แผ่นดินไทยและความไม่เท่าเทียมกันในด้านศาสนูปถัมภ์ ตามความเห็นของพระธรรมคุณาภรณ์

بسم الله الرحمن الرحيم الحمدلله الذى أحيا نا مسلمين

والصلاة والسلام على إمام المتقين وخا تم الأنبياءوالمرسلين ، وبعد

บทความนี้เป็นบทความลำดับที่ 2 เกี่ยวเนื่องด้วยคลิปวีดีโอชุดที่ 2 ซึ่งได้ถอดเสียงคำบรรยายของพระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ออกเป็นถ้อยคำที่ร้อยเรียงเป็นตัวอักษรดังเช่นคลิปวีดีโอชุดที่ 1 แต่คำบรรยายในชุดที่ 2 นี้ยาวกว่าชุดแรกกึ่งหนึ่ง

กระนั้นใจความหลักที่ได้จากเนื้อหากลับมีไม่มากนัก ด้วยท่านผู้บรรยายซึ่งเป็นสมณสงฆ์ไม่กล่าวพาดพิงโดยตรง หากแต่ผู้ฟังและผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ถึงเป้าที่หมายมุ่งว่าแฉลบไปกระทบศาสนิกชนในศาสนาใด? เหตุนี้ผู้เขียนจึงขอคัดเอาเฉพาะถ้อยความบางตอนของพระภิกษุรูปนี้มาโดยสรุป แล้วจึงขออนุญาตผู้อ่านแสดงความเห็นและมุมมองที่ต่างแง่ออกไปจากความเห็นของพระคุณเจ้าที่แสดงเอาไว้ในคลิปวีดีโอชุดที่ 2 โดยลำดับดังนี้

“ผืนแผ่นดินไทยทั้งหมดนี้เป็นของพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งสิ้น….”

พระท่านว่าเช่นนี้!

ความเห็นต่าง   “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน 4 เหล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทาน”  “อุปาทาน” หมายถึง การยึดถือหรือภาวะซึ่งเกาะอยู่ไม่ยอมปล่อย ฉะนั้น ขอจงพิจารณาดูเอาเถิดว่า คำที่พระท่านว่านี้สอนพุทธศาสนิกชนซึ่งได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ณ สถานที่นั้นนให้เกิดอุปาทาน ในประการที่ 4 ใช่หรือไม่ เหตุด้วยอัตตวาทุปาทาน คือความยึดถืออยู่ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตนหรือ “เป็นของตน”

ดังที่ท่านพุทธทาสได้อธิบายอุปาทานประการที่ 4 นี้ว่า : คือยึดมั่นด้วยสำคัญว่า “ตัวกู” มีชื่อว่า “อัตตวาทะ” ความรู้สึกอะไรที่เป็นเหตุให้พูดออกมาว่า “ตัวฉัน” หรือ “ของฉัน” อันนั้นเรียกว่า “อัตตวาทะ” เป็นชื่อของความเข้าใจผิดอยู่ข้างใน ยึดมั่นในตัวตนว่า “เรา” ว่า “ของเรา” ด้วยอัตตวาทะนี้เอง (คู่มือศึกษาธรรมะ ฉบับสมบูรณ์ ; พุทธทาส อินทปัญโญ , คณะธรรมทาน มูลนิธิไชยา จัดพิมพ์ (พ.ศ. 2538 จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา) หน้า 74)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษสิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เมื่อเรายึดถือ ได้ยึดถือรูปนั่นเอง ได้ยึดถือเวทนานั่นเอง ได้ยึดถือสัญญานั่นเอง ได้ยึดถือสังขารนั่นเอง ได้ยึดถือวิญญาณนั่นเอง ภพจึงมีแก่เราตราบที่มีการยึดถืออยู่ โทษย่อมมีเสมอ” นี่เป็นความเห็นต่างในเชิงโลกุตรธรรม ถูกผิดอย่างไรลองพิจารณาดู ในเชิงโลกียวิสัย

คำของพระที่ท่านว่า : ผืนแผ่นดินไทยทั้งหมดเป็นของพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งสิ้น เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ พื้นที่ 514,000 ตารางกิโลเมตรเป็นของชาวพุทธเท่านั้น ไม่มีเหลือไว้หรือยกเว้นเอาไว้แม้แต่คืบเดียวสำหรับคนไทยที่มิใช่พุทธศาสนิกชน หรือเข้าใจได้อีกแบบหนึ่งว่า ประเทศไทยนี้เป็นของชาวพุทธ คือมีชาวพุทธเป็นเจ้าของที่แท้จริง ส่วนคนไทยมิใช่ชาวพุทธย่อมมิใช่เจ้าของที่แท้จริง

ถึงแม้จะถือครองกรรมสิทธิ์ในผืนแผ่นดินในประเทศนี้มากหรือน้อยก็ตาม ได้ชื่อว่าเป็นเพียงผู้อาศัย เป็นคนอื่นที่เข้ามาทำมาหากินบนผืนแผ่นดินนี้เท่านั้น! หากไม่เข้าใจตามนี้ก็จนปัญญาจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น ดังนั้นผู้ใดที่แม้จะมีสัญชาติไทยมีบรรพบุรุษโคตรเหง้าศักราชเกิดและตายบนแผ่นดินไม่ว่าจะกี่สิบชั่วอายุคน ไม่ว่าจะอยู่อาศัยบนที่ดินของตนสืบต่อจากบรรพบุรุษมานานหลายร้อยปี

ถ้าไม่ใช่คนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนก็ให้รู้ไว้เสียเถิดว่า เราไม่ใช่เจ้าของ เราไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่แท้จริง ถึงแม้ว่าจะมีโฉนดที่ดินยืนยันการถือครองที่ดินก็ตาม เพราะโฉนดที่ดินมีค่าเท่ากับสัญญาเช่าที่ดิน หมดสัญญาเมื่อใดก็ต้องคืนเจ้าของไป ที่เขาให้อยู่ให้อาศัยทำมาหากินโดยไม่ขับไล่นี่เป็นบุญคุณล้นกะลาหัวแล้ว พ่อคุณเอ๋ย!

ฉะนั้น อย่าหลงสำคัญตนผิดว่าประเทศนี้ ผืนแผ่นดินนี้เป็นของคุณ แต่ถ้าคุณอยากจะเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินนี้คุณก็ต้องประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ทิ้งศาสนาเดิมของคุณเสียแล้วกลายเป็นพุทธเหมือนอย่างที่เจ้าของแผ่นดินเขาเป็น คุณก็จะอยู่ในคำจำกัดความของประโยคที่พระท่านว่ามา หากไม่เป็นตามนี้คุณก็เป็นเพียงผู้เช่าช่วงต่อจากเจ้าของเดิมหรือไม่ก็เป็นพวกไร้แผ่นดินที่เจ้าของเขาเมตตาให้อาศัยอยู่เท่านั้น!

