อ.อาลี เสือสมิง : ถามตอบปัญหา

สารบัญปัญหาคาใจ => หมวด : ทัศนะและแนวทางในเรื่องฟิกฮฺ => ข้อความที่เริ่มโดย: บะระเดาะฮ ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 01:44:29 am

หัวข้อ: การอ่านบุรดะฮฺ
เริ่มหัวข้อโดย: บะระเดาะฮ ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 01:44:29 am
อัสลามมุอะลัยกุ้มว่าร้อหมาตุ้ลลอฮิว่าบ้าร่อกาตุฮ
อาจารย์ครับผมมีเรื่องอยากจะถามอาจารย์เกี่ยวกับการอ่านบุรดะฮ ( บะระเดาะฮ ) นะครับ ว่าอนุยาติใหมที่ว่าเวาลาเราทำบุญแล้วจะมีการอ่านบะระเดาะฮ์ มันถึงขั้นจะลงนรกกันเลยเหรอครับ ผมอยากทราบจริงๆครับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ญะซากั้ลลอฮุคอยรอนครับ
หัวข้อ: ตอบ : การอ่านบุรดะฮฺ
เริ่มหัวข้อโดย: อาลี เสือสมิง ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 01:58:09 am
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

อัล-บุรดะฮฺ  (البُردَةُ)ตามหลักภาษาหมายถึง ผ้าที่ทอจากขนสัตว์ นิยมใช้คลุมร่างกายในเวลากลางวันและห่มร่างกายในเวลากลางคืน มีมาตั้งแต่สมัยยุคอัล-ญาฮิลียะฮฺ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็มีผ้าอัล-บุรดะฮฺที่ใช้สอยของท่าน ต่อมาท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มอบผ้าอัล-บุรดะฮฺแก่ท่านกะอฺบ์ อิบนุ ซุฮัยรฺ เพื่อเป็นรางวัลในกล่าวบทกวีแบบอัล-เกาะศิดะฮฺสรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)


ซึ่งโคลงบทแรกของกุอฺบ์ อิบนุ ซุฮัยรฺ เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า (بَانَتْ سُعَادُ.....)  เหตุนี้จึงเรียกบทกวีแบบเกาะศีดะฮฺของกะอฺบ์ อิบนุ ซุฮัยรฺ ว่า “อัล-บุรดะฮฺ” ต่อมาท่านมุอาวียะฮิ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) ได้ขอซื้อผ้าคลุมอัล-บุรดะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จากกะอฺบ์ อิบนุ ซุฮัยรฺ และบรรดาเคาะลีฟะฮฺก็สืบทอดผ้าคลุมอัล-บุรดะฮฺนี้ต่อกันมาจนถึงโฮลากู แม่ทัพของมองโกลที่เข้ามารุกรานนครแบกแดดได้เผาผ้าคลุมดังกล่าว


สำหรับบทกวีอัล-บุรดะฮฺที่เลื่องลือที่สุดนั้นประพันธ์โดย อัล-บูศีรียฺถือเป็นบทกวีแบบเกาะศีดะฮฺที่สรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งโด่งดังที่สุดหลังยุคของเหล่านักกวีของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  อัล-บูศีรียฺมีนามเต็มว่า ชะเราะฟุดดีน มุฮัมมัด อิบนุ สะอีด อิบนิ หัมมาด อัศ-ศ็อนฮาญียฺ ถือกำเนิดในปี ฮ.ศ. 608/ค.ศ. 1212 ณ.ตำบลบิลฺบีส จากเขตอัช-ชัรกียะฮฺ ประเทศอียิปต์ ในปลายราชวงศ์อัล-อัยยูบียะฮฺ


