บรรดาเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดวันศุกร์

การละหมาดวันศุกร์จะใช้ไม่ได้นอกเสียจากต้องมีเงื่อนไขครบ 4 ประการดังต่อไปนี้

1) การละหมาดวันศุกร์จะต้องถูกกระทำในเขตของกลุ่มอาคารบ้านเรือนที่อยู่รวมกันโดยมีกลุ่มคนที่เป็นอะฮฺลุลญุมอะฮฺตั้งหลักแหล่งอยู่ทั้งในฤดูหนาวหรือฤดูร้อน ทั้งนี้ไม่ว่ากลุ่มอาคารบ้านเรือนที่อยู่รวมกันนี้จะเป็นอาคารที่ถูกก่อสร้างจากวัสดุก่อสร้างใดๆก็ตาม  และไม่ว่าเขตที่ตั้งของกลุ่มอาคารบ้านเรือนที่อยู่รวมตัวกันจะเป็นตัวเมืองที่มีผู้พิพากษาทางศาสนา (กอฎียฺ) และผู้ปกครอง (หากิม) ตลอดจนมีตลาดร้านรวงเพื่อการซื้อขายหรือเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตามตราบใดที่ชุมชนนั้นมีอะฮฺลุลญุมอะฮฺจำนวน 40 คนขึ้นไป (กิตาบ อัล-มัจย์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 367 , อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 202)

 

และการทำละหมาดวันศุกร์ภายในอาคารมัสญิดนั้นไม่ถือเป็นเงื่อนไข แต่อนุญาตให้กระทำละหมาดวันศุกร์ในสถานที่เปิดโล่งได้โดยมีเงื่อนไขว่าสถานที่นั้นต้องอยู่ภายในเขตของชุมชนหรือตัวเมืองซึ่งสถานที่นั้นถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากเขตของชุมชนหรือตัวเมืองนั้นๆ หากมีการทำละหมาดวันศุกร์ภายนอกเขตตัวเมืองหรือชุมชนก็ถือว่าการทำละหมาดวันศุกร์นั้นใช้ไม่ได้ ไม่ว่าสถานที่นั้นจะตั้งอยู่ใกล้หรือไกลจากตัวเมืองหรือชุมชนก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ 4/368)

 

2) การละหมาดวันศุกร์จะใช้ไม่ได้นอกจากด้วยจำนวนคน 40 คนที่เป็นชาย บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ เป็นเสรีชนและเป็นผู้ที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยถาวร (มุสเตาฏิน) ในชุมชนหรือตัวเมืองซึ่งมีการทำละหมาดวันศุกร์ในที่แห่งนั้นโดยบุคคลจำนวนดังกล่าวไม่ได้เดินทางเคลื่อนย้ายออกจากที่นั่นในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูร้อนยกเว้นการเดินทางที่จำเป็น ฉะนั้นหากพวกเขาเคลื่อนย้ายออกจากที่นั่นในฤดูหนาวและอยู่พักอาศัยในฤดูร้อนหรือกลับกัน พวกเขาก็ไม่ถือเป็นผู้ตั้งหลักแหล่งถาวร (มุสเตาฏิน) และการละหมาดวันศุกร์ก็ใช้ไม่ได้ด้วยกลุ่มบุคคลดังกล่าวโดยการเห็นพ้องในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

และจำนวนของอะฮฺลุลญุมอะฮฺ 40 คนนั้นหมายถึง มะอฺมูมจำนวน 39 คนรวมอิมามอีก 1 คนเป็น 40 คน ส่วนประเด็นที่ระบุว่าอิมามเกินจากจำนวน 40 คน (กล่าวคือไม่นับอิมามเข้าไปในจำนวนดังกล่าว) เป็นประเด็นที่อ่อน (วัจญ์ฮุน เฎาะอีฟ)  (อ้างแล้ว 4/369)

 

อนึ่งการกำหนดเงื่อนไขว่าการละหมาดวันศุกร์จะใช้ได้เมื่อมีอะฮฺลุลญุมอะฮฺจำนวน 40 คนขึ้นไปนั้นเป็นทัศนะในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อุตบะฮฺ , อิมามอะหฺมัดและอิสหากกล่าวเอาไว้และเป็นริวายะฮฺหนึ่งจากท่าน อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ส่วนอีกริวายะฮฺหนึ่งจากท่านระบุว่าต้องมีจำนวน 50 คน ส่วนท่านเราะบีอะฮฺกล่าวว่า การละหมาดวันศุกร์มีผลใช้ได้ด้วยจำนวนคน 12 คน และอิมามอบูหะนีฟะฮฺ , อัษ-เษารียฺ , อัล-ลัยษฺ และมุฮัมมัดกล่าวว่า : ใช้ได้ด้วยจำนวนคน 4 คนรวมอิมามด้วย และอิบนุ อัล-มุนซิรเล่าทัศนะนี้จาก อัล-เอาวฺซาอียฺ , อบูเษาริน และอิบนุ อัล-มุนซิรก็เลือกทัศนะนี้

 

ส่วนอิมามมาลิกกล่าวว่า : จำนวนที่แน่นอนนั้นไม่ถูกถือเป็นเงื่อนไข แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นญะมาอะฮฺที่มีการพักอาศัยในชุมชนที่มีการซื้อขายระหว่างพวกเขา (คือมีตลาดในชุมชนนั้น) และจะไม่เกิดขึ้น (คือไม่ได้วันศุกร์) ด้วยจำนวนคนเพียง 3 หรือ 4 คน (อ้างแล้ว 4/371)

