การผลัดเปลี่ยนของระบอบคิลาฟะห์สู่พวกอุษมานียะห์ และบทบาทของอุษมานียะห์ในการเป็นผู้นำโลกอิสลาม

        ถึงแม้ว่าระบอบค่อลีฟะห์จะถูกทำลายลงด้วยน้ำมือของพวกตาตาร์อย่างน่าเจ็บปวดและ ชวนเศร้า แต่โลกอิสลามก็หาได้ลืมเลือนถึงบทบาทและภารกิจอันสำคัญยิ่งของผู้เป็นค่อลีฟะห์ไม่ เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น เหล่าเจ้าครองนครรัฐและซุลตอนในแต่ละแว่นแคว้นของผืนแผ่นดินอิสลามต่างๆ ก็ขวนขวายและกระวีกระวาดเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมตามหลักการของศาสนาใน อำนาจของตนต่อหน้าประชาชนในแว่นแคว้น

        กระบวนการดังกล่าวนั้นหมายถึง การได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าจากค่อลีฟะห์แห่งราชธานีแบกแดดแต่งตั้งให้บุคคล ผู้นั้นเป็นผู้แทนพระองค์ในการปกครองแว่นแคว้นนั้นๆ ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการแสดงเป็นพิธี แต่ก็นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญมิใช่น้อยในด้านจิตวิทยามวลชน เรียกได้ว่าเมื่อผู้ใดผ่านพิธีรีตองขั้นต้นแล้วก็สามารถใช้อำนาจของตนในการปกครองหัวเมืองที่ครอบครองและทรงอิทธิพลอยู่ได้อย่างสนิทใจ นอกเหนือจากความชอบธรรมและการยอมรับของพลเมืองที่อยู่ใต้อำนาจไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างชอบธรรมตามหลักการหรือไม่ก็ตามที

        ดังจะเห็นได้ว่าพวกม่ามาลีกซึ่งแต่เดิมก็คือทาสผิวขาวชาวเติร์กและเจอกิซที่ซุลตอนแห่งราชวงศ์อัลอัยยูบีย์ นำเข้ารับราชการทหารและกิจการราชสำนัก ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในการปกครองอียิปต์ภายหลังราชวงศ์อัลอัยยูบีย์ได้อ่อนแอ พวกม่ามาลีกอยู่ในอำนาจราว 250 ปี และมีความปรารถนาการได้มาซึ่งความชอบธรรมแห่งอำนาจนั้น พวกเขาจึงได้ฟื้นฟูระบอบค่อลีฟะห์ขึ้นอีกครั้งในกรุงไคโร โดย ซุลตอน อัซซอฮิร บัยบรัสที่ 1 ซึ่งเป็นซุลต่อนม่ามาลีกลำดับที่ 4 (ค.ศ.1260-1277) ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบอบค่อลีฟะห์แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์อีกคราและกำหนดให้กรุงไคโรเป็นศูนย์กลางของระบอบในปี ฮ.ศ.659

        การดำเนินการฟื้นฟูดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของระบอบค่อลีฟะห์ในราชธานีแบกแดดด้วยน้ำมือของพวกตาตาร์ในปี ฮ.ศ.656 อันเป็นการส่งเสริมอำนาจและความมีสิทธิอันชอบธรรมสำหรับพวกม่ามาลีกในด้านการเมืองการปกครองและกุม บัลลังก์แห่งอำนาจที่แท้จริงอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

 

         ดังนั้นอบุลอับบาส ผู้มีศักดิ์เป็นอาของค่อลีฟะห์ อัลมุอ์ตะซิม บิลลาห์ ค่อลีฟะห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์จึงเดินเข้าสู่กรุงไคโร ภายหลังสามารถหนีรอดจากการเข่นฆ่าสังหารของพวกตาตาร์ที่กระทำในนครแบกแดดและอบุลอับบาสก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นค่อลีฟะห์ หลังจากบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามได้ตรวจสอบเชื้อสายของพระองค์ และได้รับการประกาศรับรองความถูกต้องโดยกอฎีย์อัลกุฎอต (ตุลาการสูงสุด) ซุลตอน บัยบรัสก็ให้การสัตยาบันต่อหน้าอบุลอับบาส พร้อมทั้งเหล่าข้าราชการของอาณาจักรซึ่งให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะภักดีเชื่อฟังต่อคำบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและท่านศาสนทูตและจะร่วมรบเพื่อปกป้องพระ ศาสนา

        หลังจากค่อลีฟะห์ได้รับการสถาปนาและเฉลิมพระนามว่า “อัลมุซตันซิร บิลลาฮ์” งานเฉลิมฉลองก็ถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติและราชวงศ์ของค่อลีฟะห์ก็สืบ สันตติวงศ์ต่อมาอย่างยาวนานในกรุงไคโร นอกเหนือจากพวกอับบาซียะห์ ก็ยังมีผู้ทรงอำนาจในส่วนอาณาบริเวณอื่นๆ ของโลกอิสลามที่ได้รับการเรียกขานว่า “ค่อลีฟะห์” ดังเช่นพวกมองโกลขณะที่เข้ารับอิสลามนั้นหาได้ยอมรับฐานันดรและพระเกียรติของเหล่าค่อลีฟะห์ในกรุงไคโรไม่

        กษัตริย์ฆอซาน (มะห์มูด) ค.ศ.1271-1304 ผู้เป็นซุลตอนแห่งอาณาจักรอิลคอนียะห์ (มองโกล) เมื่อเข้ารับอิสลามในเปอร์เซีย (ฮ.ศ.658-704) พระองค์ก็ถูกเรียกขานพระนามบนธรรมาสน์ในการแสดงธรรมวันศุกร์ว่า “อัซซุลตอน อัลอะอ์ซอม ว่า ซุลตอนุ้ลอิสลาม วัลมุสลีมีน” ซุลตอนผู้ยิ่งใหญ่และซุลตอนแห่งอิสลามและชาวมุสลิม นอกจากนี้ ชาฮ์รุค มิรซ่า (ค.ศ.1377-1447) จักรพรรดิมองโกลผู้เป็นโอรสของตัยมูร แลงค์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา (ค.ศ.1405) พระองค์ก็ทรงเฉลิมพระนามว่า “ค่อลีฟะห์” โดยมิทรงเห็นว่ามีความจำเป็นอันใดในการอาศัยบรรดาค่อลีฟะห์แห่งอับบาซียะห์ในกรุงไคโรเพื่อให้ได้มาซึ่งการแต่งตั้งให้มีอำนาจปกครองโดยชอบธรรม

        พวกเติร์กก็เอาอย่างพวกมองโกลในเรื่องนี้ โดยไม่สนใจกับการเห็นพ้องด้วยฉันทานุมัติของค่อลีฟะห์อับบาซียะห์ในด้านจิตวิญญาณแห่งศูนย์รวมใจ แต่ทว่าพวกเติร์กกลับล้ำหน้ามากไปกว่านั้นด้วยการขนานนามผู้นำตนเองว่าเป็นค่อลีฟะห์ ดังเช่น อะลาอุดดีน คอลญีย์ (ค.ศ.1295-1315) แห่งเดลฮีและอูซูน ฮะซัน ข่านเติร์กมานีย์ (ค.ศ.1478) ในเมืองดิยารบักร์ ต่างก็ขนานนามตนเองว่าเป็น “ค่อลีฟะห์” หรือแม้กระทั่ง มุฮำหมัด อัชชัยบานีย์ (ฮ.ศ.906-916/ค.ศ.1500-1510) ผู้สถาปนาอาณาจักรแห่งอุซเบกในเอเซียกลางก็ถือว่าตนคือค่อลีฟะห์เช่นกัน (ระบอบคิลาฟะห์ ในอารยธรรมอิสลาม ดร.อะห์หมัด ร่อมาดอน อะห์หมัด หน้า 124-125)

        กล่าวคือ ลูกหลานในราชวงศ์ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จะดำรงตำแหน่งอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดนี้ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมสืบทอดต่อมาจนกระทั่งจำนวนค่อลีฟะห์ในกรุงไคโรมีมากกว่า 13 ท่าน ในระยะเวลาร่วม 2 ศตวรรษ ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวค่อลีฟะห์อับบาซียะห์จะถูกมองว่าเป็นผู้ปกครองทั่วไปสำหรับดินแดนอิสลามทั้งหมด ตลอดจนเป็นผู้นำสูงสุดสำหรับประชาคมอิสลาม นอกเสียจากอำนาจและอิทธิพลของบรรดาค่อลีฟะห์นั้นมิได้มีมากเกินไปกว่าการดำเนินการแต่งตั้ง หรือสถาปนาตำแหน่งซุลตอนเท่านั้น หลังจากนี้แล้วพระองค์ก็หาได้มีความสำคัญอันใดไม่จนกระทั่งสถานภาพของเหล่าค่อลีฟะห์เริ่มไร้ศักดิ์ศรีและขาดบารมีลงเรื่อยๆ ในสายตาของพวกม่ามาลีก

        อัซซุยุฏีย์ ได้กล่าวถึงสถานภาพของค่อลีฟะห์ในสมัยของท่าน (ค.ศ.1445-1505) ว่าในสมัยของเราเรื่องกลับกลายเป็นว่าค่อลีฟะห์ต้องมาขอเข้าเฝ้าท่านซุลตอน เพื่อถวายพระพรประจำเดือน สิ่งที่ท่านซุลตอนปฏิบัติต่อค่อลีฟะห์นั้นอย่างมากที่สุดก็คือเสด็จลงจากบัลลังก์และมานั่งรับประทานร่วมกับค่อลีฟะห์นอกบัลลังก์เท่านั้น ต่อมาค่อลีฟะห์ก็ลุกออกไปจากท้องพระโรงเหมือนกับไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง โดยที่ซุลตอนนั้นนั่งประทับอยู่เหนือบัลลังก์ของอาณาจักร (ตารีค อัลคุละฟาอ์ ของ อัซซุยุฎีย์ หน้า 164)

