ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเขียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ตอนที่ 1)

ชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม “ถือกันว่าภาษามลายูคือภาษาในทางศาสนาสำหรับใช้ในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม บรรดาตำรับตำราศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เป็นภาษามลายู แต่เมื่อมีการจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยทางการไทยในระยะหลังนี้ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจศาสนาอย่างลึกซึ้งแก่ชาวมลายูมากนัก ตำราศาสนาที่เขียนโดยชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากนักการศาสนาชาวมลายูปาตานี    ดังนั้นสังคมมลายูยังมีความเชื่อว่าภาษามลายูเป็นภาษาที่ใช้ในเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่พวกเขาได้พยายามปกป้องตลอดมา

ที่สำคัญประการหนึ่ง สำนึกของชาวมลายูปาตานีนั้นไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ระหว่างความเป็นมลายูกับศาสนาอิสลาม….” (อารง สุทธาศาสต์ “เบื้องหลังขายแดนภาคใต้” 1982 หน้า 11-18 อ้างจาก “ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู โดย อารีฟีน บินจิ และคณะ พ.ศ.2550 หน้า หน้า 331)

“ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นมักจะก่อให้เกิดอารมณ์ร่วม หรือเกิดการรวมตัวในพวกพ้องเดียวกัน ขณะเดียวกันความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธกับมลายูมุสลิมก็จะพบเห็นชัดเจนขึ้น ภาษาพูดที่ใช้ในการสื่อสารต่อกันในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ภาษาเป็นเครื่องบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวมลายู ภาษาที่แตกต่างกันเป็นภาพที่แสดงออกถึงความเชื่อและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน…ภาษามลายูที่เป็นภาษาของชาวมลายูปาตานีนั้นได้เป็นที่ยอมรับว่า เป็นภาษาที่ฝังรากลึกในสังคมนี้มานานก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีของไทยเสียอีก…” (อารง สุทธาศาสตร์ ; อ้างแล้ว , อารีฟีน บินจิและคณะ ; อ้างแล้ว หน้า 328)

“ประเทศไทย (รัฐบาลกลาง) ใช้อำนาจการปกครองจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๔๕ ขณะที่ยังเป็นประเทศสยาม และสามจังหวัดดังกล่าวอยู่ในฐานะเป็น “บริเวณเจ็ดหัวเมือง” ซึ่งไม่มีทายาทเจ้าเมืองมลายูมุสลิมเป็นเจ้าเมือง (ราญา) อีกต่อไป ผู้คนที่นี่จึงต้องเป็น “คนสยามเชื้อสายมลายู” โดยปริยาย เมื่อประเทศสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย คนสยามกลุ่มนี้ถูกกำหนดให้เป็นคนไทยเต็มตัว คือเป็นคนสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาอิสลาม และเรียกสั้นๆ ว่า “ไทยมุสลิม”

ในขณะที่เจ้าของนามเรียกตนเองว่า “ออแร นายู” (ออแร มลายู = คนมลายู) ซึ่งหมายถึงเป็นผู้สืบเชื้อสายมลายู / เชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ใช้วิถีชีวิตอย่างมลายูอิสลามและปฏิเสธความเป็น “คนสยาม” (ออแร สิแย) หรือ “คนไทย” ตามที่เข้าใจว่าเป็นคน “ที่นับถือศาสนาพุทธ” คนเหล่านี้เคยรังเกียจ “ภาษาไทย” เพราะถือว่าเป็นภาษาแห่งพุทธศาสนา จึงไม่นิยมเรียนภาษาไทย เพราะกลัวจะกลายเป็นคนพุทธ ความเข้าใจว่า “สยาม” หรือ “ไทย” หมายถึง “พุทธศาสนา” ยังผูกขาดในความคิดของคนรุ่นเก่า (แก่) อีกหลายคนที่อยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” (รัตติยา สาและ , ปตานี ดารุสสะลาม (มลายู-อิสลามปตานี) สู่ความเป็น “จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” ใน “รัฐปัตตานี ในศรีวิชัยฯ” ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน 2547 , หน้า 257-258)

“ความจริงแล้วโลกอิสลามกับโลกพุทธศาสนานั้นมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะความเกี่ยวโยงกับภูมิภาคของโลกตะวันออก กล่าวคือ โลกพุทธศาสนานั้นจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา ลาว เขมร เป็นต้น ซึ่งเป็นชาติที่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท แต่โลกมลายูอิสลามนั้นมีความผูกพันใกล้ชิดกับโลกมลายูที่เรียกว่า นูซันตารา และโลกที่มีวัฒนธรรมอิสลาม เช่น อาหรับ เปอร์เซีย ในตะวันออกกลาง และเอเซียตะวันออก…” (พีรยศ รอฮิมมูลา “บรรยายเรื่องอิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ” มอ. ปัตตานี 2549 อ้างจากอารีฟีน บินจิและคณะ อ้างแล้ว หน้า 315)

“ส่วนมุสลิมไทย ๓ จชต. โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นเจ้าของแผ่นดิน ๓ จชต. มาตั้งแต่ยังไม่ถูก “สยาม” ครอบครอง ซึ่งสมัยนั้นชนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “คนปตานี” หรือ “ออแร ตตานิง” ชนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ พูดภาษามลายูและใช้วิถีชีวิตอย่างมลายูที่เกาะติดกับหลักการของศาสนาอิสลาม (วัฒนธรรมอิสลาม) และเรียกตนเองว่า “ออแร นนายู” หรือ “คนมลายู” ต่อมามีการแบ่งกลุ่มเป็น “ออแร นนายู ตตานิง” (คนมลายูปตานี) และ “ออแร นนายู บาเกาะ” (คนมลายูกรุงเทพฯ) ด้วยนัยที่แตกต่างกัน” (รัตติยา สาและ , อ้างแล้ว หน้า 265-266)


ข้อเขียนที่ถ่ายทอดไว้ข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติบางอย่างของผู้เขียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีต่อความเป็น “มลายูชน” ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางภาษา ความเชื่อทางศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพลเมืองสยามหรือ “ออแร สิแย” ซึ่งส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชน ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ระหว่างพลเมืองสองกลุ่มนั้นจะถูกตอกย้ำอยู่หลายครั้งในข้อเขียนดังกล่าวจนดูเหมือนเป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนหรือผู้พูดพยายามสื่อให้เห็นถึงลักษณะความเป็นตัวตนหรือบุคคลซึ่งอยู่ในโลกคนละใบ

คือโลกอิสลามกับโลกพุทธศาสนา โดยสมมุติว่ามลายูชนอยู่ในโลกอิสลาม และคนสยามหรือคนไทยที่มิใช่มลายูชนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในโลกพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละโลกนั้นมีปริบทและความสัมพันธ์กับดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ผลที่เกิดจากการกำหนดลักษณะความเป็นตัวตนหรือบุคคลซึ่งเรียกว่า “อัตลักษณ์”

และการสมมุติขอบเขตและดินแดนทางภูมิศาสตร์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชน 2 กลุ่ม จึงกลายเป็นเรื่องของคนที่อยู่กันคนละโลก และไม่มีความปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องในระหว่างกันโดยปริยายและย่อมหลีกเลี่ยงจากนัยของการแบ่งแยกไม่พ้นไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสิ่งที่มีอัตลักษณ์ต่างกันมีบริบทและภูมิศาสตร์ที่ต่างกันย่อมง่ายสำหรับการแบ่งแยกเสมอ และการแบ่งแยกจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนทุกคราที่มีการโฟกัสไปยังอัตลักษณ์และบริบทตลอดจนภูมิศาสตร์ทางกายภาพของตัวตนหรือบุคคลแต่ละฝ่ายซึ่งในกรณีนี้ถูกสมมุติว่าเป็นคนละโลกกัน

ในข้อเท็จจริง ข้อเขียนข้างต้นอาจจะมุ่งหมายในเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพในเชิงสมมุติ แต่สิ่งที่เคลือบแฝงมาในถ้อยคำที่ใช้สื่อนั้นเจือไว้ด้วยทัศนคติของผู้เขียนและผู้พูดที่มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงทั้งหมดก็ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีข้อสังเกตอยู่หลายประการที่มีต่อมุมมองและทัศนคติดังกล่าวว่าสมจริงและถูกต้องมากน้อยเพียงใด

ซึ่งข้อสังเกตนี้ที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นสิ่งที่เกิดจากบุคคลนอกพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่ใช่มลายูชนที่พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวันแต่เป็นมลายูชนที่พูดภาษาไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ถือศาสนาอิสลามมีวิถีชีวิตอย่างมลายูที่เกาะติดกับหลักการของศาสนาอิสลาม (วัฒนธรรมอิสลาม) และแน่นอนเป็นมุสลิมที่มิใช่ชาวพุทธ หรือ “ออแร สิแย” ตามมายาคติที่ข้อเขียนนั้นพยายามสื่อ จึงอาจจะกล่าวได้ ว่าข้อสังเกตที่จะกล่าวถึงนี้เป็นข้อสังเกตของบุคคลที่ 3 ที่มิใช่มลายูชนตามคำจำกัดความของข้อเขียน และมิใช่คนสยามที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ถูกแบ่งแยกออกจากความเป็นมลายูชนโดยอัตลักษณ์ ข้อสังเกตมีดังนี้

1. “สำนึกของชาวมลายูปาตานีนั้นไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ระหว่างความเป็นมลายูกับศาสนาอิสลาม” ถ้อยคำนี้สื่อถึงอะไร?

