มีเรื่องราวปรากฏแพร่หลายในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  กล่าวถึงการเลี้ยงวัวของพวกแขกบริเวณทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) และบริเวณใกล้เคียง จนพระมหามนตรี (ทรัพย์) นำเรื่องราวจากเค้าความจิรงไปแต่งละครเรื่อง “ระเด่นลันได” กล่าวถึง แขกคนหนึ่งชื่อ “ลันได” เป็นชาวอินเดียอาศัยอยู่แถวโบสถ์พราหมณ์ (แถวเสาชิงช้า) ลันไดพูดไทยไม่ค่อยได้ เพราะเป็นแขกเทศมาแต่นอก จึงหัดร้องเพลงขอทาน เรื่อง “สุวรรณหงส์” ได้เพียงสองสามคำว่า “สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกได้” ร้องทวนไปมาอยู่ได้เพียงเท่านี้

ในตอนนั้นยังมีแขกอินเดียอีกคนหนึ่ง (เป็นแขกมุสลิม ส่วนลันไดเป็นแขกฮินดู) เรียกกันว่า “แขกประดู่” ตั้งคอกเลี้ยงวัวอยู่ที่ตรงแถวริมคลองหลอดระหว่างสีแยกคอกวัวไปถึงเชิงสะพานมอญที่ใดที่หนึ่ง (ปราณี  กล่ำส้ม ระบุว่าแขกประดู่ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่แถวหัวป้อม เข้าใจว่าเป็นป้อมเผด็จดัสกร อยู่บริเวณสนามหน้าศาลยุติธรรม ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) แขกประดู่มีเมียเป็นแขกมาจากเมืองมลายู ชื่อนางประแดะ พระมหามนตรี (ทรัพย์) กวีในรัชกาที่ 3 ได้นิพนธ์ตัวละครที่มาจากตานี คือ นางประแดะ ไว้ว่า

“นางไร้ญาติวงศ์พงษา     หมายพึ่งบาทาพระโฉมศรี
โคตรพ่อโคตรแม่ก็ไม่มี     อยู่ถึงเมืองตานีเขาตีมา”

แล้วคราวหนึ่ง นางประแดะได้พบกับแขกลันได นางประแดะได้พบกับแขกลันได เกิดพอใจรักใคร่ในรูปกายของหนุ่มลันได จึงนำข้าวปลาอาหารไปให้ แขกประดู่สามีรู้เข้าก็เกิดความหึงหวง จึงมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันขึ้น เรื่องนี้เป็นที่เลื่องลืออื้อฉาวแพร่หลาย (ปณาณี กล่ำส้ม อ้างแล้ว หน้า 53-54) รายละเอียดของท้องเรื่องนั้น จะเป็นจริงอยู่บ้างหรือพระมหามนตรีคิดเสริมขึ้นให้ขบขัน ไม่ทราบได้ แต่ส่วนที่เป็นจริงและปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ย่านเสาชิงช้าสมัยนั้นยังล้าหลังรุงรัง เป็นเรือกสวนและป่าผลไม้ที่มีชุมชนแขก เลี้ยงวัวอยู่อย่างยากจน (สุจิตต์  วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ มาจากไหน? (2548) หน้า 136)

นอกจากบริเวณป้อมเผด็จดัสกรแล้ว พวกแขกยังอาศัยอยู่ตามริมกำแพงวัง โดยปลูกที่พักเป็นเพิงหมาแหงน คือ หลังคาด้านหน้ายกสูงลาดต่ำลงไปด้านหลัง อาศัยด้านหนึ่งของกำแพงเป็นผนัง ใช้ฝาไม้ขัดแตะมุงจาก บ้างก็ขายของกินกระจุกกระจิก เช่น กล้วยแขก อ้อยควั่น ข้าวโพดคั่ว บ้างก็เลี้ยงวัว การเลี้ยงวัวมีทั้งที่เลี้ยงกันตามพื้นราบให้วัวได้แทะเล็มหญ้ากันตามใจชอบ และมีบางส่วนที่ขึ้นไปเลี้ยงบนกำแพงวัง

ข้อมูลส่วนนี้ไม่ขอยืนยันความเป็นไปได้ แต่ก็มีเรื่องเล่ากันว่า มีราษฎรใช้กำแพงวังเป็นที่เลี้ยงวัว ถึงคราวเหมาะเคราะห์ร้ายก็จะมีวัวก้าวพลาดพลัดตกกำแพงลงมาบนหลังคาเพิงหมาแหงนของชาวบ้าน ให้เกิดเรื่องโกลาหลอลหม่านกันเป็นพักๆ การเลี้ยงวัวในย่านนี้ต้องมีอันเลิกราไป เมื่อรัฐบาลต้องการใช้พื้นที่เพื่อสร้างถนนราชดำเนิน ตั้งแต่บริเวณพระบรมมหาราชวังจนถึงวังสวนดุสิต ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ปราณี  กล่ำส้ม อ้างแล้ว หน้า 56-57)

ในบริเวณใกล้กับวัดสุนทรธรรมทาน ซึ่งเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ระหว่างถนนนครสวรรค์กับถนนหลานหลวง นามเดิมของวัดนี้เรียกกันว่า วัดสนามกระบือหรือวัดแคก็เรียก เหตุที่เรียกวัดสนามกระบือ เพราะบริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกตำบลสนามกระบือ

ส่วนอีกชื่อหนึ่ง คือ ชื่อวัดแค ซึ่งเป็นชื่อเรียกของคนปักษ์ใต้ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตำบลสนามกระบือ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่โปรดให้ปราบปรามหัวเมืองแขกในการสงครามครั้งนั้น ได้กวาดต้อนเชลยแขก ซึ่งมีชาวปักษ์ใต้แถบเมืองนครศรีธรรมราชติดตามมาด้วย และโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลสนามกระบือนี้ (ศันสนีย์  วีระศิลป์ชัย, ชื่อบ้านนามเมือง, มติชน (2540) หน้า 156-157)