ชาวมลายู-ปัตตานีเป็นพลเมืองเดิมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา

หากบรรพชนบ้านป่ามิได้เป็นกลุ่มชนเดียวกับชาวมลายูปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งๆ ที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูเช่นกัน แต่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ส่อเค้าว่าเป็น แขกเก่า คือ แขกมลายูเดิมที่กลายเป็นคนไทยพื้นบ้านไปหมดแล้ว และเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ณ ชุมชน บ้านป่า แห่งนี้มาก่อนชาวมลายู-ปัตตานีรุ่นแรกที่ถูกเกณฑ์ยกครัวมานับแต่ปี พ.ศ. 2329 เป็นต้นมา ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าชาวบ้านป่าเดิมเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งในภาคกลางนี่เอง และพื้นที่ดังกล่าวก็น่าจะเป็นกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงธนบุรีในชั้นหลัง

ตามสมมติฐานที่ผู้เขียนออกจะดู อาจหาญไปเสียหน่อย แต่ไม่เกินจริง และมีความเป็นไปได้โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ และข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้คนในท้องถิ่นประกอบความน่าจะเป็นของสมมติฐาน

ย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชุมชนมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาประกอบการค้า และอพยพเข้ามา เพราะปัญหาการเมือง โดยถูกกวาดต้อนหรืออพยพลี้ภัยเข้ามา จึงประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพและชนชั้น บางกลุ่มมีเจ้านายของตัวเองเข้ามาอยู่ด้วย เช่น พวกมักกะสัน (มลายูจากเกาะมากัสซาร์) มุสลิมเชื้อสายมลายูที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามมีทั้งพวกที่เป็นพ่อค้า และพวกทาส (คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง หน้า 7)

ในหนังสือ “The Suma Oriental” ของโตเม  ปิเรส ระบุว่า พ่อค้าปัตตานี เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ค้าขายกับจีน และพวกมัวร์ (อาหรับ-เปอร์เซีย-อินเดีย) โดยผ่านสยาม และยังระบุว่าสินค้าจากมะละกาที่เข้ามาค้าขายในสยาม ประกอบด้วยทาสหญิง และทาสชาย แสดงว่าพวกมลายูส่วนหนึ่งคงถูกขายเป็นทาส เพื่อนำมาใช้แรงงานในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (ดูรายละเอียดใน Donald F.Lach and Caro Flaumenhaft, trs, “The Suma Orientl”, pp. 28)

ในบันทึกของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่า ชาวมลายูในสยามส่วนใหญ่เป็นทาส (Michael Smithies, tr, The Chevalier de Chaumont and the Abbe de Choisy Aspects of the Embassy to Siam 1685 (Chiang Mai : Silkworm Books, 1997), p. 84)

นอกจากนี้ยังมีพวกเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเนื่องจากสงครามระหว่างรัฐมุสลิมในคาบสมุทรมลายู และสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว (A. Teeuw and David K.Wyatt, The Story of Pattani Vol.2) ชุมชนของประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูตั้งอยู่บริเวณคลองตะเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกกำแพงพระนคร จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ยืนยันได้ว่าชาวมลายูมุสลิมได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยานมนานแล้ว และมิใช่เฉพาะที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากยังมีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเช่นกันตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153- 2177 หรือ ค.ศ. 1610-1628) (ดูรายละเอียดในเสาวนีย์  จิตต์หมวด. กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม (กรุงเทพมหานคร : กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, 2531, หน้า 125)

และสงครามระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายูนั้นเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ว่า “ศักราช 817 กุญศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา” แต่การศึกครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ นี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 1998 (เรื่องเดียวกัน ; สารพันมรดกไทย กรมศิลปากร 2536 หน้า 121) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการครองราชย์ของพญาตู นักปา หรือ ราชาอินทิรา (Raja Intira) ต้นราชวงศ์ศรีวังสาของปัตตานี (พ.ศ. 2012-2057)