หากสื่อว่าความเป็นมลายูเป็นสภาวะที่คู่กันกับความเป็นศาสนาอิสลามซึ่งไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ แน่นอนในสำนึกของชาวมลายูปาตานีอาจจะเป็นเช่นนั้นตามที่ข้อเขียนอ้าง แต่ความจริง (ซึ่งผู้สังเกตเข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องจริงที่ถูกต้องมากกว่า) นั่นเป็นเพียงเรื่องของความสำนึกของมนุษย์ที่มีต่อศาสนาและความเชื่อที่ตนยึดมั่นซึ่งถือเป็นสิ่งที่งดงามและน่าชื่นชมหากสำนึกนั้นมีบ่อเกิดจากความศรัทธาและความเพียรที่จะนำหลักคำสอนของศาสนามาใช้อย่างจริงจังและเคร่งครัดในทุกมิติของการดำเนินชีวิตดังเช่นถ้อยคำที่ใช้ว่า “เกาะติด” กับหลักการของศาสนาอิสลาม

ซึ่งคำว่า “เกาะติด” ย่อมมิได้หมายความว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือ มลายูยังคงมีสภาวะของความเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่อง ส่วน “อิสลาม” คือสัจธรรมอันสมบูรณ์ที่ไร้ข้อบกพร่อง มนุษย์ที่มีสภาวะแห่งความสมบูรณ์ และเป็นเสมือนอิสลามที่มีตัวตนและมีชีวิตซึ่งจับต้องได้มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น คือ ศาสนฑูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) แต่สำหรับมนุษย์โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชาวอาหรับหรือชาวมลายู หรือชนชาติพันธุ์ใดก็ตามไม่ได้มีลักษณะพิเศษเช่นนั้น

เหตุนี้พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า

الدِّينَ عِنْدَ اللَّهِ الْإِسْلَامُ  “แท้จริงศาสนา ณ ที่อัลลอฮฺนั้นคือ อิสลาม”

พระองค์มิได้ทรงกล่าวว่า “แท้จริงศาสนา ณ ชาติพันธุ์อาหรับนั้นคือ อิสลาม” เพราะชาติพันธุ์อาหรับหรือชาติพันธุ์ใดๆ ก็ตามเป็นเพียงมนุษย์ที่มีข้อบกพร่อง

เมื่ออิสลามคือสัจธรรมอันสมบูรณ์ เป็นศาสนาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) พระองค์จึงทรงอ้างอิงอิสลามเอาไว้ ณ ที่พระองค์ เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) คือศาสนฑูตผู้นำสัจธรรมอันสมบูรณ์คืออิสลามนั้นมายังมนุษย์ชาติและเป็นผู้แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสลามที่มีชีวิตและจับต้องได้ ทุกสิ่งที่ท่านได้สั่งสอนจึงเป็นอิสลามล้วนๆ และเป็นเนื้อเดียวกัน สัจธรรมที่ท่านได้แสดงเอาไว้ก็คือสัจธรรม ณ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) สิ่งที่ท่านสั่งใช้ก็คือสิ่งเดียวกันที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงใช้ สิ่งที่ท่านห้ามก็คือสิ่งเดียวกันที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงห้าม

เหตุนี้บทบัญญัติทางศาสนาอิสลามจึงเป็นสิ่งที่มาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งท่านนบีมุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นผู้นำมาประกาศแก่มนุษยชาติ จริงอยู่ท่านนบีมุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นชาวอาหรับโดยชาติกำเนิดและเผ่าพันธุ์ ภาษาที่ท่านใช้ในการสื่อสารกับผู้คนคือภาษาอาหรับ วิถีชีวิตและจารีตที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ดำเนินตลอดอายุขัยของท่านก็คือ วิถีชีวิตและจารีตอย่างชาวอาหรับ แต่ความเป็นชาติพันธุ์อาหรับจะไม่มีค่าแต่อย่างใด

หากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นเพียงชาวอาหรับคนหนึ่งที่ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกาศสัจธรรมในฐานะของ ศาสนฑูตแห่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ภาษาอาหรับก็คงเป็นเพียงภาษาธรรมดาๆ ของชาติพันธุ์หนึ่งที่อาจจะตายและสูญไปตามกาลเวลา หากอัล-กุรอานมิได้ถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ วิถีชีวิตและจารีตของชาวอาหรับก็คงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของอนารยชนในท้องทะเลทรายที่เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ หากไม่มีบุรุษที่มีนามว่า มุฮัมมัดศาสนฑูตของอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นผู้ปฏิวัติจารีตประเพณีเหล่านั้นด้วยหลักคำสอนอิสลาม

ยิ่งไปกว่านั้นในแง่ของระยะเวลาทางประวัติศาสตร์เราจะพบว่า ชาติพันธุ์อาหรับมีมาก่อนการประกาศศาสนาอิสลามโดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ภาษาอาหรับและวิถีชีวิตตลอดจนจารีตประเพณีของชาวอาหรับก็มีมาก่อนการประกาศศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน ในทำนองนั้น ชาติพันธุ์มลายู ภาษามลายูและจารีตประเพณีของชาวมลายูในภูมิภาคนี้ก็มีมาก่อนหน้าการเข้ามาของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้เช่นกัน

ครั้งหนึ่งโลกมลายูไม่ได้อยู่ในโลกอิสลามตามที่ข้อเขียนข้างต้นกล่าวถึง แต่โลกมลายูเป็นส่วนหนึ่งของโลกพุทธศาสนาในอดีต อย่างน้อยก็สามารถย้อนกลับไปในห้วงเวลาของลังกาสุกะ , ศรีวิชัย , และมัชฌาปาหิตและแม้แต่มะละกาในช่วงก่อนรัชสมัยการเปลี่ยนศาสนาของปรเมศวร ตลอดจนรัฐปัตตานีเองในช่วงก่อนการเปลี่ยนศาสนาของพญาตูนักปา (พญาตู อันตารา) ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกพุทธศาสนาเช่นกัน (อารีฟีน บินจิ และคณะ ; อ้างแล้ว หน้า 57-63)

จึงเกิดคำถามว่า ความเป็นมลายู ภาษามลายู และจารีตประเพณีของชาวมลายู  เพิ่งจะอุบัติขึ้นในเวลาที่ราชสำนักมลายูเปลี่ยนศาสนาจากพุทธ-พราหมณ์มาเป็นอิสลามแค่นั้นหรือ? หากตอบว่าใช่! ก็แสดงว่า ลังกาสุกะ ศรีวิชัย และมัชฌาปาหิต ตลอดจนโกตามหาลิฆัยมิใช่ส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกมลายู แต่ถ้าบอกว่า ไม่ใช่! แล้วเสริมว่า ความเป็นมลายูมีมาก่อนหน้านั้นแล้วนับแต่เบื้องบรรพกาล ความสมจริงของข้อเขียนนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลงไปโดยปริยาย

ดังที่กล่าวมา ย่อมรับรู้ได้ว่าข้อเขียนที่พยายามสื่อว่ามลายูกับอิสลามเป็นสิ่งที่เกาะติดกันจนแยกไม่ออกในสำนึกของมลายูนั้นเป็นสิ่งกำกวมโดยข้อเท็จจริง 2 ประการ คือ เป็นการอ้างสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ไปยังสิ่งที่สมบูรณ์และเป็นสัจธรรม คืออ้างความเป็นมลายูซึ่งเป็นสภาวะของมนุษย์ที่บกพร่องไปยังสัจธรรมที่สมบูรณ์อันหมายถึงอิสลาม ประการนี้หากจะอธิบายให้ชัดเจนและจับต้องได้มากยิ่งขึ้น ก็คือภาวะของบุคคลที่เรียกว่า มุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม กับหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นสัจธรรม  อิสลามนั้นสมบูรณ์หมดจดไม่มีข้อบกพร่อง แต่มุสลิมนั้นเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีชาติพันธุ์ใดก็ตามมนุษย์ย่อมมีข้อบกพร่องเป็นปรกติ

สิ่งที่มุสลิมเชื่อและปฏิบัติในบางครั้งหรือหลายครั้งอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนของอิสลามก็ได้เป็นปรกติ จึงไม่จำเป็นโดยตรรกะว่าทุกสิ่งที่มุสลิมเชื่อและปฏิบัตินั่นคือ “อิสลาม” เสมอไป เหตุนี้โดยหลักการของศาสนาจึงถือเอาหลักคำสอนที่มีตัวบททางศาสนาเป็นมาตรฐานในการตัดสินพฤติกรรมของมนุษย์ว่าถูกหรือผิด และพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งถึงแม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นมุสลิมยังไม่ใช่บรรทัดฐานที่จะตัดสินว่านั้นคือ “อิสลาม” เพราะมุสลิมอาจจะเข้าใจผิดและตีความตัวบททางศาสนาคลาดเคลื่อนไปก็ได้

ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงของห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งเดียวกัน กล่าวคือความเป็นชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมมีมาก่อนการประกาศศาสนาอิสลามโดยท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก่อนหน้าอิสลาม สิ่งดังกล่าวไม่ได้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามโดยสารัตถะและแม้เมื่ออิสลามได้ประกาศขึ้นแล้ว สิ่งดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ถึงแม้ว่าจะถูกปฏิวัติด้วยหลักคำสอนของอิสลามโดยโครงสร้างทางสังคมและความเชื่อก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นได้หลอมรวมจนกลายเป็นอิสลามไปโดยบริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดกาลก็หาไม่ เพราะบ่อยครั้งที่เราจะพบว่าชาวอาหรับซึ่งกลายเป็นมุสลิมไปแล้วนานนับศตวรรษออกห่างจากหลักคำสอนของอิสลามในหลายห้วงทางประวัติศาสตร์ แม้ทุกวันนี้จารีตประเพณีของชาวอาหรับมุสลิมที่ตกทอดมานับแต่ยุคญาฮิลียะฮฺ อันเป็นยุคก่อนอิสลามในบางท้องถิ่นก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ทั้งๆ ที่ค้านต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจนก็ตาม ตรรกะข้อนี้ใช้ได้กับทุกชาติพันธุ์ไม่มียกเว้นแม้แต่ชาวมลายูเองก็ตาม

ความกำกวมของข้อเขียนที่พยายามจะสื่อว่าความเป็นมลายูคือความเป็นอิสลามจึงเป็นการนำสิ่งที่มีปริบทและสารัตถะ 2 สิ่งที่แตกต่างกันเอามาผูกพันกัน ซึ่งความผูกพันที่เรียกว่า “เกาะติด” นี้ มุมหนึ่งเป็นเรื่องดี แต่อีกมุมหนึ่งที่อ้างว่าเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกันเป็นมุมที่จะกลายเป็นปัญหาในระบบความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพราะเมื่อระบบความคิดค้านกับข้อเท็จจริง ระบบความคิดนั้นย่อมมีสภาพเป็นเพียง “สำนึก” หรือ “ความเชื่อ” ที่ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดกันมาเพียงแค่นั้น และความเชื่อที่ปราศจากระบบความคิดอย่างสมเหตุสมผลและค้านกับความจริงก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมากไปกว่า “ความงมงาย” นั่นเอง


2. การศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ถึงรากเหง้าที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องเชื่อมโยงเนื้อหาและร้อยเรียงห้วงเวลานับแต่อดีตที่สืบค้นได้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน

การกำหนดเจาะจงห้วงเวลาหนึ่งเวลาใดเป็นการเฉพาะถือเป็นข้ออนุโลมในการหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์มาสู่การนำเสนอและตีแผ่เท่านั้น มิได้หมายความว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มีเพียงแค่ห้วงเวลาที่กำหนดโดยอนุโลมเท่านั้นโดยไม่รวมถึงช่วงประวัติศาสตร์ก่อนห้วงเวลาที่ถูกกำหนดมานำเสนอและตีแผ่ในกรณีที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงผลพวงของอดีตและความเกี่ยวพันของเหตุและผลที่ก่อเกิดเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ และพัฒนาการที่ผ่านช่วงเวลาและยุคสมัยจวบจนความเป็นปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่ซึ่งต่อไปก็จะกลายเป็นอดีตและประวัติศาสตร์สำหรับผู้คนในช่วงเวลาและยุคสมัยต่อมาคืออนาคตข้างหน้า

อดีตคือเหตุของปัจจุบันและปัจจุบันคือผลของอดีต ประวัติศาสตร์คือผลของการกระทำในภาวะปัจจุบันของผู้คนในอดีต และการกระทำของพวกเรา ณ เวลาปัจจุบันจะกลายเป็นผลสืบไปสำหรับผู้คนในรุ่นต่อไป คนในรุ่นต่อไปจะมีภาวะเช่นไรก็ย่อมมีเหตุปัจจัยมาจากการกระทำของผู้คนในปัจจุบันของเรานี้ ดังนั้นจึงมีคำถามในเชิงตั้งเป็นข้อสังเกตว่า เวลาที่พวกเราพูดและสาธยายถึงความรุ่งโรจน์ของรัฐปัตตานีดารุสสลามเรากำหนดช่วงเริ่มต้นของห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้เมื่อใด?

แน่นอนคำตอบสำหรับผู้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปัตตานี  ดารุสสลามก็จะตอบได้โดยฉับพลันว่า “เริ่มต้นราวปี ค.ศ.1457 เมื่อพญาตู นักปา อินทิรา มหาวังสา เข้ารับอิสลามโดยการชักชวนของชัยคฺ สะอีด (โต๊ะปาสัย) และพระองค์ทรงเฉลิมพระนามว่า “สุลต่าน อิสมาอีล ชาฮฺซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม” หรือ “สุลต่าน มุฮัมมัด ชาฮฺ” (อารีฟีน บินจิและคณะ อ้างแล้ว หน้า 63)

ถ้ากำหนดเพียงช่วงเวลานั้นว่าเป็นการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มลายูมุสลิมก็คงต้องแทรกคำพูดเข้ามาสอดในการสนทนานั้นว่า “แสดงว่ารัฐปัตตานีดารุสสลามมีความเก่าแก่เพียงแค่ 500 กว่าปีเท่านั้น และสยามก็ต้องเก่าแก่กว่าเพราะย้อนกลับไปยุคสุโขทัยได้ถึง 700 กว่าปี” ผู้เรียนประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานีดารุสสลามก็คงสวนแบบทันควันเพื่อหักล้างคำพูดที่แทรกเข้ามาในวงสนทนาแบบทะลุกลางปล้องว่า “ไม่ใช่! ปัตตานีเก่าแก่กว่านั้น คุณไม่เคยอ่านหนังสือของ “มติชน” ที่ชื่อว่า “รัฐปัตตานีในศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์” ที่ อ.จิตต์ วงษ์เทศเป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้ตีแผ่และเปิดเผยประวัติศาสตร์ “ปกปิด” ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้!!

“คนหนึ่งในวงสนทนาอาจจะเสริมด้วยอีกว่า “ไม่ใช่แค่ศรีวิชัยน่ะ! ประวัติศาสตร์รัฐมลายูย้อนกลับไปตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 2 หรือก่อนหน้านั้นแล้ว คือลังกาสุกะนั่นไง รัฐลังกาสุกะนี้มีมาก่อนศรีวิชัย เพราะศรีวิชัยเพิ่งจะมีอำนาจราวคริสตศตวรรษที่ 10” (ดู อารีฟีน บินจิและคณะ อ้างแล้ว , เรื่อง “อาณาจักรมลายูลังกาสุกะ โดย อับดุลลอฮฺ ลออแมน” หน้า 31-40)

คำพูดนี้อาจจะกระตุกต่อความจำของผู้เรียนประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุสสลามให้นึกอะไรบางอย่างขึ้นได้ และนำเสนอมันสู่การรับรู้ของวงสนทนา “จริงๆแล้วคนมลายูอยู่มาก่อนคนสยามในดินแดนคาบสมุทรมลายู เพราะคนมลายูพวก “มลายู-โปรโต” อพยพมาจากเอเซียกลางตั้งแต่ 2500 ปี ก่อนคริสตกาลเสียอีก” (ดู , อ้างแล้วหน้า 12) “โอ้โห! นานขนาดนั้นเชียว?” เจ้าของคำพูดที่สอดเข้ามาในวงสนทนาก่อนหน้านี้แสดงและทำท่าจะยอมรับ

“ยังนะ ยังมีอีกนานกว่านี้ก็ยังมีคนว่า” เจ้าของทฤษฎีลังกาสุกะเสริม “คนมลายูนี้เป็นผู้สืบเชื้อสายจากนบีนูฮฺหรือไม่ก็สาวกของท่าน คือ ชาติพันธุ์ “อัรกฺ” ที่ขึ้นยังปากอ่าวแม่น้ำจัมบีและปาเล็มบัง ขณะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกโน่นเลยทีเดียวจะบอกให้!” (ดู อ้างแล้ว หน้า 17)

ดูเหมือนว่าทุกคนในวงสนทนาจะลืมไปว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่หลงเหลืออยู่ภายหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมโลกนั้นล้วนแต่เป็นลูกหลานของผู้คนที่อยู่ในเรือลำนั้น…. เรือของนบีนัวฮฺ (อ.ล.) หรือ โนอาอฺนั่นเอง และหากจะอ้างย้อนกลับไปถึงขนาดนั้น คนสยามก็คงอ้างได้เช่นกัน! และอาจจะอ้างถึงนบีอาดัม (อ.ล.) ว่าเป็นบรรพบุรุษคนแรกของพวกเขาก็คงไม่แปลก เพราะมนุษย์ทุกคนมาจากอาดัม (อ.ล.) และพระนางหะวาอฺทั้งสิ้น

