اليهود والصها ينة – ยิวและพวกไซออนิสต์ – Jews and Zionists

        การจัดตั้งกองกำลังทางการทหารของยิวไซออนิสต์ก่อนหน้าปี ค.ศ.1948
        (ปีที่ประกาศตั้งประเทศอิสราเอลเป็นทางการ)

        1. องค์กร บ๊ารฺ จิโอร่า (Bar Giora) : องค์กรลับทางการทหารของไซออนิสต์  ก่อตั้งโดย  ยิสอัก เบน เตสฟี่ย์, อิสราเอล ชูฮัฏ และชาวนิคมไซออนิสต์รุ่นแรกในปาเลสไตน์ปี ค.ศ.1907, คำขวัญขององค์กรคือ  “ด้วยเลือดและไฟ อาณาจักรยูดายห์ล่มสลาย และด้วยเลือดและไฟอาณาจักรยูดายห์จะฟื้นคืนชีพ” ชื่อขององค์กรนี้เอามาจากชื่อของชีมอน บ๊ารฺ จิโอร่า ผู้นำคนแรกของชาวยิวที่ก่อการขบถต่อจักรวรรดิโรมันในปาเลสไตน์ในระหว่างปี ค.ศ. 66-70, องค์กรบ๊ารฺ จิโอร่า จะทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองพวกยิวไซออนิสต์ที่เข้ามาตั้งนิคมอยู่ในเมืองอัลญะลีล และสร้างกองกำลังติดอาวุธของชาวยิวปาเลสไตน์ การปฏิบัติการขององค์กรนี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1909 โดยที่การพัฒนาขององค์กรได้เปิดโอกาสในการก่อตั้งองค์กรที่มีเครือข่ายและมีเสถียรภาพมากที่สุด คือองค์กร ฮา-ชอเมอร์ (องค์กรผู้พิทักษ์)

 

        2. องค์กร ฮา-ชอเมอร์ (Ha-shomer) : หรือองค์กรผู้พิทักษ์ : เป็นองค์กรทางทหารของไซออนิสต์ เรียกในภาษาฮิบรูว่า “ฮา-ซอเมอร์” หมายถึง ผู้พิทักษ์ (อัลฮาริสฺในภาษาอาหรับ) ก่อตั้งขึ้นในปาเลสไตน์ เมื่อปี ค.ศ.1909  โดย ยิสฮัก เบนเตสฟี่ย์, อิสราเอล ญัลอาดีย์, อเล็กซานเดอร์ ซัยด์ และอิสราเอล ชูฮัฎ  ซึ่งบุคคลหลังนี้เป็นมันสมองผู้ขับเคลื่อนนโยบายทางการเมืองขององค์กร และเป็นผู้นำขององค์กรที่มีอำนาจ,  สมาชิกขององค์กรส่วนใหญ่มาจากแนวร่วมของพรรคกรรมกรไซออนิสต์ และมาจากผู้อพยพรัสเซียรุ่นแรกๆ 

        อย่างไรก็ตาม องค์กร ฮา-ชอเมอร์ก็ปฏิเสธที่จะขึ้นกับอำนาจฝ่ายบริหารของพรรคโดยตรง  และปฏิเสธที่จะอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปาเลสไตน์ที่ขึ้นกับองค์กรไซออนิสต์สากล, ถือได้ว่าองค์กรฮา-ชอเมอร์เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากองค์กรบ๊ารฺ จิโอร่า  ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากความพยายามรุ่นแรกๆ ในการก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธของชาวยิวในปาเลสไตน์ มีหน้าที่ในการจัดตั้งนิคมชาวยิว และสนับสนุนการจัดตั้งนิคมชาวยิว 

        องค์กรฮา-ชอเมอร์ได้เริ่มต้นขึ้นในฐานะขององค์กรลับ และมีสมาชิกเมื่อแรกก่อตั้งไม่เกิน 30 คน,  มีหน้าที่ในการพิทักษ์คุ้มครองพวกนิคมชาวยิวไซออนิสต์ในเมืองอัลญะลีล เพื่อแลกกับเงิน  ต่อมาภายหลังองค์กรนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตอื่นๆ อีกด้วย  ถึงแม้จะถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้นำอัลยะชู๊ฟเดิม เพราะเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุพลเมืองชาวปาเลสไตน์ในการลุกฮือ, สมาชิกขององค์กรนี้คือชาวยิวที่พกติดอาวุธ พูดภาษาอาหรับได้ดี และสวมเสื้อผ้าเหมือนชาวอาหรับ หรือชาวเจอร์กิส  และสมาชิกจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นสมาชิกถาวรขององค์กรหลังจากผ่านฝึก และการทดสอบเป็นระยะเวลา 1 ปี และหลังจากได้รับฉันทานุมัติจากผู้เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีขององค์กร 2 ใน 3 ของเสียงผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว

        กิจกรรมและการเคลื่อนไหวขององค์กรมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการพิทักษ์คุ้มครองเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งอาณานิคมไซออนิสต์ในปาเลสไตน์อีกด้วย  โดยมีการจัดตั้งอาณาเขตแรกของไซออนิสต์ใน เทล อะคามชีมฺ (1913) ตามมาด้วยอาณานิคมในกุฟร์ ญัลอาดีย์ (1916) และอาณานิคมเทล ฮายฺ (1918) ตามลำดับ, องค์กร ฮา-ชอเมอร์ยังมีฝ่ายรับผิดชอบใน การฝึกกองกำลังทหารซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแกนหลักขององค์กรฮากานาฮฺ (Haganah) อีกด้วย

        ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และการรุกรานปาเลสไตน์ของอังกฤษนั้น กลุ่มหนึ่งจากบรรดาสมาชิกขององค์กรฮา-ชอเมอร์ ได้เข้าร่วมกับกองทหารยิวและร่วมรบอยู่ในฝ่ายของกองทัพอังกฤษ  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมรบอยู่กับฝ่ายของตุรกี และนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งภายในขององค์กรซึ่งพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดในระหว่างการประชุมสามัญประจำปีขององค์กร ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1920  โดยมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างการรักษาความเป็นอิสระขององค์กรกับการเปลี่ยนสภาพองค์กรไปสู่ความเป็นองค์กรที่เปิดกว้างสำหรับการต่อสู้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรสากลทางการเมืองซึ่งขึ้นกับอัลยะชู๊ฟ ที่เน้นภาระกิจการตั้งอาณานิคมของชาวยิว 

        ในท้ายที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้ยุบเลิกองค์กร และเข้าร่วมกับองค์กรฮากานาฮฺ แต่สมาชิกส่วนน้อยจำนวนหนึ่งยังคงยึดมั่นกับความคิดที่จะสานต่อองค์กร และการมีสิทธิขององค์กรในการรับผิดชอบปฏิบัติการทางทหารโดยไร้คู่แข่ง  กลุ่มสมาชิกเหล่านี้ยังคงเก็บรักษาคลังสรรพาวุธของพวกตนเอาไว้โดยไม่ยอมส่งมอบให้แก่ฮากานาฮฺ ยกเว้นในปี ค.ศ.1929  ซึ่งเกิดการลุกฮือ (อันติฟาเฎาะฮฺ) ของชาวอาหรับปาเลสไตน์

        3. องค์กรบีตาร์ (Betar) : คำว่า บีตาร์ เป็นคำย่อจากสำนวนในภาษาฮิบรูที่ว่า : “บรีต ยูเซฟ ตรอมบัลดู๊ร” หมายถึง พันธสัญญา ตรอมฺบัลดู๊ร หรือ พันธมิตรตรอมฺ บัลดู๊ร เป็นการจัดตั้งองค์กรของคนยิวไซออนิสต์ที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว  ก่อตั้งโดยยูเซฟ (ยูซุฟ-โจเซฟ) ตรอมฺ บัลดู๊ร ในโปแลนด์ ปี ค.ศ.1923  มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกขององค์กร สำหรับการใช้ชีวิตในปาเลสไตน์ โดยฝึกความชำนาญในด้านการเกษตรและให้การศึกษาแก่สมาชิก โดยใช้ภาษาฮิบรูเป็นภาษาหลัก 

        นอกเหนือจากการฝึกกำลังทหาร สมาชิกขององค์กรบีตาร์รับเอาอุดมการณ์ที่ได้รับอิทธิพลอย่างชัดเจนจากอุดมการณ์ของกลุ่มฟาสซิสต์ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในยุโรปขณะนั้น  พวกเขาจะได้รับการเรียนรู้เป็นต้นว่า เบื้องหน้ามนุษย์มีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางเลือก  ไม่มีทางเลือกที่ 3  คือ สงคราม หรือ ความตาย และทุกประเทศซึ่งมีสาส์นพันธกิจสถาปนาขึ้นบนคมดาบ และด้วยคมดาบเท่านั้น  กล่าวโดยรวม องค์กรนี้เป็นการสะท้อนแนวความคิดของ ญาบูตันสกี ผู้นำกลุ่มสังเคราะห์ไซออนิสต์

        กิจกรรมและการเคลื่อนไหวขององค์กรบีตาร์ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในโปแลนด์เท่านั้น แต่ได้แพร่หลายไปยังอีกหลายประเทศ  ในปี ค.ศ.1943 องค์กรนี้ได้จัดตั้งฐานบัญชาเพื่อการฝึกทางทะเลในอิตาลี และอีกแห่งหนึ่งเป็นฐานฝึกการบินในปารีส และมีการจัดตั้งสาขาต่างๆ ทั้งในเมืองอัลลุดด์ (1938) แอฟริกาใต้ (1939) นิวยอร์ก (1941) ฐานบัญชาการหลักของขบวนการตลอดจนองค์กรสูงสุดยังคงอยู่นอกประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งที่นั่นบรรดาสมาชิกของบีตาร์บางส่วน ได้สร้างนิคมทางการเกษตรของชาวยิวขึ้นหลายแห่ง

        องค์กรบีตาร์ได้แยกตัวจากองค์กรไซออนิสต์สากล ภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่าง ญาบูตันสกีกับบรรดาผู้นำขององค์กรไซออนิสต์  อันเป็นความขัดแย้งที่จบลงด้วยการแยกตัวเองออกมาของบีตาร์ และจัดตั้งเป็นองค์กรไซออนิสต์ใหม่ในปี ค.ศ.1934 อันเป็นผลพวงของการคัดค้านทางการเมืองของกลุ่มอิสตัดรูด  ภายในองค์กรบีตาร์ มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัคร ซึ่งเป็นฐานขององค์กรอิรฆุน ซึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายและชบวนการเฮรูต  และปรากฏว่า มอีรฺ กาฮานาฮฺ  ผู้ก่อตั้งกลุ่มก๊าดฺ ก็เคยเป็นสมาชิกในองค์กรบีตาร์มาก่อน

 

