มารยาทอันงดงามย่อมยกสถานภาพของบุคคลเสมอ
วันหนึ่ง คอลีฟะห์ฮารูน อัรร่อชีด แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ (ลำดับที่ 5 ฮ.ศ. 170-193 / ค.ศ. 786-809) ได้เชื้อเชิญชายคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการ (กอฎี) ชายผู้นี้จึงบอกปัดอย่างไม่เต็มใจกับคอลีฟะห์ว่า : โอ้ ท่านประมุขแห่งปวงชนผู้ศรัทธา” แท้จริงข้าพระองค์หาได้มีความเหมาะสมในการเป็นตุลาการตัดสินไม่ทั้งนี้เพราะข้าพระองค์มิใช่นักนิติศาสตร์ผู้ชำนาญในกฎหมาย หากแต่เป็นเพียงสามัญชนธรรมดาคนหนึ่ง!” คอลีฟะห์ฮารูน อัรร่อชีด จึงกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องการแต่งตั้งชายผู้นี้ขึ้นเป็นตุลาการว่า : ในตัวท่านนั้น มีคุณสมบัติอยู่ถึง 3 ประการที่ทำให้ท่านมีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ตุลาการ กล่าวคือ
(หนึ่ง) สำหรับท่านนั้นมีความประเสริฐในเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งนี้จักปกป้องผู้มีเกียรติมิให้กระทำสิ่งที่ต่ำช้า
(สอง) ท่านมีความสุขุมรอบคอบ และความสุขุมรอบคอบจักหักห้ามท่านมิให้เกิดความหุนหันพลันแล่นและด่วนตัดสิน และบุคคลใดที่ไม่หุนหันพลันแล่นในการด่วนตัดสิน บุคคลนั้นย่อมผิดพลาดน้อยครั้ง
และสาม ท่านนั้นคือบุรุษที่มักปรึกษาหารือกับผู้คนทั้งหลายในกิจการของท่าน ผู้ใดที่ปรึกษาหารือกับผู้อื่นเสมอก็ย่อมมีความถูกต้องเป็นอันมาก ส่วนเรื่องนิติศาสตร์และความรู้ทางกฎหมายนั้น ฝ่ายเราจะเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสมมาร่วมสนับสนุนช่วยเหลือท่านเอง
ชายผู้มีคุณสมบัติอันประเสริฐก็ได้ทำหน้าที่เป็นตุลาการตัดสินตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน โดยตลอดเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งอันสำคัญนี้ก็ไม่เคยเป็นที่ทราบกันว่าเขามีความบกพร่องในหน้าที่แต่ประการใดเลย และปรากฏว่าการตัดสินคดีความของเขาล้วนแต่ดำเนินไปอย่างถูกต้องและละเอียดถี่ถ้วนทุกคราไปสมดังความคาดหมายของคอลีฟะห์ทุกประการ
(คัดจากหนังสือ อัลมุฟร่อดดุ้ลอะลัม ฟี รอซมิลก่อลัม หน้า235)
บุคคลจักดีได้ในหน้าที่การงานของตน ย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรม และคุณสมบัติในตัวของตน ส่วนความรู้และความชำนาญย่อมสามารถก่อเกิดและเพิ่มพูนสั่งสมได้ในภายหลัง จะได้ด้วยการเรียนรู้แบบตนเอง หรืออาศัยผู้อื่นที่รู้และชำนาญคอยชี้แนะสั่งสอนก็ตามที คุณค่าของคนอยู่ที่ผลงาน หาได้อยู่ที่ความรู้และความชำนาญเสมอไป เพราะในบางคราความรู้และความชำนาญที่ขาดคุณธรรมและคุณสมบัติอันงดงามย่อมมิอาจสร้างผลงานที่ดีได้เลย หากในบางคราอาจกลับกลายเป็นโทษมากกว่าด้วยซ้ำไป