มุมมองและข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

بسم الله والحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى آله وصحبه أجمعين…..وبعد:

พัฒนาการของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

การจัดงานเมาลิดนบีของชาวมุสลิมในประเทศไทยมีประเพณีปฏิบัติมานับแต่อดีตโดยนิยมจัดกันตามบ้านและมัสญิดในแต่ละชุมชน รูปแบบของการจัดงานเมาลิดนบีคือการเชื้อเชิญพี่น้องมุสลิมมาร่วมทำการซิกรุลลอฮฺ อ่านประวัติภาษาอาหรับที่เป็นบทกวีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีการกล่าวเศาะละวาตและสล่ามแก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่มีท่วงทำนองและสำนวนเฉพาะ มีการทำทานของเจ้าภาพและการเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน ในบางท้องถิ่นอาจมีของชำร่วยแจกติดไม้ติดมือแก่แขกเหรื่อที่มาร่วมงานอีกด้วย

 

การจัดงานเมาลิดนบีที่เป็นลักษณะเฉพาะนี้ นิยมจัดกันในช่วงของเดือนเราะบีอุลเอาวัล ตามปฏิทินจันทรคติอิสลามของทุกปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการถือกำเนิดและเหตุการณ์สำคัญของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดช่วงอายุขัยของท่าน กระนั้นในบางวาระโอกาสที่เจ้าภาพมีความยินดีและประสงค์จัดเลี้ยงอาหารก็อาจจะมีพิธีการอ่านประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ผนวกเข้ามาในการซิกรุลลอฮฺและของดุอาอฺของคณะผู้ถูกเชื้อเชิญที่เรียกว่า “โต๊ะละบัย” อีกด้วย เช่น โอกาสทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญอะกีเกาะฮฺให้แก่ทารกแรกเกิดเมื่อมีอายุครบ 7 วัน เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าภาพเป็นสำคัญว่าจะให้มีการอ่านเมาลิดนบีหรือไม่?

 

การจัดงานเมาลิดนบีส่วนกลาง

การจัดงานเมาลิดนบีตามบ้านและมัสญิดในชุมชนของชาวมุสลิมในประเทศไทยในรูปแบบเฉพาะตามประเพณีนิยมยังคงมีการปฏิบัติกันสืบมาแม้ในปัจจุบัน

 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร์ สถานการณ์ของบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป กลุ่มชาวมุสลิมในพระนคร (กรุงเทพฯ) ซึ่งอยู่ในส่วนกลางจึงมีดำริในการจัดงานเมาลิดนบีระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2480 โดยมี ฮัจยีอับดุลเลาะฮฺ การีมีเป็นประธาน จัดขึ้นที่หอประชุมกรมศิลปากร

 

ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2481 มีนายเล็ก นานาเป็นประธาน จัดขึ้นที่บ้านนายเล็ก นานา

และครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2482 มีนายเล็ก นานาเป็นประธาน จัดขึ้นที่โรงเรียนอำนวยศิลป์

 

ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ ทำให้ประชาคมมุสลิมในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากนโยบายคลั่งชาติหลายๆ เรื่อง มีหลวงวิจิตร-วาทการเป็นคนต้นคิด นายแช่ม พรหมยงค์ จึงได้ร่วมกับนายบรรจง ศรีจรูญ และชาวมุสลิมในพระนครตลอดจนผู้นำมุสลิมจากทั่วประเทศให้จัดงานเมาลิดนบี ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2486 มี นายบรรจง ศรีจรูญเป็นประธาน โดยจัดขึ้นที่พระราชอุทยานวังสราญรมณ์

 

ในการจัดงานเมาลิดนบีครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแสดงให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามรับรู้ถึงพลังของประชาคมมุสลิม และนายแช่ม พรหมยงค์ได้เชิญหลวงวิจิตรวาทการมาเป็นประธานเปิดงานเนื่องจากหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้มีส่วนในการสร้างแนวคิดแบบชาตินิยมและเสนอให้จอมพล ป. พิบูลสงครามออกคำสั่งให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในมัสยิดทุกมัสยิด ผลจากการจัดงานเมาลิดนบีในครั้งนั้นทำให้รัฐบาลต้องปรับท่าทีซึ่งมีต่อประชาคมมุสลิมในประเทศไทยและมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

 

