อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : เรื่องอื่นๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: อาลี เสือสมิง ที่ พฤศจิกายน 12, 2010, 08:54:26 pm

หัวข้อ: ความฝันในอิสลาม
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ พฤศจิกายน 12, 2010, 08:54:26 pm
อยากถ่าม อ.อาลีครับ    ความฝันในอิสลาม ว่าเอาไว้อย่างไรครับ

ถามโดย adam
« เมื่อ: กันยายน 22, 2009, 11:20:11 PM »
หัวข้อ: Re:ความฝันในอิสลาม
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ พฤศจิกายน 12, 2010, 08:54:41 pm
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ในภาษาอาหรับมีคำว่า  อัรรุอฺยะฮฺ  (اَلرُّؤيَةُ)  คือการมองเห็นที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสทางตา  และคำว่า  อัรฺรุอฺยา  (اَلرُّؤيا)  หมายถึงสิ่งที่คนนอนหลับมองเห็นในขณะหลับ  ซึ่งก็คือ  ความฝันนั่นเอง  นักวิชาการแบ่งความฝันออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1)  ความฝันที่มาจากอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  -الرؤيامن الله-    
2)  ความฝันที่มาจากชัยฏอน  (الحُلْمُ مِن الشيطان)  


สังเกตได้ว่าถ้าเป็นความฝันประเภทแรก  จะใช้คำว่า  (الرُّؤيا)  แต่ถ้าเป็นความฝันประเภทที่สอง  จะใช้คำว่า  (الحُلْمُ)  มีรูปพหูพจน์ว่า  อะหฺลามฺ  (أَحْلاَمٌ)  ความฝันที่เป็นเรื่องจริง  (الرؤياالصادقة)  เป็นสภาพแรกที่เกิดขึ้นกับท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ในเรื่องวะฮีย์  ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  จะไม่เห็นความฝันใดนอกจากมันจะปรากฏเยี่ยงแสงอรุณเบิกฟ้า  (บุคอรี-มุสลิม)  


และความฝันของผู้ศรัทธานั้นเป็นส่วนหนึ่งจาก  46  ส่วนของการเป็นนบี  นักวิชาการบางท่านแบ่งความฝันออกเป็น  3  ชนิด  คือ  
1) ฝันดี  (الرؤياالصالحة)  เป็นข่าวดีจากพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  
2) ความฝันอันเกิดจากการสร้างความเศร้าหม่นหมองของชัยฏอน  
3) ความฝันอันเกิดจากความครุ่นคิดในใจของบุคคล  


และผู้ใดฝันเห็นสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนา  ก็ให้ผู้นั้นลุกขึ้นและทำละหมาดโดยไม่ต้องเล่าให้ผู้ใดรับทราบ  (มุสลิม)  และคนที่ปฏิเสธตลอดจนคนฟาซิก  (คนชั่ว)  ก็อาจจะเห็นความฝันที่เป็นจริงได้เช่นกัน  ฝันร้ายนั้นมาจากชัยฏอนเป็นความฝันที่ชัยฏอนใช้สร้างความหวาดกลัวหรือความโศกเศร้าให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ฝันนั้น  ผู้ใดฝันร้ายก็ขอให้ความคุ้มครองต่อพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ให้ถ่มน้ำลายทางด้านซ้ายและปกปิดความฝันนั้น  โดยท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้สัญญาว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว  ความฝันนั้นก็จะไม่ส่งผลอันใด  


และความฝันที่เป็นเท็จ  (الرؤياالباطلة)  มี  7  ประเภท  
1) ฝันที่เกิดจากการครุ่นคิดในใจ,  ฟุ้งซ่าน,  เศร้าหมอง,  วาดหวังและฝันมั่วแบบสับสน  (الأضغاثُ)  
2) ฝันเปียก  (الحُلْمُ)  ที่จำต้องอาบน้ำยกหะดัส  
3) การเตือนหรือขู่ให้กลัวจากชัยฏอน  
4) ความฝันที่พวกนักไสยศาสตร์ทั้งญินและมนุษย์ทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น  
5) ฝันเท็จไร้สาระ  ซึ่งชัยฏอนทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น  
6) ความฝันที่เกิดโดยนิสัยหรือธาตุแท้ของผู้ฝัน  
7) ความฝันที่เป็นความเจ็บปวดรวดร้าว  (الوجَع) คือการที่ผู้นั้นฝันเห็นเรื่องราวฝังใจที่อาจจะผ่านพ้นเวลามานานนับสิบปี  


ส่วนฝันที่เป็นจริง  (الرؤياالحق)  มี  5  ประเภท  

1) ฝันที่เป็นความสัจจริง  (الرؤياالصادقة)  ความฝันประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งจากความเป็นนบี  (النبوة)  เช่นความฝันที่พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ให้ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ฝันเห็นว่าท่านและเหล่าสาวกได้เข้าสู่นครมักกะฮฺโดยปลอดภัยและฏอว๊าฟรอบบัยติลลาฮฺ  เชือดสัตว์และโกนศีรษะและขลิบผมเมื่อครั้งที่ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  เดินทางถึงอัลหุดัยบียะฮฺ  ดังปรากฏในอายะฮฺที่ว่า  (لقدصدق الله رسوله الرؤيابالحق)  หรือการฝันของท่านนบีอิบรอฮีม  (อ.ล.)  ว่าท่านจะเชือดบุตรชายของท่าน  (يابُنَىَّ إنى أرى فى المَنَامِ أنى أذبَحُكَ)  เป็นต้น  

2) ความฝันที่ดี  (الرؤياالصالحة)  เป็นการแจงข่าวดีจากอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)

3) ความฝันที่ม่าลักแห่งความฝันทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น  ซึ่งม่าลักท่านนีมีชื่อว่า  ซิดดีกูนฺ

4) ฝันเป็นนัย  (الرؤياالمرموزة)  

5) ฝันประจักษ์พยานคือดีกลายเป็นร้าย  ร้ายกลายเป็นดี  เช่น  คนหนึ่งฝันเห็นว่าตนกำลังตีกลองในมัสญิด  คนๆ นั้นจะสำนึกผิดจากสิ่งที่ไม่ดีและจะกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง  หรือคนหนึ่งฝันเห็นว่าตนกำลังอ่านอัลกุรอ่านในห้องอาบน้ำหรือกำลังเต้นรำ  คนๆ นั้นจะเป็นคนที่ผู้คนรู้จักในทางเสื่อมเสีย  เป็นต้น  


และความฝันของสตรีที่มีรอบเดือนและผู้มีญุนุบถือว่าเป็นฝันที่ถูกต้องได้เพราะพวกกาฟิรและมะญูซีย์ไม่อาบน้ำยกหะดัสและท่านนบียูซุฟ  (อ.ล.)  ก็อธิบายฝันให้แก่กษัตริย์อียิปต์ซึ่งเป็นกาฟิร  และฝันของเด็ก ๆ ก็ถูกต้องได้  เพราะนบียูซุฟ  (อ.ล.)  เคยฝันเห็นขณะมีอายุได้  7  ขวบแล้วเล่าให้นบียะอฺกู๊บ  (อ.ล.)  ฟัง  (สรุปความจากตำราตะอฺฏีรุ้ลอะนามฺ  ฟี  ตัฟซีร  อัลอะหฺลามของอันนาบุลิซีย์  บทนำ)


والله أعلم بالصواب