ที่มาของเดือนอาหรับ (ชื่อเดือน)

        ชาวอาหรับนับแต่สมัยโบราณได้อาศัยดวงจันทร์ในการกำหนดปฏิทินของตน (ด้วยการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดการเริ่มเดือนใหม่) ปฏิทินของชาวอาหรับจึงเป็นแบบจันทรคติ (Lunation) ในขณะที่ปฏิทินสากลที่นิยมกันเป็นแบบสุริยคติ (Calender)? จำนวนเดือนของชาวอาหรับมี 12 เดือน และกำหนดชื่อเดือนจากสภาพภูมิอากาศ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวอาหรับในยุคโบราณ ซึ่งมักจะสอดคล้องกับช่วงเวลาในการตั้งชื่อเดือนในจำนวนสิบสองเดือนนั้น

        มีอยู่สี่เดือนด้วยกันที่มีลักษณะพิเศษ เรียกขานกันว่าบรรดาเดือนต้องห้าม อันได้แก่ เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ , ซุ้ลฮิจยะห์ , อัลมุฮัรรอม เดือนทั้งสามนี้มีช่วงเวลาต่อเนื่องกัน และเดือนที่สี่คือ เดือนร่อญับ ซึ่งเว้นช่วงเป็นเอกเทศ ในช่วงเดือนทั้งสี่นี้ถือเป็นช่วงเวลาปลอดสงครามและการรุกรานในระหว่างชนชาติอาหรับด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่เป็นมรดกตกทอดในการจัดระเบียบสังคม นับจากยุคของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.ล.) และท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.ล.) และรายชื่อของแต่ละเดือนที่ชาวอาหรับเรียกขานในภาษาตน เรียงตามลำดับได้แก่

 

        1. เดือนอัลมุฮัรรอม (اَلْمُحَرَّمُ) ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ?เดือนที่ถูกต้องห้าม? สิ่งที่ถูกต้องห้ามในเดือนนี้ คือ การทำสงคราม ตลอดจนการละเมิดในชีวิตทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย การปล้นสะดมภ์ เป็นต้น เดือนนี้มีช่วงเวลาการติดต่อกับเดือนแห่งการประกอบพิธีฮัจญ์ (เดือนซุ้ลฮิจญะห์) ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีฮัจญ์ในเดือนซุ้ลฮิจญะห์แล้ว ชาวอาหรับจากทุกสารทิศที่มุ่งมาประกอบพิธีฮัจญ์ ก็จำต้องอาศัยช่วงเวลาในเดือนมุฮัรรอมเพื่อเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตนโดยได้รับความปลอดภัยจากการคุกคามในทุกรูปแบบตามเส้นทางขากลับ ทั้งนี้เดือนอัลมุฮัรรอมนับเป็นเดือนลำดับที่ 1 ของปฏิทินอาหรับ ? อิสลาม อยู่ระหว่างเดือนซุ้ลฮิจญะห์กับเดือนซอฟัร

 

        2. เดือนซอฟัร (صَفَر) เป็นเดือนลำดับที่สองของปฏิทินอาหรับทางจันทรคติ อยู่ระหว่างเดือนอัลมุฮัรรอมกับเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะมีรากศัพท์เดิมว่า “ว่างเปล่า” , “ปราศจาก” ทั้งนี้คำว่า อัซซอฟรุ่ , อัซซุฟรุ , อัซซิฟรุ มีความหมายว่า “ไม่มีสิ่งใดอยู่เลย” หรือ “ศูนย์” นั่นเอง บ้างก็แปลว่า “หิวโหย” หรือ “ความหิว”  ชาวอาหรับมักจะกล่าวว่า อัซซ่อฟารอนี่ (الصَّفَرَانِ) ซึ่งหมายถึงเดือนอัลมุฮัรรอมและเดือนซ่อฟัร บ้างก็กล่าวว่า ถ้าหากชาวนครมักกะห์เดินทางในช่วงเดือนนี้ นครมักกะห์ก็จะร้างผู้คนหรือแทบจะหาคนอาศัยในมักกะห์ไม่ได้เลย เพราะชาวมักกะห์โดยส่วนใหญ่จะออกเดินทางไปยังเขตปริมณฑลนอกนครมักกะห์ บ้างก็อธิบายว่าชาวอาหรับที่ถูกรุกรานและปล้นสะดมภ์ เรียกว่าริบทุกอย่างจนไม่มีเหลือ

 