 

สำหรับหลักฐานของมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺและนักวิชาการที่เห็นด้วยว่าการมีจำนวนอะฮฺลุลญุมอะฮฺ 40 คนนั้นถือเป็นเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาดวันศุกร์ คือ อัล-หะดีษที่อัล-บัยฮะกียฺรายงานจาก อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ กะอ์บฺ อิบนิ มาลิก จากบิดาของเขาว่า : บุคคลแรกที่ทำการละหมาดวันศุกร์กับพวกเราในนครมะดีนะฮฺคือ อัสอัด อิบนุ ซุรอเราะฮฺก่อนหน้าการมาถึงนครมะดีนะฮฺของท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ณ เขตนะกีอฺ อัล-เคาะฎิมาตฺ (เป็นตำบลหนึ่งของตระกูล บัยยาเฎาะฮฺ ใกล้กับนครมะดีนะฮฺราว 1 ไมล์ (อาหรับ) จากบ้านเรือนของตระกูลสละมะฮฺ) ฉันกล่าวว่า : พวกท่านมีจำนวนเท่าใด? เขากล่าวว่า : “เป็นผู้ชาย 40 คน”  หะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะสันบันทึกโดย อบูดาวูด , อิบนุ มาญะฮฺ , อัล-บัยฮะกียฺและบุคคลอื่นๆด้วยบรรดาสายรายงานที่เศาะหิหฺ และอิบนุหิบบาน รายงานเอาไว้เช่นกันโดยท่าน อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรระบุว่าเป็นหะดีษหะสัน (อ้างแล้ว 4/371)

 

3) การละหมาดวันศุกร์จะต้องถูกกระทำในเวลาของการละหมาดซุฮฺริ ดังนั้นหากเวลาซุฮฺริไม่พอสำหรับการทำละหมาดวันศุกร์ ก็จำเป็นที่ผู้มาร่วมละหมาดต้องละหมาดนั้นเป็นละหมาดซุฮฺริ และหากพวกเขาเข้าสู่ในการละหมาดวันศุกร์ แล้วออกนอกเวลาซุฮฺริในสภาพที่พวกเขาอยู่ในละหมาดวันศุกร์ ก็ให้พวกเขาเปลี่ยนการละหมาดนั้นเป็นละหมาดซุฮฺริและทำให้ครบจำนวน 4 รอกอะฮฺ (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 203)

 

ทั้งนี้ตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺและสานุศิษย์ของท่านมีความสอดคล้องตรงกันว่า แท้จริงการละหมาดวันศุกร์จะใช้ไม่ได้นอกเสียจากในเวลาซุฮฺริ และอุมมะฮฺมีมติเห็นพ้องว่าการละหมาดวันศุกร์จะไม่ถูกชดใช้ (เกาะฎออฺ) ในรูปของการละหมาดที่เป็นละหมาดวันศุกร์แต่บุคคลที่พลาด (ไม่ทัน) การละหมาดวันศุกร์ก็ถือว่าการละหมาดซุฮฺริจำเป็นสำหรับผู้นั้น (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 377)

 

ในกรณีที่บรรดาผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์สงสัยในการออกนอกเวลาของการละหมาดวันศุกร์ หากปรากฏว่าพวกเขายังไม่ได้เข้าสู่การละหมาดวันศุกร์ ก็ไม่อนุญาตให้เข้าสู่การละหมาดวันศุกร์นั้นโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ เพราะเงื่อนไขของการละหมาดวันศุกร์คือ เวลาซึ่งในกรณีนี้ไม่แน่ชัดว่ายังคงอยู่ในเวลาจริงๆหรือไม่ จึงไม่อนุญาตให้เข้าสู่การละหมาดพร้อมกับมีข้อสงสัยในเงื่อนไขการเศาะหฺละหมาดวันศุกร์ แต่ถ้าหากพวกเขาเข้าสู่การละหมาดวันศุกร์ในช่วงเวลาของการละหมาดวันศุกร์แล้วต่อมาพวกเขาก็สงสัยก่อนการให้สล่ามว่าออกนอกเวลาแล้วหรือไม่ กรณีนี้มี 2 ประเด็น

 

ประเด็นที่ถูกต้อง (วัจญฮุน เศาะหิหฺ) ซึ่งปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ให้พวกเขาละหมาดให้เสร็จสมบูรณ์โดยเป็นละหมาดวันศุกร์  ประเด็นที่สอง ให้พวกเขาละหมาดให้เสร็จสมบูรณ์โดยเป็นละหมาดซุฮฺริ

 

ส่วนในกรณีเมื่อพวกเขาละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้วต่อมาพวกเขาก็สงสัยภายหลังละหมาดเสร็จว่ามีการออกนอกเวลาก่อนละหมาดวันศุกร์เสร็จสิ้นหรือไม่ กรณีนี้ถือว่าการละหมาดวันศุกร์ของพวกเขาใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งเพราะหลักเดิม (อัล-อัศล์) ถือว่าเวลานั้นยังคงเหลืออยู่ (อ้างแล้ว 4/377-378)

 

