ชุมชนมุสลิมคลองบางลำภู, บ้านตึกดิน และคลองมหานาค

ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-3 (กองจดหมายแห่งชาติ 2525) บันทึกไว้ว่า :

“เมื่อสร้างกรุงเทพฯ จึงโปรดฯ ให้ขุดคูเมืองขึ้นอีกชั้นหนึ่งนอกจากคูเมืองเดิม ซึ่งมีมาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี…คูเมืองที่สร้างใหม่ขุดตั้งแต่บางลำภูออกเหนือวัดสามปลื้ม เรียกว่า “คลองรอบกรุง”

ปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่าโปรดให้รื้อป้อมวิชาเยนทร และกำแพงเมืองธนบุรีข้างฟากตะวันออกเสีย ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า เกณฑ์เขมร 10,000 คน มาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่บางลำภูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้ เหนือวัดสามปลื้ม ยาว 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก พระราชทานชื่อว่า “คลองรอบกรุง” ….แล้วขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก (วัดสระเกศ) อีกคลองหนึ่งพระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)”

“คลองคูเมืองเดิม” อยู่ด้านตะวันออกของกรุงธนบุรีฝั่งพระนคร เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น อาณาเขตกรุงธนบุรีเลยมาด้านฝั่งพระนคร(กรุงเทพฯ) จึงโปรดให้ขุดคูเมืองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้า ด้านใต้ที่ปากคลองตลาด ดินจากการขุดคลองโปรดให้พูนขึ้นเป็นเชิงเทิน ตั้งค่ายไม้ทองหลางทั้งต้นตลอดแนวคลองเพื่อป้องกันข้าศึก (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ; ชื่อบ้านนามเมือง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 5 (2540) กรุงเทพฯ หน้า 38)

“คลองบางลำภู” เป็นคลองสายเก่าในฟากพระนคร ในอดีตมีต้น “ลำพู” ขึ้นอยู่มาก ลักษณะของต้นลำพูชอบขึ้นในที่น้ำกร่อยมีรากงอกเหนือพื้นดิน ปัจจุบันมีต้นลำพูเหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้นที่ปากคลองบางลำพู (นิยมเขียนในภายหลังว่า ลำภู) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมีการขุดคลองพระนครเพื่อขยายพื้นที่เขตพระนครให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2326 โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากบริเวณวัดสังเวชวิศยารามบริเวณคลองบางลำภูไปจนถึงคลองโอ่งอ่างออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างใต้บริเวณป้อมจักรเพ็ชร

คลองบางลำภูในอดีต

คลองบางลำภูจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง และที่บริเวณปากคลองบางลำภูนั้นมีป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่ในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ (กรมศิลปากร 2525) บันทึกไว้ว่า :

“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหานาคในพุทธศักราช 2326 ตั้งต้นจากคลองรอบกรุง ที่ข้างพระบรมบรรพตผ่านถนนบริพัตร ถนนจักรพรรดิพงศ์ ถนนกรุงเกษม ไปบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษม เรียกว่า “สี่แยกมหานาค” ไปสุดเขตที่วัดบรมนิวาส การขุดคลองมหานาคปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สำหรับประชาชนประชุมเล่นเพลงเรือและสักวาในฤดูน้ำ ตามประเพณีเดิมครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี”

คลองมหานาคจึงถือเป็นคลองขุดที่แยกจากคลองรอบกรุงบริเวณเหนือวัดสระแก (วัดสระเกศ) ออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้คลองรอบกรุง ซึ่งคลองเป็นชื่อเดียวกับคลองมหานาคในกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองนี้เลียนแบบทั้งลักษณะสถานที่ตั้งรวมทั้งอาณาบริเวณ

คลองรอบกรุง (คลองบางลำพูกับคลองโอ่งอ่าง ตอนต่อกับคลองมหานาค มีสะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งเดิมเป็นสะพานไม้คนข้า

ชื่อคลองมหานาคในกรุงศรีอยุธยามาจากชื่อ พระมหานาค พระภิกษุวัดภูเขาทอง ผู้เกณฑ์ราษฎรขุดคลองจากวัดภูเขาทองออกแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือหัวแหลม เป็นคูนอกค่ายเพื่อช่วยป้องกันบ้านเมืองคราวสงครามไทยพม่า พ.ศ. 2091 รัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (ศันสนีย์  วีระศิปลป์ชัย ; อ้างแล้ว หน้า 52) ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นบริเวณริมคลองมหานาคเหมือนอย่างเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา เรียกกันว่า “เจดีย์ภูเขาทอง” วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเช่นกัน

ในหนังสือ อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยา หน้า 81 บันทึกไว้ว่า :

“ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อปี พ.ศ. 2322 หรือ 2334 ได้มีพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมากเดินทางติดตามรายา (พระยา) ปัตตานี ซึ่งถูกจับตัวส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อพี่น้องมุสลิมมาถึงยังกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานที่ดินแถวย่านบางลำภู และตึกดินให้เป็นที่อยู่อาศัย และใช้เป็นที่ทำมาหากิน…

เมื่อพี่น้องมุสลิมบริเวณบางลำภูและตึกดินมีจำนวนมากขึ้น ได้มีการขยับขยายอพยพมาสู่บริเวณสี่แยกมหานาคตอนที่คลองมหานาคตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2345-2350 เพราะเป็นแหล่งทำการค้าสำหรับผู้ที่ทำมาหากินทางการค้า และเป็นบริเวณที่มีความสะดวกในการสัญจรทางน้ำ….ภายหลังได้มีพี่น้องมุสลิมจากอยุธยา จากคลองสวน , คลองบางหลวง ฯลฯ มาอาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการประชุมและร่วมแรงร่วมใจกันที่จะจัดหาที่เพื่อทำการก่อสร้างมัสญิด เมื่อได้อพยพที่อยู่มาจากบางลำภูและตึกดิน ในปี พ.ศ. ดังกล่าวข้างต้น”

ปี พ.ศ. 2322 ที่ระบุไว้นั้นคงจะคลาดเคลื่อนเป็นแน่แท้ เพราะปีดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325)

ส่วนปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีนั้นคือ พ.ศ. 2325 (6 เมษายน 2325) และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระนครแห่งใหม่ โดยเริ่มก่อสร้างในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 และเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2328 (ดนัย ไชยโยธา , 53 พระมหากษัตริย์ไทยฯ ; สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ กรุงเทพฯ (2543) หน้า 257 , 258)

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2322 จึงเป็นช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อนหน้าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ และก่อนการสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ถึง 3 ปี ในปีพ.ศ. 2322 ไม่มีการศึกสงครามกับหัวเมืองมลายูแต่อย่างใด จะมีก็แต่เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (หมุด) กับพระยายมราชยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราชหลบหนีไปอยู่เมืองตานี พระยาตานีจึงจับพระยานครฯ ส่งมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมืองตานีก็ไม่ได้ถูกสยามรุกรานในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่อย่างใด

