อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : อะกีดะฮฺ และกลุ่มต่างๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: อิดริส ที่ ตุลาคม 06, 2012, 02:46:07 pm

หัวข้อ: สัพเพเหระ(อากีดะ)
เริ่มหัวข้อโดย: อิดริส ที่ ตุลาคม 06, 2012, 02:46:07 pm
salam ท่านอาจารย์ รบกวนถามปัญหาดังนี้
๑ ช่วยอธิบายเกี่ยวกับการอธิบายของชาวสลัฟกับคอลัฟ ในเรื่องของพระองค์อัลลอฮตาอาลา เช่น มือ ใบหน้า การประทับ ฯลฯ คนอาวัมอย่างเราๆควรจะมีอากีดะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
๒ คำพูดที่ว่า  เราเชือว่าผีมีอิทธิฤทธิ์ด้วยตัวของมันเอง กับเราเชือว่าผีมีอิทธิฤทธิ์ด้วยพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮตาอาลา คำพูด ๒ ประโยคนี้เหมือนกันหรือไม่ มีฮูกมว่าอย่างไร
๓ ท่านอาจารย์มีความเห็นหรือข้อแนะนำอย่างไร ในระหว่างทีวี ๔ ช่องของอิสลาม กับการเดินทางเผยแพร่ของอาจารย์ท่านหนึ่งด้านอาชาอีเราะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับทีวี ๔ ช่อง คนอาวัมอย่างเราๆควรจะทำอย่างไร
๔ ศาสามีคำอธิบายหรือไม่ เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่านกฮูกร้อง/เกาะบนหลังคาบ้านของใคร เป็นสัญญลักษณ์นำมาซึ่งความตาย และเสียงร้องของกบเป็นสัญญลักษณ์จะนำมาซึ่งฝน  (ซึ่งสุดท้ายเขาก็ยังเชื่อว่ามันาจากพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮตาอาลา)
ขอมาอัฟท่านอาจารย์ด้วย หากว่าเป็นคำถามไม่เหมาะสม ช่วยชี้แนะ ยาซากัลลอฮ
หัวข้อ: ตอบ : สัพเพเหระ(อากีดะ)
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ พฤศจิกายน 10, 2012, 09:11:50 pm
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ข้อ 1. การอธิบายคุณลักษณะ (ศิฟาตฺ) ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทั้งในส่วนของคุณลักษณะที่เรียกว่า ศิฟาตฺ อิคฺติยารียะฮฺ เช่น ศิฟะฮฺ อัล-อิสติวาอฺ , ศิฟะฮฺ อัน-นุซูล , ศิฟะฮฺ อัล-อิตยาน วัลมะญีอฺ , ศิฟะฮฺ อัร-ริฎอ วัล-เฆาะฏ็อบฺ เป็นต้น และทั้งในส่วนของคุณลักษณะที่เรียกว่า ศิฟาตฺ เคาะบะรียะฮฺ เช่น ศิฟะฮฺ อัล-วัจญ์ฮฺ , ศิฟะฮฺ อัล-ยะดัยนฺ และศิฟะฮฺ อัล-อัยนฺ เป็นต้น


ตามแนวทางของสะลัฟศอลิหฺ จะยืนยันการมีศิฟาตฺดังกล่าว (อิษบาตฺ อัล-วุญูด) ตามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงระบุคุณลักษณะเหล่านั้นในคัมภีร์อัล-กุรอาน และตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บอกเอาไว้ในอัล-หะดีษที่เศาะฮิหฺโดยไม่มีการบิดเบือน (ตะหฺรีฟ) อย่างที่พวกอัล-มุอฺตะซิละฮฺ และอัล-ญะฮฺมียะฮฺได้กระทำ


และโดยไม่มีการนำเอาคุณลักษณะเหล่านั้นไปเปรียบว่าเหมือนกับสิ่งที่ถูกสร้าง (ตัชบีฮฺ) อย่างที่พวกอัล-มุชับบิฮะฮฺ และอัล-มุญัส สิมะฮฺได้กระทำ


และโดยไม่มีการไปกำหนดวิธีการหรือเนื้อแท้ (กุนฮฺ) ว่าคุณลักษณะเหล่านั้นมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ มีสภาพหรือวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้ (อัต-ตักยีฟฺ) อย่างที่พวกอัล-มุกัย ยิฟะฮฺได้กระทำ


