วิภาษเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในหนังสือแปล “ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร” [ตอนที่ ๔]

โจเซฟ แกร์ เขียนว่า

“หลังจากคัมภีร์โกรานจัดทำเป็นเล่มแล้ว ส่วนอื่นๆ ที่ขยายออกไปจะถูกทำลายหมด”

วิพากษ์

คัมภีร์อัล-กุรอานที่ถูกรวบรวมในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) เป็นการรวบรวมวัสดุที่จารึกอายะฮฺอัล-กุรอานซึ่งกระจัดกระจายอยู่ แล้วจดบันทึกรวมเป็นมุศหัฟ เรียกว่า มุสหัฟของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ในสมัยของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ดำเนินการไว้เพียงเท่านี้

 

ส่วนมุศหัฟของสาวกท่านอื่นๆ ซึ่งจดบันทึกและมีคำอธิบายประกอบปะปนอยู่ด้วยนั้น ก็ยังคงอยู่ในมือของสาวกเหล่านั้น อาทิ ท่านอิบนุมัสอูด (ร.ฎ.) อุบัยฺ อิบนุ กะอฺบ์ (ร.ฎ.) อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) อัลดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) เป็นต้น แต่มุศหัฟเหล่านั้นก็ไม่ได้จดบันทึกรวบรวมอัล-กุรอานเอาไว้ทั้งหมด ต่างจากมุศหัฟของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ที่รวบรวมและคัดลอกอัล-กุรอานที่ถูกจารึกลงในวัสดุต่างๆ เอาไว้อย่างครบถ้วนในมุศหัฟของท่าน มุศหัฟของสาวกท่านอื่นๆ

 

นั้นเป็นเพียงการจดบันทึกบรรดาสูเราะฮฺที่พวกเขาท่องจำมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป และยังคงอยู่ในการครอบครองของสาวกเหล่านั้นตลอดสมัยการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) โดยไม่ได้ถูกทำลายแต่อย่างใด การเผาทำลายมุศหัฟอื่นๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นการรวบรวมอัล-กุรอานครั้งที่ 2 โดยชำระเรื่องการอ่านให้เป็นไปตามสำเนียงของชาวกุรอยชฺและใช้มุศหัฟของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ที่รวบรวมเอาไว้เป็นหลัก

 

ตลอดจนคัดลอกมุศหัฟที่ชำระเรื่องการอ่านที่เป็นหนึ่งเดียวแล้วนั้นส่งไปยังหัวเมืองสำคัญในรัฐอิสลามเวลานั้น และมุศหัฟเล่มต้นฉบับได้ถูกเก็บไว้ที่เคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เรียกว่า มุศหัฟอุษมานียฺ ซึ่งเป็นต้นแบบในการเขียนตามอักขรวิธีที่เฉพาะเรียกว่า “อัร-รอสฺม์ อัล-อุษมานียฺ”

 

ส่วนการสั่งเผาทำลายมุศหัฟอื่นๆ นอกเหนือจากมุศหัฟอิมามที่ถูกคัดลอกในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) นั้นเป็นไปโดยมติเอกฉันท์ของเหล่าสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น เพื่อป้องกันความแตกต่างในการอ่านอัล-กุรอาน ซึ่งเกิดจากการจดบันทึกคำอธิบายเพิ่มเติมเข้าไปในมุศหัฟของสาวกบางท่านที่จดบันทึกเอาไว้เป็นการส่วนตัวทำให้อาจเข้าใจผิดได้ว่าข้อความที่อธิบายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัล-กุรอานทั้งๆ ที่เป็นการจดบันทึกเพื่ออธิบายความหรือเป็นสำนวนการอ่านที่ถูกยกเลิกการอ่านไปแล้วนับแต่สมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่

 

อัล-กุรอานที่ถูกจัดพิมพ์ทุกเล่มในปัจจุบันนี้ยังคงใช้อักขรวิธีในการเขียนเหมือนกับสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) ทุกประการ เนื่องจากผู้เขียน (โจเซฟ แกร์) ไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้เพียงพอจึงทำให้เขาเขียนเรื่องการรวบรวมอัล-กุรอานโดยสับสนและปะปนกันระหว่างการรวบรวมครั้งที่ 1 ในสมัยท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) และครั้งที่ 2 ในสมัยท่านเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งมีการเผาทำลายมุศหัฟอื่นๆ ภายหลังการรวบรวมอัล-กุรอานที่มีรูปแบบการอ่าน (กิรออะฮฺ) เป็นหนึ่งเดียวเสร็จสิ้นลง

 

และการเผาทำลายมุศหัฟอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก็มิใช่เป็นการทำลายต้นฉบับเดิมของอัล-กุรอานแต่อย่างใด เพราะอัล-กุรอานทั้งหมดถูกท่องจำโดยสาวกจำนวนมาก และถูกรวบรวมจดบันทึกเอาไว้ในที่เดียวกัน นับแต่สมัยท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ถูกท่องจำก็สอดคล้องตรงกับสิ่งที่ถูกบันทึก และสิ่งที่ถูกบันทึกในมุศหัฟอิมาม ก็สอดคล้องตรงกับที่ถูกท่องจำ เหตุนี้อัล-กุรอานจึงเป็นคัมภีร์ที่ได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ทุกตัวอักษรอย่างแท้จริง

 

โจเซฟ แกร์ เขียนต่อว่า :

“เพราะคัมภีร์โบราณช่วยผนึกมุสลิมเข้าด้วยกัน….(คัดลอกจนถึง) ….ประมาณ 3-4 ร้อยล้านคนในโลกปัจจุบัน”

วิพากษ์

การเคลื่อนกองทัพออกจากรัฐอิสลามของผู้ศรัทธาแล้วเข้าไปทำการกลับใจประชาชนอื่นๆ ให้มานับถือศาสนาอิสลาม หมายถึงอะไร? หากหมายถึงการเผยแผ่เรียกร้องผู้คนในอาณาจักรอื่นๆ นอกคาบสมุทรอาหรับ โดยคณะผู้เผยแผ่ศาสนาที่เป็นไปโดยสันติวิธีหรือไปพร้อมกับกองคาราวานสินค้า นั่นก็ย่อมไม่ใช่กองทัพ เมื่อคณะผู้เผยแผ่ศาสนาหรือพ่อค้าชาวมุสลิมที่ร่วมไปในกองคาราวานสินค้ายังเขตแดนต่างๆ ที่เป็นเส้นทาง และชุมทางการค้าในสมัยโบราณ บุคคลเหล่านี้มิใช่ทหาร มิใช่กองทัพ แล้วเหตุไฉนจึงต้องเขียนว่าเป็นกองทัพที่ส่อความหมายในเชิงสงครามด้วยเล่า?

