ไม่มีคำว่า “ศาสนาอิสลาม” ในสมัยท่านนบีมูฮำหมัด??

7.ไม่มีคำว่า “ศาสนาอิสลาม” ในสมัยท่านนบีมูฮำหมัด (หน้า 1)

ในคัมภีร์อัล-กุรอานพูดถึง “ศาสนาแห่งพระเจ้าและศาสนาแห่งความเป็นจริง” เท่านั้น ไม่มีระบุคำว่าศาสนาอิสลาม ท่านรอซูลเองก็ไม่ได้เชิญชวนให้มานับถือศาสนาอันนี้ แต่ท่านได้เรียกร้องให้มายอมรับความจริง ยอมตน ยอมจำนนสวามิภักดิ์กับพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ใครที่ยอมแบบที่รอซูลนำมานี้แล้วจะได้ชื่อว่า เป็นมุสลิม หรือผู้ที่ยอมตนในพระเจ้า ส่วนใครปฏิเสธการยอมตนอย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นกาแฟร ผู้ปฏิเสธในพระเจ้าดังที่พระเจ้าได้ชี้แจงว่า “แท้จริง ดีน (ศาสนา) หรือวิถีชีวิต ณ พระเจ้าองค์เดียว คือ การยอมตนต่อสิ่งนั้น” หมายถึงให้ยอมตนต่ออันนั้น คือฉันนี่แหละเป็นพระเจ้าองค์เดียว ทำไมพระองค์ไม่บอกว่า แท้จริงศาสนาอิสลามคือศาสนาของฉันศาสนาเดียวเท่านั้นที่แท้จริง

สรุปก็คือ มนุษย์ทุกคนคืออิสลาม อยู่ที่ใครจะอิสลามต่อสิ่งใดและมนุษย์ทุกคนคือการแฟรตัวของข้าพเจ้าและท่านเองก็เป็นกาแฟร แต่กาแฟรต่อพระเจ้าปลอมๆ ทั้งหมดหรือตอฆูต” (หน้า 2 ตั้งแต่บรรดทัดที่ 9 จากข้างล่าง)

ศาสนาอิสลามเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อ 1400 ปีหรือ แล้วบรรดาศาสนาก่อนๆ นั้นนับถือศาสนาอะไร? (หน้า 2 บรรทัดที่ 17 จากข้างล่าง)


*การระบุด้วยสำนวนที่ชัดเจนว่า ไม่มีคำว่า “ศาสนาอิสลาม” ในสมัยท่านนบีมูฮำหมัด” เป็นการบิดเบือนโดยจงใจ และเป็นคำพูดที่ขัดแย้งกันเอง เพราะพวกคุณพูดเองมิใช่หรือว่า “ท่านรอซูลเองก็ไม่ได้เชิญชวนให้มานับถือศาสนาอันนี้ แต่ท่านได้เรียกร้องให้มายอมรับความจริง ยอมตน ยอมจำนน สวามิภักดิ์ กับพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ใครที่ยอมแบบที่รอซูลนำมานี้แล้วจะได้ชื่อว่า เป็นมุสลิม หรือผู้ที่ยอมตนในพระเจ้า”

ก็ที่พวกคุณสาธยายมาทั้งหมดนั่นแหละ คือศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามก็คือ การสวามิภักดิ์ (อัฏ-ฏออะฮฺ) การยอมรับและถือตาม (อัล-อิงกิยาด) และการยอมจำนนโดยดุษฎี (อัล-อิสติสลาม) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการประพฤติปฏิบัติสิ่งที่พระองค์ทรงมีบัญชาใช้ให้กระทำ และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติห้ามเอาไว้นั่นแหละ คือ ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาแห่งความจริง เป็นศาสนาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หนึ่งเดียวที่บรรดารสูลและนบีทั้งหมดเรียกร้องไปสู่ศาสนานั้น ซึ่งอัลลอฮฺ ทรงตรัสรับรองว่า :

إِنَّ الدِّيْنَ عِنْدَاللهِ الإِسْلاَمُ

ความว่า : “แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคือ อิสลาม”

(อาลิ-อิมรอน : 19)

นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดในคัมภีร์อัล-กุรอาน พวกคุณจะแปลความหมายของคำว่า “อัล-อิสลาม” (الإسلام) ซึ่งเป็นคำอาหรับว่า การยอมจำนวนตนต่อพระเจ้า ฯลฯ อย่างที่พวกคุณสาธยายมาหรือจะใช้คำอาหรับทับศัพท์ว่า “อัล-อิสลาม” ความจริงก็คือความจริงอยู่นั่นเอง

“แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคือ อัล-อิสลาม” หรือ “แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคือ การยอมจำนนตนต่ออัลลอฮฺ” ก็ถามว่า การยอมจำนนตนต่ออัลลอฮฺเรียกในภาษาอาหรับว่าอะไร? คำตอบก็คือ “อัล-อิสลาม” (الإسلام) แล้วจะไปพูดให้สับสนทำไม? ต่อให้พวกคุณไม่แปลคำว่า “อัดดีน” (الدين) ว่า “ศาสนา” (ซึ่งพวกคุณก็ใส่ความหมายเอาไว้ในวงเล็บว่า แท้จริง ดีน (ศาสนา) หรือวิถีชีวิต) โดยใช้สำนวนเลี่ยงคำที่พวกคุณบอกว่า “ไม่มี” ว่า : “แท้จริง ดีน (วิถีชีวิต) ณ พระเจ้าองค์เดียว คือการยอมตนต่อสิ่งนั้น” นี่เป็นการแปลความหมายของอายะฮฺนี้ตามแบบของพวกคุณ ซึ่งพยายามเลี่ยงคำว่า “อิสลาม” หรือศาสนาอิสลาม

พวกคุณก็เบี่ยงเบนจากความจริงไม่ได้อยู่ดี เพราะ “ดีน” หรือ “อัด-ดีน” ก็คือศาสนาและวิถีชีวิตโดยความหมาย การยอมมอบตนต่อสิ่งนั้น พวกคุณก็เลี่ยงจากการทับศัพท์คำอาหรับว่า “อิสลาม” แล้วอธิบายว่า หมายถึงให้ยอมตนต่ออันนั้นคือฉันนี่แหละเป็นพระเจ้าองค์เดียว ก็ถามว่า ที่อธิบายมานั้นใช้คำภาษาอาหรับว่าอะไร? คำตอบก็คือ “อัล-อิสลาม” อยู่ดี แล้วยังมาถามทิ้งท้ายเสียอีกว่า “ทำไมพระองค์ไม่บอกว่า แท้จริงศาสนาอิสลามคือศาสนาของฉันศาสนาเดียวเท่านั้นที่แท้จริง” ก็บอกแล้วไง พระองค์บอกชัดเจนยิ่งกว่าแสงตะวันเสียอีก พระองค์บอกว่า “แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคือ อัล-อิสลาม” แต่พวกคุณเลี่ยงคำและเฉไฉเอง

พระองค์ทรงบอกแล้วและนั่นเป็นความจริงจากพระองค์โดยแท้ แต่พวกคุณไม่เชื่อและไม่ต้องการจะแปลความหมายตามที่ควรจะแปล เพราะมันจะไปขัดกับสิ่งที่พวกคุณกล่าวอ้างว่าเป็นความจริงจากพระเจ้า ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วคืออารมณ์ที่ถูกชัยฏอนมันชักจูง พวกคุณลองพิจารณาและเพ่งจิต (อย่างที่พวกคุณชอบใช้คำนี้) ถึงสำนวนของอายะฮฺนี้กับการเรียบเรียงสำนวนใหม่ทั้งหมด แล้วดูสิว่ามันจะเปลี่ยนข้อเท็จจริงอย่างที่พวกคุณพยายามกระทำอยู่หรือไม่

