องเชิญชวนนักวิชาการศาสนาสู่ชนเผ่าของตนและยึดถือหลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นกฎหมายของตน และในท้ายที่สุดเรื่องก็จบลงด้วยการเข้ารับอิสลาม เช่นนี้เราจึงพบว่าศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ได้เปิดเส้นทางสายต่างๆ อันเป็นเส้นทางที่ลำบากลำบนและทุรกันดารมากที่สุดในการที่จะฝ่าเข้าไปได้ แต่เดิมดินแดนในเขตของป่าดงดิบศูนย์สูตรเป็นดินแดนที่มีลักษณะเฉพาะ และยากสำหรับคนที่ไม่ใช่ชนเผ่าในพื้นที่จะฝ่าเข้าไป

 

 

และในขณะที่การล่าอาณานิคมของยุโรปได้มาถึง กองทหารฝรั่งเศส, อังกฤษ, เบลเยี่ยม และโปรตุเกสก็ได้เปิดเส้นทางเหล่านี้ที่นำไปสู่ดินแดนส่วนในของป่าดงดิบด้วยคมดาบและปืนไฟ ทั้งๆ ที่เป็นเช่นนี้ พวกล่าอาณานิคมก็มิอาจยึดครองดินแดนแห่งนี้ได้ทั้งหมด เป้าหมายของพวกจักรวรรดินิยมเหล่านี้ก็คือสร้างความหวาดกลัวแก่ชนเผ่าพื้นเมืองและขู่พวกเขาเพื่อที่จะได้นำเอาไม้ที่มีค่า แร่ทองคำ งาช้าง และอื่นๆ มามอบให้พวกรุกรานเหล่านี้โดยไม่มีราคาค่างวดใดๆ ในการแลกเปลี่ยน ตลอดจนเป็นการรุกรานที่ใช้กำลังทหารไล่ล่าจับเอาชาวซูดานผิวดำไปเป็นทาสและนำตัวพวกเขาไปขายในตลาดค้าทาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำไปขายแก่พวกนักค้าทาสชาวยุโรปซึ่งได้ตั้งศูนย์กลางต่างๆ ขึ้น ในการไล่ล่าชาวซูดานไปขายเป็นสินค้าตามชายฝั่งต่างๆ ของแอฟริกา

 

 

พวกนักค้าทาสเหล่านี้ได้ใช้วิธีการต่างๆ ที่ทารุณโหดร้ายเป็นอันมากในการไล่ล่าจับชนผิวดำ จนถึงขั้นเผาหมู่บ้านที่ชนพื้นเมืองกำลังหลับใหลในยามรุ่งอรุณเพื่อที่จะได้จับตัวคนหนุ่มสาวทีละมากๆ พวกนี้ได้ไล่ล่าชนพื้นเมืองเยี่ยงสัตว์ ฉุดกระชากลากถูพวกเขาด้วยโซ่ตรวนและโยนพวกเขาลงสู่ใต้ท้องเรืออย่างเบียดเสียดและทับถมกันโดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรมใดๆ ทาสจำนวนมากเหล่านี้ไม่สามารถรอดชีวิตไปถึงชายฝั่งของอเมริกาได้นอกจากเพียงไม่กี่สิบคน และที่นั่นพวกเขาก็ถูกขายเป็นสินค้าในตลาดค้าทาสด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วหรือแลกกับเสบียงกรัง

 

 

ความกรุณาเมตตาของศาสนาอิสลามช่างห่างไกลจากการกระทำเหล่านี้เสียเหลือเกิน ทั้งนี้เพราะอิสลามได้เข้าสู่หัวใจของผู้คนและสถิตมั่นอยู่ในหัวใจเหล่านั้นผ่านทางคำพูดที่ดีงาม และหลักการศาสนาที่เต็มไปด้วยความกรุณาและผ่อนปรนอิสลามได้เปิดอารยธรรมอันสูงส่งและรัศมีแก่ผู้คนทั้งหลายและได้กลายเป็นศาสนาประจำกลุ่มของผู้คนเหล่านี้เมื่อเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปในที่สุด

 

 

นักเดินทางคนหนึ่งได้เล่าเรื่องราวที่ยืนยันถึงสิ่งที่เราได้กล่าวถึงว่า คณะมิชชันนารี โดมินิกันได้ส่งข้าพเจ้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า บาฮู ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากชายฝั่งในแถบเทือกเขาอัลฟูตาญาลูน ข้าพเจ้าเคยเรียนหมอและเคยได้รับการฝึกฝนในการสร้างอาคารบ้านเรือนและการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อว่าข้าพเจ้าจะได้ให้บริการแก่ผู้คนที่นั่น และจะได้ดึงดูดพวกเขาสู่คาทอลิก ในครั้งนี้มีผู้ช่วย 6 คนร่วมเดินทางไปกับข้าพเจ้าด้วย พร้อมทั้งมีเงินจำนวนหนึ่งสำหรับสร้างโบสถ์ โรงพยาบาลและโรงเรียน พวกเราทำงานที่นั่น 3 ปี ด้วยกัน ในที่สุดคณะของพวกเราก็ได้สร้างโบสถ์ โรงพยาบาลและโรงเรียนแล้วเสร็จ และในระหว่างที่พวกเราปฏิบัติหน้าที่นั้น ได้มีนักวิชาการศาสนาชาวมุสลิมจากนครติมบักตู ชื่อว่า ฮัจยี อับสลาม (อับดุสสลาม) ได้ลงพำนักในหมู่บ้านและเริ่มเผยแผ่เรียกร้องผู้คนสู่อิสลามและทำหน้าที่ตัดสินคดีความระหว่างผู้คนภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านและเขตรอบๆ ก็ได้เข้ารับอิสลามด้วยการทำหน้าที่ของนักวิชาการศาสนาคนนั้นเพียงคนเดียว

 

 

ผู้คนก็บ่ายหน้าจากพวกเราและไม่สนใจโบสถ์ โรงเรียน และโรงพยาบาลที่พวกเราสร้าง เราก็พบว่าพวกเราไม่มีภารกิจอันใดที่จะต้องปฏิบัติเลย เราจึงได้เขียนจดหมายไปยังผู้นำคณะมิชชันนารีของพวกเราในเมืองบูดรู ดังนั้นคณะมิชชันนารีจึงได้ส่งบาทหลวงท่านหนึ่งมาเพื่อรับทราบสถานการณ์ บาทหลวงได้อยู่กับพวกเราเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นท่านก็กล่าวกับพวกเราว่า โอ้ลูกๆ เอ๋ย พ่อไม่คิดว่าพวกเราจะมีอนาคตอันใด ณ ที่นี่ พวกเธอจงปล่อยๆ ทุกสิ่งให้เป็นเรื่องของผู้คนที่นี่เถิด และจงไปจากพวกเขา นักการศาสนาคนนั้นเพียงคนเดียวได้ชนะพวกเธอทั้งหมดแล้ว (เรื่องนี้ ชารีย์ มอนเต้ ได้เล่าไว้และนักบูรพาคดีวินเซนต์ มอนเต้ ผู้เป็นบุตรชายได้ถ่ายทอดไว้ในบทความที่เขาเขียนขึ้นเกี่ยวกับกรณีศึกษาถึงอิสลามในแอฟริกาเขตร้อน)

 

 

เช่นนี้เองในระหว่างที่บรรดากษัตริย์ต่างก็ทำการรบพุ่ง บรรดานักวิชาการศาสนาก็ปฏิบัติหน้าที่ในบรรดามัสยิด บรรดาครูสอนอัลกุรอ่านก็ทำหน้าที่สั่งสอนในโรงเรียนสอนอัลกุรอ่านและที่ใต้ต้นไม้  ผู้คนเป็นจำนวนมากจากมอรอคโค, เอ็นดาลูเซีย และอียิปต์ก็อพยพสู่ดินแดนของซูดานโดยนำพาศาสตร์แขนงต่างๆ อาชีพหลากสาขาไปกับพวกเขา ชาวแอฟริกามีความนำหน้าในบางวิชาการและศาสตร์บางแขนง ดังเช่นในวิชาการแพทย์และการผ่าตัด เป็นต้น ได้มีชาวอัลมาดันญีย์กาน่า ซอนฆอ และอัลฟูล่าเป็นจำนวนมากมีความชำนาญในวิชาการเหล่านี้ ท่านอะห์หมัด บาบา อัตติมบักตีย์ได้กล่าวระบุรายชื่อของแพทย์จากชนเผ่าเหล่านี้เป็นจำนวนมากเอาไว้ในหนังสือ “นัยลุ้ล อิบติฮาจ บิ้ ตัจริซ อัดดีบ๊าจ” ท่านกล่าวว่า บรรดาแพทย์เหล่านี้มีความชำนาญเป็นพิเศษในด้านการผ่าตัด และในนครติมบักตูนั้นมีลูกหลานชาวซูดานได้ทำการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จหลายต่อหลายครั้งในการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกและผ่าตัดถุงน้ำตา อันเป็นการผ่าตัดแบบกาตารอกาต้า บรรดานักสถาปัตย์ก็ได้สร้างมัสยิดอันงดงามอ่อนช้อยขึ้นหลายแห่งในนครหลวงของซูดานต่างๆ

 

 

