จะเกิดความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) ในนครมะดีนะฮฺ

อิมามอัล-บุคอรียฺและอิมามมุสลิมได้รายงานจากหะดีษของอัซ-ซุฮฺรียฺ จากอุรฺวะฮฺ จากท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยยืนมองบนอาคารที่สูงแห่งหนึ่งของนครมะดีนะฮฺแล้วท่านได้กล่าวขึ้นว่า

(( هَلْ تَرَوْنَ مَاأَرى , قَالُوْا : لَا , قَال : فَإِنِّيْ لَأَرى الفِتَنَ تَقَعُ خِلَالَ بُيُوْتِكُمْ كَوَقْعِ الْمَطَرِ ))

ความว่า : “พวกท่านกำลังเห็นสิ่งที่ฉันมองเห็นหรือไม่? พวกเขา (เหล่าเศาะหาบะฮฺ) กล่าวว่า : ไม่ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : แท้จริง ฉันกำลังเห็นบรรดาความวุ่นวายที่มันกำลังตกอยู่ระหว่างบ้านเรือนของพวกท่านราวกับฝนตก” (อัน-นิฮายะฮฺ ฟิลฟิตัน วัล-มะลาหิม ; อิบนุ กะษีรฺ 1/60)

 

 ในบางส่วนของอัล-หะดีษบทนี้ระบุว่า (كَمَوَاقِعِ القَطْرِ) “เหมือนกับบรรดาที่ตกลงของสายฝน” (อัล-ลุอฺลุอฺ วัล-มัรฺญาน 3/301) ซึ่งสำนวนนี้เป็นการเปรียบเปรยด้วยคำว่า “บรรดาที่ตกลงของสายฝน” โดยบ่งถึงความมากและความครอบคลุมที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด แต่เป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยถ้วนทั่วไม่ต่างอะไรกับการที่ฝนตกลงมา

 

อัล-หาฟิซฺ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เหตุที่นครมะดีนะฮฺถูกระบุเป็นการเฉพาะด้วยสิ่งดังกล่าว นั่นเป็นเพราะการสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เกิดขึ้นที่นครมะดีนะฮฺ ต่อมาความวุ่นวายก็แพร่สะพัดไปยังหัวเมืองอื่นๆ ในภายหลัง สมรภูมิอูฐและสมรภูมิศิฟฟีน ล้วนแต่มีสาเหตุมาจากการสังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) สมรภูมิที่อัน-นะฮฺเราะวาน (กับพวกเราะวาริจญ์) ก็มีสาเหตุมาจากกรณีการตัดสิน (อัต-ตะหฺกีม) ที่ศิฟฟีน ทุกการสู้รบที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นล้วนแต่เกิดจากสิ่งหนึ่งจากกรณีดังกล่าว (ฟัตหุลบารียฺ 13/13)

 

ความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) ในประวัติศาสตร์เริ่มต้นในช่วงปลายสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ด้วยการลุกฮือของพลเมืองอียิปต์และอีรัก (อัล-กูฟะฮฺ และอัล-บัศเราะฮฺ) โดยกลุ่มผู้ลุกฮือได้เข้าสู่นครมะดีนะฮฺและมีชาวอาหรับหลายเผ่าจากพวกมุฎอรฺ , เราะบีอะฮฺ และยะมันเข้าร่วมสมทบ กลุ่มผู้ลุกฮือถูกอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺ และพรรคพวกของเขาปลุกปั่นและสร้างความเกลียดชังต่อเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) พวกที่ก่อการลุกฮือซึ่งมีจำนวน 2,000 คนได้ปิดล้อมท่านอุษมาน (ร.ฎ.) นับตั้งแต่ตอนปลายเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ จนถึงวันที่ 18 เดือนซุลหิจญะฮฺ ปี ฮ.ศ. 35 ซึ่งท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ถูกสังหาร และเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเปิดประตูสู่ความวุ่นวายในเวลาต่อมา โดยความวุ่นวายดังกล่าวเกิดขึ้นที่นครมะดีนะฮฺและแพร่สะพัดออกไปยังหัวเมืองอื่นๆ ตลอดจนเป็นสาเหตุของการสู้รบระหว่างเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) กับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิอูฐ สมรภูมิศิฟฟีน และการสู้รบกับพวกเคาะวาริจญ์