1)      แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคือ อิสลาม

2)      ศาสนา ณ อัลลอฮฺที่แท้จริงนั้นคือ อิสลาม

3)      อิสลาม คือ ศาสนาที่แท้จริง ณ อัลลอฮฺ

4)      ณ อัลลอฮฺนั้น ศาสนาที่แท้จริงคือ อิสลาม

5)      แท้จริง ณ อัลลอฮฺนั้นคือศาสนาอิสลาม

6)      อิสลามนั้นคือศาสนา ณ อัลลอฮฺที่แท้จริง

ต่อให้เรียบเรียงประโยคใหม่กี่ครั้งก็เปลี่ยนความจริงจากพระเจ้าไม่ได้เลย! และคำพูดที่พวกคุณอธิบายว่า “ใครที่ยอมแบบที่รอซูลนำมานี้ แล้วจะได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม หรือผู้ที่ยอมตนในพระเจ้า” ก็ตกอยู่ในวังวนเดิม เพราะคำว่า มุสลิม (مُسْلِمٌ) เป็นคำทับศัพท์ภาษาอาหรับ แปลว่าอะไร? ก็แปลว่าผู้ที่ถือในศาสนาอิสลามนั่นเอง ผู้ที่ยอมตนในพระเจ้าคือใคร ก็คือผู้ที่ถือในศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามก็คือศาสนาแห่งการยอมตนในพระเจ้า มันก็วนอยู่เช่นนี้แหละ แล้วพวกคุณจะทำให้เกิดความสับสนไปทำไม?

ทีนี้ลองมาพิจารณาอายะฮฺในอัล-กุรอานที่ระบุถึงศาสนาอิสลามที่พวกคุณยืนยันว่าไม่มีในคัมภีร์อัล-กุรอานนอกเหนือจากอายะฮฺ ในสูเราะฮฺอาลิ-อิมรอน ดังกล่าว

ومَنْ يَبْتَغِ غَيْرَالإِسْلاِمِ دِيْنًا فَلَنْ يُقْبَلَ مِنْهُ …الآية

ความว่า “และผู้ใดก็ตามที่แสวงหาอื่นจากอิสลามเป็นศาสนา ก็ย่อมไม่ถูกตอบรับจากผู้นั้น”

(อาลิ-อิมรอน : 85)


อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานว่า อิสลาม คือศาสนาเดียวเท่านั้นที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงตอบรับจากผู้นั้น เพราะอิสลามคือศาสนาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นศาสนาแห่งความจริง เป็นเงื่อนไขในการถูกตอบรับจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) สำนวนในอายะฮฺนี้ระบุชัดเจน คือ อิสลามกับศาสนา (ดีน) หรือจะแปลว่า การยอมตนในพระเจ้าหรือวิถีชีวิต อย่างที่พวกคุณชอบที่จะให้ความหมายเช่นนั้นก็ตาม ซึ่งถ้าแปลอย่างพวกคุณ ก็จะมีสำนวนว่า “และผู้ใดก็ตามที่แสวงหาอื่นจากการยอมตนในพระเจ้ามาเป็นศาสนา…” นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงให้เป็นอื่น เพราะถ้าแปลทับศัพท์ก็ไม่พ้นที่จะต้องใช้คำว่า อิสลามอยู่ดี

อีกอายะฮฺหนึ่ง อัลลอฮฺทรงตรัสว่า :

اليومَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِيْنَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكم نِعْمَتِي وَرَضِيْتُ لَكُمُ الإسْلاَمَ دِيْنًا

ความว่า “วันนี้ ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้ทำให้ความโปรดปรานของข้าที่มีเหนือพวกเจ้าครบถ้วนแล้ว และข้ายินดีให้อิสลามเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้าแล้ว”

(อัล-มาอิดะฮฺ : 3)

คำว่า “ศาสนาของพวกเจ้า” (دينَكم) ถูกอธิบายอย่างชัดเจนด้วยประโยคสุดท้ายนั่นคือ “อิสลาม” หากพวกคุณแปลประโยคสุดท้ายว่า : และข้ายินดีให้การยอมตนในพระเจ้าเป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้าแล้ว” ก็ต้องถามเช่นเดิมว่า แล้วการยอมตนในพระเจ้าที่พระองค์ยินดีให้เป็นศาสนาสำหรับพวกเรานั้น เรียกในภาษาอาหรับว่าอะไร? คำตอบก็คือ “อิสลาม!”

เมื่อคำว่า “อิสลาม” มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งไม่สำคัญว่าพวกคุณจะแปลคำนี้ว่าอย่างไร นั่นก็แสดงว่า “อิสลาม” มีอย่างแน่นอนในสมัยของท่านนบีมูฮำหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพราะอัล-กุรอานถูกประทานลงมาให้แก่ท่าน และท่านคือมนุษย์คนแรกที่อ่านอายะฮฺดังกล่าว และเผยแผ่อายะฮฺดังกล่าวสู่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน ซึ่งทุกท่านได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม คือผู้ถืออิสลามเป็นศาสนา นี่คือความจริงจากพระเจ้าที่พวกคุณไม่อาจปฏิเสธได้!

