คาบสมุทรอาหรับ (Arab Peninsula)

ชายฝั่งคาบสมุทรอาหรับประเทศโอมาน

        คาบสมุทรอาหรับ ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นคาบสมุทร (Peninsula) ที่มีน้ำล้อมรอบอยู่ 3 ด้านคือ ทะเลแดง, มหาสมุทรอินเดีย, และอ่าวอาหรับ (อ่าวเปอร์เซีย) นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับเรียกคาบสมุทรนี้ว่า “เกาะอาหรับ” นับแต่สมัยโบราณ คาบสมุทรอาหรับถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วนคือ

        1. ติฮามะห์ (تِهَامَة) เป็นดินแดนแถบชายฝั่งที่มีพื้นที่แคบและลาดชันขนานไปกับทะเลแดง นับจากยะมัน (เยเมน) ทางทิศใต้จนถึง อ่าวอัลอะก่อบะห์ (อากอบ้า) ทางทิศเหนือ กล่าวกันว่า ที่เรียกดินแดนส่วนนี้ว่า ติฮามะห์ เป็นเพราะสภาพอากาศในแถบนี้ร้อนหูดับตับไหม้ สายลมก็สงบนิ่งเป็นเป่าสาก อาณาบริเวณของเขตติฮามะห์ถูกแบ่งพรมแดนระหว่างยะมัน (เยเมน) และแคว้นอัลฮิญาซ

 

        2. แคว้นนัจญด์ (نَجْد) เป็นที่ราบสูงตอนกลางคาบสมุทรอาหรับ ถือเป็นอาณาบริเวณที่กว้างที่สุด มีโอเอซิสอยู่ตามรายทาง ซ้ำยังมีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูก เหตุที่เรียกว่า นัจญฺด์ (ก็เพราะพื้นที่แถบนี้เป็นที่เป็นที่สูงจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ราว 1,390,000 ตารางกิโลเมตร

 

        3. แคว้นอัลฮิญาซ (اَلحِجَاز) อยู่ทางตอนเหนือของยะมัน (เยเมน) และทางตะวันออกของเขตติฮามะห์ พื้นที่ในแคว้นอัลฮิญาซเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนนับจากยะมัน (เยเมน) จรดแคว้นชาม (ซีเรีย) สลับไปด้วยโอเอซิสและเหวลึก มีเมืองสำคัญ เช่น นครมักกะห์, ยัซริบ (ม่าดีนะห์) และเมืองอัตตออิฟตั้งอยู่ เหตุที่เรียกว่า อัลฮิญาซฺ เพราะพื้นที่ในแคว้นอัลฮิญาซฺมาขวางกั้นระหว่างแคว้นนัจญฺด์และติฮามะห์

        4. แคว้นอัลอะรูฎ (اَلعَرُوض) มีพื้นที่ครอบคลุมเขตอัลยะมามะห์และอัลบะฮฺรอยน์ (บะฮฺเรน) ที่เรียกว่า อัลอะรูฎ เพราะพื้นที่ในเขตนี้คั่นอยู่ระหว่างยะมันแคว้นนัจญฺด์และแผ่นดินอิรอก (อิรัก)

        5. อัลยะมัน (اَلْيَمَنُ) เป็นอาณาบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวางแผ่ยื่นจากแคว้นติฮามะห์จรดแคว้นอัลอะรูฎ กล่าวคือกินพื้นที่นับจากแคว้นนัจญฺด์จนถึงมหาสมุทรอินเดียทางทิศใต้ และทะเลแดงทางทิศตะวันตก และจรดแคว้นฮัฎร่อเมาวต์ และโอมานทางทิศตะวันออก เหตุที่เรียกว่า อัลยะมัน หรือ อัลยะม่านาต ก็เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็เรียกว่า อัลคอฎรออฺ ซึ่งแปลว่า ดินแดนสีเขียว ก็เพราะเขตอัลยะมันมีพื้นที่เกษตรกรรม สวนอินทผลัมและผลไม้ ชาวกรีกรู้จักดินแดนนี้ในชื่อดินแดนแห่งความผาสุก เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านเกษตรกรรม ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และมีการค้าที่เจริญรุ่งเรือง

แผนที่คาบสมุทรอาหรับ

        นครสำคัญในแคว้นอัลฮิญาซฺ

        1. นครมักกะห์ (مَكَّةُالْمُكَرَّمَةُ) ณ นครแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอาคารอัลกะอฺบะห์ (บัยติลลาฮิลฮะรอม) และสถานที่อันทรงเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาอัซซ่อฟา , ภูเขาอัลมัรวะห์ , ทุ่งอารอฟะห์ ,ทุ่งมินา , ทุ่งอัลมุซฺดะลิฟะห์ , บ่อน้ำซัมซัม เผ่าอาหรับที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของนครมักกะห์ คือ เผ่ากุรอยซ์

        2. นครม่าดีนะห์ (اَلْمَدِيْنَةُاْلمُنَوَّرَةُ) ณ นครแห่งนี้มีหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) สุสานอัลบะกีอฺ (اَلْبَقِيْعُ) ซึ่งบรรดาสาวกและวงศ์ญาติของท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นจำนวนมากถูกฝังร่างอยู่ ณ สุสานแห่งนี้ ทางตอนเหนือของนครม่าดีนะห์มีภูเขาอุฮุด (اُحُدُ) ตั้งอยู่ ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญในนครม่าดีนะห์มีเผ่าอัลเอาซฺและอัลคอซฺรอจญ์ตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งแต่เดิมทั้งสองเผ่านี้มีรกรากจากชาวอาหรับในเผ่าอัลยะมัน ในนครม่าดีนะห์มีบ่อน้ำธรรมชาติและสวนอินทผลัมเป็นอันมาก

        3. นครอัตตออิฟ (اَلطَّا ئِفُ) เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในแคว้นอัลฮิญาซฺ มีการเพาะปลูกองุ่น , มะเดื่อ , มะกอก และทับทิม

        4. เมืองญิดดะห์ (جِدَّة) เป็นเมืองท่าที่สำคัญบนชายฝั่งทะเลแดง

 


ที่มา

  • อัลอะดับ วันนุซูซ ฟิล อัลญาฮิลีย์ ว่า ซอดริลอิสลาม (วรรณคดีและบทวรรณกรรมในสองยุค : อัลญาฮิลีย์ (ยุดก่อนอิสลาม) และยุคต้น
  • อิสลาม ดร.มุฮัมมัด มุฮัมมัด ค่อลีฟะห์ คศ.1978
  • อัลมุรชิด อัลญะดีดฯ
  • อัลทุนญิด ฟิล ลุเฆาะห์ วัล อะอฺลาม