 

ความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) ที่เกิดขึ้นในนครมะดีนะฮฺโดยตรงนอกจากเหตุการณ์ลอบสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ยังรวมถึงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ. ที่ 63 ตรงกับรัชสมัยของเคาะลีฟะฮฺยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺแห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ กล่าวคือในปีนั้น ยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺได้รับแจ้งว่าพลเมืองมะดีนะฮฺได้ก่อการกบฏและไม่ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของยะซีด ยะซีดจึงส่งกองทัพไปปราบปรามพลเมืองมะดีนะฮฺ เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “เหตุการณ์อัล-หัรฺเราะฮฺ” ในครั้งนั้นมีเหล่าเศาะหาบะฮฺในนครมะดีนะฮฺถูกสังหารเป็นจำนวนมาก และพลเมืองมะดีนะฮฺก็ถูกสังหารเป็นอันมาก นครมะดีนะฮฺถูกปล้นสะดมภ์ และสตรีจำนวนนับพันคนถูกกระทำชำเรา (ตารีค อัล-คุละฟาอฺ ; ญะลาลุดดีน อัส-สุยูฏียฺ หน้า 185) ซึ่งกรณีหลังนี้จะได้วิเคราะห์ถึงต่อไป

 

อนึ่ง เหตุการณ์อัล-หัรฺเราะฮฺมีอัล-หะดีษระบุเป็นสัจจะพยากรณ์เอาไว้โดยเฉพาะว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) พร้อมเศาะหาบะฮฺจำนวนหนึ่งได้ออกเดินทางผ่านมาถึงเขตหัรฺเราะฮฺ ซุฮฺเราะฮฺ แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็หยุดและถอยหลังกลับ ท่านอุมัร (ร.ฎ.) จึงถามว่า โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ อะไรคือสิ่งที่ท่านได้เห็น? ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า  ((يُقْتَلُ بِهذِهِ الْحَرَّةِ خِيَارُأُمَّتِيْ بَعْدَأَصْحَابِيْ))“บรรดาบุคคลที่ดีที่สุดในประชาคมของฉันหลังจากบรรดาเศาะหาะบะฮฺของฉันจะถูกสังหาร ณ อัล-หัรฺเราะฮฺนี้” (อัล-มะอฺริฟะฮฺ วัต-ตารีค 54/182 , อัล-บิดายะฮฺ 6/302)

 

อิบนุ กะษีรฺ (ร.ฮ.) ระบุถึงสาเหตุกรณีเหตุการณ์อัล-หัรฺเราะฮฺว่า เมื่อพลเมืองมะดีนะฮฺถอดสัตยาบันที่เคยให้ไว้แก่ยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺซึ่งกระทำโดยคณะผู้แทนจากเมืองมะดีนะฮฺในปี ฮ.ศ. ที่ 62 พลเมืองมะดีนะฮฺก็แต่งตั้งอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฏีอฺเป็นผู้นำของกุรอยชฺ และอับดุลลอฮฺ อิบนุ หันเซาะละฮฺ อิบนิ อบีอามิรเป็นผู้นำชาวอันศอรฺ รวมถึงแต่งตั้งมะอฺกิล อิบนุ สินาน อัล-อัชญะอียฺเป็นผู้นำของบรรดามุฮาญิรีน ต่อมาในช่วงต้นปี ฮ.ศ. ที่ 63  พลเมืองมะดีนะฮฺก็ประกาศไม่ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของยะซีด โดยรวมตัวกันที่มิมบัรฺของมัสยิดนะบะวียฺ คนหนึ่งจากพวกเขาก็กล่าวขึ้นว่า : แน่แท้ ฉันได้ถอดสัตยาบันของยะซีดเหมือนอย่างที่ฉันได้ถอดผ้าโพกศีรษะนี้ แล้วผู้นั้นก็โยนผ้าโพกศีรษะของตน อีกคนหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า “แน่แท้ ฉันได้ถอดสัตยาบันของยะซีดแล้วเหมือนกับที่ฉันถอดรองเท้าของฉันนี้” คนอื่นๆ ก็กระทำเช่นชายสองคนนั้นจนที่นั่นมีผ้าโพกศีรษะและรองเท้ากองรวมกันเป็นจำนวนมาก

