บทที่ 3 : ศาสนาอิสลามกับการค้นพบทางภูมิศาสตร์

แผนที่โลก ราวปี ค.ศ.1154 ของ อัล-อิดริสียฺ  (สังเกตุทิศใต้อยู่ด้านบนของภาพ)ศาสนาอิสลามได้ส่งเสริมให้เรียนรู้ถึงสิ่งที่ไม่รู้ และมนุษย์ก็สามารถในการบรรลุสู่ภูมิความรู้ของเขาได้บนหน้าพิภพ และอิสลามยังได้เรียกร้องสู่การพินิจพิเคราะห์ในบรรดาสรรพสิ่งที่ถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้าตลอดจนฟากฟ้าและผืนแผ่นดินพระองค์ทรงตรัสว่า : แท้จริงในการสร้างฟากฟ้าและผืนแผ่นดินตลอดจนความแตกต่างของกลางคืนและกลางวันนั้นย่อมเป็นสัญญาณทั้งหลายสำหรับผู้มีปัญญา (อัลกุรอาน)

จักรวาลคือหนังสือที่ถูกเปิดซึ่งการพินิจใคร่ครวญและบรรดาสายตาจะสอดส่องมัน หัวใจของผู้มีความยำเกรงจะได้รับประโยชน์และเพิ่มพูนการศรัทธา และเขาจะมีความรู้สึกถึงขนาดอันเล็กกระจิดริดของเขา ขอบเขตแห่งความสามารถของเขาเบื้องหน้าจักรวาลนี้ และหัวใจของเขาก็เต็มไปด้วยการยอมรับถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้ทรงสร้างนั้น

ซัยยิด กุตุบ (ร.ฮ.) ได้กล่าวเอาไว้ในตัฟซีร อัซซิล้าล ว่า :  “แท้จริงจักรวาลนี้ด้วยตัวของมันคือตำราที่ถูกเปิดออก มันนำพาประดาหลักฐานและเครื่องหมายแห่งความศรัทธา…และมันบอกให้รู้ว่า เบื้องหลังโลกใบนี้มีโลกสุดท้าย การพิพากษาและการตอบแทน และนี้คือข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งแสดงถึงโครงสร้างแห่งจินตภาพแบบอิสลามที่มีต่อจักรวาลนี้ และสัมพันธภาพระหว่างมันกับธรรมชาติของมนุษย์ และการบ่งชี้ของจักรวาลนี้ด้วยตัวของมันถึงพระผู้ทรงสร้างมันด้านหนึ่ง และบ่งชี้ถึงกฎซึ่งพระองค์ทรงใช้มัน ตลอดจนสิ่งที่ควบคู่กับกฎนั้นจากเป้าหมายและวิทยปัญญาอีกทั้งความมุ่งหมายอีกด้านหนึ่ง…”

ส่วนหนึ่งจากคุณประโยชน์ของการค้นพบทางภูมิศาสตร์

ในการเดินทางนั้นย่อมมีการใคร่ครวญและการได้รับอนุสติเตือนใจอันเป็นการใคร่ครวญที่มีต่อจักรวาลและสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง และการได้รับข้อเตือนใจจากประวัติศาสตร์ของประชาชาติเก่าก่อนเมื่อพวกเขาดื้อดึงต่อพระบัญชาแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเขา พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า :  “แน่แท้ได้ผ่านมาก่อนหน้าพวกท่านทั้งหลายซึ่งบรรดาแบบอย่าง ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจนดำเนินไปในโลก แล้วจงพิจารณาว่าบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นมีจุดจบอย่างไร” (อาลิ อิมรอน : 137)

โองการนี้ได้นำเสนอแก่ชาวมุสลิมถึงการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีของประชาชาติต่างๆ และการเรียนรู้ที่จะไปถึงพวกเขาซึ่งจะตามมาด้วยการเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่ศาสนาอิสลามด้วยวิธีการและแนวทางที่เหมาะสม ด้วยการดังกล่าวการเป็นผู้สืบทอดในโลกใบนี้ก็จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์

พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า : “พระองค์อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาจากหมู่สูเจ้าและพวกเขาประพฤติคุณงามความดีว่า พระองค์จะให้พวกเขาสืบทอดในโลกเฉกเช่นที่พระองค์ทรงให้บรรดาผู้ที่มีมาก่อนพวกเขาได้สืบทอด และพระองค์จะทรงทำให้มั่นคงแก่พวกเขาซึ่งศาสนาของพวกเขาอันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัยแก่พวกเขา และพระองค์จะทรงเปลี่ยนพวกเขาให้มีความปลอดภัยหลังจากความหวาดกลัวของพวกเขาโดยที่พวกเขาจะเคารพสักการะต่อข้า อีกทั้งพวกเขาจะไม่นำสิ่งใดมาเป็นคู่ภาคีต่อข้า” (อันนู๊ร : 55)

มรดกของชาวมุสลิมในความก้าวหน้าของวิชาภูมิศาสตร์

วิชาภูมิศาสตร์ได้มีความก้าวหน้าในหมู่ชาวมุสลิมอันเป็นผลมาจากการตกผลึกของประสบการณ์ที่พวกเขาได้สั่งสมเอาไว้ในด้านนี้ ตลอดช่วงระยะเวลานานนับหลายปีอันยาวนาน มีปัจจัยเหตุอยู่หลายประการที่มีส่วนช่วยให้ประสบการณ์เหล่านี้เพิ่มพูนมากขึ้น ที่เด่นชัดได้แก่


1. การเคลื่อนไหวด้านการพิชิตของอิสลามซึ่งแผ่ยื่นออกไปทั่วทุกสารทิศของโลกใบนี้ กล่าวคือ การพิชิตเหล่านี้ได้แผ่ยื่นออกไปจนถึงประเทศจีนทางทิศตะวันออก และบรรดาชายฝั่งของดินแดนซีกตะวันตกของโลกอิสลามตลอดจนเอ็นดาลูเซียทางทิศตะวันตก จึงเป็นธรรมดาที่ทะเลแห่งความมืดมน (มหาสมุทรแอตแลนติก) จะมีส่วนปลุกเร้าต่อบรรดาผู้พิชิตเหล่านั้น โดยเฉพาะความปรารถนาของพวกเขาในการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม

มูซา อิบนุ นุซอยร์ ได้กล่าวภายหลังการพิชิตตะวันตกอย่างสมบูรณ์ของเขาว่า : “ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮฺ หากฉันรู้ว่ายังมีดินแดนอยู่เบื้องหลังเจ้า ฉันจะฝ่าท้องทะเลของเจ้าด้วยม้าศึกของฉัน” คำพูดดังกล่าวเป็นการโต้ตอบกับท้องทะเลแห่งความมืดมน (การอ้างคำพูดดังกล่าวไปยังมูซา อิบนุ นุซอยร์ ดูจะคลาดเคลื่อนเพราะในตำราประวัติศาสตร์ระบุว่าผู้กล่าวคือ อุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ  ซึ่งพิชิตดินแดนแอฟริกาเหนือก่อนสมัยของมูซา อิบนุ นุซอยร์ – ผู้แปล)