และโดยไม่มีการปฏิเสธคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และกล่าวอ้างว่าพระองค์ปลอดจากคุณลักษณะดังกล่าว (อัต-ตะอฺฏีลฺ) อย่างที่กลุ่มอัล-มุอัฏฏิละฮฺได้กระทำ


ทั้งนี้ ชาวสะลัฟ ศอลิหฺจะมอบหมาย (อัต-ตัฟฺวีฎ) การรู้ถึงวิธีการและสภาพที่แท้จริงของบรรดาคุณลักษณะเหล่านั้นไปยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยจะไม่ก้าวล่วงไปสู่การอธิบายและเจาะลึกในสิ่งดังกล่าวแต่อย่างใด


ชาวสะลัฟ ศอลิหฺจะเชื่อ (อิอฺติก็อดฺ) ตามที่อัล-กุรอานและอัล-หะดีษระบุมาถึงเรื่องคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยไม่มีการตีความ (ตะอฺวีลฺ) ที่เสียหายอย่างที่พวกมุอฺตะซิละฮฺหรือพวกอัล-ญะฮฺมียะฮฺทำการตีความ


แต่ชาวสะลัฟ ศอลิหฺจะยืนยัน (อิษบาตฺ) คุณลักษณะ (ศิฟาตฺ) ดังกล่าวโดยเชื่อ (อิอฺติก็อด) ว่าคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่เหมือนคุณลักษณะของสิ่งถูกสร้างทั้งหลายเหมือนอย่างที่ซาตฺของพระองค์นั้นไม่เหมือนกับบรรดาซาตฺของสรรพสิ่งที่ถูกสร้างทั้งปวง


กล่าวคือ ยืนยันไปตามที่ตัวบทระบุพร้อมกับปฏิเสธความเหมือนหรือความคล้ายคลึงกับสิ่งที่ถูกสร้างทั้งปวงตลอดจนไม่มีการตั้งคำถามว่า อย่างไร? อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เท่านั้นที่พระองค์ทรงรู้ถึงข้อเท็จจริง (หะกีเกาะฮฺ) ของคุณลักษณะเหล่านั้น


สำหรับแนวทางของบรรดาปราชญ์ชาวเคาะลัฟ นั้นก็มีความเชื่อและหลักการยึดมั่นเช่นเดียวกับชาวสะลัฟ ศอลิหฺเพียงแต่ปราชญ์เคาะลัฟมีวิธีการในการอธิบายคุณลักษณะดังกล่าวโดยการตีความ (ตะอฺวีล) ตามกฏเกณฑ์ที่นักวิชาการกำหนดเอาไว้ทั้งในส่วนของผู้ที่ตีความ (อัล-มุตะเอาวิลฺ) ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะ และในส่วนของการตีความ (ชุรูฏ ฟี ศิหฺหะฮฺ อัต-ตะอฺวีล) เช่น คำที่มีการตีความต้องสอดรับกับคุณสมบัติในการตีความ เช่นมีความหมายทางภาษาที่สามารถตีความได้ เป็นต้น


ทั้งนี้ปราชญ์เคาะลัฟจะมีแนวทาง 2 แนวทางในเรื่องการตีความตามนี้ คือ


1) ในกรณีที่มีความจำเป็นเมื่อมีการตอบโต้กลุ่มอัล-มุชับบิฮะฮฺและกลุ่มอัล-มุญัสสิมะฮฺ หากไม่มีความจำเป็นก็ให้ถือหลักเดิม คือ ระงับหรือยุติจากการตีความและมอบหมาย (ตัฟวีฏ) ไปยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)


2.) ถือว่าการตีความเป็นแนวทางที่มีนำหนักมากที่สุด (อัล-มัสลัก อัล-อัรฺญะห์) เพื่อเป็นการรักษาหลักความเชื่อของคนทั่วไป (เอาวาม) จากข้อคลุมเครือ (ชุบฮะฮฺ) ในการไปเปรียบคุณลักษณะนั้นว่าเหมือนกับคุณลักษณะของมัคลู๊ก (อัต-ตัชบีฮฺ) ซึ่งแนวทางที่ 2 นี้เป็นการตีความโดยให้รายละเอียดในการอธิบาย (อัต-ตะอฺวีล อัต-ตัฟศีลียฺ) โดยอาศัยความเห็นที่ระบุว่า ชาวสะลัฟบางส่วนมีการตีความโดยสรุป (อัต-ตะอฺวีล อัล-อิจญ์มาลียฺ) อันเป็นผลในการตีความ (ตะอฺวีล) ว่าสามารถกระทำได้