สิ่งที่เราพยายามสื่อให้เห็นก็คือ ความเป็นชาติพันธุ์มลายูเป็นสิ่งที่มีมาก่อนการสถาปนารัฐอิสลามที่ชื่อ ปัตตานีดารุสสลาม ศาสนาอิสลามที่มีศาสนฑูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นำมาประกาศแก่มนุษยชาติมาถึงภูมิภาคนี้ (แหลมมลายู-นูซันตารา) หลังจากชาวมลายูสถาปนารัฐมลายูของพวกเขามานานหลายร้อยปี อย่างน้อยก็ “ลังกาสุกะ” ประวัติศาสตร์ของรัฐมลายูมุสลิมเริ่มต้นที่มะละกาและนุซันตาราหรือที่ปัตตานีในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 600 ปีที่แล้วมานี่เอง

แต่นั่นมิได้หมายความว่าประวัติศาสตร์ของชนชาติมลายูเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อ 600 ปีมาก่อนเท่านั้น หากแต่ว่าย้อนกลับไปนานกว่านั้นตามที่มีการวิจัยและศึกษากัน แต่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์จะสูญหายไปอีกหลายศตวรรษเมื่อเราพูดถึงรัฐอิสลาม มลายูอิสลาม หรือปัตตานีดารุสสลามโดยเน้นอัตลักษณ์ความเป็นมลายูว่าเกาะติดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม จนกลายเป็น มลายูก็คืออิสลาม อิสลามก็คือมลายู จะเข้านับถือศาสนาอิสลามก็ต้อง “มะโซะนายู” หรือ “มาโซะ ยาวี” อะไรทำนองนั้น

เมื่อเราไม่สามารถกล่าวโดยข้อเท็จจริงว่า อิสลามคืออาหรับ อาหรับคืออิสลาม ทั้งๆ ที่อิสลามอุบัติขึ้นในหมู่ชนชาวอาหรับ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็เป็นชาวอาหรับ คัมภีร์อัล-กุรอานก็เป็นภาษาอาหรับ กระนั้นเราก็พูดไม่ได้ว่าอิสลามคืออาหรับ อาหรับคืออิสลาม เรื่องของความเป็นมลายูก็เช่นกัน


 

3. หากเราเห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ 2 การยอมรับในข้อเท็จจริงต่อจากนี้ไปก็ย่อมเป็นเรื่องง่าย

ข้อเท็จจริงที่ว่าก็คือ ความเป็นมลายูก่อนยุคสมัยอิสลามมีความผูกพันและเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อและคติทางศาสนาที่มาจากชมพูทวีป (อินเดีย) นั่นคือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาแบบมหายาน เมืองลังกาสุกะถือเป็นราชอาณาจักรมลายูฮินดูแห่งแรกของคาบสมุทร ซึ่งมีศูนย์กลางตั้งอยู่ที่ปตานี (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีปัจจุบัน) การมีลักษณะร่วมทางด้านภูมิฐาน เช่น มีปากอ่าวที่เหมาะแก่การเป็นเมืองท่าสำคัญ นับตั้งแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 8 จึงทำให้ผู้คนดั้งเดิมในบริเวณดังกล่าวมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับชนต่างถิ่นต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม……

กิจกรรมการเดินเรือและกิจกรรมการค้าทางทะเลนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ (หรือแม้แต่ศาสนาอิสลามในภายหลัง) พลอยไหลเข้าสู่สังคมลังกาสุกะในสมัยนั้น พร้อมๆ กับมีการถ่ายเทวัฒนธรรมอินเดียแบบฮินดูและวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบชวาให้กับสังคมลังกาสุกะ จนกลายเป็นบ่อเกิดของเอกลักษณ์ “วัฒนธรรมฮินดู-พุทธ” และ “วัฒนธรรมฮินดู-ชวา” ในสังคมมลายูลังกาสุกะช่วงต่อมา (รัฐปัตตานี ในศรีวิชัย , มติชน 2547 หน้า 241-242)

นอกจากนี้กลุ่มรัฐหรือกลุ่มเมืองที่นับเนื่องเป็นศรีวิชัยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม คือพวกที่นับถือพุทธมหายานเป็นศาสนาหลัก (อ้างแล้ว หน้า 164) อีกหนึ่งสิ่งที่เกี่ยวกับการนับถือพุทธศาสนาของบ้านเมืองในวัฒนธรรมศรีวิชัยก็คือความรุ่งเรืองทางภาษาสันสกฤต (อ้างแล้ว หน้า 165) ในข้อสังเกตที่ 3 นี้ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่หักล้างการอ้างถึงความเป็นมลายูว่าผูกขาดอยู่กับศาสนาอิสลามเท่านั้น

ความเป็นมลายู ภาษามลายู และวัฒนธรรมมลายูมีมาก่อนยุคของศาสนาอิสลาม และเกี่ยวข้องกับโลกของพราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายาน ซึ่งมีแหล่งมาจากชมพูทวีป การนำเสนอของข้อเขียนต้นเรื่องที่พยายามตอกย้ำว่าความเป็นมลายู ภาษามลายู และวัฒนธรรมมลายูแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจนเหมือนกับว่าอยู่คนละโลกกับความเป็นสยาม ภาษา และวัฒนธรรมสยามจึงเป็นการพูดแบบตัดตอนเนื้อหาของประวัติศาสตร์และคัดเอาเฉพาะห้วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์มาสนับสนุนความเป็นอัตลักษณ์ของมลายูชน

ทั้งๆ ที่ความเป็นมลายู ภาษา และวัฒนธรรม ตลอดจนคติความเชื่อทางศาสนาไม่ได้แตกต่างจากความเป็นสยามในคาบสมุทรภาคใต้ของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของศรีวิชัยหรือแม้แต่ทางทราวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนยุคของศาสนาอิสลามจะแผ่มาถึงภูมิภาคอุษาคเนย์หลายศตวรรษด้วยกัน

การตัดตอนประวัติศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวพันและเงื่อนไขของห้วงเวลาที่เป็นเหมือนห่วงโซ่แต่ละข้อที่ร้อยเรียงต่อกัน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เมื่อเราต้องการจะศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามอย่างเป็นระบบและเกี่ยวเนื่องกันก็จำเป็นที่เราต้องศึกษาห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะฮฺ (ยุคก่อนอิสลาม) ด้วย การจะสืบค้นถึงที่มาและสาเหตุของการเข้ามามีอำนาจของเผ่ากุรอยซ์ในนครมักกะฮฺจำต้องย้อนกลับไปในห้วงเวลาของยุคญาฮิลียะฮฺอย่างไม่มีทางเลี่ยง

การศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์อาหรับจำต้องย้อนกลับไปถึงสมัยของท่านนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) นับแต่อาณาจักรคัลดาเนียนในดินแดนเมโสโปเตเมีย และย่อมหลีกเลี่ยงจากการศึกษาเรื่องราวของอาณาจักรโบราณทั้งอาณาจักรมะอีน (1200 ปีก่อนคริสตกาล) อาณาจักรสะบะอฺ (950 ปีก่อนคริสตกาล) อาณาจักรของพวกฮิมยัรฺ (115 ปี ก่อนคริสตกาล) พวกอาหรับโบราณที่สูญเผ่าพันธุ์ (อัล-อะรอบ อัล-บาอิดะฮฺ) เช่น อาด และ ษะมูด เป็นต้น

คงไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดที่จะด่วนสรุปว่า ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์อาหรับและอัตลักษณ์ของพวกเขาเริ่มขึ้นเมื่อ 1400 กว่าปีมานี่เอง โดยปฏิเสธห้วงเวลาที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นและบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ในทำนองเดียวกัน การศึกษาประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีดารุสสลาม เรื่องราวของความเป็นมลายูและอัตลักษณ์ของพวกเขามีจุดเริ่มต้นเพียงแค่ราชวงศ์ศรีวังสาที่เข้ารับอิสลามและไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับห้วงเวลาก่อนหน้านั้น คงไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดกล่าวอ้างและสรุปเช่นนั้น แต่ดูเหมือนว่าข้อเขียนต้นเรื่องพยายามและจงใจจะกระทำสิ่งที่ว่านี้

ดังนั้นการอ้างอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูว่าผูกขาดและแยกไม่ออกจากศาสนาอิสลามจึงเท่ากับเป็นการสรุปว่าชาวมลายูไม่มีอัตลักษณ์ของตนในยุคของพราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายาน พวกเขาเพิ่งจะมีความเป็นมลายูอย่างแท้จริงเมื่อเข้าสู่ยุคของศาสนาอิสลาม หรือว่าคนมลายูในยุคก่อนอิสลามมิใช่ชาวมลายู! วัฒนธรรมของคนมลายูในยุคก่อนอิสลามมิใช่วัฒนธรรมของชาวมลายู ภาษาก่อนหน้านั้นก็ไม่ใช่ภาษามลายู

คนมลายูอยู่คนละโลกกับพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อยในเรื่องนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่าการอ้างถึงลังกาสุกะหรือศรีวิชัย หรือแม้แต่โกตามหาลิฆัยเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นมลายูแต่เป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่ชาวมลายูและอยู่คนละโลกกัน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนโลกเดียวกันแต่อยู่คนละห้วงเวลาเท่านั้น และแน่นอนในห้วงเวลาหนึ่งมีความเกี่ยวพันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนพวกเดียวกันมาก่อน มลายู พราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายานก็คือพวกเดียวกันกับชาวสยามในคาบสมุทรภาคใต้และอาณาจักรทวารวดีในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง

ชาวสยามพวกนั้นและในห้วงเวลานั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นเดียวกับชาวมลายูในห้วงเวลานั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียไม่ว่าจะเป็นคติความเชื่อ ภาษา วัฒนธรรม แล้วเหตุไฉนเมื่อชาวมลายูเปลี่ยนศาสนาและความเชื่อในห้วงเวลาต่อมาจึงตัดรอนความเกี่ยวพันและปฏิเสธความข้องแวะกับชาวมลายูและสยามในระบอบวิถีเดิมโดยสิ้นเชิง แน่นอนในด้านศาสนาจำต้องเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมและวิถีทางเช่นนั้น แต่ในแง่ประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงไม่จำเป็นจะต้องเกิดปรากฏการณ์ตัดสัมพันธ์เช่นนั้นมิใช่หรือ?