ที่พวกคุณจ่ายภาษีที่รัฐบาลในประเทศนี้เรียกเก็บนั่นเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะพวกคุณเช่าเขาอยู่ เมื่ออยู่ในที่ดินของเขาจะอยู่ฟรีๆ ได้อย่างไรกัน ต้องจ่ายค่าเช่าสิ ที่พวกคุณอยู่สุขสบายมีสาธารณูปโภคใช้ ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ถนนหนทางและขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ มีระบบสาธารณสุข เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีหมอให้บริการ มีโรงพยาบาลให้รักษาตัว มีการศึกษาลูกหลานได้ร่ำเรียนไม่โง่เขลา ก็ให้จำใส่กะลาหัวเอาไว้ว่านั่นเป็นเงินที่เจ้าของประเทศนี้เขาบริจาคทำทานให้พวกคุณ เมื่อได้เช่าที่ดินของเขา อาศัยเงินทองของเขาที่เจียดให้ก็จงเจียมตน ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเอง

และที่สำคัญอย่ากินบนเรือนขี้รดบนหลังคาเป็นอันขาด เพราะพวกคุณจะกลายเป็นพวกเนรคุณและอกตัญญูไปในทันใด ครั้นเมื่อมีศึกสงครามมารุกรานแผ่นดินนี้ในฐานะที่พวกคุณอาศัยอยู่ พวกคุณก็ต้องเป็นทหารเพื่อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินนี้ให้กับเจ้าของที่มีบุญคุณล้นเหลือทดแทนด้วยชีวิตก็หาได้เสมอด้วยบุญคุณนั้นไม่ ทั้งหมดที่ว่ามามีเหตุผลรองรับอยู่เพียงข้อเดียว คือพวกคุณไม่ใช่พุทธศาสนิกชนไทย ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ทุกตารางนิ้ว ทุกคืบศอก เพราะพวกคุณมิใช่ชาวพุทธจึงไม่ใช่เจ้าของ! จงจำใส่ใจเอาไว้ เพราะพระท่านว่าเอาไว้อย่างนี้! และจงเข้าใจตามนี้ให้ดี เพราะคำของพระท่านว่าเอาไว้ชัดเจนและสว่างโร่ยิ่งกว่าแสงตะวัน!

ชาวไทยต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งกู้กรุงศรีอยุธยาที่เสียแก่พม่าครั้งที่สอง พระเจ้าตากสินท่านเป็นผู้กู้กรุงศรีอยุธยาขึ้น แล้วมอบผืนแผ่นดินในประเทศทั้งหมดนี้ถวายเป็นพุทธบูชา แล้วพระท่านก็อ้างคำจารึกของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วัดอรุณฯ ความตอนหนึ่งว่า “อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ทนทุกข์ยากกู้ชาติเพื่อพระศาสนา ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่ศาสดาพระศาสน พระพุทธโคดม…” แล้วพระท่านก็สรุปช่วงท้ายว่า “อยากให้ท่านทั้งหลายจงนึกถึงคำจารึกในหัวใจของพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าผืนแผ่นดินนี้พระองค์ทรงกอบกู้มาได้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระองค์สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา

พระคุณเจ้าท่านว่าอย่างนี้

ความเห็นต่าง  ถ้านำเอาประวัติศาสตร์ของชาติเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 และการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอ้างสนับสนุนถึงความเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินไทยของพุทธศาสนิกชนด้วยการถวายแผ่นดินนี้ให้เป็นพุทธบูชาตามคำจารึกนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า แผ่นดินไทยที่หมายถึงนี้คือพื้นที่อาณาเขตเฉพาะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมได้ในรัชกาลของพระองค์เท่านั้น หรือรวมถึงประเทศไทยทั้งหมดที่เหลืออยู่ในทุกวันนี้

ถ้าหมายถึงเฉพาะพระราชอาณาเขตในสมัยกรุงธนบุรีเท่านั้น ก็แสดงว่าแผ่นดินที่ทรงถวายเป็นพุทธบูชานั้นไม่รวมหัวเมืองมลายูทางภาคใต้เพราะถึงแม้ว่าจะอ้างเอาเป็นประเทศราชที่เคยขึ้นกับกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งก่อน แต่อำนาจของกรุงธนบุรีก็สุดเพียงแค่เมืองสงขลา หัวเมืองมลายูยังคงตั้งตนเป็นอิสระอยู่จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกจากนี้บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ ยโสธร นครพนม สกลนคร และเมืองอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับล้านช้าง และล้านนา (เชียงใหม่) ต่างก็ยังคงเป็นอิสระอยู่เช่นกัน เพิ่งจะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วจะกล่าวตู่ตีขลุมว่าผืนแผ่นดินในเวลานี้ทั้งหมดถูกถวายเป็นพุทธบูชาได้อย่างไร

แต่ถ้าหากคำที่พระท่านว่ามุ่งหมายถึง ประเทศไทยหรือราชอาณาจักรไทยที่มีอาณาเขตในรัชสมัยถัดมานับตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรไทยมีขอบขัณฑสีมากว้างใหญ่ไพศาลเป็นที่สุดเท่าที่มีมาในประวัติศาสตร์ของชาติ คำที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งสัตยาธิษฐานถวายแผ่นดินเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดานั้นก็ต่างกรรมต่างวาระกัน

ซึ่งย่อมไม่รวมเอาผืนแผ่นดินที่แผ่ขยายออกไปเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหมายมุ่งเอาเฉพาะแผ่นดินที่พระองค์ท่านทนทุกข์ยากกู้เอามาได้ในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น ซึ่งมีอาณาเขตน้อยกว่ามากเมื่อเทียบในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถ้ายืนยันว่าหมายรวมถึงขอบขัณฑสีมาที่กว้างใหญ่ไพศาลในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย ทั้งๆ ที่ต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นไปด้วยพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ในบรมราชจักรีวงศ์ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ก็ต้องถามว่า ถ้าเช่นนั้น เมื่อแผ่นดินไทยทั้งหมดถูกถวายเป็นพุทธบูชาจริงๆ แล้ว จะไม่เป็นการดูแคลนน้ำพระทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ดอกหรือ? ในเมื่อแผ่นดินไทยซึ่งถูกถวายเป็นพุทธบูชาด้วยสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติฝรั่งต่างศาสนาไปเป็นอันมากในรัชกาลของพระองค์

อย่ากระนั้นเลย! หากพระคุณเจ้านำพระราชปณิธานซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงตั้งเอาไว้มาอ้างสนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนมีใจรักพระศาสนาและรักประเทศชาติยังจะดีเสียกว่า อันพระราชปณิธานนั้นคือ ตั้งใจจะอุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี

การซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงตั้งปณิธานไว้ว่าจะอุปถัมภ์และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองดังเช่นครั้งบ้านเมืองยังดีเมื่อกรุงเก่าก็ย่อมไม่แปลกด้วยพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และถือตามแบบแผนโบราณราชประเพณีที่บรมกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ทรงถือปฏิบัติสืบกันมา แต่ถ้อยความหลังนั้นทรงแสดงพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก ด้วยจะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี

กล่าวคือ ถึงแม้จะทรงมีพระราชปณิธานว่าจะอุปถัมภ์ ยอยกพระพุทธศาสนา แต่ก็จะทรงรักษาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์และเหล่าข้าราชบริพารซึ่งมิได้หมายรวมเอาเฉพาะพุทธศาสนิกชนเท่านั้น หากรวมพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทุกเชื้อชาติภาษาและศาสนาที่เป็นข้าแผ่นดินอยู่ในเวลานั้นทั้งหมดด้วย ซึ่งแน่นอนส่วนหนึ่งจากพสกนิกรของพระองค์ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารก็คือชาวมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีนั่นเอง

พระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ซึ่งปรากฏในพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง อันมีที่มาและสืบค้นได้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชนิพนธ์เอาไว้ตามนั้นจริงย่อมเป็นสิ่งที่ควรกว่าสำหรับพระคุณเจ้าในการนำมาอ้างอิงสนับสนุนความเห็นของท่านที่หมายชี้ชวนให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะเป็นสถาบันที่ผูกพันอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมาแต่ครั้งโบราณจวบจนกาลปัจจุบัน

สอดคล้องกับสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จารึกไว้ในตอนท้ายว่า : “คิดถึงพ่อ พ่ออยู่คู่เจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา พระพุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน” ซึ่งอธิบายได้ในแง่นามธรรมและเชิงสัญลักษณ์มิได้มุ่งหมายเอาความที่ถูกจำกัดตามตัวอักษรหรือถ้อยคำที่กลอนพาไป ทั้งนี้เพราะคำว่า “ถวายเป็นพุทธบูชา” “พ่ออยู่คู่กับเจ้า” และ “พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน” เป็นถ้อยคำที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์หรือในแง่นามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ความหมายจริงๆ ตามตัวอักษร

คือ ยกให้เป็นสมบัติของพระพุทธองค์ก็หาไม่ เพราะคำว่า “พุทธบูชา” มีความหมายกว้างบ่งถึงความบริสุทธิ์ใจในเจตนาที่ได้ประกอบขึ้น สำนวนที่ว่า “พ่ออยู่คู่กับเจ้า” ก็เช่นกันเป็นเรื่องสมมุติเอาว่าพระองค์ท่านอยู่กับเรา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงสวรรคตไปแล้ว แม้จะอ้างว่าดวงพระวิญญาณยังทรงปกป้องคุ้มครองผืนแผ่นดินนี้อยู่ก็ตาม

และสำนวนที่ว่า “พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน” ก็เป็นสิ่งสมมุติเช่นกัน เพราะไม่มีปรากฏอยู่เลยใน 84,000 พระธรรมขันธ์จากพระไตรปิฎกว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสฝากประเทศไทยเอาไว้ให้คู่กับพุทธศาสนิกชนชาวไทย หากจะอ้างเอาพุทธทำนายที่ระบุว่า พระพุทธศาสนาจะเสื่อมจากชมพูทวีป แล้วจะไปเจริญงอกงามในดินแดนสุวรรณภูมิ

ก็เป็นปัญหาอีกว่า สุวรรณภูมินั้นอยู่ที่ใด พม่าก็บอกว่าดินแดนของตนนั้นแล คือสุวรรณภูมิ อยู่ที่เมือง สะเทิม ในพม่าภาคใต้ ไทยเราก็ว่าอยู่ที่ นครปฐม และเรื่องสุวรรณภูมินี้ก็ปรากฏในตำนานฝ่ายลังกาและคัมภีร์ อรรถกถาในชั้นหลัง เช่น ชาตกัฏฐกถา เป็นคัมภีร์อรรถกถา แก้ชาดกในขุททุกนิกาย ตั้งแต่เอกนิบาตชาดกจนถึงมหานิบาตชาดก ซึ่งพระพุทธโฆษะเป็นผู้รจนา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 9 โดยคำว่า สุวรรณภูมิ หรือ สุวัณณภูมิ มีปรากฏอยู่ใน สังขพราหมณ์ชาดก มหาชนกชาดก คัมภีร์สวาหิมี และ สีหละวัตถุปปกรณ์ เป็นต้น  แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงประเทศไทยหรือไม่

อย่างไรก็ตามเรื่องสุวรรณภูมิอันหมายถึงดินแดนทอง ซึ่งบางทีก็เรียกสุพรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป ในทำนองว่ายกเอาดินแดนนี้ถวายเป็นพุทธบูชาหรือพระพุทธองค์ทรงฝากดินแดนนี้ให้พุทธศาสนิกชนชั้นหลังได้ดูแลทำนุบำรุง นัยเช่นนี้ไม่ปรากฏใน 84,000 พระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด แล้วจะอ้างเอาถ้อยคำที่ว่า “พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน” ในเชิงความหมายจริงตามตัวอักษรได้อย่างไรกัน

พูดถึงเรื่อง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งมุ่งหมายเฉพาะชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด คือ พุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ ศาสนิกอื่นถึงแม้จะอยู่ร่วมแผ่นดินกันมานานนับร้อยปีก็ไม่เกี่ยว ทำให้นึกถึง พุทธศาสนสุภาษิตหนึ่งที่ว่า

(สกุโณ มยฺหโก นาม คิริสานุทรีจโร ปกฺกํ ปิปฺผลมารุยฺห มยฺหํ มยฺหนฺติ กนฺทติ)

“นกชนิดหนึ่งเที่ยวบินอยู่ตามช่องเขาและไหล่เขา มีชื่อว่า นกมัยหกะ มันบินไปสู่ต้นเลียบ อันมีผลสุก แล้วร้องว่า “ของข้าๆ” เมื่อนกมัยหกะร้องอยู่อย่างนั้น ฝูงนกทั้งหลายก็พากันบินมาจิกกินผลเลียบ แล้วก็พากันบินไป นกมัยหกะก็ยังร้องพร่ำอยู่อย่างเดิมนั่นเอง”

(เอวมิเธว  เอกจฺโจ  สงฺฆริตฺวา  พหุ  ธนํ  เนวตฺตโน  น  ญาตีนํ  ยโถธึ  ปฏิปชฺชติ)

“คนบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น  เก็บทรัพย์สะสมไว้มากแล้ว  ตนเองก็ไม่ได้ใช้  ทั้งไม่เผื่อแผ่เจือจานแก่ญาติทั้งหลายตามส่วน  เมื่อเขาหวงแหนทรัพย์ไว้รำพึงว่า  “ของข้าๆ”  ราชการหรือโจรหรือทายาท ก็มาเอาทรัพย์นั้นไป  ตัวเขาก็ได้แต่รำพันอยู่อย่างนั้นนั่นเอง”

