ความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) จะมาจากทางทิศตะวันออกซึ่งเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้นจากทางนั้น
จากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวขณะที่ท่านหันหน้าไปทางทิศตะวันออกว่า
((أَلَاإِنَّ الفِتْنَةَ هَاهُنَامِنْ حَيْث يَطْلُعُ قَرْنُ الشيطانِ))
ความว่า “พึงทราบเถิด แท้จริงความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) อยู่ ณ ที่นี่จากที่ซึ่งเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้น” (อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)
อิมามมุสลิมรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) มีสำนวนว่า :
((رَأْسُ الكُفْرِههُنَا مِنْ حَيْث يَطْلُعُ قَرْنُ الشيطانِ))
ความว่า “ศีรษะของการปฏิเสธอยู่ ณ ที่นี้จากที่ซึ่งเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้น” (หะดีษเลขที่ 2905)
และมีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า :
((رَأْسُ الكُفْرِ نَحْوَالْمَشْرِقِ , وَالْفَخْرُوَالْخُيَلَاءُفى أَهْلِ الخَيْلِ وَالْإِبِلِ , الَفَدَّادِيْنَ أَهْلُ الْوَبَرِ , والسَّكِيْنَةُفى أَهْلِ الغَنَمِ))
ความว่า : “ศีรษะของการปฏิเสธอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและการโอ้อวดตลอดจนความหยิ่งยะโสอยู่ในหมู่ชนแห่งฝูงม้าและอุฐ พวกที่ชอบส่งเสียงดังคือพวกที่เร่รอนเลี้ยงสัตว์ (พวกเบดูอิน) และความสงบอยู่ในหมู่ชนแห่งฝูงแพะ-แกะ” (ญามิอฺ อัล-อุศูล 10/61 หะดีษเลขที่ 7528)
คำว่า “อัล-ฟิตนะฮฺ” ( اَلْفِتْىنَةَ ) ตามความหมายของรากศัพท์คือการทดสอบ ต่อมาก็ถูกใช้ในความหมายของสิ่งที่การทดสอบได้นำสิ่งนั้นออกมาจากสิ่งที่น่ารังเกียจ หรือแปรเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่น่ารังเกียจ เช่น การปฏิเสธศาสนา, บาป, การบิดเบือน, ความชั่วที่ถูกเปิดโปงและความชั่วช้าเลวทราม เป็นต้น (ฟัตหุลบารียฺ 13/7)
ดังนั้น คำว่า อัล-ฟิตนะฮฺ จึงมีความหมายหลากหลาย ส่วนหนึ่งมีความหมายว่า การตั้งภาคี และการปฏิเสธศาสนา
คำว่า “ศีรษะแห่งการปฏิเสธ” ในสำนวนของอัล-หะดีษที่ระบุข้างต้นจึงมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า อัล-ฟิตนะฮฺ ที่ถูกระบุในอัล-หะดีษบทแรก คำว่า อัล-ฟิตนะฮฺยังหมายถึงการฆ่า การสู้รบ การประหัตประหารในหมู่ชน ความแตกแยก ความวุ่นวาย มิคสัญญี การละเมิดของผู้ปกครอง และการกบฏดื้อแพ่ง เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ ทุกเรื่องที่เลวร้ายและทุกสภาวะที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายถือเป็นฟิตนะฮฺทั้งสิ้น
ในบรรดาอัล-หะดีษที่ระบุมาบ่งชี้ว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศที่เขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้น และความเลวร้ายในรูปแบบต่างๆ ก็มีต้นตอที่มาจากทิศตะวันออกโดยผู้คนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺจะเป็นผู้นำความเลวร้ายและความวุ่นวายมาสู่นครมะดีนะฮฺและแพร่สะพัดไปทั่วทุกสารทิศ คำว่า “ทิศตะวันออก” จึงหมายถึงทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺซึ่งมีอัล-หะดีษระบุว่าเป็นแคว้นนัจญัดฺ ดังมีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า أَللّهُمَّ بَارِكْ لَنَافى شَامِنَا , أللهُمَّ بَارِكْ لَنَافى يَمَنِنَا ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงประทานความมีสิริมงคลแก่เราในดินแดนชามของเรา โอ้ อัลลอฮฺ ของทรงประทานความมีสิริมงคลแก่เราในดินแดนยะมันของเรา”
บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงกล่าวว่า يَارَسُوْلَ اللهِ , وفى نَجْدِنَا؟ “โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ และในดินแดนนัจญ์ดฺของเราด้วย” อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันคิดว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวในครั้งที่สาม (หลังจากที่ท่านไม่กล่าวตอบรับเหล่าเศาะหาบะฮฺ) ว่า : ((هُنَاكَ الزَّلَازِلُ وَالْفِتَنُ , وَبِهَا يَطْلَعُ قَرْنُ الشَّيْطَانِ)) ความว่า “ที่โน่น (แคว้นนัจญ์ดฺ) คือบรรดาแผ่นดินไหวและบรรดาความวุ่นวาย และที่นั่นเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้น” (อัล-บุคอรียฺ / ฟัตหุลบารียฺ 13/45)
ตามรากศัพท์ คำว่า อัน-นัจญ์ดฺ ( النَّجْدُ) หมายถึงสิ่งที่สูงหรือยกสูงจากแผ่นดิน, เส้นทางที่สูงชัน แคว้นนัจญ์ดฺเป็นแคว้นที่อยู่ตอนกลางของประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน อยุ่ทางทิศตะวันออกของแคว้นอัน-หิญาซ มีอาณาเขตแผ่ยื่นระหว่างทะเลทรายอัน-นะฟูด อัล-กุบรอ และเขตอัรฺ-รุบอุลคอลียฺ พื้นที่ของแคว้นนัจญ์ดฺเป็นที่ราบสูงทะเลทรายที่ลาดชันไปทางแคว้นอัล-อะหฺสาอฺทางทิศตะวันออก
อัล-คอฏฏอบียฺกล่าวว่า : นัจญ์ดฺอยู่ทางทิศตะวันออก และบุคคลใดอยุ่ที่นครมะดีนะฮฺ คำว่านัจญ์ดฺของผู้นั้นก็คือเขตทะเลทรายของอีรักและเขตต่างๆ ของอีรัก อันเป็นทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ เดิมคำว่า นัจญ์ดฺ หมายถึงพื้นดินที่สูงชัน ตรงกันข้ามกับคำว่า อัล-เฆาวฺร์ (الغَوْرُ) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ต่ำ และแคว้นติฮามะฮฺทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของอัล-เฆาวฺร์ และมักกะฮฺเป็นส่วนหนึ่งจากติฮามะฮฺ (ฟัตหุลบารียฺ 13/47)
ไม่ต้องสงสัยว่า อีรักอยู่ทิศตะวันออก และสำหรับมะดีนะฮฺถือว่า อีรัก คือ นัจญ์ดฺ นี่เป็นความเข้าใจของท่านสาลิม อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อุมัรฺ ซึ่งขณะที่ชาวอีรักได้กระทำความผิดอันใหญ่หลวง (คือหลอกลวงท่านอัล-หุสัยนฺกับครอบครัวของท่านมุ่งหน้าไปยังอีรักแล้วละทิ้งให้ท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) กับครอบครัวต้องถูกสังหารหมู่ที่กัรฺบะลาอฺ) พวกเขาได้ถามถึงเรื่องที่ไร้สาระ (คือการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ จำพวกแมลงวันของผู้ครองอิหฺรอม) ท่านสาลิมได้กล่าวกับพลเมืองอีกรักกลุ่มนั้นว่า : โอ้ พลเมืองอีรัก อะไรที่ทำให้พวกท่านถามถึงเรื่องเล็กๆ และทำให้พวกท่านประกอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฉันเคยได้ยินบิดาของฉันกล่าวว่า : ฉันเคยได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงความวุ่นวาย (ฟิตนะฮฺ) จะมาจากทางนี้ และท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ชี้มือของท่านไปทางทิศตะวันออก (พร้อมกล่าวว่า) จากที่ซึ่งสองเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้น และพวกท่านจะบั่นคอซึ่งกันและกัน (มุสลิม : 2905) แสดงว่าท่านสาลิมเข้าใจว่า นัจญ์ดฺ คืออีรักซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ
กระนั้นก็มีนักวิชาการบางท่านที่เข้าใจว่านั่นคือ แคว้นนัจญ์ดฺในซาอุดิอาระเบียปัจจุบันซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดของกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺ และราชวงศ์สุอูดโดยนักวิชาการกลุ่มนี้ถือว่ากลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺเป็นกลุ่มที่หลงผิดเพราะชัยคฺมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฺฮาบ (ร.ฮ.) ถือกำเนิดในเมืองอัล-อุยัยนะฮฺ ดินแดนอัล-ยะมามะฮฺซึ่งอยู่ในแคว้นนัจญ์ดฺ เติบโตที่นั่นและเคยศึกษาที่เมืองอัล-บัศเราะฮฺ อีรัก เมืองอัดดิรฺอียะฮฺซึ่งเป็นเขตชานเมืองของนครริยาฏ ที่เผยแผ่ของมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฺฮาบ (ร.ฮ.) ก็อยู่ในแคว้นนัจญ์ดฺ และแคว้นนัจญ์ดฺซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺก็อยู่ทางตะวันออกของนครมะดีนะฮฺตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