กระนั้นก็เป็นไปได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2322 หรือก่อนหน้านั้นได้มีประชาคมมุสลิมจำนวนหนึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองบางลำภูมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 เพราะคลองบางลำภูเป็นคลองเก่าในฟากพระนคร (กรุงเทพฯ) ปากคลองติดแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ไม่ห่างจากคลองคูเมืองเดิมที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนุบรีทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น ปากคลองบางลำภูกับปากคลองโรงไหมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของด้านเหนือคลองคูเมืองเดิมก็อยู่ไม่ห่างกันและอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่า : ถัดคลองเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือตลอดริมเจ้าพระยาฟากตะวันออกคือชุมชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ มีชาวเขมร ลาว ญวณ เป็นต้น เลยจากนั้นไปเป็นชุมชนมอญซึ่งอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นทั้งสองฟากน้ำ (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; กรุงเทพฯมาจากไหน? ; ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน (2548) กรุงเทพฯ หน้า 90)

ที่ว่า “ถัดคลองเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือตลอดริมเจ้าพระยาฟากตะวันออก” ก็เห็นจะเป็นอาณาบริเวณปากคลองบางลำภูขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือจากแนวคลองคูเมืองเดิมบริเวณปากคลองโรงไหม

คลองบางลำภูในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงถือเป็นลำคลองที่อยู่นอกคลองคูเมืองฝั่งตะวันออก (กรุงเทพฯ) เช่นเดียวกับคลองโอ่งอ่างทางทิศใต้ที่มีปากคลองติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วถูกขุดให้เชื่อมกันเป็นคลองรอบกรุงในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2326 และที่ว่า “ชุมชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ มีชาวเขมร ลาว ญวณ เป็นต้น…” นั้นก็น่าจะหมายถึงเคลื่อนย้ายเข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นแล เพราะในรัชกาลของพระองค์ สยามทำสงครามกับเมืองเขมรถึง 3 ครั้ง คือ ปี พ.ศ. 2312 , 2314 , 2323 ตามลำดับ

ศึกเมืองเขมรทั้ง 3 ครั้งมีการกวาดต้อนชาวเขมรเข้ามาเป็นอันมากและในจำนวนเชลยศึกชาวเขมรนั้นก็มีชาวจามมุสลิมอยู่ด้วยรวมถึงพวกญวณที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองในเขมรเอง ส่วนชาวลาวนั้นก็ถูกกวาดต้อนเข้ามาเช่นกัน เพราะมีสงครามระหว่างสยามสมัยกรุงธนบุรีกับเมืองจำปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2319 และศึกตีเมืองเวียงจันทร์ ใน พ.ศ. 2321 ซึ่งมีการอันเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย (ดนัย ไชยโยธา ; อ้างแล้ว หน้า 236-239) ขาดแต่ว่าไม่ได้ระบุถึงประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายู (นอกเหนือจากจามเขมรซึ่งปรากฏชัดว่ามีการกวาดต้อนเข้ามาในรัชกาลนี้ค่อนข้างแน่ชัด) ว่าน่าจะอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณนอกแนวคลองคูเมืองแถบคลองบางลำภู

เพราะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีการขยายพื้นที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฟากตะวันออกและมีการขุดคลองคูเมืองในฝั่งนี้ เนื่องจากเมืองธนบุรีเก่ายังไม่กว้างขวางนัก เป็นเพียงเมืองป้อมหน้าด่าน เมื่อมีคนเข้ามามากจึงทรงพระวิจารณ์ว่า “เมืองเก่านี้น้อยนัก ไพร่พลสิมาก เกลือกมีสงครามมาหาที่มั่น ผู้คนจะอาศัยมิได้” จึงทรงพระกรุณาให้ข้าทูลละอองฝ่ายพลเรือน ทำค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้นเป็นที่มั่นไว้พลางก่อน จึงจะก่อกำแพงเมื่อภายหลัง ให้ทำค่ายตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าไปจนวัดบางหว้าน้อยวงลงไปริมแม่น้ำใหญ่ แล้วขุดคูน้ำรอบพระนคร มูลดินขึ้นเป็นเชิงเทินตามริมค่ายข้างใน…” สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 76)

ที่ว่าทรงพระกรุณาให้ข้าทูลละอองฝ่ายพลเรือนนั้นเห็นทีจะเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ที่สมุหนายกในรัชกาลนี้ ซึ่งก็คือ เจ้าพระยาจักรีแขก หรือ ท่านหมุด นั่นเอง และเมื่อมีขุนนางแขกเชื้อสายมลายูเป็นแม่กองในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ว่ามีการใช้พลเรือนเชื้อสายมลายูร่วมกับเชลยศึกชาวเขมรซึ่งมีพวกจามมุสลิมอยู่ด้วยมากเป็นกำลังในการขุดคลองคูเมืองฝั่งตะวันออกและทำค่าย เจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นที่สมุหนายกหรือกรมมหาดไทยซึ่งก็คือ ข้าทูลละอองฝ่ายพลเรือนในตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง อีกทั้งเจ้าพระยาจักรี (หมุด) มีบุตรชายสองคนที่เข้ารับราชการอยู่ด้วยเช่นกัน คนโตชื่อ หมัด หรือ จุ้ย ดำรงตำแหน่งพระราชบังสัน เจ้ากรมอาสาจามซึ่งควบคุมดูแลกองทหารอาสาจาม-มลายูเก่า และเป็นแม่ทัพเรือ

ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น เจ้าพระยายมราช ตำแหน่งกรมเวียง หรือกรมพระนครบาล ส่วนบุตรชายอีกคนหนึ่งคือ พระชลบุรี (หวัง) สังกัดกรมท่าขวา จะเห็นได้ว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) กับพระยายามราช (หมัด-จุ้ย) มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการขยายพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพระนครธนบุรี เนื่องจากเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนและเป็นพวกเดียวกับชาวเขมรมุสลิมจาม อีกทั้งพระยายมราช (หมัด-จุ้ย) ก็เคยเป็นพระยาราชบังสัน เจ้ากรมอาสาจาม-มลายูมาก่อน

ครั้นเมื่อขยายพระนครธนบุรีมาฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว พวกที่ขุดคลองซึ่งมีทั้งมลายูและเขมรจามก็คงได้ตั้งรกรากอยู่บริเวณคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มพลเมืองในฟากตะวันออกนี้ให้มากขึ้น สถานที่ที่เหมาะสมก็คือด้านนอกแนวคลองคูเมืองคือนอกเขตพระนครชั้นในซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หลักฐานที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ แผนที่กรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ครอบคุลมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกคือ เมืองธนบุรีเดิม และฝั่งตะวันออกคือบริเวณที่ขยายตัวเมืองออกไปซึ่งในฝั่งนี้ในคลองคูเมืองเดิมที่ด้านเหนือ คือคลองโรงไหม และที่ด้านใต้คือคลองตลาดทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองด้าน ปรากฏตำแหน่งในแผนที่ (ดูแผนที่ ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 76)

แผนฝังกรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เลขที่ 5 แสดงที่ตั้งของนิคมมลายูอย่างชัดเจน ใกล้ๆกับที่ริมคลองโรงไหม เลขที่ 4 แสดงที่ตั้งของนิคมชาวลาว เห็นได้ชัดว่า นิคมมลายูและนิคมชาวลาวตั้งอยู่ริมฝั่งคลองโรงไหมที่เป็นส่วนหนึ่งของคลองคูเมืองเดิมฝั่งเดียวกันคือ อยู่ด้านนอกเขตพระนครธนบุรี ซึ่งถัดไปคือคลองบางลำภู อาณาบริเวณนับจากปากคลองโรงไหมขึ้นไปปากคลองบางลำภูติดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของวัดตองปุ (วัดชนะสงครามในเวลาต่อมา) และเป็นบริเวณนิวาสถานของนายสุดจินดา (บุญมา) ซึ่งต่อมาก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามีบันทึกเกี่ยวกับการถวายตัวของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระราชอนุชาไว้มีความว่า :