ส่วนทางการค้านั้นก็ยังคงรุ่งเรืองโดยตลอด และพ่อค้าชาวซูดานก็กลายเป็นหนึ่งจากพ่อค้าในโลกอิสลามที่ชำนาญการและมั่งคั่งที่สุด เส้นทางการค้าสายต่างๆ ก็เจริญตลอดจนเส้นทางการเดินทางสู่นครมักกะห์ด้วยกองคาราวานและพาหนะก็คราครั่งตลอดทั้งปี และย่อมไม่เป็นการถูกต้องเลยที่กล่าวกันว่า ชาวยุโรปได้สร้างความเจริญแก่แอฟริกา เพราะข้อเท็จจริงก็คือว่า ชาวอาหรับและชาวมุสลิมโดยรวมต่างหากคือบรรดาผู้ที่นำให้แอฟริกาในเขตร้อนและเขตศูนย์สูตรออกจากความหลับไหลตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ และนำเอาดินแดนเหล่านี้เข้าสู่ปูมประวัติศาสตร์ ในขณะที่พวกยุโรปมาถึงดินแดนแห่งนี้นั้นพวกเขาไม่พบสิ่งใดสำหรับพวกเขาเลย นอกจากทำลายล้างอารยธรรมที่พวกเขาพบเจอที่นั่น ซึ่งเราจะกล่าวถึงรายละเอียดของสิ่งดังกล่าวในช่วงที่เราได้พูดถึงโลกอิสลาม และการล่าอาณานิคมจากพวกจักรวรรดินิยมยุโรป

 

ช่วงเวลาแห่งความเสื่อมทราม

หลังการทำลายอาณาจักรซอนฆอลงอย่างราบคาบ แอฟริกาเขตร้อนทางตะวันตกก็กลับสู่ยุคมิคสัญญีที่เคยเป็นมาอีกครั้ง ดินแดนต่างๆก็แบ่งออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยและชนเผ่าเล็กๆอีกครั้ง อย่างไรก็ตามโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของรัฐเล็กๆเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงแบบอิสลามแต่ทว่าการรบพุ่งและการพิพาทระหว่างเผ่าที่กลับมาอีกครั้งได้ทำให้การแผ่ขยายของอิสลามระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นรากฐานของอาณาจักรซูดานทั้งสามอาณาจักรได้แพร่ขยายช้าลง แต่ทั้งๆที่มีสภาพเช่นนี้ศาสนาอิสลามก็คงแพร่หลายอย่างช้าๆด้วยน้ำมือของบรรดาเจ้าชายไร้บัลลังก์บางคนและเหล่าหัวหน้าเผ่า ตลอดจนรวมถึงนักเผยแผ่จากชาวซูฟีและพ่อค้า ซึ่งพวกนี้มิเคยรั้งรอจากการนำพาธงชัยแห่งอิสลามและเดินไปข้างหน้าพร้อมกับธงชัยนั้น ด้วยเหตุนี้รัฐอิสลามเล็กๆจึงได้ปรากฏขึ้นอีกและทำหน้าที่ได้อย่างน่าพอใจในการเผยแผ่อิสลาม

 

 

อาณาจักรเล็กๆเหล่านี้ที่สำคัญที่สุด ก็เห็นจะเป็นอาณาจักร 2 แห่งด้วยกันที่พวกอัลบัมบาร่า ได้สถาปนาขึ้นเหนือดินแดนสองฟากฝั่งของแม่น้ำไนเจอร์ หลังการล่มสลายของอาณาจักรซอนฆอในปี ค.ศ.1591 พวกชนเผ่าอัลบัมบาร่าเป็นกลุ่มเชื้อชาติซูดานขนาดใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พวกนี้ทำการเกษตรในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ตอนกลางนับตั้งแต่หลายศตวรรษมาแล้ว ครั้นต่อมาได้มีคณะเผยแผ่อิสลามจากชนเผ่าอัลฟูลาได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนของอัลบัมบาร่าและได้ผลักดันให้พวกเหล่านี้ไปสู่การสถาปนาระบบการเมืองการปกครองแบบอิสลาม โดยเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เราจึงได้พบเห็นการก่อกำเนิดขึ้นของอาณาจักร 2 แห่งจากพวกชนเผ่าอัลบัมบาร่า อาณาจักรแห่งแรกตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไนเจอร์ฝั่งขวามีศูนย์กลางอยู่ที่นครซีญู แห่งที่สองตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายโดยตระกูลอัลมาซาย จากเผ่าอัลบัมบาร่าได้ตั้งขึ้น มีดินแดนอยู่ในเขตกะอาร่อตะห์

 

 

ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายไปอย่างช้ามากๆ ในหมู่ชนเผ่าอัลบัมบาร่า ทั้งนี้เพราะพวกชนเผ่านี้มีความยึดมั่นเป็นอันมากต่อความเชื่อของตนซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ามีพหุวิญญาณอันหมายถึงทุกสรรพสิ่งนั้นมีวิญญาณชั่วร้ายสถิตทั้งสิ้น วิญญาณชั่วร้ายเหล่านี้ได้กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดพิธีกรรมและการสักการะต่อดวงวิญญาณ ซึ่งก็ไม่พ้นการเต้นระบำนั่นเอง ในอาณาจักรบัมบาร่าตะวันออกมีกษัตริย์ที่แข็งขันนามว่า ม่ามารี กูลีบาลี ปกครอง (ค.ศ.1712-1755) ในปี ค.ศ.1725 กษัตริย์กูลีบาลี ได้นำทัพรุกรานเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เข้มแข็งจากชนเผ่าอัลกองจ์ และสามารถแผ่ขยายอาณาเขตของตน กษัตริย์ม่ามารี กูลีบาลี ผู้นี้ได้จับพวกชนเผ่าอัลกองจ์มาเป็นทาสจริง อันเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในการถือศาสนาของพระองค์หรือห่างไกลจากอิสลามโดยสิ้นเชิง

 

 

ต่อมาในระหว่างปีค.ศ. 1760 และ1790 อันญูลู ดิยาร่าก็ได้ปกครองพวกอัลบัมบาร่าและได้แผ่อิทธิพลของตนครอบคลุมดินแดนทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในไนเจอร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนนโยบายของกษัตริย์องค์ก่อนๆ โดยยกเลิกทาสแล้วยอมรับความเสมอภาคของอิสลาม เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นความดีความชอบของเหล่านักวิชาการศาสนาที่มาจากนครติมบักตู ในระหว่างนั้นดินแดนของซูดานก็ได้สูญเสียระบอบซึ่งที่อาณาจักรใหญ่ทั้งหลายที่เคยสถาปนาเอาไว้และด้วยการสูญเสียระบอบการปกครองและอำนาจของส่วนกลาง ชนเผ่าต่างๆ ก็หวนกลับสู่สภาพเดิมมีการรบพุ่งรุกรานกันเองระหว่างเผ่าต่างๆ เส้นทางต่างๆ ของการเดินทางก็ขาดความปลอดภัยเช่นแต่ก่อน ความตื่นตัวทางการค้าก็ชะลอมากกว่าแต่ก่อนกองคาราวานก็มีสินค้าน้อยลงซึ่งเหล่านักเผยแผ่มักจะร่วมเดินทางไปกับกองคาราวานดังกล่าว ความป่าเถื่อนไร้อารยธรรมก็ครอบงำชนเผ่าต่างๆ

 

 

นอกจากนี้เรายังได้พบอีกว่า ลัทธิบูชาผีสางได้กลับมาอีกครั้งในส่วนต่างๆ ของดินแดนอันห่างไกลจากดินแดนซูดานตะวันตกทั้งๆ ที่เหล่านักเผยแผ่อิสลามยังคงปฏิบัติหน้าที่และพยายามทุ่มเทในเรื่องนี้ โครงสร้างสำคัญของอิสลามก็อ่อนแอ อันได้แก่อำนาจของอาณาจักรอิสลามที่สามารถให้ความคุ้มครอง กลุ่มคณะนักวิชาการศาสนา การดูแลมัสยิด และให้ความปลอดภัยกับเส้นทางการค้าอันเป็นที่ตั้งของตลาดทางการค้าทั่วๆไปซึ่งนับเป็นเวทีที่สำคัญซึ่งบรรดานักเผยแผ่อิสลามสามารถโน้มน้าวผู้ศรัทธาเป็นจำนวนหลายพันคน สภาพของความเฉื่อยเช่นนี้ยังคงมีเรื่องมาจวบจนกระทั่งชนเผ่าอัลฟูล่า และอัตตะการ่อเราะห์ ได้สถาปนาความเจริญรุ่งเรืองแห่งอิสลามกลับมาอีกครั้งหนึ่งในระหว่างคริสศตวรรษที่18 ศาสนาอิสลามแห่งซูดานก็ได้ฟื้นพลังขึ้นมาใหม่และทำการพิชิตดินแดนตลอดจนหัวใจทั้งหลายที่อยู่เบื้องหน้าได้อีกคราหนึ่ง 

 

 

ความตื่นตัวของอิสลามในซูดานภายใต้การนำของเผ่าอัลฟูลาเนี่ยนและอัตตะการ่อเราะห์

พวกอัลฟูลาเนี่ยนเป็นชนชาติที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ มีมาตุภูมิเดิมอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเซเนกัล ลูกหลานของชนชาตินี้ได้แพร่กระจายอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่นับจากเซเนกัลจรดแคว้นช๊าด

พวกอัลฟูลาเนี่ยนมีลูกหลานอันเป็นตระกูลใหญ่ๆอยู่4ตระกูลด้วยกัน คือ

1.อัลฟูล่า ในเซเนกัลรู้จักกันในนาม อัลฟูล่า ฟูตา โตโร

2.อัลฟูล่า กาน่าหรือ กีเนียร์ เรียกว่า ฟูล่า อัลฟูตาญาลูน

3.อัลฟูล่า ในแคว้นมาซีน่า และดินแดนอัลฮูซ่า (อัลเฮาซ่า)

4.อัลฟูล่า ในอัดมาวะห์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไนจีเรียและคาเมรูน

 

 