แต่แนวทางที่ 2 นี้เป็นการตีความโดยให้รายละเอียดตามหลักการและกฏเกณฑ์ที่กำหนดให้ สิ่งที่สรุปได้ก็คือ ถึงแม้วิธีการและแนวทางในเรื่องนี้ระหว่างปราชญ์สะลัฟและปราชญ์เคาะลัฟจะแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การถือว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบริสุทธิ์จากการเหมือนหรือคล้ายคลึง (มุชาบะฮะฮฺ) กับบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งปวงเหมือนกันทั้ง 2 ฝ่าย


สำหรับคนทั่วไป (เอาว็าม) แล้วก็สมควรที่จะต้องเชื่อ (อิอฺติก็อดฺ) ว่า พระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีคุณลักษณะอันสมบูรณ์และบริสุทธิ์จากสิ่งบกพร่องทั้งปวง คุณลักษณะของพระองค์ไม่เหมือนสิ่งใดและไม่มีสิ่งใดเหมือน เป็นคุณลักษณะที่เหมาะสมกับความยิ่งใหญ่และสูงส่งของพระองค์ และมอบหมายความรู้เกี่ยวกับสภาวะแห่งซาตฺและศิฟาตฺของพระองค์ และ หะกีเกาะฮฺ (เนื้อแท้หรือความจริงแท้) แห่งซาตฺและศิฟาตฺของพระองค์


ตลอดจนวิธีการและความเป็นอย่างไรของศิฟาตของพระองค์ยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพียงพระองค์เดียวโดยไม่นำเอาเรื่องเหล่านี้มาถกเถียงหรือโจมตีในระหว่างกันพร้อมกับเข้าใจว่านักปราชญ์มีวิธีการและแนวทางในการอธิบายเรื่องเหล่านี้ต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของบรรดานักปราชญ์ที่มีเป้าหมายในการสร้างความบริสุทธิ์ในการศรัทธาและความเชื่อที่ถูกต้อง


คนทั่วไป (เอาวาม) อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ควรก้าวล่วงสู่การวิพากษ์วิจารณ์แนวทางดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของนักปราชญ์มิใช่เรื่องของคนทั่วไปนั่นเอง และคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักปราชญ์ก็ย่อมไม่มีสิทธิในการตัดสินความถูกผิดของผู้เป็นนักปราชญ์ สิ่งที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ จำเป็นต้องเชื่อ (อิอฺติก็อดฺ) ในเรื่องนี้ก็คือ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ บริสุทธิ์ และปราศจากความบกพร่องทั้งปวง


และบรรดาคุณลักษณะทั้งหมดของพระองค์มีความแตกต่างจากสรรพสิ่งทั้งปวงที่เป็นสิ่งถูกสร้างและไม่เหมือนกับสรรพสิ่งทั้งหลาย และคุณลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลายก็ไม่อาจนำมาเปรียบได้กับคุณลักษณะของพระองค์ คุณลักษณะที่ปราชญ์สะลัฟยืนยันไว้ให้แก่พระองค์ เช่น พระพักต์ พระหัตถ์ พระเนตร เป็นต้นทั้งหมดเป็นคุณลักษณะ (ศิฟาตฺ) มิใช่อวัยวะหรือส่วนประกอบของร่างกายอย่างที่มนุษย์และสิ่งที่ถูกสร้างมีแต่อย่างใด


ข้อ 2. คำพูด 2 ประโยคดังกล่าวไม่เหมือนกัน เพราะประโยคแรกที่เชื่อ (อิอฺติก็อดฺ) ว่าผีหรือสิ่งทั้งหลายมีอิทธิฤทธิ์ด้วยตัวของมันเอง ส่งผลและให้คุณให้โทษด้วยตัวของมันเองถือเป็นการตั้งภาคี (อัช-ชิรฺก์) ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างและเป็นไปตามพระประสงค์ที่พระองค์ทรงกำหนดลิขิตเอาไว้ ผีหรือคนหรือดวงหรืออาวุธไม่ได้มีอำนาจด้วยตัวของมันเองแต่อย่างใด


ดังนั้นคำพูดประโยคที่ 2 ที่ว่า ผีหรือชัยฏอนมีอิทธิฤทธิ์ได้ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และการกำหนดลิขิตของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ที่ถูกต้อง และเมื่อเชื่อเช่นนั้นก็จำเป็นต้องขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากการแสดงอิทธิฤทธิ์และอำนาจในการล่อลวงของมัน มิใช่ขอความคุ้มครองจากผีหรือชัยฏอนนั้นแต่อย่างใด