บ้างก็ระบุว่า ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2043-2073 ภายหลังราชาอินทิราเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลาม และเฉลิมพระนามใหม่ว่า สุลต่านอิสมาแอล  ชาห์ (Sultan Ismail Syah) ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111) สุลต่าน มุซ๊อฟฺฟัร ชาห์ (ราชโอรสในสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ ซึ่งสืบอำนาจต่อมา) ได้นำทหารปัตตานีบุกพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นสยามกำลังติดพันศึกอยู่กับหงสาวดี

เหตุการณ์ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ดังนี้

“(ศักราช 925) ครั้งนั้นพระญาศรีสุรต่านพระญาตานีมาช่วยการเศิก พระญาตานีนั้นเปนขบถ แลคุมชาวตานีทั้งปวงเข้าในพระราชวัง ครั้นแลเข้าในพระราชวัง ได้เอาช้างเผือกมาขี่ยืนอยู่ ณ ท้องสนาม แล้วจึงลงช้างออกไป ณ ทางตะแลงแกง แลชาวพระนคร เอาพวนขึงไว้ต่อรบด้วยชาวตานีๆ นั้นตายมาก แลพระญาตานีนั้นลงสำเภาหนีรอดไป”  ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ลงความไว้คล้ายกัน แต่มีรายละเอียดมากกว่า

(ศักราช 911) “ขณะนั้นพระยาตานีศรีสุลต่าน ยกทัพเรือหย่าหยับสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม ถึงทอดอยู่หน้าวัดกุฎีบางกะจะรุ่งขึ้นยกมาทอดอยู่ประตูไชย พระยาตานีศรีสุลต่านได้ทีกลับเป็นกบฏ ก็ยกเข้าในพระราชวัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้ตัว เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ศรีสักหลาดหนีไปเกาะมหาพราหมณ์ และเสนาบดีมุขมนตรีพร้อมกันเข้าในพระราชวัง สะพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป

ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวงก็ออกไปเชิญเสด็จ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช พระเจ้าช้างเผือกเสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศมหาสถาน” กองทัพปัตตานีถูกตีกลับ ต้องถอยร่นออกมาถึงปากอ่าว สุลต่าน มุซอฟฺฟัร ชาฮฺ (พระยาตานีศรีสุลต่าน) สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับ พระศพถูกฝังไว้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าว ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่บริเวณ ณ แห่งหนตำบลใด ต่อมาในรัชสมัย ราญามัส กลันตัน (RAJAMAS KELANTAN) ครองปัตตานีในปี พ.ศ. 2233 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จ พระเพทราชา (สมเด็จพระมหาบุรุษ) (พ.ศ. 2231-2246) เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับปัตตานี อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2234-2235

แต่สยามก็ได้รับการต่อต้านและการต่อสู้จากชาวปัตตานีอย่างเข้มแข็งจนกองทัพสยามก็ต้องล่าถอยกลับไป ต่อมาลุรัชสมัย ราญามัส  ชายัม (Jaja Mas Jayam) ซึ่งเป็นนางพระยาตานีพระองค์แรกของราชวงศ์กลันตันที่ปกครองปัตตานี กรุงศรีอยุธยาได้ส่งทหารจำนวน 5,000 คนเข้าโจมตีปัตตานี แต่ทางปัตตานีได้รับการช่วยเหลือจากสุลต่านอับดุลญ่าลีล ริยาอัต ชาห์ แห่งรัฐยะโฮร์ ส่งทหารยะโฮร์ และเรือรบเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายปัตตานีต่อสู้กับกองทัพสยามอย่างเป็นสามารถ

หลังการสู้รบระหว่างสองฝ่ายผ่านไปได้ 12 วัน สงครามยุติลงด้วยการถอยทัพของสยาม เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเสือ (พระสรรเพชรญ์ที่ 8) (พ.ศ. 2246-2251) เสด็จสวรรคตหลังทรงพระประชวรหนัก ดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า สงครามปรเพณีระหว่างสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะปัตตานี ดารุสลาม ได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหน แต่เท่าที่มีหลักฐานปรากฏนั้น ปัตตานีในรัชสมัยอยุธยาสามารถยืนหยัดต่อสู้ป้องกันเมืองเอาไว้ได้เกือบทุกครั้ง

การกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองมลายูซึ่งเป็นคู่สงคราม (แต่ไม่ได้แพ้สงครามอย่างเด็ดขาดเหมือนในยุครัตนโกสินทร์) เอามาไว้ในอยุธยาก็อาจจะมีบ้างแต่คงมีจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งอยู่ที่คลองตะเคียนและบ้านลุมพลี เป็นต้น และถือเป็นพลเมืองที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาสมทบกับประชาคมมลายูที่เข้ามาค้าขายอยู่ก่อนแล้ว แต่พลเมืองมลายูที่เข้ามาใหม่นี้มีฐานะเป็นเชลยศึกและถูกขายเป็นทาสตามที่มีบันทึกในพงศาวดารที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ชาวมลายูถือเป็นประชาคมต่างด้าวที่มีชุมชนตั้งอยู่มานานแล้วในกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายหตุ ลาลูแบร์ เล่ม 2 หน้า 177-179 ระบุว่า “เพราะฉะนั้นในกรุงสยามจึงมีแขกมัวร์มากตั้งสามสี่พันคน…และบางทีแขกมลายูก็มากเหมือนกัน” (ดูเพิ่มเติมในสามทหาร ปีที่ 2 เล่ม 2 หน้า 28-29)

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก และเสียกรุงครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310) ชาวไทยหลายพวกรวมทั้งมุสลิมด้วยจำนวนมาก ก็อพยพมาทางใต้ พวกมุสลิมได้มาตั้งหลักแหล่งที่คลองบางกอกใหญ่ก็มี ที่ปากลัดก็มี พวกที่อยู่ที่คลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อยนั้น เรียกแต่เดิมว่า “แขกแพ” (ดิเรก  กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย, สำนักพิมพ์มติชน, กุมภาพันธ์ 2545 หน้า 95)

ในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดสงครามกับเมืองตานี ไทยได้ยกทัพไปปราบเมื่อ พ.ศ. 2329 (ค.ศ. 1786) การสงครามติดพันกันหลายครั้ง ไทยได้อพยพชาวปักษ์ใต้มาไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ที่ท่าทอง (สาส์นสมเด็จ เล่ม 5 หน้า 295) ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สี่แยกบ้านแขกในจังหวัดธนบุรี ทุ่งครุ ในอำเภอพระประแดง ท่าอิฐในจังหวัดนนทบุรี บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน เมืองมีน หนองจอก และตามริมคลองไร่นาในย่านนั้นในจังหวัดพระนคร คลอง 16. 18. 21, 22, 24 ในจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา เป็นต้น (ดิเรก  กุลสิริสวัสดิ์ อ้างแล้ว หน้า 96-96)

ประเด็นสำคัญที่จำต้องสืบค้น และวิเคราะห์ คือ “ปากลัด” หรือ อำเภอพระประแดง ซึ่งเมืองพระประแดงเป็นเมืองเก่าแก่มีมาตั้งแต่ สมัยขอมเรืองอำนาจ เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของขอม ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และคงเป็นเมืองหน้าด่านมาตลอดจนถึงปี พ.ศ. 1600 ขอมจึงหมดอำนาจลงจนถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัย เมืองพระประแดงก็ยังคงเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้อยู่ตลอดสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921)

เมืองพระประแดงเดิมที่ขอมสร้างขึ้นนั้น หาใช่ที่ปากลัดในปัจจุบันไม่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ว่า”เมืองพระประแดงที่ขอมสร้างขึ้นครั้งนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลราษฎร์บูรณะใกล้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากแต่เมื่อเนิ่นนานมา พื้นดินค่อยๆ งอกขึ้นจนตื้นเขินและยื่นออกไปในทะเล” การที่ขอมขนานนามเมืองหน้าด่านแห่งนี้ว่า “พระประแดง” นั้นคำว่า “ประแดง” หรือ “บางแดง” นั้นปทานุกรมของกระทรวงธรรมการแปลไว้ว่า คนเดินหมาย. คนนำข่าว, ทูต, พนักงานตามคน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทอง ได้ตั้งเมืองพระประแดง เป็นเมืองหน้าด่าทางทิศใต้ ในแผ่นดิน “พระเจ้าทรงธรรม” ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171 พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองพระประแดงอยู่ห่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก พื้นดินตื้นเขินออก ยื่นออกไปในทะเล หากมีข้าศึกยกกองทัพเรือล่วงล้ำเข้ามา การลาดตระเวนตรวจด่านจะลำบากมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้แทนต่อไป

ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงธนบุรีแล้ว พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้รื้อถอนกำแพงเมือง พระประแดงเดิมไปก่อกำแพงพระราชวังธนบุรี (พระราชวังเดิม) และอื่นๆ ดังนี้เมืองพระประแดงเดิมจึงสิ้นซากนับแต่นั้นมา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้น บ้านเมืองยังติดพันการศึกหลายด้าน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างป้อมทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ดำเนินการสร้าง ป้อมปราการขึ้นใช้ชื่อว่า “ป้อมวิทยาคาร” การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง ป้อมวิทยาคารจนแล้วเสร็จ เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ พ.ศ. 2358 และพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ (คัดลอกและย่อความจากหนังสือของจังหวัดสมุทรปราการจากหอสมุดแห่งชาติ)

มีระบุในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2448 หน้า 230-232 ว่า :
เมื่อเดือน 5 ปีจอ ฉ ศ ก จุลศักราช 176 ทรงพระราชดำริว่า ที่ลัดต้นโพธิ์ (คือคลองปากลัด-ผู้เขียน) นั้นเมื่อในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท เสด็จลงไปกะการที่จะสร้างเมืองขึ้นไว้ป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเลอีกแห่ง 1 การยังค้างอยู่เพียงได้ลงมือทำป้อมยังไม่ทันแล้ว จะไว้ใจแก่การศึกสงครามทางทะเลมิได้ ควรจะต้องทำขึ้นให้สำเร็จ จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองเสด็จลงไปทำเมืองขึ้นที่ปากลัด ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครบ้าง และแขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งขึ้นเป็นเมืองใหม่อีกเมือง 1 พระราชทานชื่อว่า “เมืองนครเขื่อนขัณฑ์”………

เขตเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ กินพื้นที่อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และรวมถึงเขตพระโขนง และสวนหลวงด้วย ซึ่งหากมองดูแผนที่ทางอากาศจะเห็นว่า เขตเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ครอบคลุมอาณาเขตสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือ อำเภอพระประแดง และทิศตะวันออก คือ ฝั่งพระโขนงและสวนหลวง และมีคลองพระโขนงเชื่อมต่อจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกในพื้นที่เขตพระโขนงและสวนหลวง และคลองบ้านป่าก็เป็นคลองซอยเชื่อมต่อกับคลองพระโขนงอีกทอดหนึ่ง เมื่ออำเภอพระประแดงมีประวัติเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงสมัยขอม พระโขนงก็เช่นกัน คำว่า “โขนง” ซึ่งหมายถึง คิ้ว เป็นภาษาเขมรเช่นกัน (ศันสนีย์  วีระศิลป์ชัย, ชื่อบ้านนามเมือง, สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพฯ 2540 หน้า17)

มีคำยืนยันจาก มุขปาฐะว่า ในพื้นที่ชุมชนบ้านป่า ซึ่งมีคลองบ้านป่าเชื่อมต่อกับคลองพระโขนง เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ น่าจะเคยมีชุมชนโบราณมาก่อน เพราะบริเวณคลองตื้น (ส่วนหนึ่งจากคลองบ้านป่า) มีเศษถ้วยชามกระเบื้องเป็นจำนวนมากหลงเหลือเป็นร่องรอยอยู่ตามสวนต้นไม้ แสดงว่า บริเวณคลองตื้นนี้น่าจะมีชุมชนเก่าแก่ตั้งถิ่นฐานอยู่มานานแล้ว อาจจะมีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย (ประมาณปี พ.ศ. 2305)

ในช่วงตอนปลายของคลองบ้านป่าก่อนออกสู่คลองพระโขนงนั้น เรียกกันว่า คลองวัดช้าง คงเป็นวัดร้างเก่าแก่ที่มีแต่ครั้งเก่าก่อน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นแต่สมัยใดเพราะเหลือแต่ชื่อ ไม่ปรากฏหลักฐานทางวัตถุหรือโบราณสถานหลงเหลืออยู่ แต่ก็ส่อเค้าว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาของคลองบ้านป่า ซึ่งเป็นทางเดินของโขลงช้างในสมัยโบราณ