        4. กองทัพยิว (Jewish Legion) : คือการจัดตั้งของกองกำลังทหารที่เป็นอาสาสมัครชาวยิวที่เคยร่วมรบกับฝ่ายกองทัพอังกฤษ และสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิเช่น กองกำลังยิวที่ 38  ซึ่งมีการเกณฑ์ในอังกฤษระหว่างปี ค.ศ.1915-1917 และกองกำลังที่ 39 ซึ่งก่อตั้งโดย เบนกูเรียน และเบนเตสฟี่ย์ ในสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ.1917-1918 และกองกำลังที่ 40 ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปาเลสไตน์ ตลอดจนบรรดากองกำลังที่ใช้อาวุธปืนเป็นหลัก และหน่วยล่อไซออนิสต์ซึ่งจัดตั้งโดย ญาบูตันสกี และตรอมบัลดู๊รฺ ในอียิปต์ปี ค.ศ.1915  จำนวนสมาชิกของกองกำลังจัดตั้งเหล่านี้มีมากถึง 6,400 นาย ทั้งหมดถูกเรียกภายใต้ชื่อ “กองทัพยิว”

        ความคิดในการจัดตั้งกองกำลังเหล่านี้ย้อนกลับไปยังจินตนาการของพวกไซออนิสต์ที่ว่าการช่วยเหลืออังกฤษ ซึ่งเป็นกองทัพล่าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นเหนือพวกเขา  ทั้งนี้เพื่อที่อังกฤษจะได้ช่วยเหลือพวกเขาในการสถาปนาประเทศของชนชาติยิว พวกไซออนิสต์ต้องเผชิญกับอุปสรรคอันใหญ่หลวงในช่วงแรกๆ โดยที่กระทรวงกลาโหมของอังกฤษไม่ได้ให้ความสำคัญต่อพวกเขา และพวกยิวที่กลมกลืนกับชาวอังกฤษก็โจมตีพวกไซออนิสต์ ตลอดจนพวกฝ่ายซ้ายในหมู่คนหนุ่มสาวชาวยิวก็ไม่เห็นด้วย

        ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะบรรยากาศของอังกฤษในเวลานั้นมีอคติในเชิงลบต่อพวกยิวต่างชาติที่เข้ามาจากรัสเซีย  และตั้งหลักแหล่งอยู่ในอังกฤษ และประกอบอาชีพในอังกฤษ โดยที่พวกเหล่านี้ไม่ต้องรับภาระแต่อย่างใดในการปกป้องอังกฤษ  ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลของอังกฤษจึงได้เร่งรุดในการเกณฑ์ทหารพวกยิวต่างชาติ (ที่ไม่ถือสัญชาติอังกฤษ) เพื่อบรรเทาอารมณ์ขุ่นเคืองที่มีต่อสถานภาพในเชิงอภิสิทธิชนของพวกนี้  และการดำเนินการเช่นนี้คือโครงสร้างสำคัญที่นำไปสู่การอ่อนลงของพวกยิวฝ่ายค้านที่มีต่อความคิดในกองจัดตั้งกองกำลังทหารไซออนิสต์

        ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1916 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศเห็นชอบตามข้อเสนอของญาบูตันสกี้ ในการจัดตั้งกองกำลังชาวยิว  การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการออกสัญญาบัลโฟร์  ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้น  และมีเจตนาที่จะมุ่งทำให้กองกำลังชาวยิวมีความจงรักภักดีต่ออังกฤษ  แต่ทว่าฝ่ายค้านของไซออนิสต์ก็ประสบความสำเร็จในการขัดขวางแผนการนี้  ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกองกำลังนี้ว่า  “กองกำลังที่ 38  พลปืนรักษาพระองค์ ” โดยมีนายทหารชาวอังกฤษ  จอห์น  บาเตอร์สัน  เป็นผู้บัญชาการ  กองกำลังที่  38  ได้รับการฝึกในอังกฤษและอียิปต์  ต่อมาก็มุ่งหน้าสู่ปาเลสไตน์

        และถึงแม้ว่ากองกำลังที่ 38   จะได้มีส่วนในการโจมตีเขตตะวันออกของจอร์แดนและยึดครองเมือง อัสฺสะลัฎ ในกันยายนปี ค.ศ. 1918  ก็ตาม  แต่ทว่าการทำหน้าที่ของกองกำลังก็ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก  เนื่องจากเกิดมาลาเรียในหมู่ทหารของกองกำลัง  อันเป็นสิ่งที่ทำให้ทหารเป็นจำนวนมากหนีทัพจากแนวรบ  (เบนกูเรียนก็เป็นผู้หนึ่ง)  และทำให้กองกำลังต้องแตกพ่ายไปในที่สุด

        ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงคราม  รัฐบาลของอเมริกาได้มีมติให้จัดตั้งกองกำลังที่มาจากชาวยิวสัญชาติอเมริกันและและอาสาสมัครจากแคนนาดาและอาร์เจนติน่าในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1918  และเรียกว่า  “กองกำลังที่ 39”  ส่วนหนึ่งจากกองกำลังนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายสู่อียิปต์ และเขตตะวันออกของจอร์แดนในช่วงกลางปี ศ.ศ. 1918  ในขณะที่ทหารส่วนใหญ่ของกองกำลังได้มาถึงปาเลสไตน์ภายหลังสงครามได้เสร็จสิ้นลง  (สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1918)

        ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1918  การจัดตั้งกองกำลังที่ 40  ก็เสร็จสิ้นตามข้อเสนอของผู้บัญชาการกองกำลังสกอตแลนด์ในปาเลสไตน์  ซึ่งเรียกร้องให้มีการเกณฑ์ชาวยิวในเขตปกครองของกองทัพอังกฤษ  กองกำลังที่ 40 ได้รับการฝึกใน  เทล อัลกะบีร  และไม่ได้เข้าร่วมในการโจมตีเขตตอนเหนือของปาเลสไตน์  ในปี  1918  แต่กองกำลังนี้ก็ถูกเคลื่อนย้ายสู่ปาเลสไตน์ในตอนปลายปีดังกล่าว

         และพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1  นั้นมีกองกำลังของชาวยิวถึง 3  กอง  ตั้งมั่นอยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์  ทั้งหมดมีกำลังทหารราว  5,000  นาย  ถือเป็น 1 ใน 6  ของกองทัพอังกฤษ  และชื่อของกองกำลังทั้ง 3 ก็กลายเป็น  “กองกำลังฮิบรู”  มีคำขวัญ  อัลมีนูรอฮฺ  (คือ คำขวัญอัลกอบบาลาฮฺ  หลังจากนั้นคือประเทศไซออนิสต์)  และหลังจากการยึดครองปาเลสไตน์ของอังกฤษเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว  รัฐบาลอังกฤษก็เริ่มปลดปล่อยกองกำลังดังกล่าวโดยไม่สนใจการเรียกร้องขององค์กรไซออนิสต์สากลที่ร้องขอให้เพิ่มจำนวนทหารของกองกำลังและคงกองกำลังเอาไว้ภายในสังกัดกองทัพอังกฤษ  ในปี ค.ศ. 1921  การยุบกองกำลังเหล่านี้ก็เสร็จสิ้นลง  และสมาชิกของกองกำลังส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมสบทบกับ  ฮากานาฮฺ

 

        5. หน่วยล่อไซออนิสต์  (Zion Mule Corps) : เป็นหน่วยทหารไซออนิสต์ที่คอยสนับสนุนกองทัพอังกฤษ  ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1915  หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประทุขึ้น  และญาบูตันสกี้ก็คือบุคคลแรกที่มีความคิดในการจัดตั้งหน่วยนี้ขึ้นเพราะเขายอมรับว่าการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการหลุดพ้นจากการปกครองของออตโตมานในปาเลสไตน์  และมีความจำเป็นที่จะต้องมีกองกำลังติดอาวุธของชาวยิวสำหรับการก่อตั้งรัฐไซออนิสต์  ญาบูตันสกี้ได้ติดต่อกับตรอมบัลดู๊ร  เพื่อร่วมกันเกณฑ์ทหารอาสาสมัครจากพลเมืองยิวที่ถูกฝ่ายบริหารของออตโตมานขับออกจากปาเลสไตน์ไปยังอียิปต์เพราะชาวยิวเหล่านั้นมิใช่พลเมืองของออตโตมาน 

        เป้าหมายจากสิ่งดังกล่าวคือการวางกองกำลังชาวยิวให้อยู่ภายใต้การบัญชาการของกองทัพอังกฤษในระหว่างที่อังกฤษรุกรานปาเลสไตน์  แต่นายพล แมกซ์เวล  แม่ทัพอังกฤษในอียิปต์ขณะนั้นปฏิเสธความคิดดังกล่าวเพราะเป็นการขัดกับระเบียบการเกณฑ์ทหารพลเมืองต่างชาติ  และเสนอให้บทบาทของทหารอาสาสมัครจำกัดอยู่เฉพาะการสนับสนุนกองทัพอังกฤษในการขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์และสรรพาวุธ ให้กับกองกำลังที่สู้รบอยู่ในที่ใดก็ตามของปาเลสไตน์ 

        ถึงแม้ว่าญาบูตันสกี้จะคัดค้าน  แต่ตรอมบัลดู๊รก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว  จึงมีภารกิจตั้งหน่วยทหารจากชาวยิวสัญชาติอียิปต์และชาวยิวบางส่วนที่อาศัยอยู่ในอเล็กซานเดรีย  หน่วยทหารพิเศษนี้มีนายทหารและพลทหาร 650 นาย  มีม้า 20 ตัว สำหรับนายทหารและผู้สนับสนุน  และล่อจำนวน 750 ตัว (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหน่วย)  หน่วยนี้ใช้ดาวเดวิดเป็นสัญลักษณ์ของหน่วย  และใช้ภาษาฮิบรูในการฝึก

        ในเดือนเมษายน ศ.ศ.1910  หน่วยล่อไซออนิสต์ได้ลงเรือไปยังกาลีโปลี  ภายใต้การนำของนายทหารอังกฤษ จอห์น พาเตอร์สัน  และปฏิบัติการอย่างแข็งขันในด้านขนถ่ายเสบียงและเข้าร่วมรบในบางครั้ง  ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1915  พาเตอร์สันได้วางมือจากการเป็นผู้บังคับการหน่วยเนื่องจากล้มป่วย  ตรอมบัลดู๊รจึงเข้ารับหน้าที่แทนซึ่งเขาต้องเผชิญกับปัญหาในการบัญชาการหน่วยบางประการ  เนื่องจากความไร้ระเบียบของพลทหารในสังกัดหน่วยบางส่วนและมีการขัดแย้งกันในเรื่องชาติพันธุ์  เพราะตรอมบัลดู๊รเป็นยิวเชื้อสายอิชกิมาซีย์  แต่พลทหารบางส่วนเป็นยิวเชื้อสาย ซาฟาริดฺ 

        และภายหลังกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถอนกำลังออกจากกาลีโปลีในตอนปลายปี  หน่วยล่อไซออนิสต์ก็ถูกยุบเลิกและกลับสู่อียิปต์  หลังจากที่มีทหารในสังกัดหน่วยเสียชีวิต 8 นายและบาดเจ็บ 55 นาย  ตรอมบัลดู๊รและผู้นำกลุ่มไซออนิสต์ได้พยายามขัดขวางในการยุบเลิกหน่วยเพื่อที่ว่าสมาชิกในหน่วยจะได้ทำสงครามในปาเลสไตน์ แต่หน่วยก็ถูกยุบลงอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1916  ในเวลาต่อมาอาสามัครจำนวน 150 คน จากอดีตสมาชิกของหน่วยก็ถูกรับเข้าเป็นพลทหารในกองทัพอังกฤษและกลายเป็นกำลังหลักในกองทัพยิว  ถึงแม้ว่าอายุของหน่วยนี้จะสั้น  แต่หน่วยล่อไซออนิสต์ก็ถือเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายที่ชัดเจนภายใต้ความพยายามของขบวนการไซออนิสต์ที่จะจัดตั้งกองกำลังทหารและการกำหนดนโยบายของพวกเขาในกรอบของการล่าอาณานิคมและการแสดงบทบาทในฐานะกองกำลังหนึ่งของฝ่ายล่าอาณานิคม

