บทที่ 5 : บรรดาหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของชาวมุสลิมในทวีปอเมริกา

ใช่แล้ว! ชาวมุสลิมเคยอยู่ที่นั่น ในทวีปอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัสและก่อนหน้าชาวยุโรปเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว ในศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชมีกองเรือสำรวจมากกว่า 100 ลำเคยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตก และกองเรือนั้นก็มิได้กลับมาอีกเลย (มุฮำมัด นัซร์ อัลอะฮฺดับ “อัลกุชูฟ อัลญิฆรอฟียะฮฺ ว่า ดะวาฟิอุฮา” หน้า 52 วารสารอัลอุมมะฮฺ อันดับที่ 15 ปีที่ 2 , ร่อบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 1402 มกราคม ค.ศ. 1982)

ในทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มชนดั้งเดิมที่ถูกเรียกว่า มาธาไชนิส (Matachines) อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแม็กซิโก พวกเขามีประเพณีและสีผิวแบบชาวอาหรับ นอกเหนือจากชนิดของเครื่องแต่งกายที่พวกเขาสวมใส่ โดยพวกเขาจะสวมผ้าคลุมศีรษะหรือผ้าคลุมหน้าตามอย่างพลเมืองส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศอิสลามที่เป็นสตรี ทั้งในดินแดนซีกตะวันออกและซีกตะวันตกของโลกอิสลาม

หากผู้อ่านอยู่เบื้องหน้าสตรีคนหนึ่งจากกลุ่มคนขี้อายหรือพวกปิดหน้าเหล่านั้น ผู้อ่านก็จะนึกว่าตนเองกำลังอยู่เบื้องหน้าสตรีชาวมุสลิม นางจะปกปิดใบหน้าของนางด้วยผ้าคลุมหน้าทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลจากดินแดนในโลกเก่า ซึ่งมีท้องทะเลแห่งมหาสมุทรอันกว้างใหญ่และท้องทะเลทรายขวางกั้นอยู่

ข้าพเจ้า (ผู้แต่งหนังสือ) ค่อนข้างเชื่อว่าเผ่าดังกล่าวปรากฏมีขึ้นในทวีปอเมริกาเนื่องจากเป็นผลแห่งความพยายามของชาวมุสลิมที่มีอย่างต่อเนื่องในการสำรวจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังมหาสมุทรหรือทะเลแห่งความมืดมนนั้น อาจารย์อับดุลมุนอิม อัลฆุลามี่ย์ได้เล่าถึงการมีอยู่ของชาวอาหรับบางเผ่าในแถบเทือกเขาที่ซับซ้อนในประเทศแม็กซิโก

เขากล่าวว่า การปรากฏมีอยู่ของเผ่าเหล่านี้ทำให้เราเชื่อว่าการายงานบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าชาวอาหรับรู้จักอเมริกามาก่อนหน้าการรู้จักของเผ่าเหล่านี้ในดินแดนดังกล่าว แม้จะมีสาเหตุต่างๆ และมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ ก็ตาม (อับดุลมุนอิน อัลฆุลามีย์ “มะอาซิร อัลอะรอบ วัลอิสลาม ฟิลกุรูนอัลวุสฏอ” หน้า 59 สำนักพิมพ์ อุมมุ อัรร่อบีอีน , โมซุล. ฮ.ศ. 1359/ค.ศ. 1940)

และอ้างอิงจากวารสาร “อัลฮุดา” (ภาษาอาหรับ) ที่ออกในสหรัฐอเมริกาว่า : บรรดาพ่อค้าชาวเติร์กเคยล่องเรืออยู่ในเขต “สโมกฟิลด์” ในแม็กซิโก ในระหว่างล่องเรืออยู่นั้นพวกเขาได้พบชนเผ่าหนึ่งที่พูดภาษาอาหรับ อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาที่ซับซ้อน ชนเผ่านี้ยังคงดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก และไม่สุงสิงกับผู้คนรอบข้าง พวกเขายังคงรักษาประเพณีอย่างชาวตะวันออกเอาไว้ ชาวเผ่าคนหนึ่งได้กล่าวกับพวกพ่อค้าชาวเติร์กว่า พวกตนอาศัยอยู่ในเขตแดนดังกล่าวนับแต่หลายร้อยปีมาแล้ว