ต่อมาปี พ.ศ. 2487 มีการจัดงานเมาลิดนบีเป็นครั้งที่ 5 มีนายประวัติ ศรีจรูญเป็นประธาน จัดขึ้นที่สำนักงานมุสลิมสภา ถนนราชดำเนิน และการจัดงานเมาลิดนบีอีก 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2491 , 2492 และ 2493 มีนายนิพนธ์ สิงห์สุมาลีเป็นประธาน ทั้ง 3 ครั้งจัดที่พระราชอุทยานสราญรมณ์ หลังจากนั้นการจัดงานเมาลิดนบีส่วนกลางก็ขาดตอนจนถึงปี พ.ศ. 2504 จึงได้มีการจัดงานเมาลิดส่วนกลาง โดยมีคุณหญิงแสงดาว สยามวาลาเป็นประธาน จัดขึ้นที่สวนลุมพินี นับเป็นการจัดงานเมาลิดนบีระดับชาติ ครั้งที่ 10 

 

ต่อมาปี พ.ศ. 2506 นายต่วน สุวรรณศาสตร์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นองค์ประธานในพิธี และพระองค์ท่านทรงรับการกราบบังคมทูลเชิญของท่านจุฬาราชมนตรีโดยเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม

 

นับจากปี พ.ศ. 2504 งานเมาลิดส่วนกลางได้ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “งานเมาลิดกลาง” ระหว่างปีพ.ศ. 2515 – 2522 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธี ในปีใดที่ไม่สามารถเสด็จฯ มาได้ก็จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนับแต่ปี พ.ศ. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ เป็นผู้แทนพระองค์ตลอดจนถึงปัจจุบัน

 

อนึ่ง สถานที่จัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเคยจัดที่ลุมพินีสถาน สนามกีฬาหัวหมาก สนามกีฬาแห่งชาติ สวนอัมพร และเปลี่ยนมาจัดที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลาม เฉลิมพระเกียรติ คลอง 9 เขตหนองจอก กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน

 

วัตถุประสงค์ในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

1) เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

2) ศึกษา วิเคราะห์ เผยแพร่จริยวัตร และคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

3) ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างพี่น้องมุสลิม

4) ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีงามกับชนต่างศาสนิก

5) ส่งเสริมกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ตามหลักการของศาสนาอิสลาม

6) ส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ อันไม่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม

7) จัดทดสอบผู้อ่านอัล-กุรอาน (กอรี) เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมทดสอบการแข่งขันกอรีระดับนานาชาติ ณ ประเทศมาเลเซีย

8) สนับสนุนโครงการของรัฐอันไม่ขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม

 

สภาพการณ์ของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

การจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และมีจุดเริ่มต้นมาจากการมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้สังคมไทยโดยรวมได้เห็นถึงพลังของประชาคมมุสลิมในประเทศไทย การแสดงท่าทีและจุดยืนที่มีต่อรัฐบาลในกรณีการใช้นโยบายที่คุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของประชาคมมุสลิม

 

และการจัดงานเมาลิดกลางนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมาถือเป็นงานระดับชาติของประชาคมมุสลิมไทยที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทราบกัน สถานภาพของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจึงมีความพิเศษซึ่งแตกต่างจากการจัดงานเมาลิดนบีโดยทั่วไป ทั้งในส่วนของวัตถุประสงค์ และบริบทตลอดจนรูปแบบของการจัดงาน

 

อาจกล่าวได้ว่า “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย” เป็นกิจกรรมของสังคมมุสลิมที่ผสมผสานแนวคิดในเชิงศาสนา พิธีกรรม การเมือง สังคม วัฒนธรรม และงานทางด้านวิชาการเข้าไว้ด้วยกัน เหตุนี้การจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจึงมีลักษณะพิเศษที่มิอาจนำเอาทัศนะของนักวิชาการทางศาสนาซึ่งมีมุมมองต่างกันในประเด็นที่ว่าเป็นงานอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรือไม่? มาตัดสินและชี้ขาดเพียงกรณีเดียว เพราะโดยข้อเท็จจริงและบริบทของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมีการวิวัฒน์ตามสภาพทางสังคมของประชาคมมุสลิมไทย มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ

 

กล่าวคือ มีองค์ประกอบและสาระสำคัญของเนื้องานที่อยู่นอกกรอบความคิดและทัศนะของนักวิชาการทางศาสนา ซึ่งคิดตามกรอบและการอ้างอิงบริบทของการจัดงานเมาลิดนบีที่มีนักวิชาการในโลกมุสลิมวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ และกรอบความคิดของนักวิชาการศาสนาเหล่านั้นก็ยึดติดอยู่เฉพาะกรณีของการเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) หรือไม่เท่านั้น แต่บริบทของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมีความซับซ้อนมากกว่านั้น และเลยจากกรอบของแนวคิดที่ว่าเป็นอุตริกรรมทางศาสนาหรือไม่?