ลุ่มน้ำไนล์ วาดโดย "อัล-อิดริสียฺ

2. การเดินทางตามภูมิศาสตร์ภายในโลกอิสลามและนอกเขตโลกอิสลาม  ซึ่งเราหมายถึง การเดินทางต่างๆ ที่นักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมและผู้อื่นได้กระทำกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หลงใหลการเดินทาง บรรดาคณะทูตานุทูตของทางการ และนักเดินทางเฉกเช่น อิบนุ ฟัฏลาน ซึ่งค่อลีฟะฮฺ อัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้ส่งเขาไปพร้อมกับคณะทูตที่ค่อลีฟะฮฺส่งไปยังกษัตริย์บุลฆ๊อร (บุลฆ๊อร-โวลก้า) ในปี ฮ.ศ. 295-322

การส่งคณะทูตของค่อลีฟะฮฺเป็นการตอบรับการร้องขอจากกษัตริย์มุสลิมผู้นี้ที่ขอความช่วยเหลือจากค่อลีฟะฮฺของชาวมุสลิมในมหานครแบกแดด คณะทูตของกษัตริย์บุ้ลฆ๊อร (บัลกาเรีย) ได้มายังราชธานีแห่งค่อลีฟะฮฺในปี ฮ.ศ. 309/ ค.ศ.921 เพื่อร้องขอความช่วยเหลือในการต้านทานการรุกรานของกษัตริย์แห่งแคสเปี้ยนซึ่งเพิ่มการกดดันต่ออาณาจักร บุลฆ๊อรในขณะนั้น อีกทั้งคณะทูตยังได้ขอตัวผู้รู้ทางศาสนาเพื่อทำหน้าที่สอนบรรดาศาสนกิจแห่งศาสนาอิสลามแก่พวกเขา

บรรดานักเดินทางเหล่านี้มีคุณูปการอย่างยิ่งในการทำให้นักภูมิศาสตร์ทั้งหลายมีความรู้อย่างกว้างขวางถึงดินแดนของโลกที่เป็นที่รู้จักกัน เมื่อมีการเพิ่มเติมดินแดนต่างๆ ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนเข้าไปยังแผนที่โลก เช่น ดินแดนตอนกลางและตอนเหนือของทวีปเอเชียตามตัวอย่างที่เราพบในบันทึกการเดินทางของอิบนุ ฟัฏลาน ซึ่งกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ในการสาธยายถึงดินแดนของพวกเติร์ก แคสเปี้ยน รัสเซีย และพวกสล๊าฟ (ปี ฮ.ศ. 309/310) และดินแดนทางตะวันตกของแอฟริกา (การเดินทางของอิบนุ ฟาฏิมะฮฺ) ซูดานและที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ (การเดินทางของอิบนุ สะลีม อัลอัสวามี่ย์ ในศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช)

และชาวมุสลิมได้ตั้งมั่นอยู่อย่างมั่นคงแล้วในแอฟริกานับแต่ช่วงแรกๆ ดร.สแตนลีย์ ทิมเบอร์ ได้ค้นพบสุสานแห่งหนึ่งในโรดิเซียใกล้กับแม่น้ำแซมเบียซึ่งมีอายุย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 13 ศตวรรษด้วยกัน โดยมีข้อความสลักบนสุสานนั้นว่า “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺพระผู้ทรงเมตตา พระผู้ทรงกรุณา ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ มุฮำหมัดคือศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ นี่คือสุสานของสลาม บุตร ซอลิฮฺ ซึ่งเคลื่อนจากดุนยาสถานสู่อาคิเราะฮฺในปีที่ 95 นับจากการอพยพของศาสดาชาวอาหรับ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

ดร.สแตนลี่ย์ อ้างหลักฐานจากสิ่งดังกล่าวว่าชาวมุสลิมได้มาถึงดินแดนดังกล่าวจากทางทิศใต้ของแอฟริกาเป็นเวลานานมาแล้วก่อนที่พวกโปรตุเกสจะมาถึงที่นั่น

แผนที่โลกของ อัล-อิดริสียฺ

การพิจารณาดูแผนที่ของอัชชะรีฟ อัลอิดฺรีซีย์ ย่อมเป็นการเพียงพอสำหรับทุกคนที่จะรู้จักชาวมุสลิมเคยมีความรู้อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับบรรดาชายหาดทางทิศตะวันออก , ตก และใต้ของทวีปแอฟริกา และชาวมุสลิมยังได้สร้างสถานีการค้าขึ้นในอาณาบริเวณดังกล่าวโดยอาศัยสถานีทางการค้าเหล่านั้นในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในกาฬทวีป อาทิเช่น เมืองกัลป์วะฮฺและเมืองอื่นๆ อีกมากมาย

เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขามีความรู้อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับบรรดาชายฝั่งและหมู่เกาะของมหาสมุทรอินเดีย ในทำนองเดียวกัน พวกเขามีภูมิความรู้เกี่ยวกับตะวันออกไกลอีกด้วยจนกระทั่งภูมิความรู้ของพวกเขาแผ่ยื่นครอบคลุมประเทศจีน เกาหลี และหมู่เกาะญี่ปุ่น นอกจากนี้ชาวมุสลิมยังได้สาธยายถึงลักษณะของบรรดาชายฝั่งทางตอนเหนือและตะวันตกของยุโรป ดังตัวอย่างสิ่งที่เราพบในบันทึกของ ยะฮฺยา อิบนุ อัลหะกัม อัลฆ็อซฺซ๊าล (ฮ.ศ. 150-250)  ซึ่งบุคคลผู้นี้ได้เดินทางไปยังดินแดนของพวกนอร์แมนด์ในกลุ่มคณะทูตเมื่อปี ฮ.ศ. 230 ตรงกับรัชสมัยของอับดุรเราะฮฺมานที่ 2 (ฮ.ศ. 206-238)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความตื่นตัวในด้านของการเดินทางเหล่านี้เป็นผลมาจากการพิชิตของอิสลามในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล การแพร่สะพัดของศาสนาอิสลามและอารยธรรมอิสลามในอาณาบริเวณที่กว้างขวางที่สุดจากเขตพรมแดนของรัฐอิสลาม

การเดินทางในอดีตมิได้จำกัดคุณค่าของมันเพียงแค่การเดินทางสู่โลกภายนอกของพรมแดนรัฐอิสลามเท่านั้น หากแต่เรายังพบอีกว่าในบรรดาการเดินทางที่ครอบคลุมรัฐอิสลามทั้งหมดนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการเขียนแผนที่ต่างๆ ในขณะที่บรรดานักเดินทางเหล่านั้นเดินทางไปในเส้นทางต่างๆ ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนหรือความรู้เกี่ยวกับเส้นทางเหล่านั้นจำกัดอยู่เฉพาะหลักฐานบ่งชี้และอะไรในทำนองนั้น

