ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม : 3. การผิดประเวณี (ล่วงละเมิดทางเพศ)

การผิดประเวณี เรียกในภาษาอาหรับว่า อัซ-ซินา (اَلزِّنَا) หมายถึง การสมสู่ระหว่างชายหญิงที่มิใช่คู่สมรสของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทางทวารหน้าหรือทวารหลังก็ตาม 

การผิดประเวณีถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาบาปใหญ่ (กะบาอิรฺ) รองจากการตกศาสนา (กุฟฺร์) การตั้งภาคีและการฆาตกรรม พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงบัญญัติห้ามการผิดประเวณีเอาไว้ใน อัลกุรฺอานว่า :

وَلاَ تَقْرَبُواْ الزِّنَى إِنَّهُ كَانَ فَاحِشَةً وَسَاء سَبِيلاً

“และสูเจ้าทั้งหลายอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงการผิดประเวณีคือความอนาจารและเป็นหนทางอันชั่วช้าเลวทราม”  (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 32)

ส่วนหนึ่งจากวิทยปัญญาในการบัญญัติห้ามการผิดประเวณี คือการดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของสังคมมนุษย์, เป็นการรักษาเกียรติยศของผู้ศรัทธา และพิทักษ์ไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของเชื้อสายโลหิตตลอดจนเป็นการป้องกันผู้ศรัทธาให้ห่างไกลจากความสำส่อนทางเพศอันเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่รุนแรงเช่น เอดส์ เป็นต้น

ผู้กระทำผิดในคดีลักษณะอาญาว่าด้วยการผิดประเวณีมี 2 ลักษณะคือ

(1) ผู้ที่เป็นมุฮฺซอน ซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ก. บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะ
  • ข. เป็นเสรีชน
  • ค. มีการกระทำผิดโดยสมัครใจ มิได้ถูกบังคับ
  • ง. ผ่านการสมรสที่ถูกต้องและมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นจากการสมรสนั้น

(2) ผู้ที่มิใช่มุฮฺซอน คือผู้ที่ยังไม่เคยสมรสมาก่อน


บทลงโทษในคดีลักษณะอาญาว่าด้วยการผิดประเวณี

– หากผู้กระทำผิดเป็นผู้ที่มิใช่มุฮฺซอน คือผู้ที่ยังไม่เคยสมรสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน (โบย) 100 ที และเนรเทศเป็นเวลา 1 ปี

– หากผู้กระทำผิดเป็นมุฮฺซอน คือผ่านการสมรสที่ถูกต้องมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะต้องถูกลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินจนตาย

หลักฐานว่าด้วยการเฆี่ยน (โบย) 100 ที สำหรับผู้กระทำผิดประเวณีที่มิใช่มุฮฺซอนคือ อัลกุรฺอานที่ระบุว่า :

( الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا مِائَةَ جَلْدَةٍ – الآية- )

“หญิงที่ทำผิดประเวณีและชายที่ทำผิดประเวณีนั้น พวกท่านจงเฆี่ยนแต่ละบุคคลจากทั้งสองนั้น 100 ครั้ง”  (สูเราะฮฺ อัน-นูร อายะฮฺที่ 2)

ส่วนหลักฐานที่ว่าด้วยการเนรเทศผู้กระทำผิดเป็นเวลา 1 ปีนั้นได้รับการยืนยันในหะดีษซ่อฮีฮฺ และการอิจญ์มาอฺของบรรดาซอฮาบะฮฺ โดยคำตัดสินให้เนรเทศนั้นต้องมาจากคำตัดสินของผู้พิพากษา และการเนรเทศนี้จำเป็นทั้งผู้กระทำผิดที่เป็นชายและเป็นหญิง ยกเว้นในกรณีของผู้หญิงต้องมีผู้ที่เป็นมุฮฺรอม (ชายที่ห้ามแต่งงานด้วย) ร่วมเดินทางไปกับนาง และระยะทางในการเนรเทศนั้นต้องเป็นระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ขึ้นไป

หลักฐานว่าด้วยการขว้างก้อนหินจนตายในกรณีของผู้กระทำผิดที่เป็นมุฮฺซอนคือ การกระทำที่มีรายงานมาจากท่านนบี และอายะฮฺอัลกุรฺอานที่ถูกยกเลิกการอ่าน แต่ยังคงใช้ข้อตัดสินจากอายะฮฺนั้น คืออายะฮฺที่ว่า :