 

และถ้าหากเป็นกองทัพอย่างที่มุ่งหมายหรือพยายามจะสื่อให้เป็นอย่างนั้น ทำไมถึงได้เป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น อาณาจักรและรัฐอื่นๆ เช่น จักรวรรดิ์โรมัน ไบแซนไทน์ที่แผ่อำนาจลงมาปกครองดินแดนซีเรียและแอฟริกาเหนือ และจักรวรรดิเปอร์เซียที่แผ่อำนาจครอบคลุมอิรักตลอดเอเซียกลาง ทั้งสองจักรวรรดิ์ที่เป็นมหาอำนาจของโลกในดินแดนตะวันออกซึ่งมีพรมแดนประชิดคาบสมุทรอาหรับจะยอมให้กองทัพของรัฐอิสลามซึ่งเป็นรัฐใหม่ที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาเมื่อไม่กี่ทศวรรษรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของจักรวรรดิ์ทั้งสองเพื่อกลับใจประชาชนและพลเมืองที่อยู่ใต้อาณัติของมหาอำนาจทั้งสองโดยง่ายกระนั้นหรือ

 

การเขียนแบบอ้อมค้อมของโจเซฟ แกร์ โดยเจือสมระหว่างเรื่องการเผยแผ่ศาสนาอิสลามกับการแผ่ขยายอำนาจของรัฐอิสลามซึ่งเป็นเรื่องปกติของอาณาจักรทุกอาณาจักรบนโลกใบนี้ เป็นการเขียนในทำนองที่แอบแฝง ดูเหมือนจะดีแต่มีเลศนัย หากโจเซฟ แกร์ เข้าใจและยอมรับบริบทของรัฐอิสลามที่มิได้แยกเรื่องของอาณาจักรและศาสนจักรออกจากกันแล้ว เขาย่อมเปลี่ยนหัวข้อที่ตนเขียนจากหัวข้อความเติบโตของศาสนาอิสลาม ไปเป็นความเติบโตของรัฐอิสลามแทน

 

เพราะโดยข้อเท็จจริงศาสนาอิสลามมิได้เติบโตด้วยการทำสงครามเพื่อเผยแผ่ศาสนา แต่สงครามการ ญิฮาดที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐอิสลามกับจักรวรรดิ์ทั้งสองเป็นผลมาจากการที่ผู้ปกครองของจักรวรรดิ์ทั้งสองปิดกั้นและไม่ยอมรับให้มีการเผยแผ่ศาสนาอิสลามโดยสันติวิธีในหมู่พลเมืองของตนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชนเผ่าอาหรับทั้งในซีเรียและอีรัก ฝ่ายจักรวรรดิ์เปอร์เซียนั้นมีท่าทีคุกคามต่อรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การฉีกสาส์นของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยจักรพรรดิ์เปอร์เซียซึ่งเป็นการทำลายวิถีทางการทูตลงอย่างสิ้นเชิง

 

จักรพรรดิ์โรมันก็ระดมกองทัพของตนเพื่อคุกคามรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺโดยอาศัยชาวอาหรับซีเรียเป็นกำลังพล การทำสงครามของรัฐอิสลามในเวลานั้นจึงเป็นการป้องกันการรุกรานจากแนวรบทั้งสองด้านและเป็นการปลดปล่อยดินแดนของชาวอาหรับที่ตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิ์ทั้งสองมานับแต่ก่อนสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และทุกสมรภูมิกองทัพของจักรวรรดิ์ทั้งสองมีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่ากองทัพของรัฐอิสลามหลายเท่า แต่ชัยชนะและการพิชิตก็ตกเป็นของฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่า

 

เมื่อปราการขวางกั้นการเผยจักรวรรดิ์ทั้งสองได้ถูกทำลายลง กองทัพของรัฐอิสลามทั้งในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺ อบูบักร (ร.ฎ.)  และท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร (ร.ฎ.) ก็ปลดปล่อยดินแดนของชาวอาหรับและพลเมืองชาวอาหรับซึ่งไม่ใช่มุสลิมให้พ้นจากความเป็นทาสที่ถูกขูดรีดและฉกชิงทรัพยากรด้วยความอยุติธรรมของพวกโรมันและเปอร์เซีย ซึ่งกดขี่พลเมืองในดินแดนใต้อาณัติของตนไม่เว้นแม้กระทั่งเสรีภาพในการถือศาสนา เช่นกรณีในอียิปต์ที่พลเมืองถือในศาสนาคริสต์คนละนิกายกับพวกโรมันถูกกระทำทารุณกรรมจนต้องสละชีพเพื่อรักษาความเชื่อของตน เป็นต้น

 

การทำสงครามกับจักรวรรดิ์ทั้งสองของรัฐอิสลามจึงไม่ใช่เป้าหมายในการยึดครองดินแดนหรือล่าอาณานิคมแล้วบีบบังคับพลเมืองที่ถูกพิชิตให้กลับใจเข้ารับอิสลาม หากแต่เป็นการสู้รบกับมหาอำนาจผู้กดขี่และอยุติธรรม เป็นการนำเอาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับคืนมาภายหลังการตกเป็นทาสที่เจ้านายมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนเพราะไม่ได้มีสัญชาติโรมันและเปอร์เซีย

 

ภายหลังการพิชิตดินแดนที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยกองทัพของผู้ศรัทธา ชาวคริสต์ต่างนิกายและชาวยิวในดินแดนเหล่านั้นก็ได้รับเสรีภาพในความเชื่อตามนิกายของตน และมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินภายหลังการหมดอำนาจของจักรวรรดิ์ทั้งสอง ชนต่างศาสนาได้รับการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเสรีภาพทางศาสนาและศาสนสถานของพวกเขาโดยจ่ายภาษีอัล-ญิซยะฮฺให้แก่ผู้ปกครองชาวมุสลิม เรียกชนต่างศาสนาที่เป็นพลเมืองของรัฐอิสลามนี้ว่า “อะฮฺลุซซิมมะฮฺ” หมายถึง “กลุ่มชนแห่งพันธกรณี”

 

กล่าวคือ เป็นกลุ่มชนต่างศาสนาที่มีพันธกรณีระหว่างผู้ปกครองมุสลิมกับพวกเขาในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของความเป็นพลเมือง มีเสรีภาพในการถือศาสนาโดยจะไม่มีการบีบบังคับแต่อย่างใด ตราบจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีชาวคริสต์ต่างนิกายเป็นจำนวนมากในดินแดนที่กองทัพของรัฐอิสลามเคยปลดปล่อยเมื่อพันปีที่แล้ว พวกเขาเป็นชาวอาหรับโดยสายเลือดแต่ถือในศาสนาคริสต์ทั้งนิกายออธอดอกซ์ โรมันแคทอลิก และเนสเธอเรียน

 

หากกองทัพของชาวมุสลิมเผยแผ่ศาสนาด้วยคมหอกคมดาบจริงอย่างคำใส่ไคล้แล้ว ทำไมตราบจนทุกวันนี้ยังคงมีประชาคมชาวคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในประเทศมุสลิมอยู่อีกเล่า? เรื่องกลับกลายเป็นว่าในยามที่มุสลิมหรือพวกมัวร์เรืองอำนาจในคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน) ชาวคริสค์ยังคงได้รับการคุ้มครองและมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยม แต่เมื่อนครรัฐของมุสลิมในเอ็นดาลูเซียตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอาณาจักรคริสเตียน อะไรเกิดขึ้นที่นั่น ทุกคนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ของเอ็นดาลูเซียย่อมรู้ดีแก่ใจว่าอะไรเกิดขึ้นที่นั่น!