ส่วนการสรุปว่า “มนุษย์ทุกคนคืออิสลาม อยู่ที่ใครจะอิสลามต่อสิ่งใด และมนุษย์ทุกคนเป็นกาฟิร” แล้วก็บอกว่า “ตัวพวกคุณกับพวกเราก็เป็นกาฟิร แต่กาฟิรต่อพระเจ้าจอมปลอมทั้งหมดคือฏอฆูต” นี่เป็นการสรุปเอาเองและเป็นการสรุปที่นำไปสู่ความสับสน เพราะเป็นความเข้าใจที่เกิดจากการใช้ถ้อยคำตามหลักภาษาโดยไม่มีการแยกแยะระหว่างความหมายตามหลักภาษาและคำจำกัดความหรือนิยาม คำว่า “อิสลาม” (إسلام) เป็นอาการนาม (มัศดัร) มีกริยาว่า อัส-ละม่า (أَسْلَمَ) ซึ่งแปลว่า ยอม, จำนน, มอบ, ทำให้จำนน-ทำให้ยอมแพ้ และการถือในศาสนาอิสลาม

แน่นอน ตามหลักภาษานั้น ทุกสรรพสิ่งที่ถูกสร้างล้วนแต่ยอมจำนนต่อการกำหนดสภาวการณ์ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะทัดทานต่อการกำหนดของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดเอาชนะพระองค์ได้เลย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ มลาอิกะฮฺ ญิน สรรพสัตว์ พันธุ์พืช บรรดาสิ่งมีชีวิตและบรรดาสิ่งที่ไม่มีชีวิต ทั้งหมดล้วนแต่ยอมจำนนต่อพระประสงค์และการกำหนดของพระองค์ดังพระดำรัสที่ว่า

وَلَه أَسْلَمَ مَنْ فى السموات والأرض طَوْعًاوَكَرْهًا

ความว่า “และผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดิน ได้ยอมจำนนต่อพระองค์ทั้งโดยดุษฎีและโดยจำยอม”

(อาลิ-อิมรอน : 83)

ถ้าถือตามหลักภาษาและการกำหนดสภาวการณ์ทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ ต่างก็จำนนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งสิ้น เพราะทุกสิ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์

بَلْ لَه ما فى السمواتِ وَالأرضِ ، كُلٌّ لَه قَانِتُوْن

ความว่า “ทว่า สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและผืนแผ่นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ทั้งหมดยอมจำนนต่อพระองค์

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 116)

ดังนั้น การยอมจำนนต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยข้อเท็จจริง (อัล-หะกีเกาะฮฺ) จึงครอบคลุมทุกสรรพสิ่งมิใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่กระนั้นในสภาวะที่ประจักษ์ (อัซ-ซอฮีร) มนุษย์และญินมีทั้งผู้ที่ยอมจำนนอย่างแท้จริงด้วยการศรัทธาต่อพระองค์ และส่วนมากแข็งขืนและปฏิเสธพระองค์ ในหมู่มนุษย์และญินจึงมีทั้งมุอฺมิน มุสลิม กาฟิร และฟาสิก หรืออัล-อาศียฺ ตลอดจนมุชริก และมุนาฟิก ฯลฯ

منهم المؤمنون واكثرهم الفاسقون

ความว่า : “ส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ศรัทธา และส่วนมากของพวกเขาคือบรรดาผู้ฝ่าฝืน”

(อาลิ-อิมรอน: 110)

کذ لك يتم نعمته عليكم لعلكم تسلمون٭ فان تولوا فانما عليك البلاغ المبين٭ يعرفون نعمة الله ثم ينكرونها واكثرهم الكافرون

ความว่า : “เช่นนั้นแหละ พระองค์ได้ทำให้ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อพวกเจ้าครบสมบูรณ์ หวังว่าพวกเจ้าจะยอมจำนน (ยอมรับอิสลาม) ดังนั้นหากพวกเขาผินออก (ไม่ยอมรับอิสลาม) อันที่จริงภารกิจของท่านนั้น คือการเผยแผ่ที่แจ้งชัดเท่านั้น* พวกเขารู้ถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ต่อมาพวกเขาก็ปฏิเสธมัน และส่วนมากของพวกเขา คือบรรดาผู้ปฏิเสธ” (อัน-นะหฺลุ: 81-83)