        ยิ่งไปกว่านั้นฐานันดรของผู้เป็นค่อลีฟะห์ยังมิอาจเทียมเสมอด้วยผู้เป็นซุลตอน ทั้งนี้เวลาเสด็จออกของซุลตอนค่อลีฟะห์ก็จักมีฐานะเพียงแค่ผู้ร่วมขบวนเสด็จที่เดินอยู่เบื้องหลังซุลตอน และยังทำหน้าที่มิได้ต่างอะไรกับเลขานุการสำนักพระราชวัง ขณะที่การให้เกียรติและความน่าเกรงขามกลับเป็นเรื่องเฉพาะขององค์ซุลตอน ดังนั้นค่อลีฟะห์จึงเป็นภาพลักษณ์ประหนึ่งดังเจ้าชายองค์หนึ่งที่อยู่ร่วมกับองค์ซุลตอนเท่านั้น (อ้างแล้ว หน้า 164)

        นักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 15 ก็ได้บันทึกสถานภาพของบรรดาค่อลีฟะห์แห่งกรุงไคโร เช่นกันว่า : ค่อลีฟะห์ไม่มีอำนาจสิทธิขาดอันใดเลย แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น เหมือนดังเช่นสมัยก่อนที่พระองค์จะเป็นองค์ประธานในการประชุมข้อราชการและมี อำนาจตัดสินพระทัยแต่เพียงพระองค์เดียวท่ามกลางบรรดาข้าหลวง, เหล่าข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ บรรดาเสมียนอาลักษณ์และเหล่าตุลาการทั้งปวง อัลมักริซีย์ ในตารีคมิซร์ หน้า 76

        บุคลิกภาพของค่อลีฟะห์เริ่มสูญสิ้นพระเกียรติยศมากขึ้นเบื้องหน้า ซุลตอนแห่งมัมลูกียะห์ ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่แท้จริงในอาณาจักรจวบจนกระทั่งถึงกาลสมัยแห่งซุลตอน ส่าลีมข่าน ที่ 1 (ค.ศ.1512-1520) ซึ่งเป็นซุลตอนลำดับที่ 9 แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ พระองค์ได้ทรงบ่ายหน้าการพิชิตของพระองค์สู่ดินแดนของชาวอาหรับ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นภายใต้ร่มธงชัยเดียวกัน และอยู่ภายใต้อำนาจที่แท้จริง และเพื่อเป็นการปลดปล่อยระบอบค่อลีฟะห์แห่งอิสลามให้หลุดพ้นจากพันธนาการ แห่งความตกต่ำไร้ซึ่งบารมี และเกียรติยศและกู้สถานภาพอันไร้ซึ่งอำนาจให้หวนกลับสู่ความสูงส่งอีกครา

        กองทัพอุษมานียะห์ภายใต้การบัญชาการสูงสุดของซุลตอนส่าลีม ข่าน ที่ 1 จึงเคลื่อนทัพเข้าทำศึกครั้งใหญ่กับกองทัพของพวกม่ามาลีกซึ่งมีซุลตอนอัลฆู รีย์ มุอิซซุดดีน มุฮำหมัด ซุลตอนองค์สุดท้ายของพวกม่ามาลีกเป็นผู้นำในสมรภูมิมัรจ์ ดาบิก (ค.ศ.1516) แผ่นดินซีเรีย โดยในกองทัพของพวกม่ามาลีกมีค่อลีฟะห์อัลมุตะวักกิลแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ ณ กรุงไคโร เข้าร่วมในการศึกครั้งนั้นด้วย ซึ่งพระองค์ก็ตกเป็นเชลยภายหลังการศึกจบลงด้วยชัยชนะของอุษมานียะห์

        ซุลต่อนส่าลีม ข่านที่ 1 เมื่อได้รับชัยชนะในการศึกที่ มัรจ์ ดาบิก แล้วพระองค์ก็ทรงนำทัพอุษมานียะห์รุกคืบหน้าสู่กรุงไคโร ซึ่งแตกในปี ฮ.ศ.922 หลังการรบพุ่งอย่างดุเดือดระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่ายและหลังจากที่ตูมาน บาย (ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนซุลตอน อัลฆูรีย์ และได้รับการเลือกให้เป็นซุลตอนภายหลังการสิ้นพระชนม์ของซุลตอน อัลฆูรีย์) ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของอุษมานียะห์เหนือแผ่นดินอียิปต์


        เมื่อซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 ยาตราทัพเข้าสู่กรุงไคโรได้สำเร็จแล้วพระองค์ก็ได้ทรงประหารชีวิตตูมานบายด้วยการแขวนคอ ณ ประตูเมืองซุวัยละห์ ของกรุงไคโร และยังทรงพำนักอยู่ในนครแห่งนี้ประมาณ 1 เดือน ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนบรรดามัสยิดและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองแจกจ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่พลเมืองอียิปต์และร่วมงานในเทศกาลต่างๆ

        ครั้นต่อมาค่อลีฟะห์ อัลมุตะวักกิล แห่งอับบาซียะห์จึงได้ทรงสละตำแหน่งค่อลีฟะห์แก่ซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1 และถวายสิ่งของมีค่าของท่านศาสดาที่ตกทอดกันมาในราชวงศ์แก่พระองค์ อันได้แก่ ธงศึก และเสื้อคลุม (อัลบุรดะห์) นอกจากนี้ อบู นุมัยน์ ผู้เป็นราชบุตรของเจ้านครมักกะห์ยังได้เดินทางสู่อียิปต์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อซุลตอนและมอบกุญแจของดินแดนมักกะห์และม่าดีนะห์แก่ซุลตอน นับแต่บัดนั้นซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 จึงกลายเป็นค่อลีฟะห์แห่งปวงชนมุสลิม และได้รับการเฉลิมพระนามว่า “ผู้พิทักษ์ดินแดนต้องห้ามอันทรงเกียรติทั้งสอง”  (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 57)

        นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า เหตุการณ์การสละตำแหน่งค่อลีฟะห์และถ่ายโอนจากอับบาซียะห์สู่อุษมานียะห์นี้ นั้นเกิดขึ้นในนครอิสตันบูล ภายในมัสยิด ญามิอ์ อะยา โซเฟีย  อย่างไรก็ตามการสละตำแหน่งของค่อลีฟะห์จากอับบาซียะห์นี้มีความเห็นของนักประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้ตำราประวัติศาสตร์บางเล่ม เช่น ดร.อะลี ฮัซซัน, อ.มูฮัมหมัด กุรด์ อะลี, มุฮำหมัด ฟะรีด เบก์ และ ดร.อะหมัด รอมาดอน อะห์หมัด ได้ระบุว่า การสละตำแหน่งจากค่อลีฟะห์แห่งอับบาซียะห์แก่ซุลตอนแห่งอุษมานียะห์นี้เกิด ขึ้นจริง และเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกรุงไคโรหรือในนครอิสตันบูลก็ตาม (ตะรีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 194, อัลอิสลาม วัลฮาดอเราะห์ หน้า 494)

        นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่ง ดร.อับดุลอะซีซ อัชชินาวีย์ ในหนังสือ อัดเดาละห์  อัลอุษมานียะห์และโทมัส อาร์โนลด์ มีความเห็นว่าการสละตำแหน่งเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งจากผู้มีความเห็นเช่นนี้ คือ ดร.อับดุลอะซีซ อัชชินาวีย์ ซึ่งมีความเห็นว่า : ระบอบค่อลีฟะห์ไม่เคยผลัดเปลี่ยนสู่พวกอุษมานียะห์ โดยให้เหตุผลว่าบรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ไม่เคยใช้พระนามว่า “ค่อลีฟะห์” ทั้งนี้เพราะพวกเขาทราบดีว่า พระนามค่อลีฟะห์อันเป็นตำแหน่งสูงสุดได้นำพาบรรดาค่อลีฟะห์ในกรุงไคโรสู่ ความตกต่ำและไร้อำนาจ ตลอดจนความหยิ่งในศักดิ์ศรี อันเป็นคุณลักษณะที่เด่นชัดของเหล่าซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ย่อมหักห้ามในการ ที่พวกเขาจะเสริมสร้างบารมีและอำนาจของตนด้วยการอาศัยอำนาจอื่นภายนอก

        โดยซุลตอนเหล่านั้นย่อมทราบดีว่าอำนาจบารมีของค่อลีฟะห์มีความตกต่ำไร้เกียรติเพียงใดในสายตาของม่ามาลีกในอียิปต์, ชาม (ซีเรีย) และดินแดนอื่นๆ ดังนั้นคำพูดที่ว่า มีการแสวงหาหรือประสงค์ให้ได้รับการแต่งตั้งให้ซุลตอนอุษมานียะห์มีอำนาจจาก บรรดาค่อลีฟะห์แห่งกรุงไคโรจึงดูเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับลักษณะเฉพาะและจริตของเหล่าซุลตอนอุษมานียะห์ และอันที่จริงแล้วพวกอุษมานียะห์นั้นได้ให้ความสำคัญกับการต่อเติมพระนามที่ ค่อนข้างจะยืดยาวและมากมายอยู่แล้วว่า “ผู้พิทักษ์ดินแดนต้องห้ามอันทรงเกียรติทั้งสอง” ภายหลังจากผนวกเอาแคว้นอัลฮิญาซเข้าสู่ใต้อำนาจของพวกตนต่างหาก โดยถือว่าการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของ จักรวรรดิอุษมานียะห์

