หมวดการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ : การประกันภัย (อัต-ตะอฺมีน)

เนื้อหาของหมวดนี้จะกล่าวถึงการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นหมวด ดังนี้

  • หมวดการประกันภัย (อัตตะอฺมีน)
  • หมวดการจำนำ จำนอง ขายฝาก และหุ้นส่วน
  • หมวดการยกให้ การอุทิศ
  • หมวดการมอบฉันทะ
  • หมวดการอุปโภคบริโภค ตามลำดับ

การประกันภัย (อัตตะอฺมีน)

ความคิดว่าด้วยการประกันภัย

การประกันภัย (อัต-ตะอฺมีน) ตั้งอยู่บนหลักคิดง่ายๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระจายผลของความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุจำเพาะในระหว่างบุคคล แทนที่จะปล่อยให้ผู้ที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุนั้นแบกรับผลของมันแต่เพียงผู้เดียว การประกันภัยจึงมีเป้าหมายในการคุ้มครองบุคคลจากความเสียหายทางทรัพย์สินซึ่งบุคคลผู้นั้นอาจจะต้องเผชิญกับความเสียหายนั้นในกรณีที่เกิดขึ้นจริง

และวิธีการประกันภัยได้ทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การจัดตั้งกองทุนร่วมซึ่งผู้ที่อาจจะเผชิญกับภยันตรายหนึ่งที่เจาะจงจะมีหุ้นส่วนในกองทุนนั้น และเมื่อมีผู้ประสบกับภยันตรายนั้นจริงก็จะได้รับค่าทดแทนจากกองทุนร่วมดังกล่าว

การประกันภัยตามความหมายนี้ ถือเป็นระบบที่เกิดขึ้นใหม่ ถึงแม้ว่าความต้องการความปลอดภัยและการมีหลักประกันที่ทำให้เกิดความคิดว่าด้วยการประกันภัยจะมีรากเหง้าย้อนกลับไปนับแต่ยุคโบราณก็ตาม และเมื่อกาลเวลาได้ผ่านพ้นไปความต้องการดังกล่าวก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นระบบหนึ่งที่สำคัญในระบอบเศรษฐกิจปัจจุบัน

ความต้องการในเรื่องการประกันภัยได้ปรากฏขึ้นในช่วงปลายยุคกลาง ขณะที่การค้าทางทะเล (พาณิชย์นาวี) มีความแพร่หลายระหว่างหัวเมืองในอิตาลีและกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตน่านน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยในช่วงแรกๆ การประกันภัยจะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของสินค้า ต่อมาก็ขยายสู่การประกันภัยของกองเรือสินค้า ทรัพย์สินและผู้คนที่ร่วมอยู่ในกองเรือสินค้า

ในภายหลังก็ครอบคลุมถึงกรณีวิบัติภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวและภยันตรายร้ายแรงในรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มต้นขึ้นในประเทศอังกฤษ ราวคริสตศตวรรษที่ 17 เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน ปี ค.ศ. 1666 ต่อมาในราวคริศตศตวรรษที่ 18 การประกันภัยก็เป็นที่แพร่หลายไปในอีกหลายประเทศ และมีรูปแบบการประกันภัยที่หลากหลายมากขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19

นี่คือพัฒนาการของการประกันภัยในกลุ่มประเทศตะวันตก ส่วนในโลกอิสลามนั้น การประกันภัยไม่เป็นที่รู้จัก นอกจากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่าไม่มีนักนิติศาสตร์ชาวมุสลิมคนใดกล่าวถึงเรื่องนี้ก่อนหน้า นักวิชาการผู้มีนามว่า อิบนุ อาบิดีน อัลหะนะฟีย์ ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่าไม่อนุญาตให้ทำการประกันภัย ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงในแวดวงนักวิชาการมุสลิมในเวลาต่อมา

ชนิดของการประกันภัยและข้อชี้ขาด

การประกันภัยมีมากมายหลายชนิด ที่สำคัญๆ ได้แก่

1. การประกันชีวิต (อัต-ตะอฺมีน อะลัล หะ-ยาฮฺ) หมายถึงชื่อสัญญาประกันภัยชนิดหนึ่ง ซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับประกันภัย” ตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง และในการนี้ผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” ให้แก่ผู้รับประกันภัย

2. การประกันวินาศภัย (อัต-ตะอฺมีน มินัล อัฏ-รอรฺ) หมายถึง ชื่อสัญญาประกันภัยชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ในกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างใดๆ ที่พึงประมาณเป็นเงินได้