กอปรกับข้อกล่าวหาว่าหลักความเชื่อของกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺผิดเพี้ยนจากหลักความเชื่อของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺและตีความอัล-หะดีษที่ระบุว่า “ที่โน่นคือบรรดาแผ่นดินไหวและความวุ่นวาย” โดยคำว่า “บรรดาแผ่นดินไหว” มิได้หมายความถึงแผ่นดินไหวจริงๆ แต่หมายถึง การสั่นคลอนหลักความเชื่อและศรัทธาที่ถูกต้องให้วิปริตผิดเพี้ยนไป อีกทั้งยังกล่าวหาว่ากลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺคือเคาะวาริจญ์ที่ตักฟีร (กล่าวหาว่ามุสลิมตกศาสนา) และอีกหลายข้อกล่าวหา
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการตีความอัล-หะดีษเรื่อง อัน-นัจญ์ดฺ ว่าหมายถึงกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺของนักวิชาการกลุ่มนี้ที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺ ซึ่งพิจารณาดูแล้วก็มีความเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายที่เจาะจงว่า นัจญ์ดฺคือดินแดนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัล-วะฮาบียะฮฺและราชวงศ์อาล-สุอูดในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามนักวิชาการกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺได้หักล้างและตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าวจากฝ่ายตรงกันข้าม
และผู้เขียนให้น้ำหนักตามคำอธิบายของอิมามอัล-คอฏฏอบียฺ และท่านสาลิมที่เข้าใจว่า อัน-นัจญ์ดฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวถึงคืออีรัก ถึงแม้ว่าจะหมายถึงแคว้นนัจญ์ดฺในประเทศซาอุดิอาระเบียด้วยก็ตาม เนื่องจากมีภูมิประเทศติดต่อกันและตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺเช่นกัน ส่วนกรณีเจาะจงว่าหมายถึงกลุ่มอัล-วะฮฺฮาบียะฮฺที่อยู่ในแคว้นนัจญ์ดฺหรือไม่เป็นเรื่องที่คู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายโต้เถียงกันจะจริงหรือไม่จริงก็ว่ากันไป เราเพียงแต่เสนอความเห็นว่ามีการตีความอัล-หะดีษเรื่องอัน-นัจญ์ดฺว่าอย่างไรเท่านั้น
ย้อนกลับไปยังกรณีอันเป็นสัจจะพยากรณ์ที่ระบุว่า ความวุ่นวายมีจุดกำเนิดมาจากทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺซึ่งหมายถึง อีรักและดินแดนแถบนั้น ผู้อ่านประวัติศาสตร์ยุคต้นของอิสลามจะพบว่ากระแสความวุ่นวายที่พัดถาโถมเข้าใส่ประชาคมมุสลิมและโลกอิสลามเกิดจากทิศนั้น คือ ทิศตะวันออกซึ่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ระบุว่าเขาของมารร้ายจะโผล่ขึ้นจากทางนั้น ถึงแม้ว่าความวุ่นวายจะมาจากทิศอื่นด้วยก็ตาม ดังกรณีการสร้างความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปลายสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) และนำไปสู่การสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เริ่มมาจากทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ
กล่าวคือ ในเดือนเชาวาล ปี ฮ.ศ. ที่ 35 พวกก่อการจลาจลได้ออกจากนครอัล-กูฟะฮฺ และอัล-บัศเราะฮฺ (อีรัก) ตลอดจนอียิปต์มุ่งหน้าสู่นครมะดีนะฮฺ ซึ่งผลที่ตามมาคือการสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) และในปี ฮ.ศ. ที่ 36 ได้เกิดสมรภูมิอูฐนอกเมืองอัล-บัศเราะฮฺ (อีรัก) ต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 39 ที่ตำบลอัน-นุคอยละฮฺ เขตหะรูรออฺ ซึ่งอยู่ใกล้กับนครอัล-กูฟะฮฺ (อีรัก) เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) กับพวกกบฏอัล-เคาะวาริจญ์ซึ่งซ่องสุมกำลังและออกมาจากดินแดนทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ คือ อีรัก และในปี ฮ.ศ. ที่ 40 ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก็ถูกอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ มุลญัมลอบสังหารที่นครอัล-กูฟะฮฺ (อีรัก)