        กล่าวคือการผนวกเอาดินแดนมักกะห์และม่าดีนะห์เข้าอยู่ในอำนาจย่อมเป็นการตอกย้ำถึงสถานภาพแห่งความเป็นผู้นำของอุษมานียะห์สำหรับโลกอิสลามโดยรวม ส่วนการเพิ่มเติมพระนามว่า “ค่อลีฟะห์” ให้กับผู้นำสูงสุดของอุษมานียะห์นั้นเพิ่งได้รับการฟื้นฟูในช่วงคริสตศตวรรษ ที่ 18 ด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคนั้น (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ เดาละตุน มุฟตะรอ อะลัยฮา หน้า 407-467 เล่มที่ 1 โดยสรุป)

        โทมัส อาร์โนลด์ ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาตะวันออก (บูรพาคดี) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเห็นว่า การสละตำแหน่งค่อลีฟะห์นั้นมิเคยเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่า บรรดาบรรพบุรษของซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1นิยมใช้พระนามว่า “ค่อลีฟะห์” เป็นปกติอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ซุลตอนมุร๊อด ข่านที่ 1 ทรงเป็นซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ท่านแรกที่เฉลิมพระนามว่า “ค่อลีฟะห์” เมื่อทรงพิชิต อะดิรนะห์ (เอเดรียโนเปิล) และกีลียะห์ (กิลเลีย) ได้ นอกจากนี้โทมัส อาร์โนลด์ ยังได้ใช้พระราชสาส์นโต้ตอบตลอดจนถวายพระพรที่ผู้ปกครองแคว้นใกล้เคียงกับอุ ษมานียะห์มาเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ครองแคว้นเหล่านี้ได้เรียกขานพระองค์ว่า ค่อลีฟะห์ และซุลตอนเองก็ทรงมีพระราชสาส์นโต้ตอบกับเหล่าผู้ครองนครด้วยสำนวนที่ว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงสวมอาภรณ์แห่งเกียรติยศของการเป็น ” ค่อลีฟะห์แก่พระองค์” (อัลคิลาฟะห์ ของโทมัส อาร์โนลด์ หน้า 77 สำนักพิมพ์ อัลยักเซาะห์ โดยสรุป)


        หลังจากนั้น อาร์โนลด์ก็หวนกลับมากล่าวว่า : เมื่อจักรวรรดิโมกุลในอินเดียได้ล่มสลายราวคริสตศตวรรษที่ 18 ซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ (ออตโตมาน) ก็กลายเป็นกษัตริย์ของโลกที่ทรงอำนาจและยิ่งใหญ่ที่สุด และพระนางแคธรี่น่าของจักรวรรดิรุสเซีย ก็ทรงร้องขอในสนธิสัญญา กูจูก กัยนัรญี่ (Kaibnardji เมืองในบัลแกเรีย) ให้ระบุในเงื่อนไขของสนธิสัญญาประนีประนอมว่า สำหรับค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ทรงมีสิทธิในการพิทักษ์ ชาวตาตาร์ที่เป็นมุสลิม (จาก อัลอิสลาม วัลฮาฎอเราะห์ อัลอะรอบียะห์ หน้า 494)

        เราสามารถค้านความเห็นของบุคคลที่ปฏิเสธการสละตำแหน่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม บูรณ์จากค่อลีฟะห์แห่งอับบาซียะห์ แก่ซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1 ดังกรณีที่อาร์โนลด์ ได้กล่าวว่าบรรดาบรรพบุรุษของซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1 เคยใช้พระนามว่า ค่อลีฟะห์ มาก่อนแล้วตั้งแต่รัชสมัยซุลตอนมุร๊อต ข่านที่ 1 โดยอ้างถึงชัยชนะทางการทหารของเหล่าซุลตอนในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ว่า กรณีอันใดเล่า ที่มาปฏิเสธความคิดของซุลตอน ส่าลีม ในการผนวกรวมเอาความเป็นผู้นำทางการเมืองและการทหารของจักรวรรดิอุษมานียะห์ เข้ากับพลังทางจิตวิญญาณที่ปรากฏอยู่ในบุคลิกภาพของค่อลีฟะห์อับบาซียะห์

        การผนวกรวมเอาสองสิ่งดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกันย่อมเป็นไปได้ เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการที่ดินแดนอัลฮิญาซและดินแดนของชนชาติอาหรับตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุษมานียะห์ และสิ่งที่จักรพรรดินีแคธรีน่าได้ทรงกล่าวไว้ในสนธิสัญญากูจูกกัยนัรญีก็สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.อัชชินาวีย์ ที่ว่าพวกอุษมานียะห์ได้รื้อฟื้นพระนามค่อลีฟะห์อีกคราด้วยสาเหตุต่างๆ ทางการเมืองในศตวรรษที่ 18 ข้อคัดค้านต่อสิ่งดังกล่าวก็คือ ระบอบค่อลีฟะห์หายไปไหนนับตั้งแต่การยาตราทัพเข้าสู่กรุงไคโร ของซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1

        ฉนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ค่อลีฟะห์แห่งอับบาซียะห์ได้สละตำแหน่งแก่ซุลตอนอุษมานียะห์จริงหรือไม่ การสืบทอดตำแหน่งค่อลีฟะห์ก็ยังคงมีอยู่ในลูกหลานของค่อลีฟะห์ อัลมุตะวักกิลซึ่งเสด็จนิวัตรสู่กรุงไคโรในรัชสมัยซุลตอน สุลัยมาน ข่านอัลกอนูนียะห์ ถ้าหากเป็นกรณีหลัง ก็จำเป็นที่ตำราทางประวัติศาสตร์จะต้องจดบันทึกเอาไว้ หรือไม่อย่างน้อย หรืออาจจะเป็นเรื่องปกติที่ว่าการสืบทอดในชั้นลูกหลานของค่อลีฟะห์ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเรื่องราวการสละตำแหน่งข้างต้นเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยปริยาย

        ประการต่อมาก็คือ โทมัส อาร์โนลด์ ได้อ้างอิงทัศนะของตนตามที่อิบนุ อิยาซ อบุลบะรอกาต (เสียชีวิตราว ค.ศ.1524) ได้จดบันทึกไว้โดยอาร์โนลด์ถือว่า อิบนุ อิยาซ ผู้นี้เป็นบุคคลร่วมสมัยกับช่วงเหตุการณ์ที่พวกอุษมานียะห์เข้าสู่อียิปต์ ถึงแม้ว่าอิบนุ อิยาซ ผู้นี้จะมาจากตระกูลเจอร์กิส ที่ทรงอำนาจในอียิปต์และซีเรีย นับแต่ตอนกลางของศตวรรษที่ 8 และเป็นตระกูลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับราชสำนักของไคโร หากแต่ว่าอิบนุ อิยาซก็มิใช่นักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แต่อย่างใด

        บุคคล ผู้นี้บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วยสำนวนที่อ่อน เขียนวกไปวนมา และชอบเสริมแต่งคุณลักษณะจนเกินงาม ตลอดจนการให้ความกระจ่างในแต่ละเหตุการณ์ก็ขาดความละเอียดละออ (มิซร์ อัลอิสลามียะห์ ว่า ตะรีค อัลคุตอต อัลมิซรียะห์ โดย อับดุลลอฮ์ อุสมาน อัลมุฮามีย์ หน้า 149, 151, 156 สำนักพิมพ์ ดาร อัลกุตุบ อัลมิซรียะห์) นอกจากนี้ เรายังพบว่าบุคคลผู้นี้มีเชื้อสายจากชนชาติเจอร์กิช (ชัรกะซีย์ ซึ่งเป็นชนชาติเดิมของพวกม่ามาลีกส่วนหนึ่ง) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เขาจะมีความนิยมในชาติพันธุ์ของตน อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน ก็คือ อิบนุ อิยาซได้จดบันทึกรายงานของตนในช่วงที่เกิดความวุ่นวาย ระส่ำระส่ายและตัวเขาเองก็มิใช่ทหารที่รับราชการในกองทัพ หรือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนเป็นแม่ทัพ

        แต่สิ่งที่ชัดเจนกลับเป็นว่า อิบนุ อิยาซ ค่อนข้างเก็บตัวและมิได้ไปไหนมาไหนบ่อยนัก โดยเฉพาะในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขารวบรวมจดบันทึก เป็นต้นว่า อิบนุ อิยาซ ไม่เคยพยายามในการยลโฉมซุลตอนส่าลีม หรือเข้าเฝ้าพระองค์ ทั้งๆ ที่ซุลตอนได้พำนักอยู่ในกรุงไคโรหลายเดือนด้วยกัน หากแต่ได้อาศัยเพื่อนของตนคนหนึ่งบอกเล่าถึงลักษณะโฉมของท่านซุลตอน (มิชร์ อัลอิสลามียะห์ อ.อับดุลลอฮ์ อุสมาน อัลมุฮามีย์ หน้า 161)

 

        ส่วนคำกล่าวของ ดร.อัชชินาวีย์ ที่ระบุว่า : เหล่าซุลตอนอุษมานียะห์ นั้นมิเคยมีความถวิลหาหรืออยากที่จะเฉลิมพระนามว่า ค่อลีฟะห์ เลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะพวกเขาทราบเป็นอย่างดีถึงสภาพอันตกต่ำและความไร้ศักดิ์ศรีของ ผู้ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ในสายตาของพวกม่ามาลีก คำกล่าวของดร.อัชชินาวีย์ เช่นนี้ดูจะอ่อนในหลักฐานไปเสียหน่อย กล่าวคือ