เหตุที่เรียกเขาว่า อัล-บูศีรียฺ ซึ่งอ้างถึงตำบลอบูศีรฺจากเขตบะนีสุวัยฟฺ ประเทศอียิปต์ เพราะมารดาของเขามาจากตำบลอบูศีรฺ ส่วนบิดาของเขามาจากดินแดนตะวันตก (อัล-มัฆริบ) และมีเชื้อสายเป็นชนเผ่าเบอร์เบอร์ สายศ็อนฮาญะฮฺ ต่อมาอัล-บูศีรียฺได้กลายเป็นนักกวีผู้โด่งดังในสมัยราชวงศ์อัล-มัมลูกียะฮฺเนื่องจากเขาได้ประพันธ์บทกวีแบบเกาะศีดะฮฺที่เรียกว่า อัล-บุรดะฮฺ ที่เลื่องลือ


ภายหลังการล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เขาจึงตะวัสสุลยังพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยการประพันธ์บทกวีสรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพื่อให้หายจากโรคดังกล่าว


เล่าขานกันว่าอัล-บูศีรียฺได้ฝันเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ใช้มือของท่านลูบไปที่ร่างกายของอัล-บูศีรียฺและถอดผ้าคลุมอัล-บุรดะฮฺให้แก่เขา แล้วอัล-บูศีรียฺก็ตื่นขึ้นโดยหายจากโรคอัมพฤกษ์ดังกล่าว


เหตุนี้ บทกวีเกาะศีดะฮฺของอัล-บูศีรียฺจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อัล-บัรอะฮฺเช่นเดียวกับที่เรียกกันว่า อัล-บุรดะฮฺ แต่อัล-บูศีรียฺเรียกขานบทกวีเกาะศีดะฮฺของตนว่า “อัล-กะวากิบ อัดฺ-ดุรรียะฮฺ ฟี มัดหิ ค็อยริล บะรียะฮฺ” มีบทแรกเริ่มต้นว่า

أمِنْ تَذَكُّرِجِيْرانِ بذِىْ سَلَمِ  مَزَجْتَ دمعًا جَرى مِنْ مُقَلةٍبِدَمِ

บทกวีเกาะศีดะฮฺ อัล-บุรดะฮฺ ของอัล-บูศีรียฺมีทั้งหมด 162 เบตฺ (บาท) ประกอบด้วย 12 เบตฺเป็นอรัมภบทขึ้นต้น , 16 เบตฺ ว่าด้วยจิตและอารมณ์กิเลส , 30 เบตฺ ว่าด้วยการสรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) , 19 เบตฺ

ว่าด้วยการกำเนิด (เมาลิด) ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) , 10 เบตฺ ในเรื่องสิริมงคลการขอพร , 17 เบตฺในการสรรเสริญอัล-กุรอาน , 13 เบตฺในเรื่องการมิอฺรอจญ์ , 22 เบตฺในเรื่องการญิฮาด , 14 เบตฺในการขอลุแก่โทษ (อิสติฆฟารฺ) , 9 เบตฺในเรื่องมุนาญาตฺ


มีเรื่องเล่าขานกันว่า เกาะศีดะฮฺ อัล-บุรดะฮฺของอัล-บูศีรียฺมีสิริมงคลมากและเนื่องจากความเลื่องลือและความมีสิริมลคลของอัล-บุรดะฮฺจึงนิยมนำมาอ่านกันในที่ชุมนุมทางศาสนาและสถานที่บำเพ็ญตนของเหล่านักศูฟียฺ (ซาวียะฮฺ) (อัล-มุอฺญัม อัล-มุฟัศศ็อลฺ ฟิล อะดับ ; ดร.มุฮัมมัด อัต-ตูนญียฺ เล่มที่ 1 หน้า 182-183)


เมื่อเกาะศีดะฮฺ อัล-บุรดะฮฺ เป็นงานวรรณกรรมในเชิงบทกวีที่ถูกประพันธ์เกี่ยวกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  และเรื่องราวทางศาสนา ก็ต้องพิจารณาว่า การอ่านบทกวีเป็นสิ่งที่อนุญาตหรือไม่ตามหลักการของศาสนา


ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซ-ซุหัยลียฺ กล่าวว่า : มีบรรดาหะดีษรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ในเรื่องของบทกวี บางส่วนของอัล-หะดีษคือสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ยอมรับ และบางส่วนคือสิ่งที่ท่านประณาม