หากเราเอาความเป็นมุสลิมเป็นตัวกำหนดความเป็นมลายูและอัตลักษณ์ของชาวมลายูแท้ เราจะอธิบายความเป็นมลายูและอัตลักษณ์ของพญาตูนักปาซึ่งต่อมาคือ สุลต่านอิสมาอีลชาฮฺ (พ.ศ. 2043-2073) อย่างไร? เพราะโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พญาตูนักปาเป็นพุทธมาก่อน (อารีฟีน บินจิและคณะ ; อ้างแล้ว หน้า 57)

ถ้าถือตามข้อกำหนดดังกล่าวก็แสดงว่า พญาตู กรุป มหายานา และ พญา นักปา (พญาตู อันตารา) มิใช่มลายูและก่อนหน้าเข้ารับอิสลามก็ไม่มีอัตลักษณ์แห่งความเป็นมลายู ภาษาที่พระองค์ใช้สื่อสารและวิถีชีวิตของพระองค์และพระบิดาก็ย่อมมิใช่มลายู พระองค์เพิ่งจะกลายเป็นชาวมลายูโดยแท้จริงตามข้อกำหนดนั้นเมื่อเข้ารับอิสลามแล้วเท่านั้น หากค้านว่าพญาตูนักปาและพระบิดาของพระองค์เป็นมลายู ภาษาและวิถีชีวิตของพระองค์ก่อนเข้ารับอิสลามก็เป็นมลายูหาใช่อื่น ก็เท่ากับยอมรับว่าความเป็นมลายูและอัตลักษณ์ของพญาตูนักปาว่ามีมาก่อนแล้ว

นั่นยอมแสดงว่าความเป็นมลายูนั้นตลอดจนพลเมืองมลายูในรัฐปัตตานีมีบริบทที่ไม่ได้แตกต่างจากชาวสยามในภาคใต้ของคาบสมุทรแต่อย่างใดเลย และเคยเป็นสิ่งเดียวกันหรืออย่างน้อยก็เกี่ยวพันกันมาก่อนในช่วงก่อนการเปลี่ยนศาสนา แน่นอนศาสนาและคติความเชื่ออาจจะเปลี่ยนไปภายหลังการเข้ารับอิสลาม แต่ภาษาและจารีตปประเพณีที่เป็นแบบมลายูดั้งเดิมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยฉับพลันจนไม่เหลือเค้าเดิมอย่างที่รับรู้กัน อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมโดยรวม

เหตุนี้เราจึงพบว่าภาษามลายูที่ถูกใช้เป็นสื่อในการเผยแผ่ศาสนาใหม่ยังคงมีอิทธิพลของภาษาที่ชาวมลายูเดิมรับเอามาจากชมพูทวีปทั้งสันสกฤตและกลุ่มภาษาในอินเดียใต้ แม้ตำราทางศาสนาในยุคต่อมาจะถูกเขียนด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับ-เปอร์เซียแต่ศัพท์แสงที่มีกลิ่นไอของภาษาเดิมยังปรากฏให้เห็นดาษดื่น คนมลายูมุสลิมเองที่ชอบทึกทักว่าภาษามลายูหรือภาษายาวียฺเป็นภาษาทางศาสนาอันหมายถึงศาสนาอิสลาม

คงไม่ได้ฉุกคิดว่าภาษาที่ถูกใช้เขียนตำราศาสนาโดยนักปราชญ์มลายูมุสลิมซึ่งเป็นภาษากิตาบแบบคลาสสิคเชิงวิชาการนั้นมีคำที่หยิบยืมมาจากแหล่งความรู้ของศาสนาเดิมเป็นจำนวนมากและนี่ก็เป็นข้อสังเกตอีกประหนึ่งในการวิพากษ์ความเห็นที่ว่า ภาษามลายูไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกสยามเลยแม้แต่น้อย จริงอยู่ภาษาไทยแท้ๆ อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาษามลายูแต่ในภาษาไทยที่มีคำบาลีและสันสกฤตถูกยิบยืมมาใช้นั้นมีรากศัพท์เดียวกันกับคำมลายูที่ถูกรับเอามาจากชมพูทวีปเช่นเดียวกัน ลองพิจารณาคำศัพท์มลายูดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง แล้วจะพบว่าสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตมานี้ไม่ได้เกินเลยความจริงแต่อย่างใด

سوك چيتا (สุขจิต)

دوك چيتا (ทุกข์จิต)

دوسا (โทษ)

بومي (ภูมี)

مول (มูล)

كران (กรณีย)

كات (กถา)

سبدا  (ศัพท)

بهڬيا (ภคย)

سيلا (ศีล)

فنچا (เบญจ)

ماس (มาส)

لوبا (โลภะ)

روفا (รูป)

ورنا (วรรณะ)

كرجا (กริย)

نڬرى (นคร)

نام (นาม)

كاچه (คช)

اوتارا (อุตตระ)

سكسى(สักขี)

ديوا (เทวา)

سوامى (สวามี,สามี)

ارتى (อรรถ)

اوتام (อุตม)

ڤرتام (ปฐม)

دوا (โท)

كرنيا (กรุณา)

فهلا  (ผล)

كڤلا (กบาล)

سڠك  (ศังกา)

هاتي (หทัย)

ماتى (มตย)

دولى (ธุลี)

نراك (นรก)

شرڬ (สวรคฺ)

كالا (กาล)

سمودارا (สมุทร)

رهسيا (รหัสย)

كرودا (ครุฑ)

ڤقسى (ปักษี)

اوساها (อุตสาหะ)

فركارا (ประการ)

بناس (พินาศ)

مانسى (มนุษย)

سىمڠرنا (สมบูรณ์)

سڬل (สกัลย)

چترا (ฉัตร)

سترو (ศัตรู)

ستيا (สัตย)

سراتى (สารถี)

سيڠا (สิงห์)

بهايا (ภัย)

ڬونا (คุณ)

اومفما (อุปมา)

ديواسا (เทเวศน์)

سوارا (สวร)

دانو (ธนู)

بهاس (ภาษา)

ڤنديت (บัณฑิต)

ตัวอย่างคำศัพท์จำนวน 60 คำนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่นี่ก็คงเพียงพอก็สำหรับการยืนยันว่า ภาษามลายูที่ใช้เขียนตำราเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตและอินเดียใต้ซึ่งเกี่ยวพันกับศาสนาเดิมที่มีแหล่งเดียวกันกับภาษาทางศาสนาของพวกสยามหรือชาวพุทธทั้งมหายานเดิมและหินยาน (เถรวาท) คนมลายูจะทำใจยอมรับได้หรือไม่ก็ตาม ในขณะเดียวกันภาษามลายูเองก็มีปรากฏอยู่ในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่แม้ในปัจจุบันคนไทยจะรับรู้และยอมรับหรือไม่ก็ตาม ลองดูคำศัพท์ตัวอย่างดังต่อไปนี้

1 โกดัง  2 กระทง 3 ทุเรียน 4 สุเหร่า  5 กระพัน  6 บุหงา  7 บุหงารำไป

8 บุหรง  9 มินตรา  10 บุษบา  11 ตันหยง  12 กุสุมา  13 ยี่หวา

14 มะลาตี  15 ปะหนัน  16 ยี่หวา  17 อังสนา  18 ปะการัง  19 กระชัง

20  ยาหยี  เป็นต้น

ถึงแม้ว่าคำศัพท์เหล่านี้จะเป็นคำมลายู-ชวา (ญาวียฺ) แต่ก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และคำไทยที่ปรากฏในภาษามลายูก็มีเช่นกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1 ตุวอ – เฒ่า       2 บอมอ – พ่อหมอ       3 ดาลัม – ถลัม