        ประการที่หนึ่ง ไม่มีข้อขัดแย้งสำหรับนักประวัติศาสตร์ ในกรณีที่ว่าเหล่าซุลตอนแห่งอุษมานียะห์นั้นมีจิตสำนึกต่ออุดมการณ์ทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของจักรวรรดิซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้มแข็งและทรงพลังยิ่งนัก ช่วงเวลาที่อุษมานียะห์มีความเข้มแข็งและทรงพลังที่สุดนับได้จากยุคของอัรตุฆรุล จวบจนถึงรัชสมัยซุลตอน สุลัยมาน อัลกอนูนีย์ จิตสำนึกต่ออุดมการณ์ทางศาสนา นับเป็นปัจจัยที่เด่นชัดที่สุดในการได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าของอุษมา นียะห์ ตลอดจนยังผลักดันพวกเขาสู่การยึดครองจักรวรรดิไบเซนไทน์ และการแผ่ขยายดินแดนในยุโรป จิตสำนึกนี้นี่เองคือสิ่งที่พวกอุษมานียะห์ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการมองถึงระบอบค่อลีฟะห์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงผิวเผินสำหรับพวกม่ามาลีก

        แต่พวกอุษมานียะห์กลับมองว่านั่นคือพลังทางจิตวิญญาณ์ที่เชื่อมเอาระบอบอิสลาม กับพลังทางการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งพลังทางการเมืองการปกครองดังกล่าวเป็นสิ่งที่ค่อลีฟะห์ในกรุงไคโรไม่มี ดังนั้นพวกอุษมานียะห์จึงรวมเอาพลังทั้งสองเข้าด้วยกันทั้งหมด เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่ประชาคมมุสลิมและรักษาเอกภาพของประชาคมเอาไว้ รวมถึงการพิทักษ์โลกอิสลามจากความแตกแยก ความไร้เสถียรภาพ และความละโมบของศัตรูภายนอก คือพวกครูเสด

        นอกจากนี้พวกอุษมานียะห์ยังได้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวของโลกอิสลามอย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลา 4 ศตวรรษด้วยกัน อีกทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมืองของโลกอิสลามที่เป็นหนึ่งเดียว พวกอุษมานียะห์ยังได้ดำเนินตามวิถีทางซึ่งระบอบค่อลีฟะห์แห่งอิสลามได้ดำเนินไว้ในขอบเขตของการวางแผนการต่างๆ และการศึกษาของนักนิติศาสตร์อีกด้วย (อัลอิสลาม ว่าฮารอกะห์ อัตตารีค ของอันวัร อัลญุนดีย์ หน้า 305)

        สิ่งนี้ย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงการมีอยู่ของจิตสำนึกต่ออุดมการณ์ทางศาสนา ณ บรรดาซุลตอนอุษมานียะห์ ตลอดจนการที่ซุลตอน บายะซิดได้รับพระราชทานตำแหน่งซุลตอนจากค่อลีฟะห์แห่งอับ บาซียะห์ในกรุงไคโรมาก่อนหน้านั้นแล้ว สิ่งดังกล่าวย่อมบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อความรู้สึกแบบอิสลามอันแรงกล้า และเป็นการยอมรับถึงอำนาจและสถานภาพอันชอบธรรมตามหลักนิติศาสตร์ของ ค่อลีฟะห์นั่นเอง (อัลคิลาฟะห์) โทมัส อาร์โนลด์ หน้า 60 อินติชาร อัลอิสลาม วัดดะอ์วะห์ อัลอิสลามียะห์ หน้า 64)


        ประการที่สอง จากทางด้านหลักนิติศาสตร์อิสลาม กล่าวคือ บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามได้มีทัศนะว่า หากผู้มีอำนาจปกครองที่มิได้ผ่านกระบวนการเลือกเฟ้นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด คือ ค่อลีฟะห์ แล้วจะต้องได้รับการสนองตอบด้วยความจงรักภักดีในสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการของศาสนา และไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นั้นในสิ่งที่ขัดต่อหลักการ (ตารีค อัลมะซาฮิบ อัลอิสลามียะห์ /เชคอบู ซะฮ์เราะห์ หน้า 105-106)

        สิ่งดังกล่าวหมายถึง ผู้เรียกร้องตำแหน่งค่อลีฟะห์จำเป็นที่จะต้องมีผู้ให้การสนับสนุนดำเนินภารกิจการเรียกร้องนั้นโดยคู่แข่งบนหน้าผืนพิภพนี้ไม่สามารถเอาชนะเหนือบรรดาผู้ให้การสนับสนุนต่อบุคคลแรกที่อ้างว่าตนมีคุณสมบัติในการเป็นค่อลีฟะห์ได้ กรณีดังกล่าวก็คือกรณีของซุลตอน ส่าลีมข่านที่ 1 ขณะพระองค์เข้ายึดครองดินแดนอียิปต์นั่นเอง


        ประการที่สาม สิทธิในการเลือกตั้ง หมายถึง การรับรองของหมู่ชนที่มีคุณสมบัติในการเลือกตั้งหรือถอดถอน อันประกอบไปด้วยสภาของนักวิชาการชั้นนำ คำอ้างในข้อนี้ก็คือว่า สภาที่กล่าวถึงนี้เคยมีอยู่ในยุคต้นของอิสลาม ณ นครม่าดีนะห์ ต่อมาก็เคลื่อนย้ายสู่นครดามัสกัส และต่อมาก็ย้ายมาสู่นครแบกแดด และในท้ายที่สุดก็ย้ายมาสู่กรุงไคโร ดังนั้นจึงย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาตในการย้ายจากกรุงไคโรสู่นครคอนสแตนติโน เปิ้ล (อิสตันบูล)

        ทั้งนี้ซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 ได้ทรงนำบรรดานักวิชาการชาวตุรกี (เตริ์ก) อีกจำนวนหนึ่งไปยังอิสตันบูลพร้อมกับพระองค์ภายหลังการพิชิตอียิปต์ และพระองค์ได้ทรงตั้งสภาจากนักวิชาการทั้งสองกลุ่มเพื่อร่วมกันเสนอให้ซุลตอนเป็นค่อลีฟะห์ของปวงชนมุสลิม สภานักวิชาการอิสลามได้ถวายพระแสงดาบแก่ซุลตอน และพิธีการเช่นนี้ก็ยังคงปฏิบัติสืบมาในการขึ้นดำรงตำแหน่งของบรรดา ค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ด้วยการรับพระแสงดาบจากเหล่านักวิชาการอิสลาม โดยกระทำพิธีการดังกล่าวภายในมัสยิดญามิอ์ของท่านอบีอัยยูบ อัลอันซอรีย์ ณ กรุงคอนสแตนนิโนเปิ้ลจวบจนสิ้นระบอบค่อลีฟะห์ในปีค.ศ. 1924


        ประการที่สี่ อัลวะซียะห์ (พินัยกรรม) คือการมอบหมายของค่อลีฟะห์ต่อผู้สืบทอดภายหลังสิ้นพระชนม์ประหนึ่งดังเป็น พินัยกรรมแต่งตั้งผู้สืบทอดซึ่งค่อลีฟะห์ อัลมุตะวักกิล อะลัลลอฮ์ ผู้เป็นค่อลีฟะห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ในกรุงไคโร ได้ทรงมอบหมายการเป็นค่อลีฟะห์แก่ซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1


        ประการที่ห้า การพิทักษ์ดินแดนต้องห้ามทั้งสอง (นครมักกะห์และม่าดีนะห์) นับตั้งแต่บรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ได้ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ พระองค์เหล่านั้นก็คือ ผู้พิทักษ์ดินแดนต้องห้ามทั้งสองแห่งมาโดยตลอด ยกเว้นระยะเวลาช่วง 7 ปี ที่บรรดาอิหม่ามแห่งนครซอนอาอ์ของเยเมนได้ทำหน้าที่ดังกล่าวในศตวรรษที่ 10 และอีก 7 ปี ที่ดินแดนทั้งสองถูกปกครองโดยราชวงศ์อาล ซูอูด (ซาอุดีย์) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1807- ถึงปีค.ศ. 1814


        ประการที่หก การมีบทบาทสำคัญอย่างเด่นชัดของระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์ในด้านการเมือง การปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโลกอิสลามจวบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1924 (อัลคิลาฟะห์ ฟิล ฮาฏอเราะห์ อัลอิสลามียะห์ / อะห์หมัด ร่อมาดอน หน้า 131-132) ส่วนกรณีที่ซุลตอนส่าลีม ข่านที่1 ทรงเลือกใช้พระนามว่า “ผู้พิทักษ์ดินแดนต้องห้ามอันทรงเกียรติทั้งสอง” โดยไม่ใช้พระนามว่า “ค่อลีฟะห์” ก็เป็นเพราะว่า พระนามค่อลีฟะห์เป็นเรื่องที่นิยมกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วสำหรับบรรดาเจ้าครองนครรัฐและกษัตริย์ชาวมุสลิม

        ดังจะเห็นได้ว่า ซุลตอนมุรอด ข่านที่ 1 ก็ทรงใช้พระนามว่าค่อลีฟะห์ ซึ่งปรากฏขึ้นในปี ค.ศ.1394 นั่นหมายความว่าก่อนหน้าการเข้ายึดครองอียิปต์ของอุษมานียะห์มากกว่าหนึ่งศตวรรษ ดังนั้นข้อเท็จจริงที่แน่ชัดก็คือ ผู้ปกครองมุสลิมแห่งอุษมานียะห์ในกรุงคอนสแตนนิโนเปิ้ลได้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริงเหนือดินแดนอิสลาม นับตั้งแต่การยาตราทัพเข้าสู่กรุงไคโรของซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 ตลอดจนการรับมอบกุญแจของนครต้องห้ามอันทรงเกียรติทั้งสองแห่งเป็นต้นมา

