คำ “มลายู-ชวา” ในพจนานุกรมภาษาไทย

اللحمد لله وكفى والصلاة والسلام على عبده المصطفى وبعد

หากเรา (หมายถึงคนไทย) เคยซื้อหาพจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานมาไว้ในครอบครอง เพื่อใช้สอยเป็นคู่มือในการค้นหาคำศัพท์และความหมายของคำศัพท์ที่เราติดขัดในการแปลและเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้น พวกเราหลายคนคงจะสังเกตได้ว่า คำศัพท์ในภาษาไทยหลายคำมีรากศัพท์มาจากคำในภาษาอื่น เช่น เขมร , ตะเลง , จีน , ละตินอังกฤษ , ปาลิ (บาลี) และสันสกฤต เป็นต้น

 

เฉพาะอย่างยิ่งภาษาบาลีสันสกฤตนั้นมีปรากฏอยู่มากในศัพท์แสงของไทยและมักจะมีข้อขัดข้องอยู่เนืองๆ ในการเข้าใจความหมายในภาษาไทยสำหรับคำบาลีและสันสกฤตซึ่งคนไทยโดยส่วนใหญ่นิยมตั้งชื่อของตนและลูกหลานตลอดจนนามสกุลเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤตอย่างเป็นทางการ เช่น ชื่อและนามสกุลตามบัตรประจำตัวประชาชน ในส่วนของพุทธศาสนิกชนนั้นก็ข้องแวะเป็นธรรมดาสามัญกับภาษาบาลีสันสกฤต เนื่องด้วยเป็นภาษาที่เกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับพุทธศาสนาที่ตนเคารพนับถือและต้องใช้ในเรื่องศาสนกิจ เช่น การสวดมนต์ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราได้กลับไปเปิดพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเราก็จะพบว่า มีคำศัพท์ในภาษาไทยทั้งที่เป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน และภาษาวรรณกรรม มีรากศัพท์มาจากคำมลายู-ชวาอยู่เป็นจำนวนมิใช่น้อย โดยพจนานุกรมจะระบุอักษรย่อในวงเล็บท้ายบทนิยาม บอกที่มาของคำเอาไว้ว่า (ม.) = มลายู  (ช.) = ชวา หรือญาวีนั่นเอง แต่ถ้าผู้อ่านหรือผู้ใช้พจนานุกรมไม่ใส่ใจที่มาของคำที่ตนมุ่งค้นหาความหมายหรือบทนิยามในภาษาไทย ไม่สังเกตดูให้ดีอาจจะไม่รู้หรือนึกไม่ถึงว่าคำๆ นั้น มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู-ชวา


หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือที่คำศัพท์ในภาษาไทยที่ใช้กันมีรากศัพท์ที่หยิบยืมจากคำในภาษามลายู-ชวา คำตอบก็คือ เป็นไปได้! ก็อาจจะตั้งคำถามต่อไปว่า เป็นไปได้อย่างไร? คำตอบก็คือ มีหลายสาเหตุที่เดียวเชียวซึ่งสามารถนำมาอธิบายได้ในเรื่องนี้

 

ประการที่ 1 เพราะชนชาติมลายู-ชวาเป็นชนชาติโบราณที่มีถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแหลามมลายู และหมู่เกาะสุมาตรา-ชวามาก่อนคนไทยจะตั้งอาณาจักรในสุวรรณภูมิแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และชนชาติมลายู-ชวาก็ชำนาญการเดินเรืออยู่ในน่านน้ำแถบนี้มาก่อน แม้เมื่อเผ่าไทยหรือพวกเสียมสร้างอาณาจักรของพวกตนในภายหลังก็อาศัยชนชาติมลายู-ชวาเป็นนายเรือ ชนชาติที่เข้ามารายหลังเมื่อสมทบกับชนพื้นเมืองเดิมคือพวกมลายูก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนและรับเอาภาษาตลอดจนวัฒนธรรมบางอย่างจากชนพื้นเมืองเดิมที่อยู่มาก่อนเป็นธรรมดาไม่มากก็น้อย

 

ประการที่ 2 วัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาทั้งพราหมณ์-พุทธที่มีชาวอินเดียแผ่อิทธิพลเข้าในแหลมมลายูและหมู่เกาะสุมาตรา-ชวามีปรากฏอย่างชัดเจนในยุคอาณาจักรศรีวิชัย ทั้งที่ลังกาสุกะและตามพรหมลิงค์ (นครศรีธรรมราช) แผ่อิทธิพลขึ้นมาถึงแคว้นไชยา และส่งผ่านอาณาจักรทวารวดีหรือเสียม-ละโว้ (ลพบุรี) ชนชาติมลายู-ชวาในยุคพราหมณ์-พุทธแบบมหายานจึงเป็นเสมือนคนกลางในการรับอิทธิพลของอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้แล้วส่งผ่านไปยังสุวรรณภูมิ ไม่เว้นแม้แต่อาณาจักรขอมโบราณในอินโดจีน รวมถึงอาณาจักรจามปาในแถบเวียดนามใต้

