หมวดว่าด้วยการอุปโภคบริโภค : ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายตามศาสนบัญญัติ

ศาสนาอิสลามได้อนุมัติพร้อมกับส่งเสริมให้ชาวมุสลิมมีความงดงามในบุคลิกภาพและการแต่งกายที่ดีตลอดจนการประดับตบแต่งเรืองร่างด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการคือ

1. ปกปิดอวัยวะพึงสงวน

2. การประดับตบแต่งเพื่อความสวยงาม พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ได้ทรงดำรัสว่า :

يَا بَنِي آدَمَ قَدْ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمْ لِبَاسًا يُوَارِي سَوْءَاتِكُمْ وَرِيشًا

“โอ้ ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย แน่แท้เราได้ประทานอาภรณ์ลงมาแก่สูเจ้าทั้งหลายอันเป็นอาภรณ์ที่จะปกปิดอวัยวะพึงสงวนพวกสูเจ้าตลอดจนเครื่องนุ่งห่มทั้งหลาย (อีกด้วย)” (สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 26)

ศาสนาอิสลามได้กำหนดให้ชาวมุสลิมต้องปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) เพื่อเป็นการจำแนกมนุษย์ออกจากสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เปลือยเปล่าไร้เครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นหลักการสำคัญของเครื่องแต่งกายสำหรับชาวมุสลิมก็คือ การปกปิดเรือนร่างหรืออวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) ในศาสนาอิสลามจึงไม่มีชุดแต่งกายอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเฉพาะ แต่เปิดกว้างสำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิงในการแต่งกายตามจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่นได้ แต่มีเงื่อนไขว่า เครื่องแต่งกายนั้นต้องปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) และมิใช่เครื่องแต่งกายที่มีศาสนบัญญัติห้ามเอาไว้

การแต่งกายตามศาสนบัญญัติมีข้อปฏิบัติอยู่หลายประการ ดังนี้

1. เครื่องแต่งกายที่มุสลิมสวมใส่ต้องปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) โดยปกปิดอวัยวะพึงสงวนระหว่างสะดือและหัวเข่าสำหรับผู้ชาย และปกปิดเรือนร่างทั้งหมดยกเว้นฝ่ามือทั้งสองและใบหน้าสำหรับผู้หญิง

2. การปกปิดอวัยวะพึงสงวนนั้นต้องปกปิดด้วยเสื้อผ้าที่ไม่บางจนเห็นสีผิวหรือรัดรูปจนเห็นสัดส่วนของร่างกาย

3. ห้ามมิให้ชายมุสลิมสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำมาจากผ้าไหมล้วน ๆ หรือส่วนใหญ่เนื่องจากมีหลักฐานบัญญัติห้ามเอาไว้ในอัลหะดีษที่ว่า

“لاَتَلْبَسُوْاالحَرِيْرَفَإِنَّ مَنْ لَبِسَه فِى الدُّنْيَالَمْ يَلْبَسْهُ فِى الآخِرَةِ”

“พวกท่านอย่าได้สวมใส่ผ้าไหม เพราะแท้จริงผู้ใดสวมใส่ผ้าไหมในโลกนี้ เขาจะไม่ได้สวมใส่มันในโลกหน้า” (รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

ในกรณีที่มีความจำเป็นทางด้านสุขภาพ ศาสนาอนุโลมให้ชายมุสลิมสวมใส่ผ้าไหมได้ เนื่องจากมีหลักฐานว่าท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้อนุญาตให้ท่านอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ เอาว์ฟ และอัซซุบัยร์ อิบนุ เอาวาม (ร.ฎ.) ในการสวมใส่ผ้าไหม เนื่องจากมีอาการคันที่ผิวหนัง (รายงานโดยบุคอรี)

4. ห้ามมิให้ชายมุสลิมสวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากทองคำบริสุทธิ์หรือส่วนใหญ่ อาทิเช่น แหวน นาฬิกา เป็นต้น

เนื่องจากมีหลักฐานบัญญัติห้ามเอาไว้ในอัลหะดีษที่ว่า

إِنَّ هٰذَيْنِ حَرَامٌ عَلى ذُكُوْرِ أمَّتِىْ ، حِلٌّ لإنَاثِهِمْ

“แท้จริงสองสิ่งนี้ (ผ้าไหมและทองคำ) เป็นที่ต้องห้ามเหนือบุรุษเพศแห่งประชาชาติของฉัน, เป็นที่อนุมัติแก่สตรีเพศของพวกเขา” (รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ)

5. ห้ามมิให้ชายมุสลิมและหญิงมุสลิมะฮฺใช้สอยเครื่องภาชนะที่ทำจากทองคำและเงิน เนื่องจากมีหลักฐานบัญญัติห้ามเอาไว้ในอัลหะดีษที่ว่า

لاَتَشْرَبُوْافِى آنِيَةِ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ ، وَلاَتَأْكُلُوْافى صِحَافِهَا فَإِنَّهَالَهُمْ فِى الدُّنيَا

