สถานพยาบาลในอาณาจักรอิสลาม

        เหตุที่ศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ การเยียวยารักษาอาการป่วยไข้ ตลอดจนความเป็นปกติสุขของมนุษย์ในการดำรงชีวิตในดินแดนของชาวมุสลิมเมื่อครั้งอดีต จึงมีสถานพยาบาลปรากฏอยู่เป็นอันมาก โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ หรือราชธานีของรัฐมุสลิมอิสระ ซึ่งบรรดาผู้ปกครองได้สร้างสถานพยาบาลขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยและคนไข้โดยทั่วไป พร้อมทั้งอุปกรณ์และส่งเสริมกิจการของสถานพยาบาลด้วยคณะแพทย์ผู้ชำนาญการ ตลอดจนหยูกยาและอุปกรณ์การแพทย์ซึ่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้น (ยุคกลาง)

        ชาวมุสลิมในยุคกลาง เรียกสถานพยาบาลว่า “บีมาริสตาน” หรือ “อัลมาริสตาน” ซึ่งเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง สถานที่ซึ่งเตรียมพร้อมสำหรับรักษาผู้ป่วยและการพักฟื้นตรงกับคำในภาษาอาหรับว่า อัล-มุสตัชฺฟา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในนครดามัสกัส (ซีเรีย) โดยค่อลีฟะห์ อับดุลมาลิก อิบนุ มัรวาน แห่งราชวงศ์อุมาวียะห์ ราวปี ฮ.ศ.88  (คศ.707) ต่อมาภายหลังการสร้างสถานพยาบาลก็เป็นที่นิยมแพร่หลายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกอิสลาม และเจิรญถึงขีดสุดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14-15 (ศตวรรษที่ 8-9 แห่งฮิจเราะห์ศักราช) ในนครแบกแดด , ดามัสกัส , ชีราช และอิสฟาฮานฺเป็นต้น ล้วนแต่มีสถานพยาบาลที่ทันสมัยในยุคกลาง นอกเหนือจากอาคารสถานพยาบาลที่ยังถือเป็นแหล่งรวมความงดงามทางสถาปัตยกรรมอิสลามอีกด้วย

 

        กล่าวกันว่า สถานพยาบาล (อัล-บีมาริสตาน) แห่งแรกในอียิปต์ก็ถูกสร้างขึ้นโดยบัญชาของอะห์หมัด อิบนุ ตูลูน ในนครอัลก่อตออิอฺ ราชธานีและศูนย์กลางการปกครองของอะห์หมัด อิบนุ ตูลูน ในปี ฮ.ศ.259 (คศ.873) ส่วนหนึ่งจากกฏระเบียบการใช้บริการ สถานพยาบาลแห่งนี้ก็คือ เมื่อคนไข้เข้าสู่สถานพยาบาลก็จะต้องถอดเสื้อผ้าและทรัพย์สินมีค่าติดตัวมาด้วยมอบฝากไว้กับเจ้าพนักงานฝ่ายของสถานพยาบาล แล้วเปลี่ยนชุดแบบฟอร์มของคนไข้ที่จัดเตรียมไว้ให้ คนไข้จะมีเตียงเฉพาะของตน และจะได้รับการรักษาจนกระทั่งหายป่วย การที่จะได้รู้ว่าคนไข้หายป่วยแล้วนั้นก็พิจารณาจากอาหารที่ให้คนไข้รับประทาน ซึ่งมักจะเป็นซุปลูกนกกับขนมปังแผ่น

        เมื่อคนไข้ที่ได้รับการรักษามาช่วงระยะเวลาหนึ่ง สามารถรับประทานอาหารมื้อนี้ได้โดยไม่มีอาการผิดสำแดงหรือไม่มีปฏิกิริยา “แอนตี้ บอดี้” เช่น อาเจียน , ปวดท้อง ฯลฯ ก็แสดงว่าอาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือหายเป็นปกติแล้ว เจ้าพนักงานของสถานพยาบาลก็จะนำเอาเสื้อผ้าและทรัพย์สินติดตัวของผู้ป่วยที่รับฝากไว้มาคืนให้ และอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ส่วนกรณีหากว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงขณะได้รับการรักษา ทางสถานพยาบาลก็จะจัดการศพให้โดยเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดอีกด้วย

 

        สถานพยาบาล (อัลบีมาริสตาน) “อัลมันซูรีย์” ซึ่งสร้างโดยซุลตอน อัลมันซูร ก่อลาวูน แห่งราชวงศ์มัมลูกียะห์ ในกรุงไคโร ราวปีฮ.ศ.689 (คศ.1290) นั้น นอกจากเป็นสถานพยาบาลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุคกลางแล้ว ยังนับเป็นผลงานชิ้นเอกทางสถาปัตยกรรมอิสลามอีกด้วย

       อิบนุ บัตตูเตาะห์ นักเดินทางชาวมอรอคโค ได้บันทึกเกี่ยวกับสถานพยาบาลแห่งนี้ว่า “มีความงดงามสุดที่จะบรรยายได้” ส่วนอัลบัลวีย์ นักเดินทางชาวมอรอคโคอีกรายหนึ่ง บันทึกว่า “สถานพยาบาล อัลมันซูรีย์ มีสถาปัตยกรรมและรูปทรงเหมือนปราสาทขนาดใหญ่ อลังการในด้านความใหญ่โต โอ่งโถงและงดงามยิ่งนัก ไม่เคยพบเคยเจอในบ้านอื่นเมืองอื่นมาก่อนเลย”