 

การเป็นคนกลางของชนชาติมลายู-ชวาในการแผ่อิทธิพลแบบพราหมณ์-พุทธจากอินเดียในดินแดนแถบนี้ย่อมมีส่วนในการถ่ายทอดภาษาทั้งที่เป็นคำมลายูหรือชวาแท้ๆ หรือที่มีรากศัพท์มาจากสันสกฤตของอินเดียหรือภาษาทมิฬส่งผ่านไปยังชนชาติที่รับเอาวัฒนธรรมของอินเดียแบบพราหมณ์-พุทธมหายานไปใช้ ซึ่งพวกเสียมที่เป็นชนชาติไทยดั้งเดิมก็เป็นส่วนหนึ่งจากชนชาติดังกล่าวซึ่งรับเอาวัฒนธรรมทางภาษาผ่านคนกลางอย่างชนชาติมลายู-ชวาเช่นกัน

 

ประการที่ 3 ชนชาติมลายู-ชวานับแต่สมัยโบราณได้ท่องเที่ยวไปทั่วดินแดนแถบนี้และลงหลักปักฐานอยู่ในแคว้นที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ การเดินทางของภาษาผ่านเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลย่อมมีส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนภาษาระหว่างพลเมืองที่ทำการค้าระหว่างกัน จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่าศัพท์แสงที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ส่วนประกอบของเรือ ชื่อเรียกสินค้าและสถานที่ที่เป็นเส้นทางการค้าในสมัยโบราณมีคำมลายู-ชวาปรากฏอยู่และกลายเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมา


ประการที่ 4 ในสมัยอยุธยามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนถึงการเข้ามาตั้งหลักแหล่งและทำมาค้าขายของชนชาติมลายู-ชวาและจาม ซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกันในกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองสำคัญทางการค้าในสมัยนั้น และขุนนางตลอดจนล่ามในกรมท่าขวา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลการค้าด้านตะวันตกก็มีชาวมลายู-ชวาเป็นเจ้าหน้าที่ล่ามในการถ่ายภาษา โดยมีภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการใช้สื่อสารและถ่ายทอด จึงไม่แปลกที่ภาษามลายู-ชวาจะปรากฏอยู่ในภาษาไทย

 

ประการที่ 5 วรรณกรรมที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่ทำให้ภาษามลายู-ชวาปรากฏอยู่ในวรรณคดีของไทยก็คือ “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 5 ตลอดจน “อิเหนาคำฉันท์” ที่ประพันธ์โดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรื่องราวของ “อิเหนา” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับคนไทย และมักใช้เรียกชาวอินโดนีเซียในปัจจุบัน ถือเป็นการรับเอาคำมลายู-ชวาเข้ามาในภาษาวรรณกรรมของไทยที่เด่นชัดที่สุดก็ว่าได้

 

เหตุผลทั้ง 5 ประการนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนบทความนี้พอจะนึกออกได้แบบปัจจุบันทันด่วน หากมีเวลาในการวิเคราะห์มากกว่านี้ก็คงจะนึกออกได้อีกหลายประการ กระนั้นทั้งหมดที่กล่าวมาก็อาจจะมีข้อเคลือบแคลงและมีผู้รู้บางท่านคัดค้านไม่เห็นด้วย ผู้เขียนก็ยินดีในการรับฟังและแลกเปลี่ยนทัศนะและความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของสมมุติฐานที่เปิดกว้างและคุยกันได้แบบไม่รู้จักจบ แต่อย่างไรเสีย เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นสิ่งที่มีระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งผู้เขียนใช้เป็นที่อ้างอิงว่า ในพจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานนี้มีคำมลายู-ชวาปรากฏอยู่อย่างแน่นอน

 

ส่วนที่ว่ามีคำมลายู-ชวามาปรากฏอยู่ได้อย่างไรนั้นก็แสดงความเห็นเอาไว้แล้ว จะเห็นด้วยกับผู้เขียนในเรื่องที่แสดงมานั้นหรือไม่ก็พักเอาไว้ก่อนคงไม่ว่ากระไร หากยินดีที่จะพักเรื่องนั้นไว้หรือไม่ติดใจก็มาเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 ออกเผยแพร่เมื่อพ.ศ. 2531 กันเลยดีกว่า โดยจะขอเริ่มจากคำมลายู-ชวาที่เป็นชื่อของดอกไม้ (บุปผชาติ) และที่เกี่ยวข้องกับหมวดนี้เป็นหมวดแรก ทั้งนี้ผู้เขียนจะเขียนกำกับเอาไว้ด้วยว่ามีความหมายอย่างไร และเป็นคำมลายูหรือชวา พร้อมเลขหน้าในพจนานุกรมฉบับดังกล่าวเพื่อความชัดเจน

 