ย้อนกลับสู่นครเขื่อนขัณฑ์ ซึ่งมีข้อความระบุว่าเป็นแหล่งที่บรรดาทหารหรือขุนศึกชาวปัตตานีถูกกวาดต้อนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นี่ โดยมีข้อความดังนี้ “เมื่อสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ยกทัพไปตียึดมลายู คือเมืองปัตตานีมาเป็นของไทย ท่านแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยาได้สั่งให้กองทัพของกรุงศรีอยุธยากวาดต้อนเชลยศึกของมลายู (ตานี) เข้ามาไว้ในพระนครศรีอยุธยา และบรรดาเชื้อพระวงศ์ของมลายู (ตานี) นั้น ได้ถูกนำไปไว้ที่คลองตะเคียน และบ้านลุมพลี ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันนี้) ส่วนเชลยศึกมลายู (ตานี) ที่เป็นทหารได้ถูกนำมากักกันไว้ที่แขวงเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ คือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เขตเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ในขณะนั้นรวมถึงพระโขนงและสวนหลวง กทม. ในปัจจุบันด้วย

ท่านอับบ๊าส ท่านเป็นแม่ทัพของหัวเมืองมลายู (ตานี) ได้ถูกควบคุมตัวพร้อมด้วยครอบครัวและพลพรรคของท่านมากักกันไว้ที่แขวงเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ บริเวณบ้านหัวป่า แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (ในปัจจุบัน) และต่อมาท่านอับบ๊าสก็ได้รับพระราชทานที่ดินพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างมัสยิดจาก “สมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์” (สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) โดยได้รับพระราชทานนามของมัสยิดครั้งแรกว่า “สุเหร่าใหญ่” ซึ่งต่อมามีการบูรณะปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐโบกปูน เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “มัสยิดอัลกุ๊บรอ” (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) บางท่านเรียกว่า มัสยิดอัลกุ๊บรอ แห่งอับบ๊าส

สุเหร่าใหญ่ หรือ มัสยิดอัลกุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) เป็นมัสยิดแห่งแรกในเขตนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2332 (ต้นยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1) โดยท่านอับบ๊าสเป็นผู้ดำเนินการสร้างมัสยิดหลังนี้ ซึ่งท่านอับบ๊าสเป็นบรรพบุรุษ “มุสลิม” คนแรกที่มาจากเมืองปัตตานี และมาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้…” (คัดจาก “ประวัติมัสยิดอัลกุ๊บรอ” วารสารมุสลิม กทม. ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2547)

ข้อความที่ระบุข้างต้นเกี่ยวกับประวัติการสร้างมัสยิดอัลกุ๊บรอกำเนิดชุมชน “หัวป่า” เขตสวนหลวง ดังที่หยิบยกมา มีประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างสับสน ลักลั่น และก้าวกระโดด กล่าวคือ

1. การสืบเรื่องย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และอ้างว่ามีการยกทัพไทยไปตีหัวเมืองมลายู และยึดปัตตานีเป็นของไทยพร้อมกวาดต้อนเชลยศึกชาวตานี และเชื้อพระวงศ์ของปัตตานีมาไว้ที่ คลองตะเคียน และบ้านลุมพลี ในเขตพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นเรื่องที่ขาดความชัดเจนในบริบทของประวัติศาสตร์ช่วงนั้น

เพราะถึงแม้รัฐปัตตานีจะเคยมีการรบพุ่งกับอยุธยาหลายครั้งหลายครา แต่ไม่ปรากฏว่ารัฐปัตตานีถูกตีแตก และพ่ายสงครามอย่างราบคาบเหมือนเช่นครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งนี้เพราะรัฐปัตตานีมีความสัมพันธ์กับสยามในสมัยอยุธยาในฐานะประเทศราช ซึ่งมีธรรมเนียมต้องส่ง “บุหงามัส” หรือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองให้ทุกๆ ปี แต่อย่างไรก็ดี อำนาจรัฐของกรุงศรีอยุธยาก็ไม่อาจแผ่ขยายไปยังหัวเมืองไกลโพ้นอย่างปัตตานีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ครั้งใดที่กรุงศรีอยุธยาประสบปัญหาทางการเมือง หรือติดพันศึกสงคราม ประเทศราชที่มีความพร้อม ทั้งภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจอย่างปัตตานีก็จะมองหาความเป็นอิสระในทันที ด้วยเหตุนี้ทำให้ปัตตานีกับสยามต้องมีเหตุให้ทำสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง (รัฐปัตตานีในศรีวิชัยเก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์, สำนักพิมพ์มติชน 2547 หน้า 305)

