ขิง  ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Zingiber officinale Roscoe ในวงศ์ Zingiberaceae เหง้ามีกลิ่น รสเผ็ด ใช้ประกอบอาหารและทำยาได้ ขิงแกลงหรือขิงแครงก็เรียก ชาวอาหรับเรียก “ขิง” ว่า ซันญะบีล (زَنْجَبِيْل ) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย

              ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุคำว่า ซันญะบีล (زَنْجَبِيْل ) เอาไว้ 1 แห่ง ในบทอัดดะฮฺร์ อายะฮฺที่ 17 ซึ่งมีใจความว่า

“ชาวสวรรค์จะถูกเสริฟน้ำด้วยภาชนะเครื่องดื่มที่ปนหรือเจือขิง”

               ท่านอัลกุรฏุบีย์ (ร.ฮ) กล่าวว่า ชาวอาหรับจะดื่มด่ำกับเครื่องดื่มที่มีขิงเจือหรือผสม เพราะให้กลิ่นหอมละมุน  ทำให้ลิ้นสะอาด และช่วยย่อยอาหารได้ดี

              อัซซันญะบีล (اَلزَّنْجَبِيْل ) – Zingiber Ginger – เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีอายุขัย มีลำต้นสูงประมาณ 1.5 เมตร ใบเหมือนหอกมีสีเขียวเข้ม บ้างก็ว่า ขิง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แหล่งผลิตจะอยู่ในเขตศูนย์สูตรของแอฟริกาและอินเดีย ชาวจีนและอินเดียรู้จักใช้ขิงเป็นยารักษาโรคและเครื่องเทศนับแต่สมัยโบราณ

              กาลิโนส กล่าวว่า : ขิงมีสรรพคุณในการให้ความร้อนสูง หากเราต้องการให้ร่างกายอบอุ่นในเวลาอันรวดเร็วก็ต้องกินขิง

มีรายงานระบุว่า : กษัตริย์แห่งโรมันได้เคยมอบขิงจำนวนหนึ่งให้เป็นของกำนัลแก่ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) แล้วท่านได้แบ่งให้ผู้คนนำไปทำอาหารส่วนหนึ่ง ให้ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ (ร.ฎ) ส่วนหนึ่ง (บันทึกโดย อบูนุอัยม์ในอัฏฏิบบุนนะบะวีย์)

              ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) ระบุว่า : กล่าวโดยรวมแล้ว ขิงมีประโยชน์ต่อตับและกระเพาะ น้ำขิงคั้นมีสรรพคุณบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มน้ำอสุจิ และทำให้จดจำดี
              อิบนุ ซีนา กล่าวถึงสรรพคุณของขิงว่า : เพิ่มความจำ ลดอาการปวดไมเกรนและอาการคอแห้ง มีฤทธิ์ป้องกันอาหารเป็นพิษ

              อย่างไรก็ตาม ขิง มีส่วนประกอบที่มีรสเผ็ด  ควรรับประทานแต่พอดี  ไม่ควรรับประทานมากเกินไป  เพราะจะเป็นผลอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหารและระบบการย่อย  ขิงยังมีสรรพคุณทำให้กระปี้กระเป่า กระตุ้นการเต้นของหัวใจและระบบการหายใจ  ไล่ลม  บรรเทาอาการเจ็บกระเพาะได้ดีอีกด้วย