ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเขียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ตอนที่ 2)

“ที่สำคัญประการหนึ่งคือ สำนึกของชาวมลายูปาตานีนั้นไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ระหว่างความเป็นมลายูกับศาสนาอิสลาม สำหรับพวกเขาคำว่า “แผ่นดินมลายู” จึงหมายถึงแผ่นดินบริสุทธิ์ของเขาที่ปราศจากเนื้อหมูเนื้อสุนัขและสุรายาเมาที่เป็นอบายมุข ในทางตรงข้าม แผ่นดินอิสลามของเขานั้นจะต้องมีมัสยิด อันเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ มีการปกครองตามหลักการศาสนาอิสลามหรือเหมาะสมกับชะรีอะฮฺอิสลาม” (อารง สุทธาศาสตร์ “เบื้องหลังชายแดนใต้ไทย” 1982 อ้างจาก “ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” อารีฟีน บินจิ และคณะ  : หน้า 331)

ข้อเขียนนี้เป็นการบอกเล่าถึงสำนึกของชาวมลายูปาตานีในเรื่องความเป็นมลายูและศาสนาอิสลาม เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกที่ยังฝังแน่นอยู่ในห้วงสำนึกของกลุ่มคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

แต่การบอกเล่าถ่ายทอดนี้มุ่งเพียงการสื่อให้เห็นสำนึกดังกล่าวว่ามีสำนึกเช่นไรโดยไม่มีการวิพากษ์หรือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม การถ่ายทอดบอกเล่าปรากฏการณ์แห่งสำนึกเช่นนี้ถูกละเลยในการแสดงมุมมองเชิงวิพากษ์เกือบทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องในทำนองนี้

 

การละเลยที่ถูกกระทำซ้ำอยู่บ่อยครั้งจึงเท่ากับการตอกย้ำว่าสำนึกเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและหลักการของศาสนาซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น มิหนำซ้ำการมีสำนึกเช่นนั้นก็ไม่ได้ส่งผลดีแต่อย่างใดในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยยั่งยืน เพราะปัญหาของพื้นที่คือ ปัญหาว่าด้วยความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจ ตราบใดที่สิ่งดังกล่าวยังคงผูกขาดอยู่ในสำนึกของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การแก้ปัญหาที่ดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ย่อมไม่มีความสัมฤทธิผล กล่าวคือ หากชาวมลายูยังถือว่า “แผ่นดินมลายู” ต้องหมายถึง แผ่นดินบริสุทธิ์ที่ปราศจากเนื้อหมู สุนัข และสุรายาเมาที่เป็นอบายมุข การดำเนินการของภาครัฐย่อมไม่มีวันกระทำได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะรัฐไทยไม่ใช่รัฐอิสลามที่บังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮฺแต่เป็นรัฐโลกนิยม (แซคคิวลาร์) ถึงแม้จะไม่ใช่โลกนิยมแบบสุดโต่งก็ตาม ระบบเศรษฐศาสตร์ของไทยเป็นแบบทุนเสรีนิยมซึ่งมิใช่ระบอบเศรษฐศาสตร์อิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็ตาม

 

ภูมิศาสตร์ประชากรในประเทศไทยและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพหุสังคมที่หลากหลาย ในพื้นที่ 3 จังหวัดมีประชากรที่มิใช่ชาวมลายูและมิใช่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมิใช่น้อย ซึ่งสังคมเหล่านั้นเลี้ยงสุกร กินเนื้อสุกร และเลี้ยงสุนัข ในสังคมของชาวมลายูมุสลิมที่เคร่งครัดกับหลักการของศาสนาอาจจะไม่มีอบายมุขจำพวกสุรายาเมา แต่ในสังคมของชาวพุทธที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดโดยเฉพาะแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวย่อมหลีกหนีจากสิ่งเหล่านั้นไม่พ้น

 

หากรัฐไทยต้องการแก้ไขปัญหาตามสำนึกของชาวมลายู รัฐไทยก็ต้องบังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮฺหรือเปิดโอกาสให้ชาวมลายูบังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮฺ ผลที่ตามมาก็คือ ชาวพุทธในพื้นที่จะยอมรับการบังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮฺหรือไม่ และการบังคับใช้กฏหมายชะรีอะฮฺจะมีกระบวนการเช่นไร? ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยโครงสร้างและระบบการออกกฏหมายของรัฐไทยจะกระทำได้จริงหรือไม่ ชาวพุทธจะต้องถูกห้ามมิให้บริโภคเนื้อสุกร หรือขายเนื้อสุกรในตลาด และถูกห้ามเลี้ยงสุนัขด้วยข้ออ้างที่ว่านี่คือ แผ่นดินบริสุทธิ์ของคนมลายู สิ่งต้องห้ามเหล่านี้จะมีไม่ได้ แล้วชาวพุทธจะอยู่อย่างไร พวกเขาต้องถูกบีบให้ย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่พิเศษอันเป็นแผ่นดินบริสุทธิ์นี้หรือไม่

 

แน่นอนคงไม่มีรัฐบาลชุดใดของรัฐไทยจะกระทำการในสิ่งที่ว่ามา แม้เพียงคิดก็จะต้องถูกทัดทานและไม่เห็นด้วยจากพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นชาวพุทธและพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะยืนกรานว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแผ่นดินของพวกเขาเช่นกันและพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิ์ในการดำรงอัตลักษณ์ของตนตามวิถีของพวกเขา เพราะเมื่อคนมลายูอ้างเรื่องอัตลักษณ์ได้แล้วทำไมพวกเขาจะอ้างบ้างไม่ได้ในเมื่อพวกเขาก็มีสิทธิและเป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นกัน จึงต้องย้อนกลับไปดูว่าต้นเหตุของปัญหาเกิดมาจากสิ่งใด?