 

ต่อมาพวกเขาก็รวมตัวกันขับไล่ข้าหลวงของยะซีดที่อยู่ท่ามกลางพวกเขา คือ อุษมาน อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อบีสุฟยาน ซึ่งเป็นลูกของลุงยะซีด พลเมืองมะดีนะฮฺที่รวมตัวกันได้มีมติให้ขับไล่คนในตระกูลอุมัยยะฮฺออกจากนครมะดีนะฮฺอีกด้วย พวกคนในตระกูลอุมัยยะฮฺจึงไปรวมตัวกันที่บ้านของ มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม พลเมืองมะดีนะฮฺจึงปิดล้อมพวกเขาเอาไว้ ในเวลานั้น ท่านอะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ ซัยนุลอาบิดีน (ร.ฎ.) และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ทั้งสองท่านไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพลเมืองมะดีนะฮฺ คนในตระกูลอับดุลมุฏ-เฏาะลิบและท่านมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะนะฟียะฮฺก็ปฏิเสธที่จะถอดการสัตยาบันที่ให้ไว้แก่ยะซีดและแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกบฏของพลเมืองมะดีนะฮฺ

 

ฝ่ายคนในตระกูลอุมัยยะฮฺได้มีหนังสือไปถึงยะซีดเพื่อแจ้งให้ทราบว่าพวกเขาถูกพลเมืองมะดีนะฮฺปิดล้อมและดูแคลน ในท้ายที่สุดยะซีดได้มีหนังสือถึงมุสลิม อิบนุ อุกบะฮฺ อัล-มุซะนียฺให้นำทัพม้าจำนวน 10,000 คน (บ้างก็ว่า 12,000 คน หรือ 15,000 คน) มุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺ ยะซีดได้สั่งให้มุสลิมเรียกร้องพลเมืองมะดีนะฮฺเป็นเวลา 3 วัน ถ้าพลเมืองมะดีนะฮฺไม่ยอมรับข้อเรียกร้องให้กลับสู่การสวามิภักดิ์ต่อยะซีด ก็อนุญาตให้ปล้นสะดมนครมะดีนะฮฺได้ 3 วัน ซึ่งนี่เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของยะซีด นอกจากนี้ยะซีดยังได้กำชับให้มุสลิม  อิบนุ อุกบะฮฺ ปฏิบัติดีกับท่านอะลี ซัยนุลอาบิดีน อิบนุ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) อีกด้วย

 

