แหลมมลายูแหลมมลายู คือดินแดนส่วนล่างของแหลมสุวรรณภูมิที่กินอาณาบริเวณนับตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยและพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ช่องแคบมะละกา บางทีเรียกรวมหมู่เกาะของอินโดนีเซียกับดินแดนภาคพื้นทวีปของแหลมมลายูว่า มาลัยทวีป มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่า ในยุคหินใหม่มีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่ในแหลมมลายูแล้ว มนุษย์โบราณพวกนี้รู้จักการทอผ้า การสานตะกร้า และการสานภาชนะอื่น ๆ (วิทย์ . พิณคันเงิน ; ความเป็นมาของมนุษยชาติ, โอเดียนสโตร์; กรุงเทพฯ (2503) หน้า 221)

นักมนุษย์วิทยาได้จำแนกเชื้อชาติในแหลมมลายูว่า เป็นกลุ่มเผ่า ยาวานิสมาเลย์ ซึ่งเชื่อกันว่าชาวปัตตานีโบราณเป็นเชื้อสายจากเผ่านี้ อย่างไรก็ดี ในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศมลายูระบุว่า “ชาติอาหรับและอินเดียโบราณ อพยพมาทำมาหากินอยู่ในบริเวณนี้และผสมพันธุ์กับเผ่ายาวานิสมาเลย์ (ชนเผ่าเดิม) แล้วกลายเป็นเชื้อสายหรือบรรพบุรุษของชาติมลายู ข้าพเจ้าเชื่อว่า เป็นบรรพบุรุษของชาวปัตตานีปัจจุบัน” (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหม่อมชื้น ประวิตร ณ อยุธยา วันที่ 6 มิถุนายน 2548 หน้า 23-24) พระยาอนุมานราชธน และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยืนยันอย่างนี้ด้วย (สยามรัฐ , 31 สิงหาคม 2518 หน้า 5)

นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า มนุษย์พวกแรกที่เข้าอาศัยอยู่บริเวณนี้คือ พวกนิกริโต (Negrito) บรรพบุรุษของเงาะซามัง ซาไก โดยสันนิษฐานจากวิถีการดำเนินชีวิตว่า พวกนี้เท่านั้นที่สามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความลำบากดังกล่าวได้ และอธิบายว่าพวกนี้เคยอยู่ทางตอนเหนือของทวีปเอซีย ค่อย ๆ อพยพกระจัดกระจายไปทางทิศใต้ (ไรอัน เอ็น. เจ. การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข แปล กรุงเทพฯ , มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ (2530) หน้า 5)

พวกอพยพเป็นกลุ่มก้อนพวกแรก คือโปรโตมลายู (Proto Malays) อพยพจากยูนานตอนใต้ของจีนเป็นบรรพบุรุษของชาวเกาะกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่เกาะอันดามันและช่องแคบมะละการวมถึงชาวเลเผ่าต่าง ๆ (นักประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จัดให้ชาวเลอยู่ในชาติพันธุ์ นิกริโต (Negrito) แต่นักวิชาการบางท่านจัดให้เป็นชาติพันธุ์โปรโตมลายู (Proto Malays) เพราะมีภาษาใกล้เคียงกันทั้งอยู่ปะปนกับมลายูที่เป็น ดิวเทอโร มลายู (Deutero Malays) มาแต่บรรพกาล)

พวกที่อพยพเป็นกลุ่มถัดมาคือ พวกดิวเทอโร มลายู (Deutero Malays) เป็นบรรพบุรุษของผู้คนส่วนใหญ่บนเกาะชวา แหลมมลายู และส่วนหนึ่งของไทย (ปัญญา ศรีนาค ,ถลางภูเก็ตและบ้านเมืองฝั่งทะเลตะวันตก, สำนักพิมพ์ มติชน ,กรุงเทพฯ (2546) หน้า 5)

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงระบุว่าอารยธรรมอินเดียแพร่สู่เอเชียอาคเนย์ ทำให้เกิดรัฐเล็กรัฐน้อย มีการค้าขายมากขึ้น มีการหาเส้นทางใหม่ ๆ (สุภัทรดิศ ดิศกุล , ศ.หม่อมเจ้า ประวัติศาสตร์ เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ. 2000. กรุงเทพฯ : กรรมการชำระประวัติศาสตร์สำนักนายกรัฐมนตรี , 2522 หน้า 5-7)

ราวพุทธศตวรรษที่ 7 มีชุมชนเกิดขึ้นตามเส้นทางข้ามคาบสมุทรมลายู ชุมชนมีผลประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการทั้งหลายทั้งปวง ชุมชนที่เกิดพัฒนาการเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ชาวชุมชน พลเมือง ชาติพันธุ์ใดพูดภาษาใด ยังหาหลักฐานมีน้ำหนักเป็นผลสรุปไม่ได้ เพราะกลุ่มคนอพยพเคลื่อนย้ายไปมาตลอดเวลาแต่มีข้อสังเกตว่าชื่อชุมชนที่มีมาแต่ครั้งโบราณริมฝั่งทะเลตะวันออกและตก มีที่มาจากภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่

มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า ชาวโลกรู้จักแหลมมลายูมาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งมีบรรดาพ่อค้าพาณิชย์นาวีจากต่างแดนเข้ามาตั้งอาณานิคม เริ่มตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช (countries of the world ,Edited by J.A. Hammerton ,the Fleetway House , London. P 2623) นักประวัติศาสตร์ทั้งยุโรปและเอเชียส่วนมากยอมรับว่า ในแหลมมลายานี้ มีรัฐมลายูที่เก่าแก่ที่สุดรัฐหนึ่งเรียกว่า ราชอาณาจักรลังกาสุกะ (Kingdom of Langkasuka) ตั้งแต่ราว ค.ศ. 115 (journal Persatuan Sejerah Kalantun (J.P.K.S.) Bintang ,B.1. 1965-1965 p. 20)

ในส่วนของปัตตานีนั้น ความเจริญรุ่งโรจน์ในประวัติศาสตร์ปัตตานี เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 800 กล่าวคือในสมัยที่ อาณาจักรศรีวิชัยได้รวมเป็นสหพันธรัฐกับอาณาจักรไศเลนทร (Sailendra) แห่งชวา การรวมเป็นสหพันธรัฐครั้งนี้ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยกลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ซึ่งขยายอาณาเขตไปถึงอินโดจีน กษัตริย์ไศเลนทรได้เลือกปัตตานีเป็นจุดศูนย์กลางทางการปกครองและการเมืองของรัฐมลายู (Columbia Ency clopedia , Secon ed . See Patain)

หลังพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายมีรัฐสยามเกิดขึ้นในดินแดนที่เคยอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัยมาก่อน กลุ่มรัฐสยามเหล่านี้ อยู่ตั้งแต่นครปฐมจนถึงนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) ในส่วนของอาณาจักร ตามพรลิงค์ (พ.ศ. 1700-1800) มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช มีตำนานในส่วนที่กล่าวถึงเมืองบริวารของตามพรลิงค์ที่เรียกเมืองสิบสองนักษัตรว่า…..

ปีชวด เมืองสายบุรี ถือตราหนู

ปีฉลู เมืองปัตตานี ถือตราวัว

ปีขาล เมืองกลันตัน ถือตราเสือ

ปีเถาะ เมืองปะหัง ถือตรากระต่าย

ปีมะโรง เมืองไทรบุรี ถือตรางูใหญ่

ปีมะเส็ง เมืองพัทลุง ถือตรางูเล็ก

ปีมะเมีย เมืองตรัง ถือตราม้า

ปีมะแม เมืองชุมพร ถือตราแพะ

ปีวอก เมืองบันทายสมอ ถือตราลิง

ปีระกา เมืองสะอุเลา ถือตราไก่

ปีจอ เมืองตะกั่วป่าหรือถลาง ถือตราหมา

ปีกุน เมืองกระ ถือตราหมู

นักวิชาการระบุว่า เมืองสิบสองนักษัตรอาจมีอยู่จริง แต่ไม่กว้างขวางดังตำนานว่าไว้ นครศรีธรรมราชเพิ่งจะมีอำนาจมากเป็นหัวเมืองชั้นเอกสมัยอยุธยา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางใต้ (ปัญญา ศรีนาค , อ้างแล้ว หน้า 10)

พ.ศ. 1910 หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา 8 ปี มีการตรากฎหมายซึ่งเป็นกฎมณเฑียรบาลออกมาบังคับใช้ บางมาตรากำหนดระเบียบให้หัวเมืองในราชอาณาจักรปฏิบัติ มีการแบ่งหัวเมืองเป็นชั้นต่าง ๆ และเมืองประเทศราช ที่น่าสังเกตคือ บนคาบสมุทรมลายูมีชื่อเมืองนครศรีธรรมราชเพียงเมืองเดียวและมีฐานะเป็นเมืองพระยามหานคร (กฎหมายตราสามดวง , กรุงเทพฯ . กรมศิลปากร . (2521) หน้า 70) และระบุหัวเมืองฝ่ายใต้ซึ่งมีกษัตริย์ปกครองอีก 4 เมือง ต้องส่งดอกไม้ เงิน ทอง คือ เมืองอุยองตะหนะ, เมืองมะละกา, เมืองมลายู เมืองวารี

เมืองอุยองตะหนะ คือเมืองปัตตานีเก่า ปัจจุบันอยู่ในอำเภอยะหริ่ง ชื่อเมืองมาจากภาษามลายู Ujongtanah แปลว่าแหลมที่เป็นแผ่นดิน (อมรา พงศาพิชญ . วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ วิเคราะห์สังคมไทยแนวมนุษยวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ , (2534) หน้า 687 ,636)