หนังสือพิมพ์ “อัลฆิรบาลฺ” (ภาษาอาหรับ) ที่ออกในแม็กซิโกได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบถึงการค้นพบของชาวเลบานอนคนหนึ่งที่ชื่อ ตอนูซ อัชชันตีรีย์ ซึ่งค้นพบชนเผ่าอาหรับในเขต สมูกฟิลด์ ซึ่งเป็นเทือกเขาในแม็กซิโก

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวยังได้ชี้ว่า อัชชันตีรีย์ผู้นี้ได้เคยสนทนากับชาวเผ่าบางคนด้วยสำเนียงอาหรับ และเขาได้ฟังได้ความว่า ชาวเผ่าดังกล่าวมาจากชาวอาหรับแห่งเมืองซิญิลมาซะฮฺ ในมอรอคโค พวกเขาจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปในเขตของพวกเขา และพวกเขามีทรัพย์สินมีค่าและของโบราณมากมายที่พวกเขาปรารถนาจะนำทรัพย์สินเหล่านั้นไปให้ถึงนครมักกะฮฺ

มุฮำหมัด อัลคอตตอบีย์ มีความเห็นในการศึกษาของเขาว่า บรรดาชาวมุสลิมเหล่านั้นได้ไปยังแม็กซิโกหลังจากมีเหตุการณ์บีบบังคับให้ชาวมอริสโกในเอ็นดะลูเซียต้องอพยพออกจากสเปน แต่เราไม่เห็นด้วยกับเขาในความเห็นนี้เพราะ อันชันตีรีย์ ชาวเลบานอนระบุว่าพวกเขามาจากซิญิลมาซะฮฺ (เมืองทางใต้ของมอรอคโค)

นอกเหนือจากการให้น้ำหนักของเราที่ว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่พยายามสำรวจดินแดนเบื้องหลังมหาสมุทรแอตแลนติกก่อนหน้าโคลัมบัส ส่วนการที่มุฮำหมัด อัลคอตตอบีย์ระบุถึงการมีอิทธิพลแบบชาวเอ็นดะลูเซียในหมู่พลเมืองอเมริกานั้นมีสาเหตุกลับไปยังกรณีของการอพยพขนานใหญ่ทั้งจากชาวสเปนและโปรตุเกส ซึ่งอารยธรรมอิสลามในเอ็นดะลูเซียมีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างมากสู่ทวีปอเมริกา

มุฮำหมัด อัลคอตตอบีย์ยังคงพยายามอธิบายถึงการเรียกขานชนเผ่าเหล่านั้นว่า พวกคนขี้อาย หรือพวกปิดหน้าว่า ชาวแม็กซิกันยังคงเรียกขานชาวอาหรับหรือมุสลิมมอรอคโคด้วยคำว่า โมโร (Moro) ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกขานคนเหล่านั้นในหลายๆ โอกาสด้วย ชื่อนี้ชื่อเต็มของชนเผ่าเหล่านี้คือ “เอลราโมรี่” โดยปรากฏคำว่า โมโรในท้ายคำ เรื่องราวในความเห็นของอัลคอตตอบีย์ซับซ้อนและเกี่ยวพันกันอย่างน่าทึ่งในเวลาเดียวกัน

Matachinesหลังจากนั้นเขาก็ยังคงอธิบายถึงสิ่งที่เขากล่าวมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ นักบูรพาคดี เรนาต ดูซี่ย์ได้ระบุเอาไว้ในพจนานุกรมของเขาเกี่ยวกับคำในภาษาสเปนและโปรตุเกสที่มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาอาหรับว่า คำศัพท์ มาธาชีน (Matachin) มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาอาหรับว่า มุตะวัจญิฮีน (พวกปิดหน้า) – Mutawajjihin – ซึ่งหมายความตามที่ดูซี่ย์ระบุเอาไว้ในพจนานุกรมของเขา – ว่า การสวมผ้าคลุมบนใบหน้า และคำนี้มาจากคำนามว่า “วัจญ์ฮุน” และคำๆ นี้ยังได้มีการใช้ในภาษาอิตาเลี่ยนอีกด้วย

เบอร์นาล ดิอาซ ได้สาธยายเอาไว้ใน “ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง” ของเขาว่า เขาเคยเห็นการเต้นระบำในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของแม็กซิโก เมื่อปี 1521 ที่คล้ายคลึงกับการเต้นระบำชนิดหนึ่งในอิตาลี ซึ่งเรียกกัน –matachines- หรืออย่างที่เรียกกันในภาษาอิตาเลียนว่า Matatacine