 

และเราก็คงไม่ต้องพูดถึงกรณีของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ที่จะเกิดขึ้นกับชนชาติโมโร เมืองกัวในอินเดียหรือแม้กระทั่งเกาะซิซิลีทางตอนใต้ของอิตาลี ตลอดจนคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งหมดเป็นโศกนาฏกรรมที่ชาวมุสลิมได้รับจากผู้ใดเล่า โจเซฟ แกร์คงนึกไม่ออกกระมัง

 

ย้อนกลับมายังกรณีการพิชิตของกองทัพของผู้ศรัทธาในสมัยเคาะลีฟะฮฺทั้งสองท่านอีกครั้ง เราจะพบว่า เมื่อกองทัพของรัฐอิสลามสามารถปล่อยพลเมืองในดินแดนใต้อาณัติของจักรวรรดิ์โรมันและเปอร์เซียแล้ว การที่พลเมืองเหล่านั้นไดรับการปฏิบัติอย่างดีและมีความยุติธรรมของผู้ปกครองมุสลิมตลอดจนปราการที่ขวางกั้นเสรีภาพทางศาสนาได้ถูกทำลายลงแล้ว ครานั้นเองที่ความสงสัยได้เกิดขึ้นในจิตใจของพลเมืองต่างศาสนิกว่าเหตุใดหนอมุสลิมจึงมีลักษณะเช่นนั้น

 

ความประทับใจที่เกิดขึ้นต่อการปฏิบัติตนของชาวมุสลิมทั้งที่อยู่ในฝ่ายปกครองและกองทัพนี่เองได้นำพาให้พลเมืองเหล่านั้นใคร่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุ แล้วพวกเขาก็พบว่า เพราะหลักคำสอนของอิสลามนั่นเองคือสิ่งที่ทำให้มุสลิมปฏิบัติตนเช่นนั้น การยอมรับศาสนาอิสลามจึงเกิดขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติ และนี่คือพลังแฝงที่มีอยู่ในอิสลามเองเป็นการชนะใจผู้คนเหล่านั้นอย่างแท้จริง ซึ่งชัยชนะทางการทหารไม่สามารถกระทำได้ อีกทั้งในเวลานั้นสงครามการปลดปล่อยก็สิ้นสุดลงแล้ว จักรวรรดิ์ทั้งสองล่มสลายอย่างไม่มีวันกลับคืน

 

พวกเขามีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในการที่จะยังคงถือในศาสนาเดิมของตน เพราะไม่มีการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาจากผู้ปกครองมุสลิม การเลือกที่จะยอมรับอิสลามจึงเป็นเรื่องของความสมัครใจ เหตุนั้นพลเมืองส่วนใหญ่ในซีเรีย เอเชียน้อย อีรัก อียิปต์และแอฟริกาเหนือจึงเลือกอิสลามด้วยความสมัครใจ ในขณะที่พลเมืองส่วนหนึ่งยังคงถือในศาสนาเดิมของตนตราบจนทุกวันนี้

 

การแผ่ขยายดินแดนของรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺที่ครอบคลุมคาบสมุทรอาหรับ เอเชียน้อย แอฟริกาเหนือ และเอเซียกลางบางส่วนนั้นเป็นผลมาจากการที่ดินแดนดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์โรมันไบเซนไทน์ และจักรวรรดิ์เปอร์เซียจึงไม่แปลกว่าทำไมรัฐอิสลามที่ได้รับชัยชนะเหนือจักรวรรดิ์ทั้งสองจึงมีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น แน่นอนนั่นเป็นส่วนหนึ่งจากชัยชนะของศาสนาอิสลามที่รวมเอาไว้ทั้งในส่วนของอาณาจักรและศาสนจักร

 

แต่การยอมรับอิสลามของพลเมืองในอาณาเขตเหล่านั้นเป็นผลมาจากหลักคำสอนของอิสลามอันงดงามและสูงส่งซึ่งพลเมืองเหล่านั้นสัมผัสได้จากวัตรปฏิบัติของชาวมุสลิมซึ่งมีทั้งทหาร ผู้ปกครอง นักเผยแผ่ นักปฏิบัติธรรมและพ่อค้าสามัญชน การยอมรับอิสลามเกิดขึ้นภายหลังการพิชิตก็จริง

 

แต่ถ้ารัฐอิสลามไม่มีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรมและสูงส่งแล้ว แน่นอนพลเมืองเหล่านั้นก็ยังคงมีเสรีภาพในการถือศาสนาเดิมของตนโดยไม่ต้องยอมรับอิสลามก็ได้ เพราะไม่มีการบังคับจากผู้พิชิตให้ทำการเปลี่ยนศาสนา พวกเขาก็เพียงแต่จ่ายภาษีรายหัว (ญิซยะฮฺ) ในฐานะพลเมืองต่างศาสนาที่เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในรัฐอิสลาม ซึ่งภาษีญิซยะฮฺนี้มีอัตราเพียงน้อยนิดเพื่อแลกกับการเสรีภาพในการถือศาสนาและการดำรงชีพที่เป็นปกติ

 

คนที่มีอคติต่ออิสลามอาจจะมองว่า การจ่ายภาษีญิซยะฮฺเป็นเรื่องของการกดขี่ทางศาสนา เป็นการเลือกปฏิบัติกับบุคคลที่มิใช่มุสลิม แต่พวกเขาลืมไปว่ามุสลิมต้องจ่ายซะกาตให้แก่กองคลังของรัฐ และต้องจ่ายภาษีเป็นงบประมาณของรัฐในการจัดสร้างสาธารณูปโภคและการบริหารการปกครอง ในขณะที่พลเมืองต่างศาสนาไม่ต้องจายซะกาตหรือภาษีอย่างอื่นแต่อย่างใดเลยนอกจากภาษีญิซยะฮฺและได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหารในกองทัพของรัฐอิสลามเพราะการทำสงครามญิฮาดเป็นหน้าที่ของมุสลิมในการปกป้องศาสนา

 

และศาสนาอิสลามก็ย่อมไม่บังคับคนต่างศาสนาให้มาเป็นทหารเพื่อทำศึกปกป้องศาสนาอิสลามที่พวกเขามิได้นับถือแต่อย่างใด ตราบเท่าที่ชนต่างศาสนาจ่ายภาษีญิซยะฮฺให้แก่รัฐอิสลามตราบนั้นพวกเขาก็คงได้รับการคุ้มครองทั้งในชีวิต ทรัพย์สิน และความเชื่อทางศาสนาในฐานะพลเมืองของรัฐเช่นเดียวกับชาวมุสลิม

 

นี่เป็นหลักนิติธรรมของศาสนาอิสลามที่หาไม่ได้ในศาสนาอื่น และเป็นความยุติธรรมที่อิสลามบัญญัติไว้ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า อิสลามยอมรับในการดำรงอยู่ของศาสนาอื่นๆ โดยมีพันธกรณีระหว่างกัน องค์ความรู้เช่นนี้คงไม่มีอยู่ในห้วงความคิดของโจเซฟ แกร์ และนักคิดชาวตะวันตกที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน และการที่ชาวมุสลิมทั่วโลกต่างเผ่าพันธุ์ ต่างภาษา และสีผิวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันก็คงไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามแต่อย่างใดเลย แม้ในสหรัฐอเมริกาเองซึ่งทำสงครามรุกรานประเทศมุสลิมอยู่ในเวลานี้ก็มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้น

 

ส่วนที่ว่ามุสลิมมีจำนวน 3-4 ร้อยล้านคนนั้นก็เป็นสถิติที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะหนังสือที่โจเซฟ แกร์เขียนเป็นช่วงเวลาที่ประชากรโลกมีเพียง 3,000 ล้านคนเท่านั้น และหนังสือก็ถูกตีพิมพ์ครั้งล่าสุดล่วงมาแล้วถึง 19 ปี ตามที่ปรากฏในคำนำผู้แปล ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 3 เราคงไม่นำเอาประเด็นนี้มาวิพากษ์ให้เสียเวลาแต่อย่างใด

 

ในหัวข้อที่ 5 โจเซฟ แกร์เขียนถึงการแพร่หลายของศาสนาอิสลามว่า

“การเผยแพร่อย่างกว้างขวางของศาสนาอิสลาม ทำให้นักปราชญ์หลายคนสนเท่ห์…………(คัดลอกจนถึง) ….ในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของศาสนาอิสลาม”