 

        6. กองตำรวจโนธรีม (Notrim) : คำว่า “โนธรีม”  เป็นคำฮิบรูหมายถึง  องค์รักษ์หรือผู้รักษาความปลอดภัย  เป็นกองตำรวจชาวยิวที่อาณานิคมอังกฤษก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มฮากานาฮฺในการปราบจลาจลของชาวอาหรับในปาเลสไตน์ช่วงปี ค.ศ. 1936-1939  โดยระดมกำลังพลจากหน่วยรักษาความปลอดภัยจากเมืองและนิคมต่างๆ และถูกส่งเข้าไปคุ้มครองนิคมต่างๆ ของชาวยิวที่ตั้งอยู่ในเขตชายแดน  และแนวตะเข็บของจอร์แดน  กองกำลังตำรวจโนธรีมในตอนแรกมีกำลังพล 750 นาย  โดยอังกฤษเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย  และอีก 1,800 นาย  มีผู้นำของนิคมชาวยิวเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 

        ในปี ค.ศ.1936  มีการประท้วงเดินขบวนของชาวอาหรับมากขึ้นจึงมีการระดมกำลังเพิ่มเป็น 1,240 นาย  และถูกเรียกว่า  “กองรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม” ในปี ค.ศ. 1938  บรรดาผู้นำนิคมชาวยิวได้เข้ามาจัดระเบียบกองกำลังดังกล่าวให้มีเอกภาพและกลายเป็นกองกำลัง ฮากานาฮฺ  กองตำรวจของชาวยิวนี้มีภารกิจในการรักษาความปลอดภัยขบวนรถไฟ  เส้นทางเดินรถไฟและสาธารณูปโภค  ตลอดจนมีส่วนในการเคลื่อนย้ายชาวยิวอพยพที่เข้ามายังปาเลสไตน์โดยผิดกฎหมายอีกด้วย

 

        7. กองกำลัง  ฮากานาฮฺ  (Haganah)  :  คำว่า  “ฮากานาฮฺ”  เป็นคำฮิบรู  หมายถึง  “การป้องกัน”  เป็นกองกำลังทางทหารของนิคมชาวยิวไซออนิสต์  ถูกจัดตั้งใน  อัลกุดส์  เมื่อปี  ค.ศ. 1920  เพื่อเข้ามาแทนที่องค์กร  ฮา-ชอเมอร์  การจัดตั้งกองกำลังฮากาน่าฮฺเป็นผลมาจากการถกเถียงอย่างยาวนานระหว่างกลุ่มผู้นำนิคมชาวยิวในปาเลสไตน์  โดยญาบูตันสกี้  เป็นเจ้าของความคิดในการจัดตั้งกองกำลังชาวยิวอย่างเปิดเผยเพื่อสนับสนุนอังกฤษ  ในระหว่างที่ผู้นำสหพันธ์แรงงานและอัลมาบายฺ  เลือกที่จะสร้างกองกำลังติดอาวุธอย่างไม่เป็นทางการและเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารของอังกฤษอย่างสมบูรณ์และเป็นกองกำลังใต้ดิน  ในตอนท้ายข้อเสนอของ  เอลยาฮูญูลัมฺบ์  ที่ให้มีการก่อตั้งกองกำลังทางทหารใต้ดินภายใต้ชื่อ  ฮากาน่าฮฺ  และพูดา  (หมายถึง  การป้องกันและการปฏิบัติ  ต่อมาเหลือเพียงแค่คำว่า   ฮากานาฮฺ)  ก็ถูกตอบรับ 

        ในช่วงแรก  ฮากานาฮฺ  มีความสัมพันธ์กับสมาพันธ์แรงงานและพรรค  อัลมาบายฺ  ตลอดจนพรรค  ฮิสตัดรูด  ถึงแม้ว่าฝ่ายฮากานาฮฺจะมีข้อตกลงว่ากลุ่มของตนอยู่เหนือความเป็นพรรคและเป็นเพียงการรวมตัวของกลุ่มนิคมชาวยิวเท่านั้นก็ตาม  การดำเนินกิจกรรมของฮากานาฮฺได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างองค์กรต่างๆ ของไซออนนิสต์ในการตั้งนิคมและองค์กรทางทหารและเกษตร  ซึ่งมีเป้าหมายยังการบุกรุกที่ดิน  การเป็นแรงงานในการผลิตและการให้ความคุ้มครองความปลอดภัย  ถึงแม้ว่าการให้ความสำคัญหลักของฮากานาฮฺจะเป็นในด้านปฏิบัติการทางทหารก็ตาม 

        ในปี 1929  ฮากานาฮฺ  ได้เข้าร่วมในการปราบจราจลของชาวอาหรับปาเลสไตน์  (อินติฟาเฎาะฮฺ)  และโจมตีบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวอาหรับตลอดจนจัดตั้งการเดินขบวนต่างๆ เพื่อก่อกวน  ยั่วยุ  และสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวอาหรับ  อีกทั้งยังได้มีส่วนในภาระกิจการจัดตั้งนิคมโดยเฉพาะการคิดค้นวิธีการที่มีสโลแกนว่า  “กำแพงและหอรบ”  เพื่อสร้างนิคมชาวยิวภายในวันเดียว  นอกเหนือจากนี้  ฮากานาฮฺยังทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยแก่นิคมชาวยิว  นับแต่การเริ่มก่อตั้งกลุ่มอีกด้วย