        มีข้อความระบุในราชกิจจานุเบกษา ประกาศการอุทิศสถานพยาบาลแห่งนี้เพื่อศาสนสมบัติของซุลตอน กอลาวูน ว่า “พระองค์ทรงมีดำริในสถานพยาบาลแห่งนี้เพื่อให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วยอิสลามมิกชนทั้งชายและหญิง ทั้งคหบดีและผู้ขัดสน ในกรุงไคโรและเขตปริมณฑล ทั้งผู้มีนิวาสถานในเขตทั้งสองตลอดจนผู้ที่เดินทางมายังกรุงไคโร โดยไม่แยกเชื้อชาติและชนิดของโรค…..ฯลฯ”

 

        เมื่อผู้ป่วยรับการรักษาจนหายดี ทางสถานพยาบาลก็จะอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาลได้โดยมีของกำนัลให้ ตลอดจนเครื่องนุ่งห่มเอาไว้ใช้สอยอีกด้วย ทางสถานพยาบาลยังมีบริการนอกสถานที่แก่ผู้ป่วยที่อยู่ตามเคหะสถานในเรื่องหยูกยาอีกด้วย ซึ่งในบางครั้งมีมากกว่า 200 ราย นอกจากนี้ยังมีบริการแก่ผู้ป่วยนอกที่ต้องการตรวจโรค และจ่ายยาให้เพื่อใช้กินที่บ้าน ซึ่งเราเรียกว่า “คลีนิคผู้ป่วยนอก” ในปัจจุบัน อัลบัลวีย์ได้บันทึกว่ามีผู้ใช้บริการสถานพยาบาลแห่งนี้เป็นจำนวนหลายพันคน

        สถานพยาบาล “อัลมันซูรีย์” ยังแยกแผนกออกเป็น 2 ส่วน แผนกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยชาย และอีกแผนกหนึ่งให้บริการแก่ผู้ป่วยสตรี แต่ละแผนกจะแบ่งออกเป็นห้องโถงต่างๆ (อัลกออ๊าต) เช่น ห้องโถงสำหรับโรคภายใน ห้องโถงสำหรับผ่าตัด ห้องโถงสำหรับโรคตา และห้องโถงสำหรับการเข้าเฝือก ห้องโถงสำหรับโรคภายในนั้นยังแบ่งซอยออกเป็นแผนกต่างๆ เช่นแผนกผู้ป่วยทั่วไป แผนกเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น

        ผู้ป่วยแต่ละแผนกจะมีเตียงนอนเฉพาะ , ตู้เสื้อผ้า , หมอน , ผ้าห่ม , ผ้าปูเตียง และจะมีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะโรคคอยรักษาคนไข้ มีเภสัชกรคอยปรุงยาตามใบสั่งยา พนักงานปูเตียง พนักงานซักล้างเสื้อผ้าผู้ป่วย และมีห้องครัวขนาดใหญ่สำหรับเตรียมอาหารให้กับผู้ป่วย ภาชนะใส่อาหารจะถูกปิดอย่างดีเพื่อกันการปนเปื้อน และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีภาชนะใช้สอยเฉพาะไม่ใช้ปะปนกัน

        สำหรับผู้ป่วยรายใดที่เสียชีวิต ทางสถานพยาบาลจะจัดการอาบน้ำศพ ห่อผ้าศพ (ก่าฟั่น) โดยจะจ่ายค่าทำศพให้ ตลอดจนค่าจ้างคนอาบน้ำศพ คนขุดสุสาน และจะจัดทำพิธีทางศาสนาให้อย่างครบถ้วน

 

        ในส่วนของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสมอง (คนบ้า , วิกลจริต) ก็ได้รับการดูแลเช่นกัน ใน “อัลอักดุ้ลฟ่ารีด” และ “ญิฆรอฟียะห์” ของอัลยะอฺกูบีย์ ระบุว่ามีโรงพยาบาลสำหรับคนบ้าและผู้ป่วยทางสมองตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหานครแบกแดด บริเวณเขตดีร ฮิรอกลฺเก่าในสถานพยาบาลของอะห์หมัด อิบนุ ตูลูน ที่นครอัลก่อตออิอฺ ก็มีแผนกเฉพาะสำหรับผู้ป่วยประเภทนี้เช่นกัน ท่านอิบนุ ณุบัยรฺ นักท่องโลกระบุว่า สถานพยาบาลในกรุงดามัสกัสก็มีแผนกเฉพาะสำหรับรักษาผู้ป่วยทางสมอง ในส่วนของสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ในกรุงไคโรนั้น จะมีสวนพฤกษชาติสำหรับผู้ป่วยทางสมอง ให้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังและผ่อนคลาย โดยมีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านให้ผู้ป่วยฟังอีกด้วย

 


ที่มา

– อารยธรรมอิสลาม (ฮ่าฎอร่อตุ้ลอิสลาม)
– ดร.สะอีด อับดุลฟัตตาฮฺ อาซูร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร  คศ.1998