4 ฌะยอ – เชื่อ    5 ฉาฮฺยอ – ฉาย      6 ดิ – ที่

7 สะอฺสุวาย – สะสวย    8 สะมด – มด       9 บานเฌอะ – เยอะ

10 สุเดาะฮฺ – สุด       11 แลฮัต – แล 12 ฌัมและฮฺ – ชำแหละ

13 สิยอ – เสีย     14 ญัม – ยาม   15 มุกอ – มุข    เป็นต้น

คำศัพท์ตัวอย่างชุดนี้อาจจะชี้ชัดได้ยากว่าเป็นคำไทยแท้ หรือมลายูแท้ ใครยืมใคร แต่บ่งชัดว่ามีการแลกเปลี่ยนกันทางภาษาระหว่างคนมลายูกับคนสยาม ส่วนคำไทยที่ปรากฏตามสำเนียงมลายูท้องถิ่นนั้นมีมากในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เรากำลังตั้งข้อสังเกต เพราะเรายกตัวอย่างเฉพาะคำศัพท์เก่าที่ปรากฏอยู่ในตำราภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาเก่าที่ผู้คนในยุคปัจจุบันใช้เรียนและศึกษาหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามและภาษามลายูกิตาบอันเป็นภาษาเก่านี้ไม่ได้ใช้พูดกันในชีวิตประจำวันเหมือนภาษามลายูถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


4. การแลกเปลี่ยนและถ่ายเทวัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะภาษาเป็นเรื่องปกติในสังคมมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากต่างแดน

โลกมลายูมิใช่โลกปิดหรือเปิดเฉพาะด้านหนึ่งด้านใดของทิศทางภูมิศาสตร์ การแบ่งโลกออกเป็น 2 โลกด้วยการกำหนดว่าโลกมลายูเกี่ยวโยงอยู่กับนูซันตาราและภูมิภาคตะวันออกกลางอันเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาอิสลามโดยแตกต่างจากโลกของชาวพุทธที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพลเมืองโดยส่วนใหญ่ จนดูเหมือนว่าพลเมืองของ 2 โลกนี้ไม่ข้องแวะและมีการปฏิสัมพันธ์กัน

นั่นเป็นการมองเพียงมิติของศาสนาและความเชื่อที่เหมือนกันเท่านั้น เพราะในโลกของความเป็นจริงซึ่งเป็นโลกเดียวกันสำหรับพลโลกทุกชาติ ทุกภาษาและศาสนาต่างก็มีการไปมาหาสู่และติดต่อระหว่างกันด้วยมิติที่มีนัยกว้างกว่านั้นคือการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายบนคาบสมุทรหรือพาณิชย์นาวีก็ตาม ยิ่งถ้าเรากำหนดตัวละครในเรื่องนี้ว่ามีเพียงมลายูกับสยามด้วยแล้ว มิติทางการค้าตลอดเส้นทางการค้าและเมืองท่าในภูมิภาคอุษาคเนย์ต่างก็มีทั้งมลายูและสยามเป็นผู้แสดงบทบาทด้วยกันทั้งคู่ คนสยามก็ค้าขายกับคนมลายูทั้งในนูซันตาราและคาบสมุทรมลายู คนมลายูก็ค้าขายกับสยามเช่นกัน

คนอาหรับ เปอร์เซีย อินเดียซึ่งมาจากมหาสมุทรอินเดียต่างก็ค้าขายกับหัวเมืองมลายูและมีสถานีการค้าในเมืองท่าสำคัญของสยามเลยขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยา ออกญาพระคลังในบางรัชสมัยของสยามก็เคยมีชาวมลายูดำรงตำแหน่ง ราชสำนักของกัมพูชาก็มีชาวมลายูเคยทำหน้าที่รับราชการในด้านนี้ทั้งๆ ที่กัมพูชาถูกจัดอยู่ในโลกของชาวพุทธอย่างที่ข้อเขียนข้างต้นระบุ ปัตตานีดารุสสลามภายใต้การปกครองของราชินีฮิเญาวฺ การติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกันมากปี ค.ศ. 1592 จักรพรรดิญี่ปุ่นได้ส่งสาส์นเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับราชินีฮิเญาวฺ ปี ค.ศ. 1599 ทางปัตตานีก็ส่งสาส์นตอบพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1602 คณะฑูตและผู้แทนจากปัตตานีถูกส่งไปสัมพันธ์ไมตรีที่ญี่ปุ่น พ่อค้าชาวอังกฤษบันทึกว่า “ท่าเรือปัตตานีกับท่าเรือฮิราโดะ เป็นท่าเรือคู่แฝด” (อารีฟีน บินจิและคณะ อ้างแล้ว หน้า 90-91)

เรื่องราวความเป็นศูนย์กลางทางการค้าพาณิชย์นาวีของปัตตานีดารุสสลามที่สำคัญและรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า ชาวมลายูปัตตานีไม่ได้ปิดตัวเองและพวกเขาก็มิได้ถูกตีกรอบด้วยขอบเขตของโลกที่ถูกสมมุตินั้นในการเดินทางนำสินค้าพื้นเมืองไปยังเมืองท่าในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือ อินเดีย และล่องสินค้าที่มีอยู่ในดินแดนเหล่านั้นกลับมายังมาตุภูมิของตน ในปัตตานีเองก็มีพ่อค้าต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาตั้งสถานีการค้าและค้าขายกับผู้คนที่นี่และผู้คนที่เดินทางมาจากแดนไกล

ความเกี่ยวพันระหว่างชาวมลายูกับชาวต่างศาสนาที่เป็นชาวพุทธและชาวคริสต์ โดยมีการค้าและเมืองท่าเป็นสื่อย่อมหลีกหนีไม่พ้นจากการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาและติดตามมาด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม นี่เป็นเรื่องปรกติของสังคมมนุษย์ที่ไปมาหาสู่กันโดยไม่มีการแบ่งโลกออกเป็น 2 โลกอย่างที่ว่ามา ถึงแม้ว่าภายหลังการเข้ารับอิสลามของราชสำนักปัตตานีและพลเมืองความเกี่ยวโยงกับโลกอิสลามจะมีมากกว่าและแนบแน่นกว่าด้วยเหตุของศาสนา

แต่ก็ใช่ว่าปัตตานีดารุสสลามจะปิดตัวเองจากการมีความสัมพัน์ทั้งในแง่การค้าและการเมืองกับโลกของชาวพุทธไปโดยสิ้นเชิง เพราะหากเป็นเช่นนั้น การค้ากับญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นโลกของชาวพุทธก็คงต้องปิดฉากลง และทำให้การบรรยายถึงความรุ่งเรืองทางการค้าของปัตตานีกับนานาประเทศเป็นเรื่องเพ้อฝันไปโดยปริยาย

ที่สำคัญที่สุดอินเดียในช่วงร่วมสมัยกับปัตตานี  ดารุสสลามไม่ใช่พุทธภูมิอีกต่อไป เพราะอินเดียในยุคนั้นเป็นอาณาจักรโมกุลของชาวมุสลิม (ค.ศ. 1526 – 1858) และจีนในช่วงเวลานั้นก็น่าจะตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) ซึ่งเป็นยุคทองของชาวมุสลิมในจีนอีกเช่นกัน จะว่าอินเดียและจีนเป็นโลกของชาวพุทธที่คนมลายูไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยได้อย่างไร จึงสรุปได้ว่าการสมมุติโลก 2 โลก ของเจ้าของข้อเขียนนั้นเป็นเรื่องของปัตตานีในยุคหลังมานี้ ไม่ใช่ปัตตานีดารุสสลามในยุคทองแต่อย่างใด


5. ความเข้าใจที่ว่า “ภาษาไทย” เป็นภาษาทางพุทธศาสนาตามที่ข้อเขียนต้นเรื่องพยายามสื่อถึงสำนึกของชาวมลายูมุสลิมในหัวเมืองปัตตานีว่ามีความเข้าใจเช่นนั้น

เป็นการบอกให้รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสำนึกและความเชื่อเท่านั้น ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ความกลัวว่าเมื่อเรียนภาษาไทยแล้วจะกลายเป็นคนพุทธก็เป็นเพียงความกลัวของผู้ถูกกระทำจากเจ้าของภาษาที่เป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้น ภาษาเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ การใช้ภาษาเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลในด้านชาติพันธุ์ และท้องถิ่นย่อมกระทำได้

เพราะชาติภาษา (บังซอ – บะฮฺซอ) เป็นของคู่กันโดยจารีต แต่การใช้ภาษาพูดเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลในด้านความเป็นศาสนิกชนนั้นจำต้องมีเงื่อนไขกำกับกล่าวคือถ้าถือเอาส่วนใหญ่ (อะตัส ญาลัน เกอบาเฌาะกัน) คนที่พูดภาษามลายูจะเป็นมุสลิม คนที่พูดภาษาไทยหรือภาษาลาวจะเป็นชาวพุทธ เงื่อนไขก็คือโดยส่วนใหญ่มิใช่ทั้งหมดและจะถือเอาเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดศาสนาของผู้พูดภาษานั้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้