“เมื่อพระเจ้าตากสถาปนากรุงธนบุรีและทำพิธีปราบดาภิเษกเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้ นายสุดจินดา (บุญมา) ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระนครด้านเหนือวัดตองปุ (หรือวัดกลางนา) หรือบริเวณวัดชนะสงครามถึงป้อมพระสุเมรุทุกวันนี้ ส่วนหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) ให้มีนิวาสถานอยู่ในกำแพงพระนครฝั่งตะวันตกตรงปากคลองมอญขึ้นไปทางเหนือถึงวัดระฆัง (ครั้งนั้นเรียกวัดบางหว้าใหญ่) ปัจจุบันเป็นกรมอู่ทหารเรือ” (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 85-86)

ดังนั้นนิคมมลายูในสมัยกรุงธนบุรีที่ตั้งอยู่นอกกำแพงพระนครหรือคลองคูเมืองฟากตะวันออกจึงเป็นนิคมที่มิได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวแต่อยู่ในละแวกเดียวกับนิคมชาวลาวนิวาสถานเดิมของนายสุดจินดา (บุญมา) ซึ่งต่อมาก็คือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และนี่เป็นข้อยืนยันได้ว่านิคมมลายูตั้งชุมชนอยู่ฝั่งเมืองบางกอกที่ต่อมาคือ กรุงเทพมหานครมานับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว นิคมมลายูจึงเป็นนิคมที่เก่าแก่กว่ากรุงเทพมหานครหรือมีมาก่อนต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างน้อยก็ราว 15 ปี อันเป็นช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือนิคมมลายูบริเวณริมคลองโรงไหมถึงคลองบางลำภูเป็นประชาคมมลายูเดิมมิใช่ประชาคมมลายูที่เข้ามาใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวคือ สยามได้ทำสงครามกับหัวเมืองมลายูซึ่งแยกเป็นอิสระนับแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2310 และตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2329 เป็นต้นมาโดยลำดับซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ภายหลังสร้างพระนครแห่งใหม่เป็นราชธานีเสร็จสิ้นได้ราว 1 ปี (2328) มิใช่ปี พ.ศ. 2322 อย่างที่ระบุไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยาซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงไปมาก

กระนั้นก็ทำให้เราได้สืบค้นจนมาพบว่าในช่วงสมัยกรุงธนบุรีมีนิคมมลายูตั้งอยู่แล้วในอาณาบริเวณระหว่างคลองโรงไหม (คลองคูเมืองเดิม) กับคลองบางลำภู (นอกเหนือจากนิคมของชาวมลายูและมุสลิมอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้วในเมืองบางกอก (ธนบุรี) เช่น คลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อยซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา) แต่ประชาคมมลายูที่มีมาแต่เดิมและย้อนกลับไปถึงช่วงกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 ชาวมลายูเหล่านี้ก็อพยพลงมาสมทบอยู่ในราชธานีแห่งใหม่คือ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรนั่นเอง

สำหรับชาวมุสลิมมลายูจากปัตตานีและหัวเมืองมลายูที่ถูกกวาดต้อนเทครัวขึ้นมายังเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี) ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นมีถึง 3 ระลอกด้วยกัน (เฉพาะในรัชกาลที่ 1) คือในปี พ.ศ. 2329 , พ.ศ. 2334 และ พ.ศ. 2351 ตามลำดับ

ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1-3 (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2525) บันทึกไว้ว่า :

“….ในปี พ.ศ. 2328 เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปปราบพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก แล้วประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช “ทรงพระราชดำริว่ากองทัพก็มีพร้อมอยู่ที่นั่นแล้ว เป็นโอกาสที่จะปราบปรามหัวเมืองมลายูประเทศราช ที่ตั้งแข็งมาแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ให้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอย่างเดิมได้จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงถือหนังสือไปถึงพระยาปัตตานีและพระยาไทรบุรี ให้แต่งทูตนำต้นไม้เงินทองเข้ามาถวายเหมือนแต่ก่อน

พระยาปัตตานีขัดแข็งเสียหามาอ่อนน้อมไม่  กรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมกับพระยาจ่าแสนยากร ยกทัพหน้าลงไปตีเมืองปัตตานีแล้วเสด็จยกทัพหลวงตามลงไปยังเมืองสงขลา กองทัพไทยยกลงไปตีเมืองปัตตานี ได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมือง ซึ่งเรียกว่า “นางพระยาตานี” กับครอบครัวและทรัพย์สมบัติมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก…” พระยาตานีศรีสุลต่านในขณะนั้นคือ สุลต่านมุฮัมมัด (พ.ศ. 2312-พ.ศ. 2329) ซึ่งสิ้นพระชนม์ในสนามรบด้วยต้องกระสุนปืนของสยาม (ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู ; อาริฟีน บินจิ และคณะ หน้า 148)

แสดงว่าในปี พ.ศ. 2329 ที่ปัตตานีแตกนั้นสุลต่านมิได้ตกเป็นเชลยศึก แต่สิ้นพระชนม์ในสนามรบ เชื้อพระวงศ์ของสุลต่านปัตตานีจึงเป็นผู้ที่ถูกเทครัวมาไว้ที่บางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี)  ส่วนหนึ่งถูกไปไว้ทีบริเวณหลังวัดอนงคาราม วัดพิชัยญาติ ฝั่งธนบุรี (ปัจจุบันคือบ้านสมเด็จพระเจ้าพระยา ธนบุรี) เชลยศึกจากหัวเมืองปัตตานี-มลายูที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาไว้ที่บางกอกในสมัยรัชกาลที่ 1 ในปีพ.ศ. 2329 จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ถูกนำเอาไปไว้ที่ฝั่งธนบุรีบริเวณหลังวัดอนงคารามเพราะเป็นนิวาสถานเดิมของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม โดยเชลยศึกกลุ่มนี้ถูกสักเลขเข้าสังกัดเป็นไพร่เชลยของสมุหพระกลาโหมซึ่งมีความดีความชอบในการเป็นแม่ทัพทำศึกเอาชนะปัตตานีและหัวเมืองมลายูได้สำเร็จ

กลุ่มที่ 2 และ 3 จะเป็นเชลยศึกของวังหลวงและวังหน้า เพราะปรากฏในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่า : “บริเวณหน้าวัดชนะสงครายังมีนิคมมลายู ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กวาดต้อนเข้ามาในปีพุทธศักราช 2329 เป็นเชลยวังหน้า และที่ริมคลองมหานาคมีนิคมชาวมลายูเป็นเชลยของวังหลวง” (ประวัติศาสตร์บ้านครัว ; เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ หน้า 13)