พวกเขาได้หยิบยื่นให้แก่ภูมิความรู้นี้ด้วยการสาธยายถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยละเอียด ซึ่งในภายหลังก็เป็นการง่ายสำหรับเขียนหรือวาดแผนที่ของเครือข่ายเส้นทางเหล่านี้อย่างละเอียด ดูเหมือนว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวก็คือการเดินทางเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งต้องรอนแรมในบรรดาเส้นทางแห่งท้องทะเลทราย จึงมีการกำหนดจุดลงพักและแหล่งน้ำตลอดจนชุมชนและเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลทรายพร้อมกับการกำหนดระยะทางและความยาวระหว่างช่วงต่างๆ ของการเดินทาง

เราพบว่าสิ่งนี้ได้ถูกให้รายละเอียดเอาไว้ในการเดินทางของ อิบนุ ญุบัยร์ ซึ่งเขามักจะบันทึกทุกสิ่งที่เขาได้พบเห็นในแต่ละวันของการเดินทาง คุณค่าของการเดินทางในการบันทึกภูมิศาสตร์ และการเขียนแผนที่ของเขตแคว้นต่างๆ จะปรากฏอย่างชัดเจนในขณะที่นักภูมิศาสตร์มีความขัดข้องในการนำเสนอถึงสิ่งที่ปรากฏขึ้นในการศึกษาของเขาอันเนื่องจากภูมิความรู้ที่มีอย่างจำกัดต่อเขตแคว้นที่นักภูมิศาสตร์ยังไม่เคยย่างกรายเข้าไป และนี่คือสิ่งที่อัลมักดิซีย์ได้นำเสนอเอาไว้ในการพูดถึง อัลอันดะลุส (เอ็นดะลูเซีย – สเปน) ซึ่งเราจะกล่าวถึงบุคคลผู้นี้เป็นการเฉพาะต่อไป (ดร.อับดุลอาล อับดุล มุนอิม อัชชามีย์ ; ญุฮุด อัลญิฆรอฟียีน ฟี รอซมิลค่อรออิฏ)

3. เศรษฐกิจแบบอิสลามนับแต่การกำเนิดขึ้นของรัฐอิสลามในสมัยของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อาศัยการค้าระหว่างประเทศเป็นหลักในฐานะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ และการตื่นตัวอย่างคึกคักของชาวมุสลิมมีอิทธิพลใหญ่หลวงในความเจริญของภูมิความรู้ทางภูมิศาสตร์สำหรับบรรดานักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิม ชาวมุสลิมรู้จักชายฝั่งต่างๆ ของแอฟริกาตะวันออกและสร้างสถานีทางการค้าของพวกเขาตลอดแนวชายฝั่งดังกล่าว ซึ่งมีสถานะเหมือนศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม

นอกเหนือจากการเป็นสถานีทางการค้า บรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมยังได้สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่นกับจีนในช่วงเวลานั้น อัลมัสอูดีย์นักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมในศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชได้พรรณนาถึงการเคลื่อนไหวทางการค้ากับท่าเรือของเมืองคอนฟู (กวาวตุ้งในปัจจุบัน) ว่า : เมืองคอนฟู (กวางตุ้ง) นั้นเป็นเมืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายใหญ่ เรือสินค้าต่างๆ ที่มาจากเมืองอัลบัศเราะฮฺ , ซีรอฟ , โอมาน , หัวเมืองของอินเดีย หมู่เกาะอัซซายิจญ์ และอาณาจักรต่างๆ จะนำสินค้าเข้าทางแม่น้ำสายนี้ (อัลมัสอูดีย์ ; มูรุญุซฺซะฮับ เล่มที่ 1/138)

จากทางด้านการค้าชาวมุสลิมได้ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในกลุ่มดินแดนดังต่อไปนี้ คือ อินเดีย , สิงคโปร์ , มาเลเซีย , พม่า , อินโดนีเซีย , จีน และฟิลิปปินส์ และผลจากความรุ่งเรืองของการเคลื่อนไหวทางการค้าได้ทำให้อุตสาหกรรมการต่อเรือขนาดใหญ่มีความเจริญก้าวหน้า

นักเดินทางระบุว่า : บรรดาช่างฝีมือได้มุ่งหน้าสู่หมู่เกาะต่างๆ ที่มีผลผลิตจำพวกต้นมะพร้าว พวกเขามีเครื่องไม้เครื่องมือในงานไม้และอื่นติดตัวไปด้วย และตัดไม้มะพร้าวตามที่พวกเขาต้องการ เมื่อแผ่นไม้มะพร้าวแห้งดีแล้ว พวกเขาก็จะควั่นเชือกจากใยมะพร้าวเพื่อมัดแผ่นไม้นั้นเข้าด้วยกัน พวกเขาใช้มันทำเรือ , พวกเขาจะแกะสลักมันอย่างประณีตและติดตั้งใบเรือจากช่องที่แกะสลักนั้น

พวกเขารวบรวมใยมะพร้าวเป็นกำหลายขนาดเรียกว่า อัลกอละวีย์ เมื่อเสร็จสิ้นจากการเตรียมงานทั้งหมด เรือที่ต่อขึ้นจะบรรจุมะพร้าวเต็มลำเรือ และนำมันมุ่งสู่โอมานเพื่อไปขายที่นั่น (ริฮฺละฮฺ อัซซีรรอฟีย์ หน้า 100 ; ดร.อับดุรเราะฮิมาน อัลอานีย์ “เดารุ้ลอุมานียิน ฟิลมิลาหะฮฺ วัตติญาเราะฮิ อัลอิสลามียะฮฺ ฮัตตา อัลกอรนีรฺ รอบิอฺ อัลฮิจญ์รีย์ “ หน้า 13 โอมาน วิซาเราะฮฺอัตตุรอซ ฮ.ศ. 1406/ ค.ศ. 1986 ซิลซิละฮฺ ตุรอซินา (26) พิมพ์ครั้งที่ 2)

บาทหลวงฮาวีย์ เลน (737-830) ในสมัยราชวงศ์ถังได้กล่าวไว้หนังสือของเขาชื่อ “บรรดาการจาริกทางพุทธศาสนาที่สำคัญ” ว่า : บรรดากองเรือขนาดใหญ่ซึ่งลำหนึ่งมีชื่อว่า “เรือดคุนฺหลุน” นั้นแผ่นไม้กระดานของเรือจะถูกผูกมัดด้วยเชือกที่ทำมาจากใยมะพร้าวของต้นมะพร้าว และน้ำที่คั้นจากต้นมะกอกก็จะถูกเทลงไปในช่องระหว่างแผ่นกระดานนั้นเพื่อป้องกันมิให้น้ำซึมเข้าสู่ภายในลำเรือ พวกเขาจะไม่ใช้ตะปูในการต่อเรือ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้คนเกรงว่าจะเกิดไฟไหม้ได้ขณะที่ตะปูมีความร้อนจัด” (ชาง ซุน หยวน “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับโอมานตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์” หน้า 9 ; โอมาน , วิซาเราะฮฺ อัตตุรอซฺ ซิลซิละฮฺตุรอซินา (21) พิมพ์ครั้งที่ 2)