วิพากษ์

หากผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลว่าศาสนาอิสลามแผ่ไปถึงประเทศใดบ้าง มีพลเมืองใดเข้ารับอิสลามเพื่อขยายความหัวข้อที่ 4 ในช่วงปลายให้ครอบคลุมมากขึ้น ผู้เขียนก็สามารถกระทำได้ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้เขียนกล่าวซ้ำเรื่องเดิมที่มีเนื้อหาเหมือนบทที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงความเติบโตของศาสนาอิสลาม โดยพยายามตอกย้ำเรื่องคำสอนในคัมภีร์อัล-กุรอานที่มีคำสั่งสอนของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์อยู่ด้วย และการทำสงครามเผยแผ่ศาสนา

 

เพียงแต่ในบทที่ 5 นี้ผู้เขียนกล่าวอย่างชัดเจนว่า “การเผยแผ่ของศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งดาบน้ำหน้าคำพูด” เป็นการพูดซ้ำซากที่ส่อให้เห็นว่าผู้เขียนมีทัศนคติอย่างไรในเรื่องนี้ สงครามอันศักดิ์สิทธิ์ในความมุ่งหมายของผู้เขียนก็คือการญิฮาดตามวิถีของอัล-อิสลาม ซึ่งมิได้หมายถึงการทำสงครามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การญิฮาดตามหลักการของอิสลามเป็นการทุ่มเทสรรพกำลังและความสามารถเท่าที่มีอยู่เพื่อปกป้องศาสนาและเทิดทูนพระดำรัสของเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้สูงส่ง

 

มีหลากหลายวิธีการและรูปแบบ การต่อสู้กับกิเลสและมารร้ายก็เป็นการญิฮาด การเสียสละทรัพย์สินเพื่อทำนุบำรุงศาสนาและพิทักษ์ศาสนาเอาไว้ก็เป็นการญิฮาด การพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่เป็นทรราชย์ก็เป็นการญิฮาด การศึกษาหลักคำสอนของศาสนาเพื่อสืบสานและเผยแผ่ก็เป็นการญิฮาด และการสละชีพเพื่อปกป้องศาสนาและความมั่นคงของรัฐอิสลามก็เป็นการญิฮาด

 

ดังนั้น การทำสงครามเพียงอย่างเดียว และการญิฮาดก็มีบริบทที่แตกต่างจากการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ในบริบทของชาวคริสต์และชาวตะวันตกดังในกรณีของสงครามครูเสดในช่วงยุคกลางที่รัฐตะวันตกภายใต้การชี้นำของคริสตจักรหรือศาสนจักรได้กระทำกับดินแดนของชาวมุสลิมในตะวันออก การบัญญัติเรื่องการญิฮาดในศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในกรณีมีการละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนาของพลเมือง ตลอดจนการรุกรานอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐอิสลามจากศัตรูภายนอกหรือศัตรูภายในที่กบฏและเป็นภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐอิสลาม เป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายปกครองที่ต้องร่วมกันปกป้องรัฐอิสลามเมื่อมีการรุกรานจากศัตรู

 

และก่อนหน้าการทำสงครามญิฮาดจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบนั้นต้องมีการยื่นข้อเสนอจากฝ่ายรัฐอิสลามแก่ศัตรูเสียก่อน คือเรียกร้องให้ยอมรับอิสลามเป็นประการแรก ถ้ายอมรับการทำสงครามก็เป็นสิ่งที่จำต้องยุติ เพราะเมื่อฝ่ายศัตรูที่รุกรานยอมรับข้อเสนอว่าจะไม่ปิดกั้นการเผยแผ่ศาสนาอิสลามโดยสันติ จะไม่มีการลิดรอนหรือกดขี่ข่มเหงพลเมืองของตนที่เข้ารับอิสลามหรือพลเมืองของรัฐอิสลามที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ในกรณีเช่นนี้จะมีข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างกัน การญิฮาดในรูปสงครามก็จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการญิฮาดในรูปแบบเผยแผ่โดยสันติวิธี

 

แต่ถ้าฝ่ายศัตรูไม่ยอมรับข้อเสนอประการแรก  ฝ่ายรัฐอิสลามก็จะยื่นข้อเสนอประการที่สอง คือรัฐฝ่ายศัตรูยังคงถือในศาสนาเดิมของตนโดยยอมรับการปกครองของรัฐอิสลามตามพันธกรณีที่ทำข้อตกลงระหว่างกัน หากฝ่ายศัตรูยอมรับข้อเสนอประการที่สอง สงครามก็ยุติลงเช่นกัน รัฐฝ่ายศัตรูและพลเมืองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามโดยจ่ายภาษีญิซยะฮฺให้แก่รัฐอิสลามเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพในความเป็นพลเมืองภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม มีเสรีภาพในการถือศาสนาเดิมของตน

 

การกระทำใดๆ จากฝ่ายปกครองที่เป็นมุสลิมอันเป็นการลิดรอนและละเมิดต่อพันธกรณีที่กระทำข้อตกลงไว้ระหว่างกันถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม แต่ถ้าฝ่ายศัตรูยืนกรานที่จะไม่รับข้อเสนอทั้ง 2 ประการ ก็จะเหลือเพียงประการสุดท้ายเท่านั้นคือการทำสงคราม และเมื่อมาถึงขั้นของการทำสงครามเต็มรูปแบบอิสลามก็บัญญัติกฏเกณฑ์ในการทำสงครามเอาไว้อย่างชัดเจน อาทิ ห้ามสังหารบุคคลหรือกลุ่มชนที่ไม่มีส่วนในการทำสงคราม เช่น เด็ก สตรี คนชรา นักบวชในศาสนาอื่น พ่อค้า เกษตรกรในไร่นาของตน ไม่อนุญาตให้ใช้ไฟเผา ห้ามไม่ให้ตัดต้นไม้ ทำลายพืชไร่ ไม่อนุญาตให้ปล้นสะดมภ์อาศรมหรือศาสนสถาน และห้ามในการประทุษร้ายต่อศพ เป็นต้น

 

และเมื่อการทำสงครามดำเนินไปถึงขั้นที่ว่า ฝ่ายศัตรูเรียกร้องให้ทำสนธิสัญญาพักรบหรือสงบศึก กองทัพฝ่ายของรัฐอิสลามก็จำต้องรับข้อเสนอดังกล่าว และจำต้องรักษาข้อตกลงตามสนธิสัญญาที่กระทำไว้กับฝ่ายศัตรู ถึงแม้ว่าฝ่ายกองทัพของรัฐอิสลามจะได้เปรียบหรือสามารถเอาชัยชนะได้อย่างเด็ดขาดโดยไม่ต้องรับข้อเสนอหย่าศึกจากฝ่ายศัตรูก็ตาม แต่ศาสนาอิสลามบัญญัติเอาไว้ว่าต้องยอมรับข้อเรียกร้องในการทำสนธิสัญญาสงบศึกนั้นโดยจำเป็น ข้อบัญญัติข้างต้นถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอานในวจนะของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และในคำกล่าวของเคาะลีฟะฮฺแห่งรัฐอิสลาม ซึ่งแน่นอนข้อบัญญัติดังกล่าวไม่มีระบุเอาไว้ในคัมภีร์ของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์

 