ต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 61 ท่านอัล-หุสัยนฺ อิบนุ อะลี (ร.ฎ.) และผู้คนที่ร่วมกับท่านซึ่งมีจำนวน 72 คนได้ถูกกองทัพของอุบัยดุลลออฺ อิบนุ ซิยาดซึ่งมีจำนวน 5,000 คนจากนครอัล-กูฟะฮฺสังหารหมู่ ณ ตำยลกัรบะลาอฺ มีเพียงท่านอะลี ซัยนุลอาบีดีน อิบนุ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) เท่านั้นที่รอดชีวิตเพราะล้มป่วย ในจำนวน 70 กว่าคนนั้นมีบุคคล 17 คน ที่ทั้งหมดเป็นอะฮฺลุลบัยตฺ และอีกหนึ่งคนคือ มุสลิม อิบนุ อุกอยล์ ถูกสังหารที่นครอัล-กูฟะฮฺ และตำบลกัรฺบะลาอฺ ตั้งอยู่ในอีรัก การสังหารท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ใหญ่หลวงของประชาคมมุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัย
หากเราจะย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก่อนหน้าเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะพบว่า ชนเผ่าอาหรับที่ตกศาสนาในช่วงหลังการสิ้นชีวิตของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเป็นต้นสมัยเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ. ที่ 11 ชนเผ่าฏอยยิอฺ, อะสัด ตะมีม, หะนีฟะฮฺในแคว้นอัล-ยะมามะฮฺและเผ่าอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีนิวาสถานตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺทั้งสิ้น
และทางทิศนั้นก็เป็นที่ตั้งของแคว้นอัล-อะหฺสาอฺซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺที่มีหัมดาน กิรฺมิฏเป็นผู้ก่อตั้ง บุคคลผู้นี้เป็นนักเผยแพร่ของพวกอิสมาอิลียะฮฺ เกิดที่แคว้นคูซิสตาน และใช้ชีวิตอยู่ในนครอัลกูฟะฮฺเมื่อปี ฮ.ศ. ที่ 258 ต่อมาในปี ฮ.ศ. 317 / ค.ศ. 930 พวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺได้เข้ายึดครองนครมักกะฮฺและสังหารบรรดาหุจญาจเป็นจำนวนมาก พวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺได้นำเอาหินดำ (อัล-หะญะรุล อัสวัด) ไปไว้ที่แคว้นอัล-อะหฺสาอฺ ต่อมาหินดำก็ถูกนำกลับมาสถิตย์ไว้ ณ บัยติลลาฮฺอีกครั้งหลังจากพวกอัล-กะรอมิเฏาะฮฺนำไปไว้ที่แคล้นอัล-อะหฺสาอฺเป็นเวลาถึง 22 ปี ทั้งนครอัล-กูฟะฮฺ (อีรัก) และแคว้นอะหฺสาอฺต่างก็อยู่ทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ ภัยของพวกกะรอมิเฏาะฮฺจึงมาจากทางทิศตะวันออกอย่างไม่ต้องสงสัย
บรรดาผู้กล่าวอ้างการเป็นนบี (นบีเก๊) นอกเหนือจากมุสัยลิมะฮฺ อัล-กัซซาบในแคว้นอัล-ยะมามะฮฺ มีผู้กล่าวอ้างการเป็นนบีหลายคนที่ปรากฏตัวในดินแดนอีรัก เช่น อัล-มุคตารฺ อัษ-ษะเกาะฟียฺ ที่นครอัล-กูฟะฮฺ , อบูมันศูร อัล-อัจญ์ลียฺ ที่อีรัก , อัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ สะอีด ที่อีรัก, อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัยมูน ที่นครอัล-กูฟะฮฺ, อิสหาก อัล-อัครอส ที่อิศะาฮานและมีผู้คนหลงเชื่อเขาผู้นี้ว่าเป็นนบีทั้งในนครอัล-บัศเราะฮฺและโอมาน, มะหฺมูด อัน-นัยสะบูรียฺ ที่นครสะมัรฺรออฺ (อีรัก), อบู อัฏ-ฏอยยิบ อัล-มุตะนับบียฺเดิมก็มาจากนครอัล-กูฟะฮฺ (อีรัก) การกล่าวอ้างการเป็นนบีของบุคคลเหล่านี้ถือเป็นการปฏิเสธและเป็นฟิตนะฮฺที่ใหญ่หลวง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากดินแดนของอีรักหรือนัจญ์ดฺของนครมะดีนะฮฺ