 

การเรียกร้องให้รัฐไทยเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ในสำนึกของชาวมลายู 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอ้างว่ารัฐไทยไม่เข้าใจต่อสำนึกนั้นจึงเป็นเหตุให้กำหนดนโยบายผิดพลาดในการแก้ไขปัญหา มองดูผิวเผินก็น่าจะเป็นการเรียกร้องที่สมเหตุสมผล แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นก็จะพบว่า นั่นเป็นการเรียกร้องที่เอาสำนึกเป็นตัวตั้ง ซึ่งสำนึกนั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับความจริงในโลกของความเป็นจริง อีกทั้งเป็นการเรียกร้องเอาแต่ฝ่ายเดียวให้รัฐไทยเข้าใจ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยอมทำความเข้าใจ ปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดี

 

การทำความเข้าใจต้องเกิดขึ้นระหว่าง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น รัฐไทยอาจจะดำเนินการและวางนโยบายผิดพลาดในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้มาก่อนหน้านี้ แต่การทุ่มเทและพยายามในการบรรเทาปัญหา การลดเงื่อนไข การเปิดโอกาสในช่วงระยะเวลาหลังๆ มานี้ก็ย่อมถือได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนและมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีกว่าแต่ก่อนไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าจะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม

 

ในขณะที่สำนึกนั้นยังคงผูกขาดและฝังอยู่ในห้วงความคิดของผู้คนอีกจำนวนมากในพื้นที่และดูเหมือนว่าพัฒนาการแห่งสำนึกนั้นยังคงอยู่กับที่และไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยซ้ำไป อย่างน้อยก็ยังคงผนึกแน่นอยู่ในอุดมการณ์ของบรรดาผู้เคลื่อนไหวที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” อย่างชัดเจน เหตุนี้การเรียกร้องจึงยังคงดำเนินต่อไปตามกรอบแห่งสำนึกนั้น และสำนึกที่ว่านี้เองคือตัวปัญหาหรือต้นเหตุแห่งปัญญาที่แท้จริง เพราะบรรดาข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐไทยล้วนแต่มีสำนึกที่ว่าเป็นตัวกำหนดและตีกรอบทั้งสิ้น

 

เพราะสำนึกแห่งความเป็นมลายู อัตลักษณ์ซึ่งเป็นวาทกรรมซ้ำซากจึงถูกนำมาตอกย้ำ เพราะมีสำนึกแห่งอัตลักษณ์การมีความแตกต่างในด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมจึงตามมา เพราะมีสำนึกในความแตกต่าง การแบ่งแยกระหว่าง 2 ฝ่ายจึงตามมา เพราะมีสำนึกแห่งการแบ่งแยกโดยถือมั่นอยู่กับความแตกต่างทางอัตลักษณ์ การหลอมรวมจึงเป็นสิ่งที่มิอาจเกิดขึ้นได้ไม่วาจะกรณีใดๆ ก็ตาม เมื่อการหลอมรวมกระทำมิได้ การแบ่งแยกก็ยังคงมีสืบไป และแน่นอนปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมไร้ทางออกและตกอยู่ไนวังวนเดิมๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

แน่นอนการหลอมรวมที่เรามุ่งหมายย่อมมีลักษณะและบริบทที่แตกต่างจากนโยบายหลอมรวมพลเมืองของชาติที่เคยมีการดำเนินการมาในยุค “รัฐนิยม” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษฎ์ ธนรัชต์ เพราะเรามุ่งหมายถึงการหลอมรวมความเป็นชาติที่ยังคงรักษาความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยประกอบด้วยพลเมืองที่มีความหลากหลาย มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง และความเป็นพหุสังคม

 

ประเทศไทยมิใช่เป็นดินแดนของชาติพันธุ์หนึ่งชาติพันธุ์ใด แต่เป็นดินแดนของหลายชาติพันธุ์ ประเทศไทยมิใช่มีแต่พลเมืองที่นับถือพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่มีพลเมืองที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ด้วย อย่างน้อยก็คือศาสนาอิสลามที่มีจำนวนศาสนิกชนมากเป็นอันดับสอง การหลอมรวมที่กล่าวถึงนี้มิใช่เป็นการย่อยสลายอัตลักษณ์ของฝ่ายหนึ่งแล้วกลืนหายไปในอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะมนุษย์มิใช่วัตถุธาตุถึงจะทำการหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ มนุษย์ย่อมมีความแตกต่างและความไม่เหมือนเป็นธรรมชาติอันปกติที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสรรค์เอาไว้