เชลยวังหน้าที่ถูกนำตัวมาไว้บริเวณหน้าวัดชนะสงคราม ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกกันว่า “วัดกลางนา” ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี วัดกลางนากลายเป็นวัดใกล้พระราชวังฯ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท คือ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 1 เพราะอยู่ในเขตพระนครชั้นในที่มีการขุดคลองรอบกรุงขยายจากคลองคูเมืองเดิม

โดยวังหน้านี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีคลองโรงไหมทางทิศตะวันออก ที่ฝั่งคลองตะวันออกก็คือ ที่ตั้งของวัดชนะสงครามหรือวัดตองปุเรื่อยไปจนถึงปากคลองบางลำภูซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของวังหน้าเมื่อครั้งทรงเป็นนายสุดจินดา (บุญมา) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เชลยศึกจากหัวเมืองมลายู-ปัตตานีจึงตั้งนิคมอยู่บริเวณเดียวกับนิคมมลายูเดิมที่มีมาก่อนแล้วในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อวังหน้าทรงนำทัพหลวงเข้าปราบปรามหัวเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2329 จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไพร่เชลยสักเลขเข้าสังกัดวังหน้าเพื่อเป็นกำลังเอาไว้ใช้สอยเป็นธรรมดาตามจารีตประเพณี

ส่วนเชลยศึกวังหลวงนั้นก็ตั้งนิคมอยู่ที่ริมคลองมหานาคที่ถูกขุดต่อจากคลองบางลำภูหรือคลองรอบกรุงนั่นเอง แสดงว่าที่บริเวณคลองมหานาคนั้นมีนิคมมลายูซึ่งเป็นเชลยของวังหลวงตั้งอยู่มาก่อนแล้วมิใช่เพิ่งจะย้ายมาจากนิคมมลายูหน้าวัดชนะสงครามแถบคลองบางลำภู ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านิคมมลายูตรงบริเวณหน้าวัดชนะสงครามที่เข้ามาตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (2329) นั้นอยู่ในละแวกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากคลองบางลำภู ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งอยู่คนละฝั่งกับบวรราชวังหรือวังหน้ามีคลองโรงไหมขวางอยู่ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครกับอีกครึ่งหนึ่งทางเหนือของสนามหลวง)

ผังเมืองกรุงเทพ

ส่วนนิคมมลายูที่มีมาแต่เดิมนับแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้นจะอยู่บริเวณพื้นที่เขตชั้นนอกตั้งแต่คลองคูเมืองเดิมกรุงธนบุรีระหว่างคลองหลอดเหนือและคลองหลอดใต้ ครั้นเมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวังนิคมมลายูเดิมนี้คงถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่บริเวณคลองมหานาคที่ถูกขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2326 นอกเขตพระนครชั้นนอก คืออยู่นอกคลองรอบกรุง พื้นที่เดิมของนิคมมลายูเก่ากลายเป็นเขตปลูกสร้างบ้านเรือนข้าราชการและราษฎรตามที่ปรากฏในผังเมืองกรุงเทพฯ (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 124 บทที่ 29 ผังเมืองสมัยแรก)

เกี่ยวกับที่ตั้งเดิมของนิคมมลายูเก่าก่อนถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ริมคลองมหานาคนั้น ส.พลายน้อยเล่าไว้ว่า : “….ในสมัยเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ปรากฏว่าบริเวณตั้งแต่วัดสุทัศน์ เสาชิงช้า ตลอดไปจนถึงวัดสระเกศคลองมหานาคยังเป็นป่ารก ไม่มีบ้านเรือนผู้คนมากมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ พวกที่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนากว่าพวกอื่นๆ ก็คือ พวกตะนี ซึ่งเป็นไทยอิสลาม

บริเวณแถวนั้นเลยได้ชื่อเรียกกันในสมัยก่อนอีกอย่างหนึ่งว่า บ้านตะนี หรือตานี เชื้อสายของพวกตะนียังคงมีอยู่แถวนั้นและตามคลองมหานาคสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้” (ส. พลายน้อย ; เล่าเรื่องบางกอก , รวมสาส์น (กรุงเทพฯ) ; 2535 หน้า 274) พวกตะนีที่ว่านี้ก็คือมุสลิมมลายูเก่าที่ตั้งนิคมอยู่บริเวณนอกคลองคูเมืองเดิมซึ่งตั้งรกรากมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีนั่นเอง มิใช่ชาวตะนีที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาจากปัตตานีหรือหัวเมืองมลายูเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การขุดคลองรอบกรุงในสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่คลองบางลำภูมาออกเหนือวัดสามปลื้มจึงเป็นการขุดคลองที่เกิดขึ้นก่อนการกวาดต้อนชาวมลายูจากหัวเมืองปัตตานีเพราะการขุดคลองรอบกรุงนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2326 แต่ปัตตานีแตกในปี พ.ศ. 2329 ประชาคมที่ขุดคลองรอบกรุงก็คือชาวมุสลิมจามจากหัวเมืองเขมรจำนวน 10,000 คน มิใช่ชาวมลายูจากหัวเมืองปัตตานี หากจะมีชาวมลายูถูกเกณฑ์ให้ขุดคลองรอบกรุงในช่วงคลองบางลำภูด้วย นั่นก็เป็นชาวมลายูเก่าแก่แต่ครั้งสมัยกรุงธนุบรี ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้คนในยุคนั้นที่จะต้องถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใดก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่คนไทย (พุทธ) เอง

ทั้งนี้เพราะในปี พ.ศ. 2326 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า “โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองสักเลขไพร่หลวงสมกำลัง และเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่ทั้งปวง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร ทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล

โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์และกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออกตรงที่เรียกว่า “คลองคูเมืองเดิม” ออก ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า (ถึงตรงที่เป็นคลองบางลำภูปัจจุบัน)

เกณฑ์เขมรมาขุดคลองพระนครด้านตะวันออกตั้งแต่วัดบางลำพูหรือวัดสังเวชไปออกแม่น้ำข้างใต้ที่วัดเชิงเลนหรือวัดบพิตรพิมุข แล้วพระราชทานชื่อว่า “คลองรอบกรุง” (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 115)

ส่วนคลองมหานาคนั้นก็ถูกขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2326 เช่นกัน และผู้ขุดก็เป็นแรงงานกลุ่มเดียวกัน คือ มุสลิมจามเขมร เมื่อขุดคลองคูเมืองและคลองมหานาคแล้วก็โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งคลองสืบมาถึงทุกวันนี้ เรียกบ้านครัว หมายถึงกวาดต้อนมาทั้งครอบครัวเลยเรียก ยกครัว กลายเป็นบ้านครัวในปัจจุบัน (อ้างแล้ว หน้า 116) ชุมชนมุสลิมจาม บ้านครัว ที่ขุดคลองรอบกรุงและคลองมหานาคได้ตั้งอยู่ริมคลองมหานาคช่วงต่อกับคลองแสนแสบใต้ซึ่งถูกขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนนิคมชาวมลายูที่ถูกย้ายมาจากเขตเดิมนั้นตั้งอยู่ที่ช่วงต้นคลองมหานาคที่ขุดต่อจากคลองรอบกรุง และชาวมลายูที่มาจากบ้านตะนีเหล่านี้ก็คงจะถูกเกณฑ์ให้ขุดคลองมหานาคร่วมกับชาวมุสลิมจามเขมรด้วยก็เป็นได้ (คลองมหานาคมีความยาวตามแผนที่ไจก้า 1.6 ก.ม.)