อาณาจักรของพวกอัลฟูลาเนี่ยน เซเนกัล ในแคว้นฟูตาโตโร

พวกอัลฟูลาเนี่ยน เข้ารับอิสลามด้วยน้ำมือของพวกอัลมุรอบิฏูนนับตั้งแต่ศตวรรษที่11 พวกเขามีความจงรักภักดีต่อศาสนาอิสลามและทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาและสามารถโน้มน้าวชนเผ่าอัตตะการ่อเราะห์หรืออัตตักรู๊ร ให้เข้าร่วมกับพวกตนในการรับนับถืออิสลาม มาตุภูมิของอัตตักรู๊ร เดิมอยู่ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำนามิเบียร์ เป็นพวกชนเผ่าเร่ร่อนอีกเช่นกันพวกอัลฟูลาเนี่ยนและอัตตะการ่อเราะห์ได้เข้าสัมพันธ์ระหว่างกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองเผ่าจึงกลายเป็นเสาหลักของศาสนาอิสลามในดินแดนซูดานตะวันตกจนกระทั่งกล่าวกันว่าดินแดนอัตตักรู๊ร-ซึ่งเป็นดินแดนบรรจบของชนชาติต่างๆตามชัยภูมิที่ตั้ง-มีความคล้ายคลึงกับนครมาดีนะห์ในด้านที่ว่าเป็นศูนย์กลางของแสงสว่างทางศาสนาอันยิ่งใหญ่ พวกชนเผ่าอัตตะการ่อเราะห์ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรกาน่าก่อนหน้าที่อิสลามจะเข้ามา

 แผนที่ฟูตา โตโร (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Futa_Tooro)

 

ต่อมาพวกนี้ก็กลายเป็นพันธมิตรกับพวกอัลมุรอบิฎูน พวกอัตตะการ่อเราะห์จึงเข้ารับอิสลามด้วยน้ำมือของชาวอัลมุรอบิฎูนและเข้าร่วมรบในกองทัพของพวกอัลมุรอบิฎูน ด้วยความดีเด่นของพวกอัตตะการ่อเราะห์เหล่านี้ดินแดนอัลฟูตา โตโร ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ว่ากันว่าพวกอัลฟูลาเนี่ยนมีรากเหง้าเดิมเป็นชนเผ่าซอนฮาญะห์แห่งท้องทะเลทราย และถือเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาอ้างเชื้อสายของพวกเขาไปยังเผ่าอัลมะซูฟะห์ (มูเซาวะฟะห์) อันเป็นหนึ่งในบรรดาเผ่าใหญ่ๆของซอนฮาญะห์แห่งท้องทะเลทราย ซึ่งพวกนี้มีส่วนสำคัญในการสถาปนาอาณาจักรอัลมุรอบิฎูน พวกอัตตะการ่อเราะห์และอัลฟูล่ายังคงสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอิสลามแห่งกาน่าเรื่อยมา หลังจากนั้นก็ยอมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรมาลีและในระหว่างศตวรรษที่ 14 และ 16 ก็ได้มีตระกูลหนึ่งจากชนเผ่า “อัลญัลฟ์” ซึ่งปกติเรียกกันว่า อัลวัลฟ์พวกนี้ผสมกันระหว่างพวกอัลฟูล่าและเบอร์เบอร์แห่งท้องทะเลทราย- ได้ตั้งอาณาจักรแห่งหนึ่งขึ้นภายใต้การนำของอินญาญ่า อินญิยาย

 

 

อาณาจักรของอินญาญ่าได้แผ่อำนาจ ปกคลุมดินแดน อัตตักรู๊ร ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรมาลี ในช่วงที่มีแสนยานุภาพแข็งแกร่งมากที่สุด พวกอัลญัลฟ์กลุ่มนี้เป็นพวกนอกศาสนาที่กราบไหว้ผีสาง และในปีค.ศ.1776 หัวหน้าเผ่าอัตตะการ่อเราะห์ที่ชื่อ อิหม่าม (ในภาษาท้องถิ่นเพี้ยนเป็นอิลมามีย์) ได้ก่อการลุกฮือแข็งเมืองต่ออำนาจของพวกอัลญัลฟ์และสังหารกษัตริย์ของพวกนี้ อิลมามีย์ได้ทำให้กลุ่มอัลญัลฟ์ ซึ่งเป็นตระกูลหนึ่งจากชนเผ่าอัตตะการ่อเราะห์ เข้ารับอิสลามและได้สถาปนาอาณาจักรอิสลามอันเข้มแข็งขึ้นในลุ่มแม่น้ำเซเนกัลทั้งหมด (อันหมายถึงดินแดนอัลฟูตา โตโร) โดยผนวกรวมเอาพวกอัลฟูลาเนี่ยน  อัตตักรู๊ร และอัลญัลฟ์ไว้ทั้งหมด อาณาจักรแห่งนี้ได้ดำเนินการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในเขตบริเวณใกล้เคียงรอบๆอาณาเขตของตนจนกระทั่งพวกล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ทำลายอาณาจักรนี้ลงในเวลาต่อมา

 

 

อาณาจักรของพวกอัลฟูลาเนี่ยนในเขตเทือกเขาอัลฟูตาญาลูน (คือกีเนีย)

ดินแดนอัลฟูตาญาลูนนั้นเป็นเขตภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเทือกเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ถือเป็นเส้นแบ่งพรมแดนของแม่น้ำหลายสายที่ลาดต่ำจากเทือกเขาสู่ดินแดนตะวันตกอันได้แก่ แม่น้ำเซเนกัล,แกมเบียร์และกองกูรีย์ และจากเทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำไนเจอร์และไหลขึ้นเหนือทางตะวันออก แม่น้ำไนเจอร์มีสาขาแม่น้ำน้อยไหลจากเทือกเขาทางตะวันตกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

 แผนที่ฟูตา ญาลูน (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Imamate_of_Futa_Jallon)

 

เนื่องจากความสูงชันและการมีแม่น้ำหลายสายอย่างอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคดังกล่าว เราจึงพบว่าดินแดน อัลฟูตาญาลูน เป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งด้วยพื้นที่ทางการเกษตรและปศุสัตว์  เป็นภูมิภาคที่มีอากาศอบอุ่น และในศตวรรษที่ 16 อันเป็นช่วงเวลาเสื่อมของอาณาจักรซอนฆอ ได้มีกลุ่มชนเผ่าอัลฟูล่า เซเนกัลและอัลฟูล่าที่มีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนอัลมาซีน่าอพยพเข้าสู่ดินแดนอันมั่งคั่งแห่งนี้หลายต่อหลายกลุ่ม พวกนี้ได้เผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่ชนพื้นเมือง

 

 

ทัศนะที่มีน้ำหนักในเรื่องนี้ก็คือ พวกอัลฟูล่าที่อพยพเหล่านี้ได้หลบหนีภัยจากอำนาจของอัลอะซากีย์ซึ่งเป็นผู้นำของซอนฆอนั่นเอง ภายหลังจากพวกอัลฟูล่าเนี่ยนในภูมิภาคอัลฟูตาญาลูนได้เข้ารับอิสลามอย่างสมบูรณ์แล้ว เราก็พบว่าในปีค.ศ. 1725 พวกอัลฟูลาเนียนได้ให้สัตยาบันแก่ท่านเชคผู้ทรงความรู้และมีความเข้มแข็งและน้ำใจเด็ดเดี่ยวขึ้นเป็นกษัตริย์ เชคผู้นี้ก็คือ อัลฟะอ์ กะรอโมโก คำว่า อัลฟะอ์หรือ อัลฟา เป็นคำในภาษาอาหรับที่ออกสำเนียงเพี้ยนจากคำว่า อัลฟิกฮุ หรือ อัลฟะห์มุ (ตามสำเนียงท้องถิ่นที่มักทิ้งอักษรตัวอื่นยกเว้นอักษรตัวแรก) ท่านอัลฟะอ์ มะห์มูดกะอ์ต์ เจ้าของหนังสือ อัลฟัตตาช ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และกอฎีก็มีฉายาว่า อัลฟะอ์ เช่นกัน ท่านอัลฟะอ์ กะรอโมโก ได้พยายามทุ่มเทในการขจัดลัทธิกราบไหว้ผีสางในดินแดนของท่านจวบจนกระทั่งดินแดนดังกล่าวได้กลายเป็นดินแดนอิสลามอันบริสุทธ์

 

 

หลังจากนั้นผู้นำของอีกตระกูลหนี่งจากพวกอัลฟูล่าคือ อิบรอฮีม ซูรีย์ ได้สืบทอดอำนาจต่อมา ท่านอิบรอฮีมได้ทำให้ภารกิจของท่านอัลฟะอ์ เกิดขึ้นสมบูรณ์และเมื่ออิบรอฮีมได้เสียชีวิตลงก็ได้เกิดการพิพาทกันระหว่างสองตระกูล ต่อมาในราวปีค.ศ.1784 ตระกูลทั้งสองก็ได้ตกลงกันได้โดยให้ผลัดกันครองราชย์บัลลังก์ฝ่ายละ 2 ปี ดังนั้นฟะอ์หรืออัลฟะอฺจากตระกูล การอโมโก และคนในตระกูลก็ขึ้นปกครอง 2 ปี ครั้นพอครบ 2 ปีก็สละบัลลังก์ให้กับตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากตระกูลอัซซูรีย์ ซึ่งจะแต่งตั้งบรรดาผู้บริหารราชการตลอดจนแม่ทัพนายกองจากชนเผ่าของตน ระบอบการปกครองเช่นนี้ที่มีการผลัดเปลี่ยนวาระกันเป็นที่รู้จักในชื่อ ระบอบอัลฟายา (คำว่า อัลฟายา เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า อัลฟา หรือ อัลฟะอ์ในภาษาของอัลฟูล่า) ระบอบการปกครองเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมาจวบจนกระทั่งพวกล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ยกเลิกขณะที่พวกนี้ได้เข้ายึดครองดินแดนแห่งนี้เป็นอาณานิคมในปีค.ศ.1888