 

ต่อให้บุคคลพยายามมากเพียงใดในการบังคับควบคุมให้บุคคลอื่นเป็นเหมือนกับตนก็ทำได้เพียงภายนอกและเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น ความแตกต่างและความไม่เหมือนยังคงเป็นสารัตถะที่ดำรงอยู่ภายในเช่นเดิม การหลอมรวมเพียงภาพลักษณ์ภายนอกจึงเป็นเรื่องที่ฉาบฉวยและกระทำได้โดยไม่ยั่งยืน การหลอมรวมที่เราพูดถึงจึงมุ่งหมายถึงการหลอมรวมสำนึกของความเป็นชาติบนพื้นฐานของความแตกต่างภายนอก

 

กล่าวคือ มีสำนึกร่วมกันในความเป็นพลเมืองของชาติ ยอมรับสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองร่วมกัน ที่สำคัญคือมีขันติธรรมและความอดกลั้นในการยอมรับความแตกต่างและความไม่เหมือนอันเป็นข้อเท็จจริงในโลกของความเป็นจริง หลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป. พิบูลสงครามเริ่มต้นทฤษฎี  “การหลอมรวม” และดำเนินนโยบายรัฐนิยมผิดพลาดเพราะไม่ยอมรับความแตกต่างและความไม่เหมือนว่าเป็นข้อเท็จจริง จึงมุ่งเน้นในการหลอมรวมพลเมืองในชาติเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกและให้ความสำคัญกับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายเป็นอันดับแรก แทนที่จะสร้างจิตสำนึกร่วมกันระหว่างคนในชาติเป็นประการแรก

 

กอปรกับบุคคลทั้งสองขาดความมีขันติธรรมและการอดกลั้นต่อการยอมรับความแตกต่างและความไม่เหมือนของพลเมืองในชาติ จึงก้าวล่วงสู่การปฏิเสธความจริงข้อนี้ และกำหนดนโยบายที่บังคับพลเมืองในปกครองให้ถือศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่งกายและกำหนดวิถีชีวิตให้เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบพลเมืองโดยรวม ไม่เว้นแม้แต่คนไทยที่นับถือศาสนาและมีวัฒนธรรมเดียวกันกับบุคคลทั้งสอง

 

กระนั้นปฏิกิริยาโต้ตอบก็ยังไม่มากเท่ากับกรณีของชาวมลายูมุสลิมซึ่งยึดมั่นในอัตลักษณ์ของตนโดยผูกขาด เรื่องจึงกลายเป็นว่านโยบายรัฐนิยมปฏิเสธข้อเท็จจริงว่าด้วยความแตกต่างแบบสุดโต่ง และสามัญสำนึกของชาวมลายูมุสลิมก็ยึดมั่นในข้อเท็จจริงนี้อย่างเหนียวแน่นและผลของนโยบายรัฐนิยมซึ่งเป็นผู้กระทำก็กระตุ้นและปลุกเร้าให้สามัญสำนึกของชาวมลายูมุสลิมซึ่งถูกกระทำให้ก้าวสู่ภาวะสุดโต่งในการถือข้อเท็จจริงนั้น เมื่อต่างฝ่ายตกอยู่ในภาวะสุดโต่งด้วยการกระทบกระทั่งที่รุนแรงจึงมีผลตามมาเนื่องจากไร้ขันติธรรมต่อกันอย่างชนิดที่ยากจะหลบเลี่ยงได้

 

ผลร้ายของการสุดโต่งระหว่าง 2 ฝ่ายได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำให้ความแตกต่างมีระยะห่างกันออกไปทุกครั้งที่มีการยึดเอาสำนึกของตนเป็นที่ตั้ง รัฐไทยต้องการให้ชาวมลายูมุสลิมเป็นเหมือนตนด้วยการรุกทางวัฒนธรรมและย่อยสลายอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยความแตกต่าง

 

ในขณะที่ชาวมลายูมุสลิมก็แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบการกระทำของรัฐไทยด้วยการใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยความแตกต่างเป็นเครื่องมือในการปัดป้องการรุกทางวัฒนธรรม แต่การใช้เครื่องมือดังกล่าวก็ส่งผลเสียข้างเคียงที่รุนแรงยิ่งกว่าคือการแบ่งแยกและโดดเดี่ยวตัวเอง ตลอดจนการปิดโลกทัศน์ของตนโดยปฏิเสธความเกี่ยวพันระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง คนไทยไม่เกี่ยวข้องกับคนมลายู คนมลายูไม่มีทางรวมกับคนไทยได้ และไม่มีพื้นที่สำหรับการรอมชอมอีกต่อไป

 