เพราะภาษากับศาสนา (บะฮฺซอ – อูฆามอ) ไม่ใช่ของคู่กันโดยจารีต ไม่เหมือนกับกรณีของชาติภาษาชาวอาหรับที่พูดภาษาอาหรับและแต่งพจนานุกรมอาหรับแปลอาหรับได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมเสมอไป เพราะเขาอาจจะเป็นชาวคริสต์ก็ได้ คนมลายูมุสลิมพูดภาษาอาหรับในเชิงสนทนาและสื่อสารไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่มุสลิม คนไทยที่พูดภาษามลายูและภาษาอาหรับในเชิงสื่อสารและสนทนาไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นพุทธเสมอไป คนไทยที่เป็นชาวสยามแท้ๆ ซึ่งไม่ได้มีชาติพันธุ์มลายูเป็นมุสลิมก็มีเป็นจำนวนมาก คนที่เป็นชาวมุสลิมโดยชาติพันธุ์และพูดภาษามลายู แต่ไม่ใช่มุสลิมก็มี ก็ชาวมลายูในยุคก่อนปัตตานีดารุสสลามนั่นไง

ดังนั้นการใช้ตรรกะที่ว่า ใครพูดภาษาไทยเป็นชาวพุทธ ใครพูดมลายูเป็นมุสลิมจึงเป็นตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลยกเว้นต้องมีเงื่อนไขที่ว่า “โดยส่วนใหญ่” มากำกับเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการคำนึงถึงเงื่อนไขดังกล่าวแม้แต่น้อย

“ภาษาไทย” หรือภาษาในตระกูลไตมีมาก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา “ภาษามลายู” ก็มีมาก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา และเมื่อชาวอินเดียมาถึงภูมิภาคนูซันตาราและคาบสมุทรมลายู ภาษามลายูก็กลายเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนามหายาน ในช่วงเวลาที่อาณาจักรมลายูเป็นฮินดู-พุทธ อิทธิพลของภาษาสันสกฤตและคติความเชื่อของชาวอินเดียทั้งพราหมณ์-พุทธเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดในหมู่ชาวมลายูก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม หากภาษาไทยถูกกำหนดว่าเป็นภาษาของพุทธศาสนา ภาษามลายูก็เคยเป็นภาษาของพุทธศาสนาในแหลมมลายูและนูซันตาราเช่นกัน

ทำนองเดียวกับภาษาอาหรับก็เคยเป็นภาษาของพวกตั้งภาคีในยุคญาฮิลียะฮฺมาก่อนการอุบัติขึ้นศาสนาอิสลาม ณ นครมักกะฮฺด้วยการประกาศของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ครั้นเมื่อมีชาวอาหรับเข้ารับอิสลามก่อนการพิชิตนครมักกะฮฺในปี ฮ.ศ.ที่ 8 ภาษาอาหรับก็คือภาษาที่พลเมืองอาหรับทั้งมุสลิมและพวกตั้งภาคีใช้พูดและสื่อสารระหว่างกัน ภาษาพูดจึงไม่ใช่บรรทัดฐานที่เด็ดขาดในการชี้ชัดและกำหนดตลอดจนแบ่งแยกในเรื่องของศาสนาและความเป็นศาสนิกชน

พลเมืองเดิมในแคว้นชาม (ซีเรีย) อีรัก และอียิปต์ซึ่งพูดภาษาอาหรับและศึกษาภาษาอาหรับภายหลังการแผ่ขยายของรัฐอิสลามในช่วงยุคต้นของอิสลามมีทั้งชาวคริสต์นิกายออเธอดอกซ์ นิกายเนสเธอเรียน และมาโรไนต์ ตลอดจนพวกศอบิอะฮฺที่กราบไหว้ดวงดาว ชาวเปอร์เซียและพวกเติร์กตลอดจนพวกมองโกลที่เข้ารับอิสลามในเวลาต่อมาก็ไม่ได้พูดภาษาอาหรับแต่พูดภาษาปารีซีย์ (ปาเลฮฺวียฺ) เติร์กิชและมองโกล-ตาตาเรียน พวกเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือก็พูดภาษาบาร์บาเรียนทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นมุสลิม

ชาวปากีสถานพูดภาษาอุรดู ชาวอินเดียมุสลิมพูดภาษาอุรดูและฮินดูสตานี ชาวบังคลาเทศพูดภาษาเบงกาลี ชาวฮินดูในอินโดนีเซียพูดภาษาบะฮฺซาซึ่งก็คือภาษามลายู-ชวา ภาษาก็คือภาษาไม่ใช่ตัวกำหนดศาสนาของบุคคล คนไทยมุสลิมที่เป็นชาวเหนืออู้คำเมือง คนมุสลิมอีสานเว้าลาว คนมุสลิมใต้ตอนบนแล่งใต้ ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นชาวมุสลิมและไม่ใช่ชาวพุทธ ชาวมุสลิมในเพชรบุรีซึ่งมีเชื้อสายมลายูปัตตานีก็พูดภาษาไทยและเหน่อแบบชาวเพชรบุรีและสุพรรณบุรี พวกเขาไม่ได้พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวันและนั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนศาสนาและกลายเป็นชาวพุทธแต่อย่างใด

หากจะว่าไปแล้วภาษาของพุทธศาสนาก็คือภาษาบาลี-สันสกฤต ไม่ใช่ภาษาไทย การอารธนาศีล การสวดมนต์ การทำวัตรเช้าเย็นทั้งในส่วนของพระสงฆ์และพุทธบริษัท การศึกษาภาษาบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมล้วนเป็นเรื่องของบาลีที่ต้องแปลเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง

แม้พระไตรปิฎกเอกก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย และพระไตรปิฎกเองแต่ก่อนก็เขียนด้วยตัวอักษรโรมัน , ขอมและมอญ เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นภาษาไทยมาในยุคหลังนี่เอง คนไทยไม่ได้พูดภาบาลีหรือสันสกฤตในชีวิตประจำวัน จึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าภาษาไทยเป็นภาษาของพุทธศาสนาโดยตรง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทั้งฝ่ายสงฆ์และคฤหัสน์ที่เป็นพุทธบริษัทก็คงไม่ต้องตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมและมีการสอบนักธรรมบาลีเพื่อสืบสานพุทธศาสนา สามเณรและพระสงฆ์ก็คงไม่ต้องไปเรียนภาษาบาลีกันอีกต่อไป

ในทำนองเดียวกัน หากจะถือว่าศาสนามีภาษาเฉพาะที่กำหนดอัตลักษณ์ของบุคคล ศาสนาอิสลามก็ย่อมมีภาษาอาหรับเป็นภาษาของศาสนา มิใช่ภาษามลายูอย่างที่เข้าใจเพราะภาษาอาหรับเป็นภาษาของคัมภีร์อัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ตัวบททางศาสนาเป็นภาษาอาหรับ การประกอบศาสนากิจทั้งหมดก็ใช้ภาษาอาหรับ กล่าวคือ การอะซาน-อิกอมะฮฺ การตักบีร การอ่านสูเราะฮฺ อัล-ฟาติฮะฮฺ การอ่านตะชะฮฺฮุด การขอดุอาอฺ การซิกรุลลอฮฺ การกล่าวคำเศาะละหวาต การให้สล่าม เป็นต้น ต่างก็ใช้ภาษาอาหรับทั้งสิ้น

ไม่มีมุสลิมคนใดอะซานหรืออ่านฟาติฮะฮฺในละหมาดด้วยภาษามลายู ตำรับตำราทางศาสนาเกือบทุกสาขาวิชามีภาษาอาหรับเป็นภาษาหลักในขั้นปฐมภูมิ นักวิชาการศาสนาชาวมุสลิมไม่ว่าจะเป็นชาติภาษาใดจำต้องศึกษาร่ำเรียนภาษาอาหรับให้เจนจัดและชำนาญ ต่อจากนั้นจึงถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการศาสนาจากภาษาอาหรับเป็นภาษาของตนเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนทั่วไปที่ไม่มีความชำนาญในภาษาอาหรับซึ่งเป็นการแปลและอรรถาธิบายในขั้นทุติยภูมิ

กระนั้นอรรถรสและลีลาทางภาษาที่ถูกแปลมาจากภาษาอาหรับก็มิอาจเทียบได้กับภาษาอาหรับที่เป็นภาษาคัมภีร์อัล-กุรอานและตัวบททางศาสนาซึ่งมีความลึกซึ้งและอัตลักษณ์เฉพาะตัว ชาวอาหรับที่พูดภาษาอาหรับแต่กำเนิด หากไม่ศึกษาภาษาอาหรับอย่างเป็นวิชาการแล้ว ก็ย่อมมิใช่นักปราชญ์ทางศาสนา และไม่อนุญาตให้ชาวอาหรับผู้นั้นอรรถาธิบายคัมภีร์อัล-กุรอานหรือวินิจฉัยปัญหาศาสนาแก่ผู้คนทั่วไป

ในทำนองเดียวกันชาวมลายูมุสลิมที่ไม่มีความรู้ในภาษาอาหรับและสรรพวิชาที่เกี่ยวข้องกับอัล-กุรอานและอัล-หะดีษก็ย่อมมิใช่นักปราชญ์ทางศาสนาที่แท้จริงต่อให้มลายูมุสลิมผู้นั้นพูดภาษามลายู อ่านเขียนภาษามลายูจนแตกฉานเพียงใดก็ตาม เรื่องของเรื่องจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การพูดภาษามลายูหรือรู้ภาษามลายู แต่จะต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างถ่องแท้ในหลักการของศาสนา ดังนั้นภาษามลายูจึงเป็นเพียงสื่อกลางที่นำไปสู่การเข้าใจหลักคำสอนของศาสนาและมีความสามารถในการใช้ภาษาอาหรับเพื่อการประกอบศาสนกิจทางศาสนา