คลองมหานาคในอดีต

เมื่อชาวมุสลิมมลายูปัตตานีถูกกวาดต้อนเข้ามาในปีพ.ศ. 2329 จึงถูกแยกเอาไปไว้ยังฝั่งธนบุรีที่หลังวัดอนงคาราม บริเวณบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อีกกลุ่มหนึ่งถูกนำไปไว้ที่หน้าวัดชนะสงครามจนถึงคลองบางลำพูรวมกับมลายูเดิมและเป็นเชลยของวังหน้า อีกกลุ่มหนึ่งเอาไปไว้ที่ริมคลองมหานาครรวมกับนิคมมลายูเดิมที่ย้ายมาจากบ้านตะนีเป็นเชลยของวังหลัง กลุ่มนี้อาจถูกนำไปไว้ที่ช่วงอาณาบริเวณของบ้านครัวตอนปลายของคลองมหานาคบางส่วน หรืออาจจะเป็นมลายูปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนขึ้นมาในปี พ.ศ. 2351 ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1 โดยให้แยกย้ายกันไปยังนิคมมลายูกลุ่มต่างๆ ที่กล่าวมาก็เป็นได้เพราะเป็นพวกเดียวกัน

สำหรับชาวมุสลิม “บ้านตึกดิน” นั้นเป็นไปได้ว่า เป็นชาวมลายูมุสลิมเดิมที่ตั้งนิคมอยู่นอกคลองคูเมืองเดิม ซึ่งดูในแผนที่กรุงเทพฯ ที่ทำสมัยรัชกาลที่ 5 (สุจิตต์ วงษ์เทศ ; อ้างแล้ว หน้า 108) จะปรากฏที่ตั้งตึกดินซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของนิคมมลายูในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดคลองรอบกรุง ทำให้บริเวณที่ตั้งตึกดินอยู่ในเขตพระนครชั้นนอก คือ อาณาบริเวณที่อยู่ตั้งแต่คลองคูเมืองเดิมกรุงธนบุรีไปทางตะวันออกจนถึงกำแพงเมืองด้านตะวันออกที่คลองรอบกรุง พื้นที่ส่วนนี้เป็นเขตรับผิดชอบของวังหลวง ในขณะที่พื้นที่ภายในกำแพงพระนครด้านทิศเหนือเป็นเขตความรับผิดชอบของวังหน้า

คำว่า “ตึกดิน” มีปรากฏคำอธิบายไว้ในหนังสือ สมุดภาพ 100 ปี สตรีวิทยา ว่า : “…เมื่อแรกตึกดินเป็นอาคารที่ใช้เก็บรักษาดินปืน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีฝาผนังหนามากประมาณ 1 เมตร ใช้ซุงและเสาทั้งต้นทำเครื่องบนหลังคา พื้นเป็นกระดานหนา 2 นิ้ว เพดานสูงมีหน้าต่างน้อยและมีขนาดเล็ก” (ปราณี กล่ำส้ม ย่านเก่าในกรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (2545) กรุงเทพฯ หน้า 35) ปัจจุบันตึกดินเหลือเพียงตรอกตามชื่อ เรียกว่า ตรอกตึกดิน ใกล้กับวัดมหรรณพาราม มีถนนดินสอตัดผ่าน

กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) กล่าวถึงถนนดินสอในหนังสือ กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ ว่า :

“…ถนนดินสอตั้งต้นจากลานเสาชิงช้าตรงโบสถ์พราหมณ์ ตรงไปทางเหนือถึงสะพานคลองหลอด (หรือคลองวัดมหรรณพ์) ซึ่งย่านนี้เรียกกันว่า “ตึกดิน” (ตำบลตึกดิน) ข้ามสะพานไปถึงสี่แยกราชดำเนินกลาง…ตรงไปจดถนนพระสุเมรุซึ่งเป็นถนนรอบกำแพงเมือง”

การเรียกขานชื่อสถานที่ว่า “ตึกดิน” ซึ่งมีทั้งตรอกตึกดินและมัสยิดบ้านตึกดิน คงจะมาจากอาคารที่ใช้เก็บรักษาดินปืนดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างตรอกตึกดินกับมัสยิดบ้านตึกดินนั้นนับว่าอยู่ห่างกันไม่น้อย เพราะตรอกตึกดินอยู่ใกล้กับวัดมหรรณพ์ (วัดมหรรณพาราม สร้างในรัชกาลที่ 3 และเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5) แต่มัสยิดบ้านตึกดินตั้งอยู่ซอยดำเนินกลางเหนือถนนราชดำเนินกลางในบริเวณใกล้กับวัดบวรนิเวศวิหาร และใกล้กับโรงเรียนสตรีวิทยา

ที่ตั้งของตึกดิน ปรากฏในแผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙)

ครั้นเมื่อตรวจดูที่ตั้งของตึกดินตามที่ปรากฏในแผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ก่อนมีถนนราชดำเนินกลาง (ปราณี กล่ำส้ม ; อ้างแล้ว ดูแผนที่ประกอบตึกดิน ในหน้า 36) ก็พบว่าอาณาบริเวณของตึกดินซึ่งเป็นคลังแสงเก็บดินปืนมีพื้นที่กว้างขวางอยู่ล้อมรอบเป็นที่โล่ง และมีตึกดินอยู่ตรงกลาง ปลายสุดด้านทิศเหนือของอาณาบริเวณตึกดินก็จะอยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของมัสยิดบ้านตึกดิน ภายหลังมีการตัดถนนราชดำเนินกลางแล้ว เป็นพื้นที่อยู่ระหว่างวัดบวรนิเวศวิหารและวัดรังษีสุธาวาส ซึ่งต่อมาถูกยุบรวมกับวัดบวรนิเวศวิหารในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนทางด้านทิศใต้ของตึกดินก็คือวัดมหรรณพาราม เหตุที่พื้นที่ของตึกดินต้องมีอาณาบริเวณที่โล่งกว้างขวางเช่นนั้นก็คงเพื่อความปลอดภัยจากแรงระเบิดนั่นเอง

นิคมมลายูเดิมคงตั้งอยู่ที่นั่นหมายถึงด้านทิศเหนือของอาณาบริเวณตึกดินมานานแล้ว นับแต่สมัยกรุงธนบุรี เพราะอยู่นอกเขตคลองคูเมืองเดิม ต่อมาเมื่อมีการขุดคลองรอบกรุงในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวมลายูส่วนหนึ่งจากที่นี่ก็คงเคลื่อนย้ายผู้คนบางส่วนสมทบกับนิคมมลายุที่บ้านตะนีบริเวณแถบวัดสุทัศน์ฯ ย้ายออกไปตั้งที่ริมคลองมหานาค ครั้นต่อมาเมื่อมีการกวาดต้อนเชลยศึกจากปัตตานีและหัวเมืองมลายูขึ้นมาไว้ที่เมืองบางกอก ส่วนหนึ่งก็ถูกย้ายไปสมทบกับนิคมมลายูเก่าที่หน้าวัดชนะสงครามบริเวณย่านคลองบางลำภู

