ชุมชนมุสลิมบ้านบางมะเขือ

“บางมะเขือ” เป็นชุมชนที่อยู่ถัดจากชุมชนบ้านสามอิน ค่อนไปทางพระโขนง ในสมัยก่อนคงมีต้นมะเขือขึ้นอยู่มาก จึงเรียกว่า บางมะเขือ มีคลองบางมะเขือเป็นคลองซอยจากคลองใหญ่ (คลองพระโขนง) เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำในอดีต

บรรพชนมุสลิมในบ้านบางมะเขือนั้น ว่ากันว่า อพยพมาจากเมืองกลันตันในแหลมมลายู เป็นกลุ่มเครือญาติเดียวกันกับพี่น้องที่ตั้งรกรากในชุมชนบ้านป่า และในละแวกใกล้เคียง (วารสาร มุสลิม กทม. ประจำเดือนพฤษภาคม 2548)

บรรพชนที่อพยพมาจากเมืองกลันตัน ได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในพระนครเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกกวาดต้อนเข้ามาพร้อมๆ กับชาวตรังกานู กะดะห์-เคดาห์ (ไทรบุรี) ปะลิส และปัตตานี (อ้างแล้ว)

เรื่องครัวเรือนที่ถูกต้อนมาจากเมืองกลันตันนี้ มีเรื่องน่าสงสัยอยู่หลายประเด็น ดังนี้

1. ในสมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยาไทรบุรี (เกดะห์) ตั้งแข็งเมืองขึ้น จึงโปรดให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีเอาเมืองไทรบุรี… หลังจากได้ไทรบุรีแล้ว เจ้าพระยานครฯ ให้กองทัพเรือไปตีเกาะลังกาวี ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ของไทรบุรีได้อีกเกาะหนึ่ง กวาดต้อนครอบครัวของชาวเมืองไทรบุรีเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง เอาไว้ที่นครฯ บ้าง ลดกำลังให้น้อยลง” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2525)

2. ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2381 สยามส่งกองทัพลงไปปราบหัวเมืองมลายูปัตตานีอีกครั้ง จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 9 บันทึกไว้ว่า “…ทรงตรัสถามว่า ครัวซึ่งเอาเข้าไปนั้นเป็นคนที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นคนเมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้าง เมืองตานีบ้าง ว่าเป็นเป็นคนเมืองไทรบ้างก็ดี…” ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 14 บันทึกไว้ว่า “แล้วรับสั่งว่า…ครัวที่ส่งเข้าไปเป็นครัวอะไรอยู่ที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นครัวเมืองไทรบ้าง เมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้างเมืองราห์มันบ้าง เมืองสตูลบ้าง ว่าเป็นพวกเข้าด้วยขบถ…”   การสงครามกับหัวเมืองมลายูปัตตานีในสองรัชกาลนั้น ไม่น่าปรากฏว่ามีเชลยศึกจากเมืองกลันตันหรือตรังกานูแต่อย่างใด

3. มีข้อความระบุไว้ใน “ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3 (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2525) ว่า “…พระยาไทรได้ทราบว่าไทยตีได้เมืองปัตตานี ก็มีความเกรงกลัว รีบแต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนแต่ก่อน ฝ่ายพระยาตรังกานู และพระยากลันตัน ที่ขึ้นอยู่แก่เมืองตรังกานู เขตแดนอยู่ต่อเมืองปัตตานีลงไปข้างใต้ทั้ง 2 เมืองนี้ แต่ก่อนหาเคยได้ขึ้นแก่ไทยไม่ ครั้นทราบว่า ไทยตีได้เมืองปัตตานี เกรงจะเลยลงไปตีเมืองกลันตัน ตรังกานูด้วย ก็แต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินขึ้นมาถวายกรมพระราชวังบวรฯ ขอสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ ด้วยทั้งสองเมือง”

