การญิฮาด ซึ่งศาสนาอิสลามได้บัญญัติเอาไว้ในอดีต มีเป้าหมายชัดเจน คือ การทำลายหรือขจัดบรรดาอุปสรรคทางด้านวัตถุทั้งหลายให้พ้นจากเส้นทางของการดะอฺวะฮฺ (การเผยแผ่ศาสนาอิสลาม) ส่วนในทุกวันนี้ หาได้มีบรรดาอุปสรรคขวางกั้นใดๆ เบื้องหน้า การดะอฺวะฮฺไม่ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศเปิดทั้งหลายซึ่งยอมรับความหลากหลายของพลเมือง และบรรดามุสลิมก็สามารถเผยแพร่การเรียกร้องเชิญชวนของพวกเขาได้ทั้งในรูปเอกสารที่ถูกอ่าน ถ้อยคำที่ถูกฟัง (วิทยุ) และถ้อยคำที่ถูกมองเห็น (โทรทัศน์) พวกเขาสามารถใช้สื่อที่มุ่งเป้าไปในการเผยแพร่ให้โลกทั้งผองรับรู้ศาสนาอิสลามด้วยภาษาต่างๆ ของพวกเขา สามารถพูดคุยกับชนทุกหมู่เหล่าด้วยภาษาของกลุ่มชนเหล่านั้นเพื่อสร้างความกระจ่างแก่พวกเขา แต่ทว่าชาวมุสลิมในความเป็นจริงกลับเป็นผู้ที่บกพร่องและละเลยการเผยแผ่โดยสิ้นเชิง พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ถึงการที่ประชาคมโลกไม่รู้จักศาสนาอิสลาม (ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ; ฟีฟิกฮุลฺ เอาละวียาตฺ ; หน้า 78)

 

        เป้าหมายจากการญิฮาดจึงไม่ใช่การเอาชนะแต่อย่างใด อันที่จริงเป้าหมายของ การญิฮาดคือการดำรงรักษาไว้ซึ่งศาสนาอิสลามเท่านั้น (อัลมุนตะกอ ; 3/159, อีฎอฮุล มะซาลิก ; ท๊อฟ 95 บาอฺ, มุกอดดิมาตฺ อิบนุ รุชดฺ ; 1/379)

 

        ความแตกต่างระหว่างสงคราม (الحرب) และการญิฮาด (الجهاد) ก็คือ
        สงคราม คือการใช้วิธีการที่รุนแรง ซึ่งกลุ่มประเทศต่าง ๆ มักจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ หรือมีเป้าหมายเบื้องหลังความพยายามในการทำให้วัตถุประสงค์หนึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือความทะเยอทะยานทางการเมืองหรือดินแดน (ดร.มะฮฺมูด ซามีย์ ญุนัยนะฮฺ ; วารสาร อัลกอนูน วัลอิกติซอด ปีที่ 11 หน้าที่ 1)

 

        ส่วนการญิฮาดในอิสลาม จะถูกนำมาใช้ในขณะปรากฏมีการรุกรานจากฝ่ายศัตรูสิ่งที่เป็นปัจจัยให้ทำการญิฮาดนั้นคือ การตอบโต้การรุกรานหรือการดำรงรักษาประชาคมมุสลิม หรือเพื่อขจัดการอยุติธรรมของเหล่าผู้ปกครองที่กระทำตนเป็นอุปสรรคในการขวางกั้นวิถีทางของการเชิญชวนสู่ศาสนาอิสลาม โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดความวุ่นวายในการถือศาสนาและทำให้พระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺและสัจธรรมสูงส่ง ตลอดจนทำให้หลักแห่งความยุติธรรมและความดีแผ่ปกคลุม ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงศาสนาอิสลามนั้นคือ สาส์นแห่งการปฏิรูปอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์นั่นเอง (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อาซารุลฮัรบิ ฟิลฟิกฮิลอิสลามีย์ ; ดารุลฟิกริ, ดามัสกัส (1992) หน้า 37)

 