เหตุนี้บรรดาอาลิม-อุละมาอฺของชาวมลายูมุสลิมในอดีตจึงต้องดั้นด้นข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาศาสนาและสรรพวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาอาหรับในนครมักกะฮฺและดินแดนมุสลิมที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนา บรรดาอาลิม-อุละมาอฺของปัตตานีดารุสสลามมิได้กลายเป็นนักปราชญ์มลายูนามอุโฆษเพียงแค่การศึกษาหรือแตกฉานในภาษามลายูเท่านั้น แต่พวกท่านเหล่านั้นได้รับเกียรติอันสูงส่งนั้นภายหลังการศึกษาวิชาการศาสนาและภาษาอาหรับในต่างแดนด้วยระยะเวลาที่ยาวนานแล้วกลับมายังมาตุภูมิเพื่อถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นภาษามลายูเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับพี่น้องชาวมลายูร่วมมาตุภูมิ

“สถาบันปอเนาะ” ถือกำเนิดขึ้นด้วยบุคคลากรที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ คือชำนาญและสันทัดในการถ่ายทอดหลักคำสอนของศาสนาจากตำรับตำราภาษาอาหรับซึ่งชาวมลายูมุสลิมทั่วไปไม่เข้าใจและแปลออกเป็นภาษามลายูในรูปของตำราภาษาญาวียฺซึ่งชาวมลายูมุสลิมสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้โดยง่าย ตำราศาสนาภาษามลายู (ญาวียฺ) จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการศึกษาและทำความเข้าใจในหลักคำสอนศาสนาอิสลาม มิใช่เป็นเป้าหมายสูงสุดในการศึกษาศาสนาแต่อย่างใด

ภาษาไทยก็เช่นกันเป็นเพียงเครื่องมือในการศึกษาและทำความเข้าใจในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม มิใช่เป็นเป้าหมายสูงสุดในการศึกษาศาสนา นักวิชาการมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตไม่ได้ลืมความสำคัญของปัตตานีดารุสสลามที่เป็นศูนย์กลางในด้านวิชาการศาสนา พวกเขาเหล่านั้นได้มุ่งหน้าสู่สถาบันปอเนาะใน 3 จังหวัด หรือสงขลาเพื่อศึกษาวิชาการทางศาสนาพวกเขาใช้เวลาหลายปีในการศึกษาจากโต๊ะครูหรือบาบอ

ภาษามลายูกิตาบถูกถ่ายทอดและอรรถาธิบายด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ความเป็นมลายูของพวกเขาหวนกลับมาอีกครั้งหลังจากที่เลือนลางไป แต่นั่นมิใช่เป้าหมายสูงสุดสำหรับพวกเขา ความแตกฉานในศาสตร์แขนงต่างๆ ทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นการอรรถาธิบายอัล-กุรอาน ไวยากรณ์อาหรับและนิติศาสตร์อิสลามเป็นเป้าหมายสูงสุดที่พวกเขามุ่งจะตักตวงและเก็บเอามาให้ได้มากที่สุด หลายคนมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น บางคนมุ่งสู่กลันตันเพื่อต่อยอดความรู้ของตน

บางคนมุ่งสุ่นครมักกะฮฺหรือเลยไปอียิปต์ และใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตในการศึกษาสรรพวิชาจากแหล่งความรู้โดยตรง เมื่อได้รับ “อิญาซะฮฺ” คือฉันทานุมัติรับรองถึงความสัมฤทธิผลทางการศึกษาแล้ว พวกเขาก็กลับมาสู่มาตุภูมิของตนเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ทางศาสนาแก่พี่น้องร่วมศาสนา แน่นอนสำหรับพวกเขาภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดความรู้กับพี่น้องในภูมิลำเนาของตน ข้อเท็จจริงก็คือ สังคมเปลี่ยน วิถีทางสังคมบางมิติเปลี่ยนไป แต่ความเชื่อและศาสนายังมั่นคงโดยไม่แปรเปลี่ยน

ผู้คนมลายูมุสลิมนอกพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ได้พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวันแต่ใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือสื่อสาร การแปลความหมายการอรรถาธิบายข้อมูลทางวิชาการของศาสนาจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องใช้ภาษาที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจ ภาษาไทยจึงทำหน้าที่เช่นเดียวกับภาษามลายู และมีบริบทเช่นเดียวกันในกรณีนี้

กระนั้นบรรดานักวิชาการมุสลิมในอดีตก็ไม่ลืมเลือนความเป็นมลายูในสายเลือดของตน ตำราภาษามลายู (กิตาบญาวียฺ) ยังคงมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาแก่ผู้คนผู้เป็นชาวมลายูเดิม แต่ตำราภาษามลายูถูกแปลและอรรถาธิบายเป็นภาษาไทยที่ผู้คนเข้าใจได้แทนที่จะถูกอธิบายซ้ำด้วยภาษามลายูท้องถิ่น กระนั้นตำราภาษามลายูก็ยังเป็นมรดกทางวิชาการของบรรพบุรุษที่ได้อุทิศเอาไว้ในการสืบสานศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าในครั้งนี้จะถูกแปลด้วยภาษาไทยก็ตาม

ในส่วนของตำราภาษาอาหรับนั้นก็ถูกแปลและอรรถาธิบายด้วยภาษาไทยโดยตรง ซึ่งเป็นภาษาของผู้รู้และผู้เรียนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับชาวมลายูมุสลิมนอกพื้นที่ 3 จังหวัดที่ไม่ได้พูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน ภาษาไทยได้ตอบสนองและเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสืบสานศาสนาอิสลามเช่นกัน

ถึงแม้ว่าในอดีตชาวมลายูมุสลิมนอกพื้นที่เหล่านี้จะไม่ยอมรับภาษาไทยในโรงเรียนของรัฐซึ่งเรียกกันติดปากว่า “โรงเรียนไทย” ในขณะที่พวกเขาเรียกโรงเรียนสอนอัล-กุรอานและศาสนาขั้นพื้นฐานว่า “โรงเรียนแขก” ก็ตาม แต่พวกเขาก็พูดภาษาไทยและใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับผู้คนที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ด้วย

การยอมรับภาษาไทยเป็นภาษาพูดและการไม่ยอมรับภาษาไทยเป็นภาษาเรียนเคยมีปรากฏอยู่จริงในอดีตมีลักษณะใกล้เคียงกับความกลัวของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ชาวมลายูมุสลิมนอกพื้นที่พบคำตอบและข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก่อนชาวมลายูมุสลิมในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การยึดติดในสำนึกดังกล่าวไม่เป็นผลดีในอนาคตข้างหน้า และพบว่าการเรียนรู้ภาษาไทยไม่ได้ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นพุทธ หรือต้องละทิ้งศาสนาของตน หากแต่การเรียนภาษาไทยจะกลายเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนลูกหลานของพวกตนด้วยภาษาที่พวกเขาเข้าใจ และเข้าถึงหลักการศาสนาโดยตรง

กล่าวคือเมื่อกลัวว่าภาษาไทยจะสั่นคลอนความศรัทธาของลูกหลานก็ควรใช้ภาษาไทยนี่แหล่ะเป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิความรู้ทางศาสนาแก่ลูกหลานของพวกเขา ตำราแบบเรียนศาสนาขั้นพื้นฐาน (ฟัรฎูอีน) จึงถูกวางขึ้นเพื่อการนี้ ด้วยความเข้าใจในการมองโลกและรับรู้ถึงสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคมในลักษณะเช่นนี้ ทำให้ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูนอกพื้นที่ยังคงรักษาศาสนาและวิถีความเป็นมุสลิมของพวกตนเอาไว้ได้อย่างเหมาะสม พวกเขาพบกับคำตอบที่แท้จริงว่า อิสลามและความเป็นมุสลิมคือ เป้าหมายสูงสุดที่พวกเขาต้องดำรงไว้

ในขณะเดียวกันพวกเขาส่วนหนึ่งก็ยังคงรักษาภาษามลายูในรูปของ กิตาบญาวียฺที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของบรรดาบรรพบุรุษเอาไว้ ถึงแม้ว่าภาษามลายูจะไม่ใช่ภาษาพูดในชีวิตประจำวันอีกต่อไปก็ตาม แต่พวกเขาก็พบสิ่งทดแทนที่ขาดหายไปนี้จากภาษาไทยนั่นเอง การพูดภาษามลายูได้หรือไม่ได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดอีกต่อไปสำหรับพวกเขาเพราะสิ่งที่พวกเขารักษาเอาไว้ได้เยี่ยงบรรพบุรุษของพวกเขาก็คือ ศาสนาอิสลามและความเป็นมุสลิม!

ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเขียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ตอนที่ 2)