ตามข้อความที่ระบุนี้ เมืองกลันตันกับเมืองตรังกานู ยอมส่งเครื่องบรรณาการให้กับไทยเพื่อต้องการจะแสดงความเป็นมิตรต่อกันเท่านั้นเอง จะถือว่าตกเป็นประเทศราชของไทยด้วยหรือไม่ ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ (ดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 3 หน้า 2, 43) และเมืองกลันตันกับเมืองตรังกานูนั้นเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ มากกว่าเมืองปัตตานีและไทรบุรี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมืองกลันตัน และตรังกานู จึงมีน้อยกว่าเมืองปัตตานี และไทรบุรี ทั้งๆ ที่เมืองทั้งสองก็เป็นเมืองประเทศราชเช่นกัน

เมืองกลันตันนี้อยู่ในอำนาจการกำกับบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช (ประวัติหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก เอกสารกระทรวงมหาดไทย) ส่วนเมืองตรังกานูนั้นเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองกลันตันเป็นเมืองขึ้นมาก่อน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระยากลันตันขอแยกเมืองจากตรังกานู เมืองตรังกานูจึงแยกจากกลันตัน โดยตรังกานูอยู่ในความดูแลของเมืองสงขลา (Encyclopaedia Britannica p. 722) การกวาดต้อนเชลยศึกจากเมืองกลันตัน และตรังกานูในยุครัตนโกสินทร์นั้นจึงไม่น่าเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

แม้ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 15 ซึ่งมีข้อความระบุว่า “…ได้ความว่า พระยา กลันตันแต่งเรือวาดเขียนอยู่ 10 ลำ (เข้าใจว่าเรือกอและ) ว่าจะขึ้นมาที่สงขลา ณวันเดือน 8 ทุติยาสาฒ แรม 6 ค่ำ แต่ตนกูปสานั้น ว่าจะขึ้นมาวันแรม 3 ค่ำก่อนพระยากลันตัน… รับสั่งว่า ขึ้นมาจะได้รับจัดแจงการเมืองไทร เมืองกลันตันเสียให้แล้ว…” ก็มิได้พูดชัดเจนว่า สยามส่งกองทัพลงไปตีถึงเมืองกลันตัน จึงจะได้กวาดต้อนครอบครัวชาวกลันตันขึ้นมายังกรุงเทพฯ แต่น่าจะมุ่งหมายถึง การขันอาสาของพระยากลันตันในการแต่งเรือวาดเขียนเพื่อลำเลียงเชลยศึกจากหัวเมืองมลายูปัตตานีขึ้นมาที่เมืองสงขลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของเจ้าผู้ครองหัวเมืองประเทศราชพึงกระทำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสยาม

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องสืบค้นให้กระจ่างชัดต่อไป แต่มีหลักฐานบางอย่างส่อเค้าว่า มีชาวกลันตันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จริงดังปรากฏชื่อ “คลองกลันตัน” ในแถบหัวหมากใหญ่ บริเวณถนนศรีนครินทร์-พัฒนาการ แล้วชาวกลันตันที่วารสารมุสลิม กทม. อ้างว่าเป็นบรรพชนของชุมชนบ้านบางมะเขือ และเป็นกลุ่มเครือญาติกับพี่น้องในชุมชนบ้านป่านั้น เข้ามาตั้งแต่เมื่อใด?

มีสมมติฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้

1. เชื่ออย่างที่กล่าวอ้างว่า บรรพชนบ้านบางมะเขือ และบ้านป่าถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2374 มีสาเหตุมาจากเมืองไทรบุรี (เกดะฮฺ) เป็นเมืองแรก คือ ตนกูเดน บุตรของ ตนกูรายา พี่ชายเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้รวบรวมกำลังเข้าโจมตีเมืองไทรบุรี ซึ่งขณะนั้นพระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) บุตรเจ้าเมืองพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ว่าราชการอยู่ได้สำเร็จ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้ให้พระสุรินทร์ ซึ่งเป็นข้าหลวงของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งขณะนั้นไปราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชลงไปเกณฑ์กองทัพที่เมืองสงขลา เพื่อไปช่วยปราบกบฏเมืองไทรบุรี เป็นเหตุให้เกิดกบฏ 7 หัวเมืองขึ้นในคราวเดียวกัน

การศึกในครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เพียงแต่จะเกิดกบฏที่เมืองไทรบุรี และหัวเมืองทั้ง 7 เท่านั้น พระยากลันตัน และพระยาตรังกานูยังยกทัพเข้ามาสมทบการกบฏที่หัวเมืองทั้ง 7 ด้วย ทางกรุงเทพฯ จึงให้เจ้าพระยาพระคลังยกทัพลงมาช่วยสมทบกับกองทัพเมืองสงขลา และเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อปราบกบฏเมืองไทรบุรีได้แล้วจึงยกทัพเข้ามาปราบกบฏที่หัวเมืองทั้ง 7 อีก โดยสามารถจัดพระยาเมืองทั้ง 7 ที่เข้ากับพวกกบฏได้เกือบทุกคน  (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “คำอธิบายเรื่อง พงศาวดาร อันเป็นมูลเหตุแห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ” จะหมายหลวงอุดมสมบัติ พิมพ์ในงานศพพระรัตนธัชมุนี (อิสสรญาณเถร), 31 พ.ค. 2505 หน้า 30) ที่เหลือหนีรอดไปได้ก็มี (กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ รัชกาลที่ 3-4 หน้า 117)

การร่วมกบฏครั้งนี้ ของพระยากลันตัน และพระยาตรังกานู กองทัพไทยได้ยกตามลงไปถึงเมืองกลันตัน พระยากลันตันเห็นสู้ไม่ได้ จึงได้แต่ให้เจะหลง  เจะยาบา มาขอไถ่เมืองเป็นเงิน 3,000 เหรียญ และให้ค่าใช้จ่ายแก่แม่ทัพนายกองอีก 2,000 เหรียญ ขอเป็นเมืองขึ้นตามเดิม ส่วนเมืองตรังกานูคงกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับผิดในการให้ความช่วยเหลือกบฏ เจ้าพระยาคลังมีความเห็นว่า การทำศึกกับเมืองตรังกานู ซึ่งอยู่ติดแดนอังกฤษ อาจทำให้ชาวเมืองหนีไปอาศัยในเขตอังกฤษได้ จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงแต่งตั้งพระยาตรังกานูคนใหม่ ที่มีความจงรักภักดีต่อไทย ส่วนพระยาตรังกานูคนเดิมให้ถอดออกจากตำแหน่ง เหตุการณ์ในเมืองตรังกานูจึงเรียบร้อย (กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ รัชกาลที่ 1-2 หน้า 120-121)

การสงครามกับหัวเมืองมลายูในรัชกาลที่ 3 นี้ถึงแม้ว่ากองทัพสยามจะตามลงไปถึงเมืองกลันตัน แต่ก็ไม่มีการรบพุ่งขั้นแตกหักแต่อย่างใด เพราะพระยากลันตันสวามิภักดิ์ และจ่ายเงินเพื่อไถ่เมือง ส่วนเมืองตรังกานู ก็สงบเรียบร้อยเมื่อเปลี่ยนพระยาตรังกานูคนใหม่แทนคนเก่าในหนังสือ ปัตตานีดารุสสลาม หน้า 91 ระบุว่า “กองทัพเคดะห์ กลันตัน และตรังกานู ต่างก็หนีกลับไปบ้านเมืองของตนเอง ปัญหาทั้งปวงทิ้งไว้ที่ปัตตานี…”

เราจึงไม่พบในจดหมายหลวงอุดมสมบัติระบุว่า มีครัวที่ถูกกวาดต้อนมาจากกลันตัน และตรังกานูในการศึกครั้งนี้แต่อย่างใด จะมีก็แต่ชาวเมืองปัตตานี ซึ่งมีมากที่สุด (ราว 6,000 คน) คนเมืองจะนะ เมืองเทพา บ้างก็ว่าเป็นคนเมืองไทรก็มี สมมติฐานนี้จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่อ้างว่า ชาวกลันตัน และตรังกานูถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 เพราะกองทัพจากเมืองกลันตัน และตรังกานูพากันเลิกทัพหนีกลับบ้านเมืองของตนไปหมดนั่นเอง

