อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : เรื่องอื่นๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: halim ที่ กุมภาพันธ์ 05, 2013, 12:06:55 pm

หัวข้อ: อาม้าลซอแหละ กับ อิบาดัต แตกต่างกันอย่างไร
เริ่มหัวข้อโดย: halim ที่ กุมภาพันธ์ 05, 2013, 12:06:55 pm
salam  ครับ อ.อาลี ผมอยากทราบคำนิยามสองคำนี้ และ2คำนี้มันแตกต่างกันอย่างไร
คำว่า การทำอาม้าลซอแหละ กับว่า การทำอิบาดัต

 salam
หัวข้อ: ตอบ : อาม้าลซอแหละ กับ อิบาดัต แตกต่างกันอย่างไร
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ มีนาคม 15, 2013, 05:44:25 pm
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คำว่า “อะมัลฺ ศอลิหฺ” (عَمَلٌ صَالِحُ) หมายถึง พฤติกรรมที่ดีหรือการกระทำที่ดี คำว่า อะมัล (عَمَلٌ) มีรูปพหูพจน์ว่า (أَعْمَالٌ) “อะอฺม้าล” แปลว่า การกระทำโดยมีเจตนามุ่งหมาย (اَلْفِعْلُ بِقَصْدٍ)


ส่วนคำว่า (صَالِحٌ) แปลว่า ดี ตรงกันข้ามกับคำว่า ฟาสิดฺ (فَاسِدٌ) ซึ่งแปลว่า เลว – เสียหาย – เสื่อมเสีย คนดีที่เรียกว่า คนศอลิหฺ ก็หมายถึง ผู้ที่ดำรงรักษาในสิทธิและหน้าที่เป็นอย่างดี หรือหมายถึง ผู้ที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสม (อะฮฺลียะฮฺ)


บางทีคำว่า ศอลิหฺ ก็ถูกใช้เรียกแบบกินายะฮฺในความหมายว่า มากมาย , สมบูรณ์ ครบถ้วนก็ได้ เมื่อนำคำสองคำนี้มารวมกันในสำนวนศิฟะฮฺ-เมาวฺศูฟ คือ คำว่าอะมัลฺ ศอลิหฺ (عَمَلٌ صَالِحٌ) ก็จะหมายถึง การกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายที่ดีเหมาะสม และสมบูรณ์ครบถ้วน


ส่วนคำว่า อิบาดะฮฺ (عِبَادَةٌ) ตามหลักภาษาหมายถึงการถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเอก เป็นหนึ่งเดียว ปรนนิบัติรับใช้ นอบน้อม ยอมจำนน และเชื่อฟังปฏิบัติตามสิ่งนั้นๆ ส่วนความหมายโดยนิยามนั้น อิบาดะฮฺ หมายถึง นามชื่อที่รวมเอาทุกสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรักและโปรดปรานสิ่งนั้นๆ ทั้งวจีกรรมและพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกภายนอกและซ่อนเร้นอยู่ภายใน


โดยปกติแล้ว เมื่อกล่าวคำว่า “อะมัลฺ ศอลิหฺ” แบบเอกเทศ คำว่า อะมัลฺ ศอลิหฺ ก็จะมีความหมายและนัยรวมถึง คำว่า อิบาดะฮฺ ด้วย และเมื่อกล่าวคำว่า “อิบาดะฮฺ” แบบเอกเทศ คำว่า อิบาดะฮฺ ก็จะมีความหมายและนัยรวมถึงอะมัล ศอลิหฺ ด้วยเช่นกัน


แต่เมื่อนำคำสองคำนี้มากล่าวคู่กัน คำว่า “อะมัลฺ ศอลิหฺ” ก็จะมีความหมายว่า การกระทำภายนอกที่เป็นพฤติกรรมอันดีงาม ซึ่งมีเจตนาเป็นเหตุปัจจัยแห่งการกระทำนั้น และคำว่า อิบาดะฮฺ ก็จะมีความหมายว่า ทุกสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีความรักและโปรดปรานต่อสิ่งนั้นโดยครอบคลุมทั้งวจีกรรมและพฤติกรรมทั้งภายนอกและภายใน


จะเห็นได้ว่า ความหมายและนัยของอิบาดะฮฺตามคำนิยามมีความกว้างและครอบคลุมมากกว่า คำว่า อะมัล ศอลิหฺ กล่าวคือ ทุกอิบาดะฮฺคือ อะมัล ศอลิหฺ แต่ใช่ว่าทุกอะมัล ศอลิหฺจะต้องเป็นอิบาดะฮฺเสมอไป


ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงการแบ่งอิบาดะฮฺกับมุอามะละฮฺ ยกตัวอย่างเช่น การละหมาดเป็นอิบาดะฮฺและเป็นอะมัลศอลิหฺ ส่วนการค้าขาย (ที่ไม่มีเจตนาแปรสภาพให้เป็นอิบาดะฮฺ เป็นอะมัล ศอลิหฺ แต่มิใช่เป็นอิบาดะฮฺโดยหลักเดิมของมัน เพราะหลักเดิมของการค้าขายคือ มุอามะละฮฺ มิใช่ อิบาดะฮฺ เป็นต้น)


และในกรณีที่เรากล่าวว่า ทุกอิบาดะฮฺคืออะมัล ศอลิหฺ คำทั้งสองนี้ก็จะมีความหมายและนัยเหมือนกันตลอดจนมีองค์ประกอบสำคัญเหมือนกัน กล่าวคือ
1. ต้องมีความบริสุทธิ์ใจและเจตนาเป็นที่ตั้ง
2. ต้องสอดคล้องตามหลักการที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้


หากขาดองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการนี้ อิบาดะฮฺนั้นก็ย่อมมิใช่อิบาดะฮฺที่เป็นอะมัล ศอลิหฺ คือไม่ถูกตอบรับจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั่นเอง

والله ولي التو فيق