จดหมายจากน้องชายถึงพี่ชายนามมัสลัน

        สลามถึง  อ.มัสลัน มาหะมะ  พี่ชายที่เคารพรัก
        จดหมายฉบับนี้ ถูกเขียนขึ้นภายหลังได้รับจดหมายเปิดผนึกของพี่ชายซึ่งลงข้อความเอาไว้  ลงวันที่  13  Safar  1429  (20/2/2551)  ถึง ผศ.ดร.นิรันดร์  พันทรกิจ ทั้งนี้บังมัสลันไม่ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงน้องโดยตรง  กล่าวคือ  ไม่ได้ส่งผ่านไปรษณีย์  แต่กลับเผยแพร่ข้อความในอินเตอร์เน็ต  ทั้ง ๆ ที่บังมัสลันระบุในจดหมายว่าประสงค์จะนะศีฮะฮฺระหว่างกันตลอดจนถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สะท้อนมุมมอง  หรือเสนอแนวทางที่ดีเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของ อัลลอฮฺ  (ดูย่อหน้าที่  2  จากจดหมายเปิดผนึก) 

 

        น้องไม่ทราบว่า  ด้วยเหตุผลกลใด?  พี่มัสลันจึงไม่ส่งจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว  เพื่อนะศีฮะฮฺน้องโดยตรงในเบื้องแรก  น้องจะได้รับเอาคำนะศีฮะฮฺของพี่มัสลันมาพิจารณาใคร่ครวญเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดทางข้อมูลที่น้องได้นำเสนอต่อคณะผู้เข้าอบรมสัมมนาที่หาดแก้วรีสอร์ทซึ่ง  บัง มัสลัน  เรียกขานการสัมมนาครั้งนั้นว่า  “โรงเรียนของอาจารย์”  (ซึ่งหมายถึงอาจารย์   นิรันดร์  พันทรกิจ)  น้องปิติยินดีที่มีโอกาสได้พบบังมัสลันและคณะผู้เข้าอบรมในครั้งนั้น  โดยเฉพาะ  อ.เจ๊ะเลาะ  แขกพงษ์  ซึ่งเป็นทั้งครูและรุ่นพี่ของน้องเมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่อียิปต์  น้องประกาศอย่างชัดเจนในการอรัมภบทว่า  น้องให้เกียรติ  (إكرام)  ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านด้วยความจริงใจเพราะหลายท่านที่เข้าอบรมมีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงกว่าน้องเป็น อันมาก  การบรรยายในฐานะวิทยากรของโครงการที่  ศอบต. จัดขึ้นนั้น  ขอให้ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล  มุมมอง  และเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน  มิใช่การสอนแต่อย่างใด  (หากบังมัสลันยังจำได้) 

 

        ที่สำคัญการสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับ  3  ประเด็นหลักที่ว่าด้วยเรื่องคติชาติพันธุ์นิยม  (العصبيةالعنصرية),  ประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลาม  (تاريخ فطانى دارالسلام) และหลักการญิฮาดตามศาสนบัญญัติ  (أحكام الجهادالشرعية)  นั้นเกิดจากการรวบรวมแนวความคิดและประสบการณ์ตรงที่ได้จากการอบรม  “ยุวชนพิทักษ์อิสลาม”  (PPI)  ซึ่งน้องเป็นวิทยากรร่วมในการบรรยาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บรรดาเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลายในสถานศึกษาของ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของสงขลาจนถึงบัดนี้ผ่านการอบรมไปแล้วไม่น้อยกว่า  1,000  คน  นอกจากนี้ยังมีการอบรม  ป.บัณฑิต  (PPI2)  ซึ่งเป็นอุสต๊าซและอุสตาซะฮฺจากสถานศึกษาในพื้นที่อีกหลายรุ่นด้วยกันประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมทั้ง  2  โครงการนี้น้องได้นำมาเป็นโครงเรื่องในการบรรยายและเสนอข้อมูลแก่ผู้เข้าอบรมสัมมนาที่หาดแก้วรีสอร์ท ซึ่งมีบังมัสลันเข้าร่วมด้วยนั่นเอง

 

        น้องไม่เข้าใจว่าทำไม?  บังมัสลัน  จึงไม่ว่ากล่าวตักเตือน  (นะศีฮะฮฺ)  น้องต่อหน้า  ทั้ง ๆ ที่เราก็มีโอกาสนั่งดื่มกาแฟและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันในช่วงพักบรรยาย  หลายเรื่องที่บังมัสลันระบุไว้ในจดหมายเปิดผนึกนั้น  บังมัสลันไม่ได้พูดต่อหน้าน้องในวันนั้น  ถึงแม้ว่ามีหลายเรื่องที่เราพูดคุยกันด้วยอัธยาศัยมีไมตรีต่อกันในวันนั้นและบังมัสลันได้นำมาวิภาษณ์ต่อในจดหมายเปิดผนึกก็ตาม 

 

        ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าข้อมูลที่น้องนำเสนอในการบรรยายต่อจาก  ดร.อนัส  อมาตยกุล  นั้น  มีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนจากหลักการและข้อเท็จจริงเพียงใด  ไม่ถูกต้องและค้านกับหลักการจากกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺอย่างไร?  ประเด็นนี้ต่างหากที่บังมัสลันต้องนะศีฮะฮฺและบอกกล่าวให้ผมรับรู้และนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุง  เพราะถ้ารักกันจริงและรักบนพื้นฐานของความรักในพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  อย่างที่บังบอกรักผมกับอาจารย์นิรันดร์ว่า  (إنى أحبك فى الله) บังมัสลันก็ต้องวิภาษณ์และคัดค้านว่าข้อมูลที่ผมนำเสนอมันผิดพลาดและค้านกับข้อเท็จจริง  แทนที่จะเป็นเช่นนั้น  บังกลับระบุในจดหมายว่า  ผม  “แสดงวาจาสาหัส  ค่อนข้างก้าวร้าว  เหน็บแนม  ประชดประชันดูถูก  แถมใช้คำพูดแบบแกว่งเท้าหาเสี้ยนอีกด้วย”  (หน้าที่  2 ย่อหน้าที่  2)

 