    การประกันภัยทั้งสองชนิดนี้ มีผลจากการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อิสลาม ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1976 ณ นครมักกะฮฺได้ลงมติว่า

    “ธุรกิจการประกันภัยที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ มิอาจแสดงออกถึงการทำงานร่วมกันและความสามัคคีตามความมุ่งหมายแห่งนิติธรรมอิสลาม จึงมิอาจจะยอมรับได้ ทั้งนี้เพราะไม่สามารถตอบสนองเงื่อนไขต่างๆ แห่งอิสลามได้”

    ดังนั้น ธุรกิจการประกันภัยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิตหรือทรัพย์สิน จึงถือเป็นการดำเนินธุรกิจที่มิชอบด้วยหลักการของนิติศาสตร์อิสลาม เนื่องจาก

    • เป็นธุรกิจที่เข้าไปก้าวก่ายในกฎแห่งการกำหนดสภาวะการณ์ของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)
    • เป็นธุรกิจที่มีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง
    • เป็นธุรกิจที่เหมือนกับการเสี่ยงโชคและรูปแบบของการพนัน
    • เป็นธุรกิจที่มีการฉ้อโกง และหลอกลวงแฝงอยู่
    • เป็นธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม โดยอาศัยความไม่แน่นอนเป็นเงื่อนไขในการตักตวงผลประโยชน์

    3. การประกันสังคม (อัต-ตะอฺมีน อัล-อิจญ์ติมาอีย์)  คือการประกันภัยกลุ่มบุคคลให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในยามที่เกิดปัญหา ที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อาทิเช่น ประกันภัยในกรณีที่เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, ชราภาพ และว่างงาน เป็นต้น การประกันสังคมในปัจจุบันถือเป็นภาระของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐในการสร้างหลักประกันในการครองชีพของประชาชนให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในยามที่เกิดกรณีข้างต้น

    ตามทัศนะที่มีน้ำหนักของนักนิติศาสตร์อิสลามถือว่าการประกันสังคมเป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำได้ ทั้งนี้เพราะรัฐหรือหน่วยงานของรัฐมิได้มุ่งแสวงหากำไรในกรณีดังกล่าว หากแต่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับผู้ใช้แรงงานและนายจ้างในการระดมเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม

    ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีเรื่องดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังเช่น มีการคิดดอกเบี้ยในกรณีที่นายจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) ล่าช้าในการชำระเบี้ยประกันสังคม เป็นต้น ก็ถือว่ากรณีเช่นนี้เป็นที่ต้องห้าม

    4. การประกันภัยแบบแลกเปลี่ยน (อัต-ตะอฺมีน อัต-ตะบาดุลีย์) คือการทำข้อตกลงว่าจะช่วยเหลือกันโดยข้อตกลงมีจุดมุ่งหมายร่วมกันระหว่างกลุ่มคณะบุคคลจำเพาะที่พวกเขาอาจประสบภัยอย่างใดอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคณะนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยนั้น โดยจ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่แน่นอนซึ่งได้จากการร่วมช่วยกันรวบรวมแก่ผู้ประสบภัยจากสมาชิก

    การประกันภัยในรูปแบบนี้ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการลงขันช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มถือเป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำได้ เพราะเงินที่จ่ายให้นั้นหมายถึงเงินบริจาค (ตะบัรรุอฺ) และไม่มีเป้าหมายในการหากำไร อีกทั้งไม่มีเรื่องของดอกเบี้ยและการหลอกลวงเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนยังถือว่าการประกันภัยรูปแบบนี้ ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “ตะกาฟุล” เป็นการร่วมมือเพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือกันและกัน ระหว่างหมู่สมาชิกหรือผู้เข้าร่วมโครงการในยามที่ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน

    สำหรับกองทุน “ตะกาฟุล” จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเป็นผู้บริหาร ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจก็ได้ โดยส่วนหนึ่งของกองทุนจะถูกกันเป็นเงินสำรองไว้สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนหรือช่วยเหลือผู้ร่วมโครงการรายอื่นที่ประสบภัย อีกส่วนหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการ ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปลงทุนให้เกิดรายได้ โดยไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยและอบายมุข กำไรที่ได้จากการลงทุนจะถูกแบ่งให้ผู้บริหารและผู้ร่วมโครงการของกองทุนตามที่ตกลงกันในสัญญา

    ดังนั้น บริษัทตะกาฟุลจึงเป็นเสมือนผู้บริหารกองทุนซึ่งเป็นเงินของผู้เข้าร่วมโครงการ จึงแตกต่างกับบริษัทประกันภัยแบบตะวันตกที่เป็นเสมือนเจ้ามือพนัน