 

 

อัลฟูลาเนี่ยนในแคว้นอัลมาซิน่าส่วนในของดินแดนอัลฮูซ่า

เผ่าอัลฟูล่าจำนวนหนึ่งจากแคว้นฟูตาโตโร ได้อพยพมาสู่ลุ่มแม่น้ำเซเนกัลและเลยมาถึงแคว้นมาซีน่าตรงกับจุดบรรจบของแม่น้ำไนเจอร์ทุกสายใกล้ๆ กับทะเลสาบดีบูและภูมิภาคบานี ณ ที่นั่นพวกอัลฟูลาได้ลงพักเพื่อตั้งหลักแหล่งและฝูงปศุสัตว์ของพวกเขาก็เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนทรัพยากรและความมั่งคั่งของพวกเขาก็เพิ่มมากขึ้น พวกอัลฟูล่าได้เข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรมาลี ดังนั้นซุลต่านแห่งมาลีจึงได้ทรงตอบแทนพวกเหล่านี้ด้วยการแต่งตั้งผู้นำคนหนึ่งของพวกเขาซึ่งก็คือ มาญา ญาลู ให้เป็นข้าหลวง (หรือ อัรดู ตามภาษาของพวกเขา) แห่งแคว้นบ้าฟาญ่า

 

 

พวกชนเผ่าอัลฟูล่าที่อาศัยอยู่ที่นี่อย่างสงบสุขร่วมกับบรรดาชนชั้นปกครองในอาณาจักรกาน่าและบัมบาร่าที่มีอำนาจสืบต่อกัน แต่ทว่าในช่วงกลางศตวรรษที่16 ได้มีหัวหน้าเผ่าอัลฟูล่าบางคนพยายามก่อการลุกฮือต่อกษัตริย์ อัสกาย่า ดาวุด ดังนั้นกษัตริย์ผู้นี้จึงได้ปราบปรามหัวหน้าเผ่าและชนเผ่าอัลฟูล่าที่ร่วมก่อการกบถลงอย่างราบคาบ แต่ทว่าต่อมาในภายหลังเราก็พบว่าพวกอัลฟูล่าได้เป็นพันธมิตรกับเหล่ากษัตริย์แห่งบัมบาร่า อีกครั้ง

 

 

และได้มีอัลฟูล่า อีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพสู่แคว้นลีบตากู บนชายฝั่งตะวันออกของไนเจอร์พวกอัลฟูล่ากลุ่มนี้ได้รับความสำเร็จมากกว่าอัลฟูล่ากลุ่มอื่นก่อนหน้าพวกเขาอย่างมาก ณ ที่นั่นในศตวรรษที่17 เราได้พบว่ามีบุคคลผู้หนึ่งจากพวกนี้ที่ชื่อ อิบรอฮีม ซายดู๊ร ได้แผ่อิทธิพลของตนเหนืออาณาบริเวณที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางที่ราบลุ่มของแม่น้ำไนเจอร์ทั้งหมดและลูกหลานของอิบรอฮีมก็ยังคงรักษาอำนาจของพวกเขาได้โดยตลอดและสามารถปกป้องอาณาเขตของพวกตนได้จากการรุกรานของพวกเฏาะวาริกในภาคเหนือและอัลมูช่าในภาคใต้และยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่เช่นนั้นจวบจนกระทั่งในปี 1806 พวกอัลฟูล่าก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซูโกโตโดยซุลต่าน อุสมาน ดาน พูติยู อาณาจักรซูโกโต

 

 

นอกจากนี้ยังได้มีการอพยพของชนเผ่าอัลฟูล่า ระลอกที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นการอพยพที่สำคัญยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ  ทั้งสามครั้งในด้านศาสนาอิสลามโดยบ่งชี้ว่าอัลฟูล่าแท้จริงแล้วเป็นชนซูดานกลุ่มน้อยที่มีความตื่นตัวมากที่สุดในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม  และแผ่ขยายดินแดนของตนในดินแดนตะวันตก

 

 

กลางศตวรรษที่ 18 ชนเผ่าอัลฟูล่ากลุ่มหนึ่งได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในแคว้นญูบีร  อันเป็นแคว้นในดินแดนของพวกอัลฮูซ่า และในปี ค.ศ. 1754 อุสมาน คาน ฟูติยู หรือฟูญู ได้ถือกำเนิดและเจริญวัยโดยได้รับการปลูกฝังให้มีความรักในศาสนาอิสลามและหลงใหลในการศึกษาวิชาการอิสลามด้วยการศึกษาอย่างลึกซึ้ง  อุสมานเป็นผู้รู้จักกันดีดีถึงความยำเกรงในพระเจ้า  ความสันโดษและสุขุมคัมภีรภาพ  อันเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนรอบข้างเลื่อมใสและปฏิบัติตาม และมีพลเมืองในแถบนี้ ได้เข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมากด้วยน้ำมือของท่าน  เมื่อกลุ่มชนของท่านนี้ได้มีจำนวนแพร่หลายและมีความมุ่งมั่นเป็นอันมากก็ได้ก่อให้เกิดความหวั่นเกรงต่อชนเผ่าอัลฮูซ่าในแค้วนญูบีร 

 

 

ดังนั้นเมื่อท่านอุสมานรับรู้ถึงความรู้สึกดังกล่าว  และมั่นใจในความแข็งแกร่งของพลพรรคผู้ติดตาม ท่านอุสมานก็ได้ประกาศญิฮาด (ต่อสู้) กับพวกชนเผ่าอัลฮูซ่า ในปี ค.ศ. 1804 ซึ่งปรากฏว่าพวกอัลฮูซ่าเองเป็นจำนวนมากได้เข้าร่วมเป็นพลพรรคท่านอุสมาน  ดังนั้นท่านจึงได้รับชัยชนะเหนือกองกำลังเผ่าอัลฮูซ่าและกลายเป็นผู้นำของแคว้น  ท่านอุสมานได้ใช้ฉายา เชค (ชัยค์) และอมีรุ้ลมุอ์มีนีน (ผู้นำปวงชนผู้ศรัทธา) ให้กับตัวท่านเอง  หลังจากนั้นท่านก็มุ่งหน้าปราบปรามดินแดนใกล้เคียงกับอาณาจักรเขตอัลฮูซ่า  เช่น  บักชีน่า, ซารียะห์, นูบะห , กับบะห์  และท่านอุสมานก็สถาปนาจากอาณาเขตทั้งหมดนี้ขึ้นเป็นรัฐสุลต่านที่กว้างใหญ่ไพศาล  มีซูโกโตเป็นราชธานีของอาณาจักร  และเริ่มแผ่แสนยานุภาพสู่ดินแดนของชนเผ่าอัลยูรูบา

 

 

ท่านอุสมาน  คาน  ฟูติยู  ได้พยายามที่จะเข้าครอบครองดินแดนของอัลบุรนู  ทางตะวันออก  แต่ทว่าพวกเขาเหล่านี้ (อัลบุรนู)  ก็ได้ต่อสู้กับกองทัพของท่านอุสมานด้วยการนำของแม่ทัพที่ชื่อ อัลกานีมีย์  และสงครามก็ยุติลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายได้ประนีประนอมและยุติสงคราม

 

 

ในระหว่างนั้นก็ได้มีบุคคลหนึ่งได้ปรากฏขึ้นจากชนเผ่าอัลฟูล่า  ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่ในเขตที่เรียกกันว่า  อัดมาวะห์ (ซึ่งก็คือคาเมรูน) บุคคลผู้นี้เป็นเชคผู้อาวุโส ทรงความรู้และเป็นนักต่อสู้  มีชื่อว่า อัดมา  ผู้คนทั้งหลายเรียกท่านในฉายานามว่า  มุอัดดิ้บ  (ผู้อบรมสั่งสอน)  หรือมูดีบู  ในภาษาของพวกเขา  ซึ่งหมายถึง  “นักวิชาการศาสนา”  หรือ “ปราชญ์ทางนิติศาสตร์อิสลาม” ท่านอุสมาน คาน ฟูติยู  หลังจากได้ปราบปรามดินแดนน้อยใหญ่ของอัลฮูซ่า ยกเว้นแคว้นอัลกานิมแล้ว ท่านก็ได้พำนักอยู่ในราชธานีของท่านในปี ค.ศ. 1809

 

 

และในปี ค.ศ.1811 ท่านอุสมานก็ได้เชื้อเชิญท่านมูบีดู อัดมา มายังราชสำนักของท่านและได้มอบธงชัยสีขาวของท่านแก่มูดีบู อัดมา อันเป็นธงชัยที่ใช้ในการศึกฮิญาดโดยมอบให้เป็นภาระหน้าที่แก่ท่านมูบีดูให้ทำศึกต่อไปจนกว่าศาสนาอิสลามจะได้แพร่หลายในดินแดนที่อยู่ถัดจากแม่น้ำอัลบันวีย์ ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ของแม่น้ำไนเจอร์ที่ไหลมาบรรจบในบริเวณฝั่งตะวันออก ท่านอัดมาได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่และประกาศสงครามอย่างรุนแรงต่อพวกกราบไหว้ผีสาง และท่านก็สามารถนำเอาดินแดนส่วนใหญ่ของคาเมรูนในทุกวันนี้เข้าสู่อิสลาม อำนาจอันเข้มแข็งของท่านมีมากจนถึงขั้นที่ชื่อแคว้นบันวีย์ต้องเปลี่ยนเป็นอัดมาวะห์ตามชื่อของท่าน

 

 

