เรื่องของล่อ (Mule) สัตว์พันทาง

        สัตว์พันทาง หมายถึง สัตว์ที่พ่อแม่ต่างพันธุ์กัน เดิมเรียกไก่ที่พ่อเป็นอู แม่เป็นแจ้ ว่า ไก่พันทาง ภายหลังเรียกเลยไปถึงสัตว์ที่พ่อแม่ต่างกันจนถึงสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกัน ?ในประดาสัตว์พันทางที่ว่านี้ก็คือ ล่อ (แต่เดิมเขียน ฬ่อ มาบัดนี้ใช้เป็นล่อ) เจ้า ً”ล่อ ที่เป็นสัตว์น่าฉงนตัวนี้ ถือเป็นสัตว์พันทางที่เกิดจากการผสมระหว่าง ลา กับ ม้า ใช้เป็นสัตว์ต่าง ชาวอาหรับเรียก ล่อ ว่า อัลบัฆลุ้ (اَلْبَغْلُ) เจ้าล่อจึงเป็นสัตว์สองเหล่า หรือจะเรียกว่า ผ่าเหล่าผ่ากอ ก็คงไม่ผิด

        บางทีพ่อของ ล่อ อาจเป็น ลา ได้แต่งงานกับ แม่ม้า อยู่กินกันฉันท์คู่ผัวตัวเมียแล้วก็ได้ลูกเป็นเจ้าล่อออกมาลืมตาดูโลก บางทีพ่อของเจ้าล่ออาจจะป็น ?ม้าหนุ่ม? วัยกำดัดมาเมียงมองหลงรักติดพันกับลาสาว แล้วเกิดได้ตกร่องปล่องชิ้นกัน เจ้าล่อน้อยก็ออกมาเดินสะระนองอย่างสบายใจเฉิบได้เหมือนกัน จากการที่ เจ้าล่อ มีพ่อแม่ต่างพันธุ์ระหว่าง ลา กับ “ม้า หรือ ม้า กับ ลา นี่เอง กระดูกส่วนหลังของมันจึงคล้ายกับ ลา และมีกระดูกส่วนขาและอื่นๆ เหมือน “ม้า

 

        และเสียงร้องของเจ้าล่อก็เป็นเสียงผสมเวอร์ชั่นใหม่ระหว่างเสียงร้องของม้า (อาหรับเรียก ซ่อฮิ้ล) และเสียงร้องของลา (อาหรับเรียก น่าฮีก) เสียงร้องของล่อจึงมีชื่อใหม่ว่า ชะฮีญะห์ แต่น่าเสียดายเจ้าล่อกลับกลายเป็นสัตว์หมันลูก คือเป็นหมันไม่มีลูกได้อีกต่อไป คุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นลาและม้าจึงไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าหลานตัวน้อยไว้เชยชม (แต่ถ้ามีก็คงไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อให้ว่าอะไร? อยู่ดีนั่นแหละ) แต่กระนั้นก็มีพงศาวดารระบุเอาไว้เหมือนกับดังที่ท่านอิบนุ บิตรีก ได้บันทึกว่า ในปีที่ 444 แห่งฮิจเราะห์ศักราชได้มีล่อตัวเมียนางหนึ่งในเมืองนาบุลุซ (เมืองนาบลิซในปาเลสไตน์) ให้กำเนิดลูกในแอ่งหินสีดำเป็นลูกล่อสีขาว ซึ่งอิบนุ บิตรีก กล่าวว่าเป็นเรื่องพิสดารพันลึกมาก (มันก็น่าจะเป็นเช่นนั้น บางทีอาจจะเป็นหนึ่งในล้านก็ได้)

 

        ผู้รู้บางท่านระบุว่า ถ้าหากพ่อของล่อเป็นลา ล่อที่เกิดมาจะคล้ายคลึงกับม้าเป็นอันมาก แต่ถ้าหากพ่อของล่อเป็นม้าก็จะคล้ายกับลาได้มากเช่นกัน และที่น่าพิศวงก็คืออวัยวะทุกส่วนของล่อ จะผสมผสานกันระหว่างอวัยวะของม้าและลา ตลอดจนนิสัยก็มิใช่แบบ ม้า ที่แสนฉลาด แต่ก็ไม่โง่เหมือน ลา” ไปเสียเลย ว่ากันว่าบุคคลแรกที่นำสัตว์สองพันธุ์มาผสมกันจนเกิดเป็นล่อ คือ กอรูน (อภิมหาเศรษฐี หรือ พญาคหบดีในสมัยฟาโรฮ์ รามิเซส ซึ่งร่วมสมัยกับท่านศาสดามูซา (อ.ล.) กอรูนเป็นชาวอิสราเอลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานความมั่งคั่งให้แต่ด้วยทรัพย์สินอันมหาศาลกอรูนก็ลืมตนและกลายเป็นคนเนรคุณและตั้งตนเป็นปรปักษ์กับท่านศาสดามูซา อ.ล. และจบชีวิตอันบัดซบด้วยการถูกธรณีสูบ)