นั่นคือวิธีการซึ่งพ่อค้าชาวมุสลิมใช้ในการต่อเรือของพวกเขา วิธีการดังกล่าวได้บ่งบอกให้รู้ถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของบรรดานักต่อเรือที่มีต่อเทคนิคในการต่อเรือของพวกเขา ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพของการเดินเรือในมหาสมุทรทางตอนใต้ที่กว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยปลานานาชนิดตลอดจนคลื่นขนาดใหญ่ จึงทำให้เรือที่จะล่องสู่ท้องทะเลไปยังจีนจำต้องมีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ เพื่อสามารถเผชิญกับสิ่งที่กล่าวมารวมถึงบรรทุกสิ่งที่การเดินทางอันยาวนาน และห้อมล้อมไปด้วยภยันตรายมีตามความต้องการไม่ว่าจะเป็นเสบียงและผู้คน

และเรือนั้นก็จำต้องมีความจุพอสำหรับการบรรทุกสินค้าจำนวนมากที่จะนำมาซึ่งผลกำไรที่คุ้มค่ากับเวลาและภยันตรายดังกล่าว และความใหญ่โตของกองเรือนั้นได้ก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่ชาวเมืองกวางตุ้งเป็นอันมาก ความสูงของเรือจากระดับน้ำทะเลนั้นสูงมากจนผู้คนจำต้องใช้บันไดที่มีความสูงหลายสิบฟุตเพื่อขึ้นไปยังดาดฟ้าของเรือ ณ จุดนี้เราตั้งคำถาม : จะไม่เคยมีนักเดินเรือชาวมุสลิมคนใดที่จะคิดใช้เรืออย่างนี้สักลำหนึ่งในการท่องสู่ท้องทะเลแห่งความมืดมน (แอตแลนติก) จากชายฝั่งของมอรอคโคหรือเอ็นดะลูเซียเพื่อทดสอบความสามารถของตนเลยกระนั้นหรือ?

แผนที่โลกของ อัล-มุสเตาฟียฺ (ฮ.ศ.740/ค.ศ.1339)เราควรจะกล่าว ณ ตรงนี้ด้วยว่า ยุโรปมีการเล่าถึงบรรดาตำนานเกี่ยวกับแหล่งของสินค้าที่มาจากเมืองจีนและอินเดียโดยผ่านบรรดาพ่อค้าชาวมุสลิม บางคนเล่าว่าสินค้านั้นมาจากสวรรค์ ในขณะที่บางคนเล่าว่าแหล่งกำเนิดของสินค้าอยู่ในดินแดนที่มีงูจงอางคอยปกป้องรักษามันเอาไว้

ความหลงใหลใคร่รู้ถึงสถานที่ในตำนาน และเข้าครอบครองมันได้กลายเป็นสิ่งเย้ายวนในยุคเริ่มต้นการค้นพบทางภูมิศาสตร์สำหรับชาวยุโรป แต่ไม่ใช่สำหรับชาวมุสลิมซึ่งพวกเขาท่องไปในท้องทะเลต่างๆ และใช้ความชำนาญการในการเดินเรือของพวกเขาระหว่างยุคมืดของยุโรปซึ่งเป็นเวลาที่ยุโรปจมปลักอยู่ในความโง่เขลา (ดร.เชากีย์ อับดุลก่อวีย์ อุสมาน “ติญาเราะฮฺ อัลมุฮีฏ อัลฮินดีย์ฟี อัศริ อัสสิยาดะฮฺ อัลอิสลามี่ยะฮฺ” หน้า 9, 10 ; อาลัมอัลมะอฺริฟะฮฺ , คูเวต (151) ฮ.ศ.1410 / ค.ศ. 1990)

แท้จริงการศึกษาภูมิศาสตร์อิสลามและการศึกษาดาราศาสตร์เช่นกัน ทั้งสองเป็นการสิ้นสุดของการเดินทางแห่งความมืดมนอันเป็นที่ยอมรับกัน และการยืนยันเหล่านี้ – หรือสิ่งที่ถูกยอมรับทางวิชาการ – มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการค้นพบอเมริกา และด้วยความดีความชอบของบรรดาครูชาวอาหรับซึ่งสอนให้สเปนได้รู้ถึงข้อยืนยันดังกล่าว ทำให้สเปนเพียงประเทศเดียว- ไม่ใช่รัฐยุโรปอื่นๆ – สามารถค้นพบอเมริกา

ทฤษฎีว่าด้วยโลกกลม – ซึ่งความคิดในเชิงภูมิศาสตร์อิสลามที่มีความมั่นคงได้หักล้างทฤษฎีแห่งตำนานในเชิงเทววิทยาที่มีต่อจักรวาลและโลก – คือทฤษฎีซึ่งการค้นพบอเมริกาไม่อาจเป็นไปได้โดยไม่มีทฤษฎีนี้ (ฟิลลิป ฮิตไท (ภาษาอังกฤษ) “ประวัติศาสตร์ชนชาติอาหรับ” ลอนดอน ; 1979 หน้า 570 , ดร.อับดุลฮะลีม อุวัยซ์ “เดารุ้ลอะรอบ ฟิกติชาฟาติกูลุมบัส ; วารสารอัลคอฟญีย์)

ศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 10 ได้อยู่ร่วมกับการปรากฏเด่นชัดของทฤษฎีนี้ในเอ็นดะลูเซียด้วยน้ำมือของ อบี อุบัยดะฮฺ มุสลิม อัลบะลันซีย์ ชาวเมืองวาเล็นเซียทางตะวันออกของเอ็นดะลูเซีย (อ้างแล้ว)

แต่ทว่าความคิดนี้ได้บรรเจิดในศตวรรษที่ 5 ด้วยน้ำมือของ อบู มุฮำหมัด อะลี อิบนุ ฮัซฺมินฺ อัลอันดะลูซีย์ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 456) ในตำรา “อัลฟัศล์” ซึ่งถือกันว่าเป็นคลังแห่งมรดกทางวิชาการที่เอกอุเป็นที่สุด มีหัวข้อเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญๆ เรียกกันว่า “บทว่าด้วยการอธิบายถึงสัณฐานกลมของโลก” หลังการอรัมภบทสั้นๆ อบู มุฮำหมัดได้กล่าวว่า :