        ส่วนการที่สงครามของศาสนาอิสลามเพื่อต้านทานพวกกุรอยซ์, เปอร์เซียและโรมันนั้น หาใช่เพื่อเป็นการเผยแผ่ศาสนาและหลักความเชื่อด้วยคมดาบไม่ แต่เป็นไปเพื่อสั่งสอนเหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธต่อเสรีภาพในด้านความเชื่อของอิสลามและสร้างความวุ่นวายแก่บรรดาผู้คนในสิ่งที่พวกเขามีหัวใจศรัทธา (ญะมาล อิยาด, นุซุมุล ฮัรบฺ ฟิลอิสลาม หน้า 18)  ดังนั้น ความจำเป็นของการญิฮาดคือความจำเป็นของสื่อวิธีการ มิใช่เป้าหมาย กล่าวคือ เป้าหมายของการทำสงครามนั้นคือ การชี้ทางนำ (ฮิดายะฮฺ) และสิ่งอื่นจากการได้รับชะฮีด (ชะฮาดะฮฺ) ส่วนการเข่นฆ่าสังหารบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นมิใช่เป้าหมาย แต่อย่างใด จนกระทั่งว่า ถ้าหากสามารถชี้ทางนำด้วยการดำรงหลักฐานโดยไม่มีการญิฮาด ย่อมปรากฏว่านั่นดีกว่าการญิฮาด (ฟัตฮุลมุอีน ชัรฺฮุกุรเราะติล อัยนิ , ลัมลิบารีย์ ; หน้า 133/มุฆนีย์ อัลมุฮฺตาจฺญ์ 4/210, บิญัยริมีย์ อัลมินฮัจฺญ์ 4/227)

 

        สิ่งที่เป็นปัจจัยเหตุให้ทำสงครามในศาสนาอิสลามก็คือการตอบโต้การละเมิด (อัลมะญัลละฮฺ อัลมิซรียะฮฺ ลิลกอนูน อัดดุวะลีย์ ลำดับที่ 1958  “บทความของชัยคฺ มุฮำหมัด อบูซะฮฺเราะฮฺ” หน้า 3) และเป็นการสร้างฐานของเสรีภาพในการถือศาสนาที่มั่นคงแก่บรรดาประชาคมโลก โดยทำให้พวกเขาสามารถพิจารณาหลักคำสอนของศาสนาอิสลามได้ ฉะนั้นการญิฮาด ถึงแม้ว่ายังคงเป็นภารกิจหน้าที่จำเป็นอยู่ มิได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด การญิฮาดก็มิได้หมายถึงการทำสงครามที่ขับเคี่ยวกับชนกลุ่มอื่นที่มิใช่มุสลิมโดยไม่มีที่สิ้นสุด แต่การญิฮาดเป็นเครื่องมือที่มีปัญญาอยู่ในกำมือของชาวมุสลิม หาใช่สื่อวิธีการที่โหดร้ายซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อยึดครองโลก หรือสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจและการแผ่ขยายแสนยานุภาพ หรือเพื่อลบล้างบรรดาศาสนาอื่นๆ และเปลี่ยนดินแดนสงคราม (ดารุล ฮัรบฺ) ไปเป็นดินแดนของอิสลาม (ดารุลอิสลาม) โดยขาดเหตุผลรองรับ อย่างที่นักเขียนตะวันตกบางคนกล่าวอ้างก็หาไม่ (อัลฮัรบฺ วัสสลาม ; คุดูรีย์ หน้า 53)

 

        อาจกล่าวได้ว่า การญิฮาดในอิสลามมิใช่การจู่โจมที่อธรรมต่อโลกและ มิใช่เป็นเพียงการปกป้องเขตแดนของประเทศตลอดจนผลประโยชน์ทั้งหลาย แต่ญิฮาดคือ สื่ออย่างหนึ่งที่อยู่ในมือของประมุขสูงสุด (วะลียุลอัมริ) เพื่อปกป้องรักษาการเผยแผ่ศาสนาหรือปกป้องชาวมุสลิม (อาซารุล ฮัรบฺฯ หน้า 125)

 