กรณีเมื่อพวกเขาเริ่มในการละหมาดวันศุกร์ในช่วงเวลาของการละหมาดวันศุกร์ ต่อมาก็ออกนอกเวลาก่อนการให้สล่ามจากการละหมาดวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ก็ผ่านพ้นไป (คือไม่ได้วันศุกร์) โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ สำหรับข้อชี้ขาดของการละหมาดนั้นมี 2 แนวทางในมัซฮับ ที่ถูกต้องที่สุดคือจำเป็นต้องทำละหมาดนั้นให้สมบูรณ์เป็นละหมาดซุฮฺริและถือว่าใช้ได้ แนวทางที่สอง เป็นสิ่งที่รู้กัน (มัชฺฮูร) สำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานมี 2 คำกล่าว คำกล่าวที่ถูกระบุเป็นตัวบท (อัล-มันศูศฺ) คือให้พวกเขาละหมาดเต็มโดยเป็นละหมาดซุฮฺริ

 

คำกล่าวที่สองเป็นคำกล่าวที่ถูกคัดออกไว้ (มุค็อรฺร็อจญ์) คือไม่อนุญาตให้ทำละหมาดเต็มเป็นละหมาดซุฮิริ ซึ่งตามคำกล่าวที่สองนี้ ให้เปลี่ยนเป็นละหมาดสุนนะฮฺตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดในสองคำกล่าว แต่ถ้าเรากล่าวตามมัซฮับที่ว่าให้ละหมาดเต็มเป็นละหมาดซุฮฺริก็ให้อิมามอ่านค่อยๆ นับแต่ขณะนั้นโดยไม่ต้องตั้งเจตนา (นียะฮฺ) การละหมาดซุฮฺริ เหมือนกับกรณีของผู้เดินทางเมื่อเขาตั้งเจตนาละหมาดย่อต่อมาก็จำเป็นที่เขาต้องละหมาดเต็มเนื่องด้วยเหตุของการพักอาศัย (อิกอมะฮฺ) หรืออื่นๆ ซึ่งนี่เป็นมัซฮับและปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ (อ้างแล้ว 4/378)

 

กรณีหากมะฮฺมูมที่เป็นมัสบู๊กมาทันหนึ่งรอกอะฮฺจากการละหมาดวันศุกร์พร้อมอิมามแล้วอิมามก็ให้สล่าม มะอฺมูมที่เป็นมัสบู๊กนั้นก็ลุกขึ้นไปทำรอกอะฮฺที่สองแล้วก็ออกนอกเวลาละหมาดวันศุกร์ก่อนการให้สล่ามของเขา กรณีนี้มี 2 ประเด็นที่รู้กัน

 

หนึ่ง ให้เขาผู้นั้นละหมาดให้จบ 2 รอกอะฮฺโดยเป็นละหมาดวันศุกร์ สอง ไม่อนุญาตให้เขาผู้นั้นทำละหมาดโดยสมบูรณ์เป็นละหมาดวันศุกร์ แต่ให้ทำละหมาดนั้นโดยสมบูรณ์เป็นละหมาดซุฮฺริ ซึ่งประเด็นที่สองนี้เป็นมัซฮับ และนักวิชาการทั่วไปในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวเอาไว้ (อ้างแล้ว 4/378 , 379)

 

หากอิมามและกลุ่มคณะบุคคลที่ร่วมละหมาดวันศุกร์ให้สล่ามครั้งที่หนึ่งในเวลาของการละหมาดวันศุกร์ และการให้สล่ามครั้งที่สองออกนอกเวลาละหมาดวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ของพวกเขาถือว่าใช้ได้ เพราะการละหมาดนั้นเสร็จสมบูรณ์ด้วยการให้สล่ามครั้งที่หนึ่ง แต่ถ้าหากอิมามให้สล่ามครั้งที่หนึ่งโดยออกนอกเวลาละหมาดวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ก็พลาดจากบุคคลทั้งหมด (คือไม่ได้วันศุกร์) และจำเป็นที่พวกเขาต้องละหมาดซุฮฺริชดใช้ (เกาะฎออฺละหมาดซุฮฺริ) และหากอิมามให้สล่ามครั้งที่หนึ่งพร้อมกับบางส่วนของผู้มาร่วมละหมาดวันศุกร์โดยอยู่ในเวลาของละหมาดวันศุกร์ และบางส่วนให้สล่ามครั้งที่หนึ่งโดยออกนอกเวลา กรณีนี้หากจำนวนผู้ให้สล่ามที่อยู่ในเวลามีจำนวนถึง 40 คน ถือว่าการละหมาดวันศุกร์ของพวกเขาใช้ได้ ส่วนคนที่ให้สล่ามครั้งที่หนึ่งนอกเวลานั้นถือว่าการละหมาดนั้นเป็นโมฆะ (อ้างแล้ว 4/379)

 

อนึ่งหากเวลานั้นคับขัน (เหลือน้อย) ก่อนหน้าที่พวกเขาจะเข้าสู่การละหมาดวันศุกร์ หากเป็นไปได้ที่พวกเขาแสดงคุฏบะฮฺ 2 คุฏบะฮฺและละหมาด 2 รอกอะฮฺโดยจำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่จำเป็นในการแสดงคุฏบะฮฺและละหมาด 2 รอกอะฮฺ ก็จำเป็นที่พวกเขาต้องกระทำสิ่งดังกล่าว หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ให้ละหมาดซุฮฺริได้เลยในขณะนั้นโดยไม่อนุญาตให้ล่าช้าจนกระทั่งออกนอกเวลาการละหมาดซุฮฺรินั้น (อ้างแล้ว 4/379)