หมวดที่ (1) เกี่ยวกับดอกไม้ , ต้นไม้

1)   กรรณิกา (เขียนเป็น กณิการ์ หรือ กรณิการ์ ก็มี) : ชื่อต้นไม้ขนาดเล็ก ใบคาย ดอกหอม กลีบขาว หลอกดอกสีแสด ใช้ย้อมผ้า (น.12) พบอีกคำหนึ่งเขียนว่า กรรณิกา แปลว่า ดอก (ไม้) ภาษาบาลีว่า กณฺณิกา , สันสกฤตว่า ฝักบัว , ช่อฟ้า , มลายูนำเอามาใช้ว่า كانيڬارا (kanigara) ในกอมุส ปุสตะกอ (น.639) แปลว่า ดอกทานตะวัน  (بوڠا متهارى)

2)   กระจูด น. ชื่อไม้ล้มลุก ลำต้นกลม ภายในกลวง และมีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ ใช้สานเสื่อหรือกระสอบ เทียบมลายูว่า كرچوت (Kerchut) (น.19)

3)   กระดังงา น. ชื่อต้นไม้ ดอกหอม กลีบบาง มี 6 กลีบ ดอกใช้กลั่นน้ำมันหอมได้ กระดังงาใหญ่ สะบันงา หรือ สะบันงาต้น ก็เรียก เทียบมลายูว่า Cananga , Kananga (น.24)

4)   กะลุมพี น. ชื่อปาล์มชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นกอในป่าพรุและที่ชื้นแฉะในภาคใต้ ลุมพี ก็เรียก มลายูว่า กะลุมบี (كلوبى)  (น.77)

5)   กัญชา น. ชื่อไม้ล้มลุก มลายูว่า ڬنجا

6)   การะบุหนิง น. ดอกแก้ว (ชวา) (น.91)

7)   กาลัด น. แก้วหุง , สายหยุด (ชวา) (น.91)

8)   กาหลา ว. เหมือนดอกไม้ (ชวา) (น.92)

9)   กำบัง น. ช่อดอกไม้ (ชวา) (น.94) Kembang كمبڠ

10) กุโนกามอ น. ต้นคนทีเขมา (น.103)

11)  กุสุมา น. ดอกไม้ เป็นภาษาบาลี มลายูว่า  (كسوما)

12)   กุสมภ์ น. ดอกคำ เป็นภาษาบาลี มลายูว่า (كسومبا)

13)  จินดาหนา น. ต้นจันทร์ (ชวา) (น. 232)

14) ดาลัด น. แก้ว (ชวา) (น. 301)

15) ตลิง น. ต้นอัญชัน (ชวา) (น.324)

16) ตันหยง น. ดอกพิกุล (น. 338) มลายูว่า تنجوڠ

17) ตาราไต น. ดอกบัว (ชวา) (น. 345)  มลายูว่า تراتى

18)  นนตรา น. ต้นกระถิน (ชวา) (น. 426)

19) นวาระ น. กุหลาบ (ชวา) (น. 430)

20)  น้อยหน่า น. ชื่อพุ่มไม้ขนาดเล็ก ผลสีเขียว ผิวนูนเป็นตาๆ เนื้อในผลหนาขาว รสหวาน มีเมล็ดมาก มลายูว่า نونا

21) นากาสาหรี น. ดอกสารภี (ชวา) (น. 436)

22)  บุตรีตระสุม น. ต้นนางแย้ม (ชวา) (น. 482)

23)  บุษบา น. ดอกไม้ เป็นภาษาสันสกฤต มลายูว่า : puspa  ڤوسڤا

24) บุษบามินตรา น. พุทธรักษา (ชวา) (น. 483)

25) บุหงา น. ดอกไม้ชนิดต่างๆ มลายูว่า بوڠا

26) บุหงาประหงัน น. ดอกพุทธชาด (ชวา) (น. 484)

27) บุหงามลาซอ น. ดอกมะลิลา (ชวา) (น. 484)

28) บุหงารำไป น. ดอกไม้ที่ปรุงด้วยเครื่องหอมแล้วบรรจุในถุงผ้าโปร่งเล็กๆ (ชวา) (น. 484) มลายูว่า بوڠارمڤى

29) ปะหนัน น. ดอกลำเจียก (ชวา) (น. 525) มลายูว่า ڤند ن

30) ปานิเยน น. กระดังงาจีน (ชวา) (น. 534)

31)  มะวาร , มาวาร น. กุหลาบ (ชวา) (น. 640)  มลายูว่า ماور

32)  มังหงัน น. ดอกมะพร้าว (ชวา) (น. 641)

33) มายัง น. ดอกหมาก (ชวา) (น. 647)

34) มิรันตี น. ต้นดาวเรือง (ชวา) (น. 649)

35)  มินตรา น. ต้นกระถิน (ชวา) (น.649)

36) ยังกาหลา น. ต้นมะตาด (ชวา) (น. 670)

37) วารวาริ น. ดอกชบา (ชวา) (น. 763)