 

อย่างน้อยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเมาลิดส่วนกลางที่กลุ่มมุสลิมในเขตพระนครจัดขึ้นเมื่อครั้งบ้านเมืองอยู่ในภาวะคลั่งชาติ และมีทัศนะคติในเชิงลบต่อประชาคมมุสลิมไทยโดยอาศัยงานเมาลิดส่วนกลางเป็นเสมือนกิจกรรมการแสดงพลังของประชาคมมุสลิมต่อผู้ปกครองและนักการเมืองในยุค “รัฐนิยม” และการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นบริบทที่แตกต่างจากการจัดงานเมาลิดนบีที่มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นอุตริกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการมองงานเมาลิดนบีในแง่เดียวหรือมิติเดียวเท่านั้น

 

ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่ากลุ่มนักวิชาการที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยโดยอ้างว่าเป็นอุตริกรรมทางศาสนานั้นพิจารณาเพียงแค่ชื่อของงานที่มีคำว่า เมาลิด หรือ เมาลิดนบี เท่านั้น หากเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น “งานมุสลิมแห่งชาติ” เป็นต้น นักวิชาการกลุ่มนี้บางส่วนก็ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ทั้งๆ ที่ประเด็นของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยไม่ได้มีสาระสำคัญในเรื่องการเรียกชื่อของงานว่าจะมีชื่ออะไร? แต่มีสาระสำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการจัดงาน องค์ประกอบและเนื้อหาของงานมากกว่า เพราะโดยข้อเท็จจริง งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยกับงานมุสลิมแห่งชาติอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างอันใดเลยก็เป็นได้

 

ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่กระทำสืบกันมา วันแรกของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจะมีหัวใจอยู่ที่พิธีการรับเสด็จฯ องค์ประธานในพิธิจัดงาน การกล่าวถวายรายงานของประธานจัดงาน การเบิกตัวผู้เข้ารับโลห์จากพระหัตถ์ การตรัสเพื่อเปิดงานอย่างเป็นทางการ การอ่านประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นภาษาอาหรับ การขอดุอาอฺเพื่อถวายพระพรและการเสด็จฯ ทอดพระเนตรซุ้มและการออกบู๊ทกิจกรรมของหน่วยงาน กลุ่มองค์กรและนิทรรศการในเขตบมณฑลพิธี

 

เมื่อพสกนิกรที่มารอรับเสด็จฯ ส่งเสด็จแล้ว ตารางกำหนดการของงานตามที่คณะกรรมจัดงานกำหนดเอาไว้ก็จะดำเนินไป กำหนดการสำคัญในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอีกช่วงหนึ่งก็คือ พิธิปิดในวันสุดท้าย โดย ธรรมเนียมปฎิบัติที่ผ่านมาก็จะมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนเป็นประธานในพิธีปิด

 

ส่วนกิจกรรมหลักในช่วงวันงานก็จะเป็นการแข่งขันการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอานแบบท่วงทำนองของตัวแทนจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคเพื่อหาผู้ชนะเลิศในการแข่งขันให้เป็นตัวแทนกอรีจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกอรีนานาชาติที่ประเทศมาเลเซีย ในงานมีการสัมนา กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมการประกวด การแสดงวัฒนธรรมของชาวมุสลิม การออกบู๊ทและนิทรรศการ การออกร้านและการขายอาหาร ซึ่งโซนของร้านค้าทั้งร้านขายเสื้อผ้าของจิปาถะและร้านอาหารถือเป็นโซนหลักและเป็นแหล่งรายได้หลักของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

 

นอกเหนือจากเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการจัดงานของผู้ที่ขึ้นรับโล่ห์จากองค์ประธานและการเก็บค่าลงโฆษณาในหนังสืออนุสรณ์การจัดงาน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการย้านสถานที่การจัดงานเมาลิดกลางมายังศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามเฉลิมพระเกียรติ คลอง 9 เขตหนองจอก ฝ่ายร้านค้าเหมือนจะมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเก็บค่าเช่าร้านจากผู้ออกร้าน การขายอาหาร และสินค้าที่มีราคาแพง และการมีจำนวนผู้มาร่วมงานลดน้อยลง

 