 

ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺนั้นเวลาของการละหมาดวันศุกร์ก็คือเวลาของการละหมาดซุฮฺริและไม่อนุญาตให้กระทำก่อนเข้าเวลาซุฮฺริ และตามนี้อิมามมาลิก, อิมามอบูหะนีฟะฮฺ และปวงปราชญ์ทั้งจากชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ , อัต-ตาบิอีน และชนรุ่นหลังกล่าวเอาไว้ ส่วนอิมามอะหฺมัดกล่าวว่า : อนุญาตให้กระทำละหมาดวันศุกร์ก่อนหน้าดวงตะวันคล้อยได้ (อ้างแล้ว 4/379)

 

อนึ่งกรณีที่พลาดจากการละหมาดวันศุกร์เนื่องจากออกนอกเวลาละหมาดโดยที่บรรดาผู้ละหมาดยังคงอยู่ในละหมาดวันศุกร์ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺให้พวกเขาละหมาดให้สมบูรณ์เป็นละหมาดซุฮฺริ อิมามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า : การละหมาดนั้นเป็นโมฆะและให้พวกเขาเริ่มละหมาดซุฮฺริใหม่ ท่านอะฏออฺกล่าวว่า ให้พวกเขาทำละหมาดนั้นให้สมบูรณ์เป็นละหมาดวันศุกร์ ส่วนอิมามอะหฺมัดกล่าวว่า :หากละหมาดวันศุกร์ได้หนึ่งรอกอะฮฺแล้วก็ให้ละหมาดอย่างสมบูรณ์เป็นละหมาดวันศุกร์ แต่ถ้าละหมาดได้น้อยกว่านั้น (ยังไม่ถึง 1 รอกอะฮฺ) ก็ให้ละหมาดอย่างสมบูรณ์เป็นละหมาดซุฮฺริ (อ้างแล้ว 4/381)

 

4) การทำละหมาดวันศุกร์ในเขตเมืองเดียวนั้นจะต้องไม่มีมากกว่าหนึ่งสถานที่ ตราบใดที่สิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากแต่จำเป็นที่ผู้คนในเขตเมืองเดียวกันนั้นต้องรวมตัวกันทำละหมาดวันศุกร์ในสถานที่แห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้นหากมีจำนวนประชากรมาก และสถานที่แห่งเดียวนั้นคับแคบจนไม่สามารถรองรับผู้คนจำนวนมากนั้นก็อนุญาตให้มีการทำละหมาดวันศุกร์มากกว่าหนึ่งสถานที่ตามที่มีความจำเป็นเท่านั้น (อัล-ฟิกฮุลมันฮะญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 203)

 

อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.) และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า เงื่อนไขในการละหมาดวันศุกร์ (ที่ใช้ได้) นั้นคือจะต้องไม่มีการทำวันศุกร์อื่นเกิดขึ้นก่อนการละหมาดในเขตเมืองนั้น และจะต้องไม่มีการทำวันศุกร์ควบคู่พร้อมกับการละหมาดวันศุกร์นั้น อิมาม อัช-ชีรอซียฺ (ร.ฮ.) ระบุคำกล่าวของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า : จะต้องไม่มีการทำวันศุกร์ในเมืองหนึ่ง – ถึงแม้ว่าเมืองนั้นจะใหญ่โตและมีบรรดามัสญิดเป็นจำนวนมาก – นอกเสียจากภายในมัสญิดแห่งเดียว (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 451)

 

และนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า : และแท้จริงท่านอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้เข้าสู่นครแบกแดด โดยที่พลเมืองของแบกแดดจัดการละหมาดวันศุกร์ใน 2 สถานที่ บ้างก็ว่าใน 3 สถานที่ แล้วอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ก็มิได้ปฏิเสธต่อสิ่งดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺมีความเห็นต่างกันในการให้คำตอบเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว และในข้อชี้ขาดของนครแบกแดดในเรื่องการละหมาดวันศุกร์ (มากกว่า 1 สถานที่) นั้นมี 4 ประเด็นคือ

 

  1. การทำละหมาดวันศุกร์ที่เกินกว่าหนึ่งแห่งในนครแบกแดดนั้นเป็นที่อนุญาต เหตุที่อนุญาตเป็นเพราะว่านครแบกแดดเป็นเมืองใหญ่และการรวมตัวของผู้คนเพื่อละหมาดวันศุกร์ในสถานที่แห่งเดียวนั้นเป็นความลำบาก ตามประเด็นนี้นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : อนุญาตให้ทำละหมาดวันศุกร์มากกว่าหนึ่งแห่งในบรรดาเมืองทั้งหมดที่มีประชากรเป็นจำนวนมากในเมืองเหล่านั้น และการรวมตัวของพวกเขาเพื่อทำวันศุกร์ในสถานที่แห่งเดียวเป็นความยากลำบาก ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ถูกต้อง และอบุลอับบาส อิบนุ สุรอยฺจญ์ และอบูอิสหาก อัล-มัรวะซียฺกล่าวเอาไว้ และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺส่วนมากเลือกประเด็นนี้เอาไว้ทั้งที่ชัดเจนและพูดเป็นนัย