ในปี คศ. 1847 ท่านมูดีบู อัดมาได้เสียชีวิตลง บุตรชาย 3 คนของท่านก็สืบอำนาจต่อจากท่านตามลำดับ และในปี คศ. 1901 อังกฤษก็เข้าครองดินแดนแห่งนี้ และได้ตั้งให้บุตรชายคนที่สี่ของท่านอัดมาที่ชื่อว่า อัดมา เช่นเดียวกันขึ้นเป็นเจ้าครองนครดินแดนดังกล่าว ซึ่งได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นท่านอุสมาน ดาน ฟูญู ก็ยังคงเป็นสุลต่านในอาณาจักรของท่านซึ่งก็คือแคว้นญูบีรในที่ราบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ตลอดจนดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อท่าน ครั้นเมื่อท่านได้เสีียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1818 อาณาจักรของท่านก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือน้องชายของท่านที่ชื่ออับดุลเลาะห์ (อับดุลลา) และบุตรชายของท่านที่ชื่อมูฮัมหมัดบาลู ท่านอับดุลลอฮ์มีอำนาจเด็ดขาดในหัวเมืองตะวันตกของอาณาจักร และมีเมืองญาณดูเป็นราชธานี 

 

 

ส่วนท่านมูฮัมหมัด บาลูก็ได้ปกครองหัวเมืองตะวันออกเป็นดินแดนที่ท่านอุสมาน คาน ฟูญู ได้เคยพิชิตไว้ทางตะวันออก ท่านมูฮัมหมัดยังคงยึดเอานครซูโกโตเป็นราชธานี ท่านบาลูได้เสาะแสวงหานักวิชาการที่สามารถแต่งตำราในด้านศาสนาและประวัติศาสตร์โดยเริ่มบันทึกพงศาวดารของอาณาจักรของผู้เป็นบิดาด้วยการไม่ยอมรับสิ่งที่พวกอัลฮูซ่าได้เคยกระทำเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ทำลายเอกสารและตำราของพวกอัลฮูซ่าอีกด้วย การทำลายเอกสารหรือพงศาวดารที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยอัลฮูซ่ามีอำนาจมีเป้าหมายที่จะขจัดมรดกของพวกนอกศาสนาในอาณาจักรของพระองค์ให้หมดสิ้นในการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้แหล่งอ้างอิงมีคุณค่าอย่างยิ่งทางวิชาการได้สูญหายจนหมดสิ้น  ทั้งนี้ เพราะพวกอัลฮูซ่าได้เขียนพงศาวดารของตนในช่วงก่อนอิสลามด้วยภาษาและปากกาของแอฟริกาล้วนๆ

 

 

 

ฮามาดู้ อัชเชค

การพิชิตดินแดนตะวันตกของท่านอุสมาน คาน ฟูญได้มีผลอย่างลึกซึ้งต่อกลุ่มอัลฟูล่าต่างๆ ที่มีหลักแหล่งอยู่ทางตะวันตก การพิชิตดังกล่าวได้ปลุกเร้าความฮึกเหิมของอัลฟูล่า และปลุกจิตสำนึกของพวกเขาต่อการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม และแผ่อิทธิพลสู่ดินแดนของซูดานในราวปี ค.ศ. 1775 ได้ปรากฏนักเรียกร้องและต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่จากชนเผ่าอัลฟูล่าผู้หนึ่งชื่อว่า ฮ้ามาดู้ บารี ในแคว้นอัลมาซีนา ฮ้ามาดู้ บารี เคยเป็นทหารในกองทัพของอุสมาน คาน ฟูญ ซึ่งทำการพิชิตดินแดนของอัลฮูซ่า และท่านก็เป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเกิดเมืองนอนของท่านซึ่งก็คือ อัลมาซีน่า จนกระทั่ง ฮามาดี ดีกู ผู้ปกครองอัลมาซีน่ามีความหวั่นเกรงสถานการณ์ของท่านฮ้ามาดู้ บารี ซึ่งผู้ปกครองอัลมาซีน่าคนนี้เป็นลูกหลานจากตระกูลคิยาเราะห์หรือญาดะห์ ตลอดจนกษัตริย์บัมบาร่าก็เกรงกลัวชื่อเสียงของท่านเช่นกัน ทั้งสองจึงร่วมกันทำสงครามต่อต้านท่านฮ้ามาดู้ แต่ทว่าท่านก็สามารถบดขยี้กองทัพของทั้งสองได้ในเมืองนูกูม่า ในปี คศ. 1818

 ฮามาดู้ อัชเชค (ที่มา http://www.webpulaaku.net/defte/henri_moniot/pictures/pictures.html)

 

ผลตอบแทนที่ท่านฮ้ามาดูได้รับจากอุสมาน คาน ฟูญ ก็คือการมอบตำแหน่งเชค และตั้งให้เป็นผู้ปกครองแคว้นมาซีน่า ดังนั้นท่านฮ้ามาดู้จึงยาตราทัพเข้ายึดครองเมืองญันนะห์ และนครติมบักตู และแผ่แสนยานุภาพสู่ดินแดนบางส่วนของบัมบาร่า และตั้งราชธานีขึ้นใหม่โดยขนานนามราชธานีแห่งนี้ว่า ฮัมดัลลาย (หมายถึงอัลฮัมดุลิ้ลลาห์ในภาษาอาหรับ)

 

 

ท่านฮ้ามาดู้ อัชเชค (ฮามาดู้ ชีกู้) สามารถจัดระเบียบอาณาจักรของท่านได้อย่างดี โดยแบ่งเป็นมณฑลตลอดจนแต่งตั้งกอฎีที่ทำหน้าที่ในการเป็นตุลาการ และได้ตั้งคณะผู้ปกครองจากเหล่าผู้อาวุโสจำนวน 40 คน จากชนพื้นเมือง โดยรวมถึงผู้อาวุโสอีก 60 คน จากบุคคลสำคัญของพวกมุรอบิฎูน และให้ถือว่าองค์กรนี้เป็นศูนย์รวมอำนาจสูงสุดในอาณาจักร

 

 

ส่วนในด้านการคลังท่านฮ้ามาดู้ได้กำหนดภาษีหนึ่งในสิบสามจากผลผลิตทางการเกษตร และมีภาษีอีกเล็กน้อยในปศุสัตว์ ท่านยังได้จัดเก็บซะกาตจากทรัพย์สินตามอัตราพิกัดที่ทางศาสนากำหนดไว้ นอกจากนี้ท่านยังได้กำหนดภาษีจากอาหารหลัก (ธัญพีช) เหนือพลเมืองในทุกเขต โดยให้บรรดาอิหม่ามประจำมัสยิดทั้งหลายเป็นผู้ดูแล ตีราคาและแจกจ่ายด้วยทรัพย์สินจากภาษีเหล่านี้ท่านก็สามารถบริหารอาณาจักรของท่าน ตลอดจนนำมาจ่ายเป็นเบี้ยหวัดแก่กองทัพของท่าน

 

 

ท่านฮ้ามาดู้ค่อยๆ ดำเนินการให้ประชากรของท่านอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อที่พวกเขาเหล่านี้จะได้พ้นจากสภาพของพวกเร่ร่อนไปสู่การตั้งถิ่นฐานที่มั่นคง ท่านจึงออกประกาศเป็นคำสั่งให้ชนเผ่าแต่ละกลุ่มจัดการสร้างหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของตนขึ้น และกำหนดให้ในแต่ละหมู่บ้านมีตลาดนัดในรอบสัปดาห์ ให้ชาวบ้านกำหนดเขตหมู่บ้านของพวกตนให้เป็นสัดส่วนแน่ชัด และใช้ให้ชาวบ้านฟื้นฟูที่ดินตลอดจนลดปริมาณน้ำในหนองน้ำให้น้อยลง และทำการสร้างมัสยิดในแต่ละหมู่บ้านอีกด้วย ผลพวงจากการดำเนินการเช่นนี้ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีชีวิตชีวา และมีสภาพที่น่าอยู่อาศัย ผลผลิตที่ได้จากการทำนาเกลือและการเก็บผลโคล่าในเขตกีเนียโดยเฉพาะได้เพิ่มขึ้น บรรดาพ่อค้าจากยุโรป อียิปต์ ต่างก็หลังไหลเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ โดยนำเอาสินค้าที่ทันสมัยต่างๆ เข้ามา ผ้าไหมของอียิปต์มีวางขายเป็นจำนวนมากในตลาดต่างๆ

 

 

พวกช่างฝีมือและบุคคลในทุกสาขาอาชีพจากทุกสารทิศก็มาสู่ดินแดนนี้ อาณาเขตของอัลมาซีน่าและพรมแดนที่แผ่ยื่นเข้าไปในเขตที่เป็นประเทศกีเนียในทุกวันนี้ได้กลายเป็นจุดนัดพบของผู้คน กองคาราวานและร้านค้า เส้นทางต่างๆ ก็เจริญขึ้นและสะดวกขึ้นสำหรับบรรดาพ่อค้า อัลฟูล่า บัมบาร่า และดียูล่า ซึ่งเป็นพวกที่อยู่ทางด้านกองจ์และฮูซ่า โดยมุ่งมาจากทะเลสาปช๊าด พวกอัตตักรูรจากเซเนกัลคลอดจนพวกมอรอคโค เฏาะวาริก และชาวอาหรับ 

 

 

 

ผลของความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองเช่นนี้ทำให้พวกนักเดินทางชาวยุโรปช่วงแรกๆ ได้พบเห็นอาณาจักรอัลฟูล่าในลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ในขณะที่พวกเขาเริ่มรุกล้ำเข้าสู่ดินแดนชั้นในของทวีปแอฟริกา ทั้งในฐานะของผู้เยือนและพวกสำรวจที่เปิดดินแดนเหล่านี้ตามคำอ้างของพวกเขา (ซึ่งจริงๆ แล้วพวกยุโรปเหล่านี้หาใช่ผู้ค้นพบและเปิดโฉมหน้าดินแดนแอฟริกาหรือเป็นผู้นำทวีปแอฟริกาไปสู่แสงสว่างก็หาไม่ ดังที่พวกยุโรปเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า กาฬทวีป ทั้งนี้เพราะดินแดนเหล่านี้เคยเป็นดินแดนที่เป็นที่รู้จักกัน มีอารยธรรม ระบอบการปกครองและวิทยาการ สิ่งที่พวกยุโรปและนักสำรวจเหล่านี้ได้กระทำก็คือ หาข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและศึกษาสภาพของดินแดนในแอฟริกาเพื่อเป็นการปูทางสู่การประกาศสงคราม และทำลายล้างอารยธรรมของที่นี่ และท้ายที่สุดก็เข้ายึดครองเป็นอาณานิคมของตน)

 

 

ส่วนหนึ่งจากบรรดานักสำรวจเหล่านี้ คือ เรเน่ กาเย่ ชาวฝรั่งเศสได้มาถึงนครติมบักตู ในปี คศ. 1828 ภายหลังการใช้ความพยายามอย่างมากในการข้ามท้องทะเลทราย ชายผู้นี้อ้างว่าตนเป็นชาวอียิปต์ที่หลบหนีจากฝรั่งเศสซึ่งเข้ายึดครองอียิปต์ในเวลานั้น และเขาต้องการกลับสู่เมืองอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นมาตุภูมิของตน ชายผู้นี้แสร้งเป็นทำดีกับชนพื้นเมืองเพื่อจะได้รับประทานอาหารประทังชีวิต และเพื่อที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้จะได้ชี้นำทางแก่เขาจนกระทั่งกลับสู่บ้านเกิดของตน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชายผู้นี้ได้โกหกและสร้างเรื่องขึ้นมาทั้งหมด เรื่องจริงก็คือเขาเป็นสายลับที่เข้ามาสอดแนม และหาข้อมูลเพื่อล่าดินแดนนี้เป็นอาณานิคม ในเวลานั้นแอฟริกากำลังคราครั่งไปด้วยนักผจญภัยชาวยุโรป ซึ่งทำหน้าที่สอดแนมดินแดนของแอฟริกาเพื่อที่จะได้รู้ถึงสภาพและช่องทาง และนำเอาสิ่งที่พวกเขาพบเห็นไปบอกแก่ประเทศของตนเพื่อที่จะได้เร่งรุดมาตะครุบดินแดนดังกล่าวในฐานะเหยื่อ

 

 

และเมื่อ เรเน่ กาเย่ได้ประสบความสำเร็จหลังจากรอนแรมถึงนครติมบักตูในการเดินทางกลับสู่มอรอคโค และเดินทางต่อจนกระทั่งถึงฝรั่งเศส ซึ่งที่นั่นเขาได้โฆษณาแก่สาธารณชนถึงรายละเอียดที่เขาได้พบเห็นมา ก็ได้มีนักผจญภัยชาวอังกฤษอีกรายหนึ่งเอาอย่างชายผู้นี้ คือ กาลเบอร์ตัน ซึ่งถูกฆ่าตายระหว่างเดินทางสู่นครติมบักตู ในขณะที่นักผจญภัยอีกรายที่ชื่อ แลงก์ ออกเดินทางจากทริโปลี ในปี คศ. 1825 และไปถึงติมบักตูได้สำเร็จ แต่ก็ต้องจบชีวิตในระหว่างเดินทางกลับด้วยน้ำมือของชนเผ่าอัลอัรว๊าก

 

 

เรเน่ กาเย่ ได้เล่าไว้ในหนังสือของตนว่า ติมบักตู ได้ทำให้เขาฝันสลาย แต่เดิมเขาเกือบเป็นบ้าเป็นหลังที่จะไปให้ถึงนครแห่งนี้ เนื่องจากเขาได้เคยยินกิตติศัพท์ความมั่งคั่งและทองคำอันมากมายในนครติมบักตู ครั้นเมื่อเขาไปถึงก็ได้แต่พบว่า เมืองนี้มีสิ่งปรักหักพังมากมายและรกร้าง ที่นั่นมีมัสยิดอยู่ 6 หลัง มีสวนอินทผาลัมอยู่บ้าง เขาพบเพียงต้นไม้เพียงต้นเดียวที่ยืนต้นอยู่ท่ามกลางสิ่งปรักหักพังในเมืองนั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะติมบักตูในขณะนั้นอยู่ภายใต้ความเมตตาของชนเผ่าเฏาะวาริก พวกเฏาะวาริกเข้าครอบครองทุกสิ่งจากชาวเมืองตามที่ปรารถนา อย่างไรก็ตาม เรเน่ กาเย่ ได้พบกับฮัจยีอุมัร ซึ่งเป็นชาวซูดานในปี คศ. 1838 ซึ่งฮัจยีอุมัร ผู้นี้จะได้มีบทบาทสำคัญต่อไปเกี่ยวกับชะตากรรมของดินแดนแห่งนี้ก่อนที่จะตกไปอยู่ในกำมือของพวกล่าอาณานิคม

 

 

ฮัจยีอุมัร

ฮัจยี อุมัร ผู้นี้มิใช่พวกชนเผ่าอัลฟูลาเนี่ยน แต่เป็นชนเผ่าอัตตะการ่อเราะห์ ถือกำเนิดในปีค.ศ.1797 ใกล้กับเมืองบูดูร ในแคว้นฟูตาโฟโร (เซเนกัล) ชื่อเต็มของท่านคือ อุมัร ซีโด ต๊าล ท่านเติบโตในฐานะมุสลิมผู้เคร่งครัดมีความคิดในทางศาสนาที่เข้มแข็ง ชีวิตวัยรุ่นของท่านหมดไปกับการเสาะหาบรรดาครูสอนศาสนาในทุกแถบของฟูตาญาลูน อันเป็นดินแดนในลุ่มแม่น้ำแกมเบีย และได้พบกับท่านอุสมาน ดาน ญูฟู ในนครซูโกโต และท่านฮ้ามาดู้ เชค ในนครฮัมดัลลาย

 ฮัจยีอุมัร (ที่มา http://www.webpulaaku.net/defte/henri_moniot/pictures/pictures.html)

 

หลังจากนั้นท่านอุมัรก็เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และกลับมาเป็นผู้สืบทอดแนวทางเฏาะรีเกาะฮฺ อัตตีญานีย์ ในเขตของท่าน ท่านอุมัรมีความบริสุทธิ์ใจในการประกอบศาสนกิจและรับใช้พี่น้องร่วมแนวทางฐานะของท่านสูงขึ้น และกลายเป็นผู้มีความจำเริญ หรือเป็นผู้ที่คำวิงวอนถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถถ่ายทอดความรู้จากการจดจำขึ้นใจสู่บรรดาสานุศิษย์ ท่านอุมัรสามารถสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นจากบรรดาผู้นำชาวมุสลิมในดินแดนของซูดาน อัลกานิมีย์ ได้มอบสตรีผู้เคร่งครัดในศาสนาให้แก่ท่านอุมัร ท่านจึงตบแต่งนางเป็นภรรยา และมุฮำหมัด บาลู ก็ได้มอบสตรีอีกสองนางแก่ท่าน คนหนึ่งนั้นเป็นเครือญาติในตระกูลของท่านมุฮำหมัดเอง

 

 

และเมื่อท่านอุมัรมีฐานะสูงส่งขึ้นก็ได้สร้างความหวาดระแวงแก่บรรดาผู้นำดินแดน ท่านจึงเห็นว่าเป็นการถูกต้องที่สุดที่ท่านจะทำให้พวกผู้นำเหล่านี้ วางใจและเลิกหวาดระแวงก็คือการที่ท่านลงพำนักอยู่เงียบๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง คือ หมู่บ้านวันญีรอย  ในสถานที่มิดชิดแถบเทือกเขาฟูตาญาลูน  และที่นั่นบรรดาผู้ให้การสนับสนุนท่านก็ได้มารวมตัวแวดล้อมท่าน  จำนวนของพวกเขาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อท่านรู้สึกว่าจำนวนของพวกเขามีมากเกินไปท่านจึงให้ส่วนหนึ่งจากจำนวนคนเหล่านี้ตั้งเป็นกองทัพขึ้นจากพวกอัตตะการ่อเราะห์ และโจมตีศูนย์กลางของพวกอัลมาดันญีย์  ซึ่งก็คือพวกมาลีนั่นเอง  และได้โจมตีพวกบัมบาร่าที่มีอำนาจอยู่ในแคว้นกะอาร่อตะห์และสามารถแย่งชิงดินแดนฟียูโร่จากพวกบัมบาร่าได้

 

 

ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ของท่านอุมัรได้ดึงดูดผู้คนจำนวนหลายพันคนให้เข้าเป็นพลพรรคด้วยเหตุที่ท่านเป็นที่เลื่องลือถึงความยำเกรง , วิชาการและการเอื้ออำนวยของพระเจ้าที่มีต่อท่าน  ท่านอุมัรจึงตัดสินใจเข้ายึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเซเนกัลทั้งหมด  ซึ่งก็คือ อัลฟูตาโตโรด้วยกองทัพที่มีกำลังพล 40,000คน  แต่ทว่าได้รับการต่อต้านจากชนพื้นเมืองในอัลฟูตาญาลูนซึ่งขอความช่วยเหลือจากพวกฝรั่งเศส  พวกฝรั่งเศสจึงส่งกองกำลังทหารพร้อมด้วยปืนใหญ่และปืนไฟ  ดังนั้นการรุกคืบของกองทัพท่านฮัจยีอุมัรจึงต้องหยุดชะงักลงและล้มเลิกความตั้งใจหลังการปะทะกันในช่วงเวลาสั้นๆ บริเวณหมู่บ้านอัลม่าดีนะฮ์ใกล้กับเมืองกายิซในเซเนกัล