ในช่วงระยะหลังมานี้ การจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมีลักษณะและรูปแบบการจัดงานที่เกือบจะไม่แตกต่างจากการจัดงานหารายได้ทั่วไปตามมัสญิดและสถาบันทางการศึกษา เพียงแต่เป็นงานระดับชาติที่ใหญ่กว่างานการกุศลโดยทั่วไปเท่านั้น เรื่องของงานวิชาการก็ลดน้อยถอยลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ แทนที่งานเมาลิดกลางจะเป็นงานวิชาการที่เน้นถึงการเผยแผ่อัตชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในส่วนของนิทรรศการ กิจกรรมในการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจริยวัตรและความงดงามของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แก่ผู้ร่วมงานซึ่งมีทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

 

กลับกลายเป็นว่าเน้นเรื่องการออกร้าน การแสดงลิเกฮูลู หรือการขับร้องที่มีดนตรีประกอบ หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่มิใช่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺออกร้านขายหนังสือ ฉายวิดีทัศน์และเผยแพร่แนวความคิดของกลุ่มตนในหมู่พี่น้องมุสลิมที่เป็นอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่างานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยในช่วงหลังๆ มานี้ออกห่างจากเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวกับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไปมาก ซ้ำร้ายยังดูเหมือนว่างานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยกลายเป็นเวทีสำหรับกลุ่มบุคคลที่มิใช่ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อของกลุ่มได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องอ้อมค้อมแต่อย่างใด

 

ในขณะที่ชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่มาร่วมงานเกือบจะไม่ได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหล่าอัครสาวกและแนวทางของอะฮฺลิสสุนนะฮฺแต่อย่างใด หากจะได้บ้างก็น้อยนิดเหลือเกิน สิ่งที่ได้ก็คือการเที่ยวชมร้านค้า การจับจ่ายซื้อหา และการรับประทานอาหารจากร้านอาหารที่มีการออกร้าน ส่วนการรับฟังอัล-กุรอานจากนักกอรี การรับฟังการบรรยายและการอภิปรายของนักวิชาการก็เป็นเรื่องที่ฉาบฉวยเท่านั้น

 

สำหรับกิจกรรมของเยาวชนในเชิงวิชาการและการตอบปัญหาศาสนา การแข่งขันท่องจำอัล-กุรอาน การประกวดเรียงความ การกล่าวสุนทรพจน์ของตัวแทนนักเรียนจากสถาบันการศึกษา ทั้งหมดที่กล่าวมามีจำนวนสถาบันและโรงเรียนที่ส่งตัวแทนเข้าแข่งขันและประกวดค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เวทีงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นเวทีใหญ่ระดับชาติสำหรับสังคมมุสลิม

 

การมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวของสถาบันและโรงเรียนตลอดจนผู้เข้าร่วมชมกิจกรรมก็มีจำนวนลดน้อยถอยลง และไม่ค่อยได้รับความสนใจอย่างที่ควร ในขณะที่เวทีการแสดงในเชิงมหรสพ เช่น ลิเกฮูลูกลับได้รับความสนใจมากกว่าและบางทีก็มีตารางการแสดงตรงกับเวทีใหญ่ที่กำลังมีการอ่านอัล-กุรอานของผู้เข้าแข่งขันการประกวดกอรีเมาลิดกลาง เหล่านี้คือสภาพการณ์โดยรวมของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

1) วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการจัดงานกับรูปแบบ และเนื้อหาของการจัดงานไม่สอดคล้องกัน

2) ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีและทั่วถึง

3) เน้นการออกร้าน และการหารายได้มากกว่าองค์ประกอบของงานในส่วนอื่น

4) กลุ่มเป้าหมายหลักที่ประสงค์ให้มาร่วมงานไม่ชัดเจน

5) ขาดการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้ร่วมงาน ว่าผู้ร่วมงานได้รับประโยชน์จากการร่วมงานมากน้อยเพียงใด

 

ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขและปฏิรูปการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

1) กำหนดรูปแบบและเนื้อหาของการจัดงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักในการจัดงาน

ข้อเสนอ

1.1) ทุ่มงบประมาณในการจัดนิทรรศการที่เน้นการนำเสนอและเผยแผ่อัตชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยครอบคลุม ทั้งนี้สมควรจัดโซนของนิทรรศการให้มีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม หรือกำหนดจุดที่ตั้งของนิทรรศการให้กระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณงานมากกว่า 1 แห่ง

 