( اَلشَّيْخُ وَالشَّيْخَةُ إِذَازَنَيَافَارْجُمُوْهُمَاالْبَتَةَ نَكَالاًمِنَ اللهِ وَالله ُعَزِيْزٌحَكِيْمٌ )

“ชายที่แต่งงานแล้วและหญิงที่แต่งงานแล้ว เมื่อทั้งสองได้กระทำผิดประเวณี พวกท่านจงขว้างบุคคลทั้งสองโดยเด็ดขาด (ถึงตาย) อันเป็นการลงทัณฑ์จากพระองค์อัลลอฮฺ  และอัลลอฮฺทรงเกียรติยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง”

เงื่อนไขในการลงโทษผู้กระทำผิดประเวณี มีดังนี้

(1) ผู้กระทำผิดเป็นมุสลิม มีสติ สัมปชัญญะ บรรลุศาสนภาวะ และกระทำไปโดยสมัครใจ ไม่ถูกบังคับ

(2) การกระทำผิดประเวณีนั้นปลอดข้อคลุมเครือที่ศาสนาอนุโลมให้ อาทิเช่น ชายพบหญิงนอนหลับอยู่ในที่นอนของตนแล้วเข้าใจว่าหญิงนั้นคือภรรยาของตนแล้วมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกัน ต่อมาปรากฏว่าหญิงนั้นมิใช่ภรรยาของตน ในกรณีเช่นนี้ไม่มีการลงโทษตามที่ศาสนากำหนดไว้

(3) การกระทำผิดประเวณีนั้นได้รับการยืนยันที่เด็ดขาด เช่น ด้วยการสารภาพของผู้กระทำผิดนั้นด้วยสำนวนการสารภาพที่ชัดเจนเด็ดขาด และอยู่ในสภาวะที่ปกติ หรือด้วยการเป็นพยานของชายที่เที่ยงธรรม 4 คน

(4) ผู้กระทำผิดประเวณีต้องไม่กลับคำรับสารภาพก่อนการดำเนินบทลงโทษ

วิธีการในการลงโทษผู้กระทำผิดประเวณี

อิหม่ามทั้งสี่ท่านเห็นพ้องตรงกันว่า ผู้ถูกลงโทษให้ถูกขว้างที่เป็นชายนั้น ให้ลงโทษในสภาพที่จำเลยนั้นยืน โดยไม่ถูกผูกมัดกับสิ่งใด และไม่ต้องขุดหลุม ไม่ว่าการกระทำผิดนั้นจะได้รับการยืนยันด้วยการสารภาพหรือด้วยพยานก็ตาม

ส่วนถ้าผู้ถูกลงโทษเป็นหญิง ก็สมควรขุดหลุมลึกถึงอกของนาง หากการกระทำผิดของนางได้รับการยืนยันด้วยพยาน

ส่วนในกรณีที่นางสารภาพนั้น ไม่ต้องขุดหลุม ทั้งนี้เพื่อที่นางจะได้หนีได้หากนางกลับคำให้การสารภาพ

และในการขว้างนั้นให้ใช้ก้อนหินขนาดปานกลาง (พอดีมือ) ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป โดยการลงโทษให้กระทำต่อหน้า ผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) หรือตัวแทนและต่อหน้าพยานรับรู้ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน และเมื่อจำเลยได้เสียชีวิตแล้ว ให้จัดการศพตามปกติคือ อาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาด และนำไปฝัง

ส่วนกรณีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนนั้น ให้จำเลยนั่งลงกับพื้น และเฆี่ยนที่หลังและอวัยวะส่วนอื่นที่มิใช่ใบหน้าและอวัยวะเพศ หรืออวัยวะที่อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ และให้ใช้แส้ขนาดปานกลางในการเฆี่ยน ในกรณีของจำเลยที่เป็นหญิงให้นางปกปิดเรือนร่างด้วยผ้าบางๆ

โดยการลงโทษให้กระทำต่อหน้าผู้คนโดยเปิดเผย และไม่ให้ลงโทษในมัสยิดสถาน และการลงโทษไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนหรือการขว้างด้วยก้อนหินต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) เท่านั้น

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์ ให้รอจนกว่านางจะคลอดเสียก่อน พร้อมกับให้เวลานางในการให้นมลูกของนางเป็นเวลา 2 ปี

และในการลงโทษด้วยการเฆี่ยนนั้นต้องไม่กระทำในเวลาที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด , ขณะป่วย หรือขณะมีเลือดนิฟาสหรือมีการตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพราะการเฆี่ยนมีเป้าหมายเพื่อการปรามและทำให้หลาบจำมิใช่ทำให้ถึงแก่ชีวิต