(พระไตรปิฎก  เล่มที่ 27 ข้อ 931)

“กระทรวงมหาดไทยได้เสนอกฎหมายฉบับหนึ่งผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี  กฎหมายพัฒนาชุมชนศาสนาอิสลาม ที่ออกไปเรียบร้อยแล้ว  ถามว่า ประเทศไทยเรานี้มีแต่ศาสนานั้นศาสนาเดียวหรือ  แล้วคนไทยทั้งชาติที่เป็นพุทธศาสนา 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่มีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้บ้างหรือ  ไหนละว่า รัฐบาลว่าจะให้ประชาชนชาวไทยได้รับความสุขร่วมกัน  แต่เมื่อมาออกกฎหมายฉบับนี้มาแล้วมันไม่ใช่รับความสุข ไม่ใช่รับความสุขที่เท่าเทียมกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  ความแตกต่างกันในทางกฎหมายมันผิดกัน  ศาสนาหนึ่งสามารถใช้วิธีขับเคลื่อนในทางกฎหมายได้  แต่ว่า อีกศาสนาหนึ่งไม่มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนในทางกฎหมาย”

นี่คือคำตัดพ้อต่อว่าของพระท่าน!

ความเห็นต่าง  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า :

(กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก)

“สัตว์โลก  ย่อมเป็นไปตามกรรม”

(นานาทิฏฐิเก  นานยิสฺสสิ  เต)

“มนุษย์ทั้งหลายต่างความคิดต่างความเห็นกัน  ท่านจะกำหนดให้คิดเห็นเหมือนกันหมด เป็นไปไม่ได้”

(พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 ข้อที่ 730)

(ลาโภ  อลาโภ  ยโส  อยโส  จ

นินฺทา  ปสํสา  จ  สุขํ  จ  ทุกฺขํ

เอเต  อนิจฺจา  มนุเชสุ  ธมฺมา

มา  โสจิ  กึ  โสจสิ  โปฏฺฐปาท)

“ได้ลาภ  เสื่อมลาภ  ได้ยศ  เสื่อมยศ

นินทา  สรรเสริญ  สุข  และทุกข์

สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์  ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน

อย่าเศร้าโศกเลย  ท่านจะเศร้าโศกไปทำไม”

(พระไตรปิฎก  เล่ม 27  ข้อที่ 615)

ข้อเท็จจริง   สิ่งที่พระท่านว่า  กระทรวงมหาดไทยเสนอกฎหมายฉบับหนึ่ง  ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเรียกตามคำพระท่านว่า  กฎหมายพัฒนาชุมชนอิสลาม และกฎหมายฉบับนี้ออกไปเรียบร้อยแล้วนั้น  ความจริงที่ไม่อิงนิยายก็คือ พระท่านเข้าใจผิดและถ่ายทอดข้อมูลที่คลาดเคลื่อนแก่สาธุชนที่ร่วมรับฟังอยู่  ซึ่งอาจจะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ในความรับรู้ความเชื่อและความเข้าใจ  สิ่งที่พระท่านเรียก ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่ใช่พระราชกำหนด แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีลักษณะพิเศษ  และเป็นเรื่องนโยบายเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ได้มีคำสั่งที่ 179/2551 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 7 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบและวิธีการดำเนินงาน (Model) สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic micro Credit) เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีสถาบันการเงินในระดับชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์คำสอนตามหลักการศาสนาและดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นคณะทำงานฯ ได้ประชุมปรึกษา ประชุมเชิงปฏิบัติการและจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เมื่อได้ข้อมูลจากการระดมความคิดของทุกฝ่ายแล้ว คณะทำงานฯ จึงได้นำข้อสรุปที่ได้เสนอที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 แล้ว ที่ประชุมฯ จึงมีมติเห็นชอบรูปแบบสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม โดยเห็นควรให้ ศอ.บต. ดำเนินการจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ทาง ศอ.บต. จึงได้ดำเนินการตามนั้นแล้ว เสนอเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic Micro Credit) เป็นสิ่งที่สมควรดำเนินการ กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลามตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา

ทั้งนี้ตามมติ ครม. ด้านสังคม 1.3 ว่าด้วยนโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เรื่องทั้งหมดมีที่มาที่ไปเป็นอย่างนี้ ด้งนั้น คำที่พระท่านว่าจึงคลาดเคลื่อนในหลายประเด็นซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. เรื่อง สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม (Islamic micro credit) เป็น นโยบาย อันหมายถึงหลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นนโยบายดำเนินการตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาโดยเป็นนโยบายทางสังคม มีกระทรวงมหาดไทยและศอ.บต. เป็นเจ้าภาพหลัก ตลอดจนเรื่อง “สถาบันการเงินชุมชนฯ” นี้เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมสงขลาและสตูลด้วยซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ

2. การเรียกโครงการตามนโยบายนี้ว่า กฎหมาย เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมาย หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

เช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ และกฎหมายอาญา เป็นต้น และนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการนี้ก็มิใช่พระราชบัญญัติ อันหมายถึง บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และจะถือเป็นพระราชกำหนดก็มิใช่อีก ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันควรในการเรียกนโยบายของรัฐนี้ว่า “กฎหมาย”

3. การเรียกนโยบายนี้ว่า กฎหมายพัฒนาชุมชนศาสนาอิสลาม เป็นการเรียกตามความเข้าใจเอาเองซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของชาติเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเพียงบางกลุ่มโดยอาศัยช่องทางในด้านกฎหมายขับเคลื่อน  ทั้งๆ ที่นโยบายดังกล่าวเป็นการนำระบบการเงินในอิสลามมาใช้ในการจัดตั้งสถาบันการเงินระดับชุมชน ซึ่งระบบอิสลามไม่ได้กีดกันศาสนิกชนอื่นในการนำระบบการเงินที่ปลอดดอกเบี้ยเป็นหลักมาใช้ทำธุรกรรมอยู่แล้ว กอปรกับในพื้นที่พิเศษดังกล่าวมีระบบสหกรณ์อิสลามออมทรัพย์แพร่หลายอยู่

นโยบายดังกล่าวจึงเป็นการจัดระบบและต่อยอดเท่านั้นเอง และเหตุผลหลักที่กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก็คือ เป็นการสนองรับความต้องการของราษฎรในพื้นที่ และมีความสอดคล้องกับวิถีอัตลักษณ์ คำสอนตามบัญญัติศาสนา และไม่มีข้อขัดแย้งกับศาสนิกชนอื่น โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน และสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม เป็นการจัดสวัสดิการให้สมาชิกในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงการจัดสวัสดิการภายในชุมชนด้านการศึกษา สาธารณสุข สาธารณประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม

4. การอ้างว่า นโยบายสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมต่อพุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ เพราะไม่มีโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ซึ่งพระท่านเรียกว่า “กฎหมาย” เป็นการอ้างที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเพราะรูปแบบของสถาบันการเงินนี้ เปิดโอกาสให้ราษฎรทุกศาสนิกและทุกระดับในชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงมิใช่เป็นสถาบันการเงินที่ถูกจำกัดเอาไว้เฉพาะมุสลิมเท่านั้น

สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างกันระหว่าง สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม กับคำว่าชุมชนอิสลาม หรือชุมชนมุสลิม เป็นสิ่งที่สามารถจะทำความเข้าใจได้ ซึ่งก็บอกอยู่แล้วว่า สถาบันการเงินในระบบอิสลามในระดับชุมชน กล่าวคือ ระบบการเงินที่สถาบันนี้ดำเนินการคือระบบอิสลามที่มีหัวใจหลักคือปลอดดอกเบี้ย ซึ่งถ้าเป็นระบบอื่นๆ แม้แต่ระบบของรัฐก็จะมีดอกเบี้ย การไม่มีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องย่อมมีประโยชน์สำหรับทุกคนไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิม

ส่วนคำว่า “ชุมชน” ก็คือชุมชนในพื้นที่พิเศษซึ่งมีชุมชนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีชุมชนที่เป็นชาวพุทธอยู่ด้วย หรือในบางชุมชนปะปนกันทั้งชาวพุทธและมุสลิม ซึ่งทั้งหมดสามารถใช้ประโยชน์จากสถาบันการเงินในระบบอิสลามได้ทั้งสิ้น เขาไม่ได้ระบุว่า ชุมชนอิสลาม หรือชุมชนมุสลิมเสียหน่อย ถึงจะได้กันชาวพุทธออกไปไม่ให้ได้รับประโยชน์ และในความเป็นจริงมุสลิมที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่พิเศษนี้ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากสถาบันการเงินนี้เช่นกัน

มีนโยบายและโครงการของรัฐมากมายที่มุสลิมในพื้นที่อื่นไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างเรื่องโรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 15(2) ถ้าอยู่ในพื้นที่มีการสนับสนุนจากภาครัฐหลายอย่างในขณะที่โรงเรียนประเภท 15 (2) ในกรุงเทพฯ ไม่ได้การสนับสนุนใดๆ เลยแม้แต่นิดเดียว  แต่มุสลิมนอกพื้นที่ก็ไม่ได้นำเอาเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นกล่าวหาว่ารัฐเลือกปฏิบัติและไม่ให้ความเท่าเทียมกันเพราะยอมรับว่าที่นั่น (ภาคใต้)  เป็นพื้นที่มีปัญหาเฉพาะซึ่งต้องมีนโยบายพิเศษในการจัดการกับปัญหาที่หมักหมมมาช้านาน 

ถ้าหากเราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาตัดพ้อต่อว่าและตั้งข้อสงสัยกันแล้วละก็  บอกได้เลยว่าความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสการสนับสนุนระหว่างพุทธศาสนิกชนกับชาวมุสลิมที่ได้รับจากภาครัฐนั้นห่างระยะกันไกลโขนัก เอาแค่ ค่านิตยภัต ที่พระสงฆ์องค์เจ้าได้รับนั้นก็แทบไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่นแล้ว!  นี่ยังไม่รวมถึงสิทธิพิเศษในเรื่องอื่นๆ อีกน่ะ

การที่พระท่านว่า “ศาสนาหนึ่งสามารถใช้วิธีขับเคลื่อนในทางกฎหมายได้  แต่ว่าอีกศาสนาหนึ่งไม่มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนในทางกฎหมาย”  แล้วก็สรุปว่า  “เพราะฉนั้น คนอีกศาสนาหนึ่งก็จะต้องเป็นคนที่ด้อยโอกาสในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน”  ก็น่าเห็นใจที่ท่านยอมรับและหาข้อสรุปได้เช่นนั้น 

และนี่เป็นกรณีศึกษาที่ผู้เขียนอยากจะฝากไปถึงบรรดานักการเมืองมุสลิมที่เป็นกลไกสำคัญในการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมว่า  สิ่งที่พวกท่านต้องทำเป็นประการแรกหลังจากยกร่างกฎหมายที่พวกท่านจะเสนอเข้าสู่กระบวนการตราพระราชบัญญัติหรือกฎหมายผ่านระบบรัฐสภานั้น  คือ ต้องอธิบายความและสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมายที่ยกร่างนั้นกับองค์กรทางพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับมหาเถระสมาคมและวงการสงฆ์ ต้องคุยทำความเข้าใจกับพระสงฆ์องค์เจ้าเสียก่อน ว่ามันคืออะไร  มีวิธีการอย่างไร ดำเนินการอย่างไร  มีเป้าหมายเพื่ออะไร? 

ให้พระสงฆ์องค์เจ้าท่านเคลียร์เสียก่อนจะได้เข้าใจตรงกันและจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง  สิ่งที่ผ่านมาก็คือ  ผู้ยกร่างที่เป็น ส.ส. มุสลิมไม่ค่อยใส่ใจในประเด็นนี้  กฎหมายหลายฉบับจึงตกไป  เพราะมีแรงกดดันส่วนหนึ่งมาจากองค์กรพระพุทธศาสนาและพระคุณเจ้าทั้งหลาย  เนื่องจากผู้ยกร่างลุยถั่วไม่นำเอาเรื่องการสื่อและการประสานระหว่างองค์กรสำคัญทางศาสนาด้วย  แม้วงการมุสลิมเองก็ตามเถอะ บางทีก็ไม่เคยรับรู้ถึงเนื้อหาของกฎหมายที่ยกร่างนั้นเลย

จึงขอฝากไว้เป็นข้อเสนอแนะว่า  หากคิดจะผ่านกฎหมายใดต้องให้องค์กรสงฆ์ในประเทศไทยได้รับรู้รายละเอียดและแง่มุมต่างๆ ด้วย  เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาความกังวลในข้อนี้ย่อมไม่มีทางหมดไปเป็นแน่แท้ เพราะอย่าลืมว่าพระภิกษุสงฆ์ท่านมีอิทธิพลอย่างสูงทางจิตใจและการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ หากท่านเข้าใจเรื่องว่ามันคืออะไรก็ดีไป 

แต่ถ้าหากท่านไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยแล้วท่านนำไปวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เป็นอยู่  และการที่พระสงฆ์องค์เจ้าท่านมีทัศนะคติในทำนองเช่นนี้  ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นผลมาจากการขาดการประสานและทำความเข้าใจระหว่างกันนั่นเอง  แต่อย่างไรเสีย ถ้อยความที่พระคุณเจ้าท่านว่าก็ดูออกจะเป็นกาลืมประเด็นบางอย่างไป 

