ทำไมจึงเรียกลำคลองสายนี้ว่า แสนแสบ?

ความเห็นแรกบอกว่าชื่อ คลองแสนแสบ น่าจะพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศที่คลองนี้ขุดผ่าน ซึ่งล้วนเป็นที่ราบลุ่มอุดมด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ใหญ่ที่สุด อันได้แก่ ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่งหนองจอก ดังรายงานการเดินทางของนาย ดี.โอ.คิง (D.O.King) นักสำรวจชาวอังกฤษแห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งว่า

“คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเพทฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะคนพื้นเมือง เป็นคนเชื้อสายมาเลย์เช่นเดียวกับชาวสยามอื่น ๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดา ๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ”

สรุปว่า ได้ชื่อ “แสนแสบ” เพราะถูกยุงกัด แต่คำว่า “ทุ่งแสนแสบ” นั้นก็มีออกชื่อเอาไว้ในพระราชพงศาวดาร เป็นทุ่งใหญ่นอกพระนคร การขุดคลองผ่านทุ่งแห่งนี้ ก็น่าจะเป็นเหตุให้เรียกว่า “คลองแสนแสบ” ได้เช่นกัน เหมือนกับคลองแสนแสบ และคลองบางกะปิ หรือแม้แต่คลองตันก็น่าจะมีเหตุเรียกชื่อมาจากการขุดคลองผ่านทุ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เรากำลังสืบค้นถึงสาเหตุที่มาของชื่อ แสนแสบ ว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกทุ่งแสนแสบหรือคลองแสนแสบ

ความเห็นแรกเกี่ยวกับเรื่องของยุงที่ชุกชุม แต่ ส.พลายน้อย มีเบาะแสแตกต่างออกไปว่า “มีผู้สันนิษฐานในด้านภาษาว่า คำแสนแสบ น่าจะหมายถึง แม่น้ำลำคลองหรือห้วยหนองคลองบึงหรือทะเลสาบ และเพี้ยนมาจาก “แส-สาบ” ปรีดา ศรีชลาลัย อ้างว่า สมัยหนึ่งเคยเรียกทะเลว่า เสหรือแส เช่นหลงเสหรือเสหล่ง เท่ากับเสหลวง พงศาวดารเชียงแสนเรียกว่า หนองแส ที่ “แส-สาบ” กลายเป็น “แสนแสบ” มีตัวอย่างคำ “แม้” เป็น “แม้น” แส จึงเป็น “แสน” ปลาบ เป็น แปลบ ฉะนั้น สาบจึงเป็น แสบได้”

ในพจนานุกรมไทย-เขมร (ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2528) ระบุว่า

เส (เขมรอ่านว่า เซ) แปลว่า ผีน้ำ คำนี้อยู่ในภาษาข่า ในตระกูลมอญ-เขมร แถบอีสานและลาว หมายถึง แม่น้ำ เช่น เซบก เซบาย ที่อุบล-ยโสธร แปลว่า แม่น้ำ (เซ)บก แม่น้ำ (เซ) บาย

สาบ (เขมรอ่านว่า ซาบ) แปลว่า จืด ในเขมรทุกวันนี้เรียก ทะเลสาบ หมายถึง แม่น้ำจืด แล้วไทยยืมคำนี้มาในความหมายเดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า Lake เช่น ทะเลสาบสงขลา

ถ้าเสสาบกลายเป็นแสนแสบจริงแล้ว ก็หมายความว่า ชื่อคลองแสนแสบมาจากตระกูลภาษามอญ-เขมร สอดคล้องกับถิ่นฐานแถบนั้น เพราะชื่อ โขนง ก็เป็นภาษาเขมรอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องราวของนางนาคพระโขนง ที่น่าจะเป็นเค้ามาจากเขมรด้วย ส.พลายน้อยยังระบุอีกว่า “ทุ่งแสนแสบกับทุ่งบางกะปิ มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งคู่ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์…”

และในรัชกาลนี้เอง (รัชกาลที่ 3) กองทัพไทยได้กวาดต้อนพวกแขกจามเขมรมาจากเมืองพนมเปญ โปรดฯ ให้พวกครัวแขกจามเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกะปิ แสนแสบเลยไปถึง “หลอแหล” ก็พวก “แขกจามเขมร” ละกระมังที่เริ่มเรียกคลองนี้ด้วยภาษาของตนว่า “เสสาบ” แต่พวกไทยพากันเรียกเพี้ยนเสียงไปว่า แสนแสบมาตราบจนทุกวันนี้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, คำนำในชื่อบ้านนามเมือง, สำนักพิมพ์มติชน (2540) หน้า 16-18) ยังมีเรื่องเล่าจาก “มุขปาฐะ” ระบุว่า เหตุที่เรียกว่าคลองแสนแสบนั้นเกี่ยวข้องกับ