เมื่อกองทัพของมุสลิมยกมาถึงนครมะดีนะฮฺ ก็พากันลงพักตั้งค่ายทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺในเขตที่เรียกว่า อัล-หัรฺเราะฮฺ (เป็นทุ่งที่มีหินสีดำเนื่องจากถูกแสงแดดแผดเผา) ตามข้อเสนอของอับดุลมะลิก อิบนุ มัรวาน ฝ่ายมุสลิมก็เรียกร้องพลเมืองมะดีนะฮฺให้ยอมสวามิภักดิ์เป็นเวลา 3 วัน พลเมืองมะดีนะฮฺก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของมุสลิม ครั้นถึงวันที่ 4 ซึ่งตรงกับวันพุธก่อนสิ้นเดือนซุลหิจญะฮฺ 2 คืน ปี ฮ.ศ. 63 จึงมีการเตรียมกองทัพเพื่อรบพุ่งระหว่างกัน ฝ่ายพลเมืองมะดีนะฮฺได้ขุดสนามเพลาะและแบ่งทัพออกเป็น 4 ทัพ ทัพใหญ่มีอับดุลลอฮฺ อิบนุ หันเซาะละฮฺ อัล-เฆาะสีลเป็นแม่ทัพ ต่อมาเกิดการรบพุ่งอย่างดุเดือด ฝ่ายพลเมืองมะดีนะฮฺก็ปราชัย มีบุคคลสำคัญๆ จำนวนมากของทั้ง 2 ฝ่ายได้ถูกสังหารในการรบ เช่น อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฏีอฺและลูกชาย 7 คนของเขา , อับดุลลอฮฺ อิบนุ หันเซาะละฮฺ อัล-เฆาะสีล , มุฮัมมัด อิบนุ ษาบิต อิบนิ ชัมมาส พี่น้องร่วมมารดาของอับดุลลอฮฺ อัล-เฆาะสีล , มุฮัมมัด อิบนุ อัมร์ อิบนิ หัซฺม์ เป็นต้น (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุ กะษีร 8/226-228 โดยสรุป)

 

ต่อมามุสลิม อิบนุ อุกบะฮฺ (ซึ่งชนรุ่นสะลัฟเรียกบุคคลผู้นี้ “มุสริฟ อิบนุ อุกบะฮฺ” คำว่า มุสริฟ (مُسْرِف) หมายถึงผู้ที่เลยเถิดหรือผู้อธรรม) ได้อนุญาตให้ทหารในกองทัพของตนปล้นสะดมนครมะดีนะฮฺ และมุสลิมได้เข่นฆ่าบรรดาบุคคลสำคัญและนักอ่านของนครมะดีนะฮฺเป็นจำนวนมาก และปล้นสะดมทรัพย์สินของพลเมืองมะดีนะฮฺ (อ้างแล้ว 8/228)

 

อัล-มะดาอินียฺเล่าจากผู้อาวุโสคนหนึ่งของพลเมืองมะดีนะฮฺว่า ฉันได้ถามอัซ-ซุฮฺรียฺว่าในวันอัล-หัรฺเราะฮฺมีผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าใด? อัซ-ซุฮฺรียฺกล่าวว่า : 700 คนจากบรรดาบุคคลสำคัญที่เป็นชาวมุฮาญิรีนและอันศอรฺ ตลอดจนบุคคลสำคัญของพวกมะวาลียฺ ซึ่งมีทั้งเสรีชนและทาสรวมถึงผู้คนทั่วไปอีก 10,000 คน (อ้างแล้ว 8/229)

 

คำบอกเล่าของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อันเป็นสัจจะพยากรณ์ว่าจะเกิดความวุ่นวายซึ่งเป็นการประหัตประหารพลเมืองมะดีนะฮฺโดยถ้วนทั่วในทุกเขตของนครมะดีนะฮฺจึงน่าจะหมายถึงเหตุการณ์ในวันอัล-หัรเราะฮฺ ปี ฮ.ศ. 63 นี้ด้วยอย่างแน่นอน นอกเหนือจากกรณีการสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ซึ่งเกิดขึ้นที่นครมะดีนะฮฺเช่นกัน วัลลอฮุอะอฺลัม

 