 

 

ฮัจยีอุมัรจึงเบนหน้าสู่ตะวันออก และรุกเข้าสู่ดินแดนของพวกบัมบาร่าและได้ปะทะกับพวกบัมบาร่าในการรบที่ท่านปราชัยในบางคราแต่ทว่าท่านก็ได้รับชัยชนะในที่สุด และสามารถจับตัวกษัตริย์แห่งบัมบาร่าได้และยึดครองเมืองซีญู ผู้ปกครองเมืองได้ตกเป็นเชลยของท่านซึ่งผู้ปกครองผู้นี้เป็นหลานของท่านฮ้ามาดู้ เชคและฮัจยีอุมัรได้ประหารชีวิตผู้ปกครองผู้นี้ในเวลาต่อมา

 

 

ต่อมาท่านอุมัรก็มุ่งหน้าสู่นครติมบักตูและเข้ายึดครองนครแห่งนี้โดยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของท่านซึ่งรวมเอาดินแดนของอัลมาซีน่าและอัลฟูตาโตโร  ต่อมาท่านอุมัรก็นำทัพของท่านเข้าสู้รบกับกองทัพของผู้ปกครองแห่งอัลมาซีน่า  ซึ่งท่านประสบความปราชัยจึงได้หลบหนีไปยังเขตเทือกเขาในปี คศ.1864  และหลบซ่อนอยู่ในป่าทึบ  แต่ทว่าท่านก็ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศหายใจอันมีสาเหตุมาจากก๊าซที่เกิดขึ้นจากดินปะสิว  ลูกชายคนโตสุดของท่านก็พยายามจะปกครองต่อจากท่าน  แต่ทว่าก็ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้นานนัก

 

 

ท่านฮัจยีอุมัร  เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด  ถือความสัตย์เป็นที่ตั้ง  ส่วนหนึ่งจากเรื่องราวที่ถูกกล่าวขานของท่าน ก็คือ ท่านไม่เคยละทิ้งการนมัสการเลยแม้กระทั่งในระหว่างทำศึกสงคราม  ท่านก็หมอบตะแคงและทำการนมัสการในขณะที่ลูกธนูพุ่งแหวกอากาศเฉี่ยวหูทั้งสองของท่าน  ลูกปืนก็เฉี่ยวไปเฉี่ยวมารอบๆตัวท่าน ท่านอุมัรมีความเที่ยงธรรมในการตัดสินชี้ขาดและในการปกครองผู้คนแต่ในขณะเดียวกันท่านก็มีความแข็งแกร่งและรุนแรงเฉียบขาดกับผู้เป็นปรปักษ์  ซึ่งบางครั้งการมีคุณลักษณะเช่นนี้ก็อาจถือได้ว่าป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นผู้นำและปกครองในสภาพต่างๆ ที่ท่านดำรงชีวิตและปฏิบัติภารกิจได้อย่างเหมาะสม

 

 

ระบอบการบริหารการปกครองที่ท่านอุมัรได้วางเอาไว้ในอาณาจักรของท่านนั้นไม่เข้มแข็งและรัดกุมเท่าที่ควรจะเป็น  บรรดาพลเมืองของท่านต่างก็สวามิภักดิ์แก่ท่านเนื่องจากความน่าเกรงขามและความเคร่งครัดในศาสนาของท่านเป็นประการสำคัญโดยที่ท่านเองก็ไม่คิดที่เสริมสร้างรูปแบบการปกครองที่ท่านใช้อยู่ให้เป็นกิจจะลักษณะและรัดกุม  ดังนั้นเมื่อบุตรชายของท่านที่ชื่อ อะห์ม่าดู้  ได้สืบอำนาจต่อจากท่าน อะห์ม่าดู้ ก็ยังคงทำการปกครองอยู่ในเมืองซีญูราชธานีและเขตปริมณฑลเรื่อยมา  ในขณะที่พวกบัมบาร่าแยกตัวออกจากการปกครองของอะห์ม่าดู้ ฝ่ายฮาบีโบ้และมุคต๊าร พี่น้องสองคนของอะห์ม่าดู้ก็ไม่ยอมสวามิภักดิ์อีกต่อไปและหันไปร่วมมือกับพวกฝรั่งเศสซึ่งในช่วงนั้นกำลังรุกคืบเข้ามาในดินแดนแห่งนี้  ศูนย์กลางทางอำนาจของอะห์ม่าดู้ในซีญูก็ตกอยู่ในภาวะคับขัน 

 

 

ดังนั้นอะห์ม่าดู้และผู้ติดตามกลุ่มเล็กๆ ของเขาก็สละเมืองซีญูและใช้ชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอกในดินแดนของพวกอัลฮูซ่าจนกระทั่งเสียชีวิตในปีคศ.1898  หลานชายของท่านฮัจยีอุมัรที่ชื่ออัตตีญานีย์ได้ทำการปกครองเมืองซีญูต่อมา แต่ทว่าสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างซีญูกับผู้ปกครองแห่งอัลมาซีน่า  ที่ชื่อว่า  บาลบู  และหัวหน้าเผ่าสำคัญในติมบักตู  ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่า  บุกาอีย์  อันเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสามฝ่ายยังคงเกิดขึ้นต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้งและเกิดเรื่อยมาจนกระทั่งฝรั่งเศสได้รุกเข้ามายังดินแดนของซูดานจากปากน้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำเซเนกัล  พวกฝรั่งเศสได้ปราบปรามคู่พิพาททั้งสามลงอย่างราบคาบและแผ่อิทธิพลของตนสู่ดินแดนทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำไนนเจอร์ ในระหว่างปีคศ.1889- คศ.1892

 

 

ซามูรีย์

บุคคลสุดท้ายที่ได้พยายามสร้างอาณาจักรอิสลามขึ้นในซูดานตะวันตก  ก่อนหน้าการล่าเมืองขึ้นของซูดานตะวันตกนั้นเป็นบุรุษชาวอัลมาดันญีย์  ที่มีชื่อว่า  ซามูรีย์ อัตตุ้วะรีย์ (ตูรีย์) ลาฟียา  ซึ่งถือกำเนิดในหุบเขา  อัลบาวาลีย์ราวปี คศ.1835  ซามูรีย์ได้รวบรวมกำลังคนเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก  ท่านเป็นมุสลิมที่ศรัทธามั่นและถูกต้อง  แต่อย่างไรก็ตามท่านก็มิได้บรรลุถึงขั้นของฮัจยีอุมัร  ที่เราได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว  และในขณะที่ซามูรีย์ได้ลุกขึ้นต่อสู้และมีความมุ่งมั่นในการสถาปนาอาณาจักรขึ้นในดินแดนที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่าสาธารณรัฐกีเนียนั้นพวกฝรั่งเศสได้วางแผนการณ์สำหรับการแผ่อิทธิพลเหนือดินแดนเหล่านี้ทั้งหมดไว้แล้ว

 

 

ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวของซามูรีย์ในการสถาปนารัฐอิสลามขึ้นใหม่นั้นจึงล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง  พวกฝรั่งเศสระบุไว้ในข้อเขียนของพวกเขาว่า  ซามูรีย์เป็นเพียงหัวหน้ากลุ่มคนพื้นเมือง  หาใช่ผู้นำรัฐหรืออาณาจักรไม่และยังกล่าวอีกว่าท่านซามูรีย์ปกครองผู้คนด้วยการคุกคามสร้างความหวาดกลัว  หมู่บ้านใดไม่ยอมจ่ายส่วยให้แก่ท่าน  กำลังคนของท่านก็จะจู่โจมหมู่บ้านนั้นและปล้นสะดมทรัพย์สินและปิดท้ายด้วยการวางเพลิง  ข้อระบุและคำกล่าวเหล่านี้ที่พวกฝรั่งเศสกล่าวอ้างล้วนแต่เป็นเท็จทั้งสิ้นเพราะพวกที่ปล้นสะดมหมู่บ้านและวางเพลิงเมื่อชาวบ้านไม่ยอมจ่ายส่วยนั้น  แท้จริงแล้วก็คือพวกฝรั่งเศสนั่นเอง  หาใช่ใครอื่น

 

ท่านซามูรีย์  ได้ต่อสู้กับพวกล่าอาณานิคมเฉกเช่นการต่อสู้ของเหล่าวีรบุรุษ  ท่านได้ถือเอาฉายา อิหม่าม (ผู้นำ) เป็นฉายาของท่านและติดต่อซื้ออาวุธปืนแก่พลพรรคของท่านจากคลังแสงของอังกฤษซึ่งพวกอังกฤษได้สร้างขึ้นในดินแดนชายฝั่ง  พวกฝรั่งเศสสามารถบังคับให้อิหม่าม ซามูรีย์และทหารของท่านล่าถอยสู่ที่ราบสูงกีเนียด้วยอาวุธปืนใหญ่ที่ฝรั่งเศสมีอยู่หลายกระบอกและผลักดันพลพรรคของท่านออกจากไอเวอรี่ โคสต์ (ซาฮิลุ้ล  อ๊าจ) ดังนั้นท่านอิหม่ามซามูรีย์จึงได้มุ่งสู่ดินแดนอัปเปอร์ วอลต้า ที่นั่นท่านได้พบว่าตัวท่านและพลพรรคได้ถูกปิดล้อมให้อยู่ตรงกลางระหว่างกองทหารฝรั่งเศสที่เคลื่อนที่กำลังมาจากตะวันออก และกองทัพของฝรั่งเศสอีกด้านหนึ่งได้เคลื่อนกำลังพลขึ้นมาจากดินแดนอัลมูซ่า  แถมยังมีกองทหารอังกฤษที่ล่องขึ้นมาตามลำน้ำไนเจอร์  ดังนั้นท่านซามูรีย์จึงล่าถอยสู่เขตตอนเหนือของไลบีเรียในปัจจุบัน  แต่พวกจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นก็ไล่ล่าจับตัวท่านจนกระทั่งตกเป็นเชลยของพวกนี้ในเดือนกันยายน คศ.1898  พร้อมด้วยลูกชายและภรรยา  และได้เนรเทศท่านและครอบครัวสู่กาบอง และเสียชีวิต ณ ที่นั่นในปีคศ. 1900 