        คำพูดของบังมัสลันที่ระบุไว้ในจดหมายนี้  บังมัสลันไม่ได้พูดต่อหน้าผมในวันนั้น  แต่กลับนำมาวิภาษณ์ในจดหมายที่ไม่ได้ส่งถึงผมโดยตรง  ผมมาทราบทีหลังว่าบังมัสลันเขียนวิจารณ์ผมในจดหมายทางอินเตอร์เน็ตแล้วโดยที่ผมมิอาจรับรู้ได้เลยถ้าหากไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ซึ่งก็ล่วงเวลามาจนถึงเดือนมีนาคมแล้ว  ผมชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่านี่จะเป็นการนะศีฮะฮฺที่บริสุทธิ์ใจ  เพราะไป ๆ มา ๆ อาจจะเข้าข่ายการประณามหรือประจานผมลับหลังก็ได้  ในอัลหะดีษระบุว่า  “ศาสนาคือการตักเตือนกัน”  (الدين النصيحة)  (บันทึกโดยมุสลิม (55)  ว่า  ด้วยเรื่องการศรัทธา  บท : แจ้งให้ทราบว่าศาสนาคือการตักตือนกัน)  คำว่า  “النصيحة” เป็นคำที่มีนัยครอบคลุม  มีความหมายว่า  “การมีเจตจำนงค์ที่ดีแก่ผู้ที่ถูกตักเตือน”  รากศัพท์ของคำว่า  ”النصح”  ตามหลักภาษาคือ الخلوص  (หมายถึงความบริสุทธิ์ใจ,  จริงใจไม่แฝงเร้น)

 

(النصيحة كلمة جا معة معناهاإرادة الخيرللمنصوح له
وأصل النصح فى اللغة الخلوص – سميراحمدالعطار : شرح الأربعين النووية
دارالإمام النووىللنشروالتوزيع‘ دمشق : ١٤١٠ه)

 

การนะศีฮะฮฺจึงจำเป็นต้องมีความบริสุทธิ์ใจเป็นพื้นฐาน  หากขาดความบริสุทธิ์ใจแล้ว ก็ย่อมไม่ถือเป็นการนะศีฮะฮฺตามหลักชัรฺอีย์ ถึงแม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างเจือสมว่าเป็นนะศีฮะฮฺ ก็ตามที  และส่วนหนึ่งจากมารยาทในการนะศีฮะฮฺนั่นคือ  การที่มุสลิมตักเตือนพี่น้องมุสลิมของเขาเป็นการลับ  นักวิชาการระบุว่า : ผู้ใดตักเตือนพี่น้องของเขาในระหว่างกันเองนั่นคือการตักเตือน  (นะศีฮะฮฺ)  และผู้ใดตักเตือนพี่น้องของเขาบนบรรดาศีรษะของผู้คน (หมายถึง ต่อหน้าธารกำนัล)  อันที่จริงผู้นั้นได้ติเตียนประจานพี่น้องของเขาแล้ว
 
(الوافى فى شرح الأربعين النووية تأليف د مصطفى البغا ‘ محى الدين
– مستو ‘ دارابن كثير د مشق – بيروت  ١٩٩٤م ص : ٤٢)

 

 

        บังมัสลันระบุในจดหมายเปิดผนึกว่า  “ได้ไตร่ตรองนานพอสมควรถึงความเหมาะสม  โดยเฉพาะกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งความรู้และประสบการณ์  แต่หลังจากชั่งใจหลายวันพร้อมกับขอความคิดเห็นจากพี่น้องหลายท่านที่บังมัสลันนับถือ  กอปรด้วยการนำแบบอย่างของอุละมาอฺ  ยุคก่อนที่มีการโต้ตอบทางวิชาการหรือกล่าวนะศีฮะฮฺระหว่างกันด้วยการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  ซึ่งกลายเป็นแหล่งวิทยาทานแก่อนุชนรุ่นหลัง  จึงตัดสินใจว่า  น่าจะทำอะไรสักอย่างที่คิดว่ายังประโยชน์แก่สังคม”  (ย่อหน้าที่  2  หน้าที่  1/จดหมายเปิดผนึก) 

 

        ผมไม่ทราบว่าทำไมพี่ชายของผมจึงไตร่ตรองไม่ครบถ้วนถึงมารยาท และข้อปฏิบัติในการนะศีฮะฮฺและหลงลืมแบบฉบับของอุลามะอฺในยุคสลัฟซอลิฮฺไปเสียได้  จดหมายเปิดผนึกของบังมัสลันจึงกลายเป็นการเผยความในใจและระบายความรู้สึกที่บังระบุว่า  “ค่อนข้างจะผิดหวังและไม่ค่อยเห็นด้วยในหลาย ๆ เรื่อง”  จากการอบรมสัมมนาครั้งนั้น  แทนที่จะเป็นแหล่งวิทยาทานแก่อนุชนรุ่นหลังและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างที่บังมัสลันระบุในจดหมายเปิดผนึกนั้น และน้องก็ไม่เห็นว่า  การวิจารณ์ของบังมัสลันในจดหมายเปิดผนึกนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างไร?  จะมีประโยชน์ก็เฉพาะกลุ่มคนบางส่วนที่มุ่งหวังทำลายภาพพจน์น้องกับ  อ.นิรันดร์  และสกัดกั้นการตีแผ่ความจริงเท่านั้น!

 

        บังมัสลันระบุว่า  “แต่เมื่อถึงคิวของน้องชายผม  อาลี  เสือสมิง  ทุกอย่างก็ระเบิดครับ  บวกกับอารมณ์ค้างที่โดนลอยแพตั้งแต่เมื่อวาน  มาวันนี้ก็โดนลอยแพอีก  ผมได้ยินการบรรยายจากน้องชายที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้มาก่อนในชีวิต  แสดงวาจาสาหัส  ค่อนข้างก้าวร้าว  เหน็บแนม  ประชดประชันดูถูก  แถมใช้คำพูดแบบแกว่งเท้าหาเสี้ยนอีกด้วย  จบการบรรยาย ผมพยายามชี้แจงแบบข่มอารมณ์  (ต่อมชัยฏอน)  บวกกับเกรงใจ  ดร.อณัส  ที่ผมเคารพแต่ไม่เป็นผลครับ  น้องชายผมไปไกลกว่าที่ผมคิดแล้ว   แถมยกหลักการ  لكل مقام مقال  (ทุกสถานที่ย่อมมีคำพูดที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะหรือพูดจาอย่างรู้จักกาลเทศะ  อะไรทำนองนี้แหละครับ)  มาตอบโต้ทั้ง ๆ ที่น่าจะเอาหลักการนี้มาเป็นกระจกส่องหน้าตัวเองหลาย ๆ ครั้ง 

 

        ช่วงพักเบรก  ผมไปทักทายน้องชายผมอีกครั้งหนึ่ง  ผมบอกว่า  ท่านน่าจะไปพูดทำนองนี้ที่ปัตตานีอีกสักครั้งหนึ่ง  แล้วรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น  ผมไม่ได้แช่งอะไรหรอกครับ  แต่ผมรู้ดีว่าผมกำลังพูดอะไร  ซึ่งผมเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น والعياذبالله )”  (หน้าที่  2  ย่อหน้าที่  2/จดหมายเปิดผนึก)