1.2) มีการพิมพ์เอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับจริยวัตรของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่นอกเหนือจากหนังสืออนุสรณ์ โดยแจกฟรีและกำหนดจุดในการแจกจ่ายเอกสารให้กระจายอยู่ในพื้นที่บริเวณมากกว่า 1 แห่ง

 

1.3 กำหนดให้มีการกล่าวเศาะละวาตและสล่ามแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนการอ่านสำนวนคำเศาะละวาตและสล่ามที่เป็นท่วงทำนองในกิจกรรมบนเวทีของการจัดงานหรือกำหนดกลุ่มคณะบุคคลที่มีความสันทัดในการอ่านสำนวนคำเศาะละวาตและสล่ามภายหลังการละหมาดญะมาอะฮฺที่ถูกปฏิบัติในช่วงเวลาของการจัดงานหรือช่วงเช้า บ่าย และเย็น

 

โดยกลุ่มบุคคลที่ว่านี้เป็นตัวแทนจากมัสญิดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลหมุนวียนผลัดเปลี่ยนกันตลอดช่วงเวลาที่กำหนดให้ ซึ่งทางคณะกรรมการจัดงานอาจมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังมัสญิดต่างๆ ให้ส่งตัวแทนในจำนวนที่เหมาะสม เช่น 10 คน 1 มัสญิดเข้าร่วมในการดังกล่าว พร้อมกำหนดวันและเวลาในช่วงวันเวลาในการทำกิจกรรมดังกล่าว

 

ทั้งนี้หากมีหนังสือเชิญไปยังมัสญิดจำนวน 5 มัสญิดก็จะมีผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน โดยกลุ่มคณะบุคคลทั้ง 50 คนนี้ก็จะร่วมกันอ่านเศาะละวาตและสล่ามแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามกำหนดวันและเวลาที่แจ้งไว้ หากกำหนดว่า มีการทำกิจกรรมนี้ 3 เวลาในช่วง 1 วัน ก็จะมีกลุ่มคณะบุคคลที่เป็นตัวแทนจากมัสญิดจำนวน 15 มัสญิด (150 คน) เป็นต้น ถัดมาอีกวันหนึ่งของการจัดงานก็จะมีตัวแทนจากอีก 15 มัสญิด (150 คน) มาทำหน้าที่ในกิจกรรมดังกล่าว ในทำนองนี้

 

1.4 กำหนดให้มีการบรรยายหรืออภิปรายหรือเสวนาโดยคณะนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยใช้อาคารหอประชุมหรือห้องประชุมเล็กหรืออาคารมัสญิดของศูนบ์บริหารกิจการศาสนาอิสลามเฉลิมพระเกียรติ คลอง 9 ให้มีตารางกิจกรรมครอบคลุมช่วงเวลาของวันงานหลังวันแรกจนถึงวันสุดท้าย

 

โดยกำหนดหัวข้อกิจกรรม ตารางเวลา องค์บรรยายหรือองค์อภิปรายให้เหมาะสม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อเข้ารับฟัง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนี้เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาจากสถาบันทางการศึกษา หรือกลุ่มบุคคลที่น่าจะสอดคล้องกับหัวข้อการบรรยาย กล่าวคือเปิดกว้างในส่วนของกลุ่มเป้าหมาย และครอบคลุมในการส่วนของหัวข้อ ไม่ใช่กำหนดให้กิจกรรมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากตารางกำหนดการอย่างที่เคยผ่านมา ซึ่งมีเวลาน้อยมากและอาศัยผู้เข้าฟังที่เป็นผู้มาร่วมงานเท่านั้น

 

1.5) กิจกรรมการทดสอบเยาวชนและการประกวดจะต้องมีเนื้อหาและหัวข้อที่เกี่ยวกับจริยวัตร และชีวประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) การออกหนังสือเชิญชวนให้สถาบันส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมสมควรเป็นการเชิญคณะนักเรียนจากแต่ละสถาบันเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตามจำนวนที่เหมาะสม มิใช่เฉพาะนักเรียนที่จะเข้าร่วมทดสอบในกิจกรรมเท่านั้น

 

และหากเป็นไปได้ควรมีงบประมาณในเรื่องการจัดหาพาหนะรับส่งคณะนักเรียนจากแต่ละสถาบันก็จะดีมาก ทั้งนี้ หากมีการทุ่มงบประมาณในการจัดนิทรรศการตามข้อเสนอข้อที่ (1) ก็ควรใช้แนวทางที่ว่านี้ในการดึงผู้คนเข้าร่วมรับชมนิทรรศการ โดยมีหนังสือเชิญไปยังสถาบัน โรงเรียน หรือองค์กรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมรับชมนิทรรศการ โดยมีรถหรือพาหนะรับส่งบริการให้ฟรี