 

 

ด้วยการเสียชีวิตของท่านซามูรีย์ อัตตุวะรีย์เรื่องราวของอาณาจักรอิสลามต่างๆ ในซูดานตะวันตกก็จบลง  และดินแดนทั้งหมดก็ตกเป็นมรดกของพวกเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย  ซึ่งเริ่มแผ่อิทธิพลของตนและสร้างความมั่นคงให้กับอำนาจของตนด้วยเหล็กและไฟ  ผู้ที่ติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ไม่อาจจะมีความรู้สึกใดได้นอกจากจะต้องมีความรู้สึกทึ่งต่อสิ่งที่ชาวมุสลิมซูดานตะวันตกได้ทำการต่อสู้ในวิถีทางแห่งการสถาปนารัฐของกลุ่มชนที่กว้างใหญ่และมีระบบที่แน่นอนและรัดกุมโดยมีเหล่าบุคคลที่มีความสำคัญหลายต่อหลายท่านจากเผ่าอัลมาดันญีย์  อัลฟูล่า และอัตตักรู๊ร  ซึ่งได้ประจักษ์แล้วในช่วงที่ผ่านมาว่าล้วนแต่เป็นรัฐและอาณาจักรที่รุ่งโรจน์ที่เหล่าบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ได้สถาปนาขึ้นโดยไม่ได้ด้อยไปกว่าแบบฉบับของบรรดาบุคคลสำคัญที่ได้สถาปนาอาณาจักรอิสลามต่างๆ 

 

 

และเราได้ประจักษ์อีกเช่นกันว่าเหล่าอาณาจักรต่างๆ ในดินแดนแห่งนี้ได้ก่อกำเนิดอาณาจักรต่างๆ อันรุ่งเรือง และอารยธรรมที่รุ่งโรจน์แก่ชนชาติซูดานตะวันตกซึ่งต่อมาพวกล่าอาณานิคมก็ได้ทำลายอาณาจักรและอารยธรรมเหล่านี้ลงในการรุกราน  เรื่องมิได้ยุติเพียงเท่านี้  พวกล่าอาณานิคมยังได้พยายามบิดเบือนกิตติศัพท์ของอาณาจักรเหล่านี้และผู้คนอันเป็นพลเมืองในดินแดนแห่งนี้อีกด้วยจนกระทั่งผู้คนทั่วไปหลงเข้าใจไปว่า  ดินแดนแอฟริกาในขณะที่พวกยุโรปได้เข้ามาในดินแดนแห่งนี้มีชนเผ่าต่างๆ ที่ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม และเป็นพวกกินเนื้อคน และเข้าใจว่าชาวยุโรปคือผู้ที่นำเอาดินแดนเหล่านี้ออกจากความมืดมนดังกล่าวสู่ความสว่าง  แต่ทว่าความมุสาและความเหลวไหลทั้งหลายย่อมวิปลาสนาการไปดั่งผงธุลีที่ถูกลมพัด  และเหลือเพียงความจริงเพียงประการเดียว  และนี่คือการเปิดเผยถึงความรุ่งโรจน์ของเหล่าพี่น้องชาวแอฟริกัน  และสิ่งที่พวกเขาได้สรรค์สร้างเอาได้จากบรรดาอาณาจักรและอารยธรรมหลากหลายก่อนหน้าที่พวกล่าอาณานิคมจะปรามาสพวกเขาเหล่านั้นเสียอีก

 

 

จริงๆ แล้วพวกเราทั้งหลายได้เบาความอย่างมากทีเดียวต่อสิทธิของพี่น้องชาวซูดานตะวันตกซึ่งล้วนแต่เข้ารับอิสลามโดยสมัครใจและด้วยการยอมรับ พวกเขามีความยึดมั่นต่ออิสลามและทำหน้าที่เผยแผ่อิสลามในดินแดนของพวกเขา ทุ่มเททรัพย์สินในการนำเอาเหล่านักวิชาการศาสนาและปราชญ์สาขาต่างๆ สู่ดินแดนของพวกเขาเพื่อแผ่ขยายความรู้เกี่ยวกับอิสลามในด้านต่างๆ ที่นั่นให้กว้างขวางจวบจนประชากรส่วนใหญ่ของซูดานตะวันตกจรดดินแดนทิศเหนือของคองโกหรือแซร์ ในปัจจุบันได้กลายเป็นรัฐอิสลาม  ศาสนาอิสลามจะชะลอการเผยแผ่ในระหว่างชนพื้นเมืองเมื่อประจันหน้ากับพวกล่าอาณานิคมทั้งนี้เพราะภารกิจประการแรกที่พวกจักรวรรดินิยมต้องกระทำให้เกิดรูปธรรมมากที่สุดก็คือหยุดยั้งการรุดหน้าของอิสลาม 

 

 

กอปรกับการล่าอาณานิคมเมืองขึ้นของชาวตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาตั้งอยู่บนองค์ประกอบหลัก 2 ประการคือ สงครามและศาสนาควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหาร โดยมีเป้าหมายทำลายทุกอย่างที่พบตามเส้นทางการรุกรานจากความเจริญในท้องถิ่นที่เป็นแบบอิสลามในแอฟริกา เพื่อที่จะพูดได้ในภายหลังว่า พวกตน (หมายถึงพวกยุโรป) ได้เข้าสู่อาณาบริเวณแถบนี้ และได้พบกับชนพื้นเมืองที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในยุคหินดึกดำบรรพ์ ดังนั้นพวกตนจึงนำเอาอารยธรรมความเจริญเข้าสู่ดินแดนเหล่านี้ ผู้คนต่างก็หลงเชื่อเรื่องโกหกเช่นนี้ในเบื้องแรกและมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่เรื่องโกหกตอแหลเช่นนี้กลายเป็นเรื่องจริง

 

 

และรูปภาพของชนชาวแอฟริกันก็ถูกสร้างขึ้นในจินตนาการของพวกเขาก่อนยุคล่าอาณานิคมในรูปลักษณ์ของชีเปลือยที่ป่าเถื่อนเดินไปพร้อมกับมีหอกในมือเพื่อฆ่าคนทุกคนที่เขาพบโดยเฉพาะชนผิวขาว  ยิ่งไปกว่านั้นการยืนกรานของชาวตะวันตกที่มีต่อคำกล่าวอ้างเช่นนี้มีถึงขั้นที่ว่าพวกเขาได้ล้างสมองพวกเรา เพื่อเราจะได้เห็นด้วยกับพวกเขาในดินแดนแถบนี้  เราวาดรูปลักษณ์ของชนชาติแอฟริกันในรูปลักษณ์ที่มืดมนเช่นนี้เลยเถิดถึงขั้นว่ามีคนขาวนั่งอยู่ในภาชนะรูปทรงกระทะขนาดใหญ่  และมีคนผิวดำเปลือยกายกำลังเต้นระบำอยู่รอบๆ และที่มือของพวกเขาก็มีด้ามหอกที่ฉวัดเฉวียนเพื่อรอเวลาที่ชาวยุโรปผู้โชคร้ายจะถูกต้มสุกในกระทะใบนั้น  คนผิวดำก็จะได้กินเนื้อคนขาว

 

 

รูปภาพเช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่เคยชินและถูกถ่ายทอดไว้ในตำราและหนังสือพิมพ์ มาบัดนี้ เรื่องราวที่เหลวใหลเหล่านี้ทั้งหมดได้เป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า  ชนพื้นเมืองเหล่านี้ซึ่งอิสลามได้แผ่เข้าไปถึงในทวีปแอฟริกามิใช่คนป่าเถื่อน  ผู้ไร้อารยธรรมหรือเป็นพวกกินเนื้อคน  แต่พวกเขาเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูงส่งมีอาณาจักร  และระบอบของตนเอง  ส่วนหนึ่งจากมุสลิมซูดานในแถบนี้เป็นนักวิชาการและเหล่านักปราชญ์และดินแดนของพวกเขาเต็มไปด้วยมัสยิด

ภาพยนต์เรื่อง Roots (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Roots_(1977_miniseries)) 

 

เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ชนผิวดำในสหรัฐอเมริกามีความตื่นตัวมากกว่าพวกเราเสียอีกในการปฏิเสธข้ออ้างที่ปราศจากข้อเท็จจริงเหล่านี้  ในปัจจุบันมีชาวผิวดำบางคนที่เป็นอาจารย์สอนอยู่ในบางมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์แอฟริกาก่อนหน้ายุคล่าอาณานิคมและในช่วงเวลาแห่งการล่าเมืองขึ้น  เรื่องราวรูธ (รากเหง้า)  ของอเล็กซานเดอร์ เฮลลี่  ที่เป็นภาพยนตร์ย่อมเป็นข้อยืนยันได้อย่างดีถึงการให้ความสำคัญในส่วนนี้  หวังว่าท่านผู้อ่านเคยอ่านและชมเรื่องราวที่ว่านี้  เพื่อที่ท่านจะได้รับรู้ว่า  บรรพบุรุษของเฮลลี่  ผู้นี้คือชาวมุสลิมจากเผ่าอัลมาดันญีย์ (ที่ชื่อว่า คุนต้า คินเต้) ที่ถูกพวกพ่อค้าทาสจับตัวไปเพื่อเป็นสินค้าที่ถูกขายในสหรัฐอเมริกาในยุคสร้างชาติ