 

        ไฉนเลย!  พี่ชายจึงกล่าวว่าน้องด้วยวาจาเช่นนี้เล่า?  ความรู้สึกและมิตรไมตรีที่มอบให้  ใยจึงถูกลืมเลือน  น้องชื่นชมและให้เกียรติพี่เป็นนักหนาถึงขั้นเที่ยวชมและยกย่องแก่หลายคนที่พานพบว่า  ท่านอาจารย์มัสลันพูดได้ดีและฉะฉานยิ่งนักในช่วงแสดงความคิดเห็นท้ายการบรรยาย  แต่พี่กลับมองน้องว่าเป็นคนใช้วาจาสามหาว  ก้าวร้าวเยี่ยงอันธพาล  คนถ่อยไร้การศึกษา  เพราะลีลาท่วงท่าและสำเนียงที่น้องพูดไม่ต้องจริตพี่ชายจนเป็นเหตุให้พี่ต้องถึงตบะแตก  ต่อมชัยฏอนพลุ่งพล่านสอดประสานกับอารมณ์ค้างที่อ้างว่าถูกลอยแพ น้องพูดถูกหรือผิดต่อหลักการพี่ไม่พูดไม่บอกกล่าว  พี่ปรามาสน้องว่าใช้วาจาเชือดเฉือน เหน็บแนม  ประชดประชันดูถูก  มิหนำซ้ำใช้คำพูดแบบแกว่งเท้าหาเสี้ยน 

 

        คำปรามาสเช่นนี้ พี่หาได้เอื้อนเอ่ยวาจาต่อหน้าน้องในวันนั้นไม่  ด้วยเหตุอันใดเล่าที่พี่ต้องระเบิดอารมณ์ใส่น้องผู้อ่อนด้อยที่ไม่ฟังคำโบราณ  ซึ่งพี่อ้างว่าจงระมัดระวังความหวังดีของผู้ไม่ประสา  ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นอย่าริช่วยคนกำลังจมน้ำ  พี่เองมิใช่หรือที่พูดกับน้องว่าเห็นด้วยกับหลักการที่ว่า  (لكل مقام مقال)  แล้วกลับมาเสือกไสไล่ส่งให้น้องนำเอาหลักการข้อนี้มาเป็นกระจกส่องหน้าตัวเองหลาย ๆ ครั้ง  ครานั้นพี่มัสลันไม่เห็นจะพูดถึง  ครานี้ลับหลังใยจึงว่ากล่าวประจานให้เสียหายต่อธารกำนัลที่เข้ามาเปิดดูอินเตอร์เน็ตเล่า  ผู้ใดกันที่ฝืนกินศพมุสลิมด้วยกัน  ผู้ใดกันที่ใช้วาจาสาหัส  เหน็บแนม  และประชดประชัน  พี่ว่าน้องว่าหยาบคายก้าวร้าว  แล้วเหตุไฉนพี่มัสลันคนดีจึงเป็นเสียเอง บทกวีของ อบุลอัสวัด อัดดุอะลีย์ท่านว่าไว้คงไม่ผิดเป็นแน่แล้ว

يا أيهاالرجل المعلم غيره
هلا لنفسك كان ذاالتعليم
تصف الدواءلذ ى السقا م وذ ىالضنى
كيما يصح به وٲنت سقيم
وأراك تصلح با لر شا دعقولنا
أبداوأنت من الرشادعقيم
لاتنه عن خلق وتأتى مثله
عارعليك إذافعلت عظيم
ابدأبنفسك فانههاعن غيها
فاذاانتهت عنه فأنت حكيم
فهناك يقبل ماوعظت و يقتدى
بالعلم منك و ينفع التعليم

        บทกวีนี้สรุปได้สั้น ๆ ว่า  อย่าริเป็นหมอที่เที่ยววินิจฉัยโรคของคนป่วยแต่ตัวเองกลับเป็นโรคนั้นเสียเอง  เข้าทำนอง  “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”  การพูดจาของน้องในการบรรยายทุกครั้งจะยึดติดหลักการที่ว่านั้นเสมอ  คราใดที่พูดกับเด็กน้อยก็อย่างหนึ่ง  พูดกับผู้อาวุโสที่ทรงวัยวุฒิก็อย่างหนึ่ง  พูดกับเยาวชนคนหนุ่มสาวก็อย่างหนึ่ง  พูดกับเหล่ามุสลิมะฮฺก็นิ่มนวลและเหมาะสม  พูดกับปัญญาชนเฉกเช่นพี่ก็อย่างหนึ่ง  แต่ที่เหมือนกันทุกครั้งคือ  เรื่องที่พูดต้องถูกต้องสอดคล้องกับหลักการและข้อเท็จจริงเพราะเป็นอะมานะฮฺทางวิชาการและเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ  (مايلفظ من قول إلالديه رقيب عتيد ق ١  )  วาจาของน้องจะก้าวร้าวหรือเป็นวาจาสาหัสหรือไม่นั้น  สุดแล้วแต่พี่จะตัดสิน  แต่น้องเชื่อว่าผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนาท่านอื่น ๆ คงไม่คิดเช่นพี่ไปเสียทุกคนหรอก  ศาสนาใช้ให้เราพูดความจริงถึงแม้ว่ามันจะขมขื่นก็ตาม  พี่นึกหรือว่าผมยินดีในการแกว่งเท้าหาเสี้ยน  และสร้างศัตรูด้วยคำพูด  ไม่เลย!  พี่พูดเองมิใช่  หรือว่า  สัจธรรมและความถูกต้องเป็นสิ่งที่พี่รักยิ่งกว่า  และสัจธรรมเท่านั้นที่สมควรได้รับการพูดถึงและปฏิบัติตาม  (والحق أحق أن يقال ويتبع)  (หน้าที่  1  ย่อหน้าที่  3) 

 

        จงพิจารณาสิ่งที่เขาพูด  ไม่สำคัญว่าผู้นั้นจะเป็นใคร?  หากสิ่งที่เขาพูดถูกต้องตามหลักการของศาสนา  เราก็ต้องน้อมรับถึงแม้ว่ามันจะไม่ต้องจริตและตรงกับอารมณ์ของเราก็ตาม  และหากสิ่งที่เขาพูดคลาดเคลื่อนและผิดพลาดจากหลักการ  เราก็ต้องบอกกล่าวและแจกแจง  มิใช่เออออห่อหมกเห็นดีเห็นงามไปกับความผิดพลาดนั้น  เพียงเพราะมันรื่นหูและต้องจริต  เราทุกคนมุ่งแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเป็นที่ตั้ง  มิใช่มุ่งแสวงหาความพอใจของมนุษย์เป็นที่ตั้ง  และความขุ่นเคืองใจ  ไม่เห็นด้วยนั้นก็ต้องมีเหตุปัจจัยมาจากพระองค์อัลลอฮฺ  (البغض فى الله)  เช่นเดียวกับความรักและความยินดีก็ต้องมีเหตุปัจจัยมาจากพระองค์อัลลอฮฺเหมือนกัน  (الحب فى الله)  มิใช่มาจากอารมณ์ความรู้สึกหรือเอาต่อมชัยฏอนมาเป็นใหญ่ 