การที่โจเซฟ แกร์ เขียนว่า นักปราชญ์ทั้งหลายไม่สามารถพบอะไรในคำสั่งสอนของคัมภีร์โกราน เพราะเมื่อสืบสาวเข้าไปแล้วจะพบคำสั่งสอนของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์อยู่ด้วย นักปราชญ์ที่ว่านั้นคือนักปราชญ์กลุ่มใดเล่า คือนักปราชญ์ที่กล่าวหาว่าอิสลามลอกเลียนคำสอนมาจากศาสนายิวและคริสต์ใช่หรือไม่ แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่า ในคัมภีร์อัล-กุรอานมีหลักธรรมคำสอนที่สอดคล้องกับศาสนาทั้งสองปรากฏอยู่ในบางส่วน

 

โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว การสร้างสรรค์จักรวาล การส่งบรรดาผู้เผยพระวจนะมายังมนุษย์ในแต่ละยุค การพิพากษา และการตอบแทนพฤติกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เพราะหลักธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมหนึ่งเดียวสำหรับบรรดาศาสนทูตที่ถูกส่งมายังมนุษยชาติ กรณีนี้ไม่ได้แตกต่างกัน

 

แต่สิ่งที่แตกต่างและพวกนักปราชญ์เหล่านั้นพบในคัมภีร์อัล-กุรอานแต่พวกเขาทำไขสือและมองข้ามคือ หลักความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว พระองค์ไม่มีพระบุตร พระองค์ไม่ถูกกำเนิด ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ คัมภีร์อัล-กุรอานประกาศชัดเจนว่าศาสนทูตอีซา (อ.ล.) หรือพระเยซูคริสต์มิใช่พระบุตรของพระเจ้า แต่เป็นบ่าวที่ถูกสร้างและกำเนิดมาโดยไม่มีบิดา เป็นผู้เผยพระวจนะเฉกเช่นนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าผู้เผยพระวจนะก่อนๆ และศาสนทูตอีซา (อ.ล.) ก็มิได้ถูกพวกยิวสังหารด้วยการจับตรึงไม้กางเขน พระองค์ทรงปกป้องศาสนทูตอีซา (อ.ล.) ให้รอดพ้นจากน้ำมือของพวกยิวและทหารโรมัน

 

เรื่องราวของพระนางมัรยัม (อ.ล.) หรือพระแม่มาเรีย ผู้บริสุทธิ์ในพรหมจรรย์ก็ถูกกล่าวไว้โดยละเอียดในคัมภร์อัล-กุรอาน ซึ่งหาไม่ได้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ หลักธรรมคำสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะในพระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า ภาคพันธสัญญาเดิมนั้นก็แทบจะไม่พบเอาเสียเลยว่าโนอาหฺ (นูหฺ) สอนอะไร อับราฮัม (อิบรอฮีม) สั่งสอนหลักธรรมของพระเจ้าแก่ผู้คนอย่างไร? เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์พูดถึงเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ว่าเกิดที่ไหน มีลูกเต้ากี่คน มีวงศ์วานเป็นใคร แล้วก็เดินทางไปที่ไหน

 

แต่กลับไม่มีระบุถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของบุคคลเหล่านี้เพื่อเป็นทางนำและนำไปใช้สำหรับผู้อ่านคัมภีร์ แต่ถ้านักปราชญ์เหล่านั้นจะสืบสาวและค้นหาเรื่องราวและหลักธรรมคำสอนของศาสดาประกาศกในอดีตพวกเขาจะไม่พบในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 2 เล่ม นอกจากสิ่งที่มีเพียงน้อยนิดเท่านั้น คัมภีร์ที่พวกเขาสามารถสืบสาวและเรียนรู้ถึงหลักธรรมคำสอนของเหล่าศาสดาประกาศกในอดีต ก็มีเพียงคัมภีร์อัล-กุรอานเท่านั้นที่นำเสนอไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวที่มีในคัมภีร์อัล-กุรอาน แต่ไม่มีในคัมภีร์ของชาวยิวและชาวคริสต์

 

ยังไม่รวมสรรพวิชาทั้งหลายที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประมวลเอาไว้ ซึ่งมีอย่างมากมาย อาทิ จักรวาลวิทยา ธรรมชาติวิทยา ดาราศาสตร์ สมุทรศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์การปกครอง การทำธุรกรรม พฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ จริยศาสตร์ คณิตศาสตร์ ธรณีวิทยา ฯลฯ สาเหตุที่นักปราญ์เหล่านั้นไม่พบสิ่งเหล่านี้ในคัมภีร์อัล-กุรอานไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าอคติ มิจฉาทิฐิ และหัวใจที่มืดบอด จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะปฏิเสธคุณูปการของคัมภีร์อัล-กุรอานที่รังสรรค์และสร้างอารยธรรมอิสลามที่รุ่งโรจน์ในยุคกลาง

 

สำหรับชาวมุสลิมผู้ศรัทธาในคัมภีร์อัล-กุรอาน พวกเขาก็ศรัทธาอัต-เตารอต และคัมภีร์อัล-อินญิล ต่างก็ตรงที่ว่า คัมภีร์อัต-เตารอตและคัมภีร์อัล-อินญีลที่มุสลิมต้องศรัทธานั้นคือพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานให้แก่ศาสนทูตมูซา (อ.ล.) –โมเสส- และศาสนทูตอีซา (อ.ล.) หรือพระเยซู มิใช่คัมภีร์ของชาวยิวที่ถูกเขียนขึ้นและรวบรวมโดยปุโรหิตและธรรมาจารย์ของพวกยิว หรือถูกเขียนขึ้นและบันทึกเป็นกิจจานุกิจของพระเยซูโดยนักบุญ มัทธิว , มะระโก , ลูกา และยอห์น ในกรณีของพระคริสตธรรมคัมภีร์ (ไบเบิ้ลใหม่) เพราะคัมภีร์ทั้งสองที่ชาวยิวและชาวคริสต์เชื่อถือนั้นเป็นสิ่งที่ถูกบันทึกขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ภายหลังศาสนทูตทั้งสองแล้ว กล่าวอ้างว่าเป็นคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้า

 

หากคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (ไบเบิ้ลเก่า) เป็นคัมภีร์ของโมเสสจริง แล้วทำไมจึงมีข้อความระบุว่า : “และโมเสสก็ขึ้นไปจากทุ่งราบโมอับถึงภูเขาเนโบถึงยอดปิสกาห์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองเยริโค และพระเจ้าทรงสำแดงให้ท่านเห็นแผ่นดินนั้นทั้งหมด…เหตุฉะนั้นโมเสสผู้รับใช้ของพระเจ้าจึงสิ้นชีวิตที่นั่นในแผ่นดินโมอับ ตามพระดำรัสของพระเจ้า และพระองค์ทรงฝังท่านไว้ในหุบเขาในแผ่นดินโมอับตรงข้ามเบธเปโอร์ จนถึงทุกวันนี้หามีผู้ใดรู้จักที่ฝังศพของท่านไม่ เมื่อโมเสสสิ้นชีวิตนั้น ท่านมีอายุหนึ่งร้อยยี่สิบปี นัยน์ตาของท่านมิได้มัวไป หรือกำลังของท่านก็ไม่ถอย…”   (เฉลยธรรมบัญญัติ 34: 1-7)

 

หากโมเสสเป็นผู้เขียนคัมภีร์หรือคัมภีร์นี้เป็นพระดำรัสของพระเจ้าที่ประทานให้แก่ท่านแล้วเหตุไฉนจึงมีเรื่องราวการสิ้นชีวิตของท่านระบุเอาไว้โดยละเอียดเช่นนี้ ตัวท่านจะเขียนถึงเรื่องราวการสิ้นชีวิตของท่านเองขณะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่เป็นคำตอบให้แก่ความน่าฉงนสนเท่ห์นี้ก็คือ เป็นการเขียนของผู้คนในยุคหลังท่านสิ้นชีวิตไปแล้วนั่นเอง