กฎหมายทั่วไปที่มีใช้ในประเทศนี้นั้นย่อมจะต้องสอดคล้องและเอื้อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว  เพราะกฎหมายใดที่ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของชาวไทยพุทธย่อมยากที่จะผ่านออกมาบังคับใช้  ส่วนไอ้ที่หลุดๆ ออกมาและดูเหมือนจะเป็นการส่งเสริมอบายมุขนั้น  นั่นก็เพราะมันต้องจริตกับนิสัยของคนไทย  ซึ่งบางทีไม่นำพาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วยซ้ำไป  จำพวกบ่อนคาสิโน  หวยบนดิน  เรื่องสุรายาเมาอะไรในทำนองนี้เป็นต้น 

แต่โดยรวมๆ แล้วการปฏิบัติตามกฎหมายของชาติบ้านเมืองที่ออกมาบังคับใช้นั้นไม่ใคร่จะเป็นปัญหาสำหรับพุทธศาสนิกชน  แต่จะเป็นปัญหาสำหรับชาวมุสลิม  เช่น  เรื่องดอกเบี้ย  เรื่องมรดกและครอบครัว  เป็นต้น 

เพราะชาวมุสลิมในประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ประเภท หนึ่งก็คือกฎหมายชะรีอะฮฺ อันเป็นกฎหมายอิสลามซึ่งเป็นเรื่องของศาสนา  สองก็คือ กฎหมายของบ้านเมือง อันเป็นเรื่องทางโลก  ในขณะที่พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายบ้านเมืองเพียงประเภทเดียวในส่วนของฆารวาส  แต่มุสลิมอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายทั้งสองประเภท  ซึ่งในบางกรณีอาจจะขัดกัน  เช่น กรณีการจดทะเบียนสมรสซ้อน  กรณีการแบ่งมรดก  และกรณีการทำธุรกรรมที่มีดอกเบี้ย  เป็นต้น 

เมื่อเกิดสภาพที่ขัดกันระหว่างการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติกับกฎหมายบ้านเมือง  เหตุนี้เองมุสลิมจึงต้องอาศัยวิธีการขับเคลื่อนในทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีตัวอย่างข้างต้น  ระบบการเงินแบบอิสลามในรูปธนาคารอิสลาม  สหกรณ์อิสลามออมทรัพย์ระบบตะกาฟุล  และการศาลที่มีดาโต๊ะยุติธรรมพิจารณาคดีความว่าด้วยครอบครัวและมรดก  จึงเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย  ไม่ได้มีเจตนาใดๆ แอบแฝงและไม่ได้มีเป้าหมายในการยึดครองประเทศหรือคุกคามต่อพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด

พุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่พุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ก็สามารถขับเคลื่อนกฎหมายต่างๆ ได้อยู่แล้วตามปกติโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน  หากพุทธศาสนิกชนประสงค์ที่จะออกกฎหมายตามกระบวนการในระบบรัฐสภาย่อมสามารถกระทำได้อยู่แล้ว  ส่วนเมื่อองค์กรทางพระพุทธศาสนาเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาแล้วติดขัดเพราะถูกนักการเมืองซึ่งเป็นพุทธเช่นกันเอาไปดองไว้  นั่นก็เป็นเรื่่องระหว่างชาวพุทธกับชาวพุทธที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างกันเอง  แต่กลับกลายเป็นว่าเหตุที่มีปัญหาขัดข้องนั้นมุสลิมต้องรับผิดชอบ  มุสลิมเป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังทุกกรณีไป 

อย่างนี้เรียกว่า รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง คือพาลพะโลกล่าวโทษผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม  เรื่องการตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบ้านเมืองไม่ให้ขัดกับบัญญัติในศาสนาอิสลามนี่ ประเทศพุทธอย่างศรีลังกา เขาก็ทำกัน และทุกอย่างก็ราบรื่น  มุสลิมก็ไม่มีปัญหากับชาวพุทธ  ทำไมพระคุณเข้าจึงไม่ดูศรีลังกาซึ่งเป็นเมืองพุทธเขาปฏิบัติล่ะ 

ลองส่งพระภิกษุสงฆ์และตัวแทนขององค์กรพุทธศาสนาไปดูงานที่ศรีลังกาแล้วจะได้เข้าใจว่าชาวพุทธที่นั่นเขาทำกันอย่างไรในเรื่องนี้  ความจริงชาวมุสลิมในประเทศไทยนั้นต่างหากเป็นผู้ด้อยโอกาส  มิใช่ชาวพุทธ แต่ถ้าชาวพุทธจะเอากฎหมายที่มุสลิมยกร่างและผ่านการตราเป็นกฎหมายในระบบรัฐสภาซึ่งมีไม่เกิน 10 ฉบับจากนับร้อยฉบับมาเป็นเหตุว่ามุสลิมเป็นผู้ฉวยโอกาส  และทำให้ชาวพุทธเสียโอกาสก็พวกท่านอยู่กันมาตั้งนานและเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงมิใช่หรือ 

พวกท่านมัวทำอะไรกันอยู่  ทั้งๆ ที่มีโอกาสทุกประตู เมื่อมุสลิมผ่านกฎหมายธนาคารอิสลามได้แล้วทำไมพวกท่านจะผ่านกฎหมายธนาคารวิถีพุทธไม่ได้  ถ้ามุสลิมมีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ได้ แล้วทำไมท่านทั้งหลายไม่ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจาริกแสวงบุญสู่สังเวชนียสถานเล่า!  ถ้าหากชาวพุทธทั่วประเทศ 90%  เอาด้วยและสนับสนุนมีหรือที่นักการเมืองซึ่งเป็นพุทธเช่นกันจะไม่เอาด้วย  และจะไม่ผลักดันให้มีกฎหมายออกมา 

ตกลงความขัดข้องที่ไม่เกิดกฎหมายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาเนี่ยะเป็นเพราะมุสลิมเป็นเหตุกระนั้นหรือ !  เมื่อตัวไม่ทำแล้วจะไปว่าคนอื่นเขาทำไม! ลองยกร่างกฎหมายห้ามดื่มสุราและเล่นการพนันดูสิ !  มีหรือมุสลิมจะคัดค้านหรือเตะถ่วง จะร่วมสนับสนุนและเอาด้วยต่างหากสิไม่ว่า! 