 

        พี่บอกว่าน้องน่าจะไปพูดทำนองนี้ที่ปัตตานีอีกสักครั้งหนึ่ง  แล้วรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น?  อะไรที่ว่านั้นคือสิ่งใดเล่า  หากพูดเรื่องจริงและบริสุทธิ์ใจแล้ว  น้องว่าที่ไหนก็ได้  หากพูดเรื่องจริงแล้วจะถึงกับตายและมีคนหมายเอาชีวิตแล้ว  ก็พร้อมจะพูดเพื่อแลกกับมรณะสักขี  (ชะฮาดะฮฺ)  แปลกใจก็ตรงที่ว่า  พี่น้องที่ปัตตานีซึ่งพี่ท้าให้ผมไปพูดนั้นพวกเขาเป็นเช่นไรหรือ?  พวกเขารับฟังความจริงมิได้เชียวหรือ?  และถ้าผมพูดความจริงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ หรือ?  ผมว่าพี่ดูถูกดูแคลนหัวจิตหัวใจของพี่น้องที่ปัตตานีเกินไป!  จะไม่มีสักคนเลยเชียวหรือที่น้อมรับความจริงที่ผมนำเสนอ   แต่ถ้าพี่อ้างว่าก็เพราะผมพูดไม่จริง  นำเสนอข้อมูลเท็จและบิดเบือน  พี่นั่นแหละต้องรับผิดชอบเพราะพี่ไม่บอกกล่าวให้ผมทราบว่า  ผมพูดผิดและคลาดเคลื่อนในเรื่องใด  ที่พี่ตำหนิผมล้วนเป็นเรื่องการใช้คำพูดและการแสดงออกในการบรรยายทั้งสิ้น  ผมนึกไม่ออกว่าผมก้าวร้าว  เหน็บแนม  ประชดประชันดูถูกในเรื่องอะไร?

 

        หรือเป็นเพราะผมไปแตะเรื่อง ชาติพันธุ์มลายู  ภาษามลายูเข้าให้  จึงแทงใจดำเข้าอย่างจัง  เพราะสิ่งที่พี่ตำหนิผมไม่ใช่เรื่องถูกผิดตามหลักการแต่เป็นเรื่องของการใช้คำพูดและสีหน้า  ดังที่พี่ระบุว่า  “คำพูดของน้องที่ว่า  คนมลายูหัวดื้อ  แล้วแปลคำอะซานและฟาติฮะฮฺเป็นภาษามลายูหนึ่งเที่ยวจบ  ด้วยสีหน้าที่เยาะเย้ยและน้ำเสียงที่เหน็บแนมถากถาง  เพียงเพื่อเป็นเหตุผลในการหักล้างว่า  ภาษามลายูไม่ได้เป็นภาษาอิสลามตามความเข้าใจของคนบางกลุ่มนั้น  น้องน่าจะลบทิ้ง  (Delete)  จากไฟล์การบรรยายของน้องได้แล้ว  ผมเข้าใจในความตั้งใจดีของน้อง  แต่โบราณว่าจงระมัดระวังความหวังดีของผู้ไม่ประสา  ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นอย่าริช่วยคนกำลังจมน้ำครับ  (ใช้วิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ปลอดภัยทั้งผู้จมและผู้ช่วย  น้องเคยอ่านข่าวนักเรียนประถมช่วยเพื่อนที่กำลังจมน้ำมั้ยครับ”  (หน้า 6 ย่อหน้า 4)  

 

        ที่น้องพูดว่า  “คนมลายูหัวดื้อ”  นั้นน้องพูดตามนักมานุษยวิทยาที่เขาระบุว่า  ชาติพันธุ์มลายูตามทัศนะของฝ่ายที่จัดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับโพลีนีเชียนนั้นมีลักษณะเป็นคนหัวดื้อ  ไม่ยอมก้มหัวให้กับผู้ใดง่าย ๆ ดังกรณีของชาวมักกะสันที่ก่อการกบฏที่ป้อมเมืองบางกอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีข้อความที่ฟอร์บังได้ระบุเอาไว้  ความจริงที่มีผู้วิจารณ์ว่าคนมลายูหัวดื้อนั้นก็คงจะมีส่วนถูกอยู่บ้าง  อย่างน้อยก็มีบังมัสลันกับผมสองคนนั่น  แหล่ะที่อาจจะเข้าข่ายที่ว่า  กล่าวคือ “หัวดื้อ”  ว่ายากสอนยากพอกัน  ลางทีถึงขั้น  “หัวรั้น”  คือ  “ดื้อดัน”  ด้วยซ้ำไป 

 

        ที่แน่ ๆ งานนี้บังมัสลันของน้อง  คงหัวเสียจนต้องออกอาการต่อมชัยฏอนพลุ่งพล่านอย่างที่ว่ามาส่วนกรณีที่ผมอ่านคำแปลของซูเราะฮฺฟาติฮะห์กับคำอะซานเป็นภาษามลายูนั้น  บังมัสลันอาจจะมองว่าท่าทางและลีลาในการอ่านมีการเยาะเย้ยและใช้น้ำเสียงที่เหน็บแนมถากถาง  ข้อนี้ก็สุดแล้วแต่บังมัสลันจะคิด  น้องคงห้ามมิให้พี่มีความคิดเช่นนั้นได้ แต่ที่รู้อยู่แก่ใจของน้องก็คือ  ขณะที่น้องอ่านคำแปลภาษามลายูนั้นสายตาก็ได้แต่จับจ้องสมุด  ซึ่งจดความหมายภาษามลายูเอาไว้เพื่อมิให้อ่านพลาดเพราะคนที่ร่วมฟังอยู่นั้นล้วนแต่เป็นผู้สันทัดในภาษามลายู  จึงไม่มีโอกาสเหลือบดูสายตาของบังมัสลันหรืออาการต่อมชัยฏอนกำเริบของบังมัสลันแต่อย่างใด  ที่สำคัญเมื่อลงมานั่งคุยกันในช่วงพักเบรก  บังมัสลันก็ไม่ใด้ติติงเรื่องนี้แม้แต่น้อย  ความจริงถ้าบังมัสลันจะ นะศีฮะฮฺผมและบอกกล่าวให้ผมลบทิ้ง  (Delete)  จากไฟล์การบรรยายเสียเพราะผมไม่ประสาเหมือนคนว่ายน้ำไม่เป็น  บังก็น่าจะบอกเสียแต่ตอนนั้น  ไม่น่าจะมาแว้งกัดหรือวิจารณ์ลับหลังเช่นนี้  เพราะนั่นเป็นการกระทำของคนโฉดเขลา ที่ไร้ยางอาย 