38) วิรงรอง , วิรังรอง น. พลับพลึง (ชวา) (น. 769)

39) สโรช น. ดอกบัว เป็นคำสันสกฤต มลายูว่า سروچا

40) สะการะ น. ดอกไม้ (ชวา) (น.812)

41) สะการะตาหรา น. ดอกกรรณิการ์ (ชวา) (น. 812)

42) สะตาหมัน น. สวน (ชวา) (น. 813)

43)  สาระวารี น. ดอกการะเกด (ชวา) (น. 832)

44) สาระสะมา น. ดอกชมพู่ (ชวา) (น. 832)

45) หนากาสรี น. ดอกชบา (ชวา) (น. 867)

46) อังสนา น. ดอกประดู่ (ชวา) (น. 930)

47) อารุม น. ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ (ชวา) (น. 944)

48)  อุหรับ น. ผงกระแจะจันทร์บนทองสำหรับเจิมในการอภิเษกรดน้ำ (มลายู) (น. 959)

 

ทั้งหมดเป็นคำมลายู-ชวาที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาไทย อาจมีตกหล่นคลาดจากสายตาไปบ้าง แต่เท่าที่ค้นหาเอามาให้อ่านกันก็ถือว่ามิใช่น้อย นี่แค่เฉพาะหมวดที่เกี่ยวกับดอกไม้และต้นไม้ และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะเห็นได้ว่า ชื่อดอกไม้หลายชนิด คนไทยเรานิยมเอามาตั้งเป็นชื่อเรียกซึ่งบางทีอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เป็นคำมลายู-ชวา อย่างชื่อที่คุ้นหูก็เห็นจะมี อังสนา , มินตรา , สโรชา , ปะหนัน , มิรันตี , ตันหยง และบุหงา เป็นต้น

 

48 คำที่ยกมาถ้าจะนึกคำอื่นๆ เพิ่มให้เต็มและครบจำนวน 50 คำเอาไว้ตรงนี้ก็เห็นจะมีอยู่ 2 คำ คือ 49) ลางสาด น. ชื่อต้นไม้ ผลกลมๆ ออกเป็นพวง กินได้ เม็ดในขม ลังสาด ก็เรียก , พันธุ์เปลือกหนายางน้อยเรียกลองกอง มลายู เรียก “ลางสาด” ว่า لڠست  50) ทุเรียน น. ชื่อต้นไม้ ผลเป็นพูๆ มีหนามแข็งเต็มทั่วลูก เนื้อมีรสหวานมัน มลายูเรียกดุเรียน (ดุริยัน) دورين  มาจากคำว่า ดูรี (دوري) ที่แปลว่า หนาม นั่นเอง อ้อ! เจออีกคำหนึ่งคือ มะลารอกัน น. มะลิซ้อน (ชวา) (น. 640)

 

แสดงว่ามีมากกว่า 50 คำเข้าไปแล้ว สำหรับชื่อดอกไม้และต้นไม้ที่เป็นคำมลายู-ชวาในพจนานุกรม เจออีกคำหนึ่งคือ หุหนิงหงัน น. ดอกบานไม่รู้โรย (ชวา) (น. 895)

 

หมวดที่ (2) เกี่ยวกับวัน-เวลา

1)   บุหลัน น. เดือน , ดวงเดือน , พระจันทร์ (ชวา) (น. 484) มลายูว่า (بولن)

2)   มิงโค น. รอบ 7 วัน , สัปดาห์หนึ่ง (ชวา) (น. 648) มลายูว่า ميڠڬو))

3)   มะลำ , มาลำ น. เวลาค่ำมืด , กลางคืน (ชวา) (น. 641) มลายูว่าما لم) )

4)   ละมา น. กาล , คราว , เวลา แปลว่า เวลานาน , โบราณ  มลายูว่า (لام)

5)   ลุสา น. วันมะรืน (ชวา) (น. 737) มลายูว่า (لوسا)

6)   เลนหะรี น. ข่าวแรก , วันอื่น (ชวา) (น. 743) มลายูว่า لأين هاري  หรือ هاري لأين

7)   สัญฌา น. เวลาเย็น บาลี-สันสกฤต ว่า สนฺธฺยา  มลายูว่า سنجا

8)   อิลู ว. บัดนี้ , เดี๋ยวนี้ (ชวา) (น. 949)

 

หมวดที่ (3) เกี่ยวกับคน

1) กะลาสี น. ลูกเรือ มลายูว่า กะลาสิ (كلاسى)  จากคำอิหร่าน ขะลาสิ (น. 76)

2) กะเล็ง น. แขกกลิงค์ มลายูว่า (كليڠ)

3) กิดาหยัน น. มหาดเล็ก (ชวา) (น. 99) มลายูว่า (كداين)

4) กุลี น. คนรับจ้างทำงานหนักมีหาบหามเป็นต้น มลายูว่า (كولى)