 

1.6) กิจกรรมการแสดงในเชิงบันเทิง เช่น การแสดงการเต้นและขับร้องพร้อมเสียงดนตรีทุกประเภท จะต้องไม่มีในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และให้ใช้กิจกรรมในข้อที่ 1.3 , 1.4 , 1.5 ทดแทน ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศของงานเมาลิดนบีให้แตกต่างจากงานการกุศลเพื่อหารายได้ทั่วไป กล่าวคือ งานเมาลิดจะต้องมีบรรยากาศและรูปแบบเฉพาะที่เน้นด้านวิชาการและการเผยแผ่จริยวัตรของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิใช่งานขายไก่ย่าง หรืองานแสดงสินค้า หรืองานมหรสพสมโภช หรืองานกาชาด หรือแม้กระทั่งงานโรงเรียน หรืองานมัสญิดที่มีวัตถุประสงค์หารายได้ก็ไม่ควรให้เหมือนหรือคล้ายงานเหล่านี้เช่นกัน

 

เพราะงานหารายได้ หรืองานการกุศลตามมัสญิดหรือสถาบัน-โรงเรียนก็เน้นการออกร้าน ขายอาหาร–ร้านขายเสื้อผ้า กิจกรรมบนเวทีซึ่งมีทั้งการบรรยายศาสนธรรม การแสดงประกอบดนตรีของเด็กๆ ปะปนกัน ในบางงานกิจกรรมบนเวทีก็มีการแสดงของพวกคณะตลกด้วยซ้ำไป การจัดงานที่มีมหรสพปะปนกันนี้จำต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งในส่วนของมัสญิดเอง และการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย

 

1.7) มีการกำหนดเครื่องแต่งกายของผู้มาร่วมงานให้เป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา กล่าวคือ ผู้ร่วมงานที่เป็นมุสลิมหรือมุสลิมะฮฺแต่งกายตามวัฒนธรรมมุสลิมหรืออาจจะกำหนดให้ผู้เข้าร่วมงานใส่เครื่องแต่งกายตามหลักการศาสนาที่เป็นประเพณีนิยม เช่น สวมชุดแบบอาหรับ มลายู ปากีฯ เป็นต้น

 

ในส่วนของชนต่างศาสนิกที่มาร่วมงาน หากเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาก็ให้แต่งชุดเครื่องแบบของสถาบัน หากเป็นประชาชนทั่วไปในกรณีที่แต่งกายไม่สุภาพ เช่น นุ่งกระโปรงสั้น เป็นต้น ก็ให้มีชุดคลุมเอาไว้บริการ และในกรณีของการจัดสถานที่ เช่น เก้าอี้สำหรับผู้เข้าร่วมฟัง หรือรับชมกิจกรรมมีการแยกระหว่างชาย หญิง เป็นต้น และเมื่อได้เวลาในการอะซานและการละหมาดญะมาอะฮฺประจำเวลาให้ยุติกิจกรรมในงานทั้งหมด และมีการรณรงค์ให้ผู้มาร่วมงานเข้าร่วมการละหมาดญะมาอะฮฺโดยพร้อมเพรียงกัน

 

อนึ่ง ข้อเสนอในส่วนนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องมีการริเริ่มและปรับเปลี่ยนให้ได้มากที่สุด และความเป็นไปได้ในเรื่องนี้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานตามข้อเสนออื่นๆ ด้วย

 

2) ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีและทั่วถึง

ข้อเสนอ

2.1) การประชาสัมพันธ์การจัดงานวันเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยไม่ควรอาศัยเพียงแค่โปสเตอร์หรือการจัดทำสปอร์ตประชาสัมพันธ์ทางรายการวิทยุภาคมุสลิมเท่านั้น แต่ควรอาศัยสื่อสังคมที่มีอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ตลอดจนมีการออกหนังสือเชิญร่วมงานไปยังสถาบัน องค์กร โรงเรียน และมัสญิดทั่วกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และส่วนของภูมิภาคให้ทั่วถึง

 

2.2) ควรระบุกิจกรรมที่น่าสนใจในเนื้อหาของคำประชาสัมพันธ์ เช่น ในงานมีมหกรรมหนังสือมุสลิมจากสำนักพิมพ์ทั่วทุกภูมิภาควางจำหน่ายในราคาถูก มีการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ มีการเลี้ยงอาหารฟรีตลอดงาน (เป็นข้อเสนอในลำดับถัดไป)