 

        ผมไม่นึกว่าบังมัสลันจะเลยเถิดไปอย่างสุดกู่ถึงขั้นยกการวิเคราะห์ของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสาเหตุที่มนุษย์มีความก้าวร้าวทางวาจา  (oral aggression)  ว่าน่าจะมีเหตุมาจาก
        1. เลียนแบบจากบิดามารดา  ประเภทเชื้อไม่ทิ้งแถว  หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นอะไรทำนองนั้น  
        2. มีบาดแผลทางใจ  มีอดีตอันขมขื่น  ไม่ได้รับการตอบสนองเพียงพอหรือฝังใจในอดีตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  (หน้า 6  ย่อหน้า 5, จดหมายเปิดผนึก)  

        บังบอกว่า  บังมั่นใจและเชื่อมั่นว่า  พ่อแม่ของน้องคงให้การอบรมและปลูกฝังในสิ่งที่ดี ๆ แต่ข้อที่  2  บังบอกชักไม่แน่ใจว่าน้องอาจมีอดีตอันขมขื่นกับพี่น้องสามจังหวัดในเรื่องใดบ้าง  โดยเฉพาะที่  ม.อัลอัศฮัร  ซึ่งมี นศ. จากสามจังหวัดภาคใต้เรียนอยู่เป็นจำนวนมาก (หน้า 6  ย่อหน้าสุดท้าย)  ซุบฮานัลลอฮฺ!  ทำไมหนอพี่ชายคนดีของผมจึงมีอคติ (سوءالظن)  กับผมมากถึงเพียงนี้  อ้างคำของนักจิตวิทยามาเพื่อเหน็บแนม  ประชดประชัน และก้าวร้าวเลยเถิดถึงบุพการีของผม คำที่บังพูดว่า  “มั่นใจว่าพ่อแม่ของผมอบรมและปลูกฝังในสิ่งที่ดี ๆ น่าจะเข้าทำนอง (كلمة حق اريدبهاباطل)   -พูดจริงแฝงด้วยเจตนาอันมีเลศนัย-  จะวิจารณ์ตัวผมคงไม่กะไร?  แต่นี่พูดจาส่อเสียดลามปามถึงบุคคลที่  3  ที่เขาไม่รู้เรื่องและไม่เกี่ยวข้องด้วย พ่อ  (เยาะฮฺ)  และแม่  (มะอฺ)  ของผมละหมาดตะฮัจญุด  อ่านอัลกุรอ่านเป็นชีวิตจิตใจ  ผมเป็นลูกเป็นครูสอนศาสนายังทำอิบาดะฮฺไม่ถึงเศษเสี้ยวของท่านทั้งสอง  ลิ้นของท่านทั้งสองเปียกแฉะด้วยการซิกรุลลอฮฺ  มิได้สกปรกและเลอะเทอะด้วยการใช้วาจาดูหมิ่นดูแคลนใคร  และผมจะไม่  تزكية  ผู้ใดนอกจากสิ่งที่ผมรับรู้และประจักษ์เห็นเท่านั้น  เพราะคนที่อยู่ในบ้านย่อมรู้ดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นในบ้านของตน   (صاحب البيت ادرى بمافى البيت)  บังมัสลันเสียอีกที่พูดไม่จริง พูดในสิ่งที่ตนไม่รู้อย่างถ่องแท้  กล่าวตู่ว่ารู้จักผมกับอาจารย์นิรันดร์อย่างทะลุปรุโปร่ง (ย่อหน้าที่  3  หน้า  1) 

 

        ทั้ง ๆ ที่บังก็สารภาพเองอย่างหน้าตาเฉยว่า  “ผมได้ยินการบรรยายจากน้องชายผมที่ผมไม่เคยสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้มาก่อนในชีวิต”  (ย่อหน้าที่  2  หน้าที่  2)  เพิ่งจะฟังเป็นครั้งแรก  แล้วจะรู้เช่นเห็นชาติอย่างทะลุปรุโปร่งได้อย่างไร?  ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ  พูดคุยกันเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง  (หน้า  6  ย่อหน้า  2)  ก็อ้างแล้วว่ารู้จักอย่างทะลุปรุโปร่งซ้ำลามปามไปถึงพ่อแม่ของผม  นี่หรือจรรยาบรรณของผู้รู้ 

 

        ที่บังมัสลันคัดลอกข้อความของอิหม่าม  อิบนุ  อัลเญาซีย์  (ร.ฮ.)  จากหนังสือ  تلبيس ابليس  (หน้า  171)  เอามาอ้างนะ  อ่านแล้วไม่ตะขิดตะขวงใจบ้างหรือว่าบังมัสลันเองนั่นแหล่ะน่าจะมีลักษณะอย่างที่อิหม่าม  (ร.ฮ.)  ท่านว่า  บังมัสลันน่าจะเอาหลักการในหนังสือเล่มนี้มาเป็นกระจกส่องหน้าตัวเองหลายๆ ครั้ง  อย่างที่บังสั่งสอนผมนั่นแหล่ะ!  อิหม่ามอัชชาฟิอีย์  (ร.ฮ.)  ท่านกล่าวว่า  (فسادكبيرعالم متهتك ‘ وأفسد منه جاهل متنسك)  (ความวิบัติอันใหญ่หลวงเกิดขึ้นเพราะผู้รู้ที่ไร้จรรยาบรรณ  แต่ที่เลวยิ่งกว่านั้นคือคนเขลาทำตัวเป็นผู้ทรงศีล)  คำพูดเดียวกันนี้ที่บังยกมาว่าในจดหมายเปิดผนึกน่าจะเป็นผมหรือบังกันแน่!  ต่อหน้ามะพลับ  ลับหลังตะโก , มือถือสากปากถือศีล ,  ปากปราศรัยใจเชือดคอ , ปากหวานก้นเปรี้ยว คำโบราณท่านว่าน่าจะเอามาตรองดูเผื่อจะฉุกคิดได้ว่า  ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว  มิหนำซ้ำนี่เป็น    حق الآد م  เพราะบัง   มัสลันจาบจ้วงลับหลังเข้าข่ายนินทา  และการนินทานั้นร้ายยิ่งกว่าการทำซินา  เพราะคนที่ทำซินาอาจจะพลั้งพลาดไปและสำนึกผิดต่อมาพระองค์อัลลอฮฺก็ทรงรับการลุแก่โทษ  (เตาบะฮฺ)  ของเขา  ส่วนการนินทาลับหลังนั้นจะไม่ได้รับการอภัยจนกว่าผู้ที่ถูกนินทานั้นเขาจะยกโทษให้  (ดูใน  فناورباگىهاتى    หน้า  11)  