        กองกำลัง  ฮากานาฮฺ  ต้องเผชิญกับความแตกแยกหลายต่อหลายครั้ง  ที่เด่นชัดที่สุดคือในปี  1931  ฝ่ายที่มิใช่สมาชิกของฮิสตัดรู๊ด ภายใต้การนำของ อับราฮาม ตีโฮมีย์  ได้แยกตัวออกมาจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า  “ฮากานาฮฺ บี”  ซึ่งผนวกรวมกับองค์กร บีตาร์ ในปีเดียวกันเพื่อจัดตั้งองค์กร เอ็ธเซล (Etzel) ความขัดแย้งและความพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างฮากานาฮฺและกลุ่ม ที่แยกตัวออกจากองค์กรยังคงไม่สิ้นสุดและดำเนินต่อมาจวบจนภายหลังการสถาปนารัฐอิสราเอล

        ในช่วงปีที่มีการลุกฮือของชาวอาหรับปาเลสไตน์ (อินติฟาเฎาะฮฺ)  (1936-1939)  นั้นเป็นช่วงเวลาที่ประจักษ์ชัดถึงความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างฮากานาฮฺและกองทัพยึดครองของอังกฤษ  โดยเฉพาะการแต่งตั้ง  ชาร์ล  เวนเจต  ให้เป็นนายทหารของหน่วยข่าวกรองของอังกฤษในปาเลสไตน์  ปี 1936  โดยนายทหารผู้นี้มีหน้าที่ดูแลการจัดตั้งกลุ่มที่ปฏิบัติภารกิจในเวลากลางคืนและกองลาดตระเวนตลอดจนประสานงานกับฝ่ายข่าวกรองของอังกฤษ  และฝ่ายข่าวกรองของฮากานาฮฺรู้จักกันในชื่อ  “อัล-บาย”  ในเวลาเดียวกันกองทัพอังกฤษและฮากานาฮฺก็ร่วมกันจัดตั้งกองตำรวจรักษาความปลอดภัยนิคมชาวยิวและโนธรีม  ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จากกองกำลังฮากานาฮฺ 

        ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายได้ผ่านช่วงเวลาตึงเตรียดสั้นๆ  ภายหลังการออกหนังสือปกขาวในปี 1939  โดยที่ฮากานาฮฺได้เผชิญหน้ากับนโยบายในหนังสือปกขาวด้วยการสนับสนุนให้มีการอพยพอย่างผิดกฎหมายของชาวยิว  นอกเสียจากว่าการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันเก่าก่อนระหว่างสองฝ่ายกลับมาอีกครั้ง  ทั้งนี้พวกไซออนิสต์ถือว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวคือโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ที่เข้าสู่สงครามและการทำให้นโยบายการจัดตั้งรัฐไซออนิสต์เป็นจริง  เหตุนี้เอง ฮากานาฮฺจึงยืนเคียงข้างอังกฤษและสัมพันธมิตร  สมาชิกส่วนใหญ่ของฮากานาฮฺก็เข้าร่วมในสังกัดกองทัพยิวเพื่อทำสงครามร่วมกับฝ่ายกองทัพอังกฤษ 

        กลุ่มฮากานาฮฺต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มยิวอื่นๆ ที่เรียกร้องในเวลานั้นให้เข้าร่วมกับนาซีโดยมีองค์กร เลฮี เป็นผู้นำ  แต่กลุ่มฮากานาฮฺก็ได้ให้ข้อมูลในการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรดังกล่าว  ซึ่งทำให้อังกฤษจับกุมผู้เคลื่อนไหวเหล่านั้น  ในทางตรงกันข้าม อังกฤษได้ช่วยเหลือในการจัดตั้งและฝึกกองกำลังพิเศษของฮากานาฮฺที่เรียกว่า  พัลม๊าค  และจัดตั้งหน่วยพลรบจากสมาชิกของฮากานาฮฺเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในเขตต่างๆ ของยุโรปที่กองทัพนาซียึดครอง  และพร้อมกับการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2  การขัดแย้งครั้งใหม่ก็ระเบิดขึ้น  ฮากานาฮฺก็ได้เข้าร่วมกับเลฮีและเอ็ธเซล  ในปฏิบัติการทำลายสถานที่ราชการของอังกฤษระเบิดสะพานและเส้นทางรถไฟ  ซึ่งเรียกกันว่า : ขบวนการต่อต้านของฮิบรู  ตลอดจนฮากานาฮฺก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในความพยายามเคลื่อนย้ายผู้อพยพชาวยิวที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ดินแดนปาเลสไตน์

        และก่อนหน้าการประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลเพียงเล็กน้อย  จำนวนกองกำลังของฮากานาฮฺมีมากถึง 36,000 นาย  นอกเหนือจากสมาชิกของพัลม๊าคฺที่มีจำนวน 3,000 คน  และโครงสร้างของฮากานาฮฺในการดำเนินการก็เป็นไปอย่างสมบูรณ์  อันเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับการแปรสภาพองค์กรสู่การเป็นกองทัพที่เป็นเอกภาพและมีความชำนาญการรบสำหรับรัฐไซออนิสต์  โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม 1948  เบนกูเรียนได้ประกาศมติยกเลิกโครงสร้างเดิมขององค์กรฮากานาฮฺและเปลี่ยนสภาพเป็นกองทัพป้องกันอิสราเอลในที่สุด

 