ดังนั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงไม่เคยปราบปรามปัตตานีได้อย่างเบ็ดเสร็จจนถึงขั้นตีปัตตานีแตก และกวาดต้อนเชลยศึกพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์ของปัตตานีนำมาไว้ในราชธานีเหมือนอย่างที่ข้อความในวารสารมุสลิม กทม. ระบุไว้ ส่วนการรบพุ่งและติดตามมาด้วยการกวาดต้อนเชลยศึกตามรายทางในการเดินทัพนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แต่ก็คงไม่ได้มีจำนวนมากมายเหมือนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการศึกขั้นแตกหัก และสลายกำลังทหาร และศูนย์กลางอำนาจจากกลุ่มเชื้อพระวงศ์ลงการกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์ของปัตตานี ในสมัยอยุธยา จึงเป็นเรื่องที่น่ากังขา และขาดหลักฐานยืนยัน เพราะรัฐปัตตานีขณะนั้นยังคงดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ เพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศราชที่ส่งบุหงามัสยังกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

2. เมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ที่ข้อความในวารสารฯ ระบุว่า เป็นพื้นที่ซึ่งเชลยศึกปัตตานีที่เป็นทหารถูกนำมากักกันเอาไว้นั้น ยังไม่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเสร็จในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2358 โดยพระราชทานนามเมืองใหม่นั้นว่า “เมืองนครเขื่อนขัณฑ์” ส่วนเมืองเก่าที่มีมาแต่เดิม และเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล คือ เมืองพระประแดง ซึ่งในชั้นอยุธยาจวบจนต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนรัชกาลที่ 2 ยังไม่ได้มีพื้นที่รวมถึงเขตพระโขนง และเขตสวนหลวง ซึ่งอยู่คนละฟากกับอำเภอพระประแดง โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลาง แล้วรวมเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าเป็นเขตของเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ในเวลาต่อมา (รัชกาลที่ 2)

ดังนั้น ถ้าหากมีการกวาดต้อนเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูในสมัยอยุธยามากักกันเอาไว้ในพื้นที่แถบนี้จริง ก็น่าจะเป็นที่อำเภอพระประแดงเดิม ไม่ใช่ที่เมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมมาถึงบ้านหัวป่าในเขตสวนหลวงแต่อย่างใด

3. เมืองพระประแดง ถูกตั้งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยานับแต่รัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง ต่อมาเมืองพระประแดงอยู่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามามาก พื้นดินตื้นเขิน ยื่นออกไปในทะเล สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้แทนเมืองพระประแดงเดิม จวบจนลุสู่แผ่นดินใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อกองทัพสยามยกทัพไปตีหัวเมืองมลายูซึ่งตั้งแข็งเมืองในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามสามารถปราบปรามรัฐปัตตานี และหัวเมืองมลายูลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐปัตตานีแตก ศูนย์กลางอำนาจในชนชั้นปกครองของรัฐปัตตานีถูกสลายลง ราชวงศ์ปัตตานี และเหล่าทหารตานี ตลอดจนพลเมืองถูกกวาดต้อนเข้ามายังส่วนกลางในฐานะเชลยศึกในระหว่างปี พ.ศ. 2329-2351 ตรงกับรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในครั้งนั้นเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ยังไม่ได้ถูกตั้งขึ้น คงมีแต่เมืองพระประแดง และเมืองสมุทรปราการ ในช่วงเวลานั้น โดยอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับแขวงพระโขนงซึ่งเป็นเมืองเก่า บรรดาลูกหลานของสุลต่านปัตตานี (เชื้อพระวงศ์) ถูกนำตัวไปไว้หลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี เรียกบริเวณนั้นว่า บ้านแขกมลายู (หรือบ้านแขกตานี) ปัจจุบันคือ สี่แยกบ้านแขก บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ส่วนเชลยศึกตานีที่เป็นทหารและชาวบ้านธรรมดาสามัญนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเอามากักกันไว้ในพื้นที่พระโขนงบริเวณบ้านหัวป่า (ปากคลองเคล็ด) ในเขตสวนหลวงปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากนำเชลยศึกชาวตานีมากักกันไว้ ณ พื้นที่ย่านนี้จริง ก็คือ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ 2 ซึ่งนครเขื่อนขัณฑ์ถูกสร้างเสร็จและกินพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ในสมัยอยุธยา