ดังนั้นโอกาสนั้นมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่!  ไม่ใช่มัวแต่ตีตนอยู่ว่าด้อยโอกาส ไร้โอกาส  เสียโอกาสอยู่เช่นนั้นจึงขอเรียนกับพระคุณเจ้าว่า กฎหมายที่มุสลิมได้มาด้วยความเพียรและตั้งอยู่บนความชอบธรรมและไม่เบียดเบียนผู้ใดเลยนั้น  พระคุณเจ้าอย่าสงสัยเลย  อย่าระแวงเลย  สู้กันคิดยกร่างกฎหมายที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พระพุทธศาสนายังจะดีกว่า  ศาสนาใครก็ว่ากันไปอย่ามัวระแวงกันเช่นนี้เลย พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

(สงฺเกยฺย  สงฺกิตพฺพานิ)   พึงระแวง  สิ่งที่ควรระแวง

(พระไตรปิฎก  เล่มที่ 27 ข้อที่ 545)

กฎหมายเจ็ดแปดฉบับที่ออกไปแล้ว  ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์แม้สักนิดเดียว  แต่ศาสนาอื่นเป็นผู้ได้รับทั้งนั้น… ทั้งๆ ที่ผืนแผ่นดินไทยนี้เป็นของชาวพุทธของเราโดยตรง  แต่ว่าชาวพุทธของเราโดยตรงไม่ได้รับผลประโยชน์ตรงนี้โดยเท่าเทียมกันกับศาสนาอื่นที่เขามาอยู่ในประเทศไทยของเรา”

นี่คือสิ่งที่พระท่านมีคำสรุปเอาไว้

ความเห็นต่าง  กฎหมาย 7-8 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในประเทศไทยซึ่งออกไปแล้วนั้น ใครว่า! ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์แม้สักนิดเดียว  ก็ไหนบอกว่าประเทศไทยเป็น “พุทธภูมิ” เป็นเมืองพระพุทธศาสนาเล่า 

การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนาแล้วคนต่างศาสนาที่มิใช่พุทธศาสนิกชนมีสิทธิเสรีภาพ และสามารถผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของตนได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์เป็นพระประมุขย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ดีที่สุดประการหนึ่งว่า  พุทธศาสนิกชนในประเทศนี้มีใจกว้างและรักในความชอบธรรม ไม่ปิดกั้น ไม่ขัดขวางพี่น้องร่วมชาติ ร่วมแผ่นดินที่เป็นชนต่างศาสนิก  คนต่างชาติต่างศาสนาที่มิใช่คนไทยย่อมไม่อาจกล่าวหาได้เลยว่า ชาวพุทธใจแคบไม่เปิดโอกาสสำหรับศาสนิกชนในศาสนาอื่น

แต่ในทางกลับกันคนเหล่านั้นย่อมประจักษ์รับรู้อย่างเป็นรูปธรรมว่า  เมืองไทยของเรานี้เป็นเมืองศิวิไลซ์เป็นดินแดนอารยะ  เป็นแผ่นดินแห่งความเอื้ออาทร ความอดกลั้น (ขันติธรรม)  และปลอดจากการเบียดเบียนศาสนิกชนอื่น  เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา)  เพราะพระพุทธศาสนาสอนและเน้นเรื่อง เมตตาธรรมและความกรุณา  การที่พลเมืองที่มิใช่พุทธศาสนิกชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข  มีสิทธิเสรีภาพในการทำนุบำรุงศาสนาของตนตามอัตภาพ 

ตลอดจนได้รับโอกาสตามสิทธิอันชอบธรรมในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาของตนได้  ทั้งๆ ที่เป็นพลเมืองส่วนน้อย  และอยู่ในเมืองที่พระพุทธศาสนาเป็นใหญ่  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ชาวพุทธในประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน  จะว่าไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยนั้นคงผิดถนัด และประโยชน์ที่ชาวพุทธได้รับนี้ย้อนกลับไปสู่พระพุทธศาสนาเองโดยตรง

กล่าวคือ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เพราะมีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยจึงได้ทำให้ชาวพุทธมีคุณธรรมข้างต้น ซึ่งประจักษ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่คำคุยหรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำไม่ได้จริง นี่คือประโยชน์ที่ประเสริฐนักสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน และใครก็ตามย่อมไม่สามารถจะดูหมิ่นดูแคลนน้ำใจของชาวพุทธในบ้านเมืองนี้ได้เลย เพราะชาวพุทธในบ้านนี้เมืองนี้เป็นผู้ให้

คือให้โอกาสแก่ศาสนิกชนอื่นเสมอในการดำรงอัตลักษณ์และวิถีแห่งความเชื่อของตนเพราะชาวพุทธในบ้านนี้เมืองนี้เป็นผู้ใจเอื้ออารี แบ่งปันในสิ่งที่ควรจะแบ่งปัน ไม่กินคนเดียว ไม่กีดกันผู้อื่น ทั้งหมดนี้จะว่าชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์ได้อย่างไร ในเมื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจักษ์พยานปากเอกที่ป่าวประกาศให้คนต่างชาติต่างศาสนาที่มิใช่คนไทยได้รับรู้ว่า นี่คือเมืองไทยเมืองแห่งพระพุทธศาสนาที่ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันโดยปกติสุ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า :

(น หิ ทานา ปรํ อตฺถิ ปติฏฐา สพฺพปาณินํ)

“นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”

(พระไตรปิฎก 28/1073)

(ปหุตวิตฺโต ปุริโส สหิรัญโญ สโภชโน

เอโก ภุญฺชติ สาทูนิ ตํ ปราภวโต มุขํ)

“คนใดมั่งมีทรัพย์สินเงินทอง มีของกินของใช้มาก แต่บริโภคของอร่อยคนเดียว นั้นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม”

(พระไตรปิฎก 25/304)

(ทเทยฺย ปุริโส ทานํ อปฺปํ วา ยทิวา พหุ)

“เกิดมาเป็นคน จะมากหรือน้อย ก็ควรให้ปันบ้าง”

(พระไตรปิฎก 27/1012)

(เนกาสี ลภเต สุขํ)

“กินคนเดียว ไม่ได้ความสุข”

(พระไตรปิฎก 27/1674)

หากจะเทียบเอากฎหมายที่เอื้อประโยชน์สำหรับชาวไทยมุสลิมที่ผ่านออกมาแล้วไม่ถึง 10 ฉบับกับกฏหมายที่เอื้อประโยชน์สำหรับชาวพุทธที่มีอยู่มากมายหลายฉบับว่าเป็นเหมือนอาหารอร่อยสำรับใหญ่แล้วมีคนจำนวนหนึ่งนั่งล้อมวงกินอาหารสำรับนั้นอยู่ประมาณ 10 คน 8 คนเป็นชาวพุทธ อีก 2 คน เป็นมุสลิมกับศาสนิกชนอื่น คนทั้ง 8 นั้นได้กินตามส่วนของตนโดยไม่พร่องเลย แล้วอีก 2 คนนั้นเล่าจะไม่มีสิทธิกินตามส่วนของตนดอกหรือ