ผู้ศรัทธาก็คือ มุอฺมิน ผู้ยอมรับในศาสนาอิสลามคือ มุสลิม ผู้ประพฤติฝ่าฝืนคือ ฟาสิก ผู้ปฏิเสธศรัทธาคือ กาฟิร ผู้ตั้งภาคีคือ มุชริก ผู้ที่กลับกลอกหน้าไหว้หลังหลอกคือ มุนาฟิก คำทั้งหมดมีนิยามเฉพาะเพื่อแยกแยะสถานภาพของบุคคล หากเราใช้เพียงหลักภาษาตีขลุมเหมารวมว่ามนุษย์ทุกคนเป็นมุสลิมโดยไม่พิจารณาคำนิยามก็จะเกิดความสับสนในสถานภาพของบุคคลอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะจะกลายเป็นว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ถูกส่งให้มาประกาศเรียกร้องคนที่เป็นอิสลาม (มุสลิม) อยู่แล้วให้เป็นอิสลาม (มุสลิม)

และคนที่เป็นกาฟิรและมุชริกซึ่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ทำสงครามด้วยก็คือคนอิสลาม (มุสลิม) ตามคำอธิบายของพวกคุณ และเมื่ออัล-กุรอ่านเรียกขานกลุ่มคนผู้ปฏิเสธว่า “โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย” ก็กลายเป็นว่านั่นหมายถึงผู้ศรัทธากระนั้นหรือ? ในทำนองเดียวกัน เมื่ออัล-กุรอานเรียกขานกลุ่มชนผู้ศรัทธาว่า “โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย” ก็กลายเป็นว่านั่นหมายถึงผู้ปฏิเสธกระนั้นหรือ? เพราะพวกคุณบอกว่า มนุษย์ทุกคนเป็นอิสลาม และมนุษย์ทุกคนเป็นกาฟิร อยู่ที่ว่าใครจะอิสลามหรือกุฟร์ต่อสิ่งใด!

การสรุปเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความสับสนและสุ่มเสี่ยงต่อการตกศาสนา (มุรตัด) เพราะท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามมิให้กล่าวหาคนมุสลิม (คนอิสลามตามทำนองของพวกคุณ) ว่าเป็นกาฟิร เพราะถ้าเขาผู้นั้นไม่เป็น ผู้ที่กล่าวหาก็เป็นเสียเอง นั่นแสดงว่า มุสลิมและกาฟิรมีคำจำกัดความเฉพาะกำกับอยู่ แต่ถ้าถือตามคำอธิบายของพวกคุณ ข้อห้ามของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ดังกล่าวก็จะไม่มีผลอันใดเลย เพราะคนที่ถูกกล่าวหาเขาเป็นกาฟิรอยู่แล้วหรือเป็นมุสลิม (อิสลาม) อยู่แล้ว คนที่กล่าวหาก็มีสภาพเช่นเดียวกัน คือเป็นมุสลิม (อิสลาม) และเป็นกาฟิรในเวลาเดียวกัน นั่นเป็นผลมาจากข้อสรุปของพวกคุณ

แต่ถ้าพวกคุณกล่าวว่า ไม่ใช่ มุสลิมก็คือผู้ยอมตนต่อพระเจ้าและปฏิเสธ (กุฟร์) ต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์คือเหล่าฏอฆูตทั้งหลาย และกาฟิรก็คือผู้ปฏิเสธในการยอมจำนน…………ต่อพระเจ้าและยอมตนต่อฏอฆูตทั้งหลาย การอธิบายเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นการให้คำจำกัดความที่แยกแยะระหว่างคำว่า อิสลาม-กุฟร์,มุสลิม-กาฟิร ที่ชัดเจน และเมื่อให้คำจำกัดความด้วยการอธิบายเช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆในการสรุปที่ก่อให้เกิดความสับสนดังกล่าวที่ว่า “มนุษย์ทุกคนคืออิสลาม และมนุษย์ทุกคนคือกาฟิร” เพราะคำจำกัดความมันแยกแยะเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