อีกส่วนหนึ่งถูกย้ายมารวมกันที่บ้านตึกดินแล้วต่อมาก็คงมีการเคลื่อนย้ายไปยังริมคลองมหานาคเพื่อสมทบกับนิคมมลายูเก่าที่เป็นพวกเดียวกัน ชาวมลายูใหม่ที่เข้ามานี้คือทั้งที่บางลำภูและริมคลองมหานาคมีลักษณะอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การเป็นช่างทำทองและมีฝีมือในด้านนี้ เพราะเท่าที่สืบค้นจะพบว่า ชาวมุสลิมแถบบ้านตึกดินมีอาชีพการทำทองอยู่แถวถนนตีทองถึงสี่แยกคอกวัว เรียกว่า “บ้านช่างทอง” ทำทองรูปพรรณและทองคำเปลว ปราณี กล่ำส้ม ; อ้างแล้วหน้า 39-40)

ส่วนชาวมุสลิมมลายูที่บริเวณบางลำพู ซึ่งมีมัสยิดจักรพงษ์ตั้งอยู่นั้นในอดีตเกือบทุกครัวเรือนก็เป็นช่างทำทอง มีครั้งหนึ่งที่ชาวบ้านมุสลิมมลายูในนิคมบางลำพูนี้ร่วมใจกันนำช้างทรงทองคำประดับเพชร ทับทิม มรกต ซึ่งทำด้วยฝีมือปราณีตขึ้นทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 3 ผลงานชิ้นนี้ทำให้ความสามารถของช่างทองตรอกสุเหร่าจักรพงษ์เป็นที่เลืองลือในราชสำนัก ช่างทองฝีมือเอกบางคนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นช่างทองหลวง เป็นข้าราชการอยู่ในกรมช่างสิบหมู่ มีหน้าที่ผลิตเครื่องทรงและเครื่องราชูปโภคถวายพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ผู้ที่เป็นช่างทองจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เช่น พระยาภักดี พระวิเศษสุวรรณ หลวงแป้น ขุนลังกา เป็นต้น (ปราณี กล่ำส้ม  ; อ้างแล้ว หน้า 68)

ชาวมุสลิมมลายูซึ่งเป็นช่างทำทองที่ย่านคลองบางลำพูนี้น่าจะเป็นช่างทองที่สังกัดวังหน้า เพราะเชลยศึกที่นี่สังกัดกองสักเลกขึ้นกับวังหน้า ในขณะที่ชาวมลายูมุสลิมที่บ้านตึกดินเป็นช่างทองชาวบ้านที่ทำทองรูปพรรณและทองคำเปลว และเชลยศึกที่เข้ามาสมทบภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วเคลื่อนย้ายไปรวมอยู่กับนิคมมลายูมุสลิมที่ริมคลองมหานาคเป็นช่างทองที่สังกัดวังหลวง ทั้งนี้ช่างทำทองที่มีฝีมือในนิคมมุสลิมมหานาคนั้นส่วนใหญ่เข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา สังกัดกรมช่างสิบหมู่ มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ที่ออกชื่อไว้หลายคน เช่น หลวงศิลปศาสตร์ (สิน) มหานาค , หลวงวิเศษ (สุข) , ขุนสารพัดช่าง (นิ่ม) มหานาค , ขุนบริหารคู้นิคม , พระเทพ (หมึก) มหานาค , และขุนรัตนภิบาล (เสงี่ยม) มหานาค เป็นต้น (ดู หนังสืออนุสรณ์ โรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยา หน้า 81)

นิคมมลายูที่บางลำพูนั้นคงจะได้มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจนั้นตั้งแต่หลังปี 2329 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือย้อนกลับไปก่อนหน้ากรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงพระนครด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยการขุดคลองคูเมืองเดิมก็ปรากฏว่า มีนิคมมลายูอยู่นอกคลองคูเมืองเดิม ริมคลองไหมอยู่แล้วเพียงแต่มัสยิดหลังแรกๆ ในช่วงนั้นคงเป็นเรือนไม้ที่ไม่ใหญ่โตนัก

ครั้นต่อมาเมื่อมีการกวาดต้อนเทครัวชาวมลายูปัตตานีขึ้นมาไว้ที่กรุงเทพฯ เชลยศึกส่วนหนึ่งซึ่งสังกัดวังหน้าได้เข้ามาสมทบกับชาวมลายูเดิมก็คงจะได้มีการขยับขยายมัสยิดและต่อเติมมาเป็นลำดับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มัสยิดหลังเดิมซึ่งเป็นไม้ชำรุดทรุดโทรมลงมาเนื่องจากกาลเวลา จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมเพื่อรักษาสภาพของมัสยิดให้สามารถใช้ประกอบศาสนกิจต่อไป แต่ด้วยสภาพอาคารมัสยิดหลังเดิมสร้างด้วยไม้มีความทรุดโทรมและคับแคบลงอีกซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2508 อันเป็นปีที่อิหม่ามหวัง จันทร์อุมา ได้สิ้นชีวิต  ปวงสัปปุรุษได้ร่วมใจกันรื้อถอนอาคารมัสยิดหลังไม้และร่วมกันสร้างเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นขึ้นใหม่ และดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้

อนึ่งผู้เขียนได้อ่านพบในวารสาร มุสลิม กทม. ฉบับที่ 4 ปีที่ 2 เมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ระบุว่า สุเหร่าจักรพงษ์หลังแรกถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 (หน้า 36) พิจารณาดูแล้วน่าจะคลาดเคลื่อนเพราะในปีพ.ศ. 2310 เป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 แต่ท้องเรื่องที่เล่าประวัติของมัสยิดจักรพงษ์เริ่มด้วยข้าราชบริพารและประชาชนติดตามรายาปัตตานีมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2329 อีกทั้งรายาปัตตานีก็มิได้ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกในสงครามสยาม-ปัตตานี แต่สิ้นพระชนม์ในสนามรบแสดงว่าผู้เขียนเรื่องในวารสารฉบับดังกล่าวไม่ได้สอบทานเหตุการณ์และช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ตามข้อเท็จจริงเลยแม้แต่น้อย

ครั้นไปอ่านเจอบทความที่เขียนเกี่ยวกับมัสยิดจักรพงษ์ในหนังสือพิมพ์มุสลิมไทย ฉบับที่ 11 วันที่ 15 มิถุนายน 2548 – 14 กรกฎาคม 2548 หน้า 20 ซึ่งออกหลังจากวารสารมุสลิมกทม. (2546) ก็พบชัดเจนว่าเป็นการคัดลอกข้อมูลทั้งหมดจากวารสารมุสลิมกทม. โดยไม่มีการแก้ไขแม้กระทั่งปี พ.ศ. 2310 ดังกล่าว

สำหรับมัสยิดจักรพงษ์นี้ รู้จักกันในหลายชื่อ เช่น สุเหร่าวัดตองปุ ซึ่งหมายถึงสุเหร่าที่ตั้งอยู่ใกล้วัดตองปุ หรือวัดชนะสงครามนั่นเอง , สุเหร่าบางลำภู (ลำพู) เพราะตั้งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้กับคลองบางลำภูที่เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง และที่เรียกกันว่า สุเหร่าจักรพงษ์นั้น น่าจะเป็นเพราะมีการตัดถนนจักรพงษ์ผ่านบริเวณใกล้กับที่ตั้งมัสยิด ถนนจักรพงษ์นี้ตัดผ่านบริเวณวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) ถนนข้าวสาร ซอยรามบุตรี ถนนตานี ถนนไกรสีห์ ถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองบางลำภูไปถึงถนนสามเสน