และคำตอบของเรา – ด้วยการเอื้ออำนวยของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) แท้จริงผู้หนึ่งจากบรรดาผู้นำของชาวมุสลิมที่คู่ควรกับสถานะความเป็นผู้นำในด้านวิชาการ- ขอพระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อพวกเขา- พวกเขาไม่เคยปฏิเสธถึงความมีสัญฐานกลมของโลก พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า : พระองค์ได้ทรงทำให้เวลากลางคืนซ้อนเข้าไปในเวลากลางวัน และได้ทรงทำให้เวลากลางวันซ้อนเข้าไปในเวลากลางคืน”

และนี่คือคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดในการยืนยันว่าโลกกลมและการโคจรของดวงอาทิตย์ (อัลฟัศลุ ฟิลมิลัล วัลอะฮฺวาอฮ วันนิหัลฺ เล่มที่ 1 หน้า 97 ดร. อับดุลฮาลีม อุวัยซ์ อ้างแล้ว)

และนี่เป็นการยืนยันว่าโลกกลมด้วยหลักฐานจากตัวบท (อันนักลี่ย์) ส่วนการยืนยันด้วยหลักฐานทางสติปัญญานั้น อิบนุ ฮัซฺมิน ได้กำหนดสิ่งดังกล่าวบนสมมุติฐานที่เป็นผลมาจากการนำเอาเวลาละหมาดไปผูกพันอยู่กับการคล้อยของดวงอาทิตย์ หมายถึงการเคลื่อนของดวงอาทิตย์จากทิศหนึ่งไปยังอีกทิศหนึ่ง โดยที่ว่าคนทุกคนที่บนโลกจะไม่ทำการละหมาดซุฮฺรินอกเสียจากเลยเที่ยงวันไปแล้วอย่างนี้เสมอในทุกสภาพการณ์ ในทุกเวลาและทุกสถานที่ และนี่คือหลักฐานทางสติปัญญาที่บ่งชี้ว่าโลกกลม (อ้างแล้ว)

ถึงแม้ว่า อิบนุ ฮัซฺมิน ยังไม่ได้รับทางนำต่อข้อเท็จจริงที่ว่าโลกจะมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันในส่วนของเวลาเนื่องด้วยโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และเขายังคงเชื่อว่าดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตกและจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก นั่นก็คงเพียงพอในฐานะที่เขาคือนักนิติศาสตร์และนักปรัชญาซึ่งได้รับทางนำสู่การวางโครงสร้างของทฤษฎี

และเขาได้ประกาศทัศนะของตนซึ่งเป็นแบบอย่างของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่การกล่าวว่าโลกกลมจวบจนเวลาอันใกล้นี้ถือเป็นสิ่งนอกรีตและนำมาซึ่งการดูแคลน (ดู, ดร.อิหฺซาน “อิบนุฮัซฺมิน : ดิฟาลฺฟ อัน กุร่อวี่ยะติ้ล อัรฎิ” วารสารอัลอะร็อบ ลำดับที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1961 , ดร.อับดุลฮะลีม , อ้างแล้ว)

ด้วยอิทธิพลของอิบนุ ฮัซฺมินและความคิดของเขา ชาวเอ็นดะลูเซียก็สามารถดำเนินการอย่างสมบูรณ์ในการพัฒนาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ในขณะที่บางคนจากชาวเอ็นดะลูเซียมีโอกาสในการออกเดินทางสู่ดินแดนนอกแคว้นเอ็นดะลูเซีย ฟิลลิป ฮิตไท มีความเห็นว่า ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ของชาวมุสลิมได้ถูกแปลเป็นภาษาละตินในตำราที่ถูกแต่งขึ้นด้วยภาษาละติน และมีการเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1410 ฮิตไทกล่าวอีกว่า : จากตำราเล่มนี้ได้นำมาซึ่งความคิดของโคลัมบัสที่ทำให้เขาเชื่อว่าโลกใบนี้มีรูปทรงเหมือนลูกแพร์ และจากตำราเล่มนี้โคลัมบัสได้ลอกเลียนความเข้าใจใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏมีมาก่อนในภูมิความรู้ของตะวันตก!!…

โลกตะวันตกที่เป็นแบบละตินได้พบว่าความคิดต่างๆ ของตนที่นำเข้ามาจากตะวันออกในด้านดาราศาสตร์และวิชาว่าด้วยดวงดาวมีลักษณะที่แน่นอนผ่านมาทางเอ็นดะลูเซีย (สเปน) บรรดาตำรับตำราของชาวมุสลิมในภาควิชาดาราศาสตร์ที่สำคัญๆ ในสเปนได้ถูกแปลเป็นภาษละติน และปฏิทินของ “อัลฟองโซ” ซึ่งถูกรวบรวมภายใต้ร่มธงของอัลฟองโซ ที่ 10 ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มิใช่อื่นใดเลยนอกจากเป็นการพัฒนาต่อยอดจากดาราศาสตร์อิสลามเท่านั้น (ดร.อับดุลฮะลีม อุวัยซ์ อ้างแล้ว)

เคียงคู่กับการรับใช้โดยตรง ซึ่งชาวมุสลิมในสเปนยุคอิสลาม (เอ็นดะลูเซีย) ได้หยิบยื่นให้แก่โคลัมบัส ก็คือการเขียนแผนที่ของชาวมุสลิมซึ่งมีความถูกต้องสำหรับโลกใบนี้บนพื้นฐานของคำกล่าวที่ว่า โลกนี้กลม นอกจากนี้ยังมีการรับใช้อีกกรณีหนึ่งที่ชาวมุสลิมได้มอบให้โดยทางตรง

กล่าวคือ ในศตวรรษเดียวกันนี้ (ศตวรรษที่ 9 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช/คริสต์ศตวรรษที่ 15) ชาวมุสลิมได้ค้นพบทฤษฎีที่เรียกว่า อัลฆอยยูม (โอเวอร์แคสท์) อันเป็นทฤษฎีที่ขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาทางด้านสมุทรศาสตร์ และการเดินเรือขนานใหญ่นอกเหนือจากการส่งผลของทฤษฎีนี้ต่อวิชาดาราศาสตร์ หลังจากชาวอาหรับได้ประดิษฐ์ใบเรือรูปสามเหลี่ยมในตอนปลายคริสตศวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นใบเรือที่ทำให้สามารถนำเรือฝ่าลมพายุไปได้ หมายถึงฝ่าสวนกระแสลม (ในขณะที่ท้ายเรืออยู่ในกระแสและทิศทางของลมพายุ)

ยังไม่ทันถึงคริสตศวรรษที่ 15 ชาวมุสลิมก็ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงรูปทรงของใบเรือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนทำให้สามารถมีการค้นพบทางทะเลครั้งใหญ่นับจากปี ค.ศ. 1450 นั่นหมายความว่าเป็นเวลาก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 42 ปี นอกเหนือจากการปรับปรุงใบเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้วชาวอาหรับยังได้ปรับปรุงเข็มทิศจนทำให้พวกเขาค้นพบทฤษฎี อัลฆอยยูม หมายถึงการนำร่องในทะเลโดยอาศัยกลุ่มดาวหลักในทิศใต้