  2. อันที่จริงการละหมาดวันศุกร์ที่มากกว่าหนึ่งแห่งในนครแบกแดดเป็นที่อนุญาตเนื่องจากแม่น้ำของนครแบกแดดมาคั่นระหว่าง 2 ด้านของเมืองทำให้นครแบกแดดเป็นเหมือนเมือง 2 เมือง ประเด็นนี้ อบู อัฏ-ฏอยยิบ อิบนุ สละมะฮฺ เป็นผู้กล่าว

  3. การทำละหมาดวันศุกร์มากกว่าหนึ่งแห่งเป็นที่อนุญาต เพราะนครแบกแดดเคยเป็นเขตชุมชนหรือตำบลที่แยกจากกันในสมัยโบราณ ต่อมาอาคารบ้านเรือนก็ขยายจนติดต่อกัน จึงให้ดำเนินข้อชี้ขาดเดิมของนครแบบแดด ซึ่งถ้าถือตามประเด็นนี้ก็อนุญาตให้ทำละหมาดวันศุกร์หลายแห่งได้ภายในเมืองๆ เดียว

  4. ไม่อนุญาตให้ทำละหมาดวันศุกร์มากว่า 1 แห่งไม่ว่าจะเป็นในนครแบกแดดหรือในเมืองอื่นๆก็ตาม ประเด็นนี้เป็นไปตามนัยที่ปรากฏชัดจากตัวบทที่ อิมามอัช-ชาฟิอียฺระบุไว้ แต่อิมาม อัน-นะวาวียฺ(ร.ฮ.) กล่าวว่า ประเด็นที่ถูกต้องคือประเด็นแรกกล่าวคือ อนุญาตให้ทำละหมาดวันศุกร์ใน 2 สถานที่และมากกว่าโดยเป็นไปตามความจำเป็นและความยากลำบากในการรวมกันละหมาดวันศุกร์ในสถานที่แห่งเดียว (อ้างแล้ว 4/452-453)

 

ในกรณีที่เราถือตามประเด็นที่ห้ามมิให้ทำละหมาดวันศุกร์มากว่า 1 สถานที่ในเขตเมือง แล้วมีการจัดละหมาดวันศุกร์ 2 สถานที่ กรณีนี้มีหลายรูปด้วยกัน กล่าวคือ

 

หนึ่ง หนึ่งในสองแห่งกระทำละหมาดวันศุกร์ก่อน และอิมาม (ผู้นำสูงสุด) ไม่ปรากฏอยู่ในแห่งที่สอง การละหมาดวันศุกร์ในสถานที่แห่งแรกที่กระทำก่อนถือว่าใช้ได้ และแห่งที่สองถือเป็นโมฆะโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ และสิ่งที่ถูกพิจารณาว่ากระทำก่อนในเรื่องนี้มี 3 ประเด็นคือ พิจารณาด้วยการตักบีเราะตุลอิหฺรอมละหมาดวันศุกร์ , พิจารณาด้วยการเริ่มในการแสดงคุฏบะฮฺ และพิจารณาด้วยการให้สล่ามจากการละหมาดวันศุกร์ ประเด็นที่ถูกต้องโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺคือการพิจารณาด้วยการตักบีเราะอิหฺรอมละหมาดวันศุกร์ ในสถานที่ใดเริ่มตักบีรก่อน สถานที่แห่งนั้นก็ละหมาดวันศุกร์ใช้ได้ ถึงแม้ว่าในสถานที่แห่งที่สองจะให้สล่ามหรือคุฏบะฮฺก่อนก็ตาม

 

และถ้าหากทั้งสองสถานที่ตักบีเราะตุลอิหฺรอมพร้อมกันและหนึ่งในสองสถานที่ให้สล่ามหรือคุฏบะฮฺก่อน กรณีนี้การละหมาดวันศุกร์ในสถานที่ทั้งสองแห่งถือเป็นโมฆะ และการพิจารณาด้วยการตักบีเราะตุลอิหฺรอมนี้พิจารณาด้วยการเสร็จสิ้นจากการกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอม หากหนึ่งในสองสถานที่กล่าวนำหน้าก่อนด้วยอักษร ฮัมซะฮฺ ของการตักบีร และอีกสถานที่หนึ่งกล่าวนำหน้าถึงอักษร รออฺ จากการตักบีร การละหมาดวันศุกร์ที่ใช้ได้คือฝ่ายที่กล่าวอักษร รออฺ นั้นก่อนตามทัศนะที่ถูกต้อง (อ้างแล้ว 4/453)

 

กรณีที่อิมามสูงสุดหรือสุลฏอนอยู่ในการละหมาดวันศุกร์ของสถานที่แห่งที่สองซึ่งทำวันศุกร์ทีหลังสถานที่แห่งแรกที่ไม่มีอิมามสูงสุดหรือสุลฏอนอยู่ด้วย กรณีนี้มี 2 คำกล่าว ที่ถูกต้องที่สุดโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺคือ สถานที่ที่ทำวันศุกร์ก่อน (ด้วยการตักบีเราะตุลอิหฺรอมก่อน) ถือว่าได้วันศุกร์ (อ้างแล้ว 4/454)

 