และรากศัพท์ของคำว่า “อะซิล” นั้นน่าจะเพี้ยนมาจากคำอาหรับว่า อัลมุฮฺตะชิมัน (พวกคนขี้อาย) มาจากคำว่า อัลฮัชมะฮฺ เนื่องจากพวกเขาจะไม่เปิดใบหน้าและพยายามปกปิดศีรษะและเรือนร่างของพวกเขา คำว่า Matachines (อัลมุฮฺตะชิมูน) มีรูปเอกพจน์ว่า Matachin (มุฮฺตะชิม) โดยมีการเปลี่ยนอักษรมีมเป็นอักษรนูนเพื่อให้ออกเสียงเบาในภาษาสเปนิช เหมือนอย่างคำนามเป็นจำนวนมากที่เข้ามาภาษาสเปนิชและใช้กันอย่างนั้น ดังตัวอย่างของคำต่อไปนี้

อัลฮะรีม เป็น ฮารีน (Haren) , อิหม่าม เป็น อิมาน (iman) , สะมูม คือลมร้อนที่โดยมากจะพัดผ่านอียิปต์ในช่วงเดือนพฤษภาคม เรียกในภาษาสเปนิชว่า ซีมูน (Simun) , ติลัซมุน เป็น ติลิสมาน (Talis,am) , อัลบัฏมุ้ เป็น อัลโบติน (Albotin) , อัลหะกีม เป็น ฮาคาน (Hacan) , เมาซิม เป็น มอนซอน (Monzon) และอื่นๆ

สังเกตได้ว่า อักษร “มีม” ในคำเหล่านี้ทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนเป็นอักษร “นูน” นักค้นคว้า อัดลี่ย์ ฏอฮิร นู๊ร ได้มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับคำว่า Matachin เขากล่าวว่า : คำ มุตะวัจฺญิฮีน แต่เดิมหมายถึง นักเต้นระบำที่เร่าร้อน

พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสได้ระบุคำว่า Mattassim ในภาษาฝรั่งเศสมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ เบอร์กิเนียนก็กล่าวเหมือนกันว่า คำ Motowaddjhin ก็คือคำว่า มุตตะวัจญิฮีนในภาษาอาหรับนั่นเอง และอัดลี่ย์ ฏอฮิรได้นำเสนอความเห็นของดูซี่ย์ที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ เขาชี้ว่า ดูซี่ย์กล่าวว่า คำในภาษาสเปนนิช มุตะวัจญิฮีน มาจากคำว่า วัจญฮุน และดูเหมือนว่าคำๆ นี้เป็น หพูพจน์ของคำว่า มุตะวัจญิฮฺ ซึ่งผู้คนทั่วไปใช้เรียกผู้ที่ปิดหน้าด้วยหน้ากาก (ดู อัดลี่ย์ ฏอฮิร นู๊ร “กะลิมาตฺ ฟิล อะรอบียะฮฺ ฟิลลุเฆาะฮฺ อัลอัสบานียะฮฺ” หน้า 255. ดารุ้ลนัชรฺ ลิลญามิอาต อัลมิซรี่ยะฮฺ 1971 , มุฮำหมัด อัลคอตตอบีย์ “อัชชัรกุลเอาซัฏ” หน้า 8 อันดับที่ 4760 ; 10/12/1991)

นี่คือความเห็นของมุฮำหมัด อัลคอตตอบีย์ในการอธิบายถ้อยคำ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกับข้อเท็จจริงทางภาษา

ในประเทศบราซิลเช่นกัน

ในวารสาร “ตะวันออก” ของบราซิลระบุว่า ดร.เบอร์ซิโน่ มาดูริอา โดบินิโอ ผู้มีตำแหน่งสำคัญคนหนึ่งในบราซิลได้มีรายงานส่งไปยังรัฐบาลบราซิล โดยชี้ชัดในรายงานนั้นว่า มีชาวมุสลิมบราซิเลียนอาศัยอยู่ในรัฐบาฮิยาของบราซิลเป็นเวลานานมาแล้ว พวกเขามีจำนวนพลเมืองขนาดใหญ่ เพราะมีจำนวนมากกว่าครึ่งของชนผิวสีที่อยู่ในรัฐดังกล่าว ดร.ผู้นี้กล่าวว่า : ชาวมุสลิมเหล่านี้ได้เข้ามายังบราซิลตั้งแต่หลายศตวรรษมาแล้ว โดยมุ่งหน้ามาจากแอฟริกา