        นักวิชาการมุสลิมได้ระบุว่า “แท้จริงหลักมูลฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกับชนกลุ่มอื่น คือ ความศานติและสงครามนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อขจัดความเลวร้าย และทำให้เส้นทางของการเผยแผ่ปลอดจากผู้ที่ขัดขวางการเผยแผ่นั้น การเรียกร้องเชิญชวนสู่ศาสนาอิสลามนั้นจะปรากฏด้วยหลักฐาน หาใช่ด้วยคมหอกคมดาบไม่ (อัลดุลวะฮฺฮาบ ค็อลล๊าฟ ; อัซซียาซะฮฺ อัชชัรอียะฮฺ, หน้า 83) ท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอ๊าศ (ร.ฎ.) ได้มีสาส์นถึง อัรฏ่อบูน แม่ทัพของโรมันในสมรภูมิเมืองอัจญนาดีน ปาเลสไตน์ ว่า : ฉันขอเรียกร้องท่านสู่ศาสนาอิสลาม ฉะนั้นถ้าหากพวกท่านแข็งขืน ดังนั้นก็จงยอมจำนนนและจ่ายภาษีญิซฺยะฮฺ และถ้าหากพวกท่านแข็งขืน ดังนั้นก็คือ สงคราม สงคราม! แท้จริงพวกเราคือผู้เรียกร้องสันติภาพและอิสลาม เราจะทำการญิฮาดเพื่อสัจธรรมและการเทิดทูนพระดำรัสของพระเจ้าให้สูงส่ง” (อาซารุ้ลฮัรบิฯ หน้า 139)

 

        การญิฮาดจึงเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติขึ้นขณะมีการละเมิด และการประเมินว่ามีการละเมิดหรือไม่นั้นย้อนกลับไปยังบรรดาผู้นำ (วะลียุลอัมริ) ในแต่ละยุคสมัย และสิ่งที่เป็นปัจจัยให้มีการญิฮาดคือการละเมิดมิใช่ความแตกต่างในด้านความเชื่อ และเป้าหมายจากการญิฮาดคือการประกันเสรีภาพในด้านความเชื่อ, การเผยแผ่, การช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม และการปกป้องชีวิต และดินแดน (อาซารุ้ลฮัรบิ, อ้างแล้ว ภาคผนวก หน้า 788-798)

 

        และบรรดาวิธีการของการทำสงครามที่เป็นที่อนุญาตนั้นคือสิ่งที่จะทำให้ความสูญเสียทั้งหลายอยู่ในวงจำกัดจาก ทุก ๆ สิ่งที่สอดคล้องกับจารีตของสงครามและการคำนึงถึงการปฏิบัติตอบอย่างเท่าเทียมกัน ตราบใดที่สิ่งดังกล่าวไม่ส่งผลให้มีการสูญเสียโดยถ้วนทั่ว  ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ตัดต้นไม้, ทำลายอาคารบ้านเรือน และการสร้างความเสียหายในโลกใบนี้ นอกเสียจากเป็นไปด้วยความจำเป็นของภาวะสงคราม (อาซารุ้ลฮัรบิฯ อ้างแล้ว หน้า 789) และเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายของมุสลิมตามดุลยพินิจของผู้นำ (ดูรายละเอียดในตัฟซีร อัลมุนีร, ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อรรถาธิบาย อายะฮฺที่ 5 บทอัลฮัชรฺ)

 