ทั้งนี้เพราะข้อความในวารสารมุสลิม กทม. ได้อ้างถึงนครเขื่อนขัณฑ์ จึงดูลักลั่น ยิ่งเมื่ออ้างว่า ท่านอับบ๊าส แม่ทัพตานีเป็นบรรพบุรุษมุสลิมคนแรกที่มาจากปัตตานี และมาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้ (เนื่องจากผลของสงครามในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่สมัยอยุธยา) และเกี่ยวข้องกับการพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างมัสยิดจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วยแล้วก็ย่อมชัดเจนว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และล่วงเลยมาหลายรัชกาล

ทั้งนี้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นนายไชยขรรค์หุ้มแพรมหาดเล็ก เป็นหลวงสิทธินายเวร เป็นหมื่นไวยวรนาถ เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนขั้นเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์” และถึงแก่พิราลัยในรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2452 สิริรวมอายุได้ 75 ปี (ประยูรศักดิ์  ชลายนเดชะ, มุสลิมในประเทศไทย 2539 หน้า 152)

จักเห็นได้ว่า การระบุปีสร้างมัสยิดอัลกุ๊บรอ โดยท่านอับบ๊าสแม่ทัพตานีในปี พ.ศ. 2332 นั้นไม่ตรงกับช่วงสมัยของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 หรือ รัชกาลที่ 2 เป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2332 ที่สร้างมัสยิดอัลกุ๊บรอนั้น สมเด็จฯ ท่านยังไม่ประสูติได้ซ้ำไป ช่วงเวลาและการเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จฯ ท่านห่างกันมากจึงดูสับสน เพราะหากดูปีที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยนั้น ท่านก็น่าจะประสูติราวปี พ.ศ. 2350

ฉะนั้นหากมีการพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างมัสยิดอัลกุ๊บรอ ในปี พ.ศ. 2332 ก็น่าจะเป็นสมุหพระกลาโหม ท่านอื่นก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) หรือไม่ก็อาจจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ก็เป็นได้

4. หากถือว่าท่านอับบ๊าส แม่ทัพตานีและเหล่าเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมากักกันไว้ ณ บริเวณบ้านหัวป่า เป็นมุสลิมปัตตานีรุ่นแรกในย่านนี้ แล้วบรรพชนในชุมชนบ้านป่าเล่า มาจากที่ใด (ตลอดจนชุมชนมุสลิมเก่า (แขกเก่า) ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เช่น บางมะเขือ สามอิน คลองตัน เป็นต้น) ทั้งๆ ที่บรรพชนบ้านป่าน่าจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ลึกเข้ามาในใจกลางป่ามานมนานก่อนแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดในเขตพระโขนงที่เป็นเมืองเก่านอกกำแพงพระนคร โดยมีทุ่งคลองตันขวางกั้นอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งติดต่อกับทุ่งพญาไท และมีทุ่งบางกะปิและทุ่งแสนแสบอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีคลองบ้านป่าเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อออกสู่คลองพระโขนง ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