กลุ่มความเชื่อที่ผิดเพี้ยนและหลงผิดจำนวนมิใช่น้อยก็มีจุดกำเนิดมาจากทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ ทั้งในอีรักและดินแดนที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออก เช่น กลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺที่มีวาศิล อิบนุ อะฏออฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. ที่ 131) เป็นผู้ก่อตั้งก็เป็นชาวเมืองอัล-บัศเราะฮฺ, อัล-ญะอฺด์ อิบนุ ดิรฮัม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 124) ซึ่งอัล-ญะฮฺม์ อิบนุ ศอฟวานได้รับเอาความเชื่อที่ว่าอัล-กุรอานเป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาจากบุคคลผู้นี้ก็มีที่มาจากแคว้นคุรอสาน ต่อมาก็หลบหนีพวกอัล-อุมะวียะฮฺ มาอยู่ ณ นครอัล-กูฟะฮฺ , อัล-ญะฮฺม์ อิบนุ ศอฟวาน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 128) เป็นชาวเมืองสะมัรกอนด์ในเอเซียกลาง ต่อมาก็เริ่มเผยแพร่ความเชื่อของตนในเมืองติรฺมิซ และย้ายมาอาศัยอยู่ที่เมืองบะลัค (บักเตรีย-อัฟกานิสถาน), มุกอติล อิบนุ สุลัยมาน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 150) ซึ่งเป็นพวกมุชับบิฮะฮฺที่เปรียบคุณลักษณะของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่าเหมือนกับคุณลักษณะของมนุษย์
ในอดีตดินแดนที่ตั้งของเมืองติรฺมิซและบะลัคถูกเรียกว่า แคว้นคุรอสาน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺและคาบสมุทรอาหรับ ในแคว้นคุรอสานจึงเป็นจุดกำเนิดของพวกญะฮฺมียะฮฺและพวกมุชับบิฮะฮฺหรือมุญัสสิมะฮฺ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มชีอะฮฺต่างๆ ในอีรัก เช่น พวกอัร-รอฟิเฎาะฮฺ กลุ่มอัล-บาฏินียะฮฺ เป็นต้น กลุ่มอัล-เคาะวาริจญ์ก็มีจุดกำเนิดจากนครอัล-บัศเราะฮฺ และอัล-กูฟะฮฺในอีรัก, กลุ่มอัล-บาบียะฮฺซึ่งมีอะลี มุฮัมมัด อัช-ชีรอซียฺ (ค.ศ. 1819-1850) เป็นผู้ก่อตั้งก็มีจุดเริ่มต้นที่อิหร่าน หรือแคว้นฟาริสเดิมซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺและคาบสมุทรอาหรับ, กลุ่มอัล-บะฮาอียะฮฺ (บาไฮ) ที่ก่อตั้งโดยบะฮาอุลลอฮฺ (ค.ศ. 1817 – 1892) ผู้สืบทอดอะลี มุฮัมมัด อัช-ชีรอซียฺ อัล-บาบ ก็เกิดขึ้นในอิหร่าน นครเตหะราน เป็นต้น
การปรากฏขึ้นของกลุ่มความเชื่อและลัทธิดังกล่าวถือเป็นฟิตนะฮฺที่ยิ่งใหญ่สำหรับประชาคมมุสลิมโดยรวม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดในดินแดนทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ และนั่นคือความหมายในสัจจะพยากรณ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เรียกว่า “ศีรษะของการปฏิเสธ” ( رَاْسُ الْكُفْرِ )
การเข่นฆ่าและสงครามที่รุนแรงซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “อัล-ฟิตนะฮฺ” ที่ถูกระบุถึงในอัล-หะดีษยังหมายรวมถึง การทำลายล้างของกองทัพมองโกล-ตาตาร์ซึ่งเริ่มต้นโดยเจงกิสข่าน (ค.ศ. 1188-1227) ด้วยการทำลายล้างอาณาจักรของคุวาริซม์ชาฮฺในเอเซียกลาง การยึดครองดินแดนของชาวมุสลิมทางทิศตะวันออกของนครมะดีนะฮฺ เช่น อีรัก อีหร่าน และแคว้นชาม เป็นต้น และการทำลายนครแบกแดด (อีรัก) ในปี ฮ.ศ. 656/ ค.ศ. 1273 โดยฮูลาโก (ราวค.ศ. 1217 – 1265) หลานชายของเจงกิสข่านทำให้ราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดสิ้นสุดลงพร้อมกับอารยธรรมอิสลามต้องถูกทำลายล้างไปในครานั้น พวกมองโกลเป็นพวกปฏิเสธและนิวาสถานของพวกเขาอยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งเขาของมารร้ายโผล่ขึ้นจากทางทิศนั้น คำบอกของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามที่ปรากฏในอัล-หะดีษเป็นสัจจะพยากรณ์อย่างไม่ต้องสงสัย
วัลลอฮุอะอฺลัม