        8. หน่วยพัลมาคฺ (Palmach) : บัลมาค หรือ พัลมาคฺ  เป็นคำย่อจากสำนวนฮิบรูที่ว่า  “บะลูญูต มาฮาตฺซ์”  หมายถึง หน่วยปฏิบัติการสายฟ้าแลบ  เป็นกองกำลังพิเศษของฮากานาฮฺ  ซึ่งก่อตั้งในปี 1941  เพื่อปฏิบัติภารกิจแนวหน้าและมีศักยภาพสำคัญโดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 2  และยังเป็นกองหนุนของฮากานาฮฺสำหรับนักรบที่ถูกฝึกเอาไว้เป็นอย่างดี  มี ยิสฮัก ซาฮีฮฺ  เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบุคคลแรกที่บัญชาการหน่วยรบนี้  หน่วยพัลมาคฺ  ในช่วงแรกๆ มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการคิบบุชต์และพรรคอัลมาบามฺ  สมาชิกของหน่วยนี้มีความรู้ทางการเมืองเป็นอย่างดีตามอุดมการณ์ของกลุ่มไซออนิสต์แรงงาน  และได้รับการฝึกอย่างเหมาะสมในด้านอากาศยาน,  นาวิกโยธิน  และการใช้เรดาร์ตลอดจนการหาข่าว 

        หน่วยพัลมาคฺยังได้แบ่งออกเป็นหน่วยปฏิบัติการภายในอีกหลายส่วน  อาทิเช่น  กองลาดตระเวน  ซึ่งสนับสนุนการหาข่าวและจัดเตรียมเอกสารที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเขตต่างๆ ของปาเลสไตน์, “เครือข่ายอาหรับ”  ซึ่งเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษในซีเรียและเลบานอน, “เครือข่ายบอลข่าน”  ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวยิวอพยพ บางส่วนที่มาจากคาบสมุทรบอลข่านและลุ่มแม่น้ำดานู๊บ  โดยทำหน้าที่เป็นสายลับในเขตแดนดังกล่าว 

        “เครือข่ายเยอรมัน”  เป็นเครือข่ายที่รวมเอาชาวยิวที่ถูกฝึกตามแบบของเยอรมันและมีความเชี่ยวชาญภาษาเยอรมันเพื่อลอบเข้าไปยังค่ายเชลยศึกของเยอรมันและหาข้อมูลในค่ายดังกล่าว  หน่วยที่สำคัญที่สุดของพัลมาคฺ คือ หน่วยมุสตะอฺริฟีม (พวกยิวอาหรับ)  ซึ่งรวมเอากลุ่มชาวยิวที่มีความเชี่ยวชาญภาษาอาหรับ  ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างชาวอาหรับเพื่อเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง  สังคม  เศรษฐกิจ  ตลอดจนการลอบสังหารชาวอาหรับ

        ในระหว่างปี 1941-1942  หน่วยพัลมาคฺได้ประสานงานเป็นอย่างดีกับกองทัพบกอังกฤษในปาเลสไตน์  และสมาชิกของหน่วยได้รับการฝึกอย่างเข้มข้นโดยเชี่ยวชาญของกองทัพอังกฤษเพื่อปฏิบัติการตลบหลังพวกเยอรมันในกรณีที่กองทัพนาซีเยอรมันเข้ายึดครองปาเลสไตน์ได้สำเร็จ  ขณะที่สงครามโลกสิ้นสุดลงนั้น  หน่วยพัลมาคฺมีสมาชิกราว 2,000 นาย  แบ่งออกเป็น 11 กลุ่มย่อย 

        และหนึ่งในสามของกองกำลังเป็นวัยรุ่นผู้หญิงและนับแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1945  จนถึงฤดูร้อนของปี 1946  หน่วยพัลมาคฺได้เข้าร่วมสนับสนุนองค์กรเอธซิลและเลฮีในปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านกองทัพอังกฤษในปาเลสไตน์ซึ่งรวมถึงการระเบิดเส้นทางรถไฟ  สะพาน  และสถานีเรดาร์ต่างๆ  ตลอดจนการจมเรือรบของอังกฤษและอื่นๆ  จากภาระกิจการทำลายล้างซึ่งเรียกกันว่า  ขบวนการต่อต้านของฮิบรู  และเมื่อมีการเผชิญหน้าระหว่าง 2  ฝ่ายมากขึ้น  พร้อมกับการค้นพบคลังสรรพาวุธสำคัญของฮากานาฮฺจากฝ่ายอังกฤษ  จึงมีคำสังให้พัลมาคฺมุ่งความพยายามของตนในการสนับสนุนการอพยพของกลุ่มชาวยิวสู่ปาเลสไตน์และให้ความคุ้มครองเหล่าผู้อพยพ

        ในปี ค.ศ. 1948  หน่วยพัลมาคฺเป็นกองกำลังหลักที่ต่อต้านกองทัพอาหรับในเขต  อัลญะลีลเหนือ, นักบู, ซีนาย  และเยรูซาเล็ม  ในการสู้รบดังกล่าวสมาชิกของหน่วยพัลมาคฺมากกว่าหนึ่งในหกต้องสูญเสียไป  ซึ่งในขณะนั้นมสมาชิกอยู่ราว 5,000 นาย

        หลังการสถาปนารัฐอิสราเอล  มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรค อัลมาบายฺ  และ อัลมาบามฺ  ฝ่ายเบนกูเรียนได้ยืนกรานในการยุบเลิกหน่วยพัลมาคฺซึ่งเป็นพวกนิยมฝ่ายซ้ายเพื่อก่อตั้งกองทัพอิสราเอลที่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง  สิ่งดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง  แต่ทว่าบรรดาผู้นำของพัลมาคฺก็ยอมรับข้อเสนอในท้ายที่สุด  หน่วยพัลมาคฺจึงถูกยุบรวมและกลายเป็นกองกำลังพิเศษในการจู่โจมของกองทัพป้องกันตนเองแห่งอิสราเอล  ซึ่งส่วนหนึ่งของกองกำลังพิเศษนี้มีผู้นำทหารคนสำคัญหลายคน  อาทิเช่น  อาลอน ราบิน, บารฺลิฟ, อิลีอาซิรฺ และฮู๊รฺ  เป็นต้น