 

ส่วนพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธะสัญญาใหม่ นั่นก็มีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เรียบเรียงโดย ท่านมัทธิว , ท่านมาระโก ส่วนพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกานั้น ในบทที่ 1 มีข้อความปรากฏเป็นคำอุทิศแก่เธโอฟิลัส ซึ่งนักบุญลูกาเขียนว่า :

“ท่านเธโอฟิลัสที่เคารพอย่างสูง ท่านทราบแล้วว่า มีหลายคนได้อุตส่าห์เรียบเรียงเรื่องเหล่านั้น ซึ่งสำเร็จแล้วในท่ามกลางเราทั้งหลายตามที่เขาผู้ได้เห็นกับตาเองตั้งแต่ต้นและเป็นผู้ประกาศพระวจนะนั้น ได้แสดงให้เรารู้ เหตุฉะนั้นเนื่องจากข้าพเจ้าเองได้สืบเสาะถ้วนถี่ตั้งแต่ต้นมาจึงเห็นดีด้วยที่จะเรียบเรียงเรื่องตามลำดับเพื่อประโยชน์แก่ท่าน…” (ลูกา ; 1 : 1-4)

 

นักบุญยอห์นเองก็ลงท้ายบันทึกของตนว่า :

“สาวกคนนี้แหล่ะที่เป็นพยานถึงเหตุการณ์เหล่านี้ และเป็นผู้ที่บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ และเราทราบว่าคำพยานของเขาเป็นความจริง มีอีกหลายสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ ถ้าจะเขียนไว้ให้หมดทุกสิ่งข้าพเจ้าคาดว่า แม้หมดทั้งโลกก็น่าจะไม่พอไว้หนังสือที่จะเขียนนั้น”  (ยอห์น 21 : 24-25)

 

พระคริสตธรรมคัมภีร์จึงเป็นการบันทึกเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเหตุการณ์ภายหลังการตรึงกางเขน ถึงแม้จะมีการบันทึกหลักธรรมคำสอนที่พระองค์เทศนาเอาไว้แต่ก็มิได้หมายความว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ชาวคริสต์ที่มีอยู่ในเวลานี้คือ คัมภีร์อัล-อินญีลที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ท่าน ยิ่งในหมวดกิจการของอัครทูตและจดหมายของนักบุญ เช่น เปาโลด้วยแล้วเป็นเรื่องราวภายหลังพระเยซูคริสต์ทั้งสิ้น

 

และที่สำคัญเรื่องราวการประกาศพระวจนะของพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์นั้นไม่มีกล่าวถึงในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับเก่าเลยแต่อย่างใด แต่คัมภีร์อัล-กุรอานระบุเรื่องราวนับแต่การสร้างโลก การสร้างอาดัม (อ.ล.) และเรื่องราวของศาสนทูตในยุคก่อนรวมถึงพระเยซูคริสต์และเรื่องราวของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เอาไว้ทั้งหมดโดยสมบูรณ์

 

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นบุคคลที่อ่านจากตัวหนังสือไม่ออก และเขียนไม่เป็น แต่ท่านจดจำทุกถ้อยคำที่ทูตสวรรค์ญิบรีล (อ.ล.) นำมาบอก ซึ่งถ้อยคำนั้นเป็นพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้วท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็อ่านถ้อยคำของอัล-กุรอานที่ถูกประทานลงมาให้แก่เหล่าสาวกของท่านได้ฟังและจดจำ พร้อมกับมีคำสั่งให้อาลักษณ์คือสาวกที่มีความสามารถในการเขียนทำการจดบันทึกถ้อยคำของอัล-กุรอานลงในวัสดุเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้อยคำของอัล-กุรอานถูกนำมาอ่านทบทวนในการละหมาดและนอกการละหมาด ถูกนำมาอ่านให้กับผู้ที่ศึกษาหลักคำสอนของศาสนาเพื่อใช้ประกอบเป็นหลักฐานอ้างอิงและตักเตือนผู้คน

 

ในทุกปีท่านญิบรีล (อ.ล.) จะลงมาทบทวนสอบทานอัล-กุรอานกับท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เสมอ คราใดที่เกิดเหตุการณ์หรือมีคำถามถึงประเด็นปัญหาสำคัญหรือมีการโต้เถียงหลักธรรมกับพวกปฏิเสธ พวกยิว และชาวคริสต์ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ทรงประทานอัล-กุรอานลงในรูปการดลใจผ่านทูตสวรรค์ญิบรีล (อ.ล.) ให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพื่อไขความ ให้ความกระจ่างในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพื่อโต้ตอบและหักล้างคำกล่าวอ้างของชนต่างศาสนา

 

การเป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาแห่งการเผยแผ่และประกาศศาสนาราว 23 ปี ทั้งที่นครมักกะฮฺและนครมะดีนะฮฺ เมื่อพวกปุโรหิตชาวยิวและบาทหลวงชาวคริสต์กล่าวอ้างหลักธรรมในคัมภีร์เก่าเพื่อปฏิเสธความเป็นศาสนทูตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงมิใช่เรื่องแปลกที่อัล-กุรอานจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์เก่าโดยถูกนำมาหักล้างคำอ้างของชาวยิวและชาวคริสต์ ไม่ต่างอะไรจากกรณีของพระเยซูคริสต์ที่ทรงใช้หลักธรรมในคัมภีร์เก่ามาหักล้างคำใส่ไคล้ของพวกปุโรหิตและธรรมาจารย์

 

หากคำกล่าวอ้างที่ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ลอกเลียนหลักธรรมจากคัมภีร์ของชาวยิวและชาวคริสต์มาใส่ไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นจริงอย่างที่พวกมีอคติพยายามสร้างทฤษฎีจอมปลอมขึ้นมา ก็ต้องถามกลับไปว่า ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รู้ถึงหลักธรรมในคัมภีร์เก่าได้อย่างไร ทั้งๆ ที่อ่านจากตัวหนังสือไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคัมภีร์ของชาวยิวหรือชาวคริสต์ฉบับแปลเป็นภาษาอาหรับก็ตาม และจะว่าท่านคัดลอกเอามาได้อย่างไร ในเมื่อท่านเขียนไม่เป็น

 

หากพวกมีอคติยังคงยืนกรานในทฤษฎีของตนโดยอ้างว่า เพราะในวัยเด็กและวัยหนุ่มท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เคยเดินทางไปกับกองคาราวานสินค้าพร้อมกับลุงของท่านยังดินแดนที่ 2 ศาสนานี้แพร่หลายอยู่ และท่านได้รับอิทธิพลในคำสอนของศาสนายูดายและศาสนาคริสต์จากนักการศาสนาในดินแดนของศาสนาทั้ง 2 ก็ต้องถามกลับไปว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รู้เรื่องหลักธรรมคำสอนในคัมภีร์ทั้งสองนั้นโดยละเอียดได้อย่างไร

 

แม้ปุโรหิต ธรรมาจารย์และบาทหลวงของศาสนาทั้งสองเองยังต้องใช้เวลาศึกษาคัมภีร์ทั้งสองเป็นแรมปีหรือตลอดชีวิต แล้วเหตุไฉนผู้ที่เคยพูดคุยเพียงไม่กี่คำกับบุคคลเหล่านั้นจึงถึงได้ลอกเลียนหรือจดจำคัมภีร์ทั้งสองได้อย่างละเอียด มิหนำซ้ำยังมีข้อมูลในอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับบรรดาศาสดาประกาศกในคัมภีร์เก่าที่แม้แต่คัมภีร์เก่าเองก็ไม่ได้บันทึกเอาไว้ ชะรอยทฤษฎีการลอกเลียนแบบนี้จะเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้มูลความจริงเท่านั้น