2. บรรพชนมุสลิมในชุมชนบ้านบางมะเขือ และบ้านป่าเป็น “แขกเก่า” คือ เป็นแขกมลายูเดิมที่เข้ามาแต่เก่าก่อน มิได้เพิ่งเข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดังที่ได้กล่าวแจกจงมาแล้วในเรื่อง “ประวัติชุมชนบ้านป่า” ที่ว่าเข้ามาแต่เก่าก่อนนั้นก็เพราะว่า ถ้าเพิ่งเข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น บรรพชนในชุมชนคลองเคล็ด หรือริมคลอประเวศบุรีรมย์ ก็จะเป็นแขกใหม่ คือ แขกมลายูที่เข้ามาในต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น บรรพชนมุสลิมในบ้านบางมะเขือ และบ้านป่า (สวนหลวง) จึงน่าจะเป็นชาวมลายูเดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้แม้จะพบหลักฐานยืนยันแน่นอนว่ามุสลิมที่ตั้งหลักแหล่งตามลำคลองบริเวณชานกรุงเป็นมุสลิมพวกที่สืบเชื้อสายมาจากสมัยอยุธยาและธนบุรีก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า มุสลิมพวกนี้มาตั้งหลักแหล่งเฉพาะบริเวณดังกล่าว (คือ คลองบางหลวง (บางกอกใหญ่) และคลองบางกอกน้อย) แห่งเดียวเท่านั้น อาจมีกลุ่มอื่นๆ ที่มีเชื้อสายเก่า พอๆ กัน อพยพไปอยู่บริเวณอื่นๆ อีกก็ได้ (รัชนี  กีรติไพบูลย์ (สาดเปรม), บทบาทของชาวมุสลิมในภาคกลางฯ จัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ งานเมาลิดกลางฯ ฮ.ศ. 1424 หน้า 67)

และบริเวณอื่นที่ว่านี้ก็น่าจะเป็นที่บ้านปากลัด อำเภอพระประแดง ซึ่งเป็นคนละฟากฝั่งกับเขตบางนา, พระโขนง โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นอยู่ ต่อมาบรรพชนที่นั่นก็เคลื่อนย้ายมาตามลำน้ำเจ้าพระยา และเข้าสู่ปากคลองพระโขนงในเวลาต่อมา หรือไม่ก็เคลื่อนย้ายสู่อาณาบริเวณนี้เลยโดยมิได้พักที่บ้านปากลัดแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสมมติฐานซึ่งอิงกับคำของบรรพชนที่เรียกแขกมลายูออกเป็น แขกเก่า-แขกใหม่ อันเป็นคำนิยามที่บ่งรุ่นและเวลาของการเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอาณาบริเวณนี้

ส่วนกรณีของบรรพชนในบ้านบางมะเขือ และบ้านป่าที่ว่าเป็นชาวกลันตันนั้น ข้อนี้ก็ไม่ยากนักที่จะทำความเข้าใจ กล่าวคือ หากบรรพชนกลุ่มดังกล่าวเป็นแขกเก่าที่ถูกกวาดต้อนมาจากครั้งกรุงศรีอยุธยา ในการศึกระหว่างสยาม-ปัตตานีซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง บรรพชนมุสลิมจากเมืองปัตตานีในครั้งนั้นย่อมมีชาวกลันตันปะปนมาด้วย เพราะราชวงศ์ที่ปกครองปัตตานีในช่วงสงครามสยาม-ปัตตานีเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ก็เป็นชาวกลันตัน และมีหลักฐานระบุว่า ชาวกลันตันเข้าออกปัตตานีในช่วงนั้นอย่างคึกคัก และมีอิสรเสรีอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในตำนานปาตานี (Hikayat Patani) กล่าวถึงตอนนั้นว่า