        3. เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล (رَبِيْعُ الأَوَّل) เป็นเดือนลำดับที่สาม เหตุที่เรียกชื่อเช่นนี้เป็นไปได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับฤดูกาลแรกที่ต้นไม้ใบหญ้าผลิใบเต็มท้องทุ่งที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เพราะคำว่า ร่อบีอุนฺ (رَبِيْعٌ) มีรากศัพท์ที่หมายถึง อุดมสมบูรณ์ , เขียวชอุ่ม และชาวอาหรับซึ่งนิยมเลี้ยงอูฐและปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ มักจะนำเอาสัตว์ออกไปยังทุ่งหญ้าในช่วงเวลาของเดือนนี้ เมื่อสมัยโบราณที่มีการตั้งชื่อเดือน

 

        4. เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร (رَبِيْعُ الآخِر) หรือ ร่อบีอุซซานีย์ (رَبيْعُ الثَّانِيْ) เป็นเดือนอาหรับลำดับที่ 4 เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ ก็คงเป็นเพราะเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ อันอุดมสมบูรณ์ต่อเนื่องจากเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ซึ่งจะมีฝนตกชุกมากกว่าเดือนอื่นๆ

 

        5. เดือนญุมาดา อัลอูดา (جُمَادٰىالأُوْلى) เดือนลำดับที่ 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติในครั้งโบราณ เมื่อแรกตั้งชื่อเดือนนั้น ตรงกับช่วงเวลาที่สภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง กันดาร และร้อนจัด จนกระทั่งแหล่งน้ำที่ได้จากตาน้ำนั้นเหือดแห้ง ฝูงอูฐและปศุสัตว์ที่ให้น้ำนมนั้นก็จะมีอาการอืดอาด ยืดยาด เพราะขาดน้ำ น้ำนมที่ได้จากสัตว์ เช่นอูฐ เป็นต้น ก็พาลหายากไปด้วย เพราะสัตว์ไม่มีน้ำนม ฝนฟ้าก็ขาดช่วง

 

        6. เดือนญุมาดา อัลอาคิเราะห์ (جُمَادٰىالآخِرة) เป็นเดือนลำดับที่ 6 อยู่ระหว่างเดือนญุมาดา อัลอูลา และเดือนร่อญับ เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ก็คงเพราะยังอยู่ในช่วงฤดูร้อนจัดที่แห้งแล้ง และน้ำที่ใช้ดื่มกินและเลี้ยงปศุสัตว์หายากเต็มที เนื่องจากฝนขาดช่วงมาตั้งแต่เดือนก่อนหน้านี้ ตาน้ำก็แห้งขอดเหมือนตาที่ไร้น้ำตาจะไหลริน ว่ากันอย่างนั้น

 

        7. เดือนร่อญับ (رَجَب) เป็นเดือนลำดับที่ 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ อยู่ระหว่างเดือนญุมาดา อัลอาคิเราะห์ กับเดือนชะอ์บาน คำว่า ร่อญับ มีรากศัพท์ในภาษาอาหรับที่หมายถึง ละอาย , เกรงกลัว , ครั่นคร้าม ชาวอาหรับเรียกเดือนนี้ว่า ร่อญับ เพราะยกย่องและให้ความสำคัญต่อเดือนนี้เป็นอันมาก นับแต่ยุคอัลญาฮีลียะห์ (ยุคก่อนอิสลามอันเป็นยุคแห่งอวิชชา) และถือว่าเดือนนี้เป็นหนึ่งในสี่เดือนต้องห้ามที่แยกเป็นเอกเทศ เมื่อชาวอาหรับเรียกเดือนนี้ว่า อัรร่อญะบานี (اَلرَّجَبَانِ)

        เดือนร่อญับทั้งสอง ก็หมายถึง เดือนร่อญับกับเดือนชะอ์บานที่ถัดมา ในเดือนร่อญับนี้ ชาวอาหรับมักจะหาไม้หรือนั่งร้านมาค้ำยันต้นอินทผลัม เพราะลำต้นของมันจะอ่อนแอ และโยกคลอนเพราะขาดน้ำในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ชาวอาหรับมีสุภาษิตอยู่ประโยคหนึ่งว่า “อิช ร่อญ่าบัน ต้ารอ อะญะบัน  (عِشْ رَجَبًاتَرَعَجَبًا)” ซึ่งแปลได้ว่า “จงมีชีวิตอยู่ในช่วงเดือนร่อญับ ท่านก็จักประจักษ์ความแปลกประหลาดอันชวนพิศวง”  หรือในอีกสำนวนหนึ่งแบบขาโจ๋ว่า “อยู่ให้ถึงร่อญับ ก็จักได้เห็นดี (แบบคาดไม่ถึงทีเดียวเชียว)”

 

