อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : อะกีดะฮฺ และกลุ่มต่างๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: อิดริส ที่ ตุลาคม 21, 2012, 03:34:41 pm

หัวข้อ: สังคมที่หลากหลาย
เริ่มหัวข้อโดย: อิดริส ที่ ตุลาคม 21, 2012, 03:34:41 pm
salam ท่านอาจารย์ สังคมบ้านเราอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมแบบพึ่งพิงกัน ไปมาหาสู่กัน ทั้งๆที่มีอากีดะที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน บางครอบครัวมีทั้งที่เป็นชีอะ แนวเก่า แนวใหม่ ขอถามท่านอาจารย์ ดังนี้
1 ท่านอาจารย์ช่วยวิเคราะห์/อธิบายฮาดิษบทนี้ด้วย ที่ว่า   อีกรายงานหนึ่งว่า ท่านนาบี(ซอลลัลลอฮูอาลัยฮีวาซัลลัม)ได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าประนามบรรดาซอฮาบะของฉัน เพราะจะมีกลุ่มมุสลิมกลุ่มหนึ่งในยุคสุดท้าย พวกเขาเหล่านั้นจะด่าว่าประนามบรรดาซอฮาบะ ดังนั้นท่านอย่าได้ละหมาดญานาซะแก่เขา อย่าได้ละหมาดร่วมกับพวกเขา อย่าได้แต่งงานกับพวกเขา อย่าได้นั่งร่วมกับพวกเขา และถ้าหากพวกเขาเจ็บป่วยท่านอย่าได้ไปเยี่ยมพวกเขา(ผมจำไม่ได้แล้วว่าคัดลอกมาจากกีตาบเล่มใด)
2 ถ้าเป็นไปตามฮาดิษที่กล่าวมา เราจะทำอย่างไร พ่อของเพื่อนเป็นชีอะ เพื่อนเป็นซุนนี และเราในฐานะที่เป็นซุนนี หากพ่อของเพื่อนป่วย หรือเสียชีวิต เราจะทำอะไรได้บ้าง เช่น เยี่ยมป่วย/ตาย  ฯลฯ ถ้าไม่สามารถไปเยี่ยมได้ เราเนียตเยี่ยมเพื่อสังคมหรือเอาใจเพื่อนจะได้หรือไม่ อย่างไร
3 ให้อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยในสภาพความเป็นจริงของสังคม
ยาซากัลลอฮ
หัวข้อ: ตอบ : สังคมที่หลากหลาย
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ ธันวาคม 08, 2012, 07:56:03 am
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ตัวบทของอัล-หะดีษที่มีรายงานจากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นคือ รายงานจากท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ว่า : ระหว่างคอลิด อิบนุ อัล-วะลีด (ร.ฎ.) กับท่าน อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เอาวฟ์ (ร.ฎ.) มีสิ่งหนึ่ง (มีเรื่องไม่ตรงกัน) แล้วคอลิดก็จาบจ้วงท่านอิบนุ เอาวฟ์

ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงกล่าวว่า : พวกท่านอย่าบริภาษ (จาบจ้วง) ผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดามิตรสหายของฉัน เพราะแท้จริงคนหนึ่งของพวกท่านนั้น หากมาตรแม้นว่าผู้นั้นบริจาคทองคำเหมือนกับภูเขาอุหุด นั่นก็ไม่อาจเทียมทันหนึ่งมุดด์และกึ่งหนึ่ง (เศษเสี้ยว) ของหนึ่งมุดด์นั้น” รายงานโดย มุสลิม


เท่าที่รู้ตัวบทของอัล-หะดีษนี้มีเพียงแค่นี้ ส่วนที่ขยายความต่อจากนั้นไม่น่าจะเป็นตัวบทของสายรายงานอัล-หะดีษนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นการนำเอาตัวบทของอัล-หะดีษในสายรายงานอื่นเอามาผนวกกัน กระนั้นก็ยังไม่พบตัวบทในส่วนขยายนี้จะมีที่คล้ายๆ กันก็เป็นเรื่องของพวกเคาะวาริจญ์หรือไม่ก็เป็นคำกล่าวของชาวสะลัฟบางท่าน


เช่น อิบนุ บัฏเฏาะฮฺ รายงานจากฏอลหะฮฺ อิบนุ อัล-มุศ็อรร็อฟฺ (ฮ.ศ. 112) ว่า : “อัร-รอฟิเฏาะฮฺนั้น สตรีของพวกเขาจะไม่ถูกแต่งงานด้วย และสัตว์เชือดของพวกเขาก็จะไม่ถูกกิน เพราะพวกเขาเป็นอะฮฺลุริดดะฮฺ” (อัล-อิบานะฮฺ อัศ-ศุฆรอ หน้า 161) หรือคำกล่าวของอิมาม อัล-บุคอรียฺ ในค็อลก์ อาฟอ้าล อัล-อิบาดฺที่มีเนื้อหาว่า “พวกเขาจะไม่ถูกให้สลาม ไม่ถูกเยี่ยมไข้ ไม่ถูกแต่งงานด้วย ไม่ถูกร่วม (ในการละหมาดญะนาซะฮฺ) และสัตว์เชือดของพวกเขาจะไม่ถูกรับประทาน” (หน้า 125) เป็นต้น


ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างตัวบทของอัล-หะดีษและคำกล่าวของชนยุคสะลัฟในเรื่องการปฏิบัติกับกลุ่มชนที่เป็น อะฮฺลุลบิดอะฮฺ วัฏเฏาะลาละฮฺ ซึ่งข้อชี้ขาดโดยรวมก็คือ การด่าทอบริภาษเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ใดด่าทอและบริภาษเหล่าสาวกก็ย่อมเป็นผู้ฝ่าฝืน (ฟาสิก) และถือเป็นอะฮฺลุล บิดอะฮฺ วัฏเฏาะลาละฮฺ


ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่า ผู้ที่ด่าทอเหล่า เศาะหาบะฮฺเป็นผู้ตกศาสนาหรือไม่ (มุรตัด) แต่ที่เห็นพ้องตรงกันก็คือเป็นผู้ฝ่าฝืน (ฟาสิก) และกระทำอุตริกรรมรวมถึงหลงผิดแน่นอน จึงต้องละเอาไว้เป็นกรณีๆ ไป


การปฏิบัติกับบุคคลเหล่านี้ก็คือ ให้ตัดสินตามสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเขากล่าวยืนยันว่าเขาเป็นมุสลิมเราก็ปฏิบัติกับเขาเยี่ยงคนมุสลิม หากเขาเป็นบิดามารดา เครือญาติที่ใกล้ชิด ก็ย่อมสามารถไปเยี่ยมไข้ได้ เพราะถ้าเขาเป็นมุสลิมตามที่เขายืนยันก็ย่อมเยี่ยมไข้ได้อยู่แล้ว


และถ้าเขาเป็นมุสลิมฟาสิกก็เยี่ยมได้เช่นกัน แต่ถ้าเขาเป็นมุรตัดก็เยี่ยมได้อีกนั่นแหละ เพราะกาฟิรที่เป็นบิดามารดาของเรานั้นก็เป็นการอนุญาตในการปฏิบัติดีกับเขาได้ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่มีลักษณะในทำนองนี้ ซึ่งไม่ใช่ญาติผู้ใกล้ชิด ก็ให้พิจารณาตามที่ว่ามา แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเสีย

والله تعا لى أعلم