“เมื่อสิ้นอายุขัย ราญามัสกลันตัน ชาวเมืองจะเรียกว่า “มัรฮุมกลันตัน” ในระหว่างที่ มัรฮุม กลันตัน ปกครองบ้านเมืองนั้น บรรดาเรือของดาโต๊ะจากกลันตัน เดินทางมาปาตานี เรือจะถูกนำเข้าไปจอดที่ท่าเรือกือดี (อยู่ด้านทิศใต้วังนีลัม) ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยอนุญาตให้เรือจากภายนอกเข้าจอดที่ท่าดังกล่าว นอกจากนี้ท่าเรือ ตือโล๊ะตันหยง และที่ท่าเรือโต๊ะอาโก๊ะ… อันเป็นที่จอดเรือของชาวกลันตันที่เข้าออกในน่านน้ำปาตานี”

ปัตตานีดารุสสลาม มีราชวงศ์กลันตันปกครองนับแต่รัชสมัยราญาบากาล (1688-1690) ราญามัสกลันตัน (1690-17070) ซึ่งตรงกับสมัยของพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา, ราญามัส  ชายัม (1707- 1710) ในรัชสมัยของพระองค์เกิดสงครามกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ และได้ปกครองอีกครั้งในระหว่างปี ค.ศ. 1742-1726, ราญาอาลง  ยูนุส (1726-1729) นับแต่ปี 1688 ถึงปี 1729 เป็นช่วงที่ปัตตานีปกครองโดยราชวงศ์กลันตัน จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากจะมีชาวกลันตันอาศัยอยู่ในปัตตานีเป็นอันมาก

และคราใดที่เกิดสงครามกับสยาม ชาวกลันตันก็คงเข้าร่วมต่อสู้ป้องกันเมืองพร้อมกับชาวมลายูปัตตานี และเมื่อมีการกวาดต้อนเชลยศึกสู่กรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองรายทางก็น่าจะมีชาวกลันตันร่วมอยู่ด้วยแต่ครั้งนั้น ชาวกลันตันที่ถูกกวาดต้อนมากับครัวมลายูปัตตานีนั้นก็คงถูกเรียกรวมๆ ว่า มลายูปัตตานี เพราะอาศัยอยู่ในหัวเมืองปัตตานี และเป็นมลายูเหมือนกัน

ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 370 ปี มัสยิดวาดีอัลฮุเซ็น (ตะโละมาเนาะ) ระบุว่า “ชาวปัตตานีที่ถูกจับเป็นเชลยศึกในคราว ไทยรบกับปัตตานีนั้น เมื่อถูกนำไปถึงอยุธยา บางส่วนได้หนีกลับมาหรือถูกปล่อยให้กลับมา ชาวมุสลิมในจังหวัดเพชรบุรีนั้นคือ ลูกหลานของชาวปัตตานีที่เคยเป็นเชลยศึก เมื่อถูกปล่อยมาหรือหนีมาแล้ว มาถึงที่เพชรบุรี เห็นทำเลดีจึงปักหลักอยู่ที่นั่นเลย แต่บางรายกลับมาถึงบ้าน เช่น ตนกูมะหฺมูด กลับมาถึงบ้านใน ฮ.ศ. 1043… เทียบกับศักราชสากลประมาณ พ.ศ. 2166 / ค.ศ. 1623”

ถึงแม้ศักราชที่ระบุไว้จะย้อนกลับไปก่อนหน้าราชวงศ์กลันตันจะครองปัตตานี แต่ก็ยืนยันว่ามีการกวาดต้อนเชลยศึกจากหัวเมืองปัตตานีในสมัยอยุธยาจริง และในช่วงที่วงศ์กลันตันปกครองปัตตานีนั้น ก็เกิดศึกกับสยามอีกหลายครั้ง การตั้งสมมติฐานว่า บรรพบุรุษของชุมชนบานบางมะเขือ และบ้านป่าเป็นแขกเก่าแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสอดคล้องกับถ้อยความในวารสารมุสลิม กทม. ที่อ้างมาแล้วว่า บรรพชนของบ้านสามอินอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาบางส่วน ซึ่งสามารถอธิบายได้อย่างสอดคล้องกับคำว่า แขกเก่า อันเป็นบรรพชนในชุมชนละแวกเดียวกัน คือ บ้านบางมะเขือ, บ้านสามอิน, ศาลาลอย และชุมชนบ้านป่ากินไปถึงคลองกลันตันที่หัวหมากใหญ่ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต้องสืบค้นต่อไป