ในสถานการณ์ที่มีภาวะร้าวลึกและการแบ่งแยกแบบเส้นขนานที่ยากจะบรรจบ การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการต่างๆ จึงผุดขึ้นในฝ่ายของชาวมลายูโดยยึดเกาะกับสำนึกในอัตลักษณ์แบบสุดโต่งโดยเน้นใน 3 เรื่องคือ ศาสนา ภาษา และแผ่นดิน  ทั้งหมดกลายเป็นอุดมการณ์และสำนึกร่วมกันของคนมลายู มุสลิมซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อยู่นอกพื้นที่และไม่มีอุดมการณ์ตลอดจนสำนึกดังกล่าวถูกกันออกไปจากบริบทนี้และบางครั้งอาจจะเลยเถิดไปถึงขึ้นถูกให้ลักษณะว่า “กลายพันธุ์” หรือ “มลายูที่ไร้สำนึก” ก็มี

 

มลายูมุสลิมคนใดในพื้นที่รอมชอมกับนโยบายของรัฐไทยก็จะถูกมองในแง่ลบว่าคบกับพวกต่างศาสนา ต่างเผ่าพันธุ์ และหมิ่นเหม่ต่อการตกศาสนา ในทางตรงกันข้ามรัฐไทยและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มองคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ว่าเป็นพวกสร้างปัญหา ดื้อรั้น และหัวแข็ง การใช้กำลังปราบปรามจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับแต่เหตุการณ์ในดุซงยอ , กรือเซะ และตากใบ สถานการณ์จึงเอื้อต่อการเป็นข้ออ้างในความชอบธรรมของฝ่ายขบวนการที่พุ่งเป้าไปยังการต่อสู้กับความอยุติธรรมของรัฐไทยและเจ้าหน้าที่

 

ในขณะเดียวกันการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ของกลุ่มขบวนการก็เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐไทยมีความชอบธรรมในการโยกย้ายกำลังทหารเข้าประจำการในพื้นที่และทุ่มงบประมาณเพื่อการนี้อย่างมหาศาล  เมื่อสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็คือคน 2 พวกเท่านั้น คือกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณด้านความมมั่นคง และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งตราบใดที่ยังมีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่แบบเต็มอัตราศึกพวกเขาก็ย่อมมีความชอบธรรมในการขับเคลื่อนและสืบสานอุดมการณ์ของตนได้ต่อไปบนข้อเรียกร้องที่ว่า “ต่อสู้เพื่อแผ่นดินมลายูอันบริสุทธิ์” หรือ “ปกป้องศาสนา ชาติพันธุ์ภาษาและแผ่นดิน”

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าปัญหาที่ซับซ้อนนี้จะไร้ทางออกไปเสียทุกประตู อย่างน้อยก็คือพลเรือนในพื้นที่ซึ่งเป็นฝ่ายที่ 3 ที่ถูกกระทำจากทั้งสองฝ่ายแรกและได้รับผลกระทบโดยตรง เหตุนี้จึงมีความพยายามในการดึงกลุ่มพลเรือนฝ่ายที่ 3 นี้เพื่อสร้างแนวร่วมทั้งในฝ่ายของรัฐไทยและฝ่ายของกลุ่มขบวนการ ยุทธการแย่งชิงประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องขับเคี่ยวและแข่งขันกัน ในขณะที่ความเป็นต่อตกเป็นของฝ่ายขบวนการและพวกเขาแทรกซึมไปได้แยบยลกว่า

 

การเดินตามของรัฐไทยจึงถูกทิ้งห่างไปหลายช่วงตัว อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ยุทธการของกลุ่มขบวนการอยู่ในภาวะที่ได้เปรียบและทำให้รัฐไทยตกอยู่ในภาวะที่เป็นรอง คำตอบที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงก็คือ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเนื่องจากตีโจทย์ไม่แตกนั่นเอง รัฐไทยตีโจทย์ว่าเป็นเรื่องของปากท้องและสภาพทางเศรษฐกิจ โดยตั้งสมมุติฐานว่าหากประชาชนอยู่ดีกินดี มีอาชีพมั่นคง มีรายได้พอเพียง ปัญหาความรุนแรงก็จะลดลง

 

การตั้งสมมุติฐานเช่นนี้เป็นการมองแบบยึดโยงกับลัทธิทุนนิยมและวัตถุนิยมเป็นหลัก ในท้ายที่สุดการทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างโครงการที่มุ่งพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชนก็ถูกทุ่มลงไปในพื้นที่ แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ก็คือความรุนแรงของเหตุการณ์ยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงเช่นเดิม ฝ่ายที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของรัฐไทยก็มองว่าทั้งหมดของปัญหามาจากการศึกษาในพื้นที่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีการยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาให้สูงขึ้นปัญหาความรุนแรงก็จะบรรเทาลง การศึกษานอกระบบเช่นสถาบันปอเนาะจะต้องถูกควบคุมและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการศึกษาของชาติ การกำหนดแผนในเรื่องนี้จึงถูกวางตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้นี้

 

แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ สถาบันปอเนาะมีจำนวนลดลงและกลายสภาพเป็นโรงเรียนบูรณาการที่มีการสอนสามัญควบคู่ศาสนา หลักสูตรอิสลามศึกษาถูกร่างและนำมาใช้ในโรงเรียนเหล่านี้ มีการกำหนดโควต้าพิเศษสำหรับนักศึกษาจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ กระนั้นการดำเนินการตามนโยบายทางการศึกษาของรัฐไทยก็ยังคงถูกจับตามองอย่างเคลือบแคลงว่าเป็นการแทรกซึมและรุกรานทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิม ท้ายที่สุดสมมุติฐานก็มิได้ตอบโจทย์ในการแก้สมการของปัญหาความรุนแรงให้ลดลงได้ มิหนำซ้ำการทุ่มงบประมาณในส่วนนี้ก็เป็นช่องโหว่สำหรับการต่อท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มกระบวนการที่แทรกซึมอยู่ในระบบของการศึกษาทั้งสามัญและศาสนาในพื้นที่โดยที่รัฐไทยมิรู้สึกตัวด้วยซ้ำไป

 

ครั้นเมื่อรู้สึกตัวการไล่จับกุมอุสต๊าซ การบุกหอพักนักเรียนที่คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งซ่องสุมขบวนการหรือการเคลื่อนไหวของแนวร่วมก็จะถูกมองในเชิงลบทันทีว่ารัฐไทยกำลังคุกคามต่อสถาบันทางการศึกษาและบุคคลากรทางศาสนา ความชอบธรรมของฝ่ายขบวนการก็เกิดขึ้นอีกในสถานการณ์เช่นนี้

 

ฝ่ายยุติธรรมของรัฐไทยก็ตั้งสมมุติฐานว่าต้นตอของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่เกิดจากการกระทำมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการใช้ พรก. และ ป.วิอาญาจับกุมประชาชนที่ตกเป็นแพะโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม มีการวิสามัญฆาตกรรมและการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่รุนแรงมีภาพปรากฏเห็นตำตาก็คือกรณีตากใบ เป็นเหตุให้พี่น้องของผู้ถูกกระทำและผู้เสียชีวิตต้องเคลื่อนไหวและเอาคืนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายยุติธรรมจึงตั้งศูนย์อำนวยความยุติธรรม ศูนย์ดำรงธรรมและอีกหลายข่ายงานเพื่อเยียวยาในเรื่องนี้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ผลที่ได้รับก็คือ ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป

 

ฝ่ายปกครองโดยกระทรวงมหาดไทยตั้งสมมุติฐานว่าปัญหาทั้งหมดต้องได้รับการแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่การปกครองในระดับท้องถิ่น มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) มีการเปิดโอกาสให้มุสลิมในสายงานเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการหรือนายอำเภอให้มากขึ้น กระนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงก็ยังคงตกอยู่ในวังวนเช่นเดิม

 

การตั้งสมมุติฐานและทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดมิได้ผูกขาดอยู่กับฝ่ายรัฐไทยเท่านั้น ฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน “องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม ไม่เว้นแม้แต่คณะองคมนตรีต่างก็ทุ่มเทในการกำหนดโครงการหลากหลายรูปแบบเพื่อหวังให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น มีการอบรมสัมมนา มีการดูงานนอกพื้นที่ มีการนำเยาวชนในพื้นที่ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่เป็นมุสลิมนอกพื้นที่ ผลที่ได้รับก็มีสภาพเช่นเดียวกับที่กล่าวมา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นความล้มเหลวทั้งหมดก็คงไม่ผิด

 

สิ่งที่เป็นคำตอบสำหรับสาเหตุของความล้มเหลวในทฤษฎีและสมมุติฐานทั้งหมดก็คือ  การตีโจทย์ของปัญหาที่ไม่แตกนั่นเอง สมมุติฐานทั้งหมดซึ่งเป็นที่มาของบรรดาโครงการมากมายในพื้นที่ล้วนแต่เป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น หรือไม่ก็เป็นการจับประเด็นแวดล้อมที่เป็นเพียงผลของการกระทำที่ผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น และแต่ละฝ่ายที่ดำเนินการตามทฤษฎีและสมมุติฐานของตนก็กำหนดรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไปตามที่ตนถนัดและสันทัดกรณี เอกภาพในการทำงานไม่เกิดขึ้น ทหารก็คิดอย่างทหาร วิธีคิดก็ไปเป็นไปตามยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของตน ข้าราชการฝ่ายการศึกษาก็คิดอย่างนักการศึกษาและใช้ทฤษฎีที่ตนคิด ฝ่ายยุติธรรมก็มุ่งมั่นในวิถีทางของตน ฝ่ายเศรษฐกิจก็คิดและกำหนดแนวทางที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทุนเสรีและวัตถุนิยม ฝ่ายปกครองก็เน้นวิธีการที่เป็นจารีตและพิธีรีตองเกินไป ทั้งหมดจึงประสบผลตอบรับอย่างเดียวกันคือไม่มีอะไรดีไปกว่าเดิม ทุกฝ่ายถึงทางตันเหมือนกัน

 