เป็นไปได้ว่า ชาวมุสลิมในแม็กซิโกและบราซิลที่ถูกกล่าวถึงมาจากชาวมุสลิมที่เคยนำเรือออกสู่ท้องทะเลเพื่อสำรวจในศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราชในกองเรือที่มีจำนวนมากกว่า 100 ลำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกและไม่ได้กลับไปยังแผ่นดินเกิดอีกเลย และบางส่วนของกองเรือนั้นน่าจะไปถึงอเมริกาและเลือกที่จะตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น

นักค้นคว้าเป็นจำนวนมากได้ระบุว่ามีอาณานิคมของชาวอาหรับในอเมริกา ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1150-1200 นั่นหมายความว่า เป็นเวลาก่อนหน้าโคลัมบัสจะถือกำเนิดในเจนัวราว 3 ศตวรรษ พวกเขากล่าวว่าเหตุที่มีอาณานิคมของชาวอาหรับปรากฏอยู่ย้อนกลับไปยังกรณีการแพร่กระจายของชาวอาหรับในแอฟริกาซึ่งบรรลุขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และแผ่ยื่นลงสู่ทางตอนใต้ในแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกาจนถึงมันดีญู และจากที่นั่นก็มีการเคลื่อนย้ายผู้คนสู่ มาชูกันในอ่าวแม็กซิโก

อิทธิพลทางภาษา

ในนิตยสาร “อัลมุกตะฏอ๊ฟ” ออกในปี ฮ.ศ. 1345 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1926 มีบทความคัดย่อจากข้อเขียนของเลเอบร์ตันคลีน ซึ่งเผยแพร่ในนิตยสาร World Today ระบุว่า : มีคำอาหรับปรากฏอยู่ในภาษาของชนเผ่าอินเดียนแดงซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในอเมริกา และความเก่าแก่ของถ้อยคำเหล่านี้ย้อนกลับไปยังปี ฮ.ศ. 689 ตรงกับ ค.ศ. 1290 นั่นหมายความว่าก่อนหน้าการมาถึงอเมริกาของโคลัมบัสราว 2 ศตวรรษ

และปรากฏในนิตยสารอัลมุกตะฏ๊อฟเช่นกัน ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ข้อเขียนของบาทหลวงเออเนสต๊าซ เครมลี่ ซึ่งระบุว่า : งานวิจัยทางวิชาการร่วมสมัยบางส่วนได้กล่าวว่าชาวมุสลิมเคยรู้จักอเมริกาก่อนโคลัมบัส บรรดาเจ้าของทฤษฎีนี้ต่างก็ชี้ชัดว่ามีคำต่างๆ ในภาษาอาหรับปรากฏอยู่ในภาษาของชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา และเมืองของอินเดียนแดงบางกลุ่มคล้ายคลึงกับเมืองในดินแดนอิสลามอย่างมาก

ลิโอ เวบเตอร์ ได้อ้างหลักฐานในหนังสือของเขาที่ชื่อ “แอฟริกาและการค้นพบอเมริกา” ยืนยันว่าชาวอาหรับรู้จักอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัสราว 2 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย เนื่องจากมีคำภาษาอาหรับปรากฏอยู่ในภาษาของอินเดียนแดง ตามคำยืนยันนี้แสดงว่าชาวอาหรับได้ค้นพบอเมริกาและตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่นก่อนหน้าชนชาติอื่นเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขากับดินแดนตะวันออกได้ขาดตอนลง

วิชาพฤกษศาสตร์ได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้

ดร.หุย เลซลี่ย์ อาจารย์ในภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย – บุคคลผู้นี้มีเชื้อสายจีน – ได้ย้ำในการบรรยายทางวิชาการที่สมาคมบูรพาคดีอเมริกันจัดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟีย โดย ดร.หุย ได้อ้างในบทวิจัยของเขาถึงเอกสารสำคัญที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในประเทศจีน ซึ่งมีอายุระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 / ศตวรรษที่ 6 – 7 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช ว่าชาวมุสลิมเคยไปถึงชายฝั่งตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้จากทางดินแดนปลายสุดของทิศตะวันตกของโลกอิสลาม คือจากอัดดารุ้ล บัยฏออฺ (คลาซาบังก้า) ในมอรอคโค