        ดังนั้นซุลตอนอุษมานียะห์ก็คือผู้ดำรงภารกิจปกป้องดินแดนอิสลามรักษาเขตพรมแดนและแต่งตั้งบรรดาผู้ปกครองหัวเมืองเก็บภาษีส่วยและทุกเรื่องราวที่มีความสำคัญสำหรับประชาคมมุสลิมก็ต้องหวนกลับสู่พระองค์เสมอ และพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงมีพระประสงค์ให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มิใช่ชาติพันธุ์อาหรับรับช่วงธงชัยแห่งอิสลามและมีภารกิจเผยแผ่อิสลามสืบต่อไป

        เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอิสลามคือศาสนาสากลของโลกถูกส่งมาเพื่อน้อมนำมนุษยชาติทั้งมวล โดยมิได้จำกัดอยู่แฉพาะหมู่ชนหรือชาติพันธุ์หนึ่งชาติพันธุ์ใด สมดังพระดำรัสที่ว่า “และเรามิได้ส่งท่าน (โอ้ มุฮำหมัด) มาเป็น ศาสน-ทูตนอกเสียจากยังมนุษยชาติทั้งผองในฐานะผู้ประกาศข่าวดีและประกาศคำเตือน” (บทสะบะอ์ พระบัญญัติที่ 28) และสมดังพระดำรัสที่ว่า “และเรา (อัลลอฮ์) มิได้ส่งท่าน (มุฮำหมัด) มาเพื่อภารกิจใด นอกเสียจากเป็นความเมตตาแก่โลกทั้งผอง” (บทอัลอัมบิยาอ์ พระบัญญัติที่ 107)

        และ พระวจนะของท่านศาสนทูตที่กล่าวถึงเรื่องนี้มีเป็นอันมาก อาทิเช่น พระวจนะที่ว่า “ข้าพเจ้า (ท่านศาสนทูต) ถูกประทาน (สิ่งพิเศษ) 5 ประการ ซึ่งไม่มีบรรดาศาสดาประกาศกท่านใดก่อนหน้าข้าพเจ้าได้รับสิ่ง 5 ประการ นั้นกล่าวคือ ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลือให้มีชัยเหนือศัตรูด้วยความพรั่นพรึงในหัวใจของ ศัตรูนั้นเป็นรยะเวลาก่อนออกทัพถึง 1 เดือน, ผืนแผ่นดินถูกบันดาลสำหรับข้าพเจ้า (และประชาชาตินี้) ให้เป็นที่ประกอบศาสนกิจและทำความสะอาด (ด้วยฝุ่นดิน) บุคคลหนึ่งจากประชาชาติของข้าพเจ้าที่การนมัสการมาทัน (เข้าเวลา) บุคคลผู้นั้นก็จงนมัสการเถิด, และทรัพย์ที่ยึดได้จากสงครามเป็นที่อนุมัติสำหรับข้าพเจ้า, ศาสดาประกาศกจะถูกส่งมาให้มาประกาศศาสนายังกลุ่มชนของเขาเป็นการเฉพาะ และข้าพเจ้าถูกส่งมาประกาศศาสนายังมนุษยชาติทั้งผอง และข้าพเจ้าถูกประทาน (สิทธิ) ในการให้ความอนุเคราะห์ (อัชชะฟาอะห์) (ฟัตฮุ้ลบารีย์ บิชัรฮิ ซอเฮียะห์ อัลบุคอรีย์ หน้า 99 เล่มที่ 3 พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อัลกุลลียาต อัลอัซฮะรียะห์ ปี ฮ.ศ.1398/1978)

 

        ดังนั้นพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) ได้ลิขิตแล้วให้พวกอุษมานียะห์ได้รับสืบทอดธงชัยแห่งอัลอิสลามและเทิดทูนร่มธงชัยนั้นให้สูงส่ง ซึ่งจักรวรรด์ของอุษมานียะห์ได้ทรงอำนาจตลอดระยะเวลาร่วม 6 ศตวรรษ กล่าวคือ มีอายุถึง 524 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1399 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1923 และมีผู้นำสูงสุดขึ้นครองบัลลังก์ของจักรวรรดิถึง 40 คนด้วยกัน (กิยามุดเดาละห์ อัลอามานียะห์/มุฮำหมัด ฟุอ๊าด กุบุรีย์) ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว จักรวรรดิอุษมานียะห์คือผู้แรกที่ปกป้องดินแดนอิสลามและมรดกของประชาคมมุสลิม ด้วยพระประสงค์ของพระองค์ผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) พระองค์ได้ทรงกำหนดให้จักรวรรดิอุษมานียะห์ถือกำเนิดขึ้นในบรรยากาศที่ครา ครั่งไปด้วยความวุ่นวายและความระส่ำระส่าย

        โลกอิสลามทั้งตะวันออกและตะวันตกต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่รุนแรงมาโดยตลอดระยะเวลาก่อนหน้านั้น โลกอิสลามได้ตกเป็นเหยื่ออันโอชะด้วยการขย้ำของพวกมองโกลตาตาร์ซึ่งทำลายทุก สิ่งที่ขวางหน้าในดินแดนอิสลามจนแปรสภาพไปสู่ซากปรักหักพังดังที่เราได้สาธยายมาแล้วในบทก่อนหน้านี้ จะมีเพียงบางเขตแดนเท่านั้นที่ความหฤโหดของพวกมองโกลเข้าไปไม่ถึง เช่น อียิปต์, แอฟริกาเหนือ, คาบสมุทรอาหรับและดินแดนบางส่วนของซีเรีย

        ในเวลาเดียวกันที่รัฐอิสลามน้อยใหญ่ต่างก็ตกอยู่ภายใต้การบดขยี้ของมองโกลทาง ตะวันออก โลกอิสลามซีกตะวันตกก็กำลังตกอยู่ในภาวะ คับขันจากการสังหารหมู่ การตั้งศาลของนักบวชในคริสต์ศาสนาเพื่อเอาผิดกับพวกนอกรีต ซึ่งชาว คริสเตียนในเอ็นดาลูเซีย (สเปน) ได้ตั้งศาลดังกล่าวเพื่อกดขี่บังคับชาวมุสลิมให้ปฏิเสธศาสนาของตน และเข้ารีตในศาสนาคริสต์อย่างอยุติธรรม มุสลิมในเวลานั้นจึงมีทั้งผู้ที่ถูกกดขี่ ถูกเข่นฆ่า มีทั้งสตรีที่ถูกละเมิดเกียรติของนาง หรือไม่ก็เป็นแม่ที่สูญเสียลูกของตน ตลอดจนคนเฒ่าคนแก่ที่ถูกเสือกไสไล่ส่งเยี่ยงคนบ้านแตกสาแหรกขาด

        และพวกเขา (เหล่าชนผู้ปฏิเสธ) มิได้แก้แค้นต่อเหล่าผู้ศรัทธา (ด้วยเหตุอันใด) นอกจากการที่พวกเขามีศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ พระผู้ทรงเกียรติยิ่ง ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ  (บทอัลบุรูจ พระบัญญัติที่ 7)

 

        ชาวมุสลิมทั้งตะวันออกและตะวันตกต่างก็ประสบกับการกดขี่ทั้งสองประการข้างต้น (ทั้งจากชาวมองโกลและชาวคริสเตียน) เจงกิสข่าน จอมทัพแห่งมองโกลได้บ่ายหน้านำกองทัพและไพร่พลของตนจากตะวันออกสู่โลกอิสลาม พวกครูเสดซึ่งปราชัยต่อชาวมุสลิมได้ยุยงพวกมองโกลให้รุกรานโลกทั้งหมดในยุคนั้น พวกมองโกลได้มุ่งหน้าสู่จีนเป็นแห่งแรก และภรรยาคนหนึ่งของเจงกิสข่านนั้นเป็นคริสตียน และนางมีบทบาทสำคัญในการยุยงให้มีการรุกรานดินแดนอิสลาม นอกจากนี้หลานของเจงกิสข่านคือ “โฮลากู” ก็ได้สมรสกับธิดา ของกษัตริย์แห่งอาร์เมเนีย คือ อะบากอข่าน ซึ่งเติบโตในศาสนาคริสต์ และอาร์เมเนียก็คือดินแดนหนึ่งที่พวกครูเสดได้พึ่งพาอาศัยในการเป็นแนวร่วม เพื่อยึดครองดินแดนอิสลาม

 

        ซึ่งกองทัพที่เหี้ยมโหดและป่าเถื่อนนี้ได้ทำลายเรือกสวนไร่นาและชีวิตผู้คนจนทำให้ชนเผ่ามุสลิมจำนวนมากต้องอพยพและทิ้งถิ่นฐานของพวกตนเพื่อหลีกหนีการ ประจันหน้ากับพวกมองโกล พวกเขาหนีเอาชีวิตรอดพร้อมกับศาสนาและความเชื่อจากภยันตรายของมฤตยูนี้ ในบรรดาชนเผ่าที่หนีตายเหล่านี้ คือ เผ่ากอบีย์ ข่าน ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งจากชนชาติอัลฆุซ (อูฆูซ) ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทะเลกอซวัยน์ (อัลค่อซัร,แคสเปียน) มีสุลัยมาน อิบนุ กอยาลิบ เป็นผู้นำเผ่า สุลัยมานผู้นี้เป็นปู่ของอุสมาน อิบนุ อัรตุฆรุล และได้นำผู้คนในเผ่าของตนจำนวน 500,000 คนสู่ดินแดนตะวันตก และตั้งหลักแหล่งในแคว้นคุวาริซม์ (แคว้นคุวาริซม์ในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียใกล้กับทะเลสาปคุ วาริซม์ ซึ่งทุกวันนี้เรียกกันว่าทะเลอาราล)