        หากพ่อแม่ของน้องท่านมิให้อภัยกับการจาบจ้วงนี้  บังมัสลันจะทำเช่นไร?  บังมิกระดากบ้างหรอกหรือ?  การยกคำพูดของนักจิตวิทยามาอ้างโดยส่อเจตนาที่อคติแล้วอ้างว่า  พ่อแม่ของน้องคงสอนดี  แต่ก็มีใจเอนเอียงว่าน้องมีบาดแผลทางใจ  มีอดีตอันขมขื่นโดยเฉพาะกับเพื่อนนักศึกษาจาก  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร่ำเรียน  ณ  มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร  จนเป็นผลทำให้น้องเป็นคนใช้วาจาก้าวร้าวสามหาวเป็นการพูดเองเออเอง (تحكم) เพราะจริง ๆ แล้วน้องหาได้มีบาดแผลทางใจและอดีตอันขมขื่นไม่ เพื่อน ๆ ใน 3  จังหวัด  น้องก็รู้จักมักจี่อยู่หลายคนล้วนแต่เป็นกัลยาณมิตร  ไม่มีจริตเยี่ยงที่บังทำกับน้อง  อีกทั้งพี่เองก็ไม่เคยรู้ต้นสายปลายเหตุว่าที่อัลอัซฮัรเขาตัรบียะฮฺลูกศิษย์ลูกหาอย่างไร?  อัลกุรอ่านระบุว่า

(ولاتقف ماليس لك به علم الآية : الاسراء  ٣٦)
“และสูเจ้าจงอย่าติดตาม  (หรือพูดถึง)  สิ่งที่สูเจ้าไม่มีความรู้อันใดต่อสิ่งนั้น”  (อัลอิสรออฺ  36)
 

        การที่บังมัสลันอ้างว่า  น้องกับอาจารย์นิรันดร์  มาทำงานร่วมกันอย่างเข้าขากันก็เป็นเพราะการมีวาจาสาหัสนี่กระมัง  (หน้า 6  ย่อหน้าที่  1)  คำว่า  “นี่กระมัง”  เป็นสำนวน ที่ตีความได้  (اسلوب الإحتمال)  แต่อีกนัยหนึ่งก็แฝงเร้นซ่อนเงื่อนงำเอาไว้  ซึ่งก็เป็นเพียง  “سوءالظن”  เท่านั้น  การใช้สำนวนว่า “อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงทราบ”  ขัดแย้งกับการใช้คำพูดข้างต้นโดยสิ้นเชิง  พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงรู้ดีเป็นแน่แท้  แต่ผู้ที่อ้างว่ารู้ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จริง  รู้เพียงผิวเผินเขาเรียกว่า  “สู่รู้”  ตัวพี่นั่นแหล่ะที่น่าจะไปทบทวนตำราอันมากมายที่พูดถึงมารยาทของดาอีย์  ประเด็นสำคัญคือบังอ่านแล้วต้องนำมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้จริงให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งชะรีอะฮฺอันยิ่งใหญ่  (مقاصدالشريعة الكبرى)  เหมือนอย่างที่บังแนะนำผมนั่นแหล่ะ  อย่างน้อยก็ต้องมีคำพูดที่ตรงกับการปฏิบัติ  มิใช่พูดอย่าง  แต่กระทำสวนทางกันอย่างกรณีของจดหมายเปิดผนึกนี่ไง!

 

        ถ่มน้ำลายรดฟ้าก็ย่อมไม่พ้นที่ใบหน้าของตนต้องเปรอะเปื้อนด้วยน้ำลายอันเป็นปฏิกูลนั้น  บังยังระบุอีกว่า  “เท่าที่ทราบ  น้องชายผมคนนี้ได้สร้างวีรกรรมวาจาสาหัสมาหลายเวที  และทุกครั้งน้องใช้ความสามารถอันโดดเด่นของน้องในการปลุกต่อมซัยฏอนที่สถิตอยู่ในหัวใจผู้คน  แม้แต่ผู้ใหญ่บางท่านและพี่น้องที่ผมเคารพนับถือก็ยังเก็บอาการ ไม่อยู่  (ในหลายเวที)  น้องคงไม่ทราบว่าขณะที่น้องกำลังบรรเลงพูดนั้น  จะมีหลายคนที่ฝืนกัดฟันและกำหมัดอย่างแน่นหนา  ผมขอเรียนว่า  หากการบรรยาย  1  ครั้ง  น้องสามารถสร้างแนวรบใหม่เป็นสิบ ๆ คน  น้องคงหาที่ยืนในวงวิชาการลำบากครับ”  (หน้า 6  ย่อหน้า 3)  

        ดูเหมือนว่าบังมัสลันจะติดใจกับวีรกรรมวาจาสาหัสของผมเสียเต็มประดาเพียงเพราะผมพูดเสียงดัง  ฉะฉานและชัดเจนตลอดจนแทงใจดำของบังกระมังบังวกวนอยู่กับการกล่าวหาว่าผมใช้วาจาสาหัส  แต่ไม่แจกแจงว่าถูกผิดต่อหลักการและข้อเท็จจริงอย่างไร?  และที่ผมพูดถึงในการบรรยายนั้นคือเรื่องความเชื่อ  ความคิด  และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคนบางกลุ่ม  ซึ่งบังก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าหมายถึงกลุ่มชนใด  ผมไม่ได้พูดเจาะจงถึงบังเป็นการเฉพาะ  คนเหล่านั้นที่ผมพูดถึง  บังเองก็ยอมรับว่ามีอยู่จริง  เพราะบังระบุว่า  

 

        “ผมใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศแห่งรังสีอำมหิตที่มีความรุนแรงทั้ง  2  ฝ่าย ผมอยู่ระหว่างเขาควาย….”  (หน้า  4  ย่อหน้า 4)  มิหนำซ้ำยังพูดอีกว่า  :  “ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น  ไม่ได้หมายความว่า  ผมเห็นด้วยกับพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3  จังหวัด  ความรุนแรง  ความอยุติธรรม  และความเท็จเป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น  ไม่ว่าจะมีแหล่งที่มาจากผู้ใดหรือกลุ่มไหนก็ตาม”  (หน้าเดียวกัน)  เมื่อบังไม่พูดถึงคนกลุ่มนั้นทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าพวกเขากำลังกระทำสิ่งที่อิสลามปฏิเสธ  บังก็น่าจะยินดีที่ผมกับอาจารย์นิรันดร์ช่วยพูดแทน  เพราะถ้าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง  (الحق)  ก็เท่ากับว่าเราถือหลัก  (والحق أحق أن يقال ويتبع)  อย่างบังว่ามิใช่หรือ?