 

        แต่กระนั้นเจ้าล่อ สัตว์น่าทึ่งชนิดนี้ก็มีความอึดและอดทนเยี่ยงลา และมีพลังแข็งแรงไม่น้อยหน้าม้าเช่นกัน ชาวอาหรับตั้งชื่อเล่นเจ้าล่อเอาไว้หลายชื่อทีเดียวเป็นต้นว่า อบุลอัชญะอฺ (พ่อห้าวหาญจอมทแกล้วกล้า) อบุล ฮะรูน (พ่อจอมเงียบนิ่งไม่มีเถียง) อบุซ ซุกอรฺ (จอมโกหก) อบุล กุฎออะห์ (พ่อผงฝุ่น) อบุล กอมูซ (พ่อสิงห์คะนองนาหรือพ่อหลุกหลิกจอมลุกลน) เป็นต้น เจ้าล่อมักเป็นสัตว์นิสัยเสีย มีอารมณ์แปรปรวน สามวันดีสี่วันร้าย แต่เจ้าล่อก็ได้ชื่อว่ามีความจำเป็นเยี่ยม เดินลากสัมภาระให้เจ้านายในเส้นทางหนึ่งเพียงครั้งเดียวก็จำได้ขึ้นใจไม่ต้องบอกซ้ำซาก นอกจากนี้เจ้าล่อยังถูกใช้เป็นสัตว์พาหนะร่วมขบวนเสด็จของเหล่ากษัตริย์ในการประพาส บรรดาแม่เสือสาวของเหล่าโจรสลัด (ทะเลทราย) ก็นิยมใช้ล่อขี่ไปทำธุระส่วนตัวอยู่เนืองๆ

 

        เจ้าล่อมีความอึดเป็นยอดในการบรรทุกสัมภาระที่มีน้ำหนักมาก และเดินทางในระยะทางไกลๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ชาวอาหรับจึงพร้อมใจกันขนานนามแก่เจ้าล่อว่า : ราชรถหรือพาหนะของตุลาการ, ประมุขผู้ทรงธรรม, บัณฑิต, ผู้ดีแปดสาแหรกและชายฉกรรจ์ เหมาะทั้งชายและไม่ใช่ชาย?

 

        บรรดาบุคคลสำคัญที่นิยมใช้บริการของ ?ล่อ? นั้น ก็มีอยู่หลายท่าน เช่น ท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (รฎ.) ซึ่งเป็นถึงเจ้าเมืองอียิปต์ ท่านอะลี ซัยนุ้ลอาบีดีน อิบนุ อัลฮุซัยน์ อิบนิ อะลี อิบนี อบีตอลิบ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ในส่วนของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) เองนั้นท่านก็มีล่อ ชื่อ ดุลดุล” เป็นสัตว์พาหนะซึ่งมีอายุยืนยาวจนถึงสมัยค่อลีฟะห์มุอาวียะห์ อิบนุ อบีซุฟยาน ปฐมราชวงศ์อุมาวียะห์ ท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) มีล่อเพศผู้ถึง 5 ตัวด้วยกัน

        เรื่องราวของ ล่อ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเมืองเรา เพราะลำพังแค่ลาก็หาทำยาสักตัวก็ยากเต็มที ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีอยู่ในสวนสัตว์ของไทยหรือไม่ ใครรู้ก็ช่วยบอกทีแต่คงไม่มีรางวัลสมนาคุณให้แต่อย่างใด (ฮิๆ)



 

ที่มา

– พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
– อัลมุนญิด ฟิล ลุเฆาะห์ วัล อะอ์ลาม
– ฮะยาตุ้ล ฮะยาวาน อัลกุบรออฺ ซัยด์ ก่ามาลุดดีน อัดดุมัยรีย์ เล่มที่
1
– ดารุ้ลฟิกริ เบรุต เลบานอน