กลุ่มดาวนี้รู้จักในภายหลังว่า ฆ็อยยูมของแมคแจนแลน และควบคู่กับสิ่งที่กลุ่มดาวหลักนี้ได้หยิบยื่นการรับใช้ในด้านต่างๆ ก็คือการกิจกรรมทางทะเลของอิสลามที่เป็นไปอย่างชุกชุมไม่ว่าจะเป็นการค้าและการทหาร ทำให้ชาวอาหรับคิดพัฒนาอุปกรณ์และสื่อต่างๆ ในการนำทางในท้องทะเลบนพื้นฐานของกลุ่มดาวหลัก เข็มทิศได้มีส่วนช่วยพวกเขาในการพัฒนานี้ ซึ่งอันที่จริงฆ็อยยูมของกลุ่มดาวหลักเป็นที่รู้จักมาเก่าก่อนแล้วในตำราทางวิชาการของอิสลาม ส่วนหนึ่งจากผู้ที่กล่าวถึงมันคือ ตะมีม อัดดารีย์ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 40 , อิบนุ วะฮฺชิน เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 291 , อับดุรเราะฮฺมาน อัซซูฟีย์ เสียชีวิตในปีฮ.ศ. 376 และยากู๊ต อัลฮะมะวีย์ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 622 (ดร.อับดุลฮะลีม อุวัยซ์ อ้างแล้ว)

เนลลิโน่ ได้ยืนยันเอาไว้ในบทความของตนที่กล่าวถึงคุณค่าอันเอกอุของสิ่งที่นักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับได้สร้างเอาไว้เขากล่าวว่า : คิวบิทดำ (มาตราวัดความยาวสมัยโบราณ – ผู้แปล) มีจำนวนความยาว 493.3 มิลลิเมตร ตามจำนวนดังกล่าว 1 ไมล์อาหรับจะเท่ากับ 1973.2 เมตร และตามการคำนวณนี้ความยาวขององศาในดาราศาสตร์ของอัลมะอฺมูนเท่ากับ 111.815 เมตร และความยาวทั้งหมดของเส้นรอบวงของโลกคือ 41,248 กิโลเมตร

จากจุดนี้ชาวอาหรับจึงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ในการกำหนดเส้นรอบวงของโลกตามจำนวนระยะทางที่ใกล้เคียงอย่างมากกับความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้เนลลิโน่จึงกล่าวทิ้งท้ายว่า : มาตราส่วนของชาวอาหรับที่ใช้สำหรับเส้นรอบวงของโลกคือมาตราส่วนแรกที่เป็นจริงซึ่งถูกดำเนินการโดยตรงพร้อมกับทุกๆ สิ่งที่เป็นผลมากจากการวัดพื้นที่ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาความยาวนาน ความยากลำบาก และการมีส่วนร่วมของกลุ่มคณะนักดาราศาสตร์ นักมาตราส่วนในการคาดคะเนจึงจำเป็นที่เราต้องนับการคำนวณมาตราส่วนเข้าไว้ในสารบบของผลงานทางวิชาการอันรุ่งโรจน์ที่ชาวอาหรับได้ทิ้งเอาไว้ (เนลลิโน่ ; “อิลมุลฟะลัก , ตารีคุฮู อินดัลอะรอบ ฟิลกุรูนฺอัลวุสฏอ” หน้า 384 พิมพ์ที่กรุงโรม ค.ศ. 1911)

นิตยสาร “นิวส์วีค” ของอเมริกา อันดับประจำเดือนเมษายน ค.ศ. 1960 ได้ตีพิมพ์ว่า : อเมริกาเคยเป็นที่รู้จักมาก่อนสำหรับชาวอาหรับ และเอกสารต่างๆ ที่ถูกค้นพบนั้นต่างก็ยืนยันว่า ชาวอาหรับได้เคยมาถึงอเมริกาก่อนหน้าปี ค.ศ. 1100 (หมายถึงในศตวรรษที่ 6 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช) พวกเขามาถึงสถานที่หลายแห่งบนชายฝั่งของอเมริกา สิ่งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะประวัติศาสตร์ได้จดจำเอาไว้ให้เราได้ทราบถึงความพยายามของชาวมุสลิมในการไปถึงอเมริกาหลายต่อหลายครั้ง ส่วนหนึ่งคือ :-

– ความพยายามของ ค็อชฺค็อชฺ อัลกุรฎุบีย์ ซึ่งอัลมัสอูดีย์ ได้กล่าวถึงในตำรา มุรูญุซซะฮับ ของเขา

– ความพยายามของกลุ่มชายหนุ่มนักผจญภัยเสี่ยงโชคซึ่งอัลอิดรีซีย์ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ในตำราของเขา ความพยายามครั้งนี้เป็นที่กล่าวขานจนเลื่องลือ โดยมีบรรดานักค้นคว้าวิจัยเป็นจำนวนมากได้เขียนถึง


แผนที่โลก ของ อัล-กอซฺวัยมียฺ (ฮ.ศ.600-682/ค.ศ.1203-1283)

จากนครลิซบูนะฮฺ (ลิสบอน ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งจากแคว้นเอ็นดะลูเซียของชาวมุสลิม ดู มุฮำมัด อัลฟาซีย์ “กิซเซาะฮฺ อัลฟะตียะฮฺ ว่ามะฆอร่อติฮิมฺ วักติชาฟิล อัมริกาตัยน์” นิตยสาร ริซาละตุลมัฆริบ อันดับที่ 139 กรุงราบาต ; 1952) บรรดาชายหนุ่มที่เป็นนักผจญภัยได้ล่องเรือออกสู่ท้องทะเลแห่งความมืดมน (มหาสมุทรแอตแลนติก) เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในท้องทะเลนั้น และจะได้รู้ว่ามันสิ้นสุด ณ ที่ใด?