        ที่นั่น สุลัยมานได้เข้าร่วมทำศึกกับซุลตอน ญาลาลุดดีน อิบนุ คุวาริซม์ ชาฮ์ ในการต่อต้านมองโกล แต่ทว่าอาณาจักรคุวาริซม์ก็มิอาจต้านทานการรุกรานของพวกมองโกล จนในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของมองโกล ในปีฮ.ศ. 611/ ค.ศ.1122 สุลัยมาน ชาฮ์ จึงได้นำชนเผ่าของตนออกเดินทางจากแคว้นคุวาริซม์ จนกระทั่งตั้งหลักแหล่งอีกครั้งในแคว้นอาร์เมเนียริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งอยู่ระหว่างอาเซอร์ไบจานและอัคล๊าต ในปี ฮ.ศ.631/ ค.ศ.1234 ชนเผ่าของสุลัยมานอยู่ที่นั่นหลายปีด้วยกัน จนกระทั่งข่าวการเสียชีวิตของเจงกิสข่านมาถึงสุลัยมานก็เข้าใจว่าการเสียชีวิตของเจงกิสข่าน คือการสิ้นสุดของภยันตรายจากพวกมองโกล จึงบังเกิดความรู้สึกคิดถึงมาตุภูมิของตนในเอเซียกลางอย่างจับใจ แต่ทว่าในระหว่างการเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ สุลัยมานกลับจบชีวิตด้วยการจมน้ำตาย ขณะนำชนเผ่าของตนข้ามแม่น้ำยูเฟรติสในปี ฮ.ศ.639/ ค.ศ. 1231

        ลูกหลานของสุลัยมาน ชาฮ์ อิบนุ กอยาลิบ แบ่งออกเป็นสองสายตระกูล
        1. สายตระกูลสุลัยมาน ซินตูร ตะกีน และ กุวันดุนดีย์ สายตระกูลนี้มีผู้คนติดตามเป็นอันมาก และเห็นพ้องกันเดินทางกลับสู่แคว้นคุรอซาน ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเรื่องราวสายตระกูลนี้ให้เราทราบแต่อย่างใด
        2. สายตระกูลอัรตุฆุล (อัรตุฆรุล) อิบนุ สุลัยมาน และน้องชายคนสุดท้องคือ บันดาร จำนวนคนในเผ่าที่ติดตามสายตระกูลนี้มีไม่เกิน 400 ครอบครัว พวกเขาได้ออกเดินทางรอนแรมอยู่ในที่ราบอัรฏ์รูม (Erzurum) ทางตะวันออกของคาบสมุทรอนาโตเลีย (อะนาโด้ล)

        และในระหว่างการเดินทางเร่ร่อน ณ เส้นพรมเดนของรัฐซุลตอนแห่งซัลจูกรูม อัรตุฆูลก็พบกองทัพสองฝ่ายกำลังรบพุ่งกันอย่างดุเดือดด้วยความที่มีจิตใจเยี่ยงผู้กล้า เขาจึงนำกำลังของตนเข้าช่วยเหลือฝ่ายที่กำลังเพลี่ยงพล้ำจนได้รับชัยชนะ และอัรตุฆุลก็ดีใจเป็นล้นพ้นเมื่อทราบว่า ตนและเหล่าพี่น้องร่วมสายตระกูลได้มีส่วนทำให้กลุ่มชนที่ร่วมในศาสนา, ภาษาและสายเลือดเดียวกันให้ได้รับชัยชนะกลุ่มชนดังกล่าวก็คือ พวกซัลจูกแห่งรูมนั่นเอง

        (ซัลจูกแห่งรูม เป็นสายตระกูลหนึ่งจากพวกซัลจูกเติร์ก หรือเตอร์คาเมน ซึ่งมีอยู่หลายสายตระกูล เช่น ซัลจูกแห่งเปอร์เซีย, อิรัก, ซีเรีย และซัลจูกแห่งรูม อันมี อัรซาลาน อิบนุ ซัลจูก เป็นต้นตระกูล พวกนี้ได้มีอำนาจครอบคลุมดินแดนในเอเซียน้อย ระหว่างปีค.ศ. 1077-1300 พวกเติร์กเรียกเอเซียน้อย โดยเฉพาะอนาโตเลียว่าแคว้นรูม (โรม) จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซุลตอนอะลาลุดดีน แห่งซัลจูกียะห์ ได้ยกย่องวีรกรรมของอัรตุฆูล และจัดสรรดินแดนบางส่วนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเส้นพรมแดนของ “รูม” (โรมันไบเซนไทน์) แก่ อัรตุฆูล และบรรดาชนเผ่าของเขาเพื่อตั้งหลักปักฐานและทำหน้าที่รักษาพรมแดนไปพร้อมๆ กัน


อัรตุฆูล

        หลังการเสียชีวิตของอัรตุฆูล ในปี ฮ.ศ.687/ค.ศ.1288 อุสมาน ผู้เป็นบุตรชายได้ขึ้นเป็นผู้นำชนเผ่ากอบีย์ ข่าน และบุคคลผู้นี้ก็คือ ปฐมราชวงศ์อุษมานียะห์ในเวลาต่อมา อุสมานได้สืบสานปณิธานของบิดาในการแผ่ขยายดินแดน จนกระทั่งยึดครองป้อม “ก่อรออ์ ฮิซอร” ได้ในปีฮ.ศ.687/ค.ศ.1288 (คำว่า ก่อรออ์ ฮิซอร หมายถึง “ป้อมปราการสีดำ” ในที่นี้คือ ดินแดนแห่งต้นฝิ่นใกล้กับเมืองกูนียะห์) ยังผลให้ซุลตอนแห่งซัลจูกียะห์มีความโปรดปรานต่ออุสมานเป็นอันมาก พร้อมทั้งปูนบำเหน็จและเลื่อนขั้นให้อีก ทั้งยังได้พระราชทานดินแดนที่อุสมานสามารถพิชิตได้

        นอกจากนี้ซุลตอนยังทรงอนุญาตให้อุสมานสามารถตีเหรียญกษาปณ์ของตนเองและถูกกล่าว ชื่อในการแสดงธรรมวันศุกร์อีกด้วย ในปี ฮ.ศ.699/ค.ศ.1300 กองทัพมองโกลภายใต้การนำของฆอซาน ข่าน ได้มุ่งหน้าสู่เอเซียน้อยเพื่อรุกรานระลอกใหม่ ขณะทีอาณาจักรของพวกซัลจูก เติร์ก เริ่มอ่อนแอลงอย่างมาก ฝ่ายซุลตอน อะลาอุดดีน อัซซัลจูกีย์ ก็ทรงเป็นซุลตอนที่อ่อนแอและขลาดเขลา พระองค์จึงลี้ภัยสงครามสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล ที่นั้นพระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยน้ำมือของจักรพรรดิไบแซนไทน์ อาณาจักรซัลจูกเติร์กก็ถึงกาลแตกดับ เจ้าครองนครต่างๆ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเริ่มตั้งตนเป็นอิสระ จนกระทั่งในที่สุดอาณาจักรที่ครั้งหนึ่งเคยเกรียงไกรก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ถึง 9 นครรัฐ อันได้แก่ 1.กอร่อมาน อุฆูล 2. กัรซิยาน 3. กอรซัต 4. ซอรุคข่าน 5. อัยดีน 6. กอซต่อมูนีย์ 7. อัลฮะมีด 8. มุนต้าชาฮ์ และ 9. ตักกะห์

        ส่วนอุสมาน อับนุ อัรตุฆูล ก็ตั้งตนเป็นอิสระในดินแดนของตนเช่นกัน และสถาปนาดินแดนของพวกบะนี ชะฮร์ ซึ่งเป็นดินแดนใหม่ที่พิชิตได้เป็นราชธานีของตน และการณ์ดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิอุษมานียะห์ อุสมานได้เริ่มจัดระเบียบการบริหาร, การปกครองอาณาจักรใหม่ของตน และแผ่ขยายดินแดนจนถึงทะเลดำ และทะเลมัรมาร่าฮ์ ตลอดจนทำศึกแย่งชิงดินแดนของไบเซนไทน์ และยกทัพเข้าปิดล้อมเมืองบุรเซาะห์ (บรุสซ่าฮ์ Brousse ในอนาโตเลียติดกับทะเลมัรมาร่าฮ์) และตีเมืองนี้ได้จากพวกโรมันในปีฮ.ศ.717-1317 นครบุรเซาะห์ เป็นราชธานีของพวกอุษมานียะห์ ในระหว่างปีค.ศ.1327-1453 จนกระทั่งมีการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล

        ภารกิจอันเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของอุสมาน คือ การที่เขาสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่ประชาชาติอิสลาม ทั้งๆ ที่มีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติอัลบาเนี่ยน, บุลฆอร, สลาฟ, ฮังกาเรี่ยน และเติร์ก ครั้นถึงช่วงรัชสมัยต่อมา บรรดาค่อลีฟะห์ที่สืบทอดถัดต่อจาก อุสมาน ต่างก็ปฏิบัติภารกิจในการเผยแผ่อิสลามอย่างดีเยี่ยม โดยสนับสนุนและผลักดันบรรดานักเผยแผ่ศาสนาให้กระทำหน้าที่ เรียกร้องเชิญชวนพลเมืองในดินแดนที่พิชิตได้ ตลอดจนใช้สื่อและกระบวนการต่างๆ ในการเผยแผ่ศาสนาดังที่เราจะได้เห็นต่อไป เมื่อกล่าวถึงบทบาทของอุษมานียะห์ในการดำเนินภารกิจดังกล่าว