สอง การละหมาดวันศุกร์ของ 2 สถานที่นั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน ถือว่าละหมาดวันศุกร์ของทั้งสองแห่งนั้นเป็นโมฆะ และจำเป็นต้องเริ่มทำวันศุกร์ใหม่หากว่ายังมีเวลาเหลือพอสำหรับการทำละหมาดวันศุกร์และการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ)

 

สาม กรณีที่ไม่รู้แน่ชัดว่าสถานที่ทั้งสองแห่งทำละหมาดวันศุกร์พร้อมกันหรือไม่ หรือไม่รู้ว่าสถานที่แห่งใดทำวันศุกร์ก่อน กรณีนี้จำเป็นต้องกลับไปทำวันศุกร์ใหม่เช่นกันและถือว่าได้วันศุกร์ อย่างไรก็ตามเพื่อความแน่นอนให้ทำละหมาดซุฮฺริภายหลังจากการทำละหมาดวันศุกร์ตามที่อิมาม อัล-หะเราะมัยนฺกล่าวแต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงแต่ส่งเสริมเท่านั้น (อ้างแล้ว 4/454)

 

สี่  รู้ว่าสถานที่แห่งหนึ่งทำวันศุกร์ก่อนโดยแน่ชัดต่อมาก็สับสน กรณีนี้แนวทางที่ถูกต้องจำเป็นที่พวกเขาต้องทำละหมาดซุฮฺริ (อ้างแล้ว 4/455)

 

อนึ่ง อิมามอัช-ชาฟิอียฺและสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า : ส่งเสริมในการที่จะไม่มีการทำละหมาดวันศุกร์นอกจากด้วยการยินยอมของสุลฏอนหรือผู้แทนของสุลฏอน ดังนั้นหากมีการทำละหมาดวันศุกร์โดยมิได้รับการยินยอมจากสุลฏอนและโดยไม่มีสุลฏอนมาร่วมละหมาดด้วยก็เป็นที่อนุญาตและการละหมาดวันศุกร์นั้นถือว่าใช้ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าสุลฏอนจะอยู่ในเมืองนั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้เป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและเล่าจากอิมามมาลิก , อิมามอะหฺมัด , อิสหาก และอบูเษาริน ส่วนอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , อัล-เอาวฺซาอียฺ และอิมามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า การละหมาดวันศุกร์จะใช้ไม่ได้นอกจากกระทำการละหมาดข้างหลังสุลฏอนหรือผู้แทนสุลฏอนหรือด้วยการยินยอมของสุลฏอน (อ้างแล้ว 4/449-450)

 

 

ประเด็นเพิ่มเติม

1) ผู้ที่ถูกถือว่ามีอุปสรรค (มะอฺซูร) ในการละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ (เช่น คนป่วยหรือคนตาบอดที่ไม่มีผู้นำทาง เป็นต้น) มี 2 ประเภท คือ

 

  • ก. บุคคลที่คาดว่าอุปสรรคของผู้นั้นจะหมดไปและการละหมาดวันศุกร์จำเป็นเหนือผู้นั้น (ในกรณีที่หมดอุปสรรคนั้น) เช่น ทาส คนป่วย ผู้เดินทาง เป็นต้น บุคคลประเภทนี้ย่อมมีสิทธิในการละหมาดซุฮฺริก่อนการทำละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด (จะเริ่มขึ้น) แต่ที่ดีที่สุดแล้วให้ล่าช้าการละหมาดซุฮฺริออกไปจนกระทั่งสิ้นหวังจากการมาร่วมละหมาดวันศุกร์สำหรับผู้นั้นแล้ว  เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะสามารถมาร่วมละหมาดวันศุกร์ได้และการสิ้นหวังนั้นจะเกิดขึ้นด้วยการที่อิมามเงยศีรษะขึ้นจากการรุ่กัวะอฺของการละหมาดวันศุกร์รอกอะฮฺที่ 2 นี่เป็นทัศนะที่ถูกต้องและรู้กันในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

  • ข. บุคคลที่ไม่หวังว่าการมีอุปสรรคของเขาจะหมดไป เช่น ผู้หญิง และผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ในกรณีของบุคคลประเภทที่สองนี้ มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) คือ เป็นที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับพวกเขาให้รีบละหมาดซุฮฺริในตอนต้นเวลาซุฮฺรินั้นเลย ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความประเสริฐของการละหมาดในตอนต้นเวลา ประเด็นที่สอง ส่งเสริมให้ล่าช้าการละหมาดซุฮฺริจนกระทั่งเวลาละหมาดวันศุกร์นั้นผ่านพ้นไป เหมือนบุคคลประเภทที่หนึ่ง (อ้างแล้ว 4/360)

 

 

2) ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกถือว่ามีอุปสรรคในการทำละหมาดซุฮฺริของพวกเขาแบบญะมาอะฮฺ แต่อิมาม อัล-เฆาะซาลียฺและ อัร-รอฟิอียฺเล่าไว้ประเด็นหนึ่งว่า ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาทำการละหมาดซุฮฺริแบบญะมาอะฮฺ เพราะการละหมาดญะมาอะฮฺที่ถูกบัญญัติให้กระทำ ณ เวลานั้นคือละหมาดวันศุกร์ ซึ่งตามประเด็นนี้ อัล-หะสัน อิบนุ ศอลิหฺ , อิมามอบูหะนีฟะฮฺและ อัษ-เษารียฺ กล่าวเอาไว้

 