มัสยิดจักรพงษ์

เหตุที่เรียกถนนสายนี้ว่า ถนนจักรพงษ์  ก็คงเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรี พัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเป็นต้นสกุล จักรพงษ์ ณ อยุธยา

และเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ก็คือสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั่นเอง ทำให้นึกได้ว่า ที่สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระนามทรงกรมว่า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และสมเด็จพระราชบิดารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามถนนที่ตัดใหม่ในย่านบางลำภูนี้ว่า ถนนจักรพงษ์

ก็น่าจะมีมูลว่าเป็นการระลึกถึง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในครั้งที่ดำรงพระยศเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและนิวาสถานของพระองค์แต่เดิมเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีก็คือย่านวัดตองปุถึงคลองบางลำภูนั่นเอง ดังนั้นการตัดถนนจักรพงษ์ย่านอาณาบริเวณแถบนี้ก็ชวนให้นึกถึงเค้ามูลที่เกี่ยวพันในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และเมื่อมีการตัดถนนผ่านอาณาบริเวณมัสยิดบ้านบางลำภูหรือสุเหร่าวัดตองปุแล้วจึงนิยมเรียกกันนับแต่บัดนนั้นว่า สุเหร่าจักรพงษ์

สำหรับมัสยิดบ้านตึกดินนั้น ก็คงมีการสร้างขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะที่นี่เป็นนิคมมลายูมาแต่เดิมแต่สมัยกรุงธนุบรี และมีชุมชนอยู่หนาแน่นในอดีตโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายออกไปยังแหล่งชุมชนมุสลิมอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง เช่นที่ริมคลองมหานาคเป็นต้น ในปี พ.ศ. 2524 เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ทำให้บ้านเรือนในละแวกนี้ถูกไฟไหม้เกือบทั้งหมด จึงมีการแยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คงเป็นชุมชนมุสลิมต่างๆ ในเขตพระนคร ทั้งที่คลองมหานาคและบางกะปิ

มัสญิดบ้านตึกดิน

มุสลิมที่เหลืออยู่ที่บ้านตึกดินก็คงช่วยกันฟื้นฟูสภาพของชุมชน และร่วมกันสร้างมัสยิดบ้านตึกดินขึ้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสีขาวมีรูปทรงสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมอิสลาม บรรดาพี่น้องมุสลิมในเขตมัสยิดบ้านตึกดินก็ยังคงรวมตัวกันสืบสานศาสนาอิสลามต่อมาจวบจนทุกวันนี้

ส่วนชุมชนมุสลิมริมคลองมหานาคนั้นเป็นชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเดิมที่ย้ายมาจากบ้านตะนีที่เคยตั้งอยู่บริเวณตั้งแต่วัดสุทัศน์เสาชิงช้าตลอดจนถึงวัดสะแก (วัดสระเกศ) มุสลิมมลายูที่บ้านตะนีนี้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี โดยบ้านตะนีนี้ตั้งอยู่นอกเขตคูเมืองเดิม เมื่อมีการขุดคลองมหานาคต่อจากคลองรอบกรุง ชาวมุสลิมมลายูกลุ่มนี้จึงเคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่ที่ริมคลองมหานาคช่วงต้นคลอง ในขณะที่ประชาคมชาวเขมรจามตั้งชุมชนอยู่ที่ปลายคลองมหานาคแถวบ้านครัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2329 , 2334 และ 2351

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชาวมุสลิมมลายูจากปัตตานีและหัวเมืองมลายูได้ถูกกวาดต้อนขึ้นมา เชลยศึกที่สังกัดวังหลวงได้ถูกนำมาสมทบอยู่กับชาวมลายูมุสลิมเดิมที่ริมคลองมหานาคนี้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มัสยิดที่ก่อสร้างเป็นครั้งแรกในชุมชนมหานาคนี้ สร้างในปี พ.ศ. ใด ไม่ปรากฏชัด แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2350

มัสยิดหลังแรกคงสร้างเป็นตึกก่ออิฐถือปูนและมีขนาดไม่ใหญ่นัก มีท่านพระเทพ บิดาของขุนรัตนาภิบาล (เสงี่ยม) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดำเนินการรูปทรงของอาคารมัสยิดมีลักษณะครึ่งไม้ครึ่งตึกชั้นครึ่ง ใช้เสาไม้ขุดวางตามแนวนอนแทนเข็มแล้วก่อผนังด้วยอิฐมอญขนาดใหญ่ ผสมปูนกับน้ำอ้อย พื้นมัสยิดใช้ไม้ปูอยู่บนคานที่รองรับด้านหน้ามัสยิดมีหอกลองตั้งอยู่ อาคารมัสยิดหลังนี้ใช้ประกอบศาสนกิจเรื่อยมาจน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2472 ได้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ ทำให้อาคารมัสยิดได้รับความเสียหาย จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมมัสยิดให้กลับมามีสภาพเดิม ต่อมาในปีพ.ศ. 2511 ได้มีการต่อเติมมัสยิดชั้นที่ 2 เพื่อขยายพื้นที่เดิมให้เต็มลานมัสยิด พื้นด้านล่างของตัวอาคารมัสยิดที่ต่อเติมใหม่นี้ปูด้วยหินขัด และมีการดัดแปลงพื้นที่ในการใช้สอยอื่นๆ รูปทรงอาคารมัสยิดมหานาคนั้นมาสถาปัตยกรรมที่แปลกตาและสวยงามมากทีเดียว

หากผู้ได้เห็นอาคารมัสยิดหลังนี้ไม่ได้พิจารณาให้ดีแล้ว ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ เพราะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคายกสูงคล้ายทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดิน ซุ้มโค้งหน้าต่างมีทั้งที่เป็นรูปเกือกม้าและโค้งแบบโกธิค มีบัวเป็นปูนปั้น อาคารส่วนหน้าที่เป็นหออะซานนั้นมีฐานตั้งอยู่บนส่วนหน้าของหลังคาดาดฟ้า รูปทรงของฐานหออะซานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสมีช่องแสงใส่กระจกและลูกกรงเป็นดาวสามแฉกซ้อนกันแบบดาวเดวิด

มัสยิดมหานาค

ส่วนบนของหออะซานมีบัวหัวเสาปูนปั้นทั้งสี่ทิศ ผนังส่วนบนเป็นแปดเหลี่ยมรับกับยอดโดมด้านบนสุด มีซุ้มหน้าต่างเป็นโค้งรูปเกือกม้า หน้าต่างไม้เป็นบานเซี้ยมแบบยกเปิดได้ทั้งแผง ฝาผนังของมัสยิดทั้งสองด้านมีซุ้มโค้งรูปเกือกม้าเรียงรายถึง 10 โค้ง ทั้ง 2 ชั้น บริเวณด้านหน้ามัสยิดใต้ฐานหออะซานที่ดาดฟ้ามีซุ้มลูกกรงแบบปูนหล่อเรียงเป็นเหมือนกำแพงและมีเสาหัวบัวบนปูนปั้นลักษณะคล้ายพานพุ่มทั้ง 4 มุม ด้านล่างเป็นซุ้มโค้งประตูรูปเกือกไม้ประดับบัวปูนปั้นเป็นเหมือนอาคารหน้ามุขที่ยื่นออกมา สถาปัตยกรรมของอาคารมัสยิดหลังนี้จึงถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกคล้ายโบสถ์แบบโปรตุเกสแห่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้