        ฉะนั้นในกรณีที่มีความจำเป็น (ضرورة) ก็สามารถกระทำสิ่งที่ไม่อนุญาตดังกล่าวได้แต่ต้องอยู่ในกรอบที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น  ตามกฎนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า (الضرورة تقدربقدرها) “ความจำเป็น (หรือภาวะวิกฤติที่เลี่ยงมิได้) นั้นจะถูกกำหนดตามขีดขั้นของความจำเป็นนั้น” อีกทั้งจะต้องอยู่ในกรอบของดุลยพินิจ ของผู้นำ (วะลียุลอัมริ) ว่า การกระทำข้างต้นเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายของมุสลิม (من أجل مصالح المسلمين) การอ้างอายะฮฺที่ 5 จากบทอัลฮัชรฺ เพื่อมาตีขลุมถึงการเผาโรงเรียน, การทำลายสาธารณูปโภค การวางระเบิดในสถานที่ซึ่งผู้คนพลุกพล่านว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมจึงเป็นสิ่งที่ค้านกับหลักการและทัศนะของปวงปราชญ์ อีกทั้งยังเป็นการทำลายสิทธิประโยชน์โดยรวมของ ชาวมุสลิมอีกด้วย ตลอดจนมิได้เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้นำแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังเป็น การกระทำที่เข้าข่ายการสร้างความเสื่อมเสียและการทำลายล้างโดยรวมซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาประณามเอาไว้ (ดู อาซารุลฮัรบฺฯ หน้า 794)

 

        ด้วยเหตุนี้หลักนิติธรรมอิสลามจึงระบุว่า ในภาวะสงครามไม่อนุญาตให้สังหารผู้ที่มิใช่นักรบ อาทิเช่น บรรดาสตรี, เด็ก ๆ, พลเมือง, นักการศาสนา และบรรดาแพทย์หรือหมอ ยกเว้นกรณีเมื่อพวกเขาเข้าร่วมในการศึกด้วยการออกความเห็น, คำพูด, การส่งกำลังบำรุง, การสู้รบ หรือในสถานการณ์ของการโจมตีหรือการ ใช้พวกเขาเป็นโล่มนุษย์ (อ้างแล้ว หน้า 793)

 

        การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้มีการอ้างว่าเป็นการญิฮาดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของผู้ก่อการทั้งๆ ที่วิธีการที่ถูกนำมาใช้ไม่ได้คำนึงถึงหลักของการญิฮาดตามหลักศาสนบัญญัติที่วางไว้ และมิได้มีเป้าหมายในการเทิดทูนพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าให้สูงส่ง ไม่ได้มุ่งมั่นในการเผยแผ่หลักคำสอนที่ถูกต้องของศาสนาอิสลามแก่ผู้คนทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นการประทุษร้ายต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมโดยตรง เป็นการสร้างภาพลักษณ์อันเสื่อมเสียในทัศนคติและการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อหลักธรรมคำสอนของ ศาสนาอิสลามอีกด้วย การญิฮาดอย่างแท้จริงยังคงดำรงอยู่ซึ่งหลักการอันชัดเจนมิได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด แต่การญิฮาดก็มีนัยและวิธีการอันเหมาะสมซึ่งมุสลิมทุกคนสามารถกระทำได้ตามสถานภาพและความสามารถ

 

        การพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมก็ถือเป็นการญิฮาด การเขียนเรื่องราวที่เป็นจริงเพื่อตีแผ่และเปิดเผยความจริง ก็เป็นญิฮาดประการหนึ่ง การสร้างความพร้อมและศักยภาพให้แก่ประชาคมมุสลิมในการให้การศึกษา การยกระดับการครองชีพ สถานภาพทางสังคม และการสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประชาคมโดยรวม ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่อยู่ในข่ายการญิฮาดทั้งสิ้น การสถาปนารัฐอิสลามและการบังคับใช้กฎหมายอิสลามกับพลเมืองมุสลิมย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับนักต่อสู้เพื่ออิสลามทุกคน แต่การต่อสู้หรือการญิฮาดเพื่อเป้าหมายดังกล่าวก็จำต้องคำนึงถึงหลักการและวิธีการที่สอดคล้องกับศาสนบัญญัติอย่างเคร่งครัด

 