มุสลิม คือ ผู้ปฏิเสธต่อฏอฆูตทั้งหลายที่ถูกเคารพสักการะอื่นจากอัลลอฮฺ ผู้มีคำนิยามเช่นนี้คือ มุสลิม ไม่เรียกว่า “กาฟิร”

กาฟิร คือ ผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺ ไม่ยอมตนในพระองค์แต่เคารพสักการะต่อสิ่งอื่น (ฏอฆูต) นอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้มีนิยามเช่นนี้ คือ กาฟิร ไม่เรียกว่า “มุสลิม”

ถึงแม้ว่าทั้งมุสลิมและกาฟิรจะมีลักษณะร่วมกันตามหลักภาษาคือยอมตนต่อสิ่งหนึ่ง และปฏิเสธต่อสิ่งหนึ่งก็ตาม นี่คือข้อสรุปที่ชัดเจนและไม่สับสน เป็นข้อสรุปที่ได้จากคัมภีร์ อัล-กุรอาน อันเป็นความจริงจากพระเจ้า!

*สำหรับคำถามที่ว่า ศาสนาอิสลามเพิ่งเกิดมา 1,400 ปีนี่เองหรือ และศาสดายุคก่อนถือศาสนาอะไร? ความจริงที่ไม่สับสนและเป็นความจริงจากพระเจ้าก็คือ ศาสนาอิสลามนั้นมีมาก่อนระยะเวลา 1,400 กว่าปีแน่นอน เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนา ณ พระองค์อัลลอฮฺ เป็นความจริงที่มาจากพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงส่งบรรดาศาสนทูตทั้งหลายให้มาประกาศและเรียกร้องผู้คนสู่ความจริงนั้น

لقد جاءت رسل ربنا بالحق

ความว่า “แน่แท้ บรรดาศาสนทูตแห่งพระผู้อภิบาลของเราได้นำความจริงนั้นมา”

(อัล-อะอฺรอฟ: 43)

ศาสนาอิสลามซึ่งเป็นความจริงจากพระเจ้าคือศาสนาที่บรรดาศาสนฑูตทั้งหลายประกาศเรียกร้องผู้คนในแต่ละยุค แต่ละสมัย ผู้ที่ยอมรับอิสลามเป็นสรณะก็คือ มุสลิม และคำว่า มุสลิม นี้ก็ปรากฏมาในทุกยุคมิใช่เพิ่งมาเริ่มต้นเมื่อ 1,400 กว่าปีมานี้แต่อย่างใด

นบีนูหฺ (อ.ล.) กล่าวแก่กลุ่มชนของท่านว่า:

وامرت ان اكون من المسلمين

ความว่า: “และฉันได้ถูกบัญชาให้เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดามุสลิม (คือผู้ยอมตนต่อพระเจ้าตามวิถีของอิสลาม)

(ยูนุส: 72)

อิสลามคือศาสนาที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีบัญชาให้ท่านนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ประกาศตนยอมรับ

اذقال له ربه اسلم ، قال اسلمت لرب العالمين

ความว่า: (จงรำลึก) ขณะที่พระผู้อภิบาลของเขา อิบรอฮีม) ตรัสกับเขาว่า “เจ้าจงยอมตน” (คือเป็นมุสลิม) เขากล่าวว่า: ฉันยอมตนแล้วต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (คือเป็นมุสลิมผู้นับถืออิสลามเป็นสรณะ)”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 131)

และนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ตลอดจนนบียะอฺกู๊บ (อ.ล.) ได้กำชับสั่งเสียต่อบรรดาบุตรหลานของท่านว่า:

فلا تمو تن الا وانتم مسلمون

ความว่า: “ดังนั้น พวกเจ้าอย่าได้สิ้นชีพลง นอกเสียจากในสภาพที่พวกเจ้าเป็นมุสลิม”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 132)

และบรรดาลูกหลานของนบียะอฺกู๊บ (อ.ล.) ก็ตอบรับคำสั่งเสียของผู้เป็นบิดาพวกเขาว่า:

نعبد الهك واله ابائك ابراهيم واسماعيل واسحاق الهاواحدا ونحن له مسلمون

ความว่า: “พวกเราจะเคารพสักการะต่อพระเจ้าของท่านและพระเจ้าของเหล่าบรรพชนของท่านคือ อิบรอฮีม อิสมาอีล และอิสหาก พระเจ้าองค์เดียวและพวกเราคือบรรดาผู้ยอมตน (มุสลิม) ต่อพระองค์”