หากมีการกวาดต้อนเชลยศึกหัวเมืองมลายูเข้ามาไว้ในบริเวณบ้านหัวป่า ก็คงอาศัยคลองพระโขนงเป็นลำน้ำสำคัญในการลำเลียงและล่องเรือขนผู้คนเข้ามาไว้ในบริเวณนั้น ไม่ได้ล้ำเข้ามาถึงใจกลางป่าที่มีคลองบ้านป่าไหลผ่าน เป็นไปได้ว่าทางการสมัยนั้นรู้อยู่แล้วว่าในย่านนี้มีชุมชนแขกมลายูตั้งอยู่ก่อนแล้ว จึงเอามากักกันไว้ในย่านที่อยู่ใกล้เคียงกัน และชุมชนแขกมลายูเดิมที่ว่านี้ก็คือ ชุมชนบ้านป่าตอนล่างนั่นเอง เหตุที่ชุมชนนี้มีมาก่อน จึงเรียกผู้คนที่นี่ว่า “แขกเก่า” (มลายูเดิม) และเรียกชาวปัตตานีที่เข้ามาใหม่บริเวณหัวป่าและปากคลองเคล็ดว่า “แขกใหม่” แสดงว่าชุมชนแขกมลายูเก่านี้มีมาก่อนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบรรพบุรุษน่าจะมาจากกรุงศรีอยุธยา

เมื่อคราวเสียกรุง พากันหนีพม่าข้าศึกล่องแพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อถึงปากคลองพระโขนงที่เชื่อมต่อกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ล่องแพลึกเข้ามาถึงใจกลางป่าตามคลองบ้านป่า เพราะถ้าหากลงพักและตั้งชุมชนอยู่บริเวรปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็อาจจะถูกข้าศึกเข้ามารบกวนได้ เพราะเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ชัยภูมิที่ตั้งชุมชนบ้านป่าจึงเหมาะสมยิ่งนักในการหลบหนีจากข้าศึกที่จะเข้ามาทางเมืองหน้าด่าน และถ้าหากมีข้าศึกเข้ามาจริง ก็ยังสามารถหลบหนีออกสู่ทุ่งบางกะปิหรือข้ามทุ่งคลองตันก็จะเข้าสู่ชุมชนบ้านครัวในเขตทุ่งพญาไทได้

ดังนั้นบรรพชนในบ้านป่าจึงมิใช่เชลยศึกชาวปัตตานีใหม่ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาไว้ ณ บริเวณหัวป่าเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เป็นชาวมลายูเดิมที่หนีพม่าเข้ามาตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษที่นี่พูดภาษาไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการแต่งกายเหมือนกับคนไทยโบราณในภาคกลางทั่วไป คือ เป็นคนไทยเชื้อสายมลายูที่เป็นคนดั้งเดิม ซึ่งผิดแผกจากชาวปัตตานีใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม และเข้ามาทีหลัง

ในการอพยพลี้ภัยสงครามเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก (พ.ศ. 2310) นั้นมีหลักฐานระบุว่า ชาวมุสลิมในกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มนั้น ได้อพยพลงมาทางใต้และตั้งหลักแหล่งอยู่ที่คลองบางกอกใหญ่และที่ปากลัด (อำเภอพระประแดง) จึงมีความเป็นไปได้ว่า บรรพชนบ้านป่าคงมากับกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยนั้นด้วย และอาจจะลงพักอยู่ที่ปากลัด อำเภอพระประแดง อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในภายหลังก็อพยพครัวเรือนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงบริเวณปากคลองพระโขนง และล่องเรือลึกเข้ามาจนถึงคลองบ้านป่า ซึ่งมีชัยภูมิปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐาน โดยตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านล่างของชุมชนบ้านป่าเป็นชุมชนแรกของชาวมลายูเก่าในย่านนี้ 

ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าชุมชนหัวป่า ปากคลองเคล็ดราว 20 ปีด้วยกัน หากสมมติฐานนี้เป็นจริง ก็แสดงว่าชุมชนบ้านป่ามีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 200 ปี  และอาจย้อนกลับไปถึง 223 ปีเป็นอย่างมากสุด กล่าวคือ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับการสร้างกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว อนึ่งบรรพชนบ้านป่าที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่บ้านป่านี้คงเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ปัตตานีหรือขุนศึกตานีแต่อย่างใด หากเป็นคนไทยเชื้อสายมลายูที่มีมาแต่เดิมนับแต่ก่อนการเข้ามาของชาวปัตตานี ในช่วงรอยต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลายกับช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์