5) กระฎุมบี น. คำนี้เดิมแปลว่า คนมั่งมี , พ่อเรือน ในอินเดียบางแห่งหมายความว่า ชนจำพวกศูทรที่มั่งมีขึ้น , ชนชั้นต่ำ ทมิฬว่า : คนจน มลายูเอามาใช้ว่า ڬد مبى  หมายถึง พวกกบฏหรือยักษ์ในตำนาน (กอมูสปุสตะกอ น. 766)

6) กะกัง น. พี่ (ชวา) (น. 70) มลายูว่า (كاكڠ)

7) กานดา น. หญิงที่รัก มลายูว่า (كندا) (ككندا) หมายถึงพี่ชายหรือพี่สาว หรือเพื่อนเล่นที่อายุมากกว่า

8) คุรุ น. ผู้สั่งสอน , ครู เป็นคำบาลี-สันสกฤต มลายูว่า (ڬورو)

9) ชาวี น. ชาวชวามลายู (جاوى)

10)   ดะโต๊ะ น. ผู้นำ , บุคคลสำคัญ เช่น ดะโต๊ะยุติธรรม (น. 297) มลายูว่า داتوء

11) ดะหมัง น. เสนา (ชวา) (น. 297) มลายูว่า دمڠ  แปลว่า เจ้าเมือง

12) นร- น. คน เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต  มลายูว่า نارا

13) นรินทร์ น. พระราชา มลายูว่า (نارااندرا)  สันสกฤต (นร+อินทร์)

14) บิกู , บีกู น. ภิกขุ (ชวา) (น. 478)

15)  บิกูปะระมาหนา , บิกูปะระหมั่นหนา น. ภิกษุกับพราหมณ์ (ชวา) (น. 478) มลายูว่า بيكو

16) ประตง น. โจร (ชวา)  (น. 505)

17) ปะตาปา น. นักบวช (ชวา) (น. 525)

18) ปะหมันอาหยี น. น้า (ชวา)  (น. 525)

19) ปาตี น. ผู้เป็นใหญ่ (ชวา) (น. 533)

20) ปาเต๊ะ น. ชื่อตำแหน่งขุนนาง (ชวา) (น. 533)

21) ปาปอหยีสังฆาตา น. บิดา , พ่อ (ชวา) (น. 534)

22)  มนตรี น. ที่ปรึกษา ผู้แนะนำ ที่ปรึกษาราชการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (บาลี-สันสกฤต) มลายูว่า (مونترى)

23) มะเดหวี น. ตำแหน่งพระมเหสีที่ 2 ของกษัตริย์ ชวา (ชวา เทียบทมิฤ มาเทวี) (น. 639)

24) มักกะสัน น. ชื่อชนชาติอินโดนีเซียในมะกัสซ่าร์ตอนใต้เกาะเซลีบีส มลายูว่า مڠكا سر หมายถึง สุลาเวสีตอนใต้ เรียกพลเมืองจากเกาะเซลิบีสว่า บูกิส (بوڬيس)

25) มุลู น. พล (ชวา) (น. 653)

26) ย่าหยา น. เรียกหญิงลูกครึ่งจีนกับมลายูที่เกิดในมลายูและอินโดนีเซียว่า ย่าหยา (น. 674)

27) ยาหยี น. น้องรัก (ชวา) (น. 674) มลายูว่า يايى หรือ يويى

28) ระเด่น น. โอรสหรือธิดาของกษัตริย์เมืองใหญ่ (ชวา) (น. 689) มลายูว่า رادين

29) ระตู น. เจ้าเมืองน้อย (ชวา) (น. 689) มลายูว่า راتو

30)  ริปุ , ริปู น. ข้าศึก , ปรปักษ์ , คนโกง เป็นคำบาลี-สันสกฤต มลายูว่า ريبوه

31) ละกูมะนิส น. คนที่รัก , คนที่ชอบใจ (ชวา) (น. 733)

32)  ลาเง็ด น. เจ้า , แม่ทัพ (ชวา) (น. 728)

33) วนิดา น. หญิง , หญิงสาว (บาลี-สันสกฤต) มลายูว่า وانيتا

34) วิเยน น. ขันที (ชวา) (น. 769)

35) วิระ ว. วีระ , กล้าหาญ น. ผู้กล้าหาญ นักรบ (บาลี-สันสกฤต) มลายูว่า ويرا หรือ ويراون

36) ศัตรู น. ข้าศึก , ปรปักษ์ (บาลี-สันสกฤต) มลายูว่า سترو

37)  สวามิ , สวามี น. เจ้า , ผู้เป็นใหญ่ , นาย , ผัว เป็นคำบาลี-สันสกฤต มลายูว่า سوامى

38) สังคาตา น. พ่อ (ชวา) (น. 817)

39) สุร – , สุระ- น. ผู้กล้าหาญ เป็นคำบาลี-สันสกฤต มลายูว่า سورا

40) โสกาดานา น. คนใช้ , ขอเฝ้า (ชวา) (น. 858)