        การมีเจตจำนงหรือเป้าหมายที่ดีเพียงอย่างเดียวมิใช่สิ่งที่จะประกันความถูกต้องของสื่อหรือวิธีการไปด้วย หากสื่อหรือวิธีการนั้นเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักการของศาสนา ดังกฎนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า (الغاية لا تبررالوسيلة) “เป้าหมายมิได้ประกัน (หรือรับรอง) วิธีการ” ดังนั้น หากผู้ก่อการกล่าวอ้างว่าพวกตนมีเป้าหมายในการสถาปนารัฐอิสลามและการนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ ลู่ทางหรือวิธีการที่นำไป สู่เป้าหมายดังกล่าวก็ต้องสอดคล้องกับหลักการของศาสนา ที่สำคัญ “อิสลาม” ต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดมิใช่ถูกนำมาแอบอ้างหรือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเท่านั้น (ดู อัลหัลฺลุ้ล อิสลามีย์ฯ ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ (1974) หน้า 116)

 

        ในสภาวการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ชาวมุสลิมถือเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในประเทศไทย ศาสนาอิสลามก็ได้รับการรับรองและอุปถัมถ์ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ชาวมุสลิมมีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา การประกอบศาสนกิจ และการเผยแผ่หลักคำสอนอย่างสมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมสามารถ ถูกนำมาบังคับใช้ได้เกือบครบถ้วน จะมีก็แต่กฎหมายอาญา (قانون الجنايات كتاب الحدود) เท่านั้นที่มิได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งมิใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ก็มิได้ นำกฎหมายหมวดนี้มาใช้เช่นกัน และการที่ชาวมุสลิมในประเทศไทยมิได้ใช้กฎหมายดังกล่าว ก็มิได้หมายความว่า ความเป็นมุสลิมของพวกเขาจะบกพร่องไปจนเป็นเหตุทำให้พวกเขามิได้ เข้าสู่สวรรค์ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่อย่างใดเลย

 

        การสถาปนารัฐอิสลามซึ่งปกครองด้วยหลักชะรีอะฮฺของพระองค์อัลลอฮฺ รวมชาวมุสลิมให้ตั้งมั่นบนแนวทางของศาสนาอิสลามและสร้างความเป็นเอกภาพภายใต้ร่มธงของอิสลาม คือภารกิจจำเป็นเหนือประชาชาติอิสลามที่จำต้องเพียรพยามให้ไปถึง และบรรดาผู้เรียกร้องสู่อิสลามก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรลุสู่การสถาปนารัฐอิสลามนั้น โดย ยึดแบบอย่างและแนวทางที่ดีที่สุด… แต่สิ่งดังกล่าวทั้งหมดก็ต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน การมีขันติธรรมอย่างงดงาม จนกระทั่งเหตุปัจจัยต่างๆ มีความพร้อม อุปสรรคทั้งหลายหมดไป และมีเงื่อนไขครบถ้วนตลอดจนสุกงอมเต็มที่

 

        ในระหว่างเส้นทางสู่การสถาปนารัฐอิสลามนั้น ผู้คนก็สมควรลงมือกระทำตามศักยภาพของตนในการรับใช้และปรับปรุงพัฒนาสังคมของพวกเขาให้ดีขึ้น การสถาปนารัฐอิสลามก็เปรียบดั่งชาวสวนที่เพาะปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ผลในระหว่าง รอต้นไม้ออกผลผลิตซึ่งกินเวลาหลายปีนั้น ชาวสวนก็คงไม่งอมืองอเท้าเพื่อรอผลผลิตจากสวนนั้นโดยไม่ทำอะไรเลย เขาสามารถปลูกผักสวนครัว และพืชที่ให้ผลผลิตในเวลาอันสั้นควบคู่กันไป (ดูรายละเอียดในอัซเซาะฮฺวะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ บัยน่า อัลญุฮุด วัตตะตอรรุฟ ; ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ หน้า 223-224)

 

        ในทำนองเดียวกัน ชาวมุสลิมก็จะต้องไม่รอคอยความหวังในการสถาปนารัฐอิสลามโดยไม่มีการตระเตรียมความพร้อมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบุคลากรด้วยการศึกษา การพัฒนาศักยภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามแก่ประชาชนพลเมืองในประเทศไทย ซึ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อการเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แต่ดูเหมือนว่า ชาวมุสลิมได้ละเลยในเรื่องนี้มาโดยตลอด การเผยแผ่ศาสนาและการสร้างความเข้าใจต่อภาพลักษณ์และข้อเท็จจริงของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในหมู่พี่น้องชาวไทยยังขาดองค์กรที่มีศักยภาพใน การเข้ามาทำหน้าที่อย่างจริงจัง และนี่คือภารกิจสำคัญที่ชาวมุสลิมจำต้องกระทำเป็นอันดับต้น ๆ ก่อนที่จะคิดสถาปนารัฐอิสลามเสียอีก