อุสมาน : ปฐมราชวงศ์อุษมานียะห์

        พวกอุษมานียะห์ได้เผยแผ่ศาสนาอิสลามในเอเซียน้อยเป็นอันดับแรก ครั้นต่อมาเมื่อพวกเข้าได้ข้ามช่องแคบบอสฟอรัส (บอสฟอรัสเป็นชื่อช่องแคบที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลดำและทะเล  มัรมาร่าฮ์บริเวณอ่าวอันเป็นที่ตั้งของนครอิสตันบูล ช่องแคบแห่งนี้แบ่งอาณาเขตของตุรกีออกเป็นสองส่วน คือ ตุรกีในเอเซีย และตุรกีในยุโรป มีความยาว 30 กม. กว้าง 500 เมตร ถึง 3 กม. ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ) และดาร์ดาแนล (ดาร์ดาแนล ช่องแคบในตุรกีเชื่อมต่อทะเลเอเจี่ยนกับทะเลมัรมาร่าฮ์

        เมื่อช่องแคบนี้รวมกับช่องแคบบอสฟอรัสจึงเป็นเสมือนส่วนที่แบ่งคาบสมุทรอนาโตเลีย ออกจากคาบคาบสมุทรบอลข่าน ช่องแคบดาร์ดาแนลมีความกว้าง 1270 เมตร ถึง 7 กม. ยาว 70 กม. ถือเป็นช่องทางเดินเรือเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์ เรเนียน) สู่ฝั่งยุโรป และรุกเข้าสู่คาบสมุทรบอลข่าน (บอลข่าน (บัลกอน) คาบสมุทรทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรประหว่างทะเลดำ, มัรมาร่าฮ์, เอเจียน (อีญะห์) และทะเลเอเดรียติก มีพื้นที่ 550,000 ตร.กม. กินอาณาเขตของโครเอท, เซอร์เบีย, บอสเนีย เฮอร์ซิโกวิน่า, มอนเตร เนโกร, มาซิโดเนีย, อัลบาเนีย, บัลเกเรีย, กรีซ และตุรกีในฝั่งยุโรป)

        ภารกิจการแผยแผ่อิสลามในหมู่ประชาคมบอลข่านก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวง  ดังนั้นพวกอุษมานียะห์จึงมีคุณูปการยิ่งนักในการเข้ารับอิสลามของประชาคมใน ภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งยังคงมั่นคงอยู่เสมอในหัวใจของพวกเขาจวบจนทุกวันนี้ โดยพลเมืองส่วนใหญ่ในเอเซียน้อย และคาบสมุทรบอลข่านล้วนเป็นชาวมุสลิมในช่วงเวลาอันสั้นราว 30 ปี ระหว่างปี ค.ศ.1620-1650 กล่าวกันว่ามีผู้คนในยุโรปเข้ารับอิสลามประมาณ 300,000 คน และยังไม่ทันเข้าสู่คริสต์ศตรรษที่ 17 ประชาชนในภูมิภาคนี้ที่ถือในศาสนาคริสต์ก็กลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปเสียแล้ว ส่วนหนึ่งจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่สะพัดของศาสนาอิสลามนั้นคือ ความเสื่อมทรามทางสังคมของชาวคริสเตียน

        ทั้งนี้ชาวคริสเตียนทางตะวันออกของยุโรปโดยส่วนใหญ่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับคำสอนของศาสนาคริสต์น้อยมาก อีกทั้งยังมีความเชื่อที่งมงายมุ่งเน้นปาฏิหารย์และสิ่งอัศจรรย์เหนือ ธรรมชาติ คราใดที่ศาสนาคริสต์มิสามารถสนองตอบความต้องการแก่พวกเขาด้วยการแสดงปาฏิหารย์ เมื่อนั้นพวกเขาก็พร้อมที่จะหมดศรัทธาได้ทุกเมื่อ กอปรกับการที่ชาวคริสต์อีกจำนวนมิใช่น้อยที่เริ่มเห็นความอ่อนแอของหลักธรรม คำสอนในศาสนาคริสต์ที่มิอาจแก้ไขปัญหาความเสื่อมทรามทางสังคมได้ จึงปรากฏว่าคริสตศาสนิกชนจำนวนมากก็ได้มุ่งหน้าเข้าหาโบสถ์อันเป็นที่ฝังร่างของนักบุญคนสำคัญ เพื่อให้นักบุญผู้นั้นได้สร้างปาฏิหารย์เพื่อช่วยศาสนาคริสต์ให้รอดพ้นจาก ความเสื่อมตลอดจนสร้างทางรอดแก่สังคมของพวกเขาให้พ้นจากภัยของความชั่วร้ายที่ระบาดไปทั่ว หรือไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะพากันเข้ารับอิสลามจนหมดสิ้น

        เหตุกาณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอัลบาเนีย จากชาวเมืองลิซโกฟีกีย์พวกเขาได้นัดกันรวมตัวเพื่อสวดอ้อนวอนต่อนักบุญภายในโบสถ์ประจำหมู่บ้านขอให้นักบุญได้สำแดงปาฏิหารย์เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขารอดพ้นจากความชั่วพร้อมทั้งสาบานว่าจะถือศีลอดจนกระทั่งถึงวันอิสเตอร์ เพื่อรอคอยความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า แต่แล้วเมื่อวันอิสเตอร์มาถึงปาฏิหารย์ก็ยังไร้วี่แววที่จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเหล่านั้นทั้งหมดจึงได้เข้ารับอิสลาม (เซอร์ โทมัส อาร์โนลด์/อัดดะอ์วะห์ อิลั้ล อิสลาม หน้า 221)

        สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ย่อมบ่งชี้ถึงการเผยแผ่อิสลามในช่วงเวลานั้นเป็นไปอย่างตื่นตัวและมีชีวิตชีวา โดยมีความเหมาะสมและศักยภาพของอิสลามเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อพลเมืองในภูมิภาค นี้ตลอดจนศาสนาอิสลามปลอดจากความเชื่อซึ่งงมงายดังที่มีอยู่ในหมู่คริสตศาสนิกชน ถ้าหากไม่มีความตื่นตัวของนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามเหล่านี้ ชาวคริสเตียนก็คงไม่รู้จักและได้สัมผัสกับความงดงามของศาสนาอิสลาม ตลอดจนความโดดเด่นที่แตกต่างของอิสลามจากศาสนาอื่นๆ

        และส่วนหนึ่งจากบรรดาปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการแพร่หลายของอิสลาม คือการที่ชาวมุสลิมในดินแดนตะวันออกของยุโรปได้สมรสกับสตรีชาวคริสเตียนและลูกหลานที่เกิดมาจากการสมรสดังกล่าวก็เข้าสู่ศาสนาของฝ่ายบิดา (ตารีค อัดดุวัล อัลอิสลามียะห์ 2/416, อัลมุสลินมูน ฟิล อาลัม อัลเยาวม์ หน้า 51,52,53) โดยปกติอย่างที่ทราบกันนั้น บรรดาลูกๆ จะถือศาสนาของฝ่ายแม่และขนบธรรมเนียมประเพณีของศาสนาคริสต์และอื่นๆ ดังนั้นการที่ลูกๆ ได้เข้ารับนับถือศาสนาของฝ่ายบิดาย่อมหมายถึงการเข้ารับนับถือศาสนาเดียวกันนี้ของฝ่ายแม่ด้วย วัลลอฮุอะอ์ลัม

        พวกอุษมานียะห์ได้ใช้สื่อหลากหลายในการเผยแผ่คำสอนอิสลามซึ่งทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากยอมรับอิสลาม อาทิเช่น
        1. ในบางครั้งมีการเปลี่ยนศาสนาสู่การเข้ารับอิสลามขณะจัดงาน คิตาน (คือการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ หรือการเข้าสุหนัดนั่นเอง)
        2. ส่งเสริมให้ชาวคริสเตียนเข้ารับอิสลาม โดยจัดงานเทศกาลใหญ่โตขณะที่มีชาวคริสเตียนเข้ารับอิสลาม
        3. มีการมอบปัจจัยต่างๆ อย่างมากมายแก่ผู้เข้ารับอิสลาม
        4. อนุญาตและผ่อนผันให้ทุกคนเข้ารับอิสลามสามารถรักษากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและที่ดินของตน
        5. ให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ผู้เข้ารับอิสลาม
        6. เชลยสงครามจะได้เป็นไทแก่ตัวเมื่อเข้ารับอิสลาม
        7. ผู้ที่เข้ารับอิสลามได้รับการยกเว้นภาษี (ภาษีรัชชูปการ ฯลฯ)
        8. การเปิดโอกาสของจักรวรรดิอุษมานียะห์ต่อผู้สนใจอิสลามในการประกอบอาชีพที่ได้กำไรงามเพื่อส่งเสริมให้พวกเขาเข้ารับศาสนาใหม่ (อูรุบา ฟี มัฏละอ์ อัลอุซู๊ร อัลฮะดีซะห์ 1/557-558 อับดุลอะซีซ มุฮำหมัด อัชชินาวีย์)

        นักวรรณกรรมตลอดจนนักปรัชญาชาวยุโรปจำนวนมากต่างยืนยันถึงบทบาทของชาวมุสลิมแห่งอุษมานียะห์ในยุโรป และคุณค่าความประเสริฐแท้ๆ นั้นคือสิ่งที่ผู้เป็นศัตรูยืนยันสิ่งนั้นไว้ (เรียกง่ายๆ ว่า แม้ศัตรูผู้จ้องล้างผลาญก็มิอาจอดใจและจำต้องขับขานถึงความดีงามนั้น)