 

เมื่อผู้อคติเหล่านั้นอ้างว่าไม่พบอะไรเลยในคัมภีร์อัล-กุรอาน เพราะในอัล-กุรอานมีหลักธรรมคำสอนของยิวหรือคริสต์อยู่ด้วย จึงเป็นเรื่องฉงนสนเท่ห์สำหรับพวกเขาแล้วทำไมศาสนาอิสลามจึงได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรน่าสนใจหรือแปลกใหม่ในหลัก คำสอนของอิสลามตามความรู้สึกของพวกเขา เหตุผลซ้ำซากก็ถูกนำใช้ในการเฉลยความฉงนสนเท่ห์ของพวกเขา คือ “และแน่นอนในขั้นแรกของศาสนาอิสลาม การเผยแผ่ของศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งดาบนำหน้าคำพูด”

 

นี่คงเป็นเหตุผลเดียวกระมังที่พวกเขามักนำมาใช้อธิบายในเรื่องนี้ แต่คำอธิบายหรือการใช้ดาบเพื่อขู่บังคับชนต่างศาสนาให้เข้ารับอิสลามก็ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเข้ารับอิสลามของชาวเมืองยัษริบ (นครมะดีนะฮฺ) การเข้ารับอิสลามของกษัตริย์เนกุสและพลเมืองในอบิสซีเนีย (เอธิโอเปีย) การเข้ารับอิสลามของพลเมืองอาหรับในเยเมนและรัฐชายขอบคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และไม่มีเรื่องของการทำสงครามเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

 

ทฤษฎีที่ว่านี้ยังไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่ว่าทำไมพลเมืองของจีนจึงเข้ารับอิสลามนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง , ซ่ง และรุ่งเรืองในสมัยหยวน (มองโกล) และมั่นคงในสมัยราชวงศ์หมิง ทั้งๆ ที่สงครามกับจักรวรรดิจีนสิ้นสุดอยู่เพียงแคว้นซินเกียงที่เมืองกัชการ์นับแต่สมัยราชวงศ์ถัง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ราชาฮินดูแห่งแคว้นแคชเมียร์ยอมรับอิสลามทั้งๆ ที่ไม่มีกองทัพของชาวอาหรับนำเอาดาบไปขู่บังคับ แล้วทำไมชนชาติเติร์ก-มองโกลจึงยอมรับอิสลามทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นฝ่ายบดขยี้และไล่ฆ่าฟันชาวมุสลิม ศาสนาอิสลามมีอะไรดีหรือจึงทำให้ชาวแอฟริกันในอาณาจักรมาลีโบราณยอมรับและสถาปนารัฐอิสลามขึ้นที่นั่น ทั้งๆ ที่กองทัพของชาวอาหรับไม่เคยฝ่าข้ามพรมแดนลงไปถึงที่นั่นเลย

 

เมื่อเห็นว่าทฤษฎีที่ถูกกล่าวอ้างไม่สามารถตอบโจทย์ได้สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว โจแซฟ แกร์จึงเลี่ยงไปอธิบายที่ว่า “อย่างไรก็ตาม กองทัพมุสลิมในระยะแรกเริ่มหลั่งไหลสู่แหล่งที่มีความเป็นพระหลอกลวง คอยบูชารูปเคารพจำนวนมากมายและแหล่งที่กดขี่ประชาชนและแหล่งที่ทำให้คนสับสนด้วยการเชื่อโชคลางนี้ อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งในบรรดาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของศาสนาอิสลาม”

 

ประเด็นนี้เป็นความพยายามที่จะหาคำตอบให้แก่เหตุผลที่ว่าทำไมศาสนาอิสลามจึงแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็นั่นแหล่ะ เกือบทุกปรากฏการณ์ในดินแดนต่างๆ ที่เรายกตัวอย่างมาล้วนแต่เป็นแหล่งที่ว่ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระหลอกลวง การบูชารูปเคารพ การกดขี่ประชาชน และสร้างความสับสนให้แก่ผู้คนในเรื่องของโชคลางทั้งสิ้น ทว่าผู้คนในแหล่งที่ว่าทำไมจึงยอมรับอิสลามทั้งๆ ที่ไม่มีกองทัพของมุสลิมหลั่งไหลเข้าไปเลยแม้แต่น้อย ดินแดนของชนชาติมลายู-ชวา เป็นดินแดนของพราหมณ์-พุทธ และเต็มไปด้วยสิ่งที่โจเซฟ แกร์ว่ามาเกือบทั้งหมด แล้วเหตุไฉนชนชาติมลายู-ชวาทั้งในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะนุสันตารา เลยไปถึงตอนใต้ของฟิลิปปินส์จึงยอมรับอิสลามทั้งๆ ที่ไม่มีกองทัพเรือหรือกองเรือล่าอาณานิคมใดๆ ของชาวมุสลิมอาหรับเปอร์เซียและเติร์กเคยผ่านน่านน้ำไปถึงที่นั่น

 

ทุกวันนี้ประชาคมมลายู-ชวาถือเป็นประชาคมมุสลิมที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทั้งๆ ที่ดินแดนแถบนี้เป็นเขตอิทธิพลที่เข้มแข็งในด้านวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอินเดียมากที่สุดก็ว่าได้ ทำไมเขตอิทธิพลของพราหมณ์-พุทธนอกชมพูทวีปแห่งนี้ที่เคยเกรียงไกรมาก่อนในยุดลังกาสุกะ ศรีวิชัย และมัชฌาปหิตจึงยอมจำนนต่ออิสลามทั้งๆ ที่ไม่มีการทำสงครามโดยกองทัพของชาวมุสลิมจากคาบสมุทรอาหรับหรืออาณาจักรโมกุลในอินเดียเกิดขึ้นมากอ่นในดินแดนแถบนี้

 

เหตุผลที่ว่า “ดาบนำหน้าคำพูด” จึงเป็นเรื่องของการปั้นน้ำเป็นตัวไปโดยปริยาย และท้ายที่สุดโจเซฟ แกร์ก็เขียนสวนทางกับสิ่งที่ตนพยายามตอกย้ำมาโดยตลอดและยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่ว่าสงครามหรือดาบมิใช่เหตุผลที่ทำให้ศาสนาอิสลามแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว หากแต่เป็นหลักคำสอนและวิถีแห่งความเชื่อของอิสลามเอง

 

เขาเขียนว่า :

“พวกมุสลิมเองได้อัดแน่นเรื่องต่างๆ ลงสู่คัมภีร์โกราน (คัดลอกจนถึง)…สามารถนำความสำเร็จของศาสนาอิสลามไปสู่หมู่ประชาชนที่แตกต่างกันในโลก” ข้อเขียนดังกล่าวเป็นการยอมรับโดยจำนนของโจเซฟ แกร์ภายหลังจากการพยายามหาเหตุผลในเรื่องสงครามและดาบมาอธิบายว่าทำไมอิสลามจึงเป็นที่ยอมรับในหมู่พลเมืองในดินแดนต่างๆ และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว

 

ส่วนกรณีที่ว่าชาวมุสลิมอัดแน่นเรื่องต่างๆ ลงสู่คัมภีร์โกราน นี่เป็นการเขียนที่คลาดเคลื่อนและขัดแย้งกันเองของโจเซฟ แกร์ ในบทก่อนๆ เพราะโดยข้อเท็จจริงชาวมุสลิมไม่ได้ประพันธ์อัล-กุรอาน ไม่ได้ต่อเติมสิ่งใดลงไป แล้วจะกล่าวว่ามุสลิมอัดแน่นเรื่องต่างๆ ลงสู่คัมภีร์โกรานได้อย่างไร และข้อมูลที่ว่า มุสลิมไม่จำเป็นต้องไปวิหารหรือสุเหร่า และจุดใดก็ตามที่มุสลิมทำนมาซ จุดนั้นถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดเป็นความคลาดเคลื่อนของโจเซฟ แกร์ที่ไม่รอบคอบเอง เพราะถ้ามุสลิมไม่จำเป็นต้องสร้างมัสญิดหรือสุเหร่าด้วย ทำไมต้องไปนมาซ 5 เวลา และนมาซวันศุกร์ที่มัสญิดด้วยเล่า!