 

        ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยถึงแม้ว่าจะมิใช่รัฐอิสลามแต่ก็เข้าข่ายว่าเป็น ดินแดนอิสลาม (دارالإسلام) หรือ ดินแดนแห่งสันติภาพ (دارالسلام) ได้ ทั้งนี้การแบ่งดินแดนออกเป็นดินแดนแห่งการปฏิเสธ (داركفر) และดินแดนอิสลาม (داراسلام) นั้นเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ (اجتهاد) จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของบรรดานักปราชญ์ชั้นนำ (الأ ﺌﻤﺔ المجتهدون) ไม่มีตัวบทอันใดระบุไว้ทั้งจากการอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ บรรดานักปราชญ์ ผู้สันทัดกรณีได้กล่าวว่า : แท้จริงขอบข่ายการชี้ขาดว่าดินแดนใดเป็นดินแดนอิสลามหรือดินแดนสงคราม (بلدحرب) ก็คือความปลอดภัยของศาสนา จนกระทั่งหากว่ามีมุสลิมคนหนึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนหนึ่งซึ่งไม่มีศาสนา หรือมีศาสนาอื่นที่มิใช่อิสลาม มุสลิมผู้นั้นสามารถประกอบศาสนกิจโดยเสรีภาพ ดินแดนนั้นถือเป็นดินแดนอิสลามในความหมายที่ว่า ไม่จำเป็นที่มุสลิม ผู้นั้นจะต้องอพยพโยกย้ายออกจากดินแดนนั้น (บายานุน ลินนาซฺ มินัล อัซฮัร อัชชะรีฟ เล่มที่ 1/248, อะฮฺซะนุลกะลาม ฟิลฟะตา วา วัล อะฮฺกาม ; ชัยค์ อะฎียะฮฺ ซอกร์ เล่มที่ 9/428)

 

        นักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่จากกลุ่มมาลิกียะฮฺและชาฟิอียะฮฺถือว่าการดำรงสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามคือสิ่งที่ทำให้ดินแดนนั้นๆ เป็นดินแดนอิสลาม (ดูฮาชียะฮฺ อัดดุซูกีย์ 2/173, ตุฮฺฟะตุ้ลมุฮฺตาจญ์ ของอิบนิ ฮะญัร 8/64) สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามก็คือ การมีมัสยิดในการประกอบศาสนกิจ การละหมาดวันศุกร์และวันอีดทั้งสองเป็นต้น

 

        ดังนั้นองค์ประกอบหลักของการเป็นดินแดนอิสลามก็คือ
        1. ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่โดยปกติสุข
        2. ศาสนาอิสลามและการประกอบศาสนกิจตลอดจนการเผยแผ่ศาสนาเป็นไปอย่างเสรี ไม่มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากพลเมืองและฝ่ายปกครองในดินแดนนั้น ๆ ดินแดนใดมีองค์ประกอบครอบทั้งสองประการดินแดนนั้นถือเป็นดินแดนอิสลาม (ดูรายละเอียดในอาซารุลฮัรบฺฯ อ้างแล้ว หน้า 172-174)

 

اللهم اجعل هذه الأرض أرض السلام والأمان
واجعلها دارالإسلام ياذاالجلال والإكرام
اللهم احفظنا بالاسلام قاﺌﻤﻴﻦ وقاعدين وراقدين
ولا تشمت بنا أ عداء ولاحاسدين
اللهم أ رناالحق حقاوارزقنااتباعه
وارناالبا طل با طلا وارزقنااجتنابه
وصلى الله على نبينا محمد و على آله وصحبه و سلم
 والحمد لله رب العالمين