ส่วนตามมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์คือ ประเด็นแรกเหมือนอย่างกรณีที่หากว่าพวกเขามิได้อยู่ในเขตเมือง ดังนั้นการละหมาดซุฮฺริแบบญะมาอะฮฺของพวกเขาย่อมเป็นที่ถูกส่งเสริมโดย อิจญ์มาอฺ อย่างไรก็ตาม อิมามอัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.) กล่าวว่า ฉันชอบสำหรับพวกเขาให้ทำการละหมาดญะมาอะฮฺโดยไม่เปิดเผย เพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ถูกข้อครหาในเรื่องศาสนาและถูกกล่าวพาดพิงว่าละทิ้งการละหมาดวันศุกร์โดยใช่เหตุ

 

ทั้งนี้ในกรณีที่อุปสรรคของพวกเขาไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ถ้าหากเป็นที่ประจักษ์โดยเปิดเผยก็ไม่ส่งเสริมให้แอบทำละหมาดญะมาอะฮฺนั้น เพราะในขณะนั้นพวกเขาไม่ถูกครหาแต่อย่างใด นักวิชาการบางท่านในมัซอับ อัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า ส่งเสริมให้ทำละหมาดญะมาอะฮฺโดยไม่เปิดเผยอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อเป็นการปฏิบัติตามนัยของตัวบทที่อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.) ระบุเอาไว้และเพราะเป็นไปได้ว่าบางคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าผู้ที่ละหมาดซุฮฺริแบบญะมาอะฮฺแบบเปิดเผยนั้นมีอุปสรรคก็จะเป็นเหตุให้ถูกครหาได้ (อ้างแล้ว 4/361)

 

3) เมื่อผู้ที่ถูกถือว่ามีอุปสรรคทำการละหมาดซุฮฺริแล้ว ต่อมาอุปสรรคของผู้นั้นก็หมดไปและเขาก็สามารถมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิดได้ การละหมาดซุฮฺริของผู้นั้นก็ถือว่าใช้ได้ และไม่จำเป็นที่จะต้องทำละหมาดวันศุกร์อีกโดยการเห็นพ้องของนักวิชาการในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 4 หน้า 361) อย่างไรก็ตามในกรณีที่อุปสรรคหมดไปก็เป็นที่ส่งเสริมให้ผู้นั้นมาร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิด ถึงแม้ว่าเขาจะได้ละหมาดซุฮฺริไปแล้วก็ตาม เพราะการละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด

 

ดังนั้นหากผู้นั้นละหมาดซุฮฺริแล้วต่อมาเขาก็ละหมาดวันศุกร์ กรณีนี้มี 2 คำกล่าวในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ ที่ถูกต้องตามคำกล่าว อัล-ญะดีด ถือว่าฟัรฎูของผู้นั้นคือละหมาดซุฮฺริ และการละหมาดวันศุกร์ก็ตกเป็นสุนนะฮฺเพิ่มเติม (นาฟิละฮฺ) สำหรับผู้นั้น (อ้างแล้ว 4/362)

 

4) บุคคลที่จำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์ (คือผู้ที่ไม่ถูกถือว่ามีอุปสรรค) ไม่อนุญาตให้ผู้นั้นทำละหมาดซุฮฺริก่อนหน้าการละหมาดวันศุกร์จะผ่านพ้นไปโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้นั้นถูกตอบโต้ (มุคอฏอบ) ด้วยการละหมาดวันศุกร์ (หมายถึงผู้ที่ถูกสั่งใช้ให้ละหมาดวันศุกร์) ดังนั้นหากว่าผู้นั้นละหมาดซุฮฺริก่อนหน้าที่การละหมาดวันศุกร์จะผ่านพ้นไป กรณีนี้มี 2 คำกล่าวที่รู้กัน

 

คำกล่าวตามอัล-ญะดีด ถือว่าการละหมาดซุฮฺรินั้นเป็นโมฆะ ซึ่งนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺเห็นพ้องตรงกันว่าเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง และฟัรฎูการละหมาดวันศุกร์ก็ยังคงอยู่และจำเป็นที่ผู้นั้นต้องมาร่วมละหมาดวันศุกร์ แต่ถ้าไม่ทันก็จำเป็นที่จะต้องชดใช้ (เกาะฎออฺ) ด้วยการละหมาดซุฮฺริ (อ้างแล้ว 4/363)

 

อนึ่งในกรณีของบุคคลที่การละหมาดวันศุกร์จำเป็นเหนือเขาผู้นั้นแล้วเขาได้ละหมาดซุฮฺริก่อนหน้าการละหมาดวันศุกร์จะผ่านพ้นไป ตามมัซฮับ อัช-ชาฟิอีย์ถือว่าการละหมาดซุฮฺริของผู้นั้นใช้ไม่ได้ อัษ-เษารียฺ , อิมามมาลิก , ซุฟัรฺ , อิมามอะหฺมัด , อิสหากและดาวูดกล่าวตามนี้ ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺและสหายทั้งสองของท่านตลอดจน อบูเษาริน กล่าวว่า : การละหมาดซุฮฺริของผู้นั้นใช้ได้ แต่อิมามอบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า  :การละหมาดซุฮฺริของผู้นั้นจะเป็นโมฆะด้วยการเดินไปละหมาดวันศุกร์ ส่วนสหายทั้งสองของอิมามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า : จะไม่เป็นโมฆะนอกเสียจากด้วยการตักบีเราะตุลอิหฺรอมละหมาดวันศุกร์ (อ้างแล้ว 4/364)