มีกรณีศึกษาสองสามตัวอย่างที่บ่งถึงต้นตอของปัญหา กรณีที่หนึ่ง หนังสือพิมพ์ลงข่าวหน้าหนึ่งเป็นภาพการฝังศพพี่น้องมุสลิมที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ เป็นการฝังศพหมู่ที่มีคำบรรยายประกอบว่า “ชาวมุสลิมกำลังทำพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ โดยศพทั้งหมดมิได้ถูกทำพิธีอาบน้ำศพ มีการห่อศพและฝังศพโดยไม่มีพิธีละหมาดให้แก่ผู้เสียชีวิต” ผู้ที่อ่านข้อความบรรยายภาพข่าวเพียงเพราะเป็นข่าวที่ตนสนใจแล้วก็อ่านเนื้อข่าวหน้าในของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นต่อไป ข่าวก็เป็นเพียงการบอกเล่าและรายงานเหตุการณ์ของผู้เขียนข่าว แล้วเรื่องก็ยุติอยู่เพียงแค่นั้น อาจจะมีเลยไปจากนั้นบ้างก็เป็นเพียงความรู้สึกในเชิงบวกหรือเชิงลบต่อข่าวที่เกิดขึ้นหรือกลุ่มผู้เสียชีวิตที่ตกเป็นข่าว

 

กรณีที่สอ เป็นบรรยากาศของการอบรมเยาวชนจากโรงเรียนในสามจังหวัดและอีกสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ณ รีสอร์ทแห่งหนึ่งในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา วิทยากรที่อบรมเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาโดยส่วนใหญ่ตั้งคำถามกับเยาวชนว่า “นับแต่ปีพ.ศ. 2329 อันเป็นปีที่ปัตตานีดารุสสลามแตกและพ่ายแพ้ต่อการรุกรานของสยาม จวบจนถึงปีพ.ศ.2551 (ปีที่อบรมเยาวชน) นั้นขอถามว่า ชาวมลายูมุสลิมเชื้อสายปัตตานียังคงตกเป็นเชลยศึกและทาสของชาวสยามอยู่ใช่หรือไม่?” เยาวชนหลายคนตอบพร้อมกันว่า “ใช่!!” วิทยากรย้ำด้วยประโยคที่ว่า “หมายความว่าทุกวันนี้ชาวมลายูปัตตานียังคงเป็นเชลยศึกและเป็นทาสของสยามใช่หรือไม่?” เยาวชนที่เข้าอบรมยังคงพร้อมใจกันตอบว่า “ใช่!!” คำยืนกรานของเยาวชนต่อคำตอบที่ว่าใช่นั้นบ่งถึงอะไร?

 

กรณีที่สาม เป็นคำบอกเล่าของอุสตาซะฮฺจากจังหวัดสตูลที่เข้าร่วมอบรมโครงการ ป.ตรีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ รีสอร์ทแห่งเดียวกัน เธอเป็นมุสลิมะฮฺที่พูดภาษาไทยชัดเจนและเป็นหนึ่งในตัวแทนกลุ่มที่ออกมาพรีเซนท์ตามหัวข้อที่ผู้จัดโครงการกำหนด เธอเล่าว่า เมื่อครั้งที่ดิฉันศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา มีเพื่อนๆ ซึ่งเป็นนักศึกษาในพื้นที่สอบถามดิฉันว่า เป็นมุสลิมหรือเปล่า? ดิฉันตอบว่า “เป็นมุสลิม!” เพื่อนๆ ถามต่อไปว่า “เป็นมุสลิมมากี่ปีแล้ว ทำไมยังพูดภาษาอิสลามไม่ได้ เธอไม่รู้หรือว่าคนที่เป็นมุสลิมต้องพูดภาษาอิสลาม!” ดิฉันจึงถามเพื่อนๆ กลุ่มนั้นกลับไปว่า “ภาษาอิสลามคือภาษาอะไรละ” พวกเขาตอบดิฉันว่า “ภาษามลายูไงละ! ภาษาไทยที่เธอพูดนะมิใช่ภาษาอิสลามแต่ภาษาของพวกกาเฟร!”  คำบอกเล่าของอุสตาซะฮฺผู้นี้บ่งถึงอะไร? และคำตอบของนักศึกษากลุ่มนั้นแสดงให้เห็นอะไรในความคิดความเข้าใจของพวกเขา?

 

กรณีตัวอย่างทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้นถ้าอ่านแล้วฟังแล้วไม่คิดอะไรหรือนึกไม่ออกว่าแฝงสิ่งใดเอาไว้ก็ย่อมมิอาจตีโจทย์ของปัญหาให้แตกออกมาเป็นคำตอบได้ แต่ถ้าคิดออกและนึกได้ก็จะได้รับคำตอบในทันทีเช่นกัน กรณีที่หนึ่งนั้น ทำไมผู้เสียชีวิตจึงถูกฝังศพโดยไม่มีการอาบน้ำและละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่ศพ คำตอบก็คือ เพราะคนที่ฝังศพและยังมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตเชื่อว่าผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้พลีชีพหรือชะฮีดนั่นเอง! และที่สำคัญ ชะฮีดที่ว่านี้คือ ชะฮีดในสนามรบ! หรือชะฮีดดุนยานั่นเอง

 