อนึ่ง เหตุการณ์วัลอัล-หัรฺเราะฮฺในปี ฮ.ศ. ที่ 63 นี้มีการรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง และการรายงานที่ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเกินจริงซึ่งเข้าข่ายเป็นการอุปโลกน์โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดต่อศักดิ์และสิทธิต้องห้ามของนครมะดีนะฮฺโดยนักประวัติศาสตร์ระบุสายรายงานต่างกัน อัฏ-เฏาะบะรียฺเล่าสายรายงานไว้ 2 รายงาน รายงานที่หนึ่งนั้นยืดยาวและลงรายละเอียด มี อบูมิคนัฟ อัล-อัซดียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 774) เป็นผู้รายงานหลักโดยระบุว่า ยะซีดได้กำชับให้มุสลิม อิบนุ อุกบะฮฺปล้นสะดมนครมะดีนะฮฺเป็นเวลา 3 วัน กรณีนี้หากว่าพลเมืองมะดีนะฮฺยืนกรานที่จะสู้รบ และในรายงานนี้ยังระบุด้วยว่า การอนุญาตให้ละเมิดในนครมะดีนะฮฺเป็นการปล้นสะดมทรัพย์สิน ส่วนการายงานที่สองนั้นรายงานจากอะหฺมัด อิบนุ ซุฮัยรฺ จากบิดาของเขา จากวะฮฺบ์ อิบนุ ญะรีรฺ จากญุวัยรอยฮฺ อิบนุ อัสมาอฺ เป็นการรายงานแบบมุขปาฐะและไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ว่ามีการละเมิดด้วยการปล้นสะดมนครมะดีนะฮฺแต่อย่างใด

 

อิบนุ อัล-อะษีรฺได้ถ่ายทอดการรายงานที่หนึ่งของอัฏ-เฏาะบะรียฺเพียงสรุปคร่าวๆ โดบระบุในรายงานว่ามีการปล้นสะดมทรัพย์สินและของมีค่า ส่วนอิบนุ กะษีรนั้น ท่านได้รายงานไว้หลายกระแสในอัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ส่วนหนึ่งคือรายงานจากอัล-มะดาอินียฺซึ่งบ่งชี้ว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศของทหารกับสตรีของนครมะดีนะฮฺ (8/224) แต่การรายงานนี้ไม่ถูกต้องและไม่พบว่ามีระบุไว้ในแหล่งอ้างอิงเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ ดร.หัมด์ มุฮัมมัด อัล-อะรีนานได้ตรวจสอบประเด็นที่ว่านี้และวิภาษสายรายงานต่างๆ ตลอดจนสืบค้นที่มาและได้ผลสรุปว่าเป็นเรื่องมุสา โดยพบว่าแหล่งอ้างอิงที่ระบุกรณีการละเมิดทางเพศและการกระทำชำเราสตรีเป็นจำนวนมากในนครมะดีนะฮฺในเหตุการณ์วันอัล-หัรฺเราะฮฺมีแหล่งที่มาสำคัญจากหนังสืออัล-อิมามะฮฺ วัส-สิยาสะฮฺ ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นงานเขียนของอิบนุ กุตัยบะฮฺ ทั้งๆ ที่การอ้างหนังสือเล่มนี้ว่าท่านอิมาม อิบนุ กุตัยบะฮฺเป็นผู้เขียนเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและในหนังสือเล่มนี้มีรายงานที่มุสาและถูกอุปโลกน์เป็นจำนวนมาก

 

การระบุรายงานว่ามีการละเมิดทางเพศและกระทำชำเราต่อสตรีในเหตุการณ์วันอัล-หัรฺเราะฮฺจึงเป็นเรื่องโกหกที่ถูกเสริมแต่งและมิอาจเชื้อถือได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันอัล-หัรฺเราะฮฺคือการรบพุ่งระหว่างพลเมืองมะดีนะฮฺที่ถอดสัตยาบันซึ่งเคยให้ไว้แก่ยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺกับกองทหารชาม (ซีเรีย) การเสียชีวิตของเศาะหาบะฮฺที่เป็นชาวมุฮาญิรีนและอันศอรฺตลอดจนพลเมืองมะดีนะฮฺจำนวนมากมีการปล้นสะดมทรัพย์สินและการหลั่งเลือดผู้คนโดยมุสลิม อิบนุ อุกบะฮฺ เป็นผู้บงการทั้งๆ ที่พลเมืองมะดีนะฮฺได้ยอมจำนนแล้วภายหลังการปราชัยในการรบพุ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อศักดิ์และสิทธิของนครมะดีนะฮฺจะมีการอนุญาตให้ปล้นสะดมเป็นเวลา 3 วันหรือไม่ก็ตาม

