ความนุ่มนวลในการเรียกร้องสู่ความดี

                ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลีย์  (ร.ฮ.)  ได้เล่าว่า  :  มีชายคนหนึ่งได้เข้าเฝ้า คอลีฟะห์ อัลมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์โดยเรียกร้องให้พระองค์ปฏิบัติคุณงามความดีต่อหลักการของศาสนา และห้ามปรามจากการประพฤติผิดต่อหลักการของศาสนา  ชายผู้นี้มีความกล้าหาญในการกระทำสิ่งดังกล่าว หากแต่ว่าเขากลับใช้คำพูดที่รุนแรงและหยาบคาย  ในการตักเตือนคอลีฟะห์อัลมะอ์มูน  โดยมิได้คำนึงถึงข้อที่ว่า ทุกคำพูดต้องคำนึงถึงกาละเทศะและความเหมาะควร
 
 
                ฝ่ายคอลีฟะห์อัลมะอ์มูน  ซึ่งมีสติปัญญาเป็นเลิศอีกทั้งมีความเข้าใจต่อหลักการอย่างเอกอุ จึงได้กล่าวตอบแก่ชายผู้หาญกล้าตักเตือนพระองค์ด้วยวาจาที่หยาบคายว่า :  โอ้ ท่านผู้นี้ ขอท่านจงโปรดนิ่มนวลและพูดจาให้เสนาะหู  เสียบ้างเถิด!  เพราะพระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้ทรงส่งบุคคลที่มีความประเสริฐมากกว่าท่านไปยังบุคคลที่ชั่วช้าสามานย์ยิ่งกว่าตัวข้าพเจ้าเสียอีก  แต่พระองค์ก็ได้ทรงกำชับผู้ประเสริฐนั้นให้มีความนิ่มนวล พระองค์ได้ทรงส่งท่านศาสนทูตมูซา  (อ.ล.) และท่านศาสนทูต ฮารูน  (อ.ล.)  ซึ่งแน่นอนทั้งสองท่านนั้นย่อมมีความประเสริฐยิ่งกว่าท่านมากมายนัก  ให้ทั้งสองไปหาฟิรอูน (ฟาโรฮ์แห่งอียิปต์)  ซึ่งแน่นอนฟิรอูนนั้นชั่วช้าสามานย์ยิ่งกว่าตัวข้าพเจ้าอย่างมิต้องสงสัย

 

                และพระองค์ได้ทรงมีบัญชาให้ทั้งสองท่านนั้นปฏิบัติตามพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า

                “ท่านทั้งสอง  (มูซาและฮารูน)  จงไปยังฟิรอูนเถิด เพราะแท้จริงฟิรอูนนั้นได้ก่อกรรมทำเข็ญ  (ละเมิด)  และท่านทั้งสองจงกล่าวแก่ฟิรอูนด้วยคำพูดที่อ่อนโยนนิ่มนวล  หวังว่าบางทีฟิรอูนจะได้รำลึก  (มีสติ) หรือเกิดความยำเกรง”  (ตอฮา อายะห์ที่ 43)

 

                เมื่อชายผู้นั้นได้รับฟังคำพูดของคอลีฟะห์ อัลมะอ์มูน ซึ่งโต้ตอบด้วยพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) เขาก็ได้สำนึกและนิ่งเงียบโดยมิอาจจะสาวความให้ยืดยาวได้อีกต่อไป”  บุคคลใดได้เรียนรู้การโต้คารมของท่านศาสนทูตมูซา (อ.ล.) กับฟิรอูนผู้อหังการที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานก็จักพบว่าท่านศาสนทูตแห่งพระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.)  ที่กำชับเอาไว้และปฏิบัติตามคำบัญชานั้นอย่างครบถ้วนทั้ง ๆ ที่ฟิรอูนมีความอหังการและความเย่อหยิ่งอย่างที่สุด  ตลอดจนยังได้กล่าวโจมตีและปรักปรำท่านศาสนทูตมูซา (อ.ล.) ต่าง ๆ นานาซ้ำร้ายยังได้ขู่คุกคามเอาชีวิตของท่านด้วยซ้ำไป….

 

                (จากหนังสือ อัซเซาะฮ์วะฮ์ อัลอิสลามียะห์  บัยนัล  ญุฮุด  วัตตะตอรรุฟ  ของ  ดร. ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์  หน้า 213-214)