กรณีที่สอง ทำไมนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นม.ปลายโดยส่วนใหญ่จึงตอบคำถามของวิทยากรว่า “ใช่” คำตอบก็คือเพราะพวกเขาถูกปลูกฝังเรื่องราวในประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานีแบบคลาดเคลื่อนและสับสนจนแยกไม่ออกว่าสถานภาพของพวกเขาไม่ใช่เชลยศึกหรือทาสของชาวสยามอีกแล้วในปีพุทธศักราชนั้นหรือก่อนหน้านั้นเสียอีก

 

ส่วนกรณีที่สาม ทำไมนักศึกษากลุ่มนั้นจึงตั้งข้อสงสัยกับมุสลิมะฮฺจากจังหวัดสตูลในความเป็นมุสลิมของเธอ และทำไมพวกเขาจึงตอบกับเธอว่าภาษามลายูเป็นภาษาอิสลาม คนที่พูดภาษามลายูไม่ได้อย่างเธอจึงถูกตั้งคำถามที่เสียดแทงหัวใจของคนมุสลิมทุกคนว่า “เป็นมุสลิมมากี่ปีแล้ว?” คำตอบก็คือ นักศึกษาเหล่านั้นซึ่งเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา จึงเป็นเหตุให้พวกเขาผูกขาดความเป็นอิสลามเอาไว้กับภาษามลายูเท่านั้นทั้งสามกรณ์

 

และคำตอบของมันคือเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง นั่นคือ เป็นปัญหาในเชิงสำนึกและมโนคติที่ผูกมัดอยู่กับความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจในสามประเด็นหลักคือ

1)   การต่อสู้ทางศาสนาที่เรียกว่าญิฮาด

2)   ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจว่าด้วยข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ปัตตานีดารุส สลามกับสยาม

3)   ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจว่าด้วยสำนึก และมโนคติในชาติพันธุ์มลายู ภาษามลายู และความเป็นมุสลิมที่ยึดเกาะอยู่กับความเป็นมลายูจนแยกไม่ออก

 

เพราะอะไร? 3 ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นต้นตอของปัญหา เพราะเชื่อและเข้าใจว่า การต่อสู้กับรัฐไทยเป็นการญิฮาดตามหลักการของศาสนา คนไทยที่มิใช่มุสลิมจึงถูกตัดสินว่าเป็น กาฟิรหัรบียฺ (كاَفِرٌحَرْبِيٌّ)  ที่เลือดของพวกเขาเป็นที่อนุมัติ (حَلاَلُ الدَّمِ)   คนมุสลิมที่เข้ากับฝ่ายรัฐไทยจึงถูกตัดสินว่าเป็นพวกกลับกลอก (مُنَافِق) การต่อสู้ในทุกรูปแบบกับศัตรูเป็นที่อนุมัติ พื้นที่ของสถานการณ์ที่มีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายคือ สนามรบ (مِيْدَانُ الْحَرْبِ) มุสลิมคนใดเสียชีวิตในภาระกิจของการต่อสู้ที่เป็นญิฮาดย่อมถือเป็นชะฮีดดุนยา และระยะเวลาในการต่อสู้จะไม่มีวันจบลงง่ายๆ จนกว่าการญิฮาดจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ด้วยการปลดแอกแผ่นดินอิสลาม (نكَرى إسلام)  ด้วยการบังคับใช้กฏหมายอิสลาม (الشريعة الإسلامية)  อย่างสมบูรณ์ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดที่จะต้องทำให้สำเร็จแม้จะต้องใช้เวลาที่ยาวนานเพียงใดก็ตาม

 

ดังนั้นเมื่อมีความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอุดมการณ์สูงสุดแล้ว ต่อให้รัฐไทยทุ่มงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการตามสมมุติฐานทางเศรษฐกิจ การศึกษา การใช้ความยุติธรรม การกระจายอำนาจการปกครอง ฯลฯ มากเพียงใด นั่นก็เป็นการทุ่มเทที่สูญเปล่า เพราะเป็นนโยบายและแผนงานของผู้ที่ยึดครองที่มิใช่รัฐอิสลาม หากแต่เป็นผู้รุกรานที่การญิฮาดกับพวกเขาเป็นภาระกิจหลักของทุกคน (فَرْضٌ عَيْنِيٌّ) ที่สำคัญ การญิฮาดในกรณีนี้มิใช่   (فَرْضٌ كِفَائِيٌّ)  ตามการตีความของผู้ที่เคลื่อนไหวในการญิฮาดนี้ เพราะกองทัพของฝ่ายศัตรูรุกรานและเหยียบเมืองแล้วตลอดจนตั้งกองทัพอยู่ในดินแดนอิสลามอีกด้วย

 

เมื่อถือเป็นภาระกิจบุคคล (فَرْضٌ عَيْنِيٌّ) ในการญิฮาดกับศัตรู เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้จะออกศึกญิฮาดต้องขออนุญาตจากบิดา มารดา ภรรยาต้องขออนุญาตสามี ลูกหนี้ต้องขออนุญาตจากเจ้าหนี้จึงไม่ถูกพิจารณาในบริบทนี้แต่อย่างใด ผู้ทำการญิฮาดในบริบทนี้จึงมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงวัย เพราะเป็นหน้าที่ของทุกคนในดินแดนอิสลามที่ถูกเหยียบย่ำด้วยกองทัพของศัตรู ตลอดจนถือเป็นภารกิจส่วนรวม (فَرْضٌ كِفَائِيٌّ) ของมุสลิมที่อยู่ใกล้เคียงกับดินแดนอิสลามที่ถูกยึดครองต้องส่งกองกำลังหรือแนวร่วมเข้าสนับสนุนในการญิฮาดนี้อีกด้วย