 

5) ผู้ที่เดินทางในวันศุกร์นั้นมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

(5.1) หากเดินทางก่อนแสงอรุณจริงขึ้นของวันศุกร์ก็ให้ผู้นั้นละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในทุกกรณี

 

(5.2) หากเดินทางภายหลังตะวันคล้อยของวันศุกร์ก็ให้พิจารณาว่า หากว่าเขาจะละหมาดวันศุกร์ในเส้นทางโดยในเส้นทางนั้นมีสถานที่ที่ทำละหมาดวันศุกร์ และเขาก็รู้ว่าเขาจะทันการละหมาดวันศุกร์ ณ สถานที่แห่งนั้น ก็อนุญาตให้เขาเดินทางได้โดยเขาจำเป็นต้องละหมาดวันศุกร์ ณ สถานที่แห่งนั้น กรณีนี้ไม่มีข้อขัดแย้ง แต่ถ้าหากในระหว่างเส้นทางการเดินทางของเขาไม่มีสถานที่ที่เขาจะละหมาดวันศุกร์ หากว่าในการล่าช้าการเดินทางจะส่งผลกระทบต่อเขาผู้นั้นด้วยการพลาดจากคณะผู้ร่วมทางซึ่งจะออกเดินในขณะนั้นและการไปไม่ทันก็จะเป็นปัญหา ก็อนุญาตให้ผู้นั้นเดินทางได้ ตามมัซฮับและการชี้ขาดของปวงปราชญ์ในมัซฮับ (อ้างแล้ว 4/365)

 

(5.3) การที่ผู้นั้นเดินทางระหว่างเวลาตะวันคล้อยและการขึ้นของแสงอรุณจริงในวันศุกร์ กรณีที่เราถือว่าอนุญาตให้เดินทางภายหลังตะวันคล้อย (ตามรายละเอียดของข้อ 5.2) การเดินทางในกรณีนี้ก็สมควรยิ่งกว่า (ในการเป็นที่อนุญาต) หากไม่ถือตามนั้นก็มี 2 คำกล่าวที่รู้กันในมัซฮับ

 

คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-เกาวฺลัยนฺ) คือไม่อนุญาต ดังที่มีตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ(ร.ฮ.) ระบุไว้ในตำรา อัลญะดีดส่วนมากของท่าน

 

ส่วนคำกล่าวที่สอง คืออนุญาตตามตัวบทใน อัล-เกาะดีม ทั้งนี้ทั้ง 2 คำกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะของการเดินทางที่อนุญาต (สะฟัรฺ มุบาหฺ) ทั้ง 2 ปลายทาง เช่น การค้าขาย เป็นต้น ส่วนการเดินทางที่เป็นฏออะฮฺนั้นถือว่าอนุญาตเพียงคำกล่าวเดียวตามที่ อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ , อัล-บะเฆาะวียฺและท่านอื่นๆ จากบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺชาวเมืองคุรอสานชี้ขาดเอาไว้

 

อนึ่ง ในกรณีที่เราถือว่าไม่อนุญาตนั้น หากบุคคลเดินทางก็ไม่อนุญาตให้มีข้ออนุโลม (รุคเศาะฮฺ) สำหรับบุคคลผู้นั้นในการทิ้งการละหมาดวันศุกร์ตราบใดที่การละหมาดวันศุกร์นั้นยังไม่ผ่านพ้นไป (อ้างแล้ว  4/365)

 

การเดินทางในค่ำคืนของวันศุกร์ก่อนแสงอรุณจริงขึ้นเป็นที่อนุญาตในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺ และบรรดานักปราชญ์ทั้งหมด ส่วนการเดินทางในวันศุกร์หลังตะวันคล้อยเมื่อไม่เกรงว่าจะพลาดจากคณะผู้ร่วมเดินทางและไม่มีการละหมาดวันศุกร์ในระหว่างเส้นทางของการเดินทางนั้นไม่เป็นที่อนุญาตในมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺและอิมามมาลิก , อิมามอะหฺมัดและดาวูดกล่าวเอาไว้ตลอดจน อิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าเอาไว้จากท่าน อิบนุ อุมัร , ท่านหญิงอาอิชะฮฺ , อิบนุ อัล-มุสัยยิบและมุญาฮิด

 

ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ(ร.ฮ.) กล่าวว่า : อนุญาต และกรณีของการเดินทางระหว่างเวลาแสงอรุณและตะวันคล้อยของเช้าวันศุกร์นั้นตามคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับถือว่าไม่อนุญาตซึ่ง อิบนุ อุมัร(ร.ฎ.) , ท่านหญิงอาอิชะฮฺ(ร.ฎ.) และอิมามอัน-นะเคาะอียฺ(ร.ฮ.) กล่าวเอาไว้ ส่วนท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ(ร.ฎ.) , อัซ-ซุบัยรฺ  อิบนุ อัล-เอาวฺว๊าม(ร.ฎ.) ,อบูอุบัยดะฮฺ(ร.ฎ.) , อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , อิบนุสีรีน , อิมามมาลิก และอิบนุ อัล-มุนซิร กล่าวว่า เป็นที่อนุญาตให้เดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวได้  (อ้างแล้ว 4/365,366)