41) ลักษมาณา น. แม่ทัพเรือ (มลายู) (น. 726)

42) อาเด๊ะ น. น้อง (ชวา) (น. 940)  มลายูว่า اد يق

43) อานะ น. บุตร , อะนะ ก็ว่า (ชวา) (น. 941) มลายูว่า انق

44) แอหนัง น. นางชี (ชวา) (น. 966) มลายูว่า اينڠ หมายถึง หญิงที่เลี้ยงดูเด็กทารก หรือ แม่นม

45) วาโมร น. คนป่า , คนรำ (ชวา) (น. 762)

46)  ปันจุเหร็ด น. โจรป่า (ชวา) (น. 529)

 

หมวดที่ 4 เกี่ยวกับสถานที่

1)  กระยาหงัน น. วิมาน , สวรรค์ชั้นฟ้า

2)  กำพง , กำปง น. ท่าน้ำ , ตำบล (น. 95) มลายูว่า كمفوڠ

3)  กำมังละการ น. ตำหนัก (ชวา) (น. 96)

4)  กำมังลิลิต น. ตำหนักในสระ (ชวา) (น. 96)

5)  กุหนุง น. เขาสูง (ชวา) (น. 106) มลายูว่า ڬونڠ

6)  โกดัง น. โรงเก็บสินค้าหรือสิ่งของเป็นต้น มลายูว่า ڬودڠ

7)  คิริ , คีรี น. ภูเขา เป็นบาลี-สันสกฤต มลายูว่า ڬيرى

8)  คูหา น. ถ้ำ , คูหา เป็นบาลี-สันสกฤต มลายูว่า ڬوا

9)  ติกาหรัง น. เรือนแก้ว (ชวา) (น. 348)

10)  นรก น. แดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน มลายูว่า نراك

11)  เทศ น. ถิ่นที่ , ท้องถิ่น มลายูว่า (ديسا)

12)  ประเสบันอากง น. วังลูกหลวง , วังหลานหลวง (ชวา) (น. 511)

13)  ประเสหรันอากง น. วังลูกหลวง (ชวา) (น. 545)

14)  พิหาร น. ที่อยู่ของพระสงฆ์ , วัด , วิหาร เป็นภาษาบาลี มลายูว่า(بيارا)

15)  พะไล น. เรือนหรือเพิงโถง พาไล ก็ว่า มลายูว่า(بالى)

16)  ละหงิด น. ฟ้า , ชั้นเทวดา (ชวา) (น. 723) (น. 728)  มลายูว่า (لاڠيت) ลางงิด

17)  สุเหร่า น. มัสยิด มลายูเรียก (سوراو)

18)  บายสุหรี น. สระน้ำ (ชวา) (น. 477)

 

หมวดที่ 5 สัตว์ , สิ่งของ

1)  กง น. ไม้รูปโค้งที่ตั้งเป็นโครงเรือ มลายูว่า  (كوڠ)  (น. 2)

2)  กรง น. สิ่งที่ทำเป็นซี่ๆ สำหรับขังนก เป็นต้น มลายูว่า  (كوروڠ)  (น. 9)

3)  กระจง น. ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายกวาง มลายูว่า กันจิล  (น. 17)

4)  กระชัง น. บังสาดที่ปิดและเปิดได้ (เทียบชวา กระรันชัง- กระจาด) (น. 21)

5)  กระทง น. ภาชนะเย็บด้วยใบตองหรือใบไม้ (เทียบมลายู : กุดง) (น. 31)

6)  กระบือ น. ควาย (มลายู : เกรฺเบา) (น. 37)

7)  กริช น. มีด 2 คม รูปคดปลายแหลม เป็นของชาวมลายู (น. 53)

8)  กะริง น. บ่วงหวายสำหรับดักสัตว์ที่กระโดด กระหริ่งก็ใช้ (น. 75)

9)  กาษา , กาสา น. ผ้าชนิดหนึ่ง (ทมิฬและมลายู กาสา ว่า ผ้าดิบ ผ้าหยาบ) (น. 92)

10)  กำยาน น. วัตถุเครื่องหอมชนิดหนึ่ง (เทียบมลายู kameyan) (น. 96)

11)  กุญแจ น. เทียบมลายูว่า กุญจี (น. 102)

12)  จับปิ้ง น. เครื่องปิดที่ลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือ นาก กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือ ตับปิ้ง ก็เรียก (น. 224)

13)  จิ้งจก น. มลายูว่า (چيچق)

14)  จิ้งหรีด น. มลายูว่า (چڠكريق)

15)  ซ่าโบ๊ะ น. ผ้าห่ม (ชวา) (น. 283)

16)  ตะรังกานู น. เรียกของบางอย่างที่มาจากเมือง ตะรังกะนู เช่น ส้มตะรังกะนู พิมเสนตะรังกะนู (น. 334)

17)  กำปั่น น. เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง เทียบมลายู หรือ ฮินดูสตานี ว่า capel(كڤل)