เมื่อกล่าวถึงชุมชนมุสลิมมลายูบางกอกในเขตพระนคร ทั้งที่บางลำภู ตึกดิน และมหานาคแล้ว ก็คงต้องพูดถึงสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับชุมชนทั้ง 3 แห่งนี้ด้วย ประพนธ์ เรืองณรงค์ เขียนว่า : ตรงบางลำภู กรุงเทพมหานคร มีถนนสายหนึ่งชื่อ “ถนนตานี” (อยู่ใกล้กับถนนรามบุตรีและถนนข้าวสาร) เท่าที่ทราบจากคำบอกเล่าว่าเป็นละแวกที่ชาวตานีมาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่มาก จะเป็นพวกเดียวกับไทยมุสลิมแถววัดสระเกษ คลองมหานาคหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แถบนั้นเคยเรียกว่า “ย่านตานี” เหมือนกัน สาเหตุที่ชาวตานีไปอยู่ตรงบริเวณถนนตานีมาก เข้าใจว่ากองทัพไทยชนะสงครามจึงนำเชลยศึกไปไว้ที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง เมื่อตัดถนนเลยให้ชื่อเป็นหัวเมืองดังกล่าว ทำนองตรอกญวณ ซึ่งก่อนนี้มีชาวญวณอยู่มาก

สมัยก่อนระหว่างคลองบางลำภูกับคลองหลอดมีคูคลองติดต่อถึงกัน คลองผ่านมาทางวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) เลียบมาทางวัดบวรนิเวศน์ฯ มาออกบางลำภู บริเวณริมคลองด้านวัดบวรนิเวศน์ฯ สมัยนั้นมีถนนบ้านแขก รื้อสะพานราชบุตรีแล้ว ถนนบ้านแขกเปลี่ยนเป็นถนนตานี ส่วนมัสยิดรื้อออกไป” (ประพนธ์ เรืองณรงค์ ; บุหงาปัตตานี คติชนไทย มุสลิมชายแดนภาคใต้ , สำนักพิมพ์มติชน (2540) หน้า 42) สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า : คลองบวรนิเวศน์ จากคลองบางลำภูถึงถนนบ้านแขก (สิจิตต์ วงษ์เทศ ; กรุงเทพฯ มาจากไหน , สำนักพิมพ์มติชน (2548) กรุงเทพฯ หน้า 179)


ถนนบ้านแขก ก็คือถนนตานี ซึ่งตัดผ่านในบริเวณใกล้กับที่ตั้งของมัสยิดจักรพงษ์ บางลำภู นั่นเอง สะพานราชบุตรีที่ถูกรื้อนั้น ในอดีตคือชื่อสะพานข้ามคลองวัดชนะสงครามที่หม่อมเจ้าหญิงเป้า พระธิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้บริจาคทรัพย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่พระบิดา และยังเป็นการสนองพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สะพานรามบุตรี” อันมีความหมายว่า เป็นสะพานที่บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศเป็นผู้สร้างขึ้น…จนเมื่อคลองวัดชนะสงครามถูกถมสร้างเป็นถนนขึ้นแทน ชื่อรามบุตรีจึงกลายเป็นชื่อซอยและถนนดังกล่าว (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ; ชื่อบ้านนามเมือง ; สำนักพิมพ์มติชน (2540) กรุงเทพฯ หน้า 94)

ตรงที่ว่า “ส่วนมัสยิดรื้อออกไป” ก็น่าฉงนยิ่งนักเพราะนั่นแสดงว่าที่ริมคลองวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) เคยมีมัสยิดตั้งอยู่แล้วถูกรื้อออกไป เมื่อมีการถมคลองเป็นถนน เมื่อสอบดูในแผนผังกรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหน ของสุจิตต์ วงษ์เทศ หน้า 76 และเทียบกับแผนที่โดยสังเขปในหนังสือย่านเก่าในกรุเทพฯ ของปราณี กล่ำส้ม หน้า 62 ก็พบว่า ในแผนผังกรุงธนบุรีระบุตำแหน่ง “นิคมมลายู” ว่าตั้งอยู่นอกแนวคลองคูเมืองใกล้กับคลองโรงไหมด้านใต้วัดชนะสงคราม(วัดตองปุ) ลงมา ซึ่งตรงกับบริเวณที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนข้าวสารกับซอยรามบุตรี ซึ่งเดิมเป็นคลองวัดชนะสงคราม

แสดงว่าตรงบริเวณนี้เคยมีมัสยิดตั้งอยู่แต่เดิมและมีข้อสันนิษฐาน 2 อย่างคือ มัสยิดหลังนี้เป็นมัสยิดอีกหลังหนึ่งทางด้านใต้ของนิคมมลายูที่บางลำภู ส่วนอีกหลังหนึ่งคือมัสยิดที่ตั้งอยู่ในด้านทิศเหนือบริเวณนิวาสถานเดิมของวังหน้า (บริเวณมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบัน) และมัสยิดด้านทิศใต้ของนิคมมลายูที่บางลำภูนี้เป็นมัสยิดเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีและคงปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 5 จึงถูกรื้ออกไปเมื่อมีการถมคลองวัดชนะสงครามเป็นถนน และถนนตานีที่ตัดใหม่นั้นก็อยู่ในละแวกของมัสยิดเดิมหลังนี้

ผังเมืองกรุงเทพ

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าที่นิคมมลายูบางลำภูนี้มีมัสยิดเพียงหลังเดียวก็แสดงว่ามัสยิดเดิมตั้งอยู่ตรงบริเวณนี้มาก่อนต่อมาก็ถูกย้ายไปสร้างใหม่บริเวณนิวาสถานเดิมของวังหน้าคือที่ตั้งของมัสยิด จักรพงษ์ในปัจจุบัน แต่เมื่อสอบดูผังเมืองกรุงเทพฯ สมัยแรกในหนังสือของสุจิตต์ วงษ์เทศ หน้า 124 ก็พบว่ามีการระบุที่ตั้งนิคมมลายูเอาไว้เพียงจุดเดียว คือบริเวณนิวาสถานเดิมของวังหน้าอันเป็นที่ตั้งของชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ในปัจจุบัน โดยไม่ปรากฏตำแหน่งที่ตั้งของมัสยิดทางด้านใต้นี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มัสยิดทางด้านใต้หลังนี้เพิ่งจะถูกรื้อย้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นไปได้ว่าย้ายไปสร้างใหม่ทางด้านเหนือหรือยุบเลิกไปเลยก็ได้

แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือที่นิคมมลายูบางลำภูมีมัสยิดอีกหลังหนึ่งที่มิใช่มัสยิดจักรพงษ์ทุกวันนี้และตั้งอยู่ริมคลองวัดชนะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้คงต้องศึกษาสืบค้นกันต่อไป

วัลลอฮุอะอฺลัม