ชาวเปอร์เซียถามถึงเหตุชัยชนะของชนมุสลิม

                พวกเปอร์เซีย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสองอภิมหาอำนาจของโลกในยุคร่วมสมัยกับการอุบัติขึ้นของอิสลามก็เกิดความสงสัยเช่นเดียวกับพวกโรมันภายหลังความปราชัยของเปอร์เซียให้แก่ชนมุสลิมในยุคแรกพวกเขาต้องการทราบว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชนมุสลิมมีพลังกล้าแข็งจนสามารถปราบปรามกองทัพเปอร์เซียลงได้อย่างราบคาบ  ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซีย  ในสมัยราชวงศ์แซสซานิด (ซาซานียะห์)  โดยมีคุซโร  (กิซรอ)  ผู้ทรงพระนามว่า  ยัซดะญัรด์  ที่  3  เป็นจักรพรรดิเปอร์เซียองค์สุดท้าย 

 

                ชนมุสลิมได้สร้างความปราชัยครั้งแล้วครั้งเล่าแก่กองทัพเปอร์เซียอันทรงแสนยานุภาพ  เฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิอัลกอดีซียะห์  (ฮ.ศ.14/ค.ศ.635)  และสมรภูมินะฮาวันด์  (ฮ.ศ.21/ค.ศ.642) ซึ่งกองทัพเปอร์เซียได้รับความปราชัยอย่างย่อยยับพวกเขาจึงได้ส่งบุคคลสำคัญกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยบุตรชายของดุฮกอน  (ผู้ครองแคว้น) คนหัวปีและเจ้าพนักงานประจำวิหารแห่งอัคคีคนหนึ่งพร้อมด้วยบะฮ์รอมผู้เป็นแม่ทัพของเปอร์เซียทั้งหมดได้ปลอมตัวและเดินทางรอนแรมจนถึงนครมะดีนะฮฺ

 

                ครั้นเมื่อเข้าสู่ตัวเมืองมะดีนะฮฺ  คนกลุ่มนี้ก็ไม่พบว่ามีมุสลิมคนใดเลยที่พอจะสอบถามพูดคุยด้วยได้  พวกเขาต่างก็ถามกันเองว่า  พวกมุสลิมไปไหนกันหมดล่ะ?  ครั้นต่อมาพวกเขาก็ได้คำตอบว่า  “ชาวมุสลิมกำลังนมัสการอยู่ในมัสญิดเป็นหมู่คณะโดยพวกเขาได้ละทิ้งบ้านช่องและร้านรวงของพวกเขาไว้  ตลอดจนทุกสิ่ง” ต่อมาชาวเปอร์เซียทั้งสามคนก็ได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ท่ามกลางชนมุสลิมในนครมะดีนะฮเป็นระยะเวลานานพอสมควร  เพื่อที่พวกเขาจักได้ทราบสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนมุสลิมมากขึ้น

 

                ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย  ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อเร้นลับแห่งพลังแฝงของชาวมุสลิมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของพวกเขาขึ้นเรื่อย ๆ  พวกเขาพบว่าชาวมุสลิมใช้ชีวิตอย่างเสมอภาค  มิได้แบ่งชนชั้นวรรณะ บ่อยครั้งที่ชนเปอร์เซียทั้งสามได้พบเห็นว่าผู้นำปวงชนผู้ศรัทธา  คือ  ท่านอุมัร  อิบนุ  อัลคอตตอบ  (ร.ฎ.)  กระทำตัวเหมือนปุถุชนธรรมดาคน ๆ หนึ่ง  ท่านมักนอนหลับอยู่ที่ข้างอาคารมัสญิดของท่านศาสนทูต โดยไม่มีเหล่าทหารองครักษ์คุ้มกันความปลอดภัย  ไม่มีข้าราชบริพารหรือวงศาคณาญาติมาห้อมล้อมคอยปรนนิบัติพัดวี   และพวกเขายังเคยเห็นท่านอุมัร  (ร.ฎ.)  ตัดสินคดีความแก่ผู้คนอย่างยุติธรรม  และทำโทษบุตรชายของท่านเอง  ตามข้อตัดสินของศาสนาโดยไม่มีอภิสิทธิ์อันใดในการยกเว้น

 

                ชาวเปอร์เซียทั้งสามเกิดความพิศวงเป็นอันมากต่อศาสนาอิสลามซึ่งจรรโลงสร้างผู้คนเหล่านั้นให้มีวิถีชีวิต  เช่นนี้  และทราบความจริงเกี่ยวกับข้อเร้นลับในชัยชนะของชนมุสลิมที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัดและอุทิศตนเพื่อศาสนาของตน  มาบัดนี้ชาวเปอร์เซียทั้งสามคนก็มิอาจฝืนหัวใจของตนได้อีกต่อไป พวกเขาทั้งหมดได้พร้อมใจกันประกาศตนเข้ารับอิสลามอย่างดุษฎีในที่สุด  

 

                เช่นนี้แหละ  เหล่าผู้เป็นปรปักษ์ต่ออิสลามในยุคก่อนได้บรรลุถึงความจริงที่ว่า พลังความเข้มแข็งของชนมุสลิมนั้นคือศาสนาของพวกเขานั่นเอง

 

                นายเฟชเชอร์  นักประวัติศาสตร์ชาวคริสเตียนได้กล่าวว่า  :  “ศาสนาอิสลามได้มีส่วนขับเคลื่อนชนอาหรับมุสลิมด้วยพลังเฉพาะตัวที่ก่อเกิดความมีชีวิตและความมั่นคงอย่างไร้ขอบเขต  มาตรว่าไม่มีพลังเช่นนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางศาสนาที่เป็นปึกแผ่น  แน่นอนชาวอาหรับก็จำต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนซึ่งหากไม่มีกรณีเช่นนี้ชัยชนะอันระลอกแล้วระลอกเล่าย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

                และมาตรแม้นว่าไม่มีจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพแผ่ซ่านในหมู่ชนอาหรับโดยมีเพียงแต่ความกระหายสงครามและทรัพย์สงครามแล้วไซร้  แน่นอนชาวอาหรับย่อมมิอาจเอาชนะความพึงพอใจของชาวซีเรีย  ชาวอียิปต์  เปอร์เซีย และชนชาติเบอร์เบอร์  ต่อการปกครองของพวกเขาได้เลย  ฉนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าส่วนสำคัญจากความสำเร็จของชาวอาหรับในการพิชิตและการสงครามของพวกเขา  ล้วนแต่กลับสู่การปรากฏขึ้นของศาสนาใหม่ในใจกลางดินแดนของพวกเขา”  

 

                (ประวัติศาสตร์ยุโรป ยุคกลาง หน้า 63)  อ้างจากหนังสือ “พึงระวัง กลยุทธิ์ใหม่ในการเผชิญหน้ากับอิสลาม” ดร. ซะอ์ดุดดีน อัซซัยยิดซอและห์ หน้า 28-30