18)  โนร น. ชื่อนกปากขอ มลายูว่า(نورى)

19)  บุหรง น. นก (ชวา) (น. 484)

20)  กัลปังหา , กะละปังหา น. ชื่อสัตว์ทะเล (เทียบมลายู Kalam pangha) (น. 76)

21)  ปะการัง , กะรัง น. ชื่อสัตว์ทะเล มลายูว่า (كارڠ)

22)  ปันจุเหร็จ น. เครื่องรัดเกล้าที่ไม่มียอด (ชวา) (น. 529)

23)  ปั้นเหน่ง น. เข็มขัด (ชวา) (น. 529)

24)  ปาเต๊ะ น. ชื่อผ้าโสร่งชนิดหนึ่ง มลายู batik (น. 533)

25)  มิยา น. โต๊ะวางของ (ชวา) (น.649)

26)  มุสะ น. มุ้ง (ชวา) (น. 653)

27)  แมร น. เงิน (ชวา) (น. 659)

28)  โมรี น. ผ้าชนิดหนึ่ง มลายูว่า moiri แพรมีลาย (น. 661)

29)  ย่องเหง็ด น. จ้องเหน่ง (ชวา) (น. 668)

30)  ระมา น. เหลือบ (ชวา) (น. 691)

31)  รำมะนา น. กลองชนิดหนึ่ง (น. 703)

32)  ละลัด น. แมลงวัน (ชวา) (น. 724)

33)  สะบะ น. ตะกร้อ (ชวา) (น. 813)

34)  โสร่ง น. ผ้านุ่ง (มลายู) (น. 859)

35)  อังกวด น. จ้องหน่อง (ชวา) (น. 930)

36)  อังกะลุง น. ชื่อเครื่องดนตรีของชวา (น. 930)

37)  อาแสะ น. กริช (ชวา) (น.  954)

38)  อูฐ น. ซื่อสัตว์  มลายู  (اونتا)

หมวดที่ 6 คำกริยา , คำบ่งลักษณะ

1)  กระจิดริด น. เล็กนิด (เทียบมลายู เกะจิล , เกะจิก = เล็ก)  (น. 19)

2)  กระทอก ก. กระแทกขึ้นกระแทกลง (เทียบมลายู กระตอก= ตอก) (น. 32)

3)  กระพ้น ว. ทนทานต่อศัสตราวุธ มักใช้ควบกับชาตรี เป็นคงกระพันชาตรี (เทียบมลายู กะบัล) (น. 40)

4)  กลิ้ง ก. อาการอย่างของกลมพลิกเลื่อนไปตามพื้น (มลายู gilling ว่า กลิ้ง คลึง มวน) (น. 62)

5)  จินดาหรา ว. ฉลาด (ชวา) (น. 232)

6)  ดาหงัน ก. ทำสงคราม , รบศึก (ชวา) (น. 302)

7)  ตะหนึ่งรัด ว. เป็นใหญ่ (ชวา) (น. 336)

8)  ติปา ก. ตก (ชวา) (น. 349)

9)  ตุนาหงัน ก. หมั้นไว้ (เพื่อแต่งงาน) (ชวา) (น. 354)

10)  โต้หลง ก. สงเคราะห์ ช่วย (เทียบมลายู ตุลง) (น. 362)

11)  บันทึง ก. บ่นถึง , คอย (ชวา) (น. 471)

12)  ปะตาระกาหลา น. เทวดาผู้ใหญ่ (ชวา) (น. 525)

13)  มหู ก. ต้องการ (ชวา) (น. 635)

14)  มะงุมมะงาหรา ก. เที่ยวป่า (ชวา) (น. 637)

15)  มะตาหะรี น. ดวงอาทิตย์ (ชวา) (น. 638)

16)  มะหัล ก. รัก , แพง , มาก (ชวา) (น. 640)

17)  มันดี น. ที่อาบน้ำ ก. อาบน้ำ (ชวา) (น. 643)

18)  มาระ ก. โกรธ (ชวา) (น. 647)

19)  มาริ ก. มา (ชวา) (น. 648)

20)  มินตา ก. ขอโทษ (ชวา) (น. 649)

21)  มูลา ว. ที่หนึ่ง , ทีแรก (ชวา) (น. 654)

22)  เมงอะปา ว. ทำไม (ชวา) (น. 655)

23)  เมน ก. เล่น (ชวา) (น. 655)

24)  เมาะตาโยกัก ว. มีชื่อเสียงโด่งดัง เลื่องลือไม่มีใครเสมอ (ชวา) (น. 656)

25)  โมทนา ก. บันเทิง , ยินดี (ชวา) (น. 661)

26)  ยะงันจะคับ ว. พูดไม่ได้ (ชวา) (น. 669)

27)  ยะหิทา ก. เย็บ (ชวา) (น. 669)

28)  ยังหยัง ว. รูปงาม (ชวา) (น. 670)