“พวกท่านอย่าดื่ม (น้ำ) ในภาชนะทองคำและเงินและอย่าได้ทานอาหารในถาดทองคำและเงิน และแท้จริงมันเป็นสิ่งสำหรับพวกเขา (ผู้ปฏิเสธ) ในโลกนี้” (รายงานโดยมุสลิม -2067-)

สำหรับข้อห้ามในเรื่องนี้มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ประการคือ

ก. อนุญาตให้สตรีมุสลิมใช้ทองคำและเงินเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงามได้ตามจารีตประเพณีโดยไม่สุรุ่ยสุร่ายและเลยเถิด

ข. อนุญาตให้ชายมุสลิมสวมใส่แหวนเงินได้ เนื่องจากมีรายงานที่ถูกต้องว่า ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) มีแหวนเงินเอาไว้สวมใส่ (รายงานโดยมุสลิม -2094-)

ค. ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือตกอยู่ในภาวะคับขัน เช่น ไม่มีภาชนะอื่นใดเลยในการใช้สอยนอกจากภาชนะทองคำหรือเงิน ก็อนุโลมให้ใช้ได้เท่าที่จำเป็น

6. ห้ามมิให้ชายมุสลิมสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ของสตรีและห้ามมิให้สตรีมุสลิมสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ของผู้ชาย เนื่องจากมีหลักฐานบัญญัติห้ามเอาไว้ในอัลหะดีษว่า

لَعَنَ الله الرَّجُلَ يَلْبَسُ لُبسَةَ المرأَةِ ، وَالْمرأةَ تَلْبَسُ لُبْسَةَ الرَّجُلِ  كَمَا لَعَنَ الْمُتَشَبِّهِيْنَ مِنَ الرِّجَالِ بِالنِّسَاءِ ، وَالْمُتَشَبِّهَاتِ مِنَ النِّسَاءِ بالرِّجَالِ

“พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ชายที่สวมใส่อาภรณ์ของผู้หญิง และผู้หญิงที่สวมใส่อาภรณ์ของผู้ชาย เช่นเดียวกันพระองค์ทรงสาปแช่งบรรดาผู้ชายที่เลียนแบบผู้หญิง และบรรดาผู้หญิงที่เลียนแบบผู้ชาย” (รายงานโดยอบูดาวูด -4098-)

ในอัลหะดีษบทนี้ มีบัญญัติห้ามการเลียนแบบคนต่างเพศทั้งในเรื่องการพูดจา ท่าทาง อากัปกริยา การเดินและการแต่งกาย เป็นต้น

7. ไม่ควรให้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แต่งกายโดยเฉพาะกางเกง เสื้อคลุมยาว หรือ โสร่ง เป็นต้น ยาวเลยตาตุ่มสำหรับผู้ชาย ส่วนสตรีมุสลิมนั้นให้เครื่องแต่งกายของนางยาวจนคลุมเท้าทั้งสอง และให้สวมผ้าคลุมฮิญาบยาวลงมาปกปิดต้นคอและทรวงอกของนาง

8. ให้เลือกเสื้อผ้าสีขาวในการสวมใส่ ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าทุกสีจะเป็นที่อนุญาตให้สวมใส่ก็ตาม เนื่องจากมีหลักฐานระบุในอัลหะดีษว่า

البَسُوْاالْبَيَاضَ فَإِنَّهَاأَطْهَرُوَأَطْيَبُ …الحديث

“พวกท่านจงสวมใส่อาภรณ์สีขาวเถิด เพราะแท้จริงมันเป็นสิ่งที่สะอาดและดีที่สุด…”  (รายงานโดยติรมีซี -2810)

9. ไม่ควรเดินโดยสวมรองเท้าเพียงข้างเดียว และเมื่อจะสวมใส่รองเท้าให้เริ่มสวมข้างขวาก่อน และเมื่อถอดให้เริ่มถอดข้างซ้ายก่อน เนื่องจากมีสุนนะฮฺของท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) ระบุเอาไว้  (รายงานโดยมุสลิม -67-)

10. ให้เริ่มในการสวมใส่เสื้อผ้าด้วยข้างขวาและกล่าวบทขอพรเมื่อได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ตัวใหม่ว่า :

أَللهُمَّ لَكَ الحَمْدُ أَنْتَ كَسَوْتَنِِيْهِ ، أَسْأَلُكَ خَيْرَهُ  وَخَيْرَمَاصُنِعَ لَه ، وَأَعُوْذُبِكَ مِنْ شَرِّ ه ، وَشَرِّماصُنِعَ لَه

โอ้ อัลลอฮฺ! สำหรับพระองค์คือการสรรเสริญทั้งมวลพระองค์ทรงให้ฉันสวมใส่มัน  ขอต่อพระองค์ซึ่งความดีของมัน และความดีของสิ่งที่มันถูกทำมาเพื่อสิ่งนั้น  และขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายของมัน  และความชั่วร้ายของสิ่งที่มันถูกทำมาเพื่อสิ่งนั้น”  (รายงานโดยบุคอรี)