ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม : 4. รักร่วมเพศ (อัล-ลิวาฏ)

อัล-ลิวาฎ (اَللِّوَاطُ)  หมายถึง การสมสู่กันระหว่างชายกับชาย หรือระหว่างชายกับหญิงที่มิใช่ภรรยาของตนทางทวารหนัก การกระทำเช่นนี้ศาสนาอิสลามถือว่าเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาด ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษสถานหนัก เช่นเดียวกับความผิดของการผิดประเวณี (อัซซินา)

ในส่วนของผู้กระทำ (อัลฟาอิลฺ) นั้นหากมีพยานยืนยันหรือผู้กระทำผิดได้สารภาพ ถ้าผู้กระทำผิดเป็นมุฮฺซอน (ผ่านการสมรสแล้ว) ก็จะถูกขว้างจนตาย แต่ถ้าผู้กระทำผิดมิใช่มุฮฺซอน (ยังไม่เคยผ่านการสมรสมาก่อน) ก็จะถูกเฆี่ยน 100 ที และเนรเทศเป็นเวลา 1 ปี ส่วนผู้ถูกกระทำ (อัลมัฟอูลุบิฮี) ซึ่งมิใช่ภรรยาของผู้กระทำผิดก็จะถูกเฆี่ยนและถูกเนรเทศเช่นเดียวกับกรณีของคนโสด ถึงแม้ว่าผู้ถูกกระทำจะเคยผ่านการสมรสมาแล้วก็ตาม (มุฮฺซอน) และไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

มีบางทัศนะระบุว่า ให้ขว้างหญิงที่ผ่านการสมรสแล้วจนตายในกรณีนี้ และในคำกล่าวหนึ่งของอิหม่าม อัชชาฟีอีย์ (ร.ฮ.) ระบุว่า ผู้ที่กระทำผิดในคดีรักร่วมเพศนี้จะต้องถูกประหารชีวิตโดยอาศัยหะดีษที่รายงานโดยบรรดาเจ้าของ อัส-สุนัน จากอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส (ร.ฎ.) ว่าแท้จริงท่านนบี ได้กล่าวว่า:

( مَنْ وَجَدْتُمُوْهُ يَعْمَلُ عَمَلَ قَوْمِ لُوْطٍ فَاقْتُلُواالْفَاعِلَ وَالْمَفْعُوْلَ بِهِ )

“ผู้ใดที่พวกท่านพบว่าเขาได้กระทำเยี่ยงการกระทำของกลุ่มชนนบีลูฏแล้ว พวกท่านก็จงสังหารทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำนั้นเสีย”

(รายงานโดย อัตติรมิซี -1456-/ อบูดาวูด -4462-/ อิบนุมาญะฮฺ -2561-)

อนึ่งกรณีการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับหญิงผู้เป็นภรรยานั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นส่วนหนึ่งจากบาปใหญ่ เนื่องจากมีระบุมาในบรรดาหะดีษเป็นจำนวนมากที่สาปแช่งผู้กระทำสิ่งดังกล่าว อาทิเช่น หะดีษที่รายงานโดยอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านนบี ว่า :   (مَلْعُوْنٌ مَنْ أَتٰى امْرَأَةًفِىْ دُبُرِهَا)   “ผู้ที่ร่วมเพศกับหญิงหนึ่งทางทวารหนักของนางย่อมถูกสาปแช่ง”  (รายงานโดย อบูดาวูด -2162-)

ดังนั้นหากปรากฏว่าสามีได้ร่วมเพศกับภรรยาของตนทางทวารหนัก ก็ให้ผู้พิพากษา (กอฎี) กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมได้ แต่บทลงโทษดังกล่าวจะต้องไม่ถึงขั้นต่ำสุดของบทลงโทษสถานหนักที่ศาสนากำหนดเอาไว้

ส่วนการรักร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิงนั้น ภาษาอาหรับเรียกว่า อัส-สิหาก (اَلسِّحَاقُ)  ถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยการเห็นพ้องของบรรดานักปราชญ์ และเนื่องจากมีหะดีษระบุว่า :

( لاَيَنْظُرُالرَّجُلُ إِلَى عَوْرَةِالرَّجُلِ ، وَلاَالْمَرْأَةُإِلَى عَوْرَةِالْمَوْ أَةِ ولاَيُفْضِى الرَّجُلُ إِلَى الرَّجُلِ فِى ثَوْبٍ وَاحِدٍ ، وَلاَتُفْضِى المَرْأةُ إِلَى المَرْأَةِفِى ثَوْبٍ وَاحِدٍ )

“ชายจะต้องไม่มองไปยังอวัยวะพึงปกปิดของชาย และหญิงจะต้องไม่มองไปยังอวัยวะพึงปกปิดของหญิง และชายจะต้องไม่สัมผัสเสียดผิวกายยังชายในผ้าคลุมผืนเดียวกัน และหญิงจะต้องไม่สัมผัสเสียดสีผิวกายยังหญิงในผ้าคลุมผืนเดียวกัน”

(รายงานโดย อะห์หมัด , มุสลิม อบูดาวูด และติรมีซี)

ดังนั้นการสัมผัสกายโดยตรงระหว่างหญิงกับหญิงด้วยการเสียดสี เล้าโลม กอดฟัด รัดเหวี่ยงเยี่ยงการกระทำของพวกเลสเบี้ยนนั้น จึงเป็นสิ่งต้องห้าม และมีโทษตามดุลยพินิจของ ผู้พิพากษาหรือผู้มีอำนาจ แต่ไม่ถึงขั้นของโทษในคดีความผิดว่าด้วยการผิดประเวณี (อัซซินา) หรือการรักร่วมเพศระหว่างชายกับชายทางทวารหนัก (อัลลิวาฏ)

อนึ่งกรณีการร่วมเพศกับสัตว์นั้น บรรดานักปราชญ์มีมติเห็นพ้องว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นสิ่งที่วิตถารผิดธรรมชาติของมนุษย์ปกติ และนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ผู้กระทำผิดในโทษฐานร่วมเพศกับสัตว์ต้องถูกลงโทษตามดุลยพินิจของผู้พิพากษาหรือผู้มีอำนาจ โดยบทลงโทษนั้นต้องไม่ถึงขั้นต่ำสุดของบทลงโทษสถานหนักที่ศาสนากำหนดเอาไว้ ส่วนสัตว์ที่ถูกกระทำชำเรานั้น นักวิชาการบางส่วนมีทัศนะว่าไม่ต้องเชือดสัตว์นั้น ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนระบุว่า ให้ฆ่าสัตว์นั้นเสีย

อนึ่งกรณีกระทำชำเรากับศพ นักวิชาการสังกัดมัซฮับมาลิกียะฮฺ ระบุว่า ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษเช่นเดียวกับกรณีของการผิดประเวณี ส่วนนักวิชาการส่วนใหญ่ ถือว่ามีความผิดในขั้น ลหุโทษ คือไม่ต้องถูกลงโทษสถานหนักตามที่ศาสนากำหนดเอาไว้ แต่ให้เป็นการลงโทษตาม ดุลยพินิจของผู้พิพากษาหรือผู้มีอำนาจ