        1. วอลแตร์ (Voltaire) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส (1694-1778) ผู้โด่งดังได้สาธยายถึงทีท่าของมุสลิมผู้มีชัยต่อคริสเตียนผู้พ่ายแพ้ว่า : พวกเติร์กไม่เคยย่อท้อและสิ้นหวังต่อการปฏิบัติดีกับชาวคริสเตียนเหมือน อย่างที่เราเชื่อ สิ่งที่ควรสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือประชาคมคริสเตียนไม่ว่าในประเทศใดต่างไม่ยอมที่จะให้ชาวมุสลิมมีมัสยิด ของตนในประเทศนั้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกเติร์ก ที่อนุญาตให้ชาวกรีซซึ่งพ่ายแพ้มีโบสถ์ในคริสตศาสนาสำหรับตน (สารานุกรมประวัติศาสตร์อิสลาม/อะห์หมัด ชะละบีย์ 5/644)

        2. นักประวัติศาสตร์ “แอคตอน” กล่าวว่า : ชาวคริสเตียนในคาบสมุทรบอลข่าน ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มีความปลอดภัยและพึงพอใจในบ้านเมืองของตนในรัชสมัยซุลตอน มุฮำหมัด (เมฮ์เมต) อัลฟาติฮ์ (ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล) และรัชสมัยถัดมา ยิ่งไปกว่านั้นชาวคริสเตียนบอลข่านยังนิยมชาวเติร์กมากกว่าพวกลาติน หรือคริสเตียนที่เชื่อในพระองค์สันตะปาปา เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคริสเตียนมีมิจฉาทิฐิและยึดมั่นในศาสนาของตนจน สุดโต่ง (มุฮำหมัด อัลฟาติฮฺ -ซัยยิด ริดวาน หน้า 64)

        3. “ปิเตอร์ มหาราช” (ซาร์แห่งรัสเซีย) ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามัญชนเคยเป็นอาลักษณ์ประจำราชสำนักของอุษมานียะห์ กล่าวว่า : องค์ซุลตอนทรงถือว่า “ทะเลดำ” เป็นประหนึ่งพระตำหนักส่วนพระองค์ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้บุคคลต่างชาติเข้ามายังทะเลแห่งนี้ โดยอิงจากพระวจนะของศาสดาที่ว่า “พวกท่านทั้งปวงเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และพวกท่านทุกคนย่อมถูกไต่สวนถึงผู้อยู่ใต้การรับผิดชอบ”

        4. นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนาม “เฟส วาร์โก” กล่าวว่า : มูฮำหมัด อัลฟาติฮ์ (เมฮ์เมต ฟาติฮ์) ทรงเป็นซุลตอนตุรกีที่ห่างไกลอย่างยิ่งจากการกดขี่ทางศาสนา และรัฐบาลของเติร์กก็มิเคยขัดขวางผู้ใดในการนับถือศาสนา ตลอดจนชาวเติร์กเองก็ไม่เคยแตะต้องอภิสิทธิ์ต่างๆ ของคริสตจักรออร์ธอดอกซ์ (อิสลามกับขบวนการปลดแอก หน้า 315)

        การพิสูจน์ด้วยการลองเข้ารับอิสลามสำหรับชาวตะวันตกยังคงเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ สำคัญเกี่ยวกับชาวมุสลิม ตลอดจนได้พิจารณาถึงข้อกรณีที่ว่า ศาสนาที่แท้จริงของชาวมุสลิมนั้นสามารถมอบสิ่งดีๆ แก่มนุษยชาติได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องจริงที่ว่าในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ มีกลุ่มนักคิดและนักศึกษาชาวตะวันตกได้เข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมาก และการพิสูจน์ตลอดจนคำยืนยันก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งจะมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นเสมอ การศึกษาเกี่ยวกับข้อยืนยันเหล่านี้และการนำเอาความเข้าใจที่สมบูรณ์แบบ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ออกมาเพื่อรู้แจ้งถึงขีดความบกพร่องอันแจ้งชัดทาง ความคิดของตะวันตกได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น

 

        โรเบิร์ด ปิแอร์โจเซฟ กล่าวว่า “ตนเข้ารับอิสลามก็เพราะอิสลามคือศาสนาเดียวเท่านั้นที่มนุษย์จะพบจิต วิญญาณ, ความปรารถนาอันแรงกล้า และอนาคตของตน อิสลามคือศาสนาแห่งการเรียนรู้ เรียกร้องศาสนิกชนสู่การเพิ่มพูนสั่งสมความรู้คู่การปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้มิใช่เรื่องแปลก เพราะโองการแรกจากคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ประทานลงมานั้นคือ จงอ่าน อันเป็นสิ่งดลให้ท่านศาสนทูตได้ทรงกล่าวว่า : พวกท่านจงแสวงหาความรู้นับแต่จากแปลจนถึงหลุมฝังศพ” (ฉากอันรุ่งโรจน์จากมรดกอิสลาม หน้ 217)

 

        ที่เราได้กล่าวสาธยายถึงเรื่องราวเช่นนี้ ก็เพราะมีประสงค์จะเน้นย้ำถึงบทบาทอันเปี่ยมด้วยคุณูปการซึ่งพวกอุษมานียะห์ได้สถาปนาเอาไว้ในวิถีทางแห่งการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและได้นำเอาการเรียกร้อง นี้สู่ประชาคมของภูมิภาคบอลข่านและยุโรปตะวันออก ซึ่งเรากำลังกล่าวถึงในทุกวันนี้ยังมีชนมุสลิมอันเป็นชนส่วนน้อยอาศัยอยู่ในโปแลนด์, บัลแกเรีย, ยูโกสลาเวียและอัลบาเนีย

 

 

        พวกอุษมานียะห์ (ซึ่งการเป็นแนวร่วมกับพวกเขาถือเป็นเอกภาพของอิสลามประการหนึ่ง) อาจจะมีอุปสรรคบางอย่างที่มิอาจทำให้ผลของการทุ่มเทของพวกเขาสมกับช่วงระยะเวลาแห่งอายุขัยของจักรวรรดิที่ยืนยาวร่วม 6 ศตวรรษ อาจารย์อันวัร อัลญุนดีย์ ได้กล่าวว่า : “นักประวัติศาสตร์ต่างเห็นพ้องกันว่า บทบาทของอุษมานียะห์ในการสถาปนาอิสลามนั้นเป็นบทบาทปกติอยู่ในที ทั้งนี้ในระหว่างที่พลังแห่งอิสลามอันรุ่มร้อนในจิตใจของบรรดาผู้นำอิสลามได้อ่อนลง คบเพลิงใหม่ก็ลุกโชนต่อไปในหัวใจของชาวเติร์กและผลักดันพวกเขาสู่การแสดงบทบาทเยี่ยงชาวอาหรับในยุคต้นของอิสลาม” (อิสลามว่าฮะรอกะห์ อัลบินาอ์ หน้า 306)

        ทั้งๆ ที่เป็นอย่างนี้ ชาวยุโรปซึ่งต้องการทำลายมรดกของอิสลามที่ปรากฏอยู่ในดินแดนของพวกเขาอยู่เสมอนั้น ถ้าหากพวกเขามีอำนาจอยู่ในมือก็จักไม่ปล่อยมุสลิมเอาไว้ในดินแดนของพวกเขา เลยแม้สักคนเดียว ขณะที่ชาวเติร์กซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นชนป่าเถื่อนไร้อารยธรรมกลับอนุญาตให้ ชาวคริสต์จำนวนหลายล้านคนจากชนชาติต่างๆ ได้คงอยู่ภายใต้การปกครองของอุษมานียะห์ ทั้งๆ ที่พวกอุษมานียะห์มีโอกาสอยู่หลายครั้งหลายคราที่จะกำจัดชาวคริสต์ให้สิ้นซาก หรือบังคับชาวคริสต์ในดินแดนอุษมานียะห์ให้อพยพออกไปเยี่ยงที่กษัตริย์สเปน และฝรั่งเศสได้กระทำกับชาวอาหรับมาแล้ว (ฮาดิรุ้ล อาลัม อัลอิสลามีย์ 1/238)

        ในทำนองเดียวกัน พวกอุษมานียะห์รวมถึงบรรดาซุลตอนของจักรวรรดิต่างก็น้อมรับภารกิจในการ ประกาศบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (อัชชะรีอะห์) ตามหลักการ อันเป็นส่วนทำให้ผู้ถือในนิกายพระเจ้าองค์เดียว (ลัทธิเอกานุภาพ) ในศาสนาคริสต์แห่งแคว้นทรานซิลวาเนีย ภูมิภาคตอนกลางของโรมาเนีย เลือกที่จะสวามิภักดิ์ต่อชาวเติร์ก แทนที่จะต้องตกอยู่ในน้ำมือของราชวงศ์ “แฮบซ์บรวก” (Hasbsbourg ราชวงศ์แห่งออสเตรีย มีอำนาจราว ค.ศ.1278-1918) ที่คลั่งในมิจฉาทิฐิ ตลอดจนพวกโปแตสแตนท์ก็มองตุรกีด้วยสายตาที่พึงพอใจอยู่ในที

        นอกจากนี้เรายังพบอีกว่า พวกอัลกูซาก (พวกสลาฟในรัสเซีย) ซึ่งสืบถึงกลุ่มชนผู้ศรัทธาในยุคโบราณและถูกคริสตจักรแห่งรุสเซียกดขี่ บังคับในความเชื่อของพวกตนก็พบกับความเอื้ออารีในดินแดนของซุลตอน สำหรับเสรีภาพทางความเชื่ออันเป็นสิ่งที่พี่น้องร่วมศาสนาคริสต์ของพวกเขาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ / อาลี ฮุซัยน์ หน้า 65-66)