ส่วนหนึ่งจากบรรดาอัล-หะดีษที่ประณามเรื่องกวี คืออัล-หะดีษที่อิมามมุสลิมรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “การที่ภายในท้องคนหนึ่งของพวกท่านเต็มไปด้วยน้ำหนองจนกระทั่งเขาได้กลืนกินมันย่อมดีกว่าการที่ท้องของเขาเต็มไปด้วยบทกวี”


และส่วนหนึ่งจากบรรดาอัล-หะดีษที่ชื่นชมบทกวีนั้นคือสิ่งที่อะหฺมัดและอบูดาวูดรายงานจากอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงส่วนหนึ่งจากวาทศิลป์ที่ฉะฉานคือมนต์ขลัง และแท้จริงส่วนหนึ่งจากบทกวีนั้นคือข้อชี้ขาด” (ในบางส่วนระบุว่า คือวิทยปัญญาอันลุ่มลึก)


การรวมระหว่างอัล-หะดีษทั้ง 2 นัย  สามารถกระทำได้โดยตีความอัล-หะดีษแรกว่าหมายถึงบทกวีที่ถูกตำหนิ เลว และไม่ถูกยอมรับ เช่นบทกวีที่พูดถึงการเกี้ยวพาราศี ...และเรียกร้องไปสู่สิ่งอนาจารและความชั่ว ถึงแม้ว่าจะเป็นศิลปะที่งดงามในด้านวรรณกรรมก็ตาม...


ส่วนอัล-หะดีษอีกบทหนึ่งถูกตีความว่าหมายถึงบทกวีที่ถูกเยินยอ สวยงามและเป็นที่ถูกยอมรับ ซึ่งมีเป้าหมายในการเปิดเผยสัจธรรม บอกเล่าถึงข้อคิดและสั่งสอนคนโง่เขลา..ดังมีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “บทกวีมีสถานะเหมือนคำพูด ความสวยงามของบทกวีก็เหมือนกับความสวยงามของคำพูด และความน่าเกลียดของบทกวีก็เหมือนกับความน่าเกลียดของคำพูด”
(รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ ในอัล-อะดับ และอัฏ-เฏาะบะรอนียฺ ในอัล-เอาวสัฏ เป็นหะดีษหะสัน)


หมายความว่า บทกวีมิใช่สิ่งน่ารังเกียจในตัวของมันเอง แต่ความน่ารังเกียจอยู่ที่เนื้อหาของมัน (อัต-ตัฟสีรฺ อัล-มุนีร ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซฺซุหัยลียฺ เล่มที่ 19/248-249 โดยสรุป)


อิมามมุสลิมรายงานจากหะดีษของ อัมรฺ อิบนุ อัช-ชะรีด จากบิดาของเขาว่า ฉันเคยซ้อนท้ายรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในวันหนึ่งแล้วท่านก็กล่าวว่า : ท่านมีสิ่งใด (ที่ท่องจำ) จากบทกวีของอุมัยยะฮฺ อิบนุ อบี อัศ-ศ็อลต์หรือไม่? ฉันกล่าวว่ามีครับ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า : ว่ามาสิ! ฉันจึงร่ายบทกวีของอุมัยยะฮฺ 1 เบตฺ ท่านกล่าวว่า : เอาอีก! ฉันจึงร่ายบทกวีนั้นอีก 1 เบตฺ ท่านกล่าวว่า : เอาอีก! จนกระทั่งฉันร่ายบทกวีของอุมัยยะฮฺถึง 100 เบตฺ


อิมามอัล-กุรฏุบียฺ กล่าวว่า : นี่เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าอนุญาตให้ท่องจำบรรดาบทกวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยปัญญาและมีความหมายที่ดีตามหลักศาสนบัญญัติ ธรรมชาติอันเป็นปกติและปัญญา หมายความว่า เป็นบทกวีที่เรียกร้องไปสู่การมีจรรยามารยาทอันงดงาม...” (อัต-ตัฟสีร อัล-มุนีร : อ้างแล้ว 19/250)