ดร.หุย เลซลี่ย์ ได้ใช้เวลาถึง 8 ปี ในการศึกษาและติดตามการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้เกษตรและสัตว์ต่างๆ ทั่วโลก ดร.ลุน เชียงหยาง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์และภาษาจีน ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และดร. ริชาร์ด วอลด์ฟ์ ทั้งสองท่านก็สนับสนุนทฤษฎีนี้เช่นกัน ดร.ริชาร์ด กล่าวว่า : “ปัจจุบันนี้สมควรที่บรรดาอาจารย์ชาวอาหรับจะต้องติดตามการศึกษาประวัติศาสตร์ของพวกเขา และพวกเขาจะต้องเริ่มศึกษาจากเขตแดนนี้” ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ยืนยันถึงการศึกษานี้คือ

– การมีมันสำปะหลังในหมู่เกาะ ของทะเลแคริเบียนในขณะที่โคลัมบัสไปถึง ซึ่งมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในแอฟริกา

– มีการเพาะปลูกข้าวโพด และผลยูค่าในแอฟริกาก่อนการถือกำเนิดของโคลัมบัสเป็นเวลานานมาแล้ว พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นที่รู้จักกันดี อัลกอชฺกอนดีย์ผู้ประพันธ์ตำรา “ซุบฮุลอะอฺชา” ก่อนหน้ายุคโคลัมบัส 1 ศตวรรษได้เล่าถึง ชาวตุ้กรู๊ส ว่า : พวกเขามีข้าวโพดซึ่งเป็นธัญพืชหลักส่วนใหญ่ของพวกเขา (ดร.มุฮำหมัด ร่อซีด อัลฟีล อ้างแล้ว หน้า 7 ) เมืองตุ๊กรูร (Toucouleurs) เป็นพลเมืองผิวดำที่อาศัยอยู่ในเซเนกัลและกีเนีย ทวีปแอฟริกาตะวันตก

บรรดาหลักฐานทางโบราณคดีอีกเช่นกัน

ในทวีปอเมริกา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนหนึ่งที่ยืนยันถึงสิ่งที่เรามีความเห็นมาแล้ว อาทิเช่น

– มีการขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์ที่ส่วนหัวกะโหลกมีความเกี่ยวพันกับชาติพันธุ์เฮไมท์ (อัลฮามียะฮฺ) ในถ้ำต่างๆ ของหมู่เกาะบาฮามาซ ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปมากกว่า 10 ศตวรรษ

– อาจารย์รอฟิก อัลอัซฺม์ ได้กล่าวในคำปาฐกถาของเขาว่า : “ชาวมุสลิมได้ไปถึงอเมริกาก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะรู้จักอเมริกาเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว และได้มีการค้นพบเมียะฮฺรอบ (ที่ยืนนำละหมาดของอิหม่ามในมัสยิด) ในสถานที่ปรักหักพังของโบราณสถานแห่งหนึ่งในอเมริกา ด้านบนของเมียะฮฺรอบที่ว่านี้มีโองการอัลกุรอานถูกเขียนเอาไว้ด้วยลายเส้นแบบอัลกูฟีย์โบราณ”

– มีการค้นพบเหรียญกษาปณ์แบบอิสลามในอเมริกา

ท้ายที่สุด

ทุกสิ่งที่กล่าวมาผ่านหน้ากระดาษของหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่สิ่งประกันว่าเราชาวมุสลิมจำต้องหวนกลับมาเขียนประวัติศาสตร์ของเราใหม่อีกครั้งหนึ่งกระนั้นหรือ? เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกเองก็ประจักษ์พยานยืนยันถึงการที่ชาวมุสลิมนำหน้าพวกเขามาก่อนในการค้นพบดินแดนที่ถูกรู้จักในทุกวันนี้ว่า ทวีปอเมริกา และเจ้าของทฤษฎีนี้ก็คือ มิสเตอร์เจฟรี่ย์ อาจารย์ประจำภาควิชา กายวิภาคศาสตร์สังคมศึกษา ในมหาวิทยาลัย Witwatersrand รัฐทรานซิฟาล (แอฟริกาใต้) เขามีความเห็นว่า การค้นพบนี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ราวคริสตศักราชที่ 1000 หรือหลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย นั่นหมายความว่า ก่อนหน้าโคลัมบัสเป็นเวลาถึง 5 ศตวรรษด้วยกัน