ครั้นมุสลิมคนเดียวนั้นจะฉวยกินอาหารทั้งสำรับเพียงคนเดียว โดยที่คนอีก 8 คนไม่ได้กินเลย มุสลิมผู้นั้นก็คงต้องท้องแตกตายอยู่ข้างสำรับนั้น แต่ถ้าคนมุสลิมกินอาหารของตนตามส่วนที่มีจะว่ากล่าวมุสลิมผู้นั้นว่าตะกละตะกลามสวาปามส่วนของคนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อทั้ง 9 คนที่เหลือก็ได้กินตามส่วนของตนโดยไม่พร่อง ซึ่งถ้าเอาส่วนที่ชาวพุทธ 8 คนได้รับก็จะมากกว่าที่ 2 คนได้รับอยู่หลายเท่าตัว แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าทุกคนร่วมกันกินสำรับเดียวกันอยู่ดี

คำที่พระท่านพูดจึงดูเหมือนกับว่ามุสลิมไปเบียดเบียนส่วนคนอื่นโดยเฉพาะส่วนของคน 8 คนนั้น ก็ได้กินตั้ง 8 คนแล้ว พอมุสลิมจะกินส่วนของตนบ้างก็กลับมาทัดทานเสียว่า อย่ากินน่ะ! หากกินเมื่อใดก็จะไปเบียดเบียนส่วนของ 8 คนนั้นเข้า เหตุที่ทัดทานเช่นนั้นก็เพราะ 8 คนจะเก็บเอาไว้กินแต่พวกเดียว อย่างนี้มันชอบอยู่หรือ? พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

(น ภุญฺเช สาธุเมกโก)

“ไม่พึงบริโภคของอร่อยผู้เดียว”

(พระไตรปิฎก 28/949)

ดังนั้นคำที่พระท่านว่า กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมที่ออกไปไม่ถึง 10 ฉบับ ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยจึงเป็นการพูดที่ไม่ต่างอะไรกับเรื่องของคน 10 คนที่ล้อมวงสำรับใหญ่นั่นแล และผู้เขียนก็มองต่างมุมไปแล้วว่าชาวพุทธได้ประโยชน์อย่างไร?  แต่ถ้ามองกันเฉพาะเรื่องปัจจัยที่เป็นวัตถุว่าคนนั้นได้มาก คนนี้ได้น้อย แล้วก็พร่ำบ่นไป ก็ป่วยการที่จะอธิบายไปมากกว่านี้

เพราะถ้าหากพิจารณากันด้วยใจเป็นกลางและไม่มีอคติกันจนเลยเถิดก็จะพบว่า อย่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในข้อเท็จจริง จำนวนบัญชีเงินฝากของลูกค้านั้นเป็นมุสลิมมากกว่าลูกค้าที่เป็นชาวพุทธก็จริง แต่มุสลิมเหล่านั้นก็เป็นรายย่อย ส่วนชาวพุทธเป็นลูกค้ารายใหญ่ มีวงเงินมากกว่าครึ่งต่อครึ่ง ถึงแม้จะมีจำนวนบัญชีฝากน้อยกว่ามุสลิมก็ตาม

และธนาคารอิสลามนี้ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด ว่าง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้ว่าจะเป็นธนาคารอิสลามโดยระบบธุรกรรมการเงิน แต่นี่ก็เป็นธนาคารของรัฐกึ่งรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง รัฐบาลเป็นเจ้าของไม่ใช่มุสลิมเป็นเจ้าของอย่างที่เข้าใจ และเมื่อดูระบบของธนาคารอิสลามที่มีอยู่นั้นชาวพุทธเป็นลูกค้าประเภทเงินกู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ แม้ในส่วนลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ก็เช่นกัน

หากร่วมลงทุนประเภท มุฎอเราะบะฮฺ ก็รอรับผลกำไรประกอบการแบบเสือนอนกินไม่ต่างอะไรกับธนาคารที่มีระบบดอกเบี้ยที่ลูกค้าเงินฝากรอรับเงินดอกเบี้ยจากธนาคารเหล่านั้น เพียงแต่ต่างกันตรงที่ว่ามีระบบธุรกรรมต่างกัน และเป็นทางเลือกของลูกค้าในการใช้บริการก็เท่านั้นเอง

ส่วนคำพระที่เอ่ยว่า “ศาสนาอื่นที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยของเรา” นั้นก็ต้องถามว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนาหรือว่าอินเดีย พระพุทธองค์มิใช่คนไทย มิใช่ผู้ที่มีชาติพันธุ์อย่างคนในสุวรรณภูมิ แต่ทรงเป็นศากยวงศ์ ซึ่งเป็นอริยกะ หรือ อารยัน ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นนั้น (ก่อน ค.ศ. 543) แผ่นดินสุวรรณภูมิมีอยู่แล้ว และในสุวรรณภูมิก็มีเผ่าพันธุ์มนุษย์อาศัยอยู่แล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และก่อนหน้าพระเจ้าอโศกมหาราชจะได้ส่งพระโสณะเถระ และพระอุตตระเถระ มาเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกนั้น สุวรรณภูมิมีอยู่แล้ว และมีศาสนาพราหมณ์เข้ามาก่อนแล้ว

ศาสนาหรือลัทธิความเชื่อเดิมที่เกิดขึ้นพร้อมกับผู้คนที่นี่ก็คือ ลัทธิบูชาผีสางนางไม้ แล้วศาสนาพราหมณ์ก็เข้ามา ซึ่งเข้ามาก่อนการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปเสียอีก ครั้นเมื่อมีพระธรรมทูตซึ่งเป็นพระเถระทั้ง 2 รูปนั้นเข้ามาตามศาสโนบายในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาก็จึงเข้ามายังดินแดนนี้นับแต่บัดนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ล้วนแต่เข้ามาจากที่อื่นทั้งสิ้น

หากจะถือเอาว่า ศาสนาใดเข้ามาก่อนย่อมมีสิทธิก่อนและมากกว่าผู้อื่นที่เข้ามาทีหลัง ก็ลัทธิบูชาผีนั่นไง อยู่มาก่อนใครทั้งสิ้น ศาสนาพราหมณ์ก็เข้ามาก่อนพระพุทธศาสนาเช่นกัน แล้วจะพูดให้พุทธศาสนิกชนเกิด “อุปาทาน” ไปทำไมเล่าพระคุณเจ้า! ในเมื่อทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า :

(ยถา น สกฺกา ปฐวี สมายํ

กาตุ มนุสฺเสน ตถา มนุสฺสา)

“แผ่นดินนี้ ไม่อาจทำให้เรียบเสมอกันทั้งหมดได้ ฉันใด

มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้เหมือนกันหมดทุกคนไม่ได้ ฉันนั้น”

(พระไตรปิฎก 27/731)

สิ่งที่ควรกล่าว ก็กล่าวแล้ว สิ่งที่ควรแสดง ก็แสดงแล้ว ท่านทั้งหลายพึงพิจารณาด้วยสติ และความไม่ประมาทเถิด ข้าพเจ้าได้แจกแจงแล้วตามสมควร ส่วนท่านผู้อ่านทั้งหลายจะเห็นประการใด ก็พ้นภาระของข้าพเจ้าแล้ว

والله ولي التو فيق والهداية