 

        ทำไมบังจึงต้องมีอาการกินปูนร้อนท้องและออกปากรับแทนคนพวกนั้นด้วยหรือว่าบังก็มีความคิดเช่นเดียวกับคนกลุ่มนั้น? และการพูดแต่เรื่องดี  โดยไม่พูดห้ามปรามในสิ่งที่ขัดต่อหลักการ  (المنكر)  มันสมควรกระนั้นหรือ?  เพราะศาสนาใช้ให้เรากำชับใช้ในสิ่งที่ดี  (الأمربالمعروف)  และห้ามปรามในสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี  (والنهىعن المنكر)  2  อย่างนี้ต้องควบคู่กันไปเหมือนพันธกิจและคุณลักษณะของท่านร่อซู้ล  (ซ.ล.)  ที่มีทั้งการเป็นผู้บอกข่าวดี  (بشيرا)  และเป็นผู้ตักเตือน  (نذيرا)  หากเราละเลยไม่พูดแจกแจงสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ขัดต่อหลักการเราก็คงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับพวกปฏิเสธจากบะนีอิสรออีลที่ถูกสาปแช่งด้วยลิ้นของท่านนบีดาวูด  (อ.ล.)  และ นบีอีซา  (อ.ล.)  ดังที่มีระบุในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ  อายะห์ที่  78-79  บังก็ลองไปเปิดตัฟซีรอ่านดูเอาเถิด 

 

        บังเองก็อยู่ในฐานะวิญญูชนเป็นนักวิชาการระดับชั้นนำของพื้นที่  ถ้าผู้นำเป็นเช่นนี้ก็น่าสงสารพี่น้องใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นักวิชาการเฉกเช่นบังขาดภาวะความเป็นผู้นำ(انهامشكلة النخبة وليست مشكلة الأمة)   ผู้นำที่นิ่งอมพะนำไม่กล้าพูดปกป้อง  สัจธรรมและความจริงแต่กลับประกาศศึกด้วยการประจานคนในแวดวงกันเอง  คงจะหาที่ยืนในวงวิชาการลำบากอย่างบังว่าในจดหมายเปิดผนึกนั่นแล ส่วนที่ยืนของน้องในวงวิชาการนั้น  บังไม่ต้องเป็นห่วง !  เพราะน้องยืนลำบากอย่างที่บังว่านั่นแหล่ะ  ลำบากมากจนไม่มีเวลาจะพักผ่อนเลยทีเดียว  งานชุกยิ่งกว่าฝนในจังหวัดระนองเสียอีก! บังว่าต้องใช้โมเดลของบรรดาศอลิฮีน  บรรดานบีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นบีมุฮำหมัด  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  (หน้า  4  ย่อหน้า  3)  ข้อนี้น้องเห็นด้วยและปฏิบัติอยู่อย่างสุดความสามารถ  ว่าแต่ว่า  บังนั่นแหล่ะใช้โมเดลของชนกลุ่มใดเล่า?  หรือว่าเลือกใช้โมเดลของกลุ่มชนที่ท้วงติงผู้ห้ามปราม  (اصحا ب السبت)  ในเมืองอัยละฮฺที่ถูกระบุไว้ใน  ซูเราะห์อัลอะอฺรอฟ  อายะฮฺ  164  ซึ่งจุดจบของพวกเขาเป็นเช่นไร  ก็เปิดตัฟซีรดูเอาเถิด! 

 

        เรื่องที่ว่าน้องชายของบังคนนี้สร้างวีรกรรมวาจาสาหัสมาหลายเวทีนั้น  บังไปฟังใครมา?และบังรู้ได้อย่างไรว่ามีหลายคนที่ฝืนกัดฟันและกำหมัดอย่างแน่นหนา  บังเห็นด้วยกับตาหรือว่าคนเหล่านั้นเล่าให้ฟัง?  และเพราะอะไร?  ที่พวกเขาต้องมีอาการเช่นนั้น  คงมิใช่เพราะน้องมีวาจาสาหัสเพียงอย่างเดียวหรอก  หรือเป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นรับไม่ได้เลยกับสิ่งที่น้องพูด  ก็ถ้ามันผิดและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไฉนเลยจึงไม่ลุกขึ้นและยกมือบอกกล่าวทัดทานกันเล่า  ผมมิใช่เสือสางหรือเป็นยักษ์มารที่ไหนเสียหน่อย  ผมก็เป็นเพียงคนที่ไม่ประสาอย่างที่บังปรามาส 

 

        คนที่ตำหนิผมว่าใช้วาจาสาหัสก้าวร้าวก็ไม่ต่างอะไรกับพวกชีอะฮฺที่ครั้งหนึ่งผมทำหน้าที่ ปกป้องหลักอะกีดะฮฺ  และอภิปรายโต้เถียงกับฆุลามอะลี  ผู้นำชีอะฮฺที่จ.ปทุมธานีเมื่อหลายปีก่อน  พวกเขามิได้ตอบโต้หักล้างเหตุผลของผมนอกจากคำตำหนิที่ว่า  “ผมพูดเสียงดังแค่นั้นเอง” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับบุคลิกของผมที่เป็นเช่นนั้น  บังจะเรียกว่าสันดานดิบก็ตามใจ  แต่ผมภูมิใจที่พระองค์อัลลอฮฺประทานสันดานดิบที่ว่านี้ให้แก่ผมตั้งแต่เริ่มบรรยายหรือสอนหนังสือ ยิ่งคุฏบะฮฺวันศุกร์ด้วยแล้วบังก็คงรู้ดีว่าท่านนบีมีซุนนะฮฺและแบบอย่างอย่างไร?  คนที่เคยฟังผมบรรยายในงานการกุศลต่าง ๆ เขาย่อมรู้ดีว่าน้ำเสียงที่ดังฟังชัดเจนของผมเป็นบุคลิกเฉพาะของผม  ไม่มีใครหลงเข้าใจว่าผมมีวาจาสาหัส  ก้าวร้าว  ประชดประชัน  เหน็บแนม  เขาพิจารณาว่า ผมพูดอะไร?  ต่างหาก  และบังก็คงหลงลืมไปแล้วกระมังว่า  คุณสมบัติของดาอีย์  ต้องมีน้ำเสียงฉะฉาน  พูดดังฟังชัดและไม่หวั่นเกรงคำตำหนิของพวกชอบติเตียนหากเรื่องที่พูดเป็นความจริง  (ولايخافون لومة لا ﺌﻡ)   