ชายหนุ่มทั้งหมดจำนวน 8 คนซึ่งเป็นลูกผู้พี่ลูกผู้น้องกันได้รวมตัวและต่อเรือบรรทุกขึ้นมาลำหนึ่ง พวกเขานำน้ำจืดและเสบียงที่เพียงพอสำหรับประทังชีวิตตลอดระยะเวลาหลายเดือนใส่เรือลำนั้น ต่อมาพวกเขาก็ออกสู่ท้องทะเลในตอนแรกเริ่มของลมมรสุมตะวันออก พวกเขาล่องเรือไปพร้อมกับลมมรสุมนั้นเป็นเวลา 11 วัน และได้มาถึงท้องทะเลที่มีคลื่นหนา กลิ่นอับและแสงน้อย พวกเขามั่นใจว่าคงไปไม่รอดจึงเปลี่ยนทิศทางของเรือและมุ่งลงสู่ทิศใต้เป็นเวลา 12 วัน

แล้วพวกเขาก็ออกมาพบเกาะแห่งฝูงแกะ ที่นั่นมีฝูงแกะที่มิอาจคำนวณได้ มันถูกปล่อยเอาไว้โดยไม่มีคนเลี้ยงและเฝ้าดูพวกมัน พวกเขาจึงมุ่งหน้าสู่เกาะนั้นและลงเรือขึ้นฝั่งที่นั่น พวกเขาพบตาน้ำที่ไหลริน เหนือตาน้ำนั้นมีต้นมะเดื่อบก พวกเขาจึงเอาแกะมาจำนวนหนึ่งและเชือดแกะนั้นก็พบว่าเนื้อของมันขมไม่มีใครกินเนื้อแกะนั้นลง พวกเขาจึงเอาหนังแกะนั้นมาและออกเดินทางลงทางทิศใต้เป็นเวลา 13 วัน

จนกระทั่งเกาะแห่งหนึ่งได้ปรากฏขึ้นแก่พวกเขา พวกเขามองเห็นว่าในเกาะนั้นมีบ้านเรือนและแปลงเกษตร พวกเขาจึงมุ่งหน้าสู่เกาะนั้นเพื่อที่จะได้สำรวจสิ่งที่มีอยู่ในเกาะนั้น มาได้ไม่ไกลนัก พวกเขาก็ถูกล้อมด้วยขบวนเรือเล็กเอาไว้ที่นั่น พวกเขาถูกนำตัวใส่ไปในเรือของชาวเรือนั้นไปยังเมืองหนึ่งที่อยู่ริมทะเล ที่นั่นพวกเขาถูกนำตัวลงขังเอาไว้ในบ้านหลังหนึ่ง

พวกเขาพบว่าที่บ้านหลังนั้นมีผู้ชายหลายคนที่มีผมเพียงเล็กน้อย ศีรษะของชายเหล่านั้นแบน และพวกเขาจะยืนอยู่ตลอดเวลา ผู้หญิงของพวกเขามีความสวยงามอย่างน่าประหลาดใจ ชายหนุ่มทั้ง 8 ถูกมัดเอาไว้ในบ้านหลังนั้นเป็นเวลา 3 วัน ต่อมาในวันที่ 4 ก็มีชายผู้หนึ่งที่พูดภาษาอาหรับได้เข้ามาหาพวกเขา ชายผู้นั้นถามเหล่าชายหนุ่มถึงสารทุกข์สุขดิบของพวกเขา และพวกเขามาที่นั่นทำไม และบ้านเมืองของพวกเขาอยู่ที่ไหน?

ชายหนุ่มทั้งหมดจึงได้เล่าให้ชายผู้นั้นทราบถึงเรื่องราวของพวกเขา เขาจึงสัญญาว่าจะไม่มีอันตรายสำหรับทุกคน เขาแจ้งให้ชายหนุ่มทั้ง 8 คนทราบว่าเขาเป็นล่ามของกษัตริย์ ถัดมาอีก 2 วัน ชาวเมืองได้นำตัวชายหนุ่มทั้ง 8 คนเข้าเฝ้ากษัตริย์ พระองค์ถามพวกเขาผ่านล่ามของพระองค์ พวกเขาก็ทูลกับกษัตริย์เหมือนอย่างที่พวกเขาได้บอกแก่ล่ามผู้นั้นเมื่อวันก่อนว่า พวกเขาฝ่าท้องทะเลมาเพื่อที่จะได้เห็นถึงเรื่องราวและความแปลกประหลาดของท้องทะเลนี้ และเพื่อกำหนดจุดสิ้นสุดของท้องทะเลนี้

เมื่อกษัตริย์รับรู้สิ่งดังกล่าว พระองค์ก็ทรงหัวเราะ และตรัสแก่ล่ามของพระองค์ว่า เจ้าจงบอกแก่กลุ่มชายหนุ่มเถิดว่า พระบิดาของข้าเคยมีบัญชาให้ทาสจำนวนหนึ่งของพระองค์ล่องเรือออกสู่ท้องทะเลนี้ พวกนั้นได้ล่องเรือในความกว้างใหญ่ของท้องทะเลเป็นเวลาแรมเดือนจนกระทั่งแสงสว่างมันขาดหายไปจากพวกเขา พวกเขาจึงล้มเลิกภารกิจโดยมิได้ประโยชน์อะไรเลย ต่อมากษัตริย์ได้บัญชาให้ล่ามสัญญากับพวกเขาว่าจะมีแต่เรื่องดีๆ และขอให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อกษัตริย์ ล่ามก็ทำตามบัญชานั้น

หลังจากนั้นพวกเขาก็ถูกนำตัวกลับมายังที่คุมขังของพวกเขา จนกระทั่งเมื่อลมมรสุมตะวันตกเริ่มพัดมา ชาวเกาะนั้นจึงได้นำชายหนุ่มทั้งหมดลงเรือ พวกนั้นถ่างตาของพวกเขา (คือไม่ยอมหลับนอน) และพาชายหนุ่มทั้งหมดล่องเรือไปในท้องทะเลช่วงเวลาหนึ่ง ชายหนุ่มเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราคำนวณว่าเรือลำนั้นพาพวกเรือล่วงไปราว 3 วัน 3 คืน จนกระทั่งนำพวกเรามายังชายฝั่งแห่งหนึ่งพวกเราจึงถูกนำตัวออกมาโดยที่พวกเราถูกจับมัดไพล่หลัง

พวกเราถูกทิ้งไว้ ณ ชายฝั่ง จนกระทั่งถึงเวลาเช้าดวงอาทิตย์ทอแสง พวกเราตกอยู่ในความยากลำบากและย่ำแย่เนื่องจากเชือกที่มัดพวกเราเอาไว้ จนกระทั่งพวกเราได้ยินเสียงอึกทึกและเสียงของผู้คน พวกเราทั้งหมดจึงตะโกนร้อง ผู้คนก็มุ่งหน้ามาหาพวกเรา พวกเขาพบว่าพวกเรากำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ พวกเขาปลดเชือกที่มัดพวกเราเอาไว้ และถามถึงเรื่องราวของพวกเขา เราจึงเล่าเรื่องราวของพวกเราให้พวกเขาทราบ

ผู้คนเหล่านั้นเป็นชาวเบอร์เบอร์ พวกเขาคนหนึ่งกล่าวแก่พวกเราว่า : พวกท่านทราบหรือไม่ว่าระยะทางระหว่างพวกท่านกับเมืองของพวกท่านนั้นห่างกันเท่าใด? พวกเรากล่าวว่า : ไม่! เขาผู้นั้นจึงกล่าวว่า : ระหว่างพวกท่านและระหว่างเมืองของพวกท่านใช้เวลา 2 เดือน ผู้นำของชาวเมืองนั้นจึงกล่าวว่า “วา อะซะฟา” (โอ้อนิจจา!) สถานที่ตรงนั้นจึงถูกเรียกต่อมาจวบจนทุกวันนี้ว่า อะซะฟา ซึ่งก็คือเมืองท่าในมอรอโคนั่นเอง.