        8. เดือนชะอ์บาน (شَعْبَانُ) เดือนลำดับที่ 8 ตามปฏิทินจันทรคติ กล่าวกันว่าแรกเริ่มเดิมทีเมื่อตอนตั้งชื่อเดือนนั้น ชาวอาหรับจะพากันออกจากเผ่าเพื่อแยกย้ายกันออกค้นหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการดื่มกินและเลี้ยงสัตว์ หลังจากที่ต้องทนลำบากกับช่วงฤดูร้อนที่ขาดแคลนน้ำ และต้องระวังรักษาตัวให้ห่างไกลจากความผิดใดๆ อันจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนร่อญับซึ่งเป็นเดือนต้องห้าม คำว่า ชะอ์บาน มีรากศัพท์ในภาษาอาหรับซึ่งหมายถึง “การกระจาย” , แยกย้าย การส่งคนออกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง และการห่างไกลจากเพื่อนฝูง

 

        9. เดือนร่อมาฎอน (رَمَضَانُ) เดือนลำดับที่ 9 ตามปฏิทินจันทรคติของชาวอาหรับ อันเป็นเดือนสำคัญสำหรับชาวมุสลิมในการประกอบศาสนกิจประการที่ 4 จากมุขบัญญัติทั้ง 5 ประการ นั่นคือ การถือศีลอด (อัซซิยาม , อัเซาวมฺ) ชาวมุสลิมในบ้านเรา (สยามไงล่ะ) นิยมเรียกกันว่า “เดือนบวช” ซึ่งเป็นการเรียกแบบอนุโลมตามจารีตของภาษาที่ชาวมุสลิมบ้านเรารู้กัน มิได้หมายมุ่งจะเอาความหมายตามพจนานุกรมภาษาไทยแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะคำว่า บวช เป็นกริยา หมายถึง ถือเพศเป็นภิกษุสามเณรหรือนักพรตอื่นๆ ในคำสอนของอิสลามไม่มีเพศของภิกษุหรือนักพรตอย่างในศาสนาอื่น แต่คงอนุโลมใช้ตามนัยยะที่บ่งว่า บวช นั้นหมายความกว้างๆ ถึงการสำรวมในอินทรีย์ (กาย , วาจา , ใจ) งดรับประทานอาหาร และการร่วมประเวณีกับภรรยาของตน ตามช่วงกำหนดเวลาที่แน่นอน กล่าวคือนับแต่แสงอรุณจริงขึ้นเรื่อยไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าโดยมีเจตนาที่แน่นอน

 

        ซึ่งมองดูภาพในลักษณะที่ปรากฏจากการบวชของชาวมุสลิมในช่วงเดือนร่อมาฎอน แล้วก็เคร่งครัดไม่แพ้ผู้ถือเพศบรรพชิตทั้งหลาย เพียงแต่มุสลิมมิใช่บรรพชิตหรือนักบวชอย่างคนในศาสนาอื่นเท่านั้น สำหรับเหตุที่เรียกชื่อเดือนลำดับที่ 9 ตามปฏิทินของชาวอาหรับว่า “ร่อมาฎอน” นั้น กล่าวกันว่า เป็นเพราะเมื่อแรกตั้งชื่อเดือนนี้นั้นพอดีตรงกับช่วงเวลาที่อากาศของเมืองอาหรับร้อนจัดเป็นที่สุด (ร้อนหูฉี่) ทั้งนี้รากศัพท์ของคำว่า “ร่อมาฎอน” มีความหมาย “ร้อนจัด” (อัรร่อมัฎ – اَلرَّمَضُ) หรือ “ร้อนจนเกือบลุกเป็นไฟ” และดวงอาทิตย์ในช่วงเวลานั้นกระทำองศากับพื้นทรายในท้องทะเลทรายแบบจังๆ บ้างก็กล่าวว่ามีรากศัพท์มาจาก อัรรอมฎออฺ (اَلرَّمْضَاءُ) ซึ่งหมายถึงความรุนแรงของความร้อน (ร้อนจัดนั่นแหละ) บ้างก็บอกว่า เดือนนี้ซึ่งผู้คนทำการถือศีลอด และขะมักเขม้นประกอบคุณงามความดีจะเผาผลาญกิเลสและความชั่วทั้งปวง

 

