ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม : 2. การลักทรัพย์หรือโจรกรรม

การลักทรัพย์หรือโจรกรรม เรียกในภาษาอาหรับว่า อัสสะริเกาะฮฺ (اَلسَّرِقَةُ)ตามหลักภาษาหมายถึง การเอาทรัพย์สินโดยไม่เปิดเผย ส่วนตามคำนิยามในกฏหมายอิสลาม หมายถึง การเอาทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างไม่เปิดเผยโดยมิชอบจากสถานที่เก็บทรัพย์สินตามเงื่อนไขเฉพาะที่ถูกกำหนดเอาไว้

การลักทรัพย์ถือเป็นบาปใหญ่ และถือเป็นพฤติกรรมของผู้ที่ไม่ศรัทธา ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงกำหนดโทษเอาไว้รุนแรงมากด้วยการตัดข้อมือ ดังระบุในอัลกุรฺอานว่า :

وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا جَزَاء بِمَا كَسَبَا نَكَالاً مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ

“และชายผู้ลักทรัพย์และหญิงผู้ลักทรัพย์นั้น พวกท่านจงตัดมือของบุคคลทั้งสอง เพื่อเป็นการตอบแทนต่อสิ่งที่บุคคลทั้งสองได้ขวนขวายเอาไว้ อันเป็นการลงโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเกียรติยิ่งอีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 38)

และท่านนบี ได้กล่าวว่า : ( لَعَنَ اﷲُالسَّارِقَ يَسْرِقُ الْبيْضَةَ فَتُقْطَعُ يَدُه)

“พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ลักทรัพย์โดยที่เขาลักไข่เพียง 1 ฟองแล้วมือของเขาก็ถูกตัด”  (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)

บทลงโทษคดีลักทรัพย์

เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ตามเงื่อนไขที่จะกล่าวถึงต่อไป เบื้องหน้าผู้พิพากษาคดีความ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ลักทรัพย์ คือ ตัดมือข้างขวาจากทางข้อมือ ในกรณีที่ผู้ลักทรัพย์ก่อคดีเป็นครั้งแรก หากผู้กระทำผิดลักทรัพย์ในครั้งที่ 2 หลังจากถูกตัดมือขวาไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อเท้าข้างซ้ายของจำเลย

หากลักทรัพย์เป็นที่ครั้งที่ 3 หลังจากถูกตัดข้อเท้าข้างซ้ายไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อมือข้างซ้าย หากจำเลยไม่หลาบจำ กระทำผิดเป็นครั้งที่ 4 ก็ให้ตัดข้อมือข้างขวาของจำเลย หากกระทำผิดในฐานลักทรัพย์อีก ให้ผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาพิจารณาดำเนินคดีลหุโทษตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ท่านอิหม่าม อัชชาฟีอีย์ (ร.ฮ.) ได้รายงานไว้ในมุสนัดของท่านจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี ได้กล่าวถึงผู้ลักทรัพย์ว่า :

إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْاِرجْلَه ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ  إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْا رِجْلَهُ

“หากว่าเขาลักทรัพย์ พวกท่านจงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์ ก็จงตัดข้อเท้าของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก ก็จงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก พวกท่านก็จงตัดข้อเท้าของเขา”

(อัลอุมม์ 6/138)

อนึ่ง คดีลักทรัพย์จะได้รับการยืนยันด้วยหนึ่งในสองวิธีดังนี้ คือ

(1) ผู้ลักทรัพย์สารภาพอย่างชัดเจนว่าตนลักทรัพย์

(2) มีพยานเป็นชายที่ยุติธรรม 2 คน ยืนยันว่าจำเลยได้ก่อคดีลักทรัพย์

ทั้งนี้ หากจำเลยกลับคำให้การ ก็ไม่ต้องถูกตัดมือ แต่จำต้องชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยแก่เจ้าทรัพย์เท่านั้น

ส่วนเงื่อนไขในการดำเนินคดีผู้ลักทรัพย์ตามบทลงโทษด้วยการตัดมือ ผู้ที่ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดมือนอกจากมีเงื่อนไขครบถ้วน ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ลักทรัพย์ต้องบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะพร้อมทั้งกระทำด้วยความสมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ)