(ยูนุส: 84)

นบีมูซา (อ.ล.) ก็กล่าวกับกลุ่มชนของท่านว่า:

ياقوم إِنْ كُنْتُم امنتم بالله فعليه توكلوا ان كنتم مسلمين

ความว่า: “โอ้ กลุ่มชนของฉัน หากปรากฏว่าพวกท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้วไซร้ พวกท่านจงมอบหมายเฉพาะพระองค์หากพวกท่านเป็นมุสลิม”

(ยูนุส: 84)

บรรดาหะวารียูน (สาวกใกล้ชิด) ของนบีอีซา (อ.ล.) ก็กล่าวกับนบีอีซา (อ.ล.) ว่า

امنا واشهد بأنامسلمون

ความว่า: “พวกเราศรัทธาแล้ว และขอให้ท่านจงเป็นพยานยืนยันว่าพวกเราเป็นมุสลิม”

(อาลิ-อิมรอน: 52)

คำว่า “อิสลาม” และ “มุสลิม” จึงเป็นสิ่งที่บรรดาศาสนทูตและเหล่าผู้เชื่อใน ศาสนทูตเหล่านั้นต่างก็กล่าวยืนยันมานับแต่ครั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานจวบจนถึงยุคของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งท่านได้เริ่มประกาศสาส์นของพระเจ้าแก่มนุษยชาติที่นครมักกะฮฺ มาเมื่อ 1,400 กว่าปีที่ผ่านมา การประกาศศาสนาอิสลามโดยนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเป็นนบีและรสูลท่านสุดท้ายมีอายุได้ 1,400 ปีกว่าก็จริงแต่ศาสนาอิสลามอันเป็นความจริงจากพระเจ้าและเป็นศาสนาของบรรดาศาสนทูตทั้งหลายมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเดียวกันไม่ว่าจะในยุคอดีตหรือในยุคของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งท่านกล่าวว่า:

الانبياء اخوة من علات امها تهم شتى ودينهم واحد

“บรรดานบีทั้งหลายเป็นพี่น้องกันจากเหล่าสตรีผู้ทรงเกียรติ มารดาของพวกเขาหลากหลายและศาสนาของพวกเขานั้นหนึ่งเดียว” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

หมายความว่า ศาสนาของพวกเขามีหลักมูลฐานเดียวกัน (เหมือนบิดาคนเดียวกัน) นั่นคือ การเรียกร้องสู่การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ถึงแม้ว่าข้อปลีกย่อยในหลักนิติธรรม (เหมือนกับผู้เป็นมารดาที่หลากหลาย) จะมีความแตกต่างกันก็ตาม (ฟัตหุลบารียฺ 6/489)

และท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวอีกว่า:

انا معا شرالأَنْبِيَاءِ ديننا واحد

ความว่า: “แท้จริงเรา เหล่าบรรดานบีทั้งหลาย ศาสนาของเรานั้นหนึ่งเดียว” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

บทสรุปอันเป็นความจริงจากพระเจ้าก็คือ ศาสนาอิสลามมิได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมาแต่เป็นศาสนาของพระเจ้าที่พระองค์ได้ทรงส่งบรรดาศาสนทูตทั้งหลายมาประกาศเรียกร้อง และบรรดาศาสนทูตเหล่านั้นก็ถือในศาสนาอิสลามนี้เหมือนกันทั้งหมดนับตั้งแต่นบีอาดัม (อ.ล.) จวบจนเมื่อราว 1,400 ปีที่ผ่านมา ศาสนทูตท่านสุดท้ายคือนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ได้มาประกาศเรียกร้องมนุษยชาติโดยรวมในยุคสุดท้ายก่อนวันกิยามะฮฺ

قل ماكنت بدعا من الرسل   الاية

ความว่า: “จงกล่าวเถิด (โอ้ มุฮัมมัด) ว่าฉันมิได้อุตริจากบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย (กล่าวคือ ศาสนาที่ฉันเรียกร้องนั้นก็คือศาสนาเดียวกันกับศาสนาที่บรรดาศาสนทูตทั้งหลายเรียกร้อง)”

(อัล-อะฮฺก็อฟ: 9)