 

และที่ว่า พระเจ้าตามความเชื่อของมุสลิสถิตอยู่ทุกหนทุกแห่ง หรือประทับอยู่ทุกหนทุกแห่ง นี่ก็เป็นความเชื่อของกลุ่มชนบางกลุ่มเท่านั้น และวันศุกร์ก็ไม่ใช่วันพระทางศาสนาอิสลาม เพราะในศาสนาอิสลามไม่มีพระหรือนักบวช จะมีก็แต่อิมามประจำมัสญิดที่ทำหน้าที่นำการละหมาด 5  เวลา และวันศุกร์ตลอดจนการละหมาดวันอีดทั้งสอง อิมามเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา เป็นสามัญชนธรรมดาที่ครองเรือนและประกอบอาชีพไม่ต่างจากศาสนิกชนทั่วไป การเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนาทั้งในเรื่องการประกอบศาสนกิจ การปกครองสัปปุรุษ เป็นสถานภาพทางศาสนาและทางโลกควบคู่กันไป อิมามจึงหมายถึงผู้นำของประชาคมมุสลิมที่มีมัสญิดเป็นศูนญ์กลางของชุมชน แต่มิใช่นักบวชหรือพระอย่างในศาสนาอื่น

 

การละหมาดวันศุกร์ที่มัสญิดเป็นศาสนกิจสำหรับชายชาวมุสลิมทุกคน และการละหมาดวันศุกร์ก็ไม่ต่างจากการละหมาดหรือนมาซตามปกติ เพียงแต่มีการแสดงธรรมสั่งสอนที่เรียกว่า คุฏบะฮฺ เป็นกรณีพิเศษ ศาสนาอิสลามบัญญัติให้มุสลิมทุกคนเป็นผู้มีหน้าที่ศึกษาและสั่งสอนหลักธรรมคำสอนของศาสนาและสืบสานเผยแผ่แก่ผู้คนตามภูมิความรู้ที่มี ไม่ได้ฝากเรื่องดังกล่าวแก่นักบวชหรือพระสงฆ์ให้ทำหน้าที่แต่ฝ่ายเดียว มุสลิมทุกคนต้องอ่านคัมภีร์อัล-กุรอานได้ ต้องประกอบศาสนกิจถูกต้อง และมีพื้นฐานทางหลักธรรมของศาสนาในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย

 

ในบทที่ 7 ผู้เขียนนำเสนอความหมายของบทสั้นๆ จากคัมภีร์อัล-กุรอานหลายบทด้วยกัน ผู้เขียนคงใช้คัมภีร์อัล-กุรอานฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาผู้แปล (คุณฟื้น ดอกบัว) ก็ถ่ายจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยจึงได้มีสำนวนและการให้ความหมายเป็นภาษาไทยที่คลาดเคลื่อนและไม่คุ้นเคยสำนวนสำหรับชาวมุสลิมที่เป็นคนไทย ประเด็นนี้เราคงไม่วิพากษ์เพราะเป็นเรื่องของเทคนิคการถ่ายภาษาที่ผู้เขียนก็ถ่ายภาษามาทอดหนึ่งแล้ว ครั้นเมื่อผู้แปลถ่ายมาจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่งสำนวนจึงเป็นเช่นที่ปรากฏไปโดยปริยาย

 

หากผู้อ่านที่สนใจศึกษาความหมายของคัมภีร์อัล-กุรอานที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยตรงก็ย่อมสามารถหาซื้อคัมภีร์อัล-กุรอานฉบับแปลความหมายเป็นภาษาไทยได้หลายเวอร์ชั่นในบ้านเรา ผู้อ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นอาจจะแปลกใจว่าทำไมผู้วิพากษ์หนังสือเล่มนี้จึงละการวิพากษ์ในบทที่เกี่ยวกับอัล-กุรอานนี้ไปเสีย ทั้งๆ ที่มีการให้ความหมายคลาดเคลื่อนและผิดเพี้ยนปรากฏอยู่ออกโข เหตุที่ไม่วิพากษ์ก็เพราะความหมายที่ปรากฏเป็นภาษาไทยในบทนี้เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษของผู้แปล (คุณฟื้น ดอกบัว)

 

ซึ่งเราบอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราวิพากษ์เนื้อหาและข้อมูลที่โจเซฟ แกร์เขียน เรามิได้วิพากษ์ผู้แปลเพราะผู้แปลถอดความหมายจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ มิใช่ว่าผู้แปลเป็นผู้เขียนเนื้อหาและข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเอง ทั้งหมดเป็นกรณีระหว่างเราในฐานะมุสลิมกับนายโจเซฟ แกร์ ฝรั่งตะวันตกที่เขียนหนังสือ “ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร?” โดยตรง ผู้แปลมิใช่จำเลยเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

ท้ายที่สุด ผู้วิพากษ์ได้อุทิศเวลาและบทความนี้เพื่อปกป้องข้อเท็จจริงของศาสนาอิสลามและวิพากษ์เนื้อหาที่พาดพิงศาสนาอิสลามว่าสิ่งใดเป็นข้อเท็จ สิ่งใดเป็นข้อจริงอย่างสุดกำลังแล้ว ขอให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้นแก่ผู้มีปัญญาและวิจารณาญาณทุกท่านเทอญ

 

“ผู้ใดเป็นมุสลิม ผู้นั้นจงศึกษาหลักคำสอนของอิสลามให้แตกฉาน เมื่อรู้อย่างแตกฉานแล้วจงหวงแหนอิสลามอย่างสุดชีวิต เผยแผ่และหยิบยื่นอิสลามแก่ผู้คน บอกให้พวกเขารู้ว่า อิสลามงดงามและยิ่งใหญ่เพียงใด ปกป้องและรักษาอิสลามด้วยความรู้ที่แตกฉานนั้นให้สมกับที่เป็นมุสลิม”

“ผู้ใดมิใช่มุสลิม และไม่รู้จักอิสลามคืออะไร? ทำไม? อบ่างไร? ผู้นั้นจงแสวงหาความจริงจากมุสลิมที่รู้จริงเกี่ยวกับอิสลาม เพราะคำตอบที่ได้แม้ไม่อาจประกันได้ว่าคือิสลาม 100% แต่นั่นก็ย่อมเพียงพอสำหรับก้าวต่อไปในการรู้จักความจริงแท้ 100% ของอิสลาม แต่ถ้าหากผู้นั้นแสวงหาความจริงจากผู้ที่มิใช่มุสลิม มิหนำซ้ำมีอคติต่ออิสลามด้วยแล้ว ผู้นั้นจะพบสิ่งอื่นที่มิใช่อิสลามนับตั้งแต่ก้าวแรกแห่งการค้นหาความนั้นเลยทีเดียว”

 

อาลี เสือสมิง

บ้านป่า สวนหลวง  กรุงเทพฯ