ภาพโลก ของ อัศ-ศ่อฟากิสียฺ (ฮ.ศ.958/ค.ศ.1551)

อัลอิดริซีย์ได้เติมเต็มคำพูดของเขาถึงเมือง อะซะฟาว่า : อาซะฟา (آسفى) ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นท่าเรือที่เรือทั้งหลายจะมาถึง ส่วนปัจจุบันคือ ตะญูซะฮฺ (หมายถึง ในสมัยของอัลอิดริซีย์) ซึ่งมีท่าเรืออยู่เป็นจำนวนมาก และอาซะฟานั้นมีชุมชนของผู้คนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวเบอร์เบอร์ และเรือต่างๆ จะขนถ่ายสินค้าจากเมืองนี้ในการเดินทางซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมของทะเลแห่งความมืดมน (อัลอิดฺรีซีย์ “ซิฟะตุ้ลมัฆริบว่าอัรฏูซซุดาน ว่ามิซร์ วัลอันดะลุส” หน้า 183 , 185 ; ลีดอน สำนักพิมพ์บรีล ค.ศ. 1894)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเดินทางนี้ซึ่งบรรดาชายหนุ่มชาวเอ็นดะลูเซียได้สร้างวีรกรรมเอาไว้ได้มีส่วนช่วยขจัดสิ่งปิดกั้นทางจิตใจของผู้คนในโลกเก่าที่มีต่อทะเลแห่งความมืดมน การเดินทางนี้ใช้เวลา 36 วันในขณะที่การเดินทางของโคลัมบัสใช้เวลา 38 วัน

และเรายังได้พบเจอจากเรื่องราวการเดินทางนี้ว่า มันมิใช่ความพยายามครั้งแรกสำหรับค้นพบสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทะเลนี้ หากแต่ยังมีความพยายามอื่นๆ อีกหลายครั้งเกิดมาก่อน เช่น ความพยายามของกษัตริย์คนก่อนในดินแดนที่บรรดาชายหนุ่มได้ลงพักอยู่ที่นั่น

อัลอิดรีซีย์ยังได้นำเสนอให้เราทราบเอาไว้ในตำราของเขาถึงลักษณะของทะเลแห่งความมืดมนโดยกล่าวว่า : ทะเลนี้มีจุดเริ่มต้นจากทางทิศตะวันตกของทะเลตะวันตกที่ถูกเรียกขานว่า ทะเลแห่งความมืดมน อันเป็นทะเลที่เบื้องหลังมันไม่เป็นที่รู้กันในทะเลนี้มีเกาะ 2 แห่ง ทั้งสองถูกเรียกว่า เกาะอัลคอลิดาต และจากหมู่เกาะนี้

ปโตเลมีได้เริ่มกำหนดเส้นรุ้งเส้นแวง และทั้งสองเกาะนี้กล่าวกันว่าในแต่ละเกาะจะมีรูปเคารพที่ทำจากหินมีความยาว (หรือสูง) ถึง 100 ศอก รูปเคารพนี้กล่าวกันว่ามีถึง 6 ตนหนึ่งในนั้นคือรูปเคารพ กอดิช ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอัลอันดะลุสไม่มีผู้ใดจากโลกที่มีผู้คนอยู่รู้ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังมัน (อ้างแล้ว หน้าที่ 1) สิ่งดังกล่าวย่อมหมายความว่า การเดินทางของบรรดาชายหนุ่มนักผจญภัยได้เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปยังวิชาภูมิศาสตร์ในช่วงเวลานั้นสำหรับกรณีของหมู่เกาะในท้องทะเลแห่งความมืดมนนั่นก็คือ เกาะแห่งฝูงแกะ นั่นเอง

ภาพโลก ของ อัชชะรีฟ-อัลอิดริสียฺ

นักประวัติศาสตร์ คอนดี ได้ย้ำถึงข้อสังเกตในตำราของเขาว่า กองทัพเรือแห่งอิสลามได้เคยล่องเรือในศตวรรษที่ 4 / คริสต์ศตวรรษที่ 10 จากท่าเรือของนครลิชบูนะฮฺ (ลิสบอน) เพื่อค้นพบหมู่เกาะอาซอรอส และบางส่วนของหมู่เกาะอันทีล และนั่นเป็นครั้งแรกที่มีการเผยโฉมดินแดนนิรนามในมหาสมุทรแอตแลนติก

และฮาดวิก ฟอตเลอร์ ชาวเยอรมันได้กล่าวว่า : ชาวอาหรับได้ทำการเดินทางในท้องทะเลอยู่หลายครั้งก่อนหน้าพวกโปรตุเกส ซึ่งมิได้เป็นไปเพื่อค้นพบชายฝั่งทางทิศตะวันตกของแอฟริกาเท่านั้น หากแต่เข้าสู่ท้องทะเลนั้นด้วย

พร้อมกับมีข้อสังเกตว่า การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามในแอฟริกานั้นได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช / คริสต์ศตวรรษที่ 9 และแผ่ยื่นลงไปทางใต้ในส่วนตะวันตกของแอฟริกาถึงมันดิญู

และดร.ซากิร มุสตอฟาเชื่อว่า มุฮำมัด บิน ฟู (สุลต่านในแคว้นอิสลามที่ตั้งระหว่างตอนใต้ของมอรอคโคจนถึงเซเนกัลและมาลี ซึ่งผู้คนในยุคโบราณรู้จักกันในชื่อ ชังกีฏ , ตักรู๊ร และ มาลี) คือผู้ที่ค้นพบอเมริกา กล่าวคือสุลต่านผู้นี้ได้จัดเตรียมเรือราว 2,000 ลำ , 1,000 ลำ สำหรับผู้ชาย และอีก 1,000 ลำสำหรับบรรดาเด็กๆ และสุลต่านได้นำกองเรือด้วยพระองค์เองมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งของอเมริกา (ดร.ซากิร มุสตอฟา : “มัน อิกตะซะฟ่า อัมรีกา” หน้า 16-21 มหาวิทยาลัยคูเวต 1976 , และอัลมุจตะมะอฺ 1968 , ดร.มุฮำหมัด ร่อชีดฺ อัลฟีล “อะซารุตติญาเราะฮฺ วัรริหฺละฮฺ ฟี ตะเฆาวุร อัลมะอฺริฟะฮฺ อัลญิฆรอฟียะฮฺ อินดัลอะร็อบ” ฉบับที่ 9 , สมาคมภูมิศาสตร์คูเวต , มหาวิทยาลัยคูเวต ค.ศ. 1979/ ฮ.ศ. 1399)