 

สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงเช่นกันคือการที่ยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺได้พยายามส่งตัวแทนไปเจรจากับพลเมืองมะดีนะฮฺก่อนหน้าการส่งกองทัพไปปราบปรามพลเมืองมะดีนะฮฺ โดยยะซีดได้ส่งอันนุอฺมาน อิบนุ บิชร์ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ไปเจรจากับพลเมืองมะดีนะฮฺแต่ก็ล้มเหลว (ตารีค อัฏ-เฏาะบารียฺ 5/481) ต่อมาก็ส่งอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัรฺไปเจรจาอีกครั้ง ซึ่งล้มเหลวเช่นกัน ความผิดพลาดของยะซีดก็คือการแต่งตั้งให้มุสลิม อิบนุ อุกบะฮฺเป็นแม่ทัพในการปราบปรามพลเมืองมะดีนะฮฺ และการออกคำสั่งของยะซีดที่ให้ปล้นสะดมนครมะดีนะฮฺได้ 3 วัน หากเป็นเรื่องจริงก็ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของยะซีด อิบนุ มุอาวียะฮฺ แต่ถ้าไม่จริงยะซีดก็คงไม่พ้นความรับผิดชอบไปได้อยู่ดี เพราะเพียงแค่การใช้กองทัพปิดล้อมนคร มะดีนะฮฺเอาไว้ก็น่าจะเพียงพอแล้วโดยไม่ต้องมีการรบพุ่ง เพราะนครมะดีนะฮฺไม่อาจยืนหยัดในการถูกปิดล้อมเป็นเวลานาน กอปรกับจำนวนกองทหารของพลเมืองมะดีนะฮฺก็มีจำนวนน้อยกว่าทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเสบียงกรังก็มีไม่มาก และจำต้องอาศัยกองคาราวานบรรทุกอาหารที่มุ่งมาจากเมืองอื่น

 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กองทัพของยะซีดย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว นอกจากนี้การตัดสินใจของพลเมืองมะดีนะฮฺในการก่อการกบฏก็ไม่เป็นผลดีต่อพลเมืองมะดีนะฮฺเอง และผลเสียตลอดจนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในวันอัล-หัรฺเราะฮฺนั้นบ่งชี้ว่าการตัดสินใจก่อการกบฏของพลเมืองมะดีนะฮฺเป็นสิ่งที่ผิดพลาดและสูญเสียมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ เหตุนี้จึงพบว่าบรรดาบุคคลสำคัญในนครมะดีนะฮฺไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ถอดการสัตยาบันและก่อการกบฏต่อเคาะลีฟะฮฺ เช่น อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) , อะลี ซัยนุลอาบิดีน อิบนุ หุสัยนฺ (ร.ฮ.) สะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ (ร.ฮ.) และมุฮัมมัด อิบนุ อัล-หะนะฟียะฮฺ (ร.ฮ.) เป็นต้น และบรรดาบุคคลในตระกูลอัล-คอฏฏอบียะฮฺ (ร.ฮ.) เป็นต้น และบรรดาบุคคลในตระกูลอัล-คอฏฏอบียะฮฺ (ลูกหลานของท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ) ตระกูลอัล-มุฏเฏาะลิบและวงศ์วานอะฮฺลุลบัยต์ก็ไม่ได้ถอดสัตยาบันของยะซีด ดังคำกล่าวของอิมาม อบูญะอฺฟัรฺ อัล-บากิรฺ (ร.ฮ.) ที่ว่า : ไม่มีคนหนึ่งคนใดจากวงศ์วานของอบูฏอลิบและคนในตระกูลอับดุลมุฏ-เฏาะลิบออกมาในวันอัล-หัรฺเราะฮฺ (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 8/240)