ข้อ 3. เรื่องของทีวี 4 ช่องกับการเดินทางเผยแผ่แนวทางของอะชาอิเราะฮฺโดยอาจารย์ท่านหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากข้อที่ 1 นั่นเอง แต่ละฝ่ายมีมุมมองและความเข้าใจต่อแนวทางในการอธิบายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อต่างกันก็จริง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)


แต่ถ้าคนเอาว็ามอย่างเราๆ ท่านๆ มีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า เป็นการมองต่างมุมของผู้นำเสนอแนวทางในเรื่องดังกล่าว เราก็จะไม่สับสนและหลงไปกับประเด็นที่ถกเถียงกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีทิศทางที่ตนหันไปตามนั้น (وَلِكُلٍّ وِجْهَةٌ هُوَ مُوَلِّيِهَا)


เราๆ ท่านๆ ที่มีหลักความเชื่อโดยมูลฐานว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ บริสุทธิ์จากความบกพร่องและพระองค์ไม่เหมือนสิ่งใด ไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์ พร้อมกับมอบหมายความรู้เกี่ยวกับลักษณะเหล่านั้นไปยังพระองค์ด้วยหัวใจที่สงบนิ่งแล้ว โดยไม่นำเอาความเห็นต่างในแนวทางการอธิบายของ 2 ฝ่ายนั้นมาเป็นเหตุให้เกิดความสับสนในความเชื่อของเราที่มีต่อพระองค์ก็ถือว่าเราๆ ท่านๆ ปลอดภัยในเรื่องนี้แล้ว


ข้อ 4. โดยหลักความเชื่อที่ถูกต้อง คือการยอมรับในการกำหนดลิขิต (เกาะฎออฺ-เกาะดัร) ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เชื่อมั่นว่าพระองค์คือพระผู้ทรงดลบันดาลความเป็นไปในสภาวะการณ์ทั้งหลายเพียงพระองค์เดียว พระองค์คือผู้ให้ชีวิต ผู้ให้ตาย ผู้ให้คุณให้โทษ ผู้ทรงบันดาลให้เกิดผล ไม่ว่าจะมีเหตุผลเป็นปัจจัยหรือไม่ก็ตาม ทั้งเหตุและผลล้วนเป็นไปตาม


พระประสงค์ของพระองค์ สิ่งใดที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ สิ่งนั้นย่อมเกิดย่อมเป็นไปตามพระประสงค์นั้น สิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์ สิ่งนั้นย่อมไม่เกิดไม่เป็นไป เมื่อเรามีความเชื่อเช่นที่ว่ามานี้ เรื่องของนกฮูกร้อง หรือเกาะบนหลังคาบ้าน หรือเสียงกบร้องก็จะเป็นเพียงเรื่องปกติสามัญ (หุกฺม์ อาดียฺ)


นกฮูกร้องก็เป็นเรื่องธรรมดา นกเกาะบนลังคาก็เป็นเรื่องธรรมดา กบร้องก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีผลแต่อย่างใดในการทำให้คนต้องตายหรือทำให้ฝนตก แม้ว่าเราจะมีสถิติหรือประสบการณ์ที่ได้จากการสังเกต ว่ามักจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้หรือเป็นสัญลักษณ์บ่งว่าอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม ก็ให้สลัดสิ่งดังกล่าวออกไปจากหัวใจของเรา เพื่อมิให้หัวใจของเราไปพะวงหรือผูกพันอยู่กับสถิติหรือสัญลักษณ์ดังกล่าว


ถึงแม้ว่าสุดท้ายเราเชื่อว่ามันเป็นไปตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺก็ตาม เพราะความเชื่อสุดท้ายที่ว่านี้ไม่ทำให้ความเชื่อของเราเสียหายก็จริง แต่การที่จิตใจของเราไปผูกพันและเกี่ยวอยู่กับสถิติประสบการณ์และสัญลักษณ์ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงและการรบกวนจิตใจจากชัยฏอนได้เช่นกัน


หนทางที่ปลอดภัยในเรื่องนี้ก็คือ เชื่อในการกำหนดลิขิตตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺนับแต่แรก และเป็นเช่นนั้นโดยตลอดจนถึงท้ายที่สุด โดยไม่มีเรื่องที่ว่าเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนับแต่ต้น นั่นคือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว

والله أعلم بالصواب