 

        9. องค์กรทหาร อิธเซลฺ  (Etzel) : คำว่า เอธเซลฺ หรือ อิธฺเซลฺ  เป็นคำย่อของสำนวนฮิบรูว่า  “อิรฺฆุน  เธสฺฟาย ลิยูมี  บารฺตัส  อิสราเอล”  หมายถึง  องค์กรทหารต่างชาติในแผ่นดินอิสราเอล  รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า  อิรฆุน (Irgun)  อันเป็นองค์กรทหารไซออนิสต์  ที่ถูกตั้งขึ้นในปาเลสไตน์  เมื่อปี 1931 จากกลุ่มสมาชิกของฮากานาฮฺที่แยกตัวออกจากองค์กรแม่และจากกลุ่มติดอาวุธขององค์กรบีตาร์ บุคคลสำคัญที่ก่อตั้งองค์กรทหารอิธเซล คือ โรเบิร์ต เบธการ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคนแรกขององค์กร, อับราฮามยัธฮุมี (ซิลเบอร์), โมเธ่อ รอซฺซัลเบิร์ก, เดวิด ราซาเอล และยาคอบ มิร์เดอร์ องค์กรอิธเซลตั้งขึ้นตามความคิดของ วลาดิเมียร์ ญาบูตันสกี้ที่ระบุถึงความจำเป็นในการมีกองกำลังติดอาวุธของชาวยิวในการสถาปนารัฐอิสราเอล และสิทธิของชาวยิวทุกคนในการเข้ามายังปาเลสไตน์ สัญลักษณ์ขององค์กรเป็นรูปมือจับปืน และเขียนคำว่า “อย่างนี้เท่านั้น”  เอาไว้ด้านล่าง

        ในปี ค.ศ. 1937  อับราฮาม ยัธฮุมี ประธานองค์กรในเวลานั้นได้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มฮากานาฮฺเพื่อผนวกรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน สิ่งดังกล่าวได้นำไปสู่ความแตกแยกในองค์กร อิธเซลซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของยัธฮูมี  ยกเว้นสมาชิกที่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกองค์กรทั้งหมดซึ่งมีจำนวน 3,000 คน ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าควรรักษาสถานภาพอันเป็นอิสระขององค์กรเอาไว้ และในปี ค.ศ. 1940 ก็เกิดความแตกแยกอีกครั้งด้วยการแยกตัวของกลุ่มอับราฮาม เฮธรอน ซึ่งในภายหลังได้รวมตัวกับก่อตั้งองค์กรเลฮี 

        เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับท่าทีจำเป็นจากการสังกัดกับฝ่ายที่พิพาทกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 สมาชิกของเฮธรอนเห็นว่าจำเป็นต้องสนับสนุนกองทัพนาซีเยอรมัน เพื่อทำให้อังกฤษพ่ายแพ้สงคราม อันจะเป็นผลทำให้ปาเลสไตน์หลุดพ้นจากอาณัติของอังกฤษ และทำให้การสถาปนารัฐไซออนิสต์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ในขณะที่องค์กรแม่เห็นว่าต้องเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษโดยเฉพาะในด้านการข่าว

        จวบจนถึงปี ค.ศ.1939 กิจกรรมหลักขององค์กรอิธเซลมุ่งสู่การต่อต้านชาวปาเลสไตน์ และภายหลังการออกสมุดปกขาว กองทัพอังกฤษในปาเลสไตน์ก็กลายเป็นเป้าสำหรับปฏิบัติการทำลายล้างจากทางองค์กรนอกเหนือจากการสนับสนุนการอพยพที่ผิดกฏหมายของชาวยิวเข้าสู่ปาเลสไตน์  และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น กิจกรรมของอิธเซลในการต่อต้านอังกฤษก็หยุดลง และเริ่มสนับสนุนอังกฤษในการต่อต้านนาซี 

        ทว่าเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงการเผชิญหน้าครั้งใหม่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง  โดยการประสานงานระหว่าง  อิธเซลฺ และ เลฮี  ตลอดจนฮากานาฮฺในการโจมตีสาธารณูปโภคและสถานที่ราชการของอังกฤษในปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้นภายใต้ขบวนการต่อต้านของฮิบรู  และในช่วงนี้เองบทบาทของมานาฮิม เบกิม  ผู้นำอิธเซฺลใหม่ก็เริ่มปรากฎชัด

        การปฏิบัติการก่อวินาศกรรมซึ่ง อิธเซฺล ได้ดำเนินการกับเกษตรกรชาวปาเลสไตน์มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในการกดดันให้เกษตรกรบางส่วนจำต้องออกจากดินแดนปาเลสไตน์  และองค์กรนี้ยังได้หันไปโจมตีรถโดยสารของชาวอาหรับ  ตลอดจนการสังหารหมู่ใน  ดีร  ยาซีน  (เมษายน 1948)  ด้วยการสนับสนุนของเลฮีและฮากานาฮฺอีกด้วย  และหลังจากการสถาปนารัฐอิสราเอล  องค์กร อิธเซฺลก็ถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพป้องกันอิสราเอล  และถือกันว่าพรรคฮัยรูตเป็นการสืบสานอุดมการณ์ขององค์กรก่อการร้ายนี้ในเวลาต่อมา  ในปี 1968  ประธานาธิบดีอิสราเอลได้ยกย่องบรรดาผู้นำองค์กรอิธเซฺลว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนารัฐอิสราเอล

 

โปรดติดตามต่อไป (อินซาอัลลอฮฺ)