ดังนั้นการอ่านหรือท่องจำบทกวีที่ประพันธ์เพื่อสรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และพูดถึงประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เช่น อัล-บุรดะฮฺของอัล-บูศีรียฺจึงเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ ติดอยู่ตรงที่มีบทกวีบางบาท (เบตฺ) มีการใช้สำนวนที่กำกวมและเข้าข่ายว่าจะเป็นการเลยเถิดในการสรรเสริญท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งตรงนี้แหล่ะที่นักวิชาการมีมุมมองต่างกันเป็นสองฝ่าย


ฝ่ายหนึ่งกล่าววิจารณ์ว่าเป็นสำนวนที่เข้าข่ายเป็นการเลิยเถิดถึงขั้นชิรกฺ เพราะผู้ประพันธ์เยินยอท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ด้วยคุณลักษณะที่เป็นเรื่องเฉพาะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อีกฝ่ายหนึ่งก็ตีความและอธิบายความหมายที่กำกวมนั้นเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักอะกีดะฮฺ บทกวีที่มีความเห็นต่างกันของนักวิชาการก็เช่น

ياأَكْرَمَ الْخَلْقِ مَالِيْ مَنْ أَلُوْذُبه  سِوَاكَ عِنْدَحُلُوْلِ الْحَادِثِ العَمِم
“โอ้ผู้มีเกียรติที่สุดของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง ไม่มีผู้ใดสำหรับฉันที่ฉันจะหันไปขอความคุ้มครองต่อผู้นั้นนอกจากท่านในยามที่มีเหตุอันวิกฤติอันถ้วนทั่วเข้าครอบงำ”


หรืออีกบาท (เบตฺ) ที่ว่า
فإنَّ مِنْ جُوْدِكَ الدنيا وضَرَّتَهَا  ومِنْ عُلُومِكَ عِلْمُ اللَّوْحِ وَالقَلَمِ  เป็นต้น


อย่างไรก็ตามบทกวีเกาะศีดะฮฺของอัล-บูศีรียฺในส่วนอื่นๆ นั้นโดยรวมถือว่าเป็นบทกวีที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่ใช้สำนวนกำกวมจนทำให้ถูกวิจารณ์ในเชิงลบ ซึ่งการหลีกเลี่ยงจากการอ่านประโยคที่มีปัญหานั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


และในปัจจุบันก็ไม่ค่อยนิยมนำมาอ่านกันในเวลาทำบุญ เพราะจะอ่านวรรณกรรมร้อยแก้วที่เรียกว่า บัรซันญี มากกว่า หรือไม่ก็ทำการซิกรุลอฮฺเพียงอย่างเดียว ส่วนที่ว่าอ่านอัล-บุรดะฮฺแล้วจะถึงขั้นลงนรกกันเลยทีเดียวนั้นก็คงเป็นการตัดสินกันเอาเอง โดยเฉพาะฝ่ายที่วิจารณ์ประโยคที่มีปัญหาว่าเป็นการกุฟร์ (วัลอิยาซุบิลลาฮฺ)


ซึ่งจริงๆ แล้วตีความและอธิบายได้ในเรื่องของภาษาและความหมาย เมื่อตีความได้ว่าไม่ขัดต่อหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง ก็ย่อมมิอาจนำมาเป็นข้อตัดสินที่เด็ดขาดในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะการตกศาสนา (มุรตัด) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่


และเมื่อการอ่านบทกวีมิใช่อิบาดะฮฺตามหลักศาสนบัญญัติและผู้อ่านก็ไม่รู้ความหมายของบทกวีที่เป็นภาษาอาหรับ กรณีเช่นนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่าจะได้ผลบุญหรือไม่ ต่างจากกรณีการอ่านอัล-กุรอานหรือการซิกรุลลอฮฺที่รู้ความหมาย นักวิชาการมีความเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นการอ่านหรือกล่าวที่ได้ผลบุญอย่างแน่นอน

والله اعلم بالصواب