        เป้าหมายในการบรรยายของน้อง  มิใช่กระทำเพื่อชื่อเสียง  (السمعة)  หรือโอ้อวดภูมิความรู้อย่างลำพองใจ  น้องอาจจะไม่มีดีกรีเป็นถึงดอกเตอร์หรือมีตำแหน่งสูงใหญ่  เป็นเพียงครูสอนในโรงเรียนซานะวีย์และถ่ายทอดความรู้จากตำรามลายูเก่า ๆ ให้กับพี่น้องมุสลิมทั่วไป  เป็นงานอิสระที่มุ่งหวังเผยแผ่ศาสนาและหลักการที่ถูกต้อง  ไม่มีเงินเดือนที่มีอัตราสูงเหมือนบัง  และไม่เคยใส่ใจกับค่าพาหนะหรือค่าตอบแทนที่ได้รับ 

 

        สิ่งที่บังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับค่าเดินทางและกล่าวหาว่าอาจารย์นิรันดร์บังคับให้ผู้เข้าอบรมสัมมนาที่หาดแก้ว   รีสอร์ทต้องเซ็นเปลือย  ถ่ายทำสกู๊ปปัญหาศาสนาแล้วก็ไม่ให้ซองขาวแก่บังได้แต่การยกนิ้วโป้งให้  (หน้า  7  ย่อหน้า  2)  จากทีมงานทั้งหมดนั้นมันบ่งถึงอะไร?  หากว่าบังไม่ถือสาอะไรกับเรื่องพรรค์นี้  ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก  แล้วไฉนบังจึงนำมากล่าวถึงอย่างเจือสมเอาเองเล่า  น้องว่าบังมัสลันของน้องต้องวิพากษ์ตัวเอง  (محاسبة النفس)   เสียแล้วไม่ใช่ใครอื่น  ผู้มีปัญญาคือผู้ที่วิพากษ์ตรวจสอบตัวเอง  และประพฤติปฏิบัติสิ่งที่จะเป็นอานิสงค์หลังความตาย  (الكيس من د ان نفسه وعمل لمابعد الموت  الحديث)  น้องขอฝากดุอาอฺบทหนึ่งที่ว่า  (اللهمل لاتجعل الدينااكبرهمناولامبلغ علمنا)  ให้เป็นของขวัญ  หวังว่าพระองค์อัลลอฮฺจะได้ทรงตอบรับคำวิงวอนนี้

 

        น้องเห็นด้วยกับคำทิ้งท้ายของบังที่ว่า  ไม่มีมนุษย์คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ  นอกจากผู้ที่อัลลอฮฺคุ้มครอง  (المعصوم)  และผมก็รู้ตัวว่าผมมีข้อบกพร่องอะไร  เพราะผมจะต้องรับผิดชอบต่อข้อบกพร่องนั้น  ผมพร้อมจะแก้ไขและปรับปรุง  (อินชาอัลลอฮฺ)  หาก มีคำนะศีฮะฮฺที่จริงใจจากคนที่จริงใจมิใช่เสแสร้ง  น้องว่าบังนั่นแหล่ะที่จะต้องไปตอบกับพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ในวันกิยามะฮฺถึงสิ่งที่บังได้กระทำกับน้อง  เพราะบังได้แต่ตำหนิติเตียน  จาบจ้วง  กล่าวหาและเหน็บแนมคนที่บังเรียกว่า  น้องชายของบัง  การหมกมุ่นครุ่นคิดถึงข้อ  บกพร่องก็คือความบกพร่อง  (تأمل العيب عيب)  บังรู้ตัวหรือเปล่า? สิ่งที่ผมพูดและบรรยายนั้น ผมย่อมรับรู้และทำใจอยู่แล้วว่าต้องมีทั้งคนที่รับได้และรับไม่ได้  เพราะบุคคลย่อมมีทั้งคนรักที่เยินยอและศัตรูที่เสียดแทงเหน็บแนม  (لايخلوالمرء من ود ود يمدح وعد ويقدح)  และความจริงก็มักเป็นเหตุให้ขุ่นเคือง  (الحق مغضبة)  แต่ความจริงที่ร้ายกาจย่อมดีกว่าความเท็จที่ทำให้หน้าชื่นตาบาน  (حق يضرخيرمن باطل يسر)   

 

        บังเสียอีกที่จาบจ้วงล่วงเกินน้องกับอาจารย์นิรันดร์  แล้วยังมีหน้ามาทิ้งท้ายว่าขออภัยหากล่วงเกิน  คราจาบจ้วงล่วงเกินก็ลำพองใจ  แต่ไฉนจึงขออภัยและแก้ตัว  อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าตบหัวแล้วลูบหลัง  กระนั้นหรือ?  ลางทีคำแก้ตัวก็เจือสมไปด้วยความเท็จ  (المعاذيرقد يشو بهاالكذب)  มิหนำซ้ำยังยืนยันอย่างค้านกับการกระทำอีกว่า  ไม่ต้องการสิ่งใดเว้นแต่ความดีงามเท่านั้น   (لاحول و لا قوة إلابالله)  นี่หรือความดีงาม  ขอให้บังมัสลันลองทบทวนดูเถิดว่า มันเป็นความเลวร้ายหรือเป็นความดีงาม  สิ่งที่บังเขียนมาในจดหมายเปิดผนึกนั้น  อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน  (وكفى بالله شهيدا)  สุดท้ายนี้น้องขอจบจดหมายฉบับนี้ด้วยคำกล่าวของอิหม่ามอะลี  (รฎ.)  ที่ว่า  

 

اللهم اغفرلى ما لا يعلمون ولاتؤاخذ نى بمايقولون واجعلنى خيرامما يظنون

هى الله امفونى اولهم باگيكواكن بارڠيڠ تيادمڠتهوى مرﻴﻜﺌﻴﺕاكندى
دان جاڠن اڠكوامبيل ساله اكند اكودڠن سبب بارڠيڠ بركات مرﻴﻜﺌﻴت اﻜندى
دان جاد ﻴﻜن اولهم اﻜنداﻜولبيه بأﻴك د رفدبارڠيڠ مپڠك مرﻴﻜﺋﻴت اﻜندى

 

 

والله أعلم
والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته
น้องชายของบัง
อาลี  เสือสมิง
30 ซอฟัร ฮ.ศ. 1429
8 มีนาคม  พ.ศ. 2551
เขียนที่ดุซอญอ  สวนหลวง  บางกอก