        10. เดือนเชาว๊าล (شَوَّال) เดือนลำดับที่ 10 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ อยู่ระหว่างเดือนร่อมาฎอนกับเดือนซุ้ลเกาะดะห์ว่ากันว่าเหตุที่ชาวอาหรับตั้งชื่อเดือนนี้ว่า “เชาว๊าล” ก็เพราะอูฐตัวเมียจะยกหางของมันชี้เด่ในเดือนนี้ (อ่านแล้วอย่าคิดลึกจนเกินเหตุ หางที่ว่าเนี๊ยะ หางอูฐนะจ้ะ) ในภาษาอาหรับเรียกอูฐตัวเมียว่า อันนาเกาะห์ (اَلنَّاقَةُ) เพราะรูปทรงของนางอูฐนั้นสูงชะลูดและมักจะว่านอนสอนง่ายฝึกฝนให้เชื่องไม่ลำบากนัก ซึ่งผู้เขียนก็มิอาจทราบได้ว่าด้วยเพราะเหตุอันใด พอเวลาเข้าเดือน “เชาว๊าล” ทีไร คุณนางอูฐเธอถึงต้องกระดกหาง บางทีอาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้ประดาอูฐหนุ่มได้กระชุ่มกระชวยในเรื่องอย่างว่าก็เป็นได้ (ฮิ!ฮิ!)

 

        11. เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ (ذُوالقَعْد) หรือ ซุ้ลกิอฺดะห์ (ذُوْالقِعْدَةِ) เดือนลำดับที่ 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ อยู่ระหว่างเดือนเชาว๊าลกับเดือนซุ้ลฮิจญะห์ คำว่า อัลเกาะอ์ดะห์ (اَلقَعْدَةُ) ใส่สระ ฟัตฮะห์ที่อักษรก๊อฟ หมายถึง “นั่งหนึ่งครั้ง” หรือเสื่อที่ปูนั่ง ส่วนคำว่า อัลกิอฺดะห์ (اَلقِعْدَةُ) – ใส่สระกัซเราะห์ที่อักษรก๊อฟ  หมายถึง ขนาดพื้นที่ซึ่งผู้นั่งกินพื้นที่เวลานั่ง แต่ถ้าอ่านว่า อัลกุอดะห์ (اَلقُعْدَةُ) ใส่สระฎอมมะห์ที่อักษรก๊อฟ จะหมายถึงสัตว์พาหนะที่ผู้เลี้ยงใช้ขี่ทำธุระ

 

        เหตุที่เรียกเดือนนี้ว่า ซุ้ลเกาะอ์ดะห์ หรือ ซุลกิอฺดะห์ (เรียกได้ทั้งสองชื่อนั่นแหละ บ่ผิดดอก) ก็เพราะว่าชาวอาหรับจะนั่งจับเจ่า (คงจะหมายถึง ระงับ ละเลิก) จากเรื่องไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานเผ่าอื่น การพิพาท การปล้นสะดมภ์ ตลอดจนการออกเสาะแสวงหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ นับเป็นหนึ่งในสี่ของเดือนต้องห้าม (อัลอัชฮุรุ้ล ฮุรุม) และในช่วงเวลาการประกอบพิธีฮัจญ์ในเดือนถัดมา (ซุ้ลฮิจญะห์) ฉะนั้นจึงต้องมีช่วงเวลาที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสำหรับผู้ที่เดินทางสู่นครมักกะห์ตามเส้นทางสู่ประกอบการพิธี “ฮัจญ์”

 

        12. เดือนซุ้ลฮิจญะห์ (ذُوالحِْجَّةِ) เดือนสุดท้ายลำดับที่ 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับ อยู่ระหว่างเดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์กับเดือนมุฮัรรอม เหตุที่เรียกเดือนนี้ว่า ซุ้ลฮิจญะห์  (ذُوالحِْجَّةِ)  ก็เพราะว่าเป็นช่วงฤดูฮัจญ์ที่ชาวอาหรับจากทุกสารทิศจะเดินทางมุ่งสู่นครมักกะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ คำว่า อัลฮัจญ์ (اَلْحَجُّ) หมายถึง การเยี่ยมเยียน เช่น เยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญ ส่วนคำว่าอัลฮิจญะห์ (اَلْحِجَّةُ)  หมายถึง “ปี” เพราะการประกอบพิธีฮัจญ์ จะถูกกระทำตามศาสนบัญญัติในทุกๆ ปี ชาวอาหรับบางทีก็นับจำนวนปีโดยอาศัยการประกอบพิธีฮัจญ์ เช่น อาศัยอยู่ในนครมักกะห์ มา 3 ฮัจญ์แล้ว เป็นต้น


ที่มา
อัลมุนญิด ฟิล ลิเฆาะฮ์ วัลอะอ์ลาม ดารุ้ลมัชริก ปี ค.ศ. 1988

ตัฟซีร อายาต อัลอะห์กามฺ (ร่อวาอิอุ้ล บะยาน) มูฮัมมัด อะลี อัซซอบูนีย์
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525