(2) ผู้ลักทรัพย์ต้องมิใช่บุตรของผู้เป็นเจ้าทรัพย์ มิใช่บิดาและมิใช่คู่สามีภรรยา

(3) ทรัพย์ที่ถูกขโมยต้องเป็นทรัพย์ที่หะล้าล และมีจำนวนถึงอัตรา 1/4 ดีนาร์ในการตีราคา หรือเท่ากับ 3 ดิรฮัมขึ้นไป เนื่องจากมีหะดีษระบุว่า :  ( لاَتُقْطَعُ يَدُالسَّارِقِ إِلاَّفِى رُبْعِ دِيْنَارٍفَصَاعِدًا )  “มือของผู้ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดนอกจากใน (กรณีที่ทรัพย์นั้นถึง) หนึ่งในสี่ของดีนาร์ขึ้นไป”  (รายงานโดย บุคอรี -6407- / มุสลิม -1684-)

และมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า  “ท่านนบี ได้ตัดสินให้ตัดมือผู้ลักขโมยโล่ห์ที่มีราคา 3 ดิรฮัม”  (รายงานโดย บุคอรี -6411-)

(4) ทรัพย์ที่ถูกขโมยนั้นต้องอยู่ในสถานที่มิดชิดหรือมีขอบเขต เช่น บ้าน , ร้านค้า , คอกสัตว์ หรือกล่อง เป็นต้น

(5) ผู้ลักทรัพย์ต้องไม่มีกรรมสิทธิเกี่ยวข้องในทรัพย์สินที่ถูกขโมยนั้น เช่น ลักค่าจ้างของตนเองจากนายจ้าง เป็นต้น

(6) ผู้ลักทรัพย์นั้นต้องรู้ว่าการลักทรัพย์เป็นสิ่งต้องห้าม

(7) การเอาทรัพย์ไปนั้นต้องมิใช่ด้วยวิธีการฉกชิงวิ่งราวทรัพย์จากเจ้าทรัพย์แล้ววิ่งหนี

(8) การลักทรัพย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีที่แห้งแล้งขาดแคลนอาหาร (ทุพภิกขภัย)

อนึ่ง เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ และผู้ลักทรัพย์ถูกตัดมือจากคำพิพากษาแล้ว ก็จำเป็นที่ผู้ลักทรัพย์ต้องส่งมอบทรัพย์ของกลางที่ถูกขโมยมาแก่เจ้าทรัพย์ หากเจ้าทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายไปแล้วก็จำเป็นต้องชดใช้ตามราคาของทรัพย์นั้น

ในกรณีที่เจ้าทรัพย์อภัยแก่ผู้ลักทรัพย์ และเรื่องยังไม่เป็นคดีความในชั้นศาล ก็ไม่มีการตัดมือแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเป็นคดีความในชั้นศาลแล้ว ก็จำเป็นต้องตัดมือ และไม่อนุญาตให้วิ่งเต้นเพื่อลดโทษในคดีความดังกล่าว

การปล้นสะดมภ์

ผู้ที่บุกรุกเคหะสถานและปล้นทรัพย์พร้อมกับฆ่าเจ้าทรัพย์นั้น มีโทษสถานหนักตามที่อัลกุรฺอานได้ระบุเอาไว้ดังนี้

( إِنَّمَا جَزَاء الَّذِينَ يُحَارِبُونَ اللّهَ وَرَسُولَهُ وَيَسْعَوْنَ فِي الأَرْضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُواْ أَوْ يُصَلَّبُواْ أَوْ تُقَطَّعَ أَيْدِيهِمْ وَأَرْجُلُهُم مِّنْ خِلافٍ أَوْ يُنفَوْاْ مِنَ الأَرْضِ )

“อันที่จริง การตอบแทนของบรรดาผู้ที่ทำสงครามกับอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และพยายามก่อความเสียหายในแผ่นดิน คือการที่พวกเขาจะถูกประหารชีวิต หรือถูกตรึงบนไม้กางเขน หรือมือและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้างหรือพวกเขาจะถูกเนรเทศจากแผ่นดินนั้น”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 33)

และเนื่องจากมีรายงานระบุว่า ท่านนบี ได้กระทำเช่นนั้นกับพวกอัรนียีนฺ ซึ่งปล้นอูฐ ซะกาตและสังหารผู้เลี้ยงอูฐและหนีคดี (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)

ทั้งนี้ให้ผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) ดำเนินการลงโทษกับผู้ปล้นสะดมภ์ดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งนักวิชาการบางท่านมีความคิดเห็นว่า ให้ประหารชีวิตกรณีมีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และให้ตัดมือและเท้าสลับข้างในกรณีขโมยทรัพย์ และให้เนรเทศหรือถูกจำคุกเมื่อไม่มีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และการขโมยทรัพย์ จนกว่าพวกนั้นจะเตาบะฮฺตัว (มินฮาญุลมุสลิม หน้า 420)