29)  ยายี ก. เบียดเบียน , รบกวน

30)  ยาหยัง ก. ชนะศัตรู (ชวา) (น. 674)

31)  ยาหัด ว. ชั่ว , ไม่ดี , หยาบ , ไม่งาม (ชวา) (น. 674)

32)  ยิหวา น. ดวงชีวิต , ดวงใจ (ชวา) (น. 675)

33)  ละรี ก. แล่นไป (ชวา) (น. 724)

34)  สาหรี ว. งาม , น่ารัก , ดี (ชวา) (น. 834)

35)  หยังหยัง ว. งาม (ชวา) (น. 476)

36)  อาระ น. เหล้า (ชวา) (น. 944)

37)  อาหรัดกัดติกา น. มาใช้ , ม้าเร็ว (ชวา) (น. 946)

หมวดที่ 7 อวัยวะในร่างกาย

1)  กบาล น. ศีรษะ , หัว บาลีสันสกฤตว่า กบาล = กะโหลกหัว มลายูว่า(كڤلا)

2)  มะดา น. ดวงตา (ชวา) มลายูว่า   (مات) (น. 638)

3)  มุลุต น. ปาก (ชวา) มลายูว่า (مولوت)  (น. 653)

 

ทั้ง 7 หมวดนี้รวมจำนวนคำมลายู-ชวาที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้นับร้อยคำ อาจจะมีตกหล่นไปบ้างก็ถือเสียว่าคลาดสายตาไป ไม่ได้จงใจจะข้ามเลย เฉพาะที่ระบุหน้าพร้อมตัวเลขกำกับในวงเล็บนั้นก็คงเพียงพอสำหรับเป็นสิ่งอ้างอิงได้ในเบื้องต้น ภาษาไทยมีการรับเอาคำในภาษามลายู-ชวา (ญาวี) มาใช้พอสมควรนอกเหนือจากภาษาเขมร (กัมพูชา) และยังมีคำในภาษาอิหร่าน (เปอร์เซีย) ภาษาอาหรับ ภาษามอญ (รามัญ) และภาษาฝรั่งตลอดจนภาษาจีนอีกด้วย

 

แสดงว่าคนไทยในสมัยก่อนมีความสัมพันธ์กับต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามประเทศ และคนไทยสมัยก่อนก็รู้จักในการสังเคราะห์ภาษาคือรับเอามาประยุกต์ใช้เป็นภาษาของตน แต่ก็นั่นแหล่ะที่เป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่า คนไทยในสมัยปัจจุบันกลับไม่ค่อยสนใจในภาษาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างภาษามลายู (บะฮฺซา) ซึ่งมีคนใช้นับร้อยล้านคน ทั้งๆ ที่คำมลายู-ชวา ปรากฏอยู่ในภาษาไทยมิใช่น้อย และคนมลายูก็มิใช่ใครที่ไหนอยู่ร่วมกับคนไทยมาช้านานบนผืนแผ่นดินนี้

 

ภาษาเขมรก็มีอยู่มากเช่นกัน แต่คนไทยส่วนมากก็พูดภาษาเขมรไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขมรเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทย มิหนำซ้ำบางประเทศอย่างพม่าที่เคยรบพุ่งพันตูและเกี่ยวข้องกับชาติไทยมาโดยตลอด และทุกวันนี้พม่าก็เข้ามาทำงานในแผ่นดินไทยเกือบทุกหัวระแหง แต่คนไทยก็ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้าน ต้องดัดจริตไปใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของตะวันตกที่เข้ามาทีหลังภาษาเขมร มอญ พม่า มลายู ชวา และญวนช้านาน พอมาถึงยุคประชาคมอาเชี่ยนที่พูดถึงกันก็เลยกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไทยในเรื่องการใช้ภาษา เพราะภาษาอังกฤษก็สู้พลเมืองของชาติเพื่อนบ้านที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไม่ได้

 

ครั้นจะพูดสื่อสารกับพลเมืองเพื่อนบ้านด้วยภาษาเดิมของพลเมืองเพื่อนบ้านก็พูดไม่ได้เสียอีก เพราะไม่รู้จักจะเรียนรู้ภาษาของเขามาแต่เก่าก่อน ก่อนที่ภาษาอังกฤษจะเข้ามาเป็นภาษาสากลหรือภาษากลางในยุคต่อมา นึกแล้วก็น่าเสียดาย ว่าภาษาไทยมีต้นทุนของภาษาเพื่อนบ้านด้วยมีคำของภาษาเพื่อนบ้านปรากฏอยู่เป็นอันมาก แล้วทำไมจึงไม่คิดต่อยอดจากต้นทุนที่มีนั้น ถ้าหากคนไทยต่อยอดจากคำที่รับเอามาด้วยการเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านจนพูดคุยกับเขาได้ ภาษาอังกฤษก็คงไม่มีความจำเป็นและกลายเป็นปัญหาในยุคประชาคมอาเชียนนี้แต่อย่างใด

والله ولي التوفيق