 

เพราะการปลูกฝังและบ่มเพาะให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษผู้สถาปนารัฐปัตตานีดารุสสลาม การเล่าขานจากปากสู่ปาก รุ่นสู่รุ่นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมีเอกราชของรัฐปัตตานีดารุสสลามจนตกผลึกอยู่ในห้วงสำนึกของมลายูชนรุ่นหลัง การกำหนดบทบาทของตัวร้ายในหน้าประวัติศาสตร์ที่บ้าสงครามและรุกรานรัฐในอุดมคติซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่บ่อนทำลายความเจริญรุ่งเรืองและพรากความเป็นเอกราชและศักดิ์ศรีของพลเมืองมลายูปัตตานีไปอย่างชนิดที่ต้องจดจำแบบไม่มีวันลืม สยามและรัฐไทยคือตัวร้ายที่ว่านั้น

 

ศักดิ์ศรีของพลเมืองมลายูถูกย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่า มีการกวาดต้อนเชลยศึกหลายพันคนที่บ้านแตกสาแหรกขาดเอาไปไว้ที่บางกอก พวกเขาถูกเจาะเอ็นร้อยหวาย ถูกเจาะใบหูผูกติดกัน ต้องได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส เท่านั้นยังไม่พอพวกเขายังถูกบังคับให้ขุดคลองที่เรียกว่า “แสนแสบ” ซึ่งกลายเป็นตำนานของเชลยศึกปัตตานีไปแล้ว

 

เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าขานและบอกกล่าวให้จดจำขึ้นใจ จึงไม่แปลกที่นักเรียนชั้น ม.ปลายจะตอบคำถามเช่นนั้น การตกเป็นเมืองขึ้น การถูกลดทอนอำนาจ และการตกเป็นเชลยศึกของบรรพบุรุษเมื่อ 200  กว่าปีมาแล้วจึงไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เพราะพวกเขาไม่เคยลืม และจดจำมันเสมอราวกับว่าภาพของเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาหมาดๆ เมื่อเอกราชและศักดิ์ศรียังไม่ถูกกอบกู้กลับคืนมา ต่อให้เวลาผ่านไปอีกกี่ปีก็ตาม พวกเขาก็ยังรู้สึกอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นเชลยศึก เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของพวกเขา

 

เมื่อพวกเขาอยู่ในพื้นที่เดิมของปัตตานี ดารุสสลาม ภาพของมัสยิดกรือเซะ ที่มีแต่อิฐมอญและทรุดโทรม พระราชวังอิสตานะฮฺนีลัมหายไป วังเก่าของอดีตเจ้าเมืองในยุคปกครอง 7 หัวเมืองก็เก่าและทรุดโทรมสมชื่อ “วังเก่า” สุสานของเหล่าบุคคลสำคัญมีสภาพไม่ต่างกัน มุสลิมมลายูในพื้นที่ยากจน ในขณะที่พลเมืองต่างถิ่นที่สยามนำเข้ามามีความมั่งคั่งและร่ำรวย ตึกรามบ้านช่องในตัวเมืองล้วนแต่เป็นแบบสยาม ศาลากลางจังหวัดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจการปกครองของสยามเด่นตระหง่าน วัดช้างให้และหลวงปู่ทวดตลอดจนเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกลายเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของปัตตานี ลังกาสุกะรัฐมลายู พราหมณ์-พุทธ ถูกขุดและชุบขึ้นมาใหม่โดยกลบความเป็นปัตตานีดารุสสลามไปเสียสิ้น

 

แน่นอนความคับข้องใจต่อภาพแวดล้อมที่ได้เห็นในดินแดนแห่งบรรพบุรุษของตนย่อมตอกย้ำความรู้สึกและสำนึกที่คับแค้นต่อการกลืนกินของสยามไม่มากก็น้อย เมื่อพวกเขาไม่พบความมีศักดิ์ศรีของตนในภาวะปัจจุบัน การสร้างสำนึกที่ผูกพันกับอดีตของศักดิ์ศรีและความน่าภาคภูมิใจต่อรัฐแห่งบรรพบุรุษของพวกเขาย่อมเป็นสิ่งทดแทนได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวมลายูมุสลิมในปัตตานีถึงผูกพันกับอดีตมากกว่าปัจจุบัน และเมื่อมีความผูกพันและยึดมั่นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องแปลกใจว่านักศึกษากลุ่มหนึ่งจึงถามมุสลิมะฮฺจากสตูลด้วยคำถามเช่นนั้น และทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมเป็นคำตอบว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริง และทำไมจึงแก้กันอย่างไรไม่รู้จักจบสิ้น!

والله ولي التوفيق

 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเขียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ตอนที่ 1)