 

3) เน้นการออกร้านและการหารายได้มากกว่าองค์ประกอบของงานในส่วนอื่น

ข้อเสนอ

3.1) จัดร้านอาหารในโซนที่ตั้งบริเวณงานเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นร้านอาหารแบบ บุฟเฟ่ต์ ซื้อบัตรเข้าทาน มีเมนูอาหารมุสลิม 4 ภาค ส่วนที่ 2 เป็นโรงทาน เลี้ยงอาหารตามเมนูที่มีผู้บริจาคออกทุนหรือจัดทำมาพร้อมเสริฟ และรับบริจาคเพื่อเข้าร่วมกองทุนการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย โดยส่วนที่หนึ่งมีทีมงานมืออาชีพรับผิดชอบ และส่วนที่ 2 มีพนักงานจัดเตรียมและเสริฟคอยรับผิดชอบ ทั้งนี้อาหารที่จัดเลี้ยงในส่วนของโรงทานให้ประสานไปยังมัสญิดที่ประสงค์เป็นเจ้าภาพหรือกลุ่มองค์กรที่ออกทุนและดำเนินการจัดทำอาหาร

 

3.2) ลดจำนวนร้านค้าเสื้อผ้าและของใช้จิปาถะที่เป็นรายเฉพาะ และเพิ่มจำนวนร้านค้ามาขายสินค้าโอท๊อปหรือสินค้ากลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มสตรี โดยเก็บค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป เพื่อให้มีราคาต้นทุนไม่มาก และมีราคาสินค้าที่พอควร ผู้ขายได้กำไรพอควรและผู้ซื้อมีกำลังซื้อ

 

แนวคิดตามข้อเสนอ

เป็นการบูรณาการระหว่างการขายอาหารที่ไม่หวังกำไรมากกับการจัดเลี้ยงเป็นทาน รายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่อาจลดลง แต่ก็มีรายได้จากการขายบัตรบุฟเฟ่ต์ และการบริจาคของผู้รับประทานอาหารในส่วนของโรงทาน และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ร่วมงานระหว่างการซื้อบัตรเพื่อรับประทานอาหารเมนูมุสลิม 4 ภาค กับการรับประทานอาหารสำเร็จพร้อมเสริฟและร่วมบริจาค ตลอดจนมีร้านขายสินค้าที่พอจะจับจ่ายซื้อหาได้ ถึงแม้จะมีจำนวนร้านขายสินค้าไม่มากก็ตาม

 

3.3) เพิ่มจำนวนของร้านขายหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยกำหนดโซนของร้านขายหนังสือและสิ่งตีพิมพ์ในจุดที่เหมาะสมในบริเวณงาน มีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เก็บแพง และในโซนของร้านขายหนังสือนี้ ห้ามมิให้มีการขายซีดีหรือเทปเพลงหรืออาจจะอนุญาตให้วางขายเฉยๆ โดยไม่ให้เปิดผ่านเครื่องฉายหรือเครื่องเสียง ตลอดจนสำนักพิมพ์หรือร้านขายหนังสือจะต้องไม่ใช่กลุ่มคณะบุคคลในกลุ่มแนวความคิดอื่นนอกอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ

 

แนวคิดตามข้อเสนอ

ทำให้มีการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเป็นงานแสดงหนังสือ และสิ่งพิมพ์มุสลิมที่ใหญ่ที่สุด โดยรวมสำนักพิมพ์หรือร้านขายหนังสือทั่วทุกภูมิภาคมาไว้ในโซนหนังสืออย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการเปิดตัวผลงานการเขียนของนักวิชาการ มีการพบปะนักเขียนและกิจกรรมเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์หนังสือน่าอ่าน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักอ่าน นักเรียน นักศึกษาโดยทั่วไปให้รับรู้ว่า ในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยมีหนังสือหลากหลายวางขายในราคาย่อมเยาว์ และหากเป็นไปได้ควรมีสำนักพิมพ์ที่มีชื่อในประเทศไทยเช่น ร้านนายอินทร์ สำนักพิมพ์มติชน ร้านหนังสือทั่วไป เป็นต้น เข้าร่วมก็จะเพิ่มความหลากหลายและมีแรงจูงใจจากนักอ่านทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม กล่าวคือ ทำอย่างไรให้งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเป็นงานแสดงหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในสังคมมุสลิม

 

4) กลุ่มเป้าหมายหลักที่มาร่วมงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยไม่ชัดเจน

ข้อเสนอ

สมควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะมาร่วมกิจกรรมตามข้อเสนอข้อที่ (1) ให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของผู้สนใจเข้ารับฟังการบรรยาย อภิปราย และเสวนาทางวิชาการในแต่ละหัวข้อที่กำหนด คณะนักเรียนและนักศึกษาที่จะเข้าชมนิทรรศการ และเข้าร่วมทดสอบทักษะพร้อมกับนักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นตัวแทนสถาบันในการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบทักษะ และสำหรับผู้ร่วมงานทั่วไปนั้น ควรมีการสร้างปรากฏการณ์ที่มีแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปอยากจะมาร่วมงาน

 

– กำหนดให้มี “ห้องฉายภาพยนต์ประวัติศาสตร์และสารคดีเกี่ยวกับอิสลาม” โดยแยกสถานที่ในการรับชมระหว่างชาย-หญิงให้เป็นกิจจะลักษณะ มีเอกสารประชาสัมพัน์เรื่องภาพยนต์หรือสารคดีที่จะฉายในแต่ละรอบตลอดวันและเวลาของการจัดงาน

 

– กำหนดให้มี “เวทีเล็ก” สำหรับการแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัลของครอบครัวที่ประสงค์เข้าร่วมกิจกรรม

 

– ให้สำนักจุฬาราชมนตรีหรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประสานไปยังรัฐบาลผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อติดต่อประสานไปยังรัฐบาลของประเทศสาธารณรัฐตุรกีขอนำโคมแก้วบรรจุเส้นผมของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จากพิพิธภัณฑ์พระราชวังท๊อบกอบิ นครอิสตันบูลมาตั้งแสดงในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เพื่อให้ชาวมุสลิมในประเทศไทยได้เข้าชมตลอดวันและเวลาของการจัดงาน

 

– สำนักจุฬาราชมนตรีบรรจุกำหนดการในตารางการจัดงานให้มีการแจกโล่ห์เชิดชูเกียรติผู้สร้างคุณูปการชาวมุสลิมในสาขาต่างๆ เรียกว่า รางวัลจุฬาราชมนตรี

 

– กำหนดให้มีการแสดงสัตยาบัน (บัยอะฮฺ) ต่อจุฬาราชมนตรีจากประชาคมมุสลิมทั่วประเทศ โดยกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละวันของการจัดงาน

 

5) การประเมินผลความสัมฤทธิ์ผลในการจัดงาน

ข้อเสนอ

ให้มีคณะทำงานฝ่ายประเมินผลความสัมฤทธิ์ในการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย มีการรวบรวมสถิติผู้เข้าร่วมงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ พร้อมออกเอกสารการประเมิลผลเป็นแบบสอบถาม โดยตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณงาน

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

การตั้งข้อสังเกตทั้ง 5 ประการซึ่งเป็นประเด็นปัญหาและข้อบกพร่องของการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และมีการเสนอเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่สู่ความน่าจะเป็นและความเหมาะสมทั้งหมดนั้นเป็นมุมมองของผู้เขียนบทความนี้ที่มีต่องาน             เมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นความเห็นส่วนตัวที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ มีความเป็นไปได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะมีผลในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้อ่าน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะประธานและคณะกรรมการการจัดงาน

 

ผู้เขียนบทความได้วิเคราะห์และนำเสนอเพื่อเป็นการจุดประกายในการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมมุสลิมโดยหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการสร้างความตระหนักและการทบทวนอดีตที่เป็นปรากฏการณ์ตามข้อเท็จจริง และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนทัศนคติบ่างอย่างที่มิอาจนิ่งเฉย และปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นโดยไม่พูดหรือกล่าวถึง ส่วนที่ว่าพูดหรือกล่าวถึงปรากฏการณ์นั้นแล้ว จะมีผู้นำไปคิดเพื่อต่อยอดหรือไม่ ผู้เขียนบทความไม่วาดหวังอันใดในกรณี เพราะไม่อยู่ในสถานะของผู้ปฏิบัติหรือมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพียงแต่ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่านั้น

 

อะลี อะหฺมัด อบูบักร มุฮัมมัด อะมีน
ค่ำคืน วันที่ 3 เราะมะฎอน